ประวัติ TikTok ตอนที่ 7 : The Art of War

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2017 Douyin ได้พิสูจน์ตัวเองในประเทศจีนแล้ว ด้วยเทคโนโลยีที่ซับซ้อน รวมถึงการวิเคราะห์วีดีโอ ตัวกรอง AR และเครื่องมือ Recommendation Engine สุดเทพ เป็นสิ่งที่ได้วางรากฐานการเติบโตให้กับพวกเขาได้อย่างรวดเร็ว

แต่คำถามก็คือ เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถก้าวข้ามขอบเขตทางภูมิศาสตร์ได้หรือไม่

ต้องบอกว่าอินเทอร์เน็ตของจีนมีลักษณะเฉพาะมากมาย ที่ปรับให้เข้ากับนิสัยและความชอบในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องปรกติสำหรับแอปจีนยอดนิยมที่มักจะสร้าง เวอร์ชันสากล ที่แยกจากกัน ซึ่ง Douyin ก็เป็นหนึ่งในนั้น

เมื่อต้องตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนอะไร สิ่งแรกที่ต้องตัดสินใจคือเปลี่ยนชื่อ แต่ต้องคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และโลโก้สีดำอันโดดเด่นของพวกเขาไว้

TikTok เสียงนาฬิกาบอกเวลา แสดงถึงลักษณะสั้น ๆ ของแพลตฟอร์มวีดีโอ เป็นคำอธิบายอย่างเป็นทางการที่อยู่เบื้องหลังชื่อใหม่ การออกเสียงในภาษาหลัก ๆ นั้นก็ทำได้ง่าย

TikTok เห็นว่าจำเป็นต้องปรับแนวทางของพวกเขาให้เข้ากับแต่ละประเทศโดยช่องทางการโปรโมตที่แปลเป็นภาษาท้องถิ่น และใช้ creator ในท้องถิ่นเพื่อผลักดันแพลตฟอร์ม

มีตลาดหนึ่งที่มีความท้าทายสูงมาก และหากเจาะตลาดที่นี่ได้สำเร็จการบุกเอเชียก็คงไม่ยากเกินฝัน ซึ่งตลาดนั้นก็คือ ประเทศญี่ปุ่น

ต้องบอกว่ามีบริการทางด้านอินเทอร์เน็ตของจีนเพียงไม่กี่บริการที่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยของญี่ปุ่น หากชาวญี่ปุ่นยอมรับบางสิ่งได้ ผู้ใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่นๆ ทั่วเอเชียก็ยอมรับได้

ชาวญี่ปุ่นรู้จักตนเองและให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว หลายคนไม่ชอบที่จะเปิดเผยตัวตนทางออนไลน์และไม่เต็มใจที่จะใช้ชื่อจริงของตนหรือแสดงใบหน้าในบัญชีโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงได้แบบสาธารณะ เช่น Twitter หรือ Instagram

กลยุทธ์แรกในการเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นนั้นคล้ายกับสิ่งที่ Douyin ทำในตลาดจีน มีการเปิดสำนักงานเล็ก ๆ ขึ้นในโตเกียว ทีมงานได้ใช้ความพยายามในการเข้าหา influencer ทางออนไลน์ที่เหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์มใหม่

โดยกลุ่มเหล่านี้จะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ใช้งาน และสร้างเนื้อหาคุณภาพสูง รวมถึงสร้างการรับรู้ได้ในวงกว้างผ่านผู้ติดตามของพวกเขา

ดาราคนแรกที่ได้ร่วมงานกับ TikTok คือ Kinoshita Yukina จากนั้นก็มีอีกหลากหลายคนตามมาไม่ว่าจะเป็น Kyary Pamyu นักร้องที่มีผู้ติดตามใน Twitter ห้าล้านคน เกิร์ลแบนด์ “E-girls” และบล็อกเกอร์ Youtuber ชื่อดัง “Ficher’s” เป็นชื่อกลุ่มคนดังกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ใช้งาน TikTok อย่างเป็นทางการ

Kinoshita Yukina ดาราญี่ปุ่นคนแรกที่ได้ร่วมงานกับ TikTok (CR: entamega.com)
Kinoshita Yukina ดาราญี่ปุ่นคนแรกที่ได้ร่วมงานกับ TikTok (CR: entamega.com)

เหตุผลหลักที่ TikTok สามารถทำได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อในญี่ปุ่นก็คือ การขาดผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันในตลาด ในที่สุด TikTok ก็พบว่าพวกเขากำลังแข่งขันเพียงแค่กับตัวเองอยู่เท่านั้น

พนักงานรุ่นแรก ๆ ของ TikTok เป็นชาวจีนที่มีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับญี่ปุ่น แต่ไม่นานก็เปลี่ยนไปจ้างคนในท้องถิ่นโดยเฉพาะ เมื่อชื่อเสียงของแพลตฟอร์มเติบโตขึ้นทีละน้อย ก็ค่อย ๆ โอนอำนาจในการตัดสินใจจากปักกิ่งไปยังสาขาในญี่ปุ่น

ต่อมา ByteDance เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นว่า TikTok จะแจ้งเกิดได้แน่นอน เริ่มมีการโปรโมทออฟไลน์ด้วยโฆษณา TikTok ในโตเกียวเมโทร

หลังจากนั้นเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันกับที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นก็เกิดขึ้นกับประเทศในแถบเอเชียอื่น ๆ เมื่อ ByteDance บุกโจมตีอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ไล่มาตั้งแต่ เวียดนาม เกาหลี ไทย และ อินโดนีเซีย

ศูนย์กลางของระบบนี้แนวคิดก็คือการรวมกลุ่มเนื้อหาตามภูมิภาคหรือภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษา ประสบการณ์ของ TikTok หลักคือฟีด “For You” ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นสำหรับแต่ละตลาดที่มีความแตกต่างกัน

สำหรับผู้ใช้ชาวญี่ปุ่นการค้นหาและดูวีดีโอจากเพื่อนในอินโดนีเซีย พวกเขาจะต้องใช้ฟังก์ชันการค้นหา ซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้ดูวีดีโอจากบัญชี TikTok ทั่วโลกหรือผ่านแฮชแท็กที่ต้องการค้นหา

แต่ก็ต้องบอกว่ามีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่การรับชมมาจากการค้นหา เพราะส่วนใหญ่แล้วฟีด “For You” เป็นประสบการณ์หลักของแอปและเกือบทุกคนใช้เวลาส่วนใหญ่ติดหนึบกับมัน

ในปี 2015 Musical.ly เวอร์ชั่นจีนภายใต้ชื่อ “Mama Mia” ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง Louis Yang ผู้ร่วมก่อตั้งได้สรุปว่าคนเอเชียสงวนตัวเกินไปและไม่เก่งในการแสดงออกอย่างอิสระผ่านวีดีโอ

Louis Yang ผู้ร่วมก่อตั้ง Musical.ly ได้สรุปว่าคนเอเชียสงวนตัวเกินไปและไม่เก่งในการแสดงออกอย่างอิสระผ่านวีดีโอ (CR:Yicai Global)
Louis Yang ผู้ร่วมก่อตั้ง Musical.ly ได้สรุปว่าคนเอเชียสงวนตัวเกินไปและไม่เก่งในการแสดงออกอย่างอิสระผ่านวีดีโอ (CR:Yicai Global)

สองปีถัดมา พวกเขาต้องการบุกจีนอีกครั้ง ในปี 2015 ทีมงาน Musical.ly มีไม่ถึงสิบคน ตอนนี้พวกเขาจ้างคนกว่าร้อยคนทั่วโลก พวกเขาได้รับประสบการณ์อันล้ำค่า ควบคู่ไปกับการสนับสนุนทางการเงินของบริษัท ถึงกระนั้น การกลับบ้านไปจีนอีกครั้ง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

Musical.ly ทำสิ่งที่แตกต่างจากวิถีที่บริษัทเทคโนโลยีในจีนทำกัน พวกเขาใช้ playbook แบบตะวันตก พวกเขาไม่ได้สร้างโฆษณา ไม่ได้อุดหนุนให้กับเหล่า creator และพวกเขาไม่ได้จ่ายเงินให้กับคนดัง

นับตั้งแต่ก่อตั้ง Musical.ly แทบจะไม่ได้ทุ่มไปกับการตลาดเลย แต่พวกเขาอาศัยคำพูดแบบปากต่อปากและโน้มน้าวใจอย่างหนักในการส่งเสริมชุมชนผู้ใช้ที่แข็งแกร่ง

กลยุทธ์การเติบโตแบบ organic แบบนั้นไม่สามารถทำได้ในประเทศจีน เพราะการแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือด มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งผู้ใช้นั้นสูงกว่าตลาดตะวันตกมานานแล้ว

ต้นเดือนมิถุนายน 2017 Musical.ly ได้กลับเข้าสู่ประเทศจีนอย่างเป็นทางการอีกครั้งและเลิกใช้ชื่อเก่า “Mamma Mia” พวกเขารีแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ “Muse”

Muse และ Douyin มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าทึ่ง วีดีโอสั้นแบบเต็มหน้าจอสิบห้าวินาที การปัดแบบเลื่อนขึ้นเพื่อเปลี่ยนวีดีโอ การรค้นหาเนื้อหาที่มีดนตรีเป็นศูนย์กลาง ฯลฯ

แต่ต้องบอกว่าความสำเร็จของ Douyin อาศัยทรัพยากรของบริษัทแม่เป็นอย่างมาก ตั้งแต่เทคโนโลยีไปจนถึงการโปรโมตและการจัดหาผู้ใช้

Muse ถูกตีแตกพ่ายอย่างสิ้นเชิง งบประมาณในการโปรโมตของพวกเขามีน้อย และความสามารถทางเทคโนโลยีของพวกเขายังอ่อนมากเมื่อเทียบกับ Douyin

และปัญหาใหญ่ที่สุดของ Musical.ly ก็คือการทำเงิน ในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป การโฆษณาเป็นรูปแบบเริ่มต้นสำหรับแอปพลิเคชันความบันเทิงและโซเชียลตั้งแต่ Youtube ไปจนถึง Twitter และ Facebook แต่ไม่ค่อยมีคนเห็นโฆษณาบน Musical.ly

สาเหตุสำคัญก็คือ Muscial.ly นั้นไม่มีโครงสร้างพื้นฐานแบ็กเอนด์ในการจัดซื้อโฆษณาโดยผู้ใช้แบบอัตโนมัติ กระบวนการนี้ต้องทำผ่านทีมขาย ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก

เหล่าผู้โฆษณามองว่า Musical.ly เป็นแพลตฟอร์มทดลองสำหรับเด็กน้อย ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าการโฆษณาควรเป็นอย่างไร แถมยังมีราคาสูงเว่อร์ มีรายงานว่าโฆษณาอยู่ในช่วงตั้งแต่ 75,000 ถึง 300,000 ดอลลาร์สำหรับการโฆษณาวันเดียว โดยมีบางแพ็คเกจสูงถึง 2.5 ล้านดอลลาร์

และสิ่งนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ Douyin แม้จะมีความคล้ายคลึงกันในการออกแบบแอป แต่ประสิทธิภาพทางการเงินเรียกได้ว่าต่างกันแบบสุดกู่

ภายในปี 2019 รายได้ของ ByteDance อยู่ที่ 120-140 พันล้านหยวน หรือประมาณ 17-20 พันล้านดอลลาร์ โดยมาจาก Douyin 10-12 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสัดส่วนถึง 60%

รายได้ของ Douyin ประมาณ 80% มาจากการโฆษณา รวมถึงรูปแบบต่างๆ เช่น Challenges ของแบรนด์ที่ได้รับการสนับสนุนและโฆษณาแบบเต็มหน้าจอที่เล่นทันทีที่เปิดแอป

ในบรรดารูปแบบต่าง ๆ ส่วนแบ่งรายได้หลักมาจาก “โฆษณาวีดีโอในฟีด” โฆษณาเหล่านี้ใช้ทั่วทั้งหน้าจอและเล่นโดยอัตโนมัติ โดยดูเหมือนวีดีโอ TikTok ทั่วไป

นักการตลาดเรียนรู้อย่างรวดเร็วว่าหากพวกเขาทำการโปรโมตให้ดูเหมือนวีดีโอที่สร้างโดยผู้ใช้ทั่วไป แทนที่จะเป็นโฆษณาแบบมืออาชีพ พวกเขาสามารถหลอกให้ผู้ใช้ที่ไม่ต้องการดูโฆษณาให้ดูในช่วงสองสามวินาทีแรกได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นรูปแบบดังกล่าวจึงเป็นที่นิยมและมีประสิทธิภาพสูง

เรียกได้ว่า Toutiao เป็นเครื่องมือจัดการโฆษณาที่สมบูรณ์แบบและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีพร้อมทีมขายขนาดยักษ์ โครงสร้างพื้นฐานที่มีความซับซ้อน และสร้างชื่อเสียงในหมู่ผู้ลงโฆษณา ซึ่งทั้งหมดถูกนำไปใช้ใน Douyin ใกล้เคียงกับที่ Instagram ได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านโฆษณาและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วของ Facebook นั่นเอง

โชคดีที่ Musical.ly ยังอยู่ในสถานะที่ดีที่จะขายบริษัทตนเองให้กับบริษัทขนาดใหญ่ แม้ว่าการเติบโตของแพลตฟอร์มจะหยุดชะงัก แต่บริษัทก็ยังเป็นเป้าหมายในการซื้อกิจการที่น่าสนใจ

Musical.ly ได้สร้างแบรนด์ที่มีความหมายสะท้อนถึงวัยรุ่นในอเมริกาและยุโรปอย่างลึกซึ้ง ทั้ง ByteDance , Facebook , Tencent , Snapchat และ Kuaishou ต่างก็จ้องตาเป็นมันและพร้อมที่จะเข้ามาครอบครอง

Yiming และ Alex Zhu ผู้ร่วมก่อตั้ง Musical.ly รู้จักกันมานานหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตามการเจรจาเข้าซื้อกิจการเริ่มขึ้นอย่างจริงจังในฤดูใบไม้ผลิปี 2017

มีปราการด่านหินก็คือ Fu Sheng ที่เป็น Angel Investor ให้กับ Musical.ly ในช่วงแรก ๆ และมีอำนาจเต็มในการพิจารณาข้อเสนอ

Fu Sheng ที่เป็น Angel Investor ให้กับ Musical.ly ในช่วงแรก ๆ และมีอำนาจเต็มในการพิจารณาข้อเสนอ (CR:Financial Times)
Fu Sheng ที่เป็น Angel Investor ให้กับ Musical.ly ในช่วงแรก ๆ และมีอำนาจเต็มในการพิจารณาข้อเสนอ (CR:Financial Times)

Fu Sheng เป็น CEO ของ Cheetah Mobile ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาแอปมือถือที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของปักกิ่ง ซึ่งมีผู้ใช้งานหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

เพื่อตอบสนองความต้องการสุดโหดของ Fu Sheng ข้อตกลงขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ Yiming ต้องทำการซื้อแอปรวมข่าว Cheetah Mobile News Republic ในราคา 86 ล้านดอลลาร์ และลงทุน 50 ล้านดอลลาร์ใน Live.me แพลตฟอร์มสตรีมสดของ Cheetah Mobile และราคา 800 ล้านดอลลาร์สำหรับ Musical.ly นั้นเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ

สำหรับ ByteDance การเข้าซื้อกิจการบรรลุเป้าหมายหลายประการในคราวเดียว ประการแรก มันเป็นวิธีประหยัดต้นทุนในการได้ฐานผู้ใช้งานในตลาดตะวันตก Musical.ly เองก็มีฐานผู้ใช้งานที่ไม่ทับกันกับฐานผู้ใช้ในเอเชียของ TikTok

ที่สำคัญไม่แพ้กัน มันเป็นการป้องกันบริษัทใหญ่จากการเข้า take over กิจการ Musical.ly เพื่อเป็นทางลัดในการแข่งขันกับ TikTok แถม ByteDance ยังได้เรียนรู้สิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้จากประสบการณ์การดำเนินงานหลายปีของ Musical.ly และนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านั้นไปปรับใช้ทั่วองค์กร

ByteDance ได้ประกาศข้อตกลงเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2017 พวกเขาได้เป็นเจ้าของ Musical.ly เต็มตัวแล้ว เป็นการเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดของพวกเขา

ก่อนหน้านั้นสองเดือน ByteDance ได้รับการลงทุนรอบใหม่ซึ่งนำโดย บริษัท General Atlantic ซึ่งเป็นบริษัทของอเมริกันทำให้มูลค่าบริษัทพุ่งสูงขึ้นเป็น 22 พันล้านดอลลาร์

แต่ใครจะรู้ว่า ในอีกหนึ่งปีให้หลัง ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าเป็น 75 พันล้านดอลลาร์ การเดิมพันของ Yiming และ ByteDance ในตลาดวีดีโอสั้น ได้รับผลตอบแทนในระดับที่น้อยคนนักจะใฝ่ฝันถึงมันได้

–> อ่านตอนที่ 8 : Go Beyond China (ตอนจบ)

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube