เกิดอะไรขึ้นกับ Windows Phone? ทำไม Microsoft ถึงสูญเสียตลาดสมาร์ทโฟนทั้งที่เคยเป็นผู้นำ

ย้อนกลับไปปี 2006 ไมโครซอฟท์กับ Windows Mobile ของพวกเขาครองตลาดสมาร์ทโฟนแทบจะเบ็ดเสร็จ ทุกคนคาดหวังว่าพวกเขาจะแข่งขันกับ Apple ได้อย่างสูสี หลังการเปิดตัว iPhone ในปี 2007 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์วงการเทคโนโลยี

ตอนแรกที่ iPhone เปิดตัว ปฏิกิริยาของผู้คนแบ่งเป็นสองฝั่งชัดเจน บางคนประทับใจกับนวัตกรรมใหม่ แต่อีกหลายคนมองว่าเป็นเพียงกระแสชั่วคราว หลายคนพูดว่า “ไม่มีใครอยากได้ iPhone หรอก มันจะมีรอยนิ้วมือเต็มหน้าจอไปหมด”

Steve Ballmer ซีอีโอไมโครซอฟท์ในตอนนั้นกล่าวอย่างมั่นใจว่า “500 ดอลลาร์ราคาพร้อม package การใช้งาน? นี่คือโทรศัพท์ที่แพงที่สุดในโลก และมันไม่ดึงดูดลูกค้าธุรกิจเพราะไม่มีแป้นพิมพ์ ซึ่งทำให้มันไม่ใช่เครื่องสำหรับการรับส่งอีเมลที่ดีนัก”

Ballmer ยังเสริมต่อ “เรามีกลยุทธ์ของเรา เรามีอุปกรณ์ Windows Mobile เจ๋งๆ ในตลาด คุณสามารถซื้อโทรศัพท์ Motorola Q ได้ในราคา 99 ดอลลาร์ มันเป็นเครื่องที่มีความสามารถมาก ผมชอบกลยุทธ์ของเรา ผมชอบมันมาก”

การปฏิเสธศักยภาพของ iPhone เป็นความผิดพลาดแรกของไมโครซอฟท์ ซึ่งมองย้อนกลับไปมันเห็นได้ชัด แต่ในเวลานั้น แนวคิดสมาร์ทโฟนไร้แป้นพิมพ์ดูไร้สาระพอๆ กับคอมพิวเตอร์ไร้แป้นพิมพ์เสียด้วยซ้ำ

อีกอย่าง ราคา iPhone ที่ 499 ดอลลาร์ (หรือราว 756 ดอลลาร์ในปัจจุบันเมื่อคิดตามอัตราเงินเฟ้อ) แพงกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปที่มีราคาเฉลี่ยที่ 200 ดอลลาร์ ถึง 2.5 เท่า จึงไม่แปลกที่หลายคนสงสัยในความสำเร็จของมัน

หากดูเพียงสเปคเทคนิค iPhone เหมือนถูกตั้งราคาเลยเถิด มีเพียงปุ่มเดียว กล้องเดียว ไม่มีแป้นพิมพ์ แต่มีฟังก์ชันพื้นฐานเหมือนสมาร์ทโฟนอื่น ทั้งอีเมล โทรศัพท์ ข้อความ เพลง และอินเทอร์เน็ต

สิ่งที่ทั้งไมโครซอฟท์และ Blackberry มองข้ามคือความสำคัญของ “ประสบการณ์ผู้ใช้” ซึ่งต่อมาพิสูจน์แล้วว่ามีค่าเหนือกว่าราคา เหมือนตอนที่คอมพิวเตอร์เปลี่ยนจากคำสั่งแบบ command line มาเป็นอินเทอร์เฟซแบบกราฟิกและเมาส์

บริษัทที่ตอบสนองช้าต่อการปฏิวัติอินเทอร์เฟซกราฟิกในยุค 80 คือ IBM กว่าจะมีคอมพิวเตอร์ที่ใช้เมาส์ก็ปี 1990 หกปีหลังจาก Macintosh ความล่าช้านี้เปิดช่องให้ Apple , HP และ Dell แย่งส่วนแบ่งตลาดจนนำไปสู่การถอนตัวจากตลาดของ IBM

ไมโครซอฟท์กำลังเผชิญชะตากรรมคล้ายกัน พวกเขามั่นใจในแพลตฟอร์ม Windows Mobile และอุปกรณ์ต่างๆ มากเกินไป แต่ไม่รู้ว่ากำลังจะเจอพายุโหมกระหน่ำครั้งใหญ่

เมื่อ Steve Jobs เปิดตัว iPhone เขาแสดงกราฟยอดขายปี 2006 โดยเครื่องเล่นเกมขายได้ 26 ล้านเครื่อง ขณะที่โทรศัพท์มือถือ (รวมฟีเจอร์โฟน) ขายได้ 957 ล้านเครื่อง

Jobs ตั้งเป้าให้ Apple ครองส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์ทั่วโลก 1% ภายในปี 2008 หมายถึงต้องขาย iPhone ให้ได้ 10 ล้านเครื่อง เป้าหมายมันมีความทะเยอทะยานเป็นอย่างมากเมื่อพิจารณาว่า Apple ใช้เวลา 22 ปีกว่าจะขาย Mac ได้ 5 ล้านเครื่องในหนึ่งปี

ปฏิกิริยาของ Ballmer? เขาประกาศมั่นใจว่า “ไม่มีโอกาสที่ iPhone จะได้ส่วนแบ่งการตลาดที่มีนัยสำคัญใดๆ ไม่มีโอกาส” คำพูดนี้กลายเป็นคำที่ทำให้ไมโครซอฟท์ต้องปวดร้าวในเวลาต่อมา

Apple ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย ในการประชุมนักพัฒนาทั่วโลกเดือนมิถุนายน 2008 Jobs ประกาศว่า Apple ขาย iPhone ได้ถึง 6 ล้านเครื่อง ทำให้พวกเขาอยู่ในแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาด 1% ภายในสิ้นปี

ที่น่าทึ่งยิ่งกว่าคือส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกของ iPhone อยู่ที่ 6.5% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2007 เทียบเท่า Motorola ที่อันดับสี่ และส่วนแบ่งการตลาดสมาร์ทโฟนในสหรัฐฯ ของ iPhone อยู่ที่ 28% แซงทั้ง Palm และไมโครซอฟท์

ในเดือนพฤศจิกายน 2007 ประมาณ 10 เดือนหลังจากการเปิดตัว iPhone Google เปิดตัว Android ระบบปฏิบัติการมือถือสำหรับสมาร์ทโฟนหน้าจอสัมผัส Eric Schmidt ซีอีโอ Google เห็น iPhone และตระหนักทันทีว่าอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนไป

Google จึงรีบปล่อย Android อย่างรวดเร็วเพื่อให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนนำไปใช้ในปี 2008 แต่ไมโครซอฟท์ยังคงยึดมั่นว่าสมาร์ทโฟนไร้แป้นพิมพ์ไม่ใช่อนาคต เนื่องจากผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าองค์กรที่ต้องใช้แป้นพิมพ์สำหรับอีเมล

เข้าสู่ปี 2008 Apple เปิดตัว iPhone 3G วางขายทั่วโลกในราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้นที่ 199 ดอลลาร์ ในปีเดียวกัน HTC Dream สมาร์ทโฟน Android เครื่องแรกวางจำหน่ายผ่าน T-Mobile ในสหรัฐฯ

คนส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจว่ายุคนั้นเป็นอย่างไร ปัจจุบันเราซื้อโทรศัพท์ไหนใช้กับเครือข่ายไหนก็ได้ แต่ยุค 2000 ผู้ให้บริการเครือข่ายมีอำนาจมาก พวกเขาขายโทรศัพท์ที่ใช้ได้เฉพาะเครือข่ายตัวเอง ซื้อ iPhone ปี 2008 คือผูกมัดสัญญา 2 ปีกับ AT&T โดยอัตโนมัติ

เครือข่ายได้ประโยชน์ แต่ผู้ผลิตก็ได้ด้วยเพราะผู้ให้บริการจะอุดหนุนค่าโทรศัพท์บางส่วน ทำให้ราคาถูกลงสำหรับผู้บริโภค ผู้ผลิตขายได้มากขึ้น และเครือข่ายได้ลูกค้าเพิ่ม

แต่ผู้ให้บริการไม่สุ่มเลือกโทรศัพท์มาสนับสนุน พวกเขาเลือกเครื่องที่คาดว่าจะขายดี เมื่อ iPhone เริ่มมีกระแสที่ดีขึ้น Verizon และ T-Mobile เร่งหาพันธมิตรในการแข่งขันสมาร์ทโฟนหน้าจอสัมผัส หวังได้ฐานผู้ใช้เพิ่มเหมือน AT&T

T-Mobile จับมือกับ HTC ผู้สร้าง Android เครื่องแรก ส่วน Verizon จับมือกับ Blackberry ผู้นำตลาดในขณะนั้น เตรียมเปิดตัว Blackberry Storm หน้าจอสัมผัสที่สั่นเวลากดปุ่ม

ไมโครซอฟท์ไม่ได้อยู่ในสนามนี้เพราะยังไม่มีโทรศัพท์ของตัวเอง OS Windows Mobile ยังคงให้ผู้ผลิตรายอื่นใช้ แต่อุปกรณ์เหล่านั้นดูล้าสมัยลงทุกวัน

ก้าวเข้าสู่ปี 2009 สนามสมาร์ทโฟนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง Blackberry Storm ล้มเหลว ทำให้บริษัทสูญเงินกว่า 500 ล้านดอลลาร์ Verizon จึงหันไปหาพันธมิตรใหม่

เมื่อเห็น T-Mobile ขาย HTC Android ได้กว่า 1 ล้านเครื่อง Verizon จึงทุ่มสนับสนุน Android เต็มตัว โดย Android พุ่งจากศูนย์และสามารถครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลก 3% ได้ในเพียงแค่ปีเดียว

Apple ขาย iPhone 3G ได้มากกว่า 20 ล้านเครื่องทั่วโลก เพิ่มส่วนแบ่งตลาดจาก 9% เป็น 14% ณ สิ้นปี 2008 และเพิ่มยอดด้วยการเปิดตัว iPhone 3GS พร้อมลดราคา iPhone 3G เหลือ 100 ดอลลาร์ ขยายฐานลูกค้าอีกมากมาย

Windows Mobile กลับหดตัวครั้งแรกจาก 14% ในปี 2008 เหลือ 9% ในปี 2009 ลดฮวบถึง 36% ในปีเดียว Ballmer ยอมรับว่าพวกเขา “พลาดพลั้ง” ผู้ใช้ต้องการหน้าจอสัมผัสขนาดใหญ่ไร้แป้นพิมพ์

ไมโครซอฟท์จึงเริ่มพัฒนาระบบใหม่เพื่อแข่งกับ iOS และ Android ซึ่งจะเปิดตัวเดือนตุลาคม 2010 อุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนตอนนั้นเปลี่ยนเร็วมาก การเปลี่ยนในสี่ปีตอนนั้นมีความสำคัญมากกว่าสี่ปีในปัจจุบัน

ภายในปี 2010 แอปเปิลเปิดตัว iPhone 4 ซึ่งแตกต่างจากรุ่นแรกในปี 2007 อย่างสิ้นเชิง ไมโครซอฟท์ที่จะเปิดตัวระบบใหม่หลัง Apple 4 ปี และหลัง Google 3 ปี จึงเสียเปรียบมหาศาล

การเปิดตัวของพวกเขาคือ Windows Phone 7 มาแทน Windows Mobile 6.5 ผู้ใช้ส่วนใหญ่ชอบอินเทอร์เฟซ Metro ใหม่ที่สดสะอาด แป้นพิมพ์เสมือนที่มีความแม่นยำ การตอบสนองที่รวดเร็ว

แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนโฟกัสจากลูกค้าองค์กรไปยังผู้บริโภคทั่วไป ความปลอดภัยที่เคยเทพกลับหายไป Microsoft Office ใช้งานได้ไม่ดี ลูกค้าเดิมส่วนใหญ่ซึ่งเป็นองค์กรรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง

Windows Phone 7 เน้นผู้ใช้ทั่วไปที่ใช้โซเชียลและเสพคอนเทนต์ แต่ปัญหาคือผู้ใช้เหล่านี้เลือกระหว่าง Android หรือ iOS ไปแล้ว ชักชวนให้เปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ที่ยังไม่พิสูจน์ตัวเองเป็นเรื่องยากลำบาก

ไม่เพียงลูกค้าที่ต้องถูกชักจูง ทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายและผู้ผลิตอุปกรณ์ก็ต้องถูกชักจูงด้วย AT&T มุ่งขาย iPhone, T-Mobile และ Verizon ทำตลาดกับ Android ไมโครซอฟท์มีร้านค้าปลีกเพียงหกแห่ง ต้องพึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายอย่างมาก

ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่าง Samsung, LG และ Motorola ใช้ Android อยู่แล้ว การเพิ่มระบบปฏิบัติการใหม่เป็นการเพิ่มความซับซ้อน อีกทั้ง Android ฟรี แต่ไมโครซอฟท์เก็บ 15 ดอลลาร์ต่อเครื่องสำหรับ Windows Phone 7

นี่เป็นจุดที่แผนของไมโครซอฟท์เริ่มเละไม่เป็นท่า แม้มีโทรศัพท์ 20 รุ่นใช้ Windows Phone 7 แต่ผู้ให้บริการเครือข่ายไม่เห็นว่าอะไรทำให้มันดีกว่า Android และ iPhone ลูกค้าก็รู้สึกเช่นกัน

นักพัฒนาแทบไม่สนใจแพลตฟอร์มนี้ มีแอปเพียง 2,000 แอปตอนเปิดตัว เทียบกับ Android 200,000 แอป และ iOS 300,000 แอป แอปยอดนิยมอย่าง Angry Birds, Instagram และ YouTube ไม่มีให้ใช้

ลูกค้าหลายคนผิดหวังเมื่อพบว่าไม่สามารถใช้แอปโปรดได้ เกิดอัตราคืนสินค้าสูง จนพนักงานร้านค้าเริ่มไม่แนะนำให้ลูกค้าซื้อ Windows Phone 7

แถมยังมีปัญหากับฮาร์ดแวร์บางรุ่นที่ไมโครซอฟท์ควบคุมไม่ได้ เช่น Samsung Focus โทรศัพท์ Windows ที่ดีที่สุดตอนเปิดตัว มีปัญหากับช่องเสียบ micro SD จำกัดความเร็วการ์ด และต้องรีเซ็ตเป็นค่าโรงงานเมื่อใส่การ์ดใหม่ ทำให้ข้อมูลถูกลบไปทั้งหมด

ไมโครซอฟท์เริ่มเข้าใจสิ่งที่ Apple รู้มานาน พวกเขาต้องควบคุมทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ จึงเริ่มวางแผนกลยุทธ์ใหม่

การสร้างแผนกฮาร์ดแวร์ต้องใช้เวลา แต่ไมโครซอฟท์ไม่มีเวลา พวกเขาจึงร่วมมือกับบริษัทฮาร์ดแวร์แทน โดยเลือก Nokia จากฟินแลนด์

Nokia ไม่เพียงสร้าง Nokia N9 ที่ Engadget เรียกว่า “โทรศัพท์ที่สวยที่สุดเท่าที่เคยมีมา” แต่ Stephen Elop อดีตผู้บริหารไมโครซอฟท์ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งซีอีโอใหม่ของ Nokia มองว่า Nokia มีปัญหาด้านซอฟต์แวร์เพราะระบบ Symbian ของพวกเขาเริ่มล้าสมัย

สิงหาคม 2011 ทั้งสองประกาศความร่วมมือเพื่อ “รวมสินทรัพย์และพัฒนาผลิตภัณฑ์มือถือนวัตกรรมในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน” Nokia จะใช้ Windows Phone 7 เป็นระบบหลัก บริการของทั้งสองบริษัทจะถูกควบรวมกัน

พวกเขาต้องเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างรวดเร็ว และในพฤศจิกายน 2011 Nokia Lumia 800 ก็เปิดตัว โดยพื้นฐานคือ Nokia N9 ที่ใช้ Windows Phone 7 ซีอีโอ Nokia เรียกมันว่า “โทรศัพท์ Windows จริงเครื่องแรก”

น่าเสียดายที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ ไม่ได้สัมผัสเพราะไม่วางขายที่นั่น เหตุผลคือการเป็นพันธมิตรกับ AT&T ที่ต้องการโทรศัพท์รองรับ 4G LTE แต่ไมโครซอฟท์ไม่เห็นความสำคัญ

พวกเขาจึงขาย Lumia 800 ในยุโรปและแคนาดา แล้วรีบพัฒนา Lumia 900 รองรับ 4G เปิดตัวมกราคม 2012 แต่เวลานั้นตลาดสมาร์ทโฟนเติบโตเต็มที่แล้ว

Samsung มี Galaxy S2 และ Apple มี iPhone 4S ผู้บริโภคใช้เวลา 5 ปีเลือกระหว่าง iPhone และ Android ไปแล้ว ไมโครซอฟท์ต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์เจ๋งมากๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์อื่น

Nokia Lumia 900 ได้รับการตอบรับดีพอควร ได้รางวัล Best of CES จาก CNET, Forbes เรียกมันว่า “โทรศัพท์ Windows ที่ดีที่สุดจนถึงตอนนี้” แม้แต่ Gizmodo ยังบอกว่า “Lumia อาจช่วย Windows Phone ได้”

ผู้บริโภคหลายคนชอบมัน เป็นสมาร์ทโฟนยุคใหม่ราคาถูกที่สุดที่ 99 ดอลลาร์พร้อมสัญญา 2 ปี ไลฟ์ไทล์ให้ประโยชน์มากกว่าไอคอนแบบแน่นิ่งของคู่แข่ง หน้าจอ AMOLED 4.3 นิ้วใหญ่กว่า iPhone 3.5 นิ้ว

ผู้ใช้ยังชื่นชอบตัวเลือกสีสันสดใส ซึ่ง Apple ใช้กับ iPhone 5C มากกว่า หนึ่งปีหลังจากนั้น Lumia 900 จึงเป็นผลิตภัณฑ์น่าประทับใจ แต่มีข้อบกพร่องซึ่งนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด

แม้ฮาร์ดแวร์ของ Lumia 900 และ Lumia 920 จะแข่งขันได้ แต่ระบบปฏิบัติการกลับไม่ดี ผู้ซื้อ Windows Phone 7 ต้องตกใจเมื่อพบว่าอัพเกรดเป็น Windows Phone เวอร์ชันใหม่ไม่ได้

เหตุผลคือไมโครซอฟท์สร้าง OS บนเคอร์เนล Windows CE ซึ่งไม่เหมาะกับสมาร์ทโฟนยุคใหม่ จัดการหน่วยความจำได้ไม่ดี ปล่อยให้แอปทำงานในพื้นหลังซึ่งกินแบตเตอรี่

การติดตั้งและเขียนแอปยังยุ่งยาก ทำให้นักพัฒนาไม่อยากสร้างแอป Wired ถึงกับวิจารณ์ว่า “ไม่ใช่ว่า App Store ของ Microsoft จะว่างเปล่า มีแอปกว่า 120,000 รายการ พวกมันเพียงแค่ไม่ใช่แอปที่คุณต้องการ”

ไมโครซอฟท์จึงพัฒนา Windows Phone 8 บนเคอร์เนล Windows NT ที่ทันสมัยกว่า ปรับปรุงประสิทธิภาพหลายด้าน ทำให้นักพัฒนาย้ายแอปจาก Windows 8 มาใช้ง่ายขึ้น แต่ผู้ใช้ Windows Phone 7 ที่มีอยู่อัพเกรดไม่ได้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไมโครซอฟท์ทำแบบนี้ ผู้ใช้ Windows Mobile 6 (2007) ก็อัพเกรดเป็น Windows Phone 7 (2010) ไม่ได้ และตอนนี้ผู้ใช้ 7 ก็อัพเกรดเป็น 8 (2012) ไม่ได้ นั่นหมายความว่าต้องซื้อโทรศัพท์สามเครื่องในห้าปีเพื่อใช้ระบบล่าสุด

เป็นการตบหน้าลูกค้าที่เสี่ยงลงทุนกับโทรศัพท์ Windows สร้างความโกรธเคืองระหว่างไมโครซอฟท์กับผู้ใช้ที่ภักดีที่สุด ซึ่งมีแนวโน้มเลือก iPhone หรือ Android ในการซื้อครั้งต่อไป

แม้มีปัญหาร้ายแรงกับผู้ให้บริการเครือข่ายที่ไม่อยากผลักดันโทรศัพท์ Windows แต่ภายในปี 2013 ไมโครซอฟท์ฟื้นส่วนแบ่งตลาดได้บ้าง จาก 1.6% เป็น 3% ยังห่างไกลจาก Android ที่ครองตลาด 78%

กันยายน 2013 ไมโครซอฟท์ทุ่มเทครั้งสุดท้าย ซื้อธุรกิจสมาร์ทโฟนของ Nokia ด้วยเงิน 7.2 พันล้านดอลลาร์ ปิดฉาก Nokia ในตลาดโทรศัพท์มือถือ จากนั้นขึ้นอยู่กับไมโครซอฟท์ที่จะทำให้ธุรกิจนี้สำเร็จ ซึ่งตามคาดพวกเขาทำไม่ได้

โทรศัพท์แรกที่ไมโครซอฟท์พัฒนาหลังซื้อกิจการคือ Microsoft Lumia 950 เปิดตัวปี 2015 เครื่องแรกที่ใช้ Windows 10 Mobile แทน Windows Phone 8 แม้มีคุณสมบัติน่าสนใจ แต่หลายคนรู้สึกว่าการออกแบบมันเหมือนถอยหลัง

มันขาดความหรูหราเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนระดับแฟลกชิปอื่น และไม่มีเสน่ห์เหมือน Lumia รุ่นก่อนหน้า

นักวิจารณ์วิพากษ์วิจารณ์ระบบนิเวศแอปที่พัฒนาได้ไม่ดีและระบบปฏิบัติการที่มีข้อบกพร่อง The Verge บอกว่า Windows 10 Mobile ไม่เสร็จสมบูรณ์ และอินเทอร์เฟซผู้ใช้ก็ไม่สอดคล้องกัน

ไมโครซอฟท์ได้รับการร้องเรียนมากมายจนในที่สุดพวกเขาต้องอนุญาตให้ผู้ใช้ดาวน์เกรดจาก Windows 10 Mobile กลับไปยัง Windows Phone 8

ภายในปี 2016 ส่วนแบ่งการตลาดของไมโครซอฟท์ดิ่งลงเหว 79% เหลือเพียง 0.4% ของตลาดทั้งหมด ในเวลาเพียง 10 ปี พวกเขาร่วงจากอันดับหนึ่งด้วยส่วนแบ่ง 34% เหลือแทบจะไม่มีอะไรเลย

ตุลาคม 2017 ไมโครซอฟท์ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะไม่ขายหรือผลิตอุปกรณ์ Windows 10 Mobile ใหม่อีก โดย Lumia 950 เป็นสมาร์ทโฟนระดับแฟลกชิปเครื่องสุดท้าย

เมื่อมองย้อนกลับ Ballmer ยอมรับว่า “ไมโครซอฟท์จะมีตำแหน่งแข็งแกร่งกว่าในตลาดโทรศัพท์วันนี้ ถ้าผมสามารถกลับไปแก้ไขความผิดพลาดได้ สิ่งที่ผมเสียใจคือเราไม่ได้นำฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มารวมกันเร็วพอ”

เรื่องราวของไมโครซอฟท์ในตลาดสมาร์ทโฟนให้บทเรียนหลายข้อ ประการแรก การมองข้ามความสำคัญของนวัตกรรมเป็นความผิดพลาดร้ายแรง พวกเขาดูถูกศักยภาพของ iPhone และไม่เข้าใจว่าประสบการณ์ผู้ใช้สำคัญกว่าฟีเจอร์แบบดั้งเดิม

ประการที่สอง การตอบสนองล่าช้าต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดให้คู่แข่งได้เปรียบเยอะมาก Google เห็น iPhone และตอบสนองในเวลาไม่ถึงปี ขณะที่ไมโครซอฟท์ใช้เวลาสามปีกว่าจะมีระบบที่เข้ามาแข่งขันจริงจัง

ประการที่สาม การทำให้ลูกค้าผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นกลยุทธ์ที่นำไปสู่ความล้มเหลว ผู้ใช้ Windows Phone รุ่นเก่าอัพเกรดเป็นรุ่นใหม่ไม่ได้ ทำให้ลูกค้าที่ภักดีรู้สึกถูกทอดทิ้ง

ประการที่สี่ การพึ่งพาพันธมิตรมากเกินไปโดยไม่มีการควบคุมคุณภาพที่ดีพอทำให้เกิดประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดีพอ แม้หลังจากซื้อ Nokia แล้ว ไมโครซอฟท์ก็ยังไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์และน่าประทับใจได้

สุดท้าย ระบบนิเวศของแอปมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของแพลตฟอร์มสมาร์ทโฟน Windows Phone ไม่สามารถดึงดูดนักพัฒนาให้สร้างแอปสำหรับแพลตฟอร์มได้เพียงพอ ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถเข้าถึงแอปยอดนิยมได้

ความล้มเหลวของไมโครซอฟท์แสดงให้เห็นว่าแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลที่สุดในโลกก็ยังพลาดโอกาสครั้งสำคัญได้ หากขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ตอบสนองช้า และไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบัน ไมโครซอฟท์ยังเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยี แต่พวกเขาปรับกลยุทธ์ มุ่งเน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์และบริการคลาวด์แทนที่จะแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนที่ปัจจุบันมีเพียง iOS และ Android

บทเรียนจากความล้มเหลวของพวกเขาเป็นกรณีศึกษาที่มีค่าสำหรับทั้งบริษัทขนาดใหญ่และผู้ประกอบการรายใหม่ ในการเข้าใจความสำคัญของการคาดการณ์และปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

ในโลกเทคโนโลยีที่พลิกผันเร็ว แม้แต่บริษัทที่ครองตลาดก็อาจกลายเป็นผู้ตามในชั่วข้ามคืน หากไม่สามารถคาดการณ์และตอบสนองต่อนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ทันท่วงที


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube