เคยมีช่วงเวลาหนึ่งที่ญี่ปุ่นเป็นที่เทิดทูนของโลก แต่ใครจะคิดว่าประเทศแห่งเทคโนโลยีล้ำยุคและรถยนต์คุณภาพสูง จะกลายเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมสั่นคลอนเศรษฐกิจโลก
แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่นระยะยาว 30 และ 40 ปี พุ่งทะยานไปสู่ระดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์
ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่แค่ตัวเลขธรรมดา มันเป็นสัญญาณเตือนว่า นักลงทุนทั่วโลกเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่น ในประเทศที่มีหนี้มากกว่า 260% ของ GDP
ย้อนกลับไปในยุคทอง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Japanese Economic Miracle” เศรษฐกิจเติบโต 7% ทุกปีตั้งแต่ปี 1955 ถึง 1990
แต่แล้วทุกอย่างก็เละเทะในทศวรรษ 1990 เมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นแตกสลาย ราคาบ้านลดฮวบ 50% อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ดิ่งลงเหว 85% และ ตลาดหุ้น Nikkei ดิ่งลงกว่า 75%
ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุค “Lost Decades” ทศวรรษที่สูญสิ้นทุกสิ่ง การเติบโตและเงินเฟ้อเกือบเป็นศูนย์เป็นเวลากว่า 30 ปี เป็นช่วงที่เจ็บปวดรวดร้าวสำหรับประเทศที่เคยเป็นที่เชิดหน้าชูตาของโลก
Bank of Japan หรือ BOJ ตัดสินใจปรับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ลดอัตราดอกเบียใกล้ศูนย์ และเริ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลมูลค่าหลายพันล้านเยน
นี่คือการ “พิมพ์เงิน” อย่างแท้จริง เพราะโดยพื้นฐานแล้วคือการสร้างเงินขึ้นมาใหม่ แล้วให้รัฐบาลนำไปใช้จ่ายกับปัญหาเศรษฐกิจ
หลังวิกฤตการเงิน 2008 BOJ ยังเริ่มซื้อหนี้ของบริษัทด้วย ซึ่งหมายความว่าพวกเขากำลังให้เงินกับบริษัทญี่ปุ่นโดยตรง เทคนิคที่โครตเทพจนธนาคารกลางตะวันตกถึงกับต้องเลียนแบบ
หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า BOJ เป็นผู้บุกเบิกเทคนิค Quantitative Easing (QE) ที่ Federal Reserve และ European Central Bank เอาไปใช้กันอย่างแพร่หลายภายหลัง
แต่โชคร้ายที่นโยบายเหล่านี้ไม่สามารถดึงญี่ปุ่นออกจากหลุมดำได้ ทั้งการเติบโตและเงินเฟ้อยังคงติดหล่มใกล้ศูนย์ ในขณะที่ภาระหนี้ของรัฐบาลพุ่งกระฉูดไปมากกว่า 260% ของ GDP
ต้นปี 2022 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อปัญหาเงินเฟ้อจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนและปัญหา Supply Chain ผลักดันอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นสูงกว่า 2% เป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ
สำหรับผู้กำหนดนโยบายญี่ปุ่น พวกเขาเห็นโอกาสทองที่จะนำเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ ด้วยการกระตุ้นให้เกิด “mild wage-price spiral” ซึ่งเป็นวัฏจักรการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและราคาสินค้าเป็นวงจรต่อเนื่องกัน
แผนการฟังดูเข้าท่ามาก ให้คนงานเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้นเมื่อเผชิญกับราคาสินค้าที่แพงขึ้น ซึ่งจะสร้างอำนาจซื้อและความต้องการที่มากขึ้น เงินเฟ้อเล็กน้อยจะขับเคลื่อนให้คนใช้จ่ายแทนการออม
และแล้วมันก็เริ่มเข้ารูปเข้ารอย ในปี 2024 การเติบโตของค่าจ้างเฉลี่ยในบริษัทใหญ่ขึ้นไปถึงเหนือ 5% ระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 1991 สหภาพแรงงาน Rengo เปิดเผยว่าบริษัทญี่ปุ่นตกลงเพิ่มค่าจ้างเฉลี่ย 5.1% ในปี 2024
ผู้กำหนดนโยบายมองโลกในแง่ดีว่า เมื่อเงินเฟ้อกลายเป็นอย่างงี้ต่อไป พวกเขาจะสามารถปรับนโยบายการเงินและการคลังให้เป็นปกติได้ BOJ จะไม่ต้องซื้อหนี้อย่างต่อเนื่องอีกต่อไป
ปรากฏว่าการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่มีปัญหามา 30 ปี ไปสู่เศรษฐกิจ “ปกติ” เป็นเรื่องที่เหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา
วงจร mild wage-price spiral ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องการให้เป็น กลับกลายเป็นรุนแรงขึ้น เงินเฟ้อยังคงอยู่เหนือเป้าหมาย 2% ของ BOJ ตั้งแต่ปี 2022 ในเดือนเมษายน 2025 เงินเฟ้อหลักพุ่งไปถึง 3.6% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.5%
สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ผู้บริโภคญี่ปุ่นที่คุ้นเคยกับราคาสินค้าที่ค่อนข้าง stable มา 30 ปี ตอบสนองอย่างรุนแรงต่อการขึ้นราคา โดยเฉพาะข้าว ทำให้เกิดแรงกดดันให้รัฐบาลลดภาษีการบริโภค
เงินเฟ้อนี้บังคับให้ BOJ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากติดลบมาเป็น 0.5% ระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2008 ฟังดูไม่สูง แต่เพราะกองหนี้ของญี่ปุ่นมีขนาดมหึมา แม้การเพิ่มขึ้นเล็กน้อยก็ทำให้ต้นทุนการชำระหนี้พุ่งทะยานเป็นอย่างมาก
ขณะนี้ญี่ปุ่นคาดว่าจะใช้จ่าย 32 ล้านล้านเยนสำหรับการชำระหนี้ในปีหน้า คิดเป็น 5% ของ GDP ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ เกือบทั้งหมด เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาอื่นที่ใช้แค่ 1-2% ของ GDP
นายกรัฐมนตรี Shigeru Ishiba ได้เตือนผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า “สถานการณ์การคลังของญี่ปุ่นแย่กว่ากรีซในช่วงวิกฤตหนี้ยุโรป”
แล้วสถานการณ์ก็เลวร้ายลงไปอีกในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เมื่อเกิดการขายพันธบัตรญี่ปุ่นอย่างรุนแรงผลักดันต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวไปสู่ระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน
การประมูลพันธบัตร 20 ปีเมื่อไม่กี่วันก่อนกลายเป็นหายนะ รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามขายพันธบัตรให้นักลงทุน แต่กลับพบว่าไม่มีใครอยากซื้อจริงๆ อัตราส่วน bid-to-cover ลดลงไปสู่ระดับที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่ปี 2012
แล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่? ทำไมนักลงทุนถึงหนีพันธบัตรญี่ปุ่น?
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ หลังจากที่ Moody’s ลดอันดับเครดิตอเมริกาจาก Aaa ลงมาเป็น Aa1
ผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศอื่นๆ มักจะตามพันธบัตรสหรัฐฯ ทำให้ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และยุโรป มีการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการกู้ยืมในเวลาเดียวกัน
แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ ตลาดเริ่มไม่เชื่อว่าญี่ปุ่นสามารถรับภาระหนี้เพิ่มเติมได้ กองหนี้ขนาดมหึมา การเติบโตที่อ่อนแอ GDP หดตัว 0.2% ในไตรมาสแรกของปี 2025
ตลาดไม่ไว้ใจ Ishiba ว่าเขามีต้นทุนทางการเมืองที่มากพอในการบังคับใช้ระเบียบวินัยทางการคลังที่จำเป็น ประเทศกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากหลายทิศทาง
ประชาชนต้องการให้รัฐบาลลดภาษีเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ แต่การลดภาษีจะทำให้รายได้รัฐบาลลดลง และต้องออกหนี้เพิ่มมากขึ้น
BOJ ติดอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หากกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอีกครั้ง มันจะเป็นการยอมรับว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจไม่เคยกลับสู่ภาวะปกติได้
แต่หากปล่อยให้อัตราดอกเบียสูงขึ้นต่อไป ต้นทุนการชำระหนี้ของรัฐบาลจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก และอาจทำให้เกิดวิกฤตหนี้ที่แท้จริง
สิ่งที่สะพรึงกลัวมากขึ้นไปอีกคือผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ญี่ปุ่นเป็นแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำสำหรับนักลงทุนทั่วโลกผ่าน “Yen Carry Trade”
นักลงทุนกู้เงินในสกุลเยนที่มีดอกเบียต่ำ แล้วนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในประเทศอื่น การประมาณการชี้ให้เห็นว่ามีเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ที่ถูกนำไปใช้ทั่วโลกผ่านกลยุทธ์นี้
เมื่ออัตราดอกเบียญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น การ Carry Trade นี้จะไม่คุ้มค่าอีกต่อไป เงินทุนจะเริ่มไหลกลับญี่ปุ่น ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลก
บริษัทประกันชีวิตของญี่ปุ่นที่จัดการสินทรัพย์มากกว่า 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ กำลังเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน จากที่เคยซื้อพันธบัตรต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ตอนนี้กลับกลายเป็นผู้ขายแทน
สำหรับสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ญี่ปุ่นถือพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1.13 ล้านล้านดอลลาร์ หากนักลงทุนญี่ปุ่นเริ่มขายพันธบัตรสหรัฐฯ เพื่อนำเงินกลับประเทศ ผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรอเมริกาจะรุนแรงมาก
สถานการณ์นี้ยังเสี่ยงที่จะสร้างปัญหาในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ Donald Trump การกลับสู่นโยบายการเงินที่หย่อนยานจะส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ Trump เคยบ่นในอดีต
ตัวเลขล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังแย่ GDP หดตัว 0.2% ในไตรมาสแรกของปี 2025 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และหดตัว 0.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน
Trump ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์ญี่ปุ่น และ 10% สำหรับสินค้าอื่นๆ และขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีตอบโต้ 24% หากไม่บรรลุข้อตกลงภายในกรกฎาคม
ประเด็นสำคัญคือ ญี่ปุ่นไม่เหมือนกรีซ ญี่ปุ่นมีสกุลเงินของตัวเองและครอบครองสินทรัพย์ต่างประเทศมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงพันธบัตรสหรัฐฯ 1.13 ล้านล้านดอลลาร์ และยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าสูง
แต่ปัญหาคือ เงินเยนได้อ่อนค่าลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และแม้จะมีการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 40 ปีของญี่ปุ่นยังคงต่ำกว่าพันธบัตร 30 ปีของสหรัฐฯ ที่เกือบแตะ 5%
BOJ ต้องเลือกระหว่างสองทางที่ยากลำบากเท่ากัน ทางเลือกแรกคือไว้ใจให้ Ishiba จัดการกับปัญหาการคลัง ซึ่งหมายถึงการปล่อยให้อัตราดอกเบียสูงขึ้นต่อไป และเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตหนี้ที่แท้จริง
ทางเลือกที่สองคือเริ่มซื้อหนี้รัฐบาลใหม่ เพื่อบรรเทาแรงกดดัน แต่ก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจไม่เคยกลับสู่ภาวะปกติได้ และยังเสี่ยงที่จะทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงมากขึ้น
ในระยะสั้น รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาลดการออกพันธบัตรระยะยาวเพื่อบรรเทาแรงกดดันในตลาด แต่นี่เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราว เพราะจำนวนหนี้รวมของประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอยู่
นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นไม่ใช่แค่เรื่องภายในประเทศ แต่เป็นสัญญาณเตือนว่ายุคของการกู้ยืมต้นทุนต่ำกำลังจะจบแล้ว และแม้แต่ผู้กู้ที่ปลอดภัยที่สุดก็ไม่สามารถรอดพ้นได้
สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในญี่ปุ่นคือ ผู้ประท้วงเริ่มมารวมตัวกันนอกกระทรวงการคลัง เป็นสิ่งที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศที่มีวัฒนธรรมการเมืองที่สงบ
เป็นเวลาหลายปีที่ญี่ปุ่นจัดการกับแรงกดดันทางการเมืองด้วยการใช้จ่ายของรัฐ เงินอุดหนุน และโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยหลีกเลี่ยงการต่อต้านแบบที่เห็นในประเทศร่ำรวยอื่นๆ
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากกรณีญี่ปุ่นคือ การพึ่งพานโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายเป็นเวลานานเกินไป สามารถสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่าปัญหาเดิมได้
การ “พิมพ์เงิน” และการออกหนี้อย่างไม่มีขีดจำกัดไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาว มันเป็นเพียงการเลื่อนปัญหาไปสู่อนาคต จนกระทั่งมันกลายเป็นภูเขาที่ไม่สามารถปีนขึ้นไปได้
สำหรับประเทศอื่นๆ ที่มีหนี้สูง รวมถึงสหรัฐอเมริกา สิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นควรเป็นบทเรียน เมื่อตลาดเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นในความสามารถของรัฐบาลในการชำระหนี้ การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับช่วงเวลาสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของประเทศ หากสามารถจัดการวิกฤตนี้ได้สำเร็จ อาจจะเป็นการเริ่มต้นใหม่ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่หากล้มเหลว ผลกระทบจะลุกลามไปยังเศรษฐกิจโลกทั้งหมด
นี่คือเหตุผลที่เราทุกคนควรติดตามสถานการณ์ในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่นไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศเดียว แต่เป็นเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้า
วิกฤตหนี้ญี่ปุ่นที่เรากำลังเห็นอยู่นี้ เป็นมากกว่าแค่ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเดียว มันเป็นสัญญาณเตือนว่า ยุคของการกู้ยืมต้นทุนต่ำและการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไปกำลังจะจบลง
จากประเทศที่เคยเป็นปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ ไปสู่ประเทศที่ติดกับดักหนี้และเงินเฟ้อ ญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่าแม้แต่เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดก็สามารถประสบปัญหาได้ หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างที่แท้จริง
การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่เป็นเสียงเตือนจากตลาดว่า ความอดทนของนักลงทุนมีขีดจำกัด
ในท้ายที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจโลก ที่จะบังคับให้ประเทศต่างๆ ทบทวนนโยบายการเงินและการคลังของตนเอง และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ที่ความรับผิดชอบทางการคลังจะกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง
มันเป็นคำเตือนว่า ในโลกของเศรษฐกิจและการเงิน ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ๆ และการเลื่อนปัญหาด้วยการพิมพ์เงินและออกหนี้ จะต้องมีวันที่ต้องจ่ายคืนในราคาที่แสบสันกว่าเดิมหลายเท่านั่นเองครับผม
References: [reuters, imf, deloitte, nippon, ig, invezz, wolfstreet, bloomberg]
ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA
Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ
Geek Forever’s Podcast
“Open Your World With Technology“
AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning
Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ