หมดยุคการแข่งขัน เมื่อแพลตฟอร์ม ecommerce เริ่มจับมือกันขึ้นค่าธรรมเนียมแบบสุดโหด

ต้องบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดกับการแข่งขันที่น้อยลงไปของแพลตฟอร์ม ecommerce โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ภาพใหญ่จากผลประกอบการมันชัดเจนมาก ๆ พวกเขาไม่สามารถขาดทุนไปมากกว่านี้ได้อีกต่อไป

Sea Group ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม shopee นั้นกำลังถูกกดดันจากเหล่านักลงทุนอย่างหนัก เราจะเห็นข่าวการปลดพนักงาน หรือ ยุติกิจการของพวกเขาในหลาย ๆ ประเทศ

ตัวเลขขาดทุนที่เปิดเผยออกมาล่าสุดที่มีผลขาดทุนสุทธิ 931 ล้านดอลลาร์ ทำให้ Sea เจ้าของแแพลตฟอร์มอย่าง Shopee นั้นต้องมีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจครั้งใหญ่ให้เริ่มสร้างกำไร

ส่วน lazada นั้นสร้างกำไรได้แล้ว แต่ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจขนส่ง ซึ่งเป็นขาหนึ่งใน ecosystem ของแพลตฟอร์ม ecommerce

และที่สำคัญโดยเฉพาะในประเทศไทยเอง เหมือนจะเหลือคู่แข่งกันเพียงแค่ 2 รายเท่านั้นในตอนนี้ jd.co.th ที่มาแรงในช่วงแรก ๆ ก็เหมือนจะไม่สามารถขึ้นมาเทียบเคียงกับ shopee หรือ lazada ได้

jd.co.th ที่ยังแย่งส่วนแบ่งการตลาดไม่ได้มากนัก (CR:Terrabkk)
jd.co.th ที่ยังแย่งส่วนแบ่งการตลาดไม่ได้มากนัก (CR:Terrabkk)

และถ้าใครเป็นพ่อค้าแม่ค้าในแพลตฟอร์มนั้น จะได้รับ mail ขึ้นค่าธรรมเนียมแบบรัว ๆ ซึ่งขึ้นมาทีละนิด ๆ แม้ตัวเลขเฉลี่ยมันจะเป็นตัวเลขเพียงเล็กน้อยที่ราว ๆ 1% เพียงเท่านั้น แต่การปรับแต่ละครั้ง ถือว่าส่งผลกระทบต่อพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอยู่ในแพลตฟอร์มพอสมควรเลยทีเดียว

แล้วสิ่งที่สำคัญมาก ๆ มันเห็นสัญญาณชัดเจนถึงยุคการแข่งขันที่กำลังจะสิ้นสุดลง เพราะถ้าดูตัวเลขค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นมา ลองมาเปรียบเทียบของสองแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่นั้น แทบจะเท่า ๆ กัน ต่างแค่จุดทศนิยมนิดหน่อยเพียงเท่านั้น

เมื่อแบรนด์ยักษ์ใหญ่เริ่มหนีไปสร้างช่องทางการขายของตนเอง

ถ้าใครสังเกต เราจะเห็นได้ว่าช่วงนี้แบรนด์หลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่ เริ่มโปรโมตช่องทางการขายของแพลตฟอร์มตัวเองหรือเว็บไซต์ของตัวเอง แทนที่จะพึ่งพา marketplace เป็นช่องทางหลักเหมือนเมื่อก่อน

ซึ่งเมื่อเราได้เห็นเทรนด์ที่ชัดเจน เรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น มันก็เป็นสัญญาณชัดเจนว่า ในอนาคต อะไรก็เกิดขึ้นได้ อาจจะขึ้นไปถึง 10% 20% ก็ได้ใครจะไปรู้ ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์ม Ecommerce ของจีน หรือแม้กระทั่ง amazon ของอเมริกาที่บางหมวดหมู่มีค่าธรรมเนียมสูงถึง 20%++

เราจะเห็นได้ว่าพวกเขามีการสร้าง Ecosystem ที่ทำการชักจูงพฤติกรรมผู้บริโภคโดยใช้เงินทุนมหาศาลในการ ลด แลก แจก แถม แจกโปรโมชั่นกันอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งเป็นเงินที่ระดมทุนมาแทบจะทั้งสิ้น ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขการขาดทุนมหาศาลมาหลายปีแล้วของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้

เพราะฉะนั้น สิ่งที่พ่อค้าแม่ค้า โดยเฉพาะเหล่าพ่อค้าคนกลางทั้งหลาย ควรทำกับแพลตฟอร์มเหล่านี้ คือ รีบโกยมาให้มากที่สุด ให้เร็วที่สุด และควรหาทางเลือกสำรองไว้ ที่เราสามารถ control ทุกอย่างได้บ้าง ตัวอย่างเช่น การสร้างเว๊บไซต์ของตัวเองขึ้นมาแทน เพราะยังไงหากเป็นบ้านของตัวเองก็ไม่มีใครสามารถมาเปลี่ยนอะไรเราได้อยู่แล้ว

แล้วเปลี่ยนมุมมองกับพวกแพลตฟอร์ม ต่าง ๆ เหล่านี้ ที่เรากำลังพึ่งพานั้นเป็นเพียงช่องทางหนึ่งในการขายเพียงเท่านั้น อย่ามองเป็นช่องทางทำรายได้หลักเด็ดขาด เพราะวันนึงพวกเขาจะเปลี่ยนนโยบายอะไรก็ได้ เราไม่สามารถที่จะ control อะไรได้เลย

ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายแล้วที่อยู่ดี ๆ ก็เปลี่ยน policy ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสุดท้ายเราก็อยู่ไม่ได้ อย่างเช่นในแพลตฟอร์ม ใหญ่ ๆ หลายแห่งที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ เช่น Facebook ที่ปรับการเข้าถึง รวมถึงค่าโฆษณาที่แพงขึ้นอย่างมหาศาล

ซึ่งตอนนี้ในตลาด Marketplace มันก็ได้ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า มันถึงเวลาที่พวกเขาต้องกอบโกยเงินกลับ หลังจากที่ได้ถลุงเงินไปจำนวนมหาศาลเป็นเวลานานมากแล้วนั่นเองครับผม

Credit Image : disruptive.asia