Series Review : The Twelve (Netflix) 12 คณะลูกขุนที่นำชีวิตของพวกเขาไปสู่คดีฆาตกรรมที่น่าตื่นเต้น

ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่เป็นผลงานจากยุโรป ที่มีความน่าสนใจเลยทีเดียวสำหรับ The Twelve (Netflix) ที่เล่าเรื่องราวของคณะลูกขุน 12 คน ที่ต้องมาตัดสินชะตากรรมให้กับผู้หญิงคนหนึ่งในคดีฆาตรกรรมเพื่อนและลูกสาวของเธอ

เรื่องนี้ต้องบอกว่ามีเนื้อเรื่องที่น่าสนใจที่แทบจะไม่เคยมีใครทำมาก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นสารคดีซะมากกว่าที่จะทำเรื่องราวเหล่านี้ ที่ถ่ายทอดการพิจารณาคดี ผสานไปกับการเล่าเรื่องราวของเหล่าคณะลูกขุนที่กำลังประสบกับปัญหาชีวิตอยู่ ณ ขณะนั้น

เรื่องราวที่ว่าด้วยหญิงที่มีชื่อว่า Frie Palmers เธอถูกพิจารณาคดีในคดีฆาตกรรมสองครั้ง ห่างกันสิบแปดปี โดยคดีแรกคือคดีฆาตกรรมเพื่อนสนิทของเธอ  Brechtje Vindevogel เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2000

เหตุการณ์ที่สองคือการเสียชีวิตของ Roos ลูกสาววัย 2 ขวบของเธอในปี 2016 ซึ่งคดีดังกล่าวได้สร้างกระแสให้กับสื่อในเบลเยียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมือง Flemish แห่ง Ghent ที่ซึ่งมีการพิจารณาคดีเกิดขึ้น

The Twelve  (ชื่อเดิม:  De Twaalf ) ได้เล่าเรื่องการพิจารณาคดีทางอาญาในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เราจะได้เห็นชีวิตภายในและภายนอกของสมาชิกในคณะลูกขุนในขณะที่การพิจารณาคดีกำลังดำเนินไป

ซึ่งเป็นการถ่ายทอดให้เห็นว่าพวกเขานำอคติและประสบการณ์ชีวิตใดบ้างมาที่โต๊ะประชุมของเหล่าคณะลูกขุนเพื่อนทำการตัดสินคดี และเมื่อฟังหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และตัดสินว่าเธอมีความผิดหรือไม่

ต้องบอกว่าการเล่าเรื่องชีวิตของคณะลูกขุนก็มีความน่าสนใจเช่นกัน ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นที่อาจส่งผลต่อมุมมองของพวกเขาต่อคดีนี้

แม้ว่าพวกเขาจะสาบานตนเองก่อนมาเป็นคณะลูกขุนว่าจะไม่มีอคติก็ตาม ความลำเอียงมีอยู่ในมุมมองของทุกคนในชีวิต ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามเป็นกลางแค่ไหนก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นในโลกของเรา

ซึ่งเรื่องราวจะโฟกัสไปยังคณะลูกขุนบางคน เช่น Delphine และสามีที่คอยควบคุมเธอ รวมถึง Holly Ceusters ซึ่งกำลังหนีจากฝันร้ายจากคดีฆาตรกรรมครอบครัวของเธอ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวแวดล้อมอื่น ๆ เช่น Marc Vindevogel  ที่รับบทพ่อของ Brechtje ที่สงสัยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของ Frie ในการฆาตกรรมลูกสาวของเขา

โดยซีรีส์ชุดนี้จะมีทั้งหมด 10 ตอน ซึ่ง แต่ละตอนจะเป็นการตั้งชื่อตามตัวละครที่มีบทบาทหลักในตอนนั้น ๆ แต่ก็ไม่ได้ใช่ตอนที่เล่าเรื่องราวของตัวละครนั้นทั้งหมดแต่อย่างใด เนื้อหาหลักของทุกตอน ก็จะเป็นการพิจารณาคดีในชั้นศาลที่จะคอยคลี่ปมทุกอย่างออกมาทีละนิด

เรื่องนี้มีหลายแง่มุมที่ถ่ายทอดออกมาได้น่าสนใจเลยทีเดียว ทั้งการเหยียดผิว การปกครองแย่งชิงอำนาจ (ในการเป็นผู้นำคณะลูกขุน) การทำงานของสื่อ ปัญหาครอบครัว ทั้งปัญหาพ่อลูก ปัญหารักสามเศร้า เรียกได้ว่า มีรายละเอียดทุกอย่างครบ

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวไป มันเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อเหล่าคณะลูกขุนเหล่านี้ ที่ต้องมาตัดสินชะตาชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ทั้งที่ชีวิตของตัวเองก็ยังวุ่นวายอยู่นั่นเอง

แต่น่าสนใจว่าหลังจากที่ผมได้ดูซีรีส์ชุดนี้จบ ทำให้ผมได้ย้อนไปคิดถึงหนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งได้รีวิวไปนั่นก็คือ Noise: A Flaw in Human Judgment (เสียงรบกวนสู่ข้อบกพร่องในการตัดสินใจของมนุษย์)

มันชัดเจนมาก ๆ เมื่อได้มาดูซีรีส์ชุดนี้ มันเป็นเรื่องของ Noise หรือเสียงรบกวนที่มากระทบเรา ในการตัดสินใจหลาย ๆ อย่างที่สำคัญ (ในซีรีส์คือ การตัดสินให้ผู้หญิงคนนึงต้องจำคุกไปตลอดทั้งชีวิต)

ซึ่ง ก็น่าสนใจนะครับว่าในระยะยาว Daniel Kahneman (ผู้เขียนหนังสือ) มองเห็นโลกที่เราอาจ “ไม่ต้องการคน” เพื่อตัดสินใจในหลาย ๆ อย่างอีกต่อไป เมื่อสามารถจัดโครงสร้างปัญหาและรวบรวมข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับปัญหาเหล่านั้นได้

เหล่าคณะลูกขุนที่เป็นมนุษย์ก็อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะหุ่นยนต์มันไม่มีอารมณ์ หรือผลกระทบอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง พวกมันพิจารณาจากหลักฐาน ข้อมูลที่ปรากฏ เพียงเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ามันมีความแม่นยำกว่าการตัดสินใจของมนุษย์จากซีรีส์เรื่องนี้อย่างแน่นอนนั่นเองครับผม