ในยุคของ crypto ผู้คนกำลังมองหาวิธีง่ายๆ ในการทำเงินบนโลกออนไลน์ โดยแทบไม่รู้ว่าหลายคนก็ได้ใช้วิธีการที่สกปรกเพื่อหาประโยนชน์จากสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องอื้อฉาวฉาวโฉ่ที่ล้อมรอบบริษัทสตาร์ทอัพด้านฟินเทคของเยอรมัน Wirecard บริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงของโลกการเงินและเทคโนโลยี
แต่ในในปี 2020 ถูกตีแผ่เรื่องราวจากการดำเนินธุรกิจที่ทุจริตและการรายงานทางการเงินที่ฉ้อฉล และบริษัทต้องถึงกับล้มละลายเมื่อข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ
คนที่เปิดเผยการฉ้อโกงนี้เป็นครั้งแรกคือ Dan McCrum จาก Financial Times และเขาได้เขียนหนังสือ Money Men: A Hot Startup, A Billion Dollar Fraud, A Fight for the Truth จนถูกสร้างเป็นสารคดีของ Netflix เรื่อง Skandal! Wirecard
Wirecard คืออะไร?
Wirecard เริ่มดำเนินการในปี 1999 ที่มิวนิค และในปี 2002 Marcus Braun อดีตที่ปรึกษาของ KPMG ได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ณ จุดนี้ บริษัทมุ่งเน้นไปที่การให้บริการชำระเงินออนไลน์สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมอื่น ๆ อาจปฏิเสธ เช่น เว็บไซต์ลามกหรือเว็บไซต์การพนัน
Wirecard นั้นได้สร้างความหวือหวาให้กับวงการด้วยเรื่องราวของบุคคลที่มีสีสันของชายสองคนที่ดูแล Wirecard ได้แก่ Markus Braun ผู้บริหารระดับสูงที่มองโลกในแง่ดีและสวมเสื้อคอเต่า (เลียนแบบ Steve Jobs) และ Jan Marsalek ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการแสนเจ้าเล่ห์และหลงตัวเอง
ภายในปี 2005 Wirecard ได้ควบรวมกิจการกับ Electronic Business Systems แล้วทำการ IPO ในตลาดหลักทรัพย์แฟรงค์เฟิร์ต หนึ่งปีต่อมา บริษัทเข้าสู่ธุรกิจธนาคารโดยการซื้อ e-bank XCOM ซึ่งอนุญาตให้ทั้ง Visa และ Mastercard สามารถจัดการเงินสำหรับร้านค้าได้
ณ จุดนี้ บริการค่อนข้างมีความซับซ้อน ทำให้งบดุลในบัญชีตรวจสอบได้ยากขึ้น งบการเงินของบริษัทก็ค่อนข้างซับซ้อนเป็นอย่างมาก ทำให้แทบไม่มีใครรู้ว่าที่แท้จริงแล้วธุรกิจของ Wirecard คืออะไรกันแน่
เมื่อความผิดปรกติเกิดขึ้น
ในปี 2008 เมื่อหัวหน้าสมาคมผู้ถือหุ้นของเยอรมนีสังเกตเห็นความผิดปกติทางการเงินในงบดุล และ EY (Ernst & Young) ถูกให้เข้ามาเพื่อตรวจสอบบัญชีของบริษัท
อย่างไรก็ตาม Wirecard ยังคงดำเนินการอยู่และกำลังขยายไปทั่วโลก หลังจากระดมทุน 500 ล้านยูโรจากนักลงทุน พวกเขาได้เข้าซื้อบริษัทชำระเงินในเอเชียและตั้งฐานที่มั่นในสิงคโปร์
Financial Times เริ่มรายงานเกี่ยวกับบริษัทในปี 2015 และเผยแพร่เรื่องราวภายใต้ซีรี่ส์ ‘House Of Wirecard’ แต่เมื่อ Wirecard ตรวจสอบข้อกล่าวหาและปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นความจริง ทนายความของ Wirecard ได้ตอบโต้กลับและสั่งฟ้อง Financial Times
J Capital Research ยังรายงานด้วยว่าการดำเนินงานในเอเชียของพวกเขานั้นไม่เหมือนอย่างที่พวกเขาคุยโม้ไว้ ซึ่ง Wirecard ปฏิเสธ และพวกเขาได้เคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในอเมริกาด้วยการซื้อธุรกิจบัตรเติมเงินจาก Citibank เพื่อให้สามารถเปิดตัวในสหรัฐอเมริกาได้
ภายในปี 2018 ที่ประเทศสิงคโปร์ มีผู้แจ้งเบาะแสซึ่งเป็นอดีตทนายความของ Wirecard ซึ่งเปิดโปง เรื่องราวของเงินที่บริษัทได้ส่งเงินไปยังอินเดียผ่านบุคคลที่สามอย่างฉ้อฉล
แต่การสอบสวนถูกกวาดไปอยู่ใต้พรม และในปีนั้น บริษัทมีมูลค่า 24 พันล้านยูโร โดย Braun มีสัดส่วนถือหุ้นอยู่ที่ 1.6 พันล้านยูโร บริษัทมองหาแนวทางที่จะกลายเป็นยูนิคอร์นในเยอรมนี โดยสามารถแข่งขันกับบริษัทอเมริกันที่ใหญ่ที่สุดในซิลิคอนแวลลีย์
ในปี 2019 BaFin หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินแห่งสหพันธรัฐเยอรมันเริ่มสอบสวน Wirecard และสั่งห้ามขายชอร์ตหุ้นเป็นเวลา 2 เดือน เนื่องจากเกรงว่าบริษัทจะมีการบิดเบือนตลาดหุ้น
แม้ว่า FT จะ เปิดเผยว่าธุรกิจของ Wirecard ครึ่งหนึ่งเป็นธุรกิจภายนอกที่แทบไม่มีอยู่จริง แต่ก็มีเรื่องที่น่าแปลกที่ Wirecard ยังสามารถเจรจาการลงทุนมูลค่า 900 ล้านยูโรจาก Softbank ของญี่ปุ่นได้
มูลค่าหุ้นของ Wirecard เริ่มร่วงลงในปีเดียวกันนั้น Wirecard อ้างว่า “มีการสมรู้ร่วมคิดโดยผู้ขายชอร์ตหุ้น” และแต่งตั้งนักสืบเอกชนเพื่อติดตามผู้ที่รายงานหรือสืบสวนคดีนี้
Dan McCrum และทีมงานถูกสั่งพักงานเพื่อตรวจสอบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนสมรู้ร่วมคิดดังกล่าวหรือไม่ ทีมนักสืบเอกชนของ Wirecard ปลอมเป็นท่านชีคจากคูเวตหลอกว่าจะไปร่วมลงทุนกับหนึ่งในนักชอร์ตหุ้นที่ได้รับข้อมูลการสืบสวนมาจาก Financial Times
หลังจากนั้นบริษัทบัญชียักษ์ใหญ่อย่าง KPMG ถูกเชิญให้ไปทำการตรวจสอบควบคู่ไปกับ EY และ EY ได้รับเอกสารจากฟิลิปปินส์โดยอ้างว่ามีเงินทุน 1.9 พันล้านยูโรอยู่ในธนาคารสองแห่งในประเทศ
เมื่อรายงานของ KPMG ถูกเปิดเผยในเดือนเมษายน ระบุว่า “ไม่สามารถยืนยันได้” ว่าเงินทุน 1.9 พันล้านยูโรนั้นมีอยู่จริง
ในเดือนมิถุนายน 2002 BaFin ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนทางอาญาเกี่ยวกับเรื่องที่ทำให้เข้าใจผิดต่อนักลงทุน Wirecard ก่อนการเผยแพร่รายงานของ KPMG
สำนักงานของ Wirecard ถูกบุกค้น และอัยการมิวนิกเริ่มการสอบสวนคดีอาญากับ Braun เพียงไม่กี่วันต่อมา KPMG ได้เปิดเผยรายงานการตรวจสอบว่าเงิน 1.9 พันล้านยูโรหายไปจริง ๆ และหุ้นของพวกเขาก็ล้มพังทลายลงมาแทบจะทันที
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน Braun ลาออกและอีกสามวันต่อมา Wirecard เปิดเผยว่าเงินจำนวน 1.9 พันล้านยูโรไม่มีอยู่จริง ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลจริง ๆ เป็นครั้งแรกของบริษัทในรอบหลายปี
Braun ถูกจับในข้อหาทำบัญชีเท็จและยักยอกตลาด และบริษัทประกาศล้มละลายในอีกสองวันต่อมา
ตอนนี้ Braun อยู่ที่ไหน
ในเดือนมีนาคม 2022 อัยการเมืองมิวนิกตั้งข้อหากับ braun ในข้อหาฉ้อโกง และยักยอกบัญชี และขณะนี้เขากำลังรอการพิจารณาคดี Braun ปฏิเสธในข้อกล่าวหาเหล่านี้และอ้างว่าเขาเองก็ตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงเช่นกัน
จากการสืบสวนพบว่า Jan Marsalek มีการเชื่อมต่อกับหน่วยข่าวกรองในรัสเซียและลิเบียอย่างลับๆ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการกิจกรรมฉ้อโกงส่วนใหญ่ ซึ่งแม้กระทั่งตอนที่ทุกอย่างกำลังจะถูกเปิดเผยออกมา แต่เขาไม่เคยหยุดคิดการใหญ่
ในนาทีสุดท้าย Marsalek พยายามที่จะเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องราวอันฉาวโฉ่ของ Wirecard โดยการเข้ายึด Deutsche Bank ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมัน แต่มันก็ไม่สำเร็จ
Marsalek หายตัวไปไม่นานหลังจากที่เขาถูกไล่ออกจากบริษัท และปัจจุบันเป็นที่ต้องการตัวของตำรวจเยอรมัน เขาอยู่ในรายชื่อผู้ลี้ภัยที่ต้องการตัวมากที่สุดของยุโรปของ Europol
บทสรุป
เรื่องราวของ Wirecard ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทเทคโนโลยีลวงโลกที่น่าสนใจมาก ๆ ที่สำคัญมันยังเกิดในประเทศอย่างเยอรมัน ซึ่งพวกเขาสามารถหลอกลวงหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐได้เป็นเวลานานมาก ๆ โดยที่ไม่มีใครระแคะระคาย
สิ่งที่เหลือเชื่อก็คือ ในขณะที่ชื่อของพวกเขากำลังเป็นข่าว แต่ Softbank ก็ยังกล้าเข้ามาลงทุนเป็นพันล้านดอลลาร์ นั่นช่วยให้ข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับ Wirecard ลดน้อยลงไป
เหล่านักการเมืองของเยอรมันปฏิเสธที่จะมาตรวจสอบอย่างจริงจังในช่วงแรก ๆ พวกเขามองแค่ว่าประเทศอื่นๆ ต่างอิจฉาที่มีฟินเทคชื่อดังเกิดขึ้นในเยอรมัน และ Wirecard ได้กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สำคัญและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ
นั่นเป็นยุคก่อนหน้าที่เทคโนโลยียังไม่ซับซ้อนเท่าในทุกวันนี้ เราได้เห็นกลลวงหลอกโดยอ้างเทคโนโลยีมากมาย ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน รวมถึงเส้นทางการฟอกเงินที่มีความซับซ้อนมากกว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก แต่สุดท้ายกลลวงหรือแชร์ลูกโซ่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มันก็คือมุกเดิม ๆ ที่แค่เปลี่ยนเทคโนโลยีที่เป็นฉากบังหน้าเพียงเท่านั้นนั่นเองครับผม
References :
https://www.economist.com/culture/2022/06/16/how-one-journalist-exposed-the-wirecard-scandal
https://www.reuters.com/article/us-germany-wirecard-inquiry-timeline-idUSKBN2B811J
https://www.esquire.com/uk/culture/a41040983/wirecard-scandal-true-story/
https://kunai-co.medium.com/how-wirecard-became-germanys-enron-7bf9f3c20039