เหตุใด Visa และ Mastercard จึงยังไม่ประสบชะตากรรมเดียวกันกับ Kodak

อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจมาก ๆ ว่าเหตุใดพวกเขายังครองความยิ่งใหญ่ ในยุคที่ธุรกิจด้านฟินเทคเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก ซึ่งมาถึงตอนนี้ ในโลกของเรามีบริษัทยูนิคอร์นฟินเทคถึง 332 แห่ง

สิ่งที่โดดเด่นพอๆ กันคือการครอบงำของอาณาจักรเทคโนโลยีทางการเงินของบริษัทมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่จัดการกับการชำระเงินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดย 8 ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ PayPal, Ant, Stripe, Shopify, Adyen, Block (เดิมคือ Square), Checkout.com และ Afterpay

แรงขับเคลื่อนสำคัญของความเฟื่องฟูที่เกิดขึ้นกับแวดวงฟินเทคทั่วโลกคือการลดลงอย่างต่อเนื่องของการใช้เงินสดในประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งหมดของโลก และการเร่งความเร็วของการชำระเงินแบบดิจิทัลไปพร้อม ๆ กัน

จากข้อมูลของ Merchant Machine ประเทศที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลมากที่สุด ได้แก่ สวีเดน สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก ซึ่งพวกเขาดำเนินการชำระเงินด้วยเงินสดในสัดส่วนเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

ซึ่งก็ไม่ใช่เพียงแค่บริษัทด้านฟินเทคเท่านั้น เหล่าบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่และธนาคารดั้งเดิมต่างก็มีระบบการชำระเงินด้วยรูปแบบบริการใหม่ ๆ

แต่มีเรื่องแปลกที่เห็นได้ชัดอย่างนึงในธุรกิจนี้ที่ดูเหมือนว่ายักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดมานานอย่าง Visa และ Mastercard ดูเหมือนจะไม่สะทกสะท้านกับนวัตกรรมด้านฟินเทคใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด

ไม่เหมือนกับที่ Kodak โดนกำจัดอย่างราบคาบโดยผู้ผลิตกล้องดิจิทัลหรือการล่มสลายของ Blockbuster เมื่อการสตรีมภาพยนตร์เข้ามาแทนที่การเช่าวิดีโอ เพราะตอนนี้สถานการณ์ทางด้านธุรกิจของทั้ง Visa และ Mastercard กำลังเฟื่องฟู

เมื่อเดือนที่แล้ว Visa รายงาน รายได้สุทธิต่อปีที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้ง Visa และ Mastercard มีราคาหุ้นที่ใกล้ถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์

โดยพวกเขามีมูลค่าตลาดรวมกันที่ 765 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งแทบไม่เปลี่ยนแปลงในปีที่ผ่านมา แม้ว่าตลาดในวงกว้างจะลดลงอย่างรวดเร็วก็ตาม ซึ่งทำให้เหล่าผู้ท้าชิงทั้งเล็กและใหญ่รู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ มากยิ่งขึ้น

เหตุผลนั้นง่ายมาก เพราะแม้แต่ฟินเทคที่ฉลาดที่สุดก็ไม่ได้รบกวนตลาด ซึ่งโดยพื้นฐานพวกเขาเพียงเข้ามาสู่สถาปัตยกรรมการชำระเงินที่มีอยู่แล้วเพียงเท่านั้น

ถึงแม้ว่าเหล่าฟินเทคยอดอัจฉริยะอาจทำให้ชีวิตผู้บริโภคหรือผู้ค้าง่ายขึ้นด้วยการประมวลผลที่เร็วขึ้นหรืออินเทอร์เฟซ ณ จุดขายที่ไหลลื่น แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้กระทบกับธุรกิจของ Visa และ Mastercard เลยแม้แต่น้อย

ทั้ง Visa และ Mastercard เพียงแค่อำนวยความสะดวกให้กับเหล่าบริษัทสตาร์ทอัพด้านฟินเทคทั้งหลาย เนื่องจากพวกเขาเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผ่านผู้ค้า (เฉลี่ย 2 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเงินกินนิ่มสำหรับพวกเขาอยู่แล้ว

แล้วคำถามใหญ่ก็คือ ท่ามกลางความคลั่งไคล้ของนวัตกรรมฟินเทค มันมีโอกาสที่จะมา disrupt ธุรกิจของ Visa หรือ Mastercard ได้หรือไม่? ซึ่งมีห้าเหตุผลที่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้

ประการแรก Twitter ตอนนี้อาจดูเหมือนกับว่า Elon Musk กำลังทำลายธุรกิจที่เขาเพิ่งซื้อมาด้วยมูลค่า 44 พันล้านเหรียญ แต่หากไล่มาตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงจรวด Musk คือจอมยุทธ์ผู้ทำลายล้างธุรกิจดั้งเดิมตัวจริง ในฐานะหนึ่งในผู้ก่อตั้ง PayPal เขาพยายามที่จะเขย่าโลกของการชำระเงินมาเป็นเวลานานแล้ว และเมื่อเร็ว ๆ นี้มีแผนที่จะเปลี่ยน Twitter ให้เป็นเครื่องมือการชำระเงิน

ประการที่สอง cryptocurrencies แนวคิดของการใช้เหรียญ crypto เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินกระแสหลักอาจฟังดูไร้สาระ เนื่องจากความโกลาหลในภาคส่วนนี้เกิดขึ้นเป็นโดมิโนหลังจากการล่มสลายของ FTX

แต่บริการหลักบางอย่างใช้ crypto อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น Ripple ซึ่งใช้เหรียญและโครงสร้างบล็อกเชนในการประมวลผลการชำระเงินข้ามพรมแดนที่มีความรวดเร็ว ราคาถูก สำหรับลูกค้าธนาคารพวกเขาเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในอนาคต

ประการที่สาม Alipay จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ Visa และ Mastercard เอาชนะไม่ได้ และ UnionPay เครือข่ายบัตรเครดิตของรัฐเองก็พัฒนาน้อยมาก

นั่นทำให้ภาคเอกชน fintech ไม่ว่าจะเป็น Alipay รวมถึงคู่แข่งอย่าง WeChat มีโอกาสพัฒนาช่องทางการชำระเงินดิจิทัลของตัวเอง แต่ด้วยความตึงเครียดในระดับสูงของจีนในระดับสากล ความทะเยอทะยานของ Alipay ที่จะขยายไปยังต่างประเทศนั้นก็ยังไม่มีความชัดเจนนัก

ประการที่สี่ Apple ในบรรดาบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ทั้งหมด Apple ดูเหมือนจะทะเยอทะยานที่สุดในด้านการชำระเงิน นอกจาก Apple Pay แล้ว ยังมีบัตรเครดิตร่วมกับ Goldman Sachs และบริการ Buy Now Pay Later แม้ทาง Apple จะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการในอนาคต แต่บางคนเชื่อว่าพวกเขาอาจต้องการบริการที่เลียนแบบ Alipay เช่นเดียวกัน

ล่าสุด JPMorgan ธนาคารขนาดใหญ่ที่ไม่เคยดูเหมือนจะเป็นผู้ที่จะมา disrupt ยักษ์ใหญ่ทางด้านบัตรเครดิต พวกเขาทำเงินหลายพันล้านดอลลาร์ทุกปีจากค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยน

แต่ JPMorgan ได้จุดประกายไอเดียบางอย่างด้วยการดำเนินการตามแผนเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแบบชำระเงินผ่านธนาคารของคู่แข่งซึ่งช่วยให้สามารถโอนเงินผ่านธนาคารได้ง่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะอำนวยความสะดวกในการชำระเงินในโลกของ metaverse ได้ในอนาคต

แม้ตอนนี้ดูเหมือนทั้ง Visa และ Mastercard จะยังดูแข็งแกร่งมาก ๆ ยากที่ใครจะมาล้มพวกเขาได้เหมือนอย่างที่ Kodak เคยล่มสลาย แต่ในอนาคตมันก็ยังไม่มีอะไรที่แน่นอน หากมีการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของโลกของการชำระเงินอีกครั้งนั่นเองครับผม

References :
https://www.ft.com/content/562559e2-1f17-47f7-92e6-57766c9900b0
https://merchantmachine.co.uk/the-countries-most-reliant-on-cash-in-2022/
https://www.ft.com/content/f6d8d454-2413-4f2b-945d-825d0a68730b
https://fintechlabs.com/115-fintech-unicorns-of-the-21st-century-changes-to-the-list-october-2020/