Geek Monday EP62 : The Social Dilemma กับอำนาจอันเหลือล้นของบริษัทเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตของมนุษยชาติ

ต้องบอกว่าเป็นสารคดีชุดใหม่ของ Netflix ที่ทุกคนไม่ควรพลาดทั้งปวงกับ The Social Dilemma ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในทุกวันนี้ ที่กำลังมีอำนาจควบคุมสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผลโดยตรงต่ออนาคตของมนุษยชาติทั้งปวง

เป็นการถ่ายทอดผ่านอดีตพนักงาน ทั้งวิศวกร นักออกแบบ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของ Silicon Valley ไม่ว่าจะเป็น Facebook , Google , Instragram , Pinterest , Youtube , Twitter ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกเราแทบจะทั้งสิ้น

มีการดำเนินเรื่องที่เป็นจุดหลักก็คือ อดีตพนักงานฝ่าย Design Ethicist ของ Google อย่าง ทริสทัน แฮร์ริส ที่เห็นปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ๆ และเห็นว่าโลกของเราในปัจจุบันนั้นมันผิดเพี้ยนไปหมดแล้ว แล้วอดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกเทคโนโลยีในตอนนี้มันปรกติจริงหรือ?

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ 

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/3iqhOBy

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/2lEqPPg

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
http://bit.ly/2kxHtQ3

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/2GXR11x

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/pjgKJsFJ_JA

The Social Dilemma กับอำนาจอันเหลือล้นของบริษัทเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตของมนุษยชาติ

ต้องบอกว่าเป็นสารคดีชุดใหม่ของ Netflix ที่ทุกคนไม่ควรพลาดทั้งปวงกับ The Social Dilemma ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในทุกวันนี้ ที่กำลังมีอำนาจควบคุมสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผลโดยตรงต่ออนาคตของมนุษยชาติทั้งปวง

เป็นการถ่ายทอดผ่านอดีตพนักงาน ทั้งวิศวกร นักออกแบบ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของ Silicon Valley ไม่ว่าจะเป็น Facebook , Google , Instragram , Pinterest , Youtube , Twitter ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกเราแทบจะทั้งสิ้น

ถือเป็นสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องใหญ่ ๆ ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความเป็นไปในสังคมโลกแทบจะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข่าวปลอม ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหมู่เครือข่าย Social Network

การเมืองระดับโลกที่ Social Network กำลังมีบทบาทที่สำคัญต่อการกำหนดความเป็นไปของสถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกเรา ไมว่าจะเรื่องสงครามก่อการร้าย การเลือกตั้งในแทบจะทุกประเทศ แม้กระทั่งการให้ข้อมูลผิด ๆ ในเรื่องสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะโลกร้อน การเหยียดผิวแบบสุดโต่ง โรคระบาดอย่าง COVID-19 ข่าวปลอมเรื่องทางการเมือง การใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่งทางการเมือง ที่มีอยู่ในทุก ๆ แห่งทั่วโลก

มีการดำเนินเรื่องที่เป็นจุดหลักก็คือ อดีตพนักงานฝ่าย Design Ethicist ของ Google อย่าง ทริสทัน แฮร์ริส ที่เห็นปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ๆ และเห็นว่าโลกของเราในปัจจุบันนั้นมันผิดเพี้ยนไปหมดแล้ว แล้วอดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกเทคโนโลยีในตอนนี้มันปรกติจริงหรือ?

และเขาก็ได้พยายามส่งสัญญาณถึงบริษัท Google แล้วเมื่อครั้งที่เขายังคงเป็นพนักงานอยู่ แต่ดูเหมือนระดับผู้บริหาร รวมถึงผู้ก่อตั้งจะไม่สนใจปัญหาที่เขายกขึ้นมาเลยเสียด้วยซ้ำ

สิ่งแรกที่สารคดีเรื่องนี้กล่าวถึงได้อย่างน่าสนใจก็คือ ในยุคปัจจุบัน เราไม่ได้เป็นผู้จ่ายเงินสำหรับผลิตภัณฑ์ออนไลน์ที่เราใช้อีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็นเหล่าผู้ลงโฆษณาต่างหากที่จ่ายแทนเรา

ซึ่งหมายความว่า หากเราไม่ได้เป็นจ่ายเงินเพื่อซื้อบริการเหล่านี้ในโลกออนไลน์ นั่นมันทำให้เรากลายเป็นสินค้าแทนนั่นเอง ข้อมูลทุกอย่างของตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมการซื้อของ สิ่งที่เราชอบ คลิปวีดีโอที่เราดู สถานที่ที่เราเดินทางไปแต่ละแห่ง ทุกสิ่งเหล่านี้มันได้กลายเป็นสินค้าให้กับเหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้แทนนั่นเอง

แน่นอนว่า บริษัทเหล่านี้กำลังแข่งกันดึงดูดความสนใจของเราให้อยู่กับแพล็ตฟอร์มของพวกเขาให้นานที่สุด โมเดลธุรกิจของพวกเขา ก็คือ การดึงให้ผู้คนติดอยู่กับหน้าจอตลอดเวลาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และความพยายามชักจูงเรา ความคิดของเรา และ สิ่งที่เราเป็น โดยการปรับพฤติกรรมเราทีละเล็กละน้อยแบบค่อยเป็นค่อยไป ในพฤติกรรมและการรับรู้ของเราทุกคน นั่นแหละ คือ สิ่งที่เรียกว่า สินค้าชั้นยอดเลยทีเดียว

มันคือตลาดรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนของมนุษยชาติเราตั้งแต่การกำเนิดขึ้นของโลกเรามานับล้าน ๆ ปี เป็นตลาดที่ขายอนาคตของมนุษย์เรา ซึ่งตลาดนี้ นี่เองที่ทำเงินให้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ได้นับล้านล้านดอลลาร์ ส่งผลให้บริษัทอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย กลายเป็นบริษัทที่ร่ำรวยที่สุด

ต้องบอกว่า ในยุคปัจจุบันนั้น สิ่งต่าง ๆ ที่เรากระทำบนโลกออนไลน์ ล้วนถูกจับจ้อง ถูกตามรอย ถูกประเมิน ทุก ๆ การกระทำที่เราได้ทำไป ล้วนถูกจับตาดูด้วยความระมัดระวัง และบันทึกไว้

ไม่ว่าจะเป็นภาพใดบ้าง ที่เราหยุดมอง และมองมันนานแค่ไหน ข้อมูลเหล่านี้ทำให้บริษัทเทคยักษ์ใหญ่รู้ถึงขนาดที่ว่า ตอนไหนที่ใครเหงา พวกเขาสามารถรู้ได้ว่าตอนไหนที่ใครซึมเศร้า เป็นคนชอบเก็บตัว หรือ เข้าสังคม มีอาการทางประสาทชนิดใด ซึ่งพวกเขามีข้อมูลเกี่ยวกับเรามากยิ่งกว่า ที่ใครจะเคยคาดคิดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

และที่สำคัญข้อมูลเหล่านี้นั้น ได้ถูกนำไปวิเคราะห์อยู่แทบจะตลอดเวลา โดยจะถูกนำป้อนเข้าสู่ระบบ ซึ่งแทบจะไม่มีมนุษย์คอยควบคุมมันอยู่เลยด้วยซ้ำ ซึ่งพลังของเทคโนโลยี AI Machine Learning ที่อยู่เบื้องหลังระบบเหล่านี้ ทำให้มันคาดการณ์ได้แม่นยำมาขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเราจะทำอะไร และ เราเป็นใคร

พลังของเทคโนโลยี AI Machine Learning ที่ทำให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
พลังของเทคโนโลยี AI Machine Learning ที่ทำให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นในการคาดการณ์

พวกเขาได้สร้างโมเดล ที่คาดเดาการกระทำของเรา ตัวอย่างเช่น เรามักจะเห็นว่า ระบบเหล่านี้สามารถที่จะทำนายได้ว่า วีดีโอแบบไหนที่จะทำให้เราต้องดูต่อไป และถูกผูกติดกับแพล็ตฟอร์มของพวกเขาไปเรื่อย ๆ แม้กระทั่งเรื่องของอารมณ์ ที่ระบบพวกนี้สามารถทำนายได้ว่า อารมณ์แบบไหนที่สามารถกระตุ้นเราได้

ต้องบอกว่าบริษัทเทคโนโลยีพวกนี้ นั้น พวกเขามีเป้าหมายหลักอยู่ 3 ประการ ก็คือ หนึ่งคือ เป้าหมายด้านการมีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มการใช้งาน และเพื่อให้เรานั้นเลื่อนหน้าจอต่อไป สองคือ เป้าหมายด้านการเติบโต เพื่อคอยดึงเรากลับมา และทำให้เราต้องชวนเพื่อนของเรามาให้ได้มากที่สุด และสุดท้ายก็คือ เป้าหมายด้านการโฆษณา เพื่อให้แน่ใจว่า ขณะที่สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นนั้น พวกเขาสามารถทำเงินได้มากขึ้นจากการโฆษณานั่นเอง

และพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการจะบรรลุเป้าหมาย 3 ประการข้างต้นได้นั่นคือ เหล่าบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ลงทุนเงินมหาศาล ในการสร้างเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการชักจูงคนได้มากยิ่งขึ้น

ซึ่งเทคโนโลยีการชักจูงนั้น มีการสร้างเป็นหลักสูตรสอนอย่างเป็นจริงเป็นจัง แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยอย่างสแตนฟอร์ดเองที่ มีเหล่าพนักงานของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้เข้ามาเรียน เพื่อจะสร้างวิธีการออกแบบยังไงที่จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้เป็นไปในอย่างที่พวกเขาต้องการได้มากที่สุด

ตัวอย่างนึงที่น่าสนใจก็คือ Facebook ได้ทำสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “การทดลองการแพร่ระบาดระดับใหญ่” ในการทำให้คนไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งกลางเทอมมากขึ้นได้อย่างไร

และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ พวกเขาพบว่า พวกเขาสามารถทำแบบนั้นได้ ซึ่งทำให้พวกเขาได้ข้อสรุปที่สำคัญก็คือ ระบบของพวกเขานั้นสามารถสร้างผลกระทบ ต่อพฤติกรรมในโลกแห่งความเป็นจริง และความรู้สึกจริงของมนุษย์ได้ โดยที่ผู้ใช้งานแทบจะไม่รู้ตัวเลยเสียด้วยซ้ำ

พวกเขามีทีมวิศวกรยอดอัจฉริยะ ที่มีหน้าที่ในการ Hack จิตวิทยาของมนุษย์ โดยใช้วิธีการที่จะเจาะลึกลงไปในก้านสมองของเรา และทำการปรับเปลี่ยนนิสัยบางอย่างในตัวเราจากข้างใน และสุดท้ายก็สามารถป้อนคำสั่งเราได้ ในระดับที่ลึกลงไป โดยที่เราแทบจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ และนั่นคือการที่พวกเขากำลังใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของจิตใจมนุษย์นั่นเอง

แต่ที่น่าสนใจคือ สำหรับวัยเด็กแล้วนั้น การกระทำเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่ ดึงความสนใจของเขาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ Social Media ได้เริ่มเจาะลึกเข้าไปเรื่อย ๆ ในก้านสมองของพวกเขา และทำการเข้ายึดอัตลักษณ์ กับความรู้สึกว่าตัวเองมีค่าของเด็ก ๆ

และนี่เองที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ ตามมา จากงานวิจัยพบว่าวัยรุ่นอเมริกัน มีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้า และความหวาดวิตกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2011 และ 2013

จากจำนวนเด็กสาววัยรุ่นจาก 100,000 คนของประเทศ ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุก ๆ ปี เนื่องจากการกรีดข้อมือตัวเอง หรือไม่ก็ทำร้ายตัวเอง ซึ่งต้องบอกว่าก่อนหน้านี้เรื่องราวเหล่านี้มันเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างคงที่

จนกระทั่งถึงช่วงปี 2010 และ 2011 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ที่ทำให้ยอดพุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีตัวเลขที่น่าสนใจว่า สำหรับเด็กผู้หญิงที่มีวัยที่โตกว่า (อายุ 15-19 ปี) นั้น ยอดสูงขึ้น 62% แต่ เด็กวัยรุ่นก่อนวัยสาว (อายุ 10-14 ปี) มันได้สูงขึ้นกว่า 189%

และที่น่ากลัวยิ่งกว่า คือ ได้เกิดขึ้นของรูปแบบการฆ่าตัวตาย สำหรับเด็กผู้หญิงที่มีวัยที่โตกว่า (อายุ 15-19 ปี) ที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้น 70% และที่น่าสนใจก็คือสำหรับเด็กที่เป็นวัยรุ่นก่อนวัยสาว (อายุ 10-14 ปี) ที่ก่อนหน้านี้ปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายแทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ กลับมีตัวเลขที่สูงขึ้นถึง 151%

และรูปแบบ pattern ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น มันชี้ชัดมาที่การเกิดขึ้นของ Social Media ที่เริ่มใช้งานบนมือถือได้ในปี 2009 นั่นเอง นั่นเป็นสาเหตุให้เด็กยุค Gen Z ที่เกิดหลังปี 1996 เป็นต้นมา เป็นเด็กยุคแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เราที่ได้ใช้ Social Media ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมต้น

ซึ่งอย่างที่เราได้รู้กันว่าเด็กยุค Gen Z นั้น ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่เมื่อพวกเขากลับจากโรงเรียน พอถึงบ้านก็จับอุปกรณ์มือถือเหล่านี้ และเสพติดกับการอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่า มันทำให้เด็กรุ่นนี้ วิตกกังวลมากกว่า เปราะบางกว่า และ ซึมเศร้ามากกว่า พวกเขาพร้อมรับความเสี่ยงจากเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตน้อยลงไปมากเมื่อเทียบกับคนยุคอื่น

เด็กยุคใหม่กับปัญหาสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น
เด็กยุคใหม่กับปัญหาสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น

และเรื่องใหญ่ที่สุดอย่างนึกที่กำลังเป็นที่วิตกกังวลกับคนทั่วโลกนั่นก็คือ เรื่องของข่าวปลอม ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาจากผลประโยชน์เชิงพาณิชย์แทบจะทั้งสิ้น บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ทำการสร้างระบบที่โน้มเอียงเข้าหาข้อมูลปลอมเพิ่มมากขึ้น

มีงานวิจัยของ MIT ที่บอกว่าข่าวปลอมใน Twitter แพร่กระจายเร็วกว่าข่าวจริงถึง 6 เท่า ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสนใจมาก ๆ ลองจินตนาการถึงโลกที่มีข่าวปลอมกระจายไปไวกว่าข่าวจริง 6 เท่า โลกของเราจะมีหน้าตาอย่างไร

และมีการยกตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ หากเราเข้า Google และค้นหาคำว่า “ภาวะโลกร้อน” เราจะได้เห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เราอาศัยอยู่ ในบางเมืองนั้นอาจจะมีการแนะนำคำค้นหาว่า “ภาวะโลกร้อนคือเรื่องลวงโลก” แต่ในบางสถานที่ เราจะได้เห็นการแนะนำคำค้นหาว่า “ภาวะโลกร้อนทำให้ธรรมชาติพังทลาย”

ซึ่งจุดสำคัญก็คือ เมื่อเทคโนโลยีอยู่บนพื้นฐานของเรื่องการสร้างรายได้ เพราะฉะนั้นกลไกเบื้องหลังของอัลกอริธึมเหล่านี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความจริงในเรื่องภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด มันอยู่ที่ เรื่องต่าง ๆ ที่ Google รู้เกี่ยวกับความสนใจของเราต่างหาก

ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีทุก ๆ แห่งก็ทำในสิ่งเดียวกัน พวกเขาไม่ได้สนใจในเรื่องความจริง พวกเขาสนใจแค่ว่าเนื้อหาใด ๆ นั้นเหมาะกับใครมากที่สุด และทำเงินให้พวกเขามากที่สุดนั่นเอง

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงจะเป็น Feed ในหน้า Social Network อย่าง Facebook ที่แต่ละคนนั้นจะได้เห็น Feed ข้อมูลที่ต่างกันคนละโลก แม้จะเป็นเพื่อนสนิทกันและมีกลุ่มเพื่อนเดียวกันก็ตามที แต่โลกที่เราเห็นในหน้าจอนั้นมันแตกต่างกันสิ้นเชิง

ซึ่งแน่นอนเมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะอาจจะเข้าใจผิดว่า ทุกคนเห็นตรงกันกับเราแทบจะทั้งหมดผ่าน Feed หน้าจอที่เราได้รับจากความสนใจของเรา และเมื่อเราอยู่ในภาวะนั้น เราจะถูกชักจูงได้ง่ายมาก ๆ

ซึ่งตัวอย่างเรื่องการเมืองในประเทศเราน่าจะเป็น Case Study ที่แสดงให้เห็นถึงหลักการนี้ได้อย่างชัดเจนมาก ๆ เมื่อเราฝังตัวอยู่ในกลุ่มการเมืองฝั่งนึง ก็จะทำให้เราได้อยู่ในอีกโลกนึงที่แทบไม่ได้รับข้อมูลจากอีกฝั่งเลย และจะเริ่มคิดว่า ทำไมคนกลุ่มตรงกันข้ามนั้นโง่จัง ซึ่งความจริงแล้ว ทั้งสองฝั่งนั้นคิดในแบบเดียวกันเลยว่าทำไมฝั่งตรงข้ามนั่นโง่จัง เพราะทั้งสองฝั่งนั้นไม่ได้เห็นชุดข้อมูลเดียวกันนั่นเอง

Fake News กับอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความแตกแยกในสังคม
Fake News กับอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความแตกแยกในสังคม

และนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะที่มีการใช้งานแพล็ตฟอร์ม Facebook กันอย่างแพร่หลาย เพราะ Facebook เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุด โดยเฉพาะในการหาเสียงเลือกตั้ง มีตัวอย่างในประเทศ บราซิล ที่ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีนั้นใช้ Facebook เป็นสื่อหลักในการหาเสียงเลือกตั้ง

ต้องบอกว่าบริษัทเทคยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้สร้างเครื่องมือ ที่ทำลายเสถียรภาพ และกัดกร่อนสายใยในสังคม ในทุกที่ทุกประเทศอย่างพร้อมเพรียงกัน ไม่ว่าจะเป็น ที่เยอรมัน สเปน ฝรั่งเศส บราซิล ออสเตรเลีย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีความเจริญแล้วแทบจะทั้งสิ้น

หรือแม้กระทั่งข่าวใหญ่อย่างการแทรกแซงการเลือกตั้งในปี 2016 จากรัสเซีย (ที่ประเทศพวกเขาไม่ได้เล่น Facebook เป็นแพล็ตฟอร์มหลัก) ต้องบอกว่าการชักจูงของบุคคลที่สามนั้นไม่ใช่การแฮก รัสเซียไม่เคย hack facebook

แต่สิ่งที่พวกเขาทำคือการใช้เครื่องมือที่ Facebook สร้างขึ้นสำหรับผู้ลงโฆษณาที่ถูกกฏหมาย และผู้ใช้งานที่ถูกกฏหมายทุกอย่าง และพวกเขาก็ประยุกต์มันเพื่อจุดมุ่งหมายในด้านการเมืองนั่นเอง และมันทำให้ประเทศหนึ่งสามารถชักจูงประเทศหนึ่งได้โดยแทบจะไม่ต้องรุกรานพรมแดนกันเหมือนในอดีตอีกต่อไป

แม้ต้องบอกว่าโลกเราผ่านการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ มานับไม่ถ้วน สื่อต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ การเข้ามาถึงของอินเทอร์เน็ต รวมถึงโลกของ Social Media

ซึ่งก็มักจะมีคำพูดว่า มนุษย์เราจะสามารถที่จะปรับตัวเข้ากับมันได้ในท้ายที่สุด และจะเรียนรู้วิธีใช้ชีวิตกับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ในท้ายที่สุด เหมือนที่เราได้เคยเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตกับอย่างอื่นที่เคยผ่านมาในแต่ละยุคสมัย

แต่สิ่งที่เราไม่ได้คาดคิดถึงก็คือ เมื่อก่อนเทคโนโลยีบางอย่างมันไม่ได้ล้ำหน้าเหมือนในทุกวันนี้ ต้องบอกว่าเรื่องอันตรายที่สุด ก็คือความจริงที่ว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้นั้นมันได้ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปกว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก

และสิ่งที่สำคัญที่สุดของเทคโนโลยีในยุคนี้นั่นก็คือ ความสามารถในการประมวลผล ซึ่ง ถ้าเทียบกับยุคแรกของการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์นั้น ต้องบอกว่าตอนนี้ ความสามารถของมันได้เพิ่มขึ้นเป็น ล้านล้านเท่า ซึ่งไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่มนุษย์เราสามารถพัฒนาได้ใกล้เคียงกับระดับดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น รถในยุคแรก ๆ กับรถยนต์ในยุคนี้ ความเร็วก็สามารถทำเพิ่มขึ้นได้เพียงแค่ 2 เท่า และอีกสิ่งนึงที่สำคัญเลยก็คือ มนุษย์เรา จิตใจของเรา สมองของเรานั้น ไม่ได้พัฒนาไปสักนิดเลย ซึ่งไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้แบบสุดขั้วอย่างที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงไป

และปัจจัยอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในเทคโนโลยีด้าน AI ซึ่งสิ่งที่เรามองไม่เห็นนั่นก็คือ โลกทุกวันนี้มันได้ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของ AI ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google หรือ Facebook มี Super computer คอยขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังด้วยพลังการประมวลผล AI ที่จะสั่งให้โปรแกรมต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์หลาย ๆ ตัวของพวกเขานั้นทำงานด้วยเครื่องจักรเหล่านี้

แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของบริษัทเทคโนโลยีนั่นก็คือการสร้างผลกำไร ซึ่งเมื่อทำการป้อนเป้าหมายให้คอมพิวเตอร์ว่าต้องการผลลัพธ์ดังกล่าว คอมพิวเตอร์ก็จะเรียนรู้วิธีการที่จะทำแบบนั้น ซึ่งนั่นก็คือรูปแบบของเทคโนโลยีอย่าง Machine Learning นั่นเอง

ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ เมื่อปล่อยให้คอมพิวเตอร์มันเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี AI ที่มีความซับซ้อนสูงขึ้น นั่นทำให้น้อยคนนัก แม้กระทั่งวิศวกรระดับอัจฉริยะของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้เองก็ตามที่จะเข้าใจได้ว่า คอมพิวเตอร์เหล่านี้มันกำลังจะทำอะไร

ซึ่งเทคโนโลยีด้าน AI เหล่านี้ มีความคิดเป็นของตนเอง ถึงแม้ว่าจะมีมนุษย์เป็นผู้เขียน Code ให้กับมันก็ตามที ดังนั้นมันคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ตอนนี้เราอาจจะอยู่ในโลกที่ มนุษย์เราเองนั้น ไม่สามารถที่จะไปควบคุมระบบเหล่านี้ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นฝ่าย AI ต่างหากที่ควบคุมข้อมูลของพวกเราอยู่

แล้วคำถามที่ว่า AI จะมาทำงานแทนเรา และจะฉลาดกว่ามนุษย์ได้เมื่อไหร่? แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ต้องบอกว่าในตอนนี้เทคโนโลยีได้ก้าวข้ามและพิชิตจุดอ่อนของมนุษย์ไปได้แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นการทำให้มนุษย์เราเสพติดกับโลก Social Media ต่าง ๆ การแบ่งขั้วทางการเมืองที่ดูเหมือนจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ การสร้างแนวคิดสุดโต่ง การสร้างความรุนแรง และทั้งหมดนั้นคือ ธรรมชาติที่มนุษย์เราไม่อาจจะต้านทานมันได้อีกต่อไป และนั่นคือการที่มนุษย์เราได้ถูกรุกฆาตด้วยเทคโนโลยีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเองครับผม

สิ่งที่อยากฝากส่งท้าย

แน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านี้นั้น ถือเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งที่ถ่ายทอดผ่านสารคดีที่สร้างโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เช่นเดียวกันอย่าง Netflix

ซึ่งจากที่เราได้รับรู้จากสารคดีชุดนี้ นั่นก็คือในยุคปัจจุบันนั้นเป็นสงครามที่บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ กำลังพยายามแย่งความสนใจจากเราให้ไปอยู่ในแพล็ตฟอร์มของเขามากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้ Netflix ก็เป็นคนทำเช่นเดียวกันกับแพล็ตฟอร์มของพวกเขา

เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมาพินิจพิเคราะห์สิ่งที่ สารคดี นี้ถ่ายทอดออกมาให้ถี่ถ้วน เพราะโลกของ เทคโนโลยีหรือ Social Media ต่าง ๆที่เกิดขึ้นนั้น มันไม่ได้มีแต่สิ่งเลวร้ายเพียงด้านเดียว แต่มันมีสิ่งที่ทำให้โลกเราก้าวหน้าและพัฒนาขึ้นไปอย่างมาก

ในยุคปฏิวัติข้อมูลข่าวสารอย่างที่เราได้เห็นกันในทุกวันนี้ ทุกคนทั่วโลกเชื่อมต่อกัน และความรู้ต่าง ๆ ได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน

เพราะฉะนั้น เราก็ไม่อาจมองข้ามจุดประสงค์ที่ชัดเจนของแพล็ตฟอร์ม Netflix เองด้วยว่า กำลังต้องการ discredit โลกเทคโนโลยีจากบริษัทอื่น ๆ หรือเปล่า เพราะแทบจะไม่มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับบริษัทตัวเองเลย ทั้ง ๆ ที่ Netflix เองก็ใช้เทคโนโลยีเบื้องหลังแทบจะไม่ต่างจากบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ได้กล่าวถึงในสารคดีชุดนี้ในการทำให้เราเสพติด Netflix เหมือนยาเสพติดเช่นเดียวกัน

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดต่อไปนะครับว่า พวกเราอาจจะเป็นเหยื่อของสงครามที่เหล่าบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังแย่งชิงความสนใจจากเราอยู่ผ่านสารคดีชุดนี้อยู่หรือเปล่านั่นเองครับผม

References : The Social Dilemma (Netflix)