Cyberwar ตอนที่ 6 : Fake News

ในอดีตชนชาติรัสเซียเป็นชาติที่เชื่อเกือบทุกอย่างมาโดยตลอด แต่ภายใต้การปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ พวกเขาจมอยู่กับนโยบาย “Make a Big Lie, Call It the Truth” เป็นเวลาเกือบ 70 ปี นั่นเองที่ทำให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจจับการโกหก

ในยุคดิจิทัล ต้องบอกว่าความสามารถในการสร้างเรื่องราวโกหก โดยไม่มีพื้นฐานความจริง ๆ ใด ๆ เลยนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมาก ๆ เจ้าหน้าที่ KGB เคยเผยแพร่แม้กระทั่งเรื่องราวที่เหลือเชื่อ เช่น โรคเอดส์ถูกสร้างขึ้นเพื่อฆ่าคนผิวดำและเกย์

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ ได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากสื่อยุคใหม่ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดีย ในยุคปัจจุบันเราสามารถหาข่าวปลอมเหล่านี้ได้มากมาย และที่สำคัญยิ่งเป็นข่าวปลอม มันมีโอกาสที่จะถูกแชร์ และกระจายเป็นวงกว้างได้มากกว่า ผ่านอัลกอริธึมเบื้องหลังของเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Twitter

และทรัมป์ เองได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ จากเครือข่ายข่าวลวงแบบนี้ โดยเฉพาะเรื่องราวสุดฉาวของ ฮิลลารี คลินตัน ที่ยิ่งทำให้ข่าวปลอมเหล่านี้ถูกกระพือให้ยิ่งกระจายออกเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น

มันเป็นการโกหกอย่างโจ่งแจ้ง และทางรัสเซียเอง ก็รู้เรื่องราวดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่พวกเขาก็เพียงแค่ใช้เครื่องมือที่มันมีอยู่แล้ว ให้มีความทรงพลัง และสร้างความเปลียนแปลงครั้งใหญ่ได้

พันเอง วลาดิเมียร์ ควาชคอฟ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทางทหารของรัสเซียเขียนในสมุดปกขาวของ GRU เกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อและการทำสงครามทางการเมืองว่า “:สงครามรูปแบบใหม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งการสู้รบกันด้วยอาวุธนั้นกลายเป็นเรื่องยุคเก่า ที่ใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการทหารหรือการเมือง แต่ตอนนี้สงครามรูปแบบใหม่ คือ สงครามข้อมูล”

ต้องบอกว่าสงครามข้อมูลนั้นถือเป็นโดเมนใหม่ของการทำสงคราม การโฆษณาชวนเชื่อ ข่าวปลอม เป็นระบบอาวุธที่ทันสมัยที่สุดในยุคปัจจุบัน ข่าวปลอมสามารถคงอยู่ได้ตลอดประวัติศาสตร์ และมีความสามารถในการเปลี่ยนทั้งความคิดและการรับรู้ถึงความเป็นจริง

ชาวรัสเซียได้รวมเอาพลังของโซเชียลมีเดียไว้ในการวางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับสงครามข้อมูล ซึ่งหลักคำสอนเชิงกลยุทธ์ของพวกเขากล่าวว่า :

“การเผชิญหน้าระหว่างรัฐสองรัฐขึ้นไปในพื้นที่ข้อมูลเพื่อสร้างความเสียหายให้กับระบบข้อมูล มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดและเพื่อบ่อนทำลายระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและส่งผลต่อการล้างสมองของประชากรจำนวนมากเพื่อให้เกิดความไม่มั่นคง”

สังเกตว่า ชาวรัสเซีย ใช้คำว่า “การล้างสมองครั้งใหญ่” โดยเฉพาะในหลักคำสอนของกองกำลังติดอาวุธเมื่อพูดถึงสงครามข้อมูลโซเชียลมีเดีย การโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขาคืออาวุธไซเบอร์ที่มีพลังอย่างสูงและกระจายอยู่ทั่วโลก

มันเป็นการทำเพื่อสร้างอิทธิพลหรือเปลี่ยนการรับรู้ในเป้าหมายหลัก (ความคิดของคุณ) หรือสร้างผลลัพธ์ใน Zone ที่สร้างผลกระทบ (ในโทรศัพท์มือถือ หรือ โทรทัศน์ของคุณ)

แน่นอนว่ารัสเซีย ไม่ใช่ชาติเดียวที่ทำเช่นนี้ หรือเป็นชาติแรกที่ทำ ในสงครามโลกครั้งที่สองหรือสงครามเย็น อเมริกาและพันธมิตร มีหน่วยงานหลักที่สร้างขึ้นมาเพื่ออุทิศตนในการโฆษณาชวนเชื่อ

หน่วยสืบราชการลับของรัสเซีย ได้นำเรื่องราวข่าวปลอมที่สร้างขึ้นอย่างประณีต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามจิตวิทยาเรียกว่า Propaganda Products (PPs) นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในแพล็ตฟอร์มต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

ไม่ว่าจะเป็น Facebook , Twitter , Sputnik , Russia Today , บล็อกเกอร์ชื่อดัง , ทฤษฏีสมคบคิด เว๊บไซต์ในส่วนแสดงความคิดเห็นของสื่อกระแสหลัก และแม้แต่การส่งโปสการ์ดโฆษณาชวนเชื่อถึงเหล่านักข่าวชื่อดัง

และต้องบอกว่า สื่อที่สร้างโดยรัฐบาลของรัสเซียทั้งหมด ไมว่าจะเป็นนิตยสาร และหนังสือพิมพ์จำนวนมาก เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายหน่วยงาน สื่อเหล่านี้ทั้งหมดก็ได้ขายกระจายต่อให้กลุ่มบุคคลที่มีเงินทุน

ตัวอย่างเช่น Novosti News Service แม้ยังคงเป็นสำนักข่าวของรัฐ แต่ได้รับการร่วมทุนจากเอกชน โดยเริ่มต้นจากการเป็นสื่อที่เป็นอิสระ แต่ปูติน และ พันธมิตรของเขาก็ได้เข้ามา Take Over ไปอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนกลับไปเป็นสำนักข่าวของเครมลิน

สื่อของรัฐ ในประเทศรัสเซียนั้นแพร่หลายมากจนตอนนี้มากกว่า 80% ของโทรทัศน์ทั้งหมดในประเทศเป็นของรัฐ และอีก 20% เป็นทีวีระบบช่องสัญญาณดาวเทียม เรียกได้ว่าสื่ออย่างโทรทัศน์นั้นอยู่ในมือของประธานาธิบดี และเพื่อน ๆ ของเขาแทบจะเบ็ดเสร็จ

ช่องโทรทัศน์ระหว่างประเทศของรัสเซียในปัจจุบันคือ Russia Today (ปัจจุบันเรียกโดยชื่อย่อว่า RT) และสถานีอื่นๆ เช่น Channel One , Russia One และบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง Gazprom ที่ควบคุมสื่ออย่าง NTV โดยมีการเผยแพร่ในสิ่งที่ดูเหมือนถูกต้องตามกฏหมาย และเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้นำระดับชาติ และหน่วยข่าวกรอง

Russia Today เครื่องมืออันทรงพลังของเครมลิน (CR:News Relish)
Russia Today เครื่องมืออันทรงพลังของเครมลิน (CR:News Relish)

ในทางกลับกัน บริษัทสื่อที่เป็นอิสระ ที่จ้องโจมตีปูติน จะตกเป็นเป้าหมายในการทำลายล้าง หรือ ถูกเข้าซื้อ และจะกลายมาเป็นสื่อที่เป็นพันธมิตรของรัฐในท้ายที่สุด ตัวอย่างเช่น Dozhd (TV Rain) ซึ่งเป็นช่องข่าวที่เป็นอิสระ ได้ถูกตัดขาดจากการเข้าถึงของคนรัสเซีย หลังจากที่พวกเขาโกรธแค้นเครมลินด้วยการสร้างการสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับการยอมจำนนที่เลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ต่อนาซีในสงครามโลกครั้งที่สอง

สำหรับหัวหอกที่เป็นคนสร้างหน่วยงานบิดเบือนข้อมูลระดับชาติของปูติน คือ ดมิทริ เปสคอฟ ซึ่งเป็นเลขานุการสื่อมวลชนของประธานาธิบดี และรองหัวหน้าสำนักงานบริหารของประธานาธิบดีปูติน

เปสคอฟ มีความสามารถในการสร้างเรื่องเล่าที่ทำได้ดีในรัสเซียอย่างแม่นยำ เพราะสามารถสร้างข้าวบิดเบือนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งต้องบอกว่าในยุคสหภาพโซเวียตการสื่อสารมวลชนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับสงครามข้อมูล ซึ่งในวันนี้ RT , Sputnik , Newsfront และช่องอื่น ๆ กำลังดำเนินรอยตามอยู่นั่นเอง

Russia Today ก่อตั้งขึ้นในปี 2002 เป็นสถานีโทรทัศน์และเว็บไซต์ของเครมลินซึ่งตั้งอยู่ในมอสโก ซึ่งสอดคล้องกับประวัติศาสตร์การบิดเบือนข้อมูลของเครมลินเกี่ยวกับการตั้งข้อสงสัยในแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือทั่วโลก รวมถึงสื่อในมือของรัฐบาลตะวันตก

RT ออกอากาศในหลากหลายภาษา รวมถึง อังกฤษ ฝรั่งเศส อาหรับ และสเปน ออกอากาศทางสถานีเคเบิลในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย โปรตุเกส เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ เซอร์เบีย อิตาลี อิสราเอล ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย และ ศรีลังกา

RT ได้กล่าวถึงเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเครมลินเป็นประจำ โดยมีการออกแบบให้สร้างข่าวเอียงเพื่อสนับสนุนเรื่องเล่าของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงรายงานข่าวการปฏิวัติยูเครน การยึดไครเมีย การตกของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวกับที่ 17 ผู้ประกาศข่าวมักยกย่องปูติน และวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำในตะวันตกเป็นประจำ

ซึ่งนั่นเองที่ทำเพื่อเป็นการตอบสนองต่อมาตรการที่รัสเซียดำเนินการกับสหรัฐอเมริกาในปี 2016 RT ได้ถูกบังคับให้ลงทะเบียนภายใต้พระราชบัญญติการลงทะเบียนตัวแทนต่างประเทศ (FARA) ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพวกเขามองว่ามันเป็น “เครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อที่ดำเนินการโดยรัฐของรัสเซีย”

และในทำนองเดียวกัน ในการตอบโต้จากรัสเซีย รัฐบาลรัสเซียได้ออกกฏหมายในเดือนพฤศจิกายนปี 2017 โดยมุ่งเป้าไปที่สื่อตะวันตกเช่น Voice of America , Radio Free Europe , Current Time TV เช่นเดียวกัน

ในขณะที่สื่ออีกแห่งอย่าง Sputnik ที่เข้ามาแทนที่ RIA Novosti นั้น เป็นเครื่องมือสำคัญในการโฆษณาชวนเชื่อเชิงรุก ซึ่งมีการแพร่กระจายไปทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามไซเบอร์ของนาโต้ส่วนใหญ่ เชื่อว่า Sputnik ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นระบบกระจายการทำสงครามโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งสอดรับกับคำฟ้องของสำนักวิจัยอินเทอร์เน็ตโดยที่ปรึกษาพิเศษอย่าง Robert Mueller ในปี 2018 ดูเหมือนจะมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การเปลี่ยนจาก RIA Novosti มาเป็น Sputnik เป็นการรื้อปรับระบบโดยเจตนาเพื่อเตรียมระบบกระจายข่าวปลอมเฉพาะสำหรับการดำเนินการเลือกตั้งในปี 2016 เพื่อสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์

รวมถึงยังมีการศึกษาเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่เชื่อมโยงกับเครมลิน ไม่ว่าจะเป็น @RT_Deutsch , Sputnik Deutsch (@de_sputnik) และ NewsFront Deutsch (@newsfront)

ซึ่งบัญชีโซเชียลมีเดียเหล่านี้ ไม่เพียงแต่แพร่กระจายโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นโทรโข่ง เพื่อขยายข้อความและทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อกับกลุ่มคนในชีวิตจริงเพื่อแบ่งปันเนื้อหาทางอุดมการณ์อีกด้วย

ในปี 2014 ในขณะที่รัสเซียกำลังจะบุกไครเมีย ข่าวทีวีของรัสเซียได้เผยแพร่เรื่องราวข่าวปลอมเพื่อวางรากฐานสำหรับการยอมรับการบุกรุกที่กำลังจะมาถึง มีรายงานข่าวปลอมจำนวนมากว่าพลเมืองเชื้อสายรัสเซียในภูมิภาค Donbas ของยูเครน และ ไครเมียถูกข่มเหงในยูเครน

ข่าวรายงานอย่างต่อเนื่องว่าผู้ประท้วงในการปฏิวัติไมดาน ที่ยูเครน เป็นฝ่ายรุกไล่ โดยการยึดอำนาจคืนจากรัฐบาลที่สนับสนุนโดยมอสโก และได้รับการสนับสนุนจากนาโต และ CIA

ซึ่งการเตรียมสนามรบทางการเมือง สงครามข้อมูล และการโฆษณาชวนเชื่ออย่างกว้างขวางนี้นี่เอง ที่ทำให้มอสโกสามารถยึดดินแดนได้สำเร็จ เนื่องจากรัสเซียและพันธมิตรพร้อมที่จะยอมรับว่ามันเป็นเพียงปฏิบัติการทางทหารเพื่อมาช่วยเหลือผู้ที่ถูกข่มเหงในไครเมียเพียงเท่านั้น

สงครามข้อมูลมีส่วนช่วยให้รัสเซียยึดไครเมียได้สำเร็จ (CR:Aljazeera.com)
สงครามข้อมูลมีส่วนช่วยให้รัสเซียยึดไครเมียได้สำเร็จ (CR:Aljazeera.com)

และไม่เพียงเท่านั้น มอสโก ยังรุกคืบเข้าสู่ใจกลางของนาโต ได้สำเร็จ ในเดือนมกราคมปี 2016 มีการกระจายข่าวปลอมเกี่ยวกับการข่มขืนเด็กหญิงรัสเซีย – เยอรมัน วัย 13 ปี มอสโกได้ใช้หน่วยงานภายในเพื่อกำหนดเรื่องราว จากนั้นใช้หน่วยสืบราชการลับ และสื่อเพื่อขับเคลื่อนเรื่องราวดังกล่าวให้แพร่กระจายในวงกว้าง

ช่องโทรทัศน์ของรัสเซีย ทั้ง Russia Today และ Sputnik มีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แฮ็กเกอร์ชาวรัสเซียได้ประโคมข่าวเรื่องดังกล่าวผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดีย และในที่สุดรัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียก็ถามถึงความสามารถของเจ้าหน้าที่เยอรมันในการรักษาความปลอดภัยให้กับพลเมืองของพวกเขา

ซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับปฏิบัติการของพวกเขาในตะวันตก สื่อมวลชนรัสเซียที่อยู่ในประเทศของพวกเขาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐเต็มรูปแบบ Roskomnadzor ซึ่งเป็นหน่วยงานของเครมลิน จัดการการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั้งหมดสำหรับพลเมืองของตน

ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดก็ตาม รัสเซียสามารถตรวจสอบ จำกัด ปิดกั้นหรือตัดขาดใครก็ตามที่ปลุกระดมความไม่เห็นด้วย หรือ แม้แต่การดูหมิ่นเครมลินไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ปูตินได้ปิดกั้นเสียงที่เป็นอิสระจำนวนมากโดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ

เครื่องมือโปรดของรัฐในการ จำกัด หรือ ปิดกั้น เสรีภาพในการพูด คือการบอกว่าเว๊บไซต์ หรือ องค์กรเหล่านั้นใช้ข้อมูลที่ผิดกฏหมาย เครมลินสามารถระบุและอ้างถึงคำพูดใด ๆ ว่าผิดกฏหมาย และมักอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการจารกรรมที่หน่วยข่าวกรองอเมริกันสนับสนุนอยู่เบื้องหลังนั่นเองครับผม

–> อ่านตอนที่ 7 : Social Bias

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ