Geek Monday EP121 : Good Doctor กับเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลอัจฉริยะในการต่อสู้กับ COVID19

Good Doctor Technology (GDT) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดจากการบรรจบกันของยักษ์ใหญ่ในเอเชีย 3 ราย ได้แก่ Ping An Good Doctor จากประเทศจีน Grab จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ SoftBank จากญี่ปุ่น Ping An Good Doctor เป็นแอปพลิเคชั่น telemedicine ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนในแง่ของจำนวนผู้ใช้และความครอบคลุมประชากรทั้งหมด

GDT ยังช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของแพทย์ และแพทย์ที่ใช้ Doctor’s Workbench ที่เปิดใช้งาน AI เพื่อให้คำปรึกษาออนไลน์สามารถอุทิศเวลาทำงาน 70 ถึง 80% ในการให้คำปรึกษาเมื่อเทียบกับการทำงานสนับสนุนทางคลินิก ระบบจะดูแลการป้อนข้อมูล การรวบรวมข้อมูล การชำระเงิน และงานการดูแลระบบและเวิร์กโฟลว์อื่นๆ โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ แพทย์สามารถปรึกษากับผู้ป่วยหลายรายพร้อมกันได้

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/3I4m6ew

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/3uZS3kr

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://bit.ly/3H6lovU

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/3s008ns

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/mXoBVaWH9FQ

References Image : https://www.hhmglobal.com/knowledge-bank/news/good-doctor-technology-strengthens-ecosystem-partnerships-to-drive-more-innovation-and-growth-for-telehealth-in-thailand

ประสบการณ์ติดโควิด กักตัว Home Isolation ผ่านเทคโนโลยีของ Good Doctor

ต้องบอกว่าโควิดสายพันธ์โอไมครอน ติดง่ายอย่างเหลือเชื่อนะครับ ส่วนตัวผมเองก็เป็นคนระแวดระวังมาโดยตลอด แทบไม่ได้ออกไปไหน Work From Home มาตลอด 2 ปี ตั้งแต่โควิดระบาดในวันแรก แต่สุดท้ายก็ติดโควิดจนได้

ส่วนตัวก็เลยอยากจะมาบันทึกประสบการณ์ในการติดโควิดครั้งนี้ และแง่มุมที่น่าสนใจโดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ที่ตอนนี้มีการจัดการระบบค่อนข้างดีเลยจากทางการ ที่ทำให้สามมารถจัดการผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ติดโควิดได้อย่างไร?

ตอนนี้ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้อย่างชัดเจนว่าไปติดมากจากไหน เพราะส่วนตัวออกข้างนอกก็สวมแมสก์ตลอดเวลา มีเพียงแค่ตอนรับประทานอาหารและดื่มกาแฟเท่านั้น ที่มีการถอดแมสก์ออก

ซึ่งจากข่าวที่ออกมาสายพันธ์ุโอไมครอน ติดง่ายมาก ส่วนอาการเริ่มต้นที่เริ่มเอะใจว่าน่าจะติดโควิด ก็คือ มีอาการเดียวกับหลังฉีดวัคซีน AZ คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ ซึ่งอาการมาอย่างรวดเร็วมากภายใน 1-2 วัน ที่รู้ตัวเพราะมันเป็นอาการป่วยที่ไม่เคยเจอมาก่อนคล้ายกับหลังฉีดวัคซีน

ส่วนตัวเองก็ไม่เคยตรวจ ATK เลยซักครั้งตั้งแต่โควิดระบาด แต่หลังจากอาการดังกล่าว 2 วัน จึงได้ลองตรวจดูทั้งแบบน้ำลายและแบบสอดจมูก ซึ่งให้ผลเหมือนกันคือ ติดโควิด

เริ่มกระบวนการ Home Isolation

หลังจากรู้ว่าติดเชื้อ ก็ได้ดำเนินการตามกระบวนการปรกติ โทรไป 1330 ของสปสช. ซึ่งสถานการณ์การระบาดยังไม่พีค ทำให้สายค่อนข้างว่างอยู่เยอะ มีการโทรสอบถามอาการอัพเดทอยู่ตลอดในช่วงแรก ว่าเราได้รับความช่วยเหลือแล้วหรือยัง

ถัดไปอีกวันก็มีเจ้าหน้าที่จาก จีดีทีคลินิกเวชกรรมโทรเข้ามา เพื่อไล่สอบถามและประเมินอาการว่าเราสามารถที่จะทำ Home Isolation ได้หรือไม่ หรือ ควรไปที่ hospitel ที่รัฐจัดไว้ให้

เนื่องจากผ่านอาการช่วงหนักมาแล้ว (1-2 วันแรก) มีอาการที่เหลือคือ ไอและเจ็บคอ ทำให้สามารถที่จะเข้า Home Isolation ได้ จากนั้น จีดีทีคลินิก ก็ให้ร่วมโครงการ โดยลงทะเบียนผ่าน Line และ App ของ Good Doctor ซึ่งสามารถโหลดได้ใน App Store และ Play Store

เริ่มกระบวนการรักษาผ่าน Good Doctor

ส่วนนี้อยากมาเล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจ เพราะ มันเป็นการใช้เทคโนโลยี Telemedicine ที่น่าสนใจมากในภาวะวิกฤติโรคระบาดอย่างนี้ ซึ่งมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่ต้องใช้เทคโนโลยีมาจัดการกับคนหมู่มาก

ผมว่าส่วนนึงที่การกระจายของโอไมครอนต่ำกว่าที่คาดการณ์ก็น่าจะมาจากระบบเบื้องหลังที่มีการปรับมาระดับนึงแล้ว แตกต่างจากช่วงปีที่แล้วที่โควิดเดลต้าระบาดหนัก และภาวะเตียงล้น หาเตียงไม่ได้ ซึ่งผมคิดว่าทางรัฐก็คงหาวิธีจัดการจนมาสู่กระบวนการที่ใช้เทคโนโลยีอย่าง Good Doctor ที่เห็นในตอนนี้

สำหรับข่าวล่าสุดที่ออกมาว่า ทารัฐจะกลับไปให้สิทธิ์ตามของแต่ละคน ก็น่าเสียดายนะครับ แต่ก็พอเข้าใจเหตุผลเพราะต้องใช้เงินที่สูงมากกับผู้ป่วยแต่ละคน ยิ่งตอนนี้โอไมครอน กำลังขึ้นสู่จุดพีค จำนวนผู้ป่วยน่าจะแตะหลักหลายหมื่นได้เลย

สำหรับกระบวนการรักษาผ่านแอปอย่าง Good Doctor เราก็สามารถปรึกษาแพทย์ผ่านแอปได้เลย ตั้งแต่วันแรก ๆ ซึ่งหลังจากคุยปรึกษากัน (ผ่าน chat) แจ้งอาการที่ยังคงมีอยู่ไป กระบวนการต่าง ๆ ก็เริ่มต้นขึ้นทันที

น่าสนใจคือ Good Doctor มีการร่วมมือกับบริการ Delivery อย่าง Grab เมื่อคุณหมอทำการสั่งยาเสร็จ ก็จะทำการส่งผ่าน Grab มาให้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าสุดยอดมาก

ปรึกษาผ่านแอป จ่ายยาผ่าน Grab ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง
ปรึกษาผ่านแอป จ่ายยาผ่าน Grab ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง

สำหรับส่วนตัวผม ที่ยังพอมีอาการอยู่บ้างแต่ไม่หนัก ก็ได้ทั้งที่ตรวจไข้ ที่วัดระดับออกซิเจนในเลือด รวมถึงยาอีกชุดใหญ่ ตามอาการรวมถึงยาฟาวิพิราเวียร์ตัวหลักที่มีการจ่ายให้ทันทีตั้งแต่วันแรก

โดยจะมีการกักตัวเป็นเวลา 10 วัน ไม่ออกไปไหน ส่วนอาหารก็จะมีคูปองของ Food Panda และ Grab มาให้จำนวนเงินวันละ 300 บาท โดยต้องมีการสั่งแบบครั้งเดียวใช้คูปองได้ครั้งเดียวในแต่ละวัน ก็จะทำการสั่งแบบเผื่อมาเลยทั้ง มื้อกลางวันและมื้อเย็น

ส่วนการอัพเดทอาการนั้น ก็จะมีระบบบันทึก ในส่วนของอุณภูมิร่างกาย รวมถึงระดับออกซิเจนในเลือก ในช่วง 10 โมงเช้า และ 4 โมงเย็นของทุก ๆ วันเพื่อแจ้งให้ระบบทราบ ซึ่งก็คงเป็นรูปแบบเดียวกับการกักตัวที่ hospitel

การบันทึกข้อมูลประจำวันเพื่อแจ้งผ่านระบบ
การบันทึกข้อมูลประจำวันเพื่อแจ้งผ่านระบบ

ซึ่งในแต่ละวัน เราก็สามารถเข้าไปปรึกษาแพทย์ได้ ว่าอาการเป็นอย่างไร รวมถึงหากเกิดเหตุฉุกเฉินอาการรุนแรงก็จะมีช่องทางในการติดต่อแบบเร่งด่วนได้

ส่วนตัวผมเอง อาการก็เริ่มหายไปตั้งแต่วันที่ 4-5 เริ่มดีขึ้น เหลือแค่ไอเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็มีการจ่ายยาเพิ่มในส่วนของอาการที่ยังไม่หายจากคุณหมอ ซึ่งถือว่าดูแลได้ดีมาก ๆ จนหายสนิท ใช้เวลาราว ๆ 1 อาทิตย์

บทสรุป

ผมมองว่าเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจเลยทีเดียวสำหรับ Telemedicine ที่ อาจจะถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเทคโนโลยีนี้ หลังการแพร่ระบาดของ COVID ซึ่งอาจจะกลายเป็น New Normal ใหม่ในการรักษาผู้ป่วยได้ในอนาคต

เอาจริง ๆ หลังจากได้ลองใช้แล้วติดใจ ผมก็คิดว่า คงจะใช้บริการของ Good Doctor ต่อไปในอนาคต ซึ่งผมว่าเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีศักยภาพมาช่วยผู้ป่วยได้ ไม่ต้องไปแออัดรอคิวอยู่ที่ โรงพยาบาล หากเป็นอาการป่วยทั่วไป เราก็ปรึกษาหมอแบบออนไลน์ได้เลย และใช้งานได้จริง

ผมมองว่ามันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี 4G , 5G ที่ครอบคลุมทั้งประเทศเราในปัจจุบัน รวมถึงการปรับพฤติกรรมครั้งสำคัญ ทำให้ Delivery แพลตฟอร์มกระจายไปทั่วประเทศ อยู่ส่วนไหนของประเทศก็มีอาหารมาส่งถึงที่บ้านเราได้ ซึ่งยาและเวชภัณฑ์ก็คงสามารถทำได้เช่นเดียวกัน

สิ่งที่ผมเสียดายอย่างเดียวของเทคโนโลยีนี้ ก็คือ หลังจากไปลองค้นหาข้อมูลมามันไม่ใช่ของคนไทยแต่อย่างใด เป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 ราย ได้แก่ Ping An Good Doctor จากประเทศจีน , Grab จากสิงคโปร์ และ ได้ทุนใหญ่จากบริษัทลงทุนชื่อดังอย่าง Softbank ซึ่งตอนนี้กำลังลุยตลาดเต็มตัวในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซึ่งเท่าที่หาข้อมูล มันก็มีบริการของไทยอยู่นะครับ แต่คงไม่สามารถ scale ขึ้นเทียบเท่าระดับที่ Ping An Good Doctor ทำได้ และหากแจ้งเกิดได้สำเร็จโดยเฉพาะหลังจากการระบาดของโควิด แถมยังได้ข้อมูลที่สำคัญจากการเรียนรู้ผ่านฐานข้อมูลขนาดใหญ่จากการแพร่ระบาดของโควิด ผมว่าตลาดนี้เป็นตลาดที่ใหญ่มหาศาล และ พฤติกรรมคนก็อาจจะเปลี่ยนในเรื่อง Telemedicine คล้ายกับพฤติกรรมการสั่งอาหารที่ตอนนี้ มันได้กลายเป็นเรื่องปรกติ New Normal ไปแล้วนั่นเองครับผม

Credit Image : https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/2168287/virtual-consultations-available-on-the-good-doctor-app