Big Tech x EU กับศึกช่วงชิงข้อมูลส่วนบุคคลของชาติมหาอำนาจโลก

คำเตือนที่ชัดเจนของ Meta บริษัทแม่ของ Facebook เกี่ยวกับการที่จะนำบริการของพวกเขาออกจากยุโรปอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เนื่องจากหนึ่งในผู้กำกับดูแลความเป็นส่วนตัวของภูมิภาคยุโรปเตรียมการตัดสินใจที่อาจทำให้ข้อมูลผู้ใช้จำนวนมหาศาลที่ไหลผ่านข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในทุก ๆ วันกลายเป็นอัมพาต และมีความเสี่ยงต่อรายได้หลายพันล้านสำหรับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี

คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลของ ไอร์แลนด์ซึ่งควบคุมดูแลบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในซิลิคอนแวลลีย์ที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ กำลังพิจารณาถึงความถูกต้องตามกฎหมายของข้อสัญญามาตรฐาน (Standard Contractual Clauses หรือ SCC) ที่ Meta, Google ของ Alphabet และบริษัทอื่น ๆ ใช้ในการโอนข้อมูลผู้ใช้จำนวนมากไปยังสหรัฐอเมริกาอย่างถูกกฎหมาย

ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นส่วนตัวกล่าวว่าการตัดสินใจดังกล่าวสามารถกำจัดหนึ่งในตัวเลือกที่เหลืออยู่สำหรับ Meta และอาจมีบริษัทเทคโนโลยีอื่นอีกหลายพันแห่งที่ต้องพึ่งพาการจัดส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลทั่วมหาสมุทรแอตแลนติก

ผู้มีอำนาจของไอร์แลนด์ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของ SCC โดยกล่าวว่า มันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปกป้องพลเมืองยุโรปจากการสอดรู้สอดเห็นของหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ

ซึ่งนั่นคือความตึงเครียดในการพิจารณาคดีที่ Meta เตือนในรายงานประจำปีล่าสุดว่า บริษัทจะปิดการให้บริการทั้ง Facebook และ Instagram ในสหภาพยุโรปหากไม่สามารถใช้ SCC ได้

Facebook สร้างรายได้ 8.2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 25% ของรายรับทั่วโลกในยุโรปในช่วงไตรมาสเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งภูมิภาคนี้เป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญสำหรับ Meta ซึ่งเป็นรองเพียงแค่ตลาดในบ้านเกิดที่สหรัฐฯและแคนาดาเท่านั้น

ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนั่นจะทำให้การจัดเก็บข้อมูลในยุโรปไม่สามารถทำได้สำหรับบริการใด ๆ ไล่ตั้งแต่วิดีโอเกมไปจนถึงการสตรีมวิดีโอเนื่องจากกฎข้อมูลของยุโรปจะปฏิบัติตามข้อมูลของบุคคลไม่ว่าจะอยู่ที่ใด

โมเดลธุรกิจของ Meta เช่นเดียวกับ Google ของ Alphabet อาศัยการรวบรวมข้อมูลให้เพียงพอที่จะแยกแยะว่าผู้ใช้สนใจหรือต้องการซื้ออะไร และเพื่อแสดงโฆษณาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบริษัทกำลังถูกเล่นงานโดยกฎความเป็นส่วนตัวของยุโรป และการห้ามใช้ SCC อาจทำให้รูปแบบธุรกิจของบริษัทมีต้นทุนเพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพน้อยลงโดยเฉพาะในการลงโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

Johannes Caspar นักวิชาการจากหนึ่งในหน่วยงานกำกับดูแลด้านการปกป้องข้อมูลชั้นนำของเยอรมนี กล่าวว่า “สิ่งที่มีความเสี่ยงคือการถ่ายโอนข้อมูลทั้งหมดไปยังสหรัฐฯ และเหล่าบริการที่พึ่งพาพวกเขา”

อดีตรองนายกรัฐมนตรีอังกฤษ Nick Clegg ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานฝ่ายกิจการและการสื่อสารระดับโลกของ Meta ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว

อดีตรองนายกรัฐมนตรีอังกฤษ Nick Clegg ที่กลายมาเป็นผู้บริหารของ Facebook ที่ช่วยจัดการเรื่องนี้ (CR:The Verge)
อดีตรองนายกรัฐมนตรีอังกฤษ Nick Clegg ที่กลายมาเป็นผู้บริหารของ Facebook ที่ช่วยจัดการเรื่องนี้ (CR:The Verge)

Google กล่าวในบล็อกโพสต์เมื่อเดือนมกราคมโดย Kent Walker หัวหน้าฝ่ายกิจการระดับโลกซึ่งเรียกร้องให้ยุติปัญหาอย่างรวดเร็ว

“มันเป็นเดิมพันที่สูงเกินไป การค้าระหว่างประเทศระหว่างยุโรปและสหรัฐอเมริกามีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้านมากเกินกว่าที่จะล้มเหลวในการค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ใกล้เข้ามาแบบทันทีทันใด” Walker กล่าว

การโต้เถียงเรื่องการถ่ายโอนข้อมูลเริ่มตั้งแต่ปี 2013 เมื่อ Edward Snowden เปิดเผยขอบเขตการสอดแนมโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ

การพิจารณาคดีในปี 2020 โดยศาลสูงสุดของสหภาพยุโรปได้ประกาศให้ยกเลิก Privacy Shield ซึ่งเป็นข้อตกลงการโอนถ่ายข้อมูลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการเฝ้าระวังของอเมริกา

Tom De Cordier นักกฎหมายด้านเทคโนโลยีและการปกป้องข้อมูลที่ CMS DeBacker ในกรุงบรัสเซลส์ กล่าวว่า “สำหรับหลายๆ บริษัท แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลสหภาพยุโรปในปี 2020 “ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องของการลดความเสี่ยงในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของข้อมูล แทนที่จะพยายามปฏิบัติตามข้อกำหนด 100 เปอร์เซ็นต์”

หากผู้มีอำนาจในไอร์แลนด์มีแนวคิดในเรื่องข้อมูลที่มีความซีเรียสมากกว่านี้ สถานการณ์วันโลกาวินาศสำหรับ Meta และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

การตัดสินใจของผู้มีอำนาจของไอร์แลนด์ “ตอนนี้อาจเป็นแบบอย่างซึ่งจะทำให้สถานการณ์ทั้งหมดคลี่คลาย” Caspar อดีตผู้กำกับดูแลชาวเยอรมันกล่าว “มันขึ้นอยู่กับนักการเมืองในสหรัฐอเมริกาที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงหรือไม่”

บทสรุป

มันเป็นเรื่องน่าสนใจนะครับ ทำไมยุโรปถึงเริ่มมาจัดการการโอนถ่ายข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนในทุก ๆ ภูมิภาคก็โดนในรูปแบบเดียวกันแม่งกระทั่งประเทศไทยที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เช่นเดียวกัน

บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เหล่านี้ รู้ข้อมูลเชิงลึกของประชาชนแทบจะทั่วทั้งโลก แม้จะเป็นบริษัทเอกชนก็ตามที แต่ข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้เราก็ได้เห็นว่าพวกเขามีความแน่นแฟ้นกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกามากมายขนาดไหน

ข้อมูลส่วนบุคคล หรือ แม้กระทั่งข้อมูลทางธุรกิจเหล่านี้ มันได้กลายเป็นอาวุธที่สำคัญให้สหรัฐอเมริกา มีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เราไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมจีนถึงแบนแอปเหล่านี้ไม่ให้เข้ามาในประเทศ ซึ่งสิ่งที่ยุโรปกำลังทำก็คงไม่ต่างจากที่จีนทำ เพราะพวกเขาเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนแล้ว ตอนนี้ข้อมูลต่าง ๆ ของประชาชนที่สูญเสียไปนั้น มันไม่ได้ใช้เพียงแค่เชิงธุรกิจอย่างที่หลายๆ คนคิด แต่มันนำมาซึ่งอำนาจทางอธิปไตยที่อเมริกากำลังรุกล้ำไปทั่วโลกนั่นเองครับผม

References :
https://www.cnbc.com/2021/03/25/big-tech-how-europe-became-the-worlds-top-regulator.html
https://www.scmp.com/tech/policy/article/3167568/meta-google-other-american-tech-giants-face-eu-data-blackout-ruling
https://www.ft.com/content/045346cf-c28a-4f6f-9dce-4f8426129bf9
https://daystech.org/eu-lawmakers-back-rules-to-curb-big-tech-tech-news-news-top-stories/