อันตรายที่แท้จริง ที่ Facebook , Google และการผูกขาดทางเทคโนโลยีกำลังทำลายสังคมของเรา

มนุษย์เราส่วนใหญ่กลัวและเกลียดชังการผูกขาด เพราะมันเป็นการครองตลาดแบบเบ็ดเสร็จและบีบไม่ให้มีการแข่งขัน แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของภูเขาน้ำแข็งของภัยคุกคามที่เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีได้สร้างไว้

ความสามารถในการใช้อำนาจนี้เหนือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีแห่งอนาคต บริษัทเหล่านี้ดำเนินการทั้งแบบผูกขาดและทำลายล้างคู่แข่งให้ไม่เหลือซากในสาขาของตน: Google, Facebook (Meta), Uber, Airbnb, Amazon, X (Twitter), Instagram, Spotify เทคโนโลยีของพวกเขาจะรวมเข้ากับทุกสิ่ง ทุกที่ และทั่วโลก

บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ 4 แห่ง ได้แก่ Amazon, Google, Meta และ Apple มีวิธีการหลายวิธีในการบล็อกบริษัทสตาร์ทอัพที่เป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามของพวกเขา

อย่างแรกคือกลยุทธ์ “ซื้อ” โดยที่พวกเขากลืนกินคู่แข่งมากกว่าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำของตัวเอง หลังจากที่ Amazon ซื้อบริษัทหุ่นยนต์คลังสินค้า Kiva ในปี 2012 บริษัทได้ยกเลิกสัญญาของ Kiva กับผู้ค้าปลีกรายอื่น และดึงเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำออกจากตลาด ซึ่งนำไปสู่การเป็นผู้นำในด้านโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซสำหรับพวกเขาเอง

 Amazon ที่เข้าซื้อบริษัทหุ่นยนต์คลังสินค้า Kiva (CR:Drapers)
Amazon ที่เข้าซื้อบริษัทหุ่นยนต์คลังสินค้า Kiva (CR:Drapers)

การเข้าซื้อกิจการ Instagram ของ Facebook ในปี 2012 เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อสมาร์ทโฟนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น Facebook ถูกแซงหน้าโดยแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อทำงานบนแอป  “การซื้อดีกว่าการแข่งขัน” Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook กล่าว

จากนั้นก็มีกลยุทธ์ “ซื้อและฆ่าทิ้ง” ที่ซึ่งบริษัทขนาดเล็กถูกซื้อกิจการและกำจัดทิ้งไป Facebook ซื้อและฆ่าบริการเครือข่ายสังคมหลายแห่ง รวมถึง Nextstop, Gowalla, Beluga และ Lightbox ระหว่างปี 2007 ถึง 2019 มีบริษัทปิดกิจการอย่างน้อย 39 แห่ง  Microsoft ฆ่าผลิตภัณฑ์ประมาณครึ่งหนึ่งจากที่พวกเขาได้เข้าซื้อกิจการตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2019

Apple ซึ่งมีรายงานว่าซื้อบริษัททุกๆ สามถึงสี่สัปดาห์ กำหนดว่าผู้ใช้ iOS ของตนสามารถติดตั้งแอปได้ผ่าน App Store ของตัวเองเท่านั้น และโดยทั่วไปจะคิดค่าคอมมิชชัน 30 เปอร์เซ็นต์จากนักพัฒนาสำหรับการดาวน์โหลดที่ต้องมีการเสียเงิน

การครอบงำของ Amazon ในการซื้อของออนไลน์ ธุรกิจอิสระหลายแสนรายจึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องขายบนแพลตฟอร์มของ Amazon เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

Amazon ใช้อำนาจไม่เพียงแต่เพื่อติดตามข้อมูลของผู้ขายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์มาแข่งขันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการขูดรีดค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากธุรกิจรายเล็ก ๆ เหล่านี้ด้วย 

ในปี 2019 Amazon เก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขายได้ 60,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 120,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการผูกขาดของ Amazon ต่อไป

สิ่งเหล่านี้คือความลับเบื้องหลังการปฏิวัติดิจิทัล และเหตุผลที่เหล่าสตาร์ทอัพแห่กันไปที่ Silicon Valley ไม่ใช่แค่คำพูดเพ้อฝันที่จะสร้างโลกที่ดีกว่า แต่เป็นเพราะที่นั่นคือที่ที่มีการร่วมทุนอยู่ เงินและความคิดใน Silicon Valley มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกันเป็นอย่างมาก 

แม้แต่ผู้ที่เริ่มมีวิสัยทัศน์และนักประดิษฐ์ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลก็ต้องการเงินเพื่อเอาชีวิตรอด จ่ายค่าเช่าย่าน Bay Area ที่แพงอย่างบ้าคลั่ง และจ้างโปรแกรมเมอร์ที่เก่งที่สุดให้เข้ามาร่วมงานให้จงได้ 

Silicon Valley ใช้เงินเพื่อแลกกับแนวคิดที่เปลี่ยนแปลงโลก แต่การลงทุนนำมาซึ่งความรับผิดชอบใหม่ ไมว่าจะเป็นอัตรากำไรรายไตรมาส และเป้าหมายการเติบโตที่โหดเหี้ยมจากความต้องการของนักลงทุน

ในบางแง่เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือล่าสุดสำหรับเหล่าคนรวยที่จะใช้เทคนิคที่ได้รับการทดสอบอย่างดีในการแสวงหาอิทธิพลทางการเมือง พฤติกรรมผูกขาด และการหลีกเลี่ยงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาร่ำรวยยิ่งขึ้นไปอีก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ได้ปลูกฝังแนวคิดของแคลิฟอร์เนียอย่างระมัดระวัง แม้ว่าพวกเขาจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่มีทีมประชาสัมพันธ์มากมายอยู่แล้วก็ตามที

พวกเขาถูกครอบงำโดยคนผิวขาวที่ร่ำรวย พวกเขาพูดถึงความยุติธรรมทางสังคมและความเท่าเทียมกัน  แต่ในปี 2014 พนักงาน Facebook เพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นคนผิวดำ และไม่ถึงหนึ่งในสามเป็นผู้หญิง 

Facebook เองยังถูกจับได้ว่าให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อมูลผู้ใช้ต่อคณะกรรมาธิการยุโรปในระหว่างการซื้อ WhatsApp และในปีนั้นเอง Zuckerberg กล่าวว่า “ปรัชญาของเราคือ เราจะใส่ใจผู้คนก่อน” 

อิทธิพลที่แพร่หลายของ Google เป็นตัวอย่างที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่มันมากกว่านั้นมาก iPhone และเว็บเบราว์เซอร์ที่พวกเราใช้ได้นำเอาอุดมการณ์ของชาวแคลิฟอร์เนียเผยแพร่ไปยังทั่วโลก ทำให้เราทุกคนติดใจด้วยแนวคิดที่เย้ายวนใจว่าการ disruption คือการปลดปล่อย

iPhone และเว็บเบราว์เซอร์ที่เราใช้ได้นำเอาอุดมการณ์ของชาวแคลิฟอร์เนียเผยแพร่ไปยังทั่วโลก (CR:Everything 2G)
iPhone และเว็บเบราว์เซอร์ที่เราใช้ได้นำเอาอุดมการณ์ของชาวแคลิฟอร์เนียเผยแพร่ไปยังทั่วโลก (CR:Everything 2G)

เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการถึงอนาคตที่ไม่มีโรงเรียนที่เต็มไปด้วย iPads (Apple), ชุดหูฟัง VR (Oculus ที่ Meta เป็นเจ้าของ) และชั้นเรียนออนไลน์ (ที่ดำเนินการโดย Google) หรืออนาคตของอุปกรณ์สุดล้ำตัวใหม่อย่าง Apple Vision Pro

การวิจัยจาก NSPCC พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของเด็กทั้งหมดต้องการประกอบอาชีพด้านเทคโนโลยี สถิติที่น่าหดหู่ยิ่งกว่านั้นคือ 30 เปอร์เซ็นต์หวังว่าจะเป็น YouTuber แต่มีเพียงแค่หนึ่งในล้านที่สามารถเลี้ยงตัวด้วยอาชีพนี้ได้จริง ๆ  

ทุกประเทศต้องการสร้าง Silicon Valley ของตนเอง และทุกเมืองมีความทะเยอทะยานที่จะเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยี หากลองอ่านแถลงการณ์ทางการเมืองจากทั่วทุกมุมโลก แล้วจะพบว่ามันเต็มไปด้วยคำ buzzword ไม่ว่าจะเป็น Smart Cities , Lean Governments และ Flexible Workers

และตอนนี้เราได้เปลี่ยนมุมมองที่ว่าใครกันแน่ที่จะมาแก้ปัญหาสังคมส่วนรวมของเรา? มันไม่ใช่หน้าที่ของรัฐอีกต่อไป แต่เป็นซูเปอร์ฮีโร่แนวเทคโนโลยีล้ำสมัย เฉกเช่น การเดินทางในอวกาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มาพร้อมกับชายที่ชื่อ Elon Musk 

เรามองไปที่ Google เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพ Facebook , X (Twitter) แทบจะเป็นคนตัดสินว่าว่า Free Speech คืออะไร รวมถึงการต่อสู้กับ Fake News ที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงไปเลย ในขณะที่ Jeff Bezos แห่ง Amazon ได้เข้ามาช่วยชีวิต Washington Post จากการล้มละลาย 

หรือกลุ่ม Sharing Economy ที่นำโดย Uber หรือบริการคล้ายคลึงกันอย่าง Grab ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ Airbnb ที่คอยโขกสับกดจนกลุ่มที่พวกเขาเรียกว่าพาร์ทเนอร์ (Rider) แทบจะจมดิน

ชัยชนะโดยรวมของการผูกขาดไม่ได้อยู่เหนือเศรษฐกิจหรือการเมือง มันอยู่เหนือสมมติฐาน ความคิด และอนาคตที่เป็นไปได้ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์นั้น เหล่าบริษัท Big Tech จะไม่ต้องวิ่งเต้นหรือซื้อคู่แข่งอีกต่อไป พวกเขาจะเพียงแค่หลอกหลอนชีวิตและจิตใจของเราจนเราไม่สามารถจินตนาการถึงโลกที่ปราศจากพวกเขาได้อีกนั่นเองครับผม

References :
https://ilsr.org/in-financial-times-the-innovations-we-lose-if-we-dont-break-up-big-tech/
https://hbr.org/2018/03/here-are-all-the-reasons-its-a-bad-idea-to-let-a-few-tech-companies-monopolize-our-data
https://blog.ed.ted.com/2018/10/01/heres-the-real-danger-that-facebook-google-and-the-other-tech-monopolies-pos-to-our-society
https://www.theguardian.com/technology/2021/nov/21/can-big-tech-ever-be-reined-in


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube