3 อุปสรรคของธุรกิจสตาร์ทอัพ สู่การพังทลายลงอย่างช้า ๆ ของบริษัทอย่าง Netflix และ Uber

แนวความคิดด้านโมเดลธุรกิจของเหล่าสตาร์ทอัพที่กลายเป็น playbook ให้หลาย ๆ บริษัทประสบความสำเร็จนั้น มาถึงตอนนี้ต้องบอกว่ากำลังอยู่ในสภาวะสั่นคลอน

โมเดลธุรกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจาก dot com crash ในช่วงปี 2000 ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง สตรีมมิ่ง การขายโฆษณาออนไลน์ กำลังสูญเสียความน่าสนใจจากเหล่านักลงทุน

ซึ่งธุรกิจชื่อดังที่ใช้โมเดลดังกล่าวนี้ไม่ว่าจะเป็น Uber , Netflix หรือ Snap นั้นตอนนี้มูลค่าบริษัทของพวกเขากำลังลดดิ่งลงเหว

แม้จะเป็นผู้นำระดับโลกในด้านบริการเรียกรถแต่ Uber ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสร้างกำไรได้ ในช่วงเวลา 13 ปี Uber ได้ผลาญเงินนักลงทุนไปกว่า 25 พันล้านดอลลาร์แล้ว DoorDash ผู้นำด้านการจัดส่งอาหารก็ยังขาดทุนอยู่หรือแม้แต่ Spotify ก็เช่นกัน ทั้งที่รายได้พวกเขาเหล่านี้เติบโตพอสมควรก็ตามที

Netflix บริษัทที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ยุค 1990 เปลี่ยนธุรกิจของตัวเองให้กลายบริการสตรีมมิ่งในปี 2007 แม้จะทำกำไรได้ แต่การเติบโตของรายได้ลดลงเหลือ 6% ในไตรมาสที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่มีตัวเลขไม่ต่ำกว่า 20%

แม้ดูคร่าว ๆ แต่ละธุรกิจจะประสบปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดแทบจะเจออุปสรรคหลักเดียวกันสามอย่าง นั่นก็คือ ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ Network Effect , Barriers to entry ที่ต่ำมาก ๆ และการพึ่งพาแพลตฟอร์มอื่น ๆ มากเกินไป

เริ่มต้นด้วย Network Effect ที่กลายเป็นคำโก้สวยหรูที่เรามักจะเห็นในแวดวงสตาร์ทอัพ กับแนวคิดที่ว่าคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อผู้ใช้นั้นเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้งาน มันอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าเหตุใดสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จึงแสวงหาการเติบโตด้วยการผลาญเงินนักลงทุนแแทบจะทั้งหมด โดยใช้เงินหลายล้านในการหาลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เกิดพลังของ Network Effect

แม้พลังของ Network Effect นั้นจะมีอยู่จริง แต่มันก็มีขีดจำกัดเช่นเดียวกัน Uber เชื่อว่าเมื่อมีผู้โดยสารและคนขับจำนวนมากขึ้นจะหมายถึงที่ว่างที่น้อยลงสำหรับทั้งสองฝ่าย และจะดึงดูดผู้ใช้งานเข้ามามากขึ้น

แต่กลายเป็นว่าเมื่อพวกเขาทำให้การเวลาการรอโดยเฉลี่ยลดลงจากสองนาทีเหลือหนึ่งนาที กลับต้องใช้คนขับเพิ่มมากขึ้นถึงสองเท่า แม้ว่าผู้ขับขี่ส่วนใหญ่จะแทบไม่สังเกตเห็นความแตกต่างก็ตาม

Spotify และ Netflix เองยังพยายามใช้ประโยชน์จากพลังของ Network Effect เนื่องจากข้อมูลจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับพฤติกรรมการฟังและการรับชมของผู้ใช้ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งพวกเขามองว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาไม่มีใครสามารถเข้ามาแข่งได้

ความเชื่อที่ว่าข้อมูลผู้ใช้จำนวนมหาศาลของ Netflix จะทำให้เกิดความได้เปรียบในการสร้างเนื้อหาได้ถูกทำลายลงตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ original ของ Netflix อย่าง True Memoirs of an International Assassin โดนดูถูกจากเว็บไซต์วิจารณ์ชื่อดังอย่าง Rotten Tomatoes โดยให้ Rating ในระดับ 0%

ปัญหาที่สองในเรื่องของ Barriers to entry หรือ อุปสรรคในการเข้ามาของคู่แข่ง ในตอนนี้เรียกได้ว่าแทบไม่มีอุปสรรคใด ๆ ในการสร้างบริการเลียนแบบต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้น แทบจะไม่มีนวัตกรรมใหม่ใด ๆ เกิดขึ้น นั่นหมายความว่าบริการใดที่คิดว่าเทพแค่ไหน เหล่าคนลอกเลียนแบบก็จะปรากฎตัวขึ้นในไม่ช้า

ตัวอย่าง Uber แม้จะเจอคู่แข่งเรียกรถเพียงรายเดียวคือ Lyft ในตลาดบ้านเกิด แต่การขยายไปทั่วโลกพวกเขาเจอคู่ต่อสู้ในท้องถิ่นในทุกที่ เช่น Didi ในจีน หรือ Grab และ Gojek ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หรือในธุรกิจสตรีมมิ่ง แม้จะมีอุปสรรคในการเข้ามามากกว่า Netflix และ Spotify ใช้เงินมหาศาลในการสร้างเนื้อหาและเรื่องลิขสิทธิ์ แต่พวกเขาไม่สามารถเอาชนะโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยเฉพาะเมื่อยักษ์ใหญ่โดดเข้ามาเล่นในตลาดเดียวกัน

เมื่อ Disney ลงมาแข่งด้วยส่งผลอย่างชัดเจนต่อ Netflix เพราะ Disney มีคอนเทนต์มากมายมหาศาลและมีทุนในการต่อสู้กับ Netflix ได้แบบสบายๆ

Disney ใช้เงินไปกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญต่อปีในเรื่องคอนเทนต์ Netflix สามารถทุ่มได้เพียงแค่ 17 พันล้านเหรียญต่อปี ต้นทุนด้านเนื้อหาได้กัดกินไปที่ผลกำไรของบริการสตรีมมิ่ง แต่ Disneyไม่ได้สนใจพวกเขาเป็นบริษัทยักษ์มีทุนหนา ซึ่งมันส่งผลโดยตรงต่อ Netflix ที่ทำให้มูลค่าบริษัทของพวกเขาลดลงไปแทบจะทันที

และสิ่งสุดท้ายที่กำลังสั่นคลอนธุรกิจสตาร์ทอัพโดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่คือการพึ่งพาแพลตฟอร์มในการจัดจำหน่ายที่ไม่ใช่ของตนเอง

Uber และ DoorDash ยอมจ่ายค่าโฆษณาบนแอพสโตร์ของ Apple และ Android ของ Alphabet บริการอย่าง Spotify โดนหักค่าคอมมิชชั่นมากกว่า 15% สำหรับการสมัครสมาชิกบน iPhone แม้พวกเขาจะพยายามบังคับให้ผู้ใช้จ่ายเงินผ่านเว็บเบราว์เซอร์ แต่การผูกตัวเองกับแพลตฟอร์มอื่นแบบนี้ในระยะยาว ไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน

ผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดในการพึ่งพิงอาศัยบนแพลตฟอร์มของผู้อื่นนั้น ต้องบอกว่าภัยคุกคามนั้นมีอยู่จริงเมื่อเจ้าของแพลตฟอร์มเกิดเปลี่ยนนโยบาย หรือ อยากจะรีดไถเงินเพิ่ม

ตัวอย่างชัดเจนที่สุดที่เกิดขึ้นกับ Facebook การปรับเปลี่ยนนโยบายความเป็นส่วนตัวใหม่เพียงแค่เรื่องเดียว ทำให้ Meta สูญเสียรายได้ประมาณ 10 พันล้านดอลลาร์

Parler ซึ่งเป็นแอปเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่สนับสนุนทรัมป์ ถูกระงับชั่วคราวโดยทั้ง Apple และ Android และหากผู้มีอำนาจในสภาของอเมริกากังวลเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของโดยจีนของแอปอย่าง TikTok และบังคับให้ Apple และ Alphabet นำมันออกจาไปจากแอพสโตร์ ดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการโซเชียลมีเดียวก็อาจถึงคราวต้องดับสูญได้เช่นกัน

แม้โมเดลธุรกิจต่าง ๆ อาจจะเผชิญความท้าทายที่แตกต่างกันไป จะเห็นได้ว่าหากปัญหาเกิดขึ้นกับเสาเหลักเพียงเสาเดียว อย่างเรื่อง Network Effect , Barriers to entry หรือ การพึ่งพาแพลตฟอร์มอื่น ๆ มากเกินไป นั้นก็สามารถสั่นคลอนธุรกิจที่เคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงไม่มีใครคาดคิดว่าจะล้มได้ แต่หากทั้งสามเสาหลักสร้างปัญหาพร้อมกันเมื่อไหร่ล่ะก็ ความหายนะมันก็จะเกิดขึ้นกับธุรกิจนั้นแทบจะทันทีนั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/business/2022/10/31/what-went-wrong-with-snap-netflix-and-uber
https://www.channelnews.com.au/netflix-wobbles-shares-crash-18/
https://www.cnbc.com/2022/04/20/netflix-plunges-trading-subscriber-loss.html
https://www.forbes.com/sites/greatspeculations/2022/06/07/is-uber-stock-too-cheap-to-ignore