China’s Chip Dream อำนาจ ศรัทธา กับการถูกวางยาจากพญาอินทรี

เมื่อเมืองอู่ฮั่นของจีนถูกปิดในวันที่ 23 มกราคม 2020 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั่นทำให้เมืองต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่เข้มงวดและยาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก

รัฐบาลจีนสั่งการเด็ดขาดปิดการเดินทางเข้าและออกจากอู่ฮั่น ตั้งจุดตรวจรอบเมือง ปิดธุรกิจต่าง ๆ และสั่งห้ามประชาชนเกือบ 10 ล้านคนไม่ให้ออกจากที่พักจนกว่าการปิดเมืองจะสิ้นสุดลง

ไม่เคยมีปรากฎการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาก่อนที่มหานครขนาดใหญ่อย่างอู่ฮั่น ทางหลวงว่างเปล่า ทางเท้ารกร้าง สนามบินและสถานีรถไฟถูกปิด ยกเว้นโรงพยาบาลและร้านขายของชำเท่านั้นที่อนุโลมให้เปิดทำการ

แต่มันมีข้อยกเว้นอยู่สิ่งเดียวนั่นก็คือ Yangzte Memory Technologies Corporation (YMTC) ซึ่งตั้งอยู่ในอู่ฮั่น ซึ่งเป็นแหล่งผลิตหน่วยความจำ NAND ชั้นนำของจีน โดยเป็นชิปประเภทหนึ่งที่ใช่แพร่หลายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึง USB Flash Drive

ปัจจุบันมี 5 บริษัทที่ผลิตชิป NAND ที่แข่งขันกันอยู่ในตลาดโลก แต่แทบไม่มีสำนักงานในจีน เหล่าผู้เชี่ยวชาญของจีนมองว่าโอกาสที่ดีที่สุดของจีนในการบรรลุความสามารถในการผลิตชิประดับโลกก็คือการผลิตหน่วยความจำ NAND

Tsinghua Unigroup ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในบริษัทผลิตชิปทั่วโลก ทุ่มเงินอย่างน้อย 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่ YMTC ควบคู่ไปกับกองทุนชิปแห่งชาติของจีนและเงินลงทุนจากรัฐบาลท้องถิ่น

การสนับสนุน YMTC ของรัฐบาลจีนนั้นสุดยอดมาก แม้แต่ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ COVID ก็ได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไปได้ รถไฟที่ผ่านอู่ฮั่นมีตู้โดยสารพิเศษสำหรับพนักงาน YMTC โดยเฉพาะ ทำให้สามารถเข้าไปในอู่ฮั่นได้แม้จะปิดเมืองก็ตาม

โรงงาน YMTC ในอู่ฮั่นที่ได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาลจีน (CR:eeNews Europe)
โรงงาน YMTC ในอู่ฮั่นที่ได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาลจีน (CR:eeNews Europe)

ผู้นำของจีนเต็มใจทำเกือบทุกอย่างเพื่อต่อสู้กับไวรัส COVID-19 แต่ความพยายามในการสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีความสำคัญลำดับขั้นสูงสุด

การถูกวางยาโดยสหรัฐอเมริกานั้นได้กระตุ้นความบ้าคลั่งครั้งใหม่ของรัฐบาลจีนในการผลิตชิป สี จิ้นผิงทำการแต่งตั้ง หลิว เหอ ผู้ช่วยด้านเศรษฐกิจระดับแนวหน้าให้ดำรงตำแหน่ง “chip czar” ในการเป็นผู้นำในการสร้างฝันการผลิตชิปของจีน

แต่ในห่วงโซ่อุปทานที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของอุตสาหกรรมชิป ความเป็นอิสระทางเทคโนโลยีนี้ที่หวังจะทำทุกอย่างได้ทั้งหมดนั้นเปรียบเสมือนดั่งความฝันลม ๆ แล้ง ๆ แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาก็ต้องมีการพึ่งพาบริษัทต่างชาติในหลายภาคส่วน

สำหรับประเทศจีนซึ่งขาดบริษัทที่สามารถที่จะแข่งขันในระดับโลกได้ในอุตสาหกรรมนี้ มันเป็นสิ่งที่ยากกว่ามาก เพื่อการปลดแอกอย่างสมบูรณ์ จีนจำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์การออกแบบที่ทันสมัย ความสามารถของเหล่าวิศวกรในการออกแบบ วัสดุขั้นสูง และความรู้ความชำนาญในการประดิษฐ์มันขึ้นมา

ตัวอย่างง่าย ๆ ในเคสเครื่อง EUV ของ ASML พวกเขาต้องใช้เวลาสามทศวรรษในการพัฒนา เครื่องจักร EUV มีส่วนประกอบหลายอย่างที่ประกอบขึ้นด้วยความท้าทายทางวิศวกรรมที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก

การแค่จำลองเฉพาะเลเซอร์ในระบบ EUV จำเป็นต้องประกอบชิ้นส่วน 457,329 ชิ้นอย่างสมบูรณ์แบบ ข้อบกพร่องเพียงจุดเดียวอาจทำให้เกิดความล่าช้าหรือเกิดปัญหาในเรื่องความน่าเชื่อถือได้ทันที

EUV ของ ASML ที่มีความซับซ้อนในการผลิตสูง (CR:IEEE Spectrum)
EUV ของ ASML ที่มีความซับซ้อนในการผลิตสูง (CR:IEEE Spectrum)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่ารัฐบาลจีนได้ส่งสายลับที่ดีที่สุดเพื่อศึกษากระบวนการผลิตของ ASML มาแล้ว แต่แม้พวกเขาจะแฮ็กเข้าไปในระบบที่เกี่ยวข้องและดาวน์โหลดข้อมูลการออกแบบมาได้แล้วก็ตาม เครื่องจักรที่มีความซับซ้อนขั้นสูงนี้ก็ไม่สามารถที่จะคัดลอกและนำมาใช้งานได้ง่ายๆ เหมือนไฟล์ที่ถูกขโมย

เครื่องจักร EUV เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือมากมายที่ผลิตผ่านห่วงโซ่อุปทานข้ามชาติ การนำทุกส่วนของห่วงโซ่อุปทานมาผลิตในประเทศจีนเพียงประเทศเดียวจะเป็นต้นทุนที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ

อุตสาหกรรมชิปใช้จ่ายเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีไปกับรายจ่ายด้านการลงทุน จีนจะต้องทำซ้ำในส่วนนี้แถมยังต้องสร้างฐานความเชี่ยวชาญและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ขาดอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการสร้างห่วงโซ่อุปทานในประเทศทั้งหมดจะใช้เวลากว่าทศวรรษและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าล้านล้านดอลลาร์ในช่วงระยะเวลาเพียงสั้น ๆ

แต่ก็ต้องบอกว่าจีนไม่ได้ต้องการสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศเขาทั้งหมด ปักกิ่งตระหนักดีว่าสิ่งนี้มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ จีนต้องการซัพพลายเออร์ที่ไม่ใช่ของสหรัฐฯ

แต่เนื่องจากความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในอุตสาหกรรมชิปและอำนาจนอกอาณาเขตในเรื่องการจำกัดการส่งออก ซัพพลายเชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับอเมริกานั้นมันไม่แทบไม่มีอยู่จริงในอุตสาหกรรมนี้

หนึ่งในความท้าทายหลักของจีนในปัจจุบันคือชิปจำนวนมากใช้สถาปัตยกรรม x86 (สำหรับพีซีและเซิร์ฟเวอร์) หรือสถาปัตยกรรม Arm (สำหรับอุปกรณ์พกพา)

x86 นั้นถูกครอบครองโดยบริษัทสหรัฐสองแห่งคือ Intel และ AMD ในขณะที่ Arm ซึ่งออกใบอนุญาตให้บริษัทอื่นใช้สถาปัตยกรรมของตนเองนั้นอยู่ในสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสถาปัตยกรรมใหม่ที่เรียกว่า RISC-V ซึ่งเป็นโอเพ่นซอร์ส ดังนั้นทุกคนจึงสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

แนวคิดของสถาปัตยกรรมโอเพ่นซอร์สดึงดูดหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรมชิป ใครก็ตามที่ต้องจ่าย Arm สำหรับใบอนุญาตในปัจจุบันก็ต้องการทางเลือกใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องเสียเงิน

นอกจากนี้ความเสี่ยงในเรื่องของความปลอดภัยอาจลดลงไปด้วย เนื่องจากธรรมชาติของโอเพ่นซอร์ส เหล่าวิศวกรหัวกะทิทั่วโลกจะสามารถตรวจสอบรายละเอียดและระบุข้อผิดพลาดได้

และด้วยเหตุผลเดียวกัน นวัตกรรมอาจจะก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นด้วยหลากหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา RISC-V บริษัทในจีนก็ยอมรับ RISC-V เช่นกัน เพราะดูเหมือนมันจะเป็นกลางในปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น

ในปี 2019 มูลนิธิ RISC-V ได้ย้ายจากสหรัฐอเมริกาไปยังสวิตเซอร์แลนด์ บริษัทอย่างอาลีบาบากำลังออกแบบโปรเซสเซอร์โดยใช้สถาปัตยกรรม RISC-V เช่นเดียวกัน

นอกเหนือจากการทำงานร่วมกับสถาปัตยกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว จีนยังมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีกระบวนการที่เก่ากว่าเพื่อสร้างชิปลอจิก

ถึงแม้ว่าอย่างอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและศูนย์ข้อมูลระบบคลาวด์ที่ต้องการชิปที่ทันสมัยที่สุด แต่รถยนต์และอุปกรณ์สำหรับผู้บริโภคอื่น ๆ มักใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบเก่า ซึ่งมีประสิทธิภาพเพียงพอและราคาถูกกว่ามาก

การลงทุนส่วนใหญ่ในโรงงานแห่งใหม่ของจีน รวมถึงบริษัทต่าง ๆ เช่น SMIC แม้ตอนนี้จะดูเหมือนว่าพวกเขายังล้าหลัง แต่พวกเขาก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าจีนมีแรงงานในการผลิตชิปลอจิกที่ล้ำยุคและสามารถแข่งขันได้

ชิปที่ทันสมัยที่สุดที่ SMIC เคยผลิตจะเป็นรุ่น 14 นาโนเมตร และเนื่องจากพวกเขาถูกสหรัฐอเมริกาแบนในช่วงปลายปี 2020 ในการซื้อเครื่อง EUV จาก ASML ทำให้ไม่มีใครคาดคิดว่าพวกเขาจะสามารถผลิตชิปขั้นสูงกว่านี้ได้

แต่เมื่อปีที่แล้ว SMIC สามารถผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรได้โดยการปรับแต่งเครื่อง DUV ที่เป็นรุ่นเก่ากว่า ซึ่งยังคงสามารถซื้อได้จาก ASML และมีความเป็นไปได้สูงที่ Huawei จะซื้อเทคโนโลยีและอุปกรณ์จาก SMIC เพื่อผลิตชิป 7 นาโนเมตรในมือถือเรือธงรุ่นใหม่อย่าง Mate 60 Pro

Huawei Mate 60 Pro ที่ใช้ชิป 7 นาโนเมตร (CR:Tbreak)
Huawei Mate 60 Pro ที่ใช้ชิป 7 นาโนเมตร (CR:Tbreak)

จีนยังลงทุนมหาศาลในวัสดุเซมิคอนดักเตอร์ที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ซิลิกอนคาร์ไบด์และแกลเลียมไนไตรด์ ซึ่งแม้จะไม่สามารถทดแทนซิลิกอนบริสุทธิ์ในชิปส่วนใหญ่ได้ แต่จะมีบทบาทในอุปกรณ์อื่น ๆ เช่นระบบในยานยนต์ไฟฟ้า และเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอาจจะทำให้พวกเขาสามารถเอาชนะได้ในสงครามราคา

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศอื่น ๆ คือ เงินอุดหนุนจำนวนมหาศาลของจีนจะทำให้จีนสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดในหลายส่วนของห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิป

โดยเฉพาะในภาคส่วนที่ไม่ต้องการเทคโนโลยีขั้นสูงสุด จีนดูมีแนวโน้มจะมีบทบาทสำคัญในการผลิตชิปโลจิกที่ไม่ล้ำสมัยมากนัก นอกจากนี้การที่พวกเขาทุ่มเงินไปกับวัสดุที่จำเป็นในการพัฒนาชิปสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

ในขณะเดียวกัน YMTC ของจีนก็มีโอกาสสูงที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดหน่วยความจำ NAND ซึ่งมีการประมาณการกันว่าส่วนแบ่งการผลิตชิปของจีนจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 ในช่วงเริ่มต้นของทศวรรษเป็นร้อยละ 24 ของกำลังการผลิตทั่วโลกภายในปี 2030 ซึ่งจะแซงหน้าไต้หวันและเกาหลีใต้ในแง่ของปริมาณ

จีนจะมีอำนาจมากขึ้นในการเรียกร้องเหล่าซัพพลายเออร์ให้ถ่ายโอนเทคโนโลยี พวกเขาจะมีกลุ่มแรงงานที่มีฐานที่กว้างขึ้นสำหรับการใช้งาน ซึ่งบริษัทผลิตชิปเกือบทั้งหมดของจีนต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาล

ดังนั้นพวกเขาจึงมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายระดับประเทศมากพอ ๆ กับเป้าหมายเชิงพาณิชย์

“การทำกำไรและการส่งออกในระดับนานาชาติ… ไม่ใช่สิ่งสำคัญ” ผู้บริหารคนหนึ่งของ YMTC บอกกับหนังสือพิมพ์ Nikkei Asia แต่บริษัทกำลังมุ่งเน้นไปที่ “การสร้างชิปของประเทศด้วยตัวเองและบรรลุความฝันอันยิ่งใหญ่ของประเทศจีน”

References :
เรียบเรียงจากหนังสือ Chip War: The Fight for the World’s Most Critical Technology โดย Chris Miller
https://www.reuters.com/technology/huaweis-new-chip-breakthrough-likely-trigger-closer-us-scrutiny-analysts-2023-09-05/


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube