ใครจะคิดว่าผลิตภัณฑ์ที่ถูกมองว่าจะกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์เรือธงตัวใหม่จากบริษัท Apple ลูกพี่ใหญ่ในวงการเทคโนโลยี จะพบกับจุดจบรวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ เมื่อ Vision Pro ที่ Tim Cook ต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นแห่งยุคใหม่ของโลกเสมือนจริง กลับต้องพบกับความล้มเหลวครั้งใหญ่
ช่วงต้นปี 2023 วงการไอทีต่างตาลุกวาวกับการเปิดตัว Vision Pro ทุกคนต่างคาดหวังว่านี่จะเป็น iPhone รุ่นใหม่ที่จะมาขีดเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการเทคโนโลยี
แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปี ความเป็นจริงมันก็เริ่มปรากฏชัด ผู้ใช้หลายคนยอมรับว่าไม่ได้แตะต้องอุปกรณ์นี้อีกเลย เพราะมีแอปให้ใช้งานน้อยมาก จนทำให้ความตื่นเต้นที่เคยมีค่อย ๆ มลายหายไป
Apple เคยเป็นที่เชิดหน้าชูตาในฐานะผู้ผลิตสินค้าระดับเทพ ฉายาแบรนด์หรู มุ่งเป้าไปที่ลูกค้าที่พร้อมควักเงินเพื่อแลกกับสินค้าคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็น iPhone ที่สง่างาม iPad ที่โครตเจ๋ง หรือ MacBook ที่ฟีเจอร์ครบเครื่อง
ทั้งหมดนี้เป็นผลงานที่ถูกสร้างสรรค์โดย Steve Wozniak และ Steve Jobs รวมถึงทีมงานดรีมทีมของ Apple ในยุคหลังที่นำโดยสุดยอดนักออกแบบอย่าง Jony Ive ซึ่ง Apple ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ราคาแพงมันดูคุ้มค่าและทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าสิ่งที่จ่ายไปนั้นมัน make sense
แต่น่าเสียดายที่ Vision Pro กลับไม่สามารถรักษาเอกลักษณ์นี้ไว้ได้ ด้วยราคา 3,499 ดอลลาร์ที่ถือว่าเป็นราคาที่แพงมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Meta Quest และแว่น Meta Ray-Ban รุ่นใหม่ที่ถูกกว่าเยอะ
ด้วยราคานี้คุณสามารถซื้อ MacBook Pro รุ่น M3 Max จอ 16 นิ้ว พร้อม RAM 36GB และพื้นที่เก็บข้อมูล 1TB ได้เลย ซึ่งให้ฟีเจอร์มากกว่า 10 เท่า อายุการใช้งานยาวนานกว่า และตอบโจทย์ทุกความต้องการได้ดีกว่าเยอะ
Vision Pro มีแอปที่รองรับเพียง 12 แอป เทียบกับ iPad รุ่นแรกในปี 2010 ที่มีถึง 3,000 แอป ที่สำคัญคือไม่รองรับแอปยอดฮิตอย่าง Netflix และ Spotify ซึ่งเป็นจุดด้อยใหญ่ตั้งแต่เริ่มต้น
สิ่งสำคัญของอุปกรณ์ Virtual Reality คือการสร้างประสบการณ์ที่น่าดื่มด่ำ แต่เมื่อมีแอปให้ใช้น้อยจนเกินไป ปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก ใช้งานได้แค่ 2 ชั่วโมงก็หมดเกลี้ยง การติดตั้งก็ดูไม่มั่นคง เพิ่มน้ำหนักให้อุปกรณ์ และเสี่ยงที่จะกระแทกหากผู้ใช้หมุนศีรษะเร็วไป
น้ำหนัก 600-650 กรัม ทำให้รู้สึกเจ็บปวดบริเวณโหนกแก้มหลังสวมใส่ไม่นาน อาจเกิดรอยช้ำหากไม่ปรับตำแหน่งบ่อยๆ สายรัดรอบศีรษะก็สร้างความรำคาญมากกว่าจะช่วยเหลือผู้ใช้
แม้จะมีสายรัด Solo Knit Band ให้ซื้อเพิ่ม แต่ก็ต้องควักเงินเพิ่มอีกมากโข ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอดมากกว่าจะแก้ปัญหาจริงๆ
การใช้งานยังมีข้อจำกัดที่น่าปวดหัวอีกเพียบ ต้องสแกนใบหน้าเพื่อปรับความพอดีกับซีลกันแสง 28 แบบ ใช้งานได้เพียงผู้ใช้คนเดียว หากต้องการให้เพื่อนหรือญาติใช้ก็มีข้อจำกัดในการเข้าถึง
ไม่รองรับการเชื่อมต่อ FaceTime โดยอัตโนมัติ พิมพ์ภาษาอื่นนอกจากภาษาอังกฤษไม่ได้ ใช้งานได้เฉพาะกับผลิตภัณฑ์ Apple เท่านั้น และไม่มีพอร์ต USB สำหรับเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ เรียกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนไปหมด
Apple เคยคาดการณ์ยอดขาย Vision Pro ไว้ที่ 800,000 เครื่องในปีแรก แต่ปัญหาด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทานทำให้ไม่สามารถทำได้ตามเป้า
เมื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ Vision Pro ก็ไม่ได้รับความสนใจเหมือนเดิม ทำให้ต้องลดการคาดการณ์เหลือเพียงแค่ 400,000 เครื่อง พนักงานคนหนึ่งเปิดเผยว่ามีการระงับการผลิตชิ้นส่วนในเดือนพฤษภาคม คาดว่าการผลิตจะยุติลงภายในเดือนพฤศจิกายน 2024
Tim Cook ออกมายอมรับว่า Vision Pro เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ใช้กลุ่มแรก (early adopter) ที่ต้องการเทคโนโลยีล้ำสมัย และบริษัทวางแผนที่จะชะลอการผลิตรุ่นที่ 2 ออกไป แผนในอนาคตคือจะผลิตรุ่นที่ถูกลงและพัฒนาขึ้นในปี 2027 และอาจพัฒนาคอนแทคเลนส์คอมพิวเตอร์ในปี 2030
ความล้มเหลวของ Vision Pro อาจกลับเป็นเรื่องดี เพราะสังคมยุคดิสโทเปียที่ทุกคนเสียบปลั๊กและต้องอยู่กับการกระตุ้นประสาทสัมผัสตลอดเวลา และอยู่ในจักรวาลอันแสนโดดเดี่ยวของตัวเอง ดูจะเป็นสถานการณ์แบบซีรีส์ชื่อดังอย่าง Black Mirror ที่น่าสะพรึงกลัวไม่ใช่น้อย
หากคิดว่าปัจจุบันคนติดโทรศัพท์มือถือมากแล้ว ลองจินตนาการดูว่าจะติดมากแค่ไหนหากมีจักรวาลในอุดมคติที่สร้างขึ้นมาตามรสนิยมของแต่ละคน เหมือนต้องมนต์สะกด ไม่ต่างจากสิ่งเสพติดที่ยากจะถอนตัวออกมา
ความล้มเหลวของ Vision Pro แสดงให้เห็นว่าสาธารณชนโดยทั่วไปปฏิเสธแนวคิดนี้ และอาจเป็นสัญญาณว่าเทคโนโลยีควรขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน ไม่ใช่แยกพวกเขาออกจากกัน
บทเรียนราคาแพงครั้งนี้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ Apple และบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ต้องหันมาทบทวนการพัฒนานวัตกรรมที่จะสร้างประโยชน์ให้กับมนุษยชาติอย่างแท้จริง แทนที่จะหลงระเริงไปกับความฝันที่ไม่อาจเป็นจริง