16 ปีคลื่นยักษ์สึนามิ กับประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครที่ไม่เคยลืมเลือน

วันเวลาช่างผ่านมาได้รวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ กับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ที่คนไทยไม่เคยลืมกับเหตุการณ์ในวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2547 ที่คลื่นยักษ์ได้ซัดเข้าชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน

เป็นเหตุการณ์ที่โดยส่วนตัวก็ไม่เคยลืมเลือนจางหายไปจากความทรงจำของตัวเอง เนื่องจากในตอนนั้นในขณะที่ยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย น่าจะเป็นช่วงชั้นปีที่ 3 ได้มีโอกาสรับอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในห้วงเวลาดังกล่าว

ด้วยความที่ตอนนั้นยังเป็นเด็กหนุ่มที่ไฟแรง และ มีการประกาศจากทางภาควิชาเพื่อหาตัวแทนอาสาสมัครเพื่อไปที่แนวหน้า บริเวณที่เหตุการณ์ค่อนข้างหนักที่สุดในประเทศไทย คือที่เขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

ตอนนั้นยอมรับว่า ไม่ได้นึกภาพเหตุการณ์จริง ๆ เห็นแต่ทางช่องข่าวสารต่าง ๆ และคิดว่าหากไปเป็นอาสาสมัครราว ๆ 1 อาทิตย์ ก็ไม่ต้องเข้าเรียน ก็เลยคิดแบบเด็ก ๆ ในยุคนั้น เลยขอไปสนุก ๆ กับเพื่อน ๆ พี่ จะดีกว่าเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย

ตอนนั้นเหตุการณ์ผ่านไปราว ๆ เกือบ 1 อาทิตย์ ซึ่งมีอาสาสมัครชุดแรกที่ได้ออกไป ได้เดินทางกลับมาเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ จากพวกเขาบ้างพอสมควร ต้องบอกว่างานของอาสาสมัครชุดแรกนั้นโหดไม่ใช่น้อย ต้องไปคอยจัดการกับศพ ออกพื้นที่กับหน่วยกู้ภัย ที่บริเวณวัดย่านยาว อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

ผมโชคดีที่ได้เข้าไปเป็น Group ที่สอง ที่ต้องบอกว่างานหนัก ๆ ในช่วงแรก ๆ นั้นได้ผ่านพ้นไปหมดแล้ว

ตอนนั้นพวกเราเดินทางด้วยรถตู้ของมหาวิทยาลัยด้วยกันราว 10 ชีวิต ซึ่งเป็นเพื่อน ๆ กลุ่มที่ซี้ ๆ และรุ่นพี่อีกคนที่มีบ้านอยู่จ.พังงา แถว ๆ วัดย่านยาว อ.ตะกั่วป่าพอดิบพอดี จึงได้ไปอาศัยหลับนอนที่นั่นในช่วงที่เราต้องไปทำงานกัน

ต้องบอกว่า เมื่อเดินทางไปถึง ภาพในทีวีนั้นต่างจากภาพสถานที่จริงอย่างสิ้นเชิง รถจากอาสาสมัครที่ติดยาวหลายกิโลเมตร เพื่อเข้าไปยังพื้นที่หลักในวัดย่านยาว บรรยากาศมันช่างหดหู่เสียยิ่งกะไร

เมื่อเดินทางถึงบ้านของรุ่นพี่ ที่ต้องบอกว่าอยู่ไม่ไกลจากวัดย่านยาวมากนักนั้น สิ่งแรกที่สัมผัสได้อย่างชัดเจน คือ กลิ่น เพราะเป็นกลิ่นที่แรงมาก ๆ และตัวผมเองก็ไม่เคยประสบพบเจอกลิ่นแบบนี้มาก่อน มันเป็นกลิ่นของศพหลายร้อย หลายพันศพ ที่มาจากวัดย่านยาว ห่างกันไม่ถึง 500 เมตรจากบ้านพักของรุ่นพี่ที่เราไปอาศัยอยู่

เช้าวันรุ่งขึ้น เราก็ได้เริ่มทำงานกันจริง ๆ จัง เสียที เริ่มต้นด้วยการที่ทีมงานพาไปดูสถานที่เกิดเหตุที่วิกฤติที่สุดในตอนนั้นอย่าง บริเวณเขาหลัก อ.ตะกั่วป่า ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลนักจากวัดย่านยาวสถานที่ทำงานหลัก

พอได้เห็นภาพจริง ๆ ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงมีผู้เสียชีวิตมากมายขนาดนั้น ในบริเวณดังกล่าว เพราะเป็นพื้นที่แอ่งที่มีเขาล้อมรอบ ที่หนียังไงก็หนีไม่พ้น สภาพของเรือตรวจการณ์ลำยักษ์ที่ถูกพัดมาจนถึงริมเขา ยังเป็นภาพติดตามาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากนั้นเราก็ได้เริ่มเข้าไปปฏิบัติงานจริง ๆ ครั้งแรกที่วัด ตอนนั้นสถานการณ์เริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว ไม่วุ่นวาย เหมือนในช่วงที่ทีม Group แรกได้ประสบพบเจอมา แต่ก็เต็มไปด้วยญาติพี่น้องของผู้สูญหายที่มาตามหาพวกเขาด้วยอารมณ์ที่น่าเศร้าและน่าหดหู่เป็นอย่างยิ่ง

ยังมีการแบกศพเข้ามาเรื่อย ๆ อยู่ ในตอนที่ผมเข้าไป แต่ก็ไม่มากเท่าช่วงแรก ๆ เราใช้เวลาเพียงแค่ครึ่งวัน ก็สามารถปรับตัวได้กับกลิ่นแรงมาก ๆ ของศพที่เต็มวัด แม้จะมีการบรรจุเข้าโลงไปเกือบหมดแล้วก็ตามที

ตอนนั้นทีมงานหลักคือทีมงานของหมอพรทิพย์ งานแรกที่ทีมเราต้องไปช่วยทำ คือการสร้างฐานข้อมูล เพื่อทำการเก็บข้อมูลของผู้สูญหายและเสียชีวิต ทีมเราพอดีเป็นทีมจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เลยเข้าไปช่วยเหลือในส่วนนี้ ตอนแรกยังจำได้ว่าใช้เพียงแค่ฐานข้อมูล Microsoft Access ง่าย ๆ เท่านั้น

รายละเอียด ที่เราต้องคีย์เข้าไปในฐานข้อมูลนั้น เป็นรายละเอียดที่พบศพ เช่น บริเวณที่พบ หรือ บางคนอาจจะมีบัตรประชาชนอยู่ ที่สามารถระบุตัวตนได้ เราก็ key เข้าไปเพื่อเก็บข้อมูล เพื่อให้ฝั่งด้านหน้าสำหรับญาติ มาค้นหาได้ง่ายขึ้น

แต่ปัญหาที่พบในตอนนั้นก็คือ ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ได้มา เป็นการเขียนด้วยลายมือ ทำให้บางอย่างมันอ่านไม่ออก เป็นลายมือจากหน่วยกู้ภัยที่ไปพบศพ และ ทำการเขียนเข้ามา เราก็ใช้เวลาอย่างมากในการพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่พวกเขาเขียนมา

เพื่อนบางคนที่มีร่างกายกำยำหน่อย ก็ไปช่วยในการแบกศพบ้าง ซึ่งสถานการณ์ในตอนนั้น เริ่มมีอาสาสมัครมามากขึ้น ทั้งไทยและต่างชาติ ทำให้ไม่ได้เป็นงานหนักมากนักเหมือนที่ทีมชุดแรกต้องประสบพบเจอ

ที่นั่นอาหารการกินค่อนข้างดี เพราะมีการบริจาคมาให้อาสาสมัครจำนวนมาก เรียกได้ว่า แบรนด์หลาย ๆ แบรนด์ส่งอาหารมาให้อย่างเต็มที่ รวมถึงมีบริการนวดผ่อนคลายให้เหล่าอาสาสมัครอยู่ตลอดเวลา

ทำงานแรกได้ประมาณ 1-2 วัน ผมก็ถูกสั่งให้ไปช่วยทำอีกงาน เป็นงานระบุหาสิ่งต่าง ๆ ของศพ เพื่อคอยช่วยเป็นข้อมูลเสริม เพื่อให้ญาติสามารถหาเจอได้ง่ายยิ่งขึ้น

วิธีการก็คือ เราจะได้ภาพศพมาแต่ละศพ ที่ถูกอัพโหลดลงในคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้น เราก็จะใช้โปรแกรม Photo Editor ง่าย ๆ (ตอนนั้นผมจำไม่ได้ว่าใช้โปรแกรมอะไร) เราก็มีหน้าที่คอย Zoom ดูรายละเอียดต่าง ๆ ของศพ และ key ข้อมูลว่าเจออะไรบ้าง

เช่น แหวน ต่างหู สร้อย สิ่งต่าง ๆ ที่ติดตัวอยู่กับศพ เพราะตอนนั้นภาพส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นชาวต่างชาตินั้น เมื่อศพบวมน้ำ ทำให้ร่างกายขยายค่อนข้างใหญ่มาก ๆ ทำให้มันค่อนข้างที่จะระบุอะไรได้ยากมาก ๆ เราต้องอาศัยการ Zoom ดูอย่างละเอียด บางครั้งคิดว่าเป็นต่างหู แต่กลับเป็นหนอน ซะอย่างงั้น

ส่วนประสบการณ์ในเรื่องสิ่งเล้นลับ หรือ ผี นั้น ก็ต้องบอกว่าทุกคนที่มาทำงานเมื่อกลับมาพัก หลับเป็นตาย แต่ฟังจากหลายคนก็มีประสบพบเจอกันบ้าง เพราะที่เราพักนั้นอยู่ใกล้วัดมาก มีคนได้ยินเสียงแปลก ๆ ตอนกลางคืนอยู่บ่อย ๆ เหมือนกัน

เมื่อจบ 1 อาทิตย์ เรียกได้ว่า เป็นประสบการณ์ที่ผมไม่มีวันลืมเลย ยังจำภาพต่าง ๆ มาได้จวบจนถึงทุกวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าอย่างนึง ที่ครั้งนึงเคยได้เข้าไปเป็นอาสาสมัครในเหตุการณ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง สึนามิ ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น และอย่างน้อยก็ได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนนึงที่ช่วยให้เหล่าญาติ ๆ ได้ตามหาผู้สูญหายได้ง่ายดายยิ่งขึ้น นั่นเองครับผม

อ่านมาถึงตอนนี้ ใครมีโอกาสได้เข้าไปเป็นอาสาสมัครที่นั่นกันบ้าง? หรือประสบพบเจออยู่ร่วมกับเหตุกาณ์ดังกล่าว เล่าประสบการณ์ให้ฟังกันบ้างนะครับผม

Credit Image : https://www.springnews.co.th/society/588257