ต้องบอกว่าเป็นหัวข้อที่ผมสนใจเป็นอย่างมาก ในเรื่องราวของโลกยุค Digital Bias ที่กำลังเปลี่ยนแปลงสังคมของมนุษย์เราอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
พอดีวันนี้ได้มีโพสต์นึงที่มีความน่าสนใจที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มาก และ เป็น Quotes ที่โดนใจผมมาก ๆ ของคุณ Patai Padungtin ที่ผมอยากจะมาแตกประเด็นต่อในเรื่องดังกล่าวนี้
“ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ที่ตั้งคำถามกับระบอบการปกครองและเรียกร้องเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น… นอกจากการตั้งคำถามเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว เราควรตั้งคำถามกับ ”ระบบ” ที่เราใช้ชีวิตดิจิทัลกันอยู่ด้วยมั้ย? คุณเห็นโพสต์นี้ของผมเพราะอะไร ทำไมมีเพื่อนอีกหลายคนของผมไม่เห็น… ใครกำหนด แล้วมันแฟร์มั้ย? บางทีมันอาจจะแย่พอๆ กับ 250 เสียงที่เอาเปรียบกันอยู่ในรัฐสภาก็ได้… เราควรลุกมาเรียกร้องบ้างมั้ย? กติกาที่เราใช้ชีวิตดิจิทัลอยู่นี่ กำหนดโดยคนหัวทองไม่กี่คน ที่สร้างปัญหาไปทั่วโลก”
ต้องบอกว่าเป็น Quotes ที่สะท้อนปัญหาหลัก และเป็น Key ที่สำคัญที่สุดของสังคมมนุษย์เราในยุคปัจจุบัน และไม่ได้เป็นเพียงแค่สังคมในประเทศไทยเท่านั้น แต่ตอนนี้ มันได้ส่งผล Impact ต่อเรื่องใหญ่ ๆ ทั่วโลก สำหรับ พลังของ Digital Bias ที่มีต่อโลกของเราในขณะนี้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หรือแม้กระทั่งการเมืองระดับโลกที่ พลังของ Digital Bias กำลังมีบทบาทที่สำคัญต่อการกำหนดความเป็นไปของสถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกเรา
ไม่ว่าจะเรื่องสงครามก่อการร้าย การเลือกตั้ง การเมืองในแทบจะทุกประเทศ แม้กระทั่งการให้ข้อมูลผิด ๆ ในเรื่องสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะโลกร้อน การเหยียดผิวแบบสุดโต่ง โรคระบาดอย่าง COVID-19 ข่าวปลอมเรื่องทางการเมือง การใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่งทางการเมือง ที่มีอยู่ในทุก ๆ แห่งทั่วโลก
มันได้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนที่สุดต่อเรื่องของชุดความคิดของมนุษย์ ที่เชื่อในความคิดตัวเองแบบสุดโต่ง ซึ่งเราจะเห็นได้ถึงการถกเถียงในเรื่องต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลาย ที่เถียงกันไปแบบ 100 ปี ก็ไม่มีวันจบ เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อในชุดข้อมูลของตัวเอง
แล้วชุดความคิดของพวกเราเหล่านี้มาจากไหนล่ะ ?
แน่นอนว่าในยุคปฏิวัติข้อมูลข่าวสารที่ข้อมูลต่าง ๆ นั้น หาได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ทำให้ทุกคนต่างหาข้อมูลในทุกเรื่อง ๆ ได้ แต่คุณจะได้ความจริงหรือไม่นั้น เป็นคำถามที่น่าสนใจ
แน่นอนว่า พวกเราค้นหาข้อมูลผ่าน แพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Google ,Youtube , Facebook หรือ Twitter ซึ่งก็จะได้ชุดข้อมูล และชุดความคิดมาอย่างนึง จากเรื่องนั้น ๆ
มีการยกตัวอย่างที่น่าสนใจจากสารคดี The Social Dilemma ก็คือ หากเราเข้า Google และค้นหาคำว่า “ภาวะโลกร้อน” เราจะได้เห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เราอาศัยอยู่ ในบางเมืองนั้นอาจจะมีการแนะนำคำค้นหาว่า “ภาวะโลกร้อนคือเรื่องลวงโลก” แต่ในบางสถานที่ เราจะได้เห็นการแนะนำคำค้นหาว่า “ภาวะโลกร้อนทำให้ธรรมชาติพังทลาย” ซึ่งมันเป็นชุดข้อมูลที่ต่างกันแบบสุดขั้ว
ต้องบอกว่าจุดสำคัญก็คือ เมื่อเทคโนโลยีอยู่บนพื้นฐานของเรื่องการสร้างรายได้ เพราะฉะนั้นกลไกเบื้องหลังของอัลกอริธึมเหล่านี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความจริงจากตัวอย่างที่กล่าวในเรื่องภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด มันอยู่ที่ เรื่องต่าง ๆ ที่ Google , Youtube , Facebook , Twitter หรือ แพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับความสนใจของเราต่างหาก
เรื่องนี้ผมเคยทดสอบด้วยตัวเอง ด้วยการแยกร่างตัวเองด้วยมือถือสองเครื่องที่มีแนวความคิดทางการเมืองที่ตรงข้ามกันแบบสุดขั้ว และ engage กับมันให้มากที่สุดกับทุกแพล็ตฟอร์มในทั้งสองขั้วการเมืองนั้น ซึ่งพบว่าผลลัพธ์มันเป็นอย่างงั้นจริง ๆ มันเหมือนร่างผมทั้งสองร่างนั้นอยู่กันคนละโลกเลยทีเดียวผ่านข้อมูลที่ได้รับจากมือถือทั้งสองเครื่อง เดี๋ยวผมจะเอาผลการทดสอบมาเล่ารายละเอียดให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง
แต่ถ้าไม่เชื่อ ลองเปิดมือถือ ของคนที่มีแนวคิดทางการเมืองที่ตรงข้ามคุณดูสิ แล้วลองแลกกันดูข้อมูลต่าง ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่คุณกำลังถกเถียงกันผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ แล้วดูว่า ผลลัพธ์ที่ได้มันเหมือนกันไหม? แล้วคุณจะตกใจว่าเรื่องไหนมันเป็นเรื่องจริงกันแน่
และแน่นอนว่า มันเป็นแบบนี้กับทุก ๆ เรื่องที่เราเสพข้อมูลผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ เราอาจจะไม่ได้รับความจริง จากแพล็ตฟอร์มเหล่านี้ในทุก ๆ เรื่อง แต่ละคนได้ข้อมูลที่แตกต่างกัน ตามความสนใจ และระบบอัลกอริธึมเบื้องหลังของแพล็ตฟอร์มเหล่านี้
และนั่น ทำให้ ในหลาย ๆ เรื่องที่เราถกเถียงกันนั้น ทุกคนต่างเชื่อในชุดข้อมูลของตัวเอง เราจะเห็นได้ในหัวข้อถกเถียงในหลาย ๆ ประเด็น ที่เถียงกันไปเถียงกันมาแบบไม่รู้จบ เพราะทุกคนต่างเชื่อว่า ชุดข้อมูลที่อยู่ในหัวตัวเองนั้นเป็นเรื่องจริงนั่นเอง
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมเห็นด้วยมาก ๆ ตาม Quotes ข้างบน คือ สิ่งที่เราควรต่อสู้อย่างแท้จริงในโลกยุคปัจจุบัน ก็คือ กฏ กติกาที่พวกเราต้องใช้ชีวิตในโลก Digital ที่กำหนดโดยคนหัวทองไม่กี่คน และมันกำลังสร้างปัญหาต่าง ๆ ไปทั่วโลกอย่างที่เราได้เห็นกันในทุกวันนี้นั่นเองครับ
Credit ต้นทาง post : https://www.facebook.com/patai/posts/10222306097861913