Dan McCrum กับการต่อสู้เพื่อเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับบริษัทเทคโนโลยีลวงโลกอย่าง Wirecard

ในยุคของ crypto ผู้คนกำลังมองหาวิธีง่ายๆ ในการทำเงินบนโลกออนไลน์ โดยแทบไม่รู้ว่าหลายคนก็ได้ใช้วิธีการที่สกปรกเพื่อหาประโยนชน์จากสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องอื้อฉาวฉาวโฉ่ที่ล้อมรอบบริษัทสตาร์ทอัพด้านฟินเทคของเยอรมัน Wirecard บริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงของโลกการเงินและเทคโนโลยี

แต่ในในปี 2020 ถูกตีแผ่เรื่องราวจากการดำเนินธุรกิจที่ทุจริตและการรายงานทางการเงินที่ฉ้อฉล และบริษัทต้องถึงกับล้มละลายเมื่อข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

คนที่เปิดเผยการฉ้อโกงนี้เป็นครั้งแรกคือ Dan McCrum จาก Financial Times และเขาได้เขียนหนังสือ Money Men: A Hot Startup, A Billion Dollar Fraud, A Fight for the Truth จนถูกสร้างเป็นสารคดีของ Netflix เรื่อง Skandal!  Wirecard 

Wirecard คืออะไร?

Wirecard เริ่มดำเนินการในปี 1999 ที่มิวนิค และในปี 2002 Marcus Braun อดีตที่ปรึกษาของ KPMG ได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ณ จุดนี้ บริษัทมุ่งเน้นไปที่การให้บริการชำระเงินออนไลน์สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมอื่น ๆ อาจปฏิเสธ เช่น เว็บไซต์ลามกหรือเว็บไซต์การพนัน

Wirecard นั้นได้สร้างความหวือหวาให้กับวงการด้วยเรื่องราวของบุคคลที่มีสีสันของชายสองคนที่ดูแล Wirecard ได้แก่ Markus Braun ผู้บริหารระดับสูงที่มองโลกในแง่ดีและสวมเสื้อคอเต่า (เลียนแบบ Steve Jobs) และ Jan Marsalek ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการแสนเจ้าเล่ห์และหลงตัวเอง  

สองผุ้นำของ Wirecard Markus Braun และ Jan Marsalek (CR:OE24)
สองผุ้นำของ Wirecard Markus Braun และ Jan Marsalek (CR:OE24)

ภายในปี 2005 Wirecard ได้ควบรวมกิจการกับ Electronic Business Systems แล้วทำการ IPO ในตลาดหลักทรัพย์แฟรงค์เฟิร์ต หนึ่งปีต่อมา บริษัทเข้าสู่ธุรกิจธนาคารโดยการซื้อ e-bank XCOM ซึ่งอนุญาตให้ทั้ง Visa และ Mastercard สามารถจัดการเงินสำหรับร้านค้าได้ 

ณ จุดนี้ บริการค่อนข้างมีความซับซ้อน ทำให้งบดุลในบัญชีตรวจสอบได้ยากขึ้น งบการเงินของบริษัทก็ค่อนข้างซับซ้อนเป็นอย่างมาก ทำให้แทบไม่มีใครรู้ว่าที่แท้จริงแล้วธุรกิจของ Wirecard คืออะไรกันแน่

เมื่อความผิดปรกติเกิดขึ้น

ในปี 2008 เมื่อหัวหน้าสมาคมผู้ถือหุ้นของเยอรมนีสังเกตเห็นความผิดปกติทางการเงินในงบดุล และ EY (Ernst & Young) ถูกให้เข้ามาเพื่อตรวจสอบบัญชีของบริษัท

อย่างไรก็ตาม Wirecard ยังคงดำเนินการอยู่และกำลังขยายไปทั่วโลก หลังจากระดมทุน 500 ล้านยูโรจากนักลงทุน พวกเขาได้เข้าซื้อบริษัทชำระเงินในเอเชียและตั้งฐานที่มั่นในสิงคโปร์ 

Financial Times เริ่มรายงานเกี่ยวกับบริษัทในปี 2015 และเผยแพร่เรื่องราวภายใต้ซีรี่ส์ ‘House Of Wirecard’ แต่เมื่อ Wirecard ตรวจสอบข้อกล่าวหาและปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นความจริง ทนายความของ Wirecard ได้ตอบโต้กลับและสั่งฟ้อง Financial Times 

J Capital Research ยังรายงานด้วยว่าการดำเนินงานในเอเชียของพวกเขานั้นไม่เหมือนอย่างที่พวกเขาคุยโม้ไว้ ซึ่ง Wirecard ปฏิเสธ และพวกเขาได้เคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในอเมริกาด้วยการซื้อธุรกิจบัตรเติมเงินจาก Citibank เพื่อให้สามารถเปิดตัวในสหรัฐอเมริกาได้

ภายในปี 2018 ที่ประเทศสิงคโปร์ มีผู้แจ้งเบาะแสซึ่งเป็นอดีตทนายความของ Wirecard ซึ่งเปิดโปง เรื่องราวของเงินที่บริษัทได้ส่งเงินไปยังอินเดียผ่านบุคคลที่สามอย่างฉ้อฉล 

แต่การสอบสวนถูกกวาดไปอยู่ใต้พรม และในปีนั้น บริษัทมีมูลค่า 24 พันล้านยูโร โดย Braun มีสัดส่วนถือหุ้นอยู่ที่ 1.6 พันล้านยูโร บริษัทมองหาแนวทางที่จะกลายเป็นยูนิคอร์นในเยอรมนี โดยสามารถแข่งขันกับบริษัทอเมริกันที่ใหญ่ที่สุดในซิลิคอนแวลลีย์ 

ในปี 2019 BaFin หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินแห่งสหพันธรัฐเยอรมันเริ่มสอบสวน Wirecard และสั่งห้ามขายชอร์ตหุ้นเป็นเวลา 2 เดือน เนื่องจากเกรงว่าบริษัทจะมีการบิดเบือนตลาดหุ้น

แม้ว่า FT จะ เปิดเผยว่าธุรกิจของ Wirecard ครึ่งหนึ่งเป็นธุรกิจภายนอกที่แทบไม่มีอยู่จริง แต่ก็มีเรื่องที่น่าแปลกที่ Wirecard ยังสามารถเจรจาการลงทุนมูลค่า 900 ล้านยูโรจาก Softbank ของญี่ปุ่นได้

Softbank เข้าลงทุนกว่าพันล้านดอลลาร์ใน Wirecard (CR:Barron's)
Softbank เข้าลงทุนกว่าพันล้านดอลลาร์ใน Wirecard (CR:Barron’s)

มูลค่าหุ้นของ Wirecard เริ่มร่วงลงในปีเดียวกันนั้น Wirecard อ้างว่า “มีการสมรู้ร่วมคิดโดยผู้ขายชอร์ตหุ้น” และแต่งตั้งนักสืบเอกชนเพื่อติดตามผู้ที่รายงานหรือสืบสวนคดีนี้

Dan McCrum และทีมงานถูกสั่งพักงานเพื่อตรวจสอบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนสมรู้ร่วมคิดดังกล่าวหรือไม่ ทีมนักสืบเอกชนของ Wirecard ปลอมเป็นท่านชีคจากคูเวตหลอกว่าจะไปร่วมลงทุนกับหนึ่งในนักชอร์ตหุ้นที่ได้รับข้อมูลการสืบสวนมาจาก Financial Times

หลังจากนั้นบริษัทบัญชียักษ์ใหญ่อย่าง KPMG ถูกเชิญให้ไปทำการตรวจสอบควบคู่ไปกับ EY และ EY ได้รับเอกสารจากฟิลิปปินส์โดยอ้างว่ามีเงินทุน 1.9 พันล้านยูโรอยู่ในธนาคารสองแห่งในประเทศ 

เมื่อรายงานของ KPMG ถูกเปิดเผยในเดือนเมษายน ระบุว่า “ไม่สามารถยืนยันได้” ว่าเงินทุน 1.9 พันล้านยูโรนั้นมีอยู่จริง

ในเดือนมิถุนายน 2002 BaFin ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนทางอาญาเกี่ยวกับเรื่องที่ทำให้เข้าใจผิดต่อนักลงทุน Wirecard ก่อนการเผยแพร่รายงานของ KPMG 

สำนักงานของ Wirecard ถูกบุกค้น และอัยการมิวนิกเริ่มการสอบสวนคดีอาญากับ Braun เพียงไม่กี่วันต่อมา KPMG ได้เปิดเผยรายงานการตรวจสอบว่าเงิน 1.9 พันล้านยูโรหายไปจริง ๆ และหุ้นของพวกเขาก็ล้มพังทลายลงมาแทบจะทันที

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน Braun ลาออกและอีกสามวันต่อมา Wirecard เปิดเผยว่าเงินจำนวน 1.9 พันล้านยูโรไม่มีอยู่จริง ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลจริง ๆ เป็นครั้งแรกของบริษัทในรอบหลายปี

Braun ถูกจับในข้อหาทำบัญชีเท็จและยักยอกตลาด และบริษัทประกาศล้มละลายในอีกสองวันต่อมา

ตอนนี้ Braun อยู่ที่ไหน

ในเดือนมีนาคม 2022 อัยการเมืองมิวนิกตั้งข้อหากับ braun ในข้อหาฉ้อโกง และยักยอกบัญชี และขณะนี้เขากำลังรอการพิจารณาคดี Braun ปฏิเสธในข้อกล่าวหาเหล่านี้และอ้างว่าเขาเองก็ตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงเช่นกัน

จากการสืบสวนพบว่า Jan Marsalek มีการเชื่อมต่อกับหน่วยข่าวกรองในรัสเซียและลิเบียอย่างลับๆ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการกิจกรรมฉ้อโกงส่วนใหญ่ ซึ่งแม้กระทั่งตอนที่ทุกอย่างกำลังจะถูกเปิดเผยออกมา แต่เขาไม่เคยหยุดคิดการใหญ่

ในนาทีสุดท้าย Marsalek พยายามที่จะเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องราวอันฉาวโฉ่ของ Wirecard โดยการเข้ายึด Deutsche Bank ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมัน แต่มันก็ไม่สำเร็จ 

Marsalek หายตัวไปไม่นานหลังจากที่เขาถูกไล่ออกจากบริษัท และปัจจุบันเป็นที่ต้องการตัวของตำรวจเยอรมัน เขาอยู่ในรายชื่อผู้ลี้ภัยที่ต้องการตัวมากที่สุดของยุโรปของ Europol

Jan Marsalek ที่กลายเป็นผู้ร้ายที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดของ Europol (CR:DW)
Jan Marsalek ที่กลายเป็นผู้ร้ายที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดของ Europol (CR:DW)

บทสรุป

เรื่องราวของ Wirecard ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทเทคโนโลยีลวงโลกที่น่าสนใจมาก ๆ ที่สำคัญมันยังเกิดในประเทศอย่างเยอรมัน ซึ่งพวกเขาสามารถหลอกลวงหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐได้เป็นเวลานานมาก ๆ โดยที่ไม่มีใครระแคะระคาย

สิ่งที่เหลือเชื่อก็คือ ในขณะที่ชื่อของพวกเขากำลังเป็นข่าว แต่ Softbank ก็ยังกล้าเข้ามาลงทุนเป็นพันล้านดอลลาร์ นั่นช่วยให้ข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับ Wirecard ลดน้อยลงไป

เหล่านักการเมืองของเยอรมันปฏิเสธที่จะมาตรวจสอบอย่างจริงจังในช่วงแรก ๆ พวกเขามองแค่ว่าประเทศอื่นๆ ต่างอิจฉาที่มีฟินเทคชื่อดังเกิดขึ้นในเยอรมัน และ Wirecard ได้กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สำคัญและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ

นั่นเป็นยุคก่อนหน้าที่เทคโนโลยียังไม่ซับซ้อนเท่าในทุกวันนี้ เราได้เห็นกลลวงหลอกโดยอ้างเทคโนโลยีมากมาย ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน รวมถึงเส้นทางการฟอกเงินที่มีความซับซ้อนมากกว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก แต่สุดท้ายกลลวงหรือแชร์ลูกโซ่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มันก็คือมุกเดิม ๆ ที่แค่เปลี่ยนเทคโนโลยีที่เป็นฉากบังหน้าเพียงเท่านั้นนั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/culture/2022/06/16/how-one-journalist-exposed-the-wirecard-scandal
https://www.reuters.com/article/us-germany-wirecard-inquiry-timeline-idUSKBN2B811J
https://www.esquire.com/uk/culture/a41040983/wirecard-scandal-true-story/
https://kunai-co.medium.com/how-wirecard-became-germanys-enron-7bf9f3c20039


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube