Tim Cook กับความอัจฉริยะในการยกระดับ Apple สู่ขีดสูงสุด

Tim Cook ได้เข้าร่วมงานกับ Apple เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 1998 สถานการณ์ของ Apple ในขณะนั้น ไม่ใช่บริษัทที่น่าไปร่วมงานแต่อย่างใด สถานการณ์ทางการเงินอยู่ใกล้ภาวะล้มละลายเต็มที และขวัญกำลังใจของเหล่าพนักงานก็เริ่มต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ๆ

ตัว Steve Jobs เองเพิ่งกลับมาร่วมงานกับ Apple อีกครั้ง ในฐานะ CEO ชั่วคราว หรือ iCEO เรียกได้ว่าสิ่งเดียวที่ Apple เหลืออยู่ในขณะนั้นก็คือจิตวิญญาณ “Think Different” ที่กำลังมาอีกครั้งจาก Jobs แต่บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงภายในมากมาย และสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสินค้าหลักอย่างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดคอมพิวเตอร์ของ Apple นั้นลดลงจากร้อยละ 10 เหลือมาอยู่เพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น CEO ในขณะนั้นอย่าง Amelio ต้องทำการดึงตัว Steve Jobs กลับมากู้วิกฤติที่แสนสาหัสนี้อีกครั้ง

Jobs ต้องนำพา Apple กลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง และเริ่มแก้ไขสถานการณ์โดยยอมรับความจริงที่ว่า Amelio นั้น ทำสิ่งที่ผิดพลาด โดย Jobs เริ่มจัดการเหล่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำกำไร เช่น นิวตัน คอมพิวเตอร์มือถือรุ่นแรก ของ Apple ผลงานการสร้างสรรค์ของ John Sculley ผู้ซึ่งเป็นคนทำให้ Jobs ต้องออกจาก Apple ไปในครั้งแรก

Jobs เริ่มตัดสายของผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นออกไปจนเหลือเพียงแค่ 4 รุ่น โดยสองรุ่นแรกคือเครื่องคอมพิวเตอร์ Desktop สำหรับผู้บริโภคทั่วไป และ มืออาชีพ ส่วนอีกสองจะเป็นส่วนของเครื่องแบบพกพา แม้จะดูเสี่ยงมาก ๆ เพราะถ้าตัดเหลือ 4 รุ่นแล้วล้ม ความหมายก็คือ Apple คงเหลือไว้เพียงแค่ชื่อ เข้าสู่ภาวะล้มละลายอย่างแน่นอน

Jobs พยายามตัดผลิตภัณฑ์ของ Apple ให้เหลือน้อยที่สุด
Jobs พยายามตัดผลิตภัณฑ์ของ Apple ให้เหลือน้อยที่สุด

และแน่นอนว่าปัญหาใหญ่ของ Apple ที่เผชิญมาตลอดนั่นก็เรื่องของการวางแผนการผลิต รวมถึงเรื่องการจัดการสินค้าคงคลังต่าง ๆ ส่วนใหญ่นั้น Apple มักจะจ้างซัพพลายเออร์เฉพาะของตัวเองเท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนประกอบที่กำหนดเองและมีประสิทธิภาพสูง ไม่มีการวางจำหน่ายให้คู่แข่ง และ ไม่สามารถคัดลอก หรือ เลียนแบบได้ง่าย

แต่มันเหมือนเป็นดาบสองคม เพราะ การวางแผนการผลิตจะยากมาก ๆ ความยืดหยุ่นในการผลิตน้อย การประเมินคำสั่งซื้อล่วงหน้าเป็นไปได้ยาก และจะเกิดหายนะขึ้นทันทีหากมีการคาดการคำสั่งซื้อที่ผิดพลาด

เกิดเหตุการณ์ที่เหล่านักลงทุนของ Apple เกลียดอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็คือ เมื่อยามที่ Apple มีผลิตภัณฑ์ที่ร้อนแรง แต่มันไม่สามารถส่งไปถึงมือลูกค้าได้เนื่องจากปัญหาเรื่องการผลิตของ Apple นั่นเอง

และเมื่อ Jobs กลับมาอีกครั้งในปี 1997 เขาตั้งใจแน่วแน่ ว่าจะไม่ให้เห็นความผิดพลาดเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก และเริ่มมองหาการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ ด้านในเรื่องการปฏิบัติการของ Apple

แม้ก่อนหน้านั้น Cook จะปฏิเสธนายหน้าของ Apple หลายต่อหลายครั้งแล้วก็ตาม เพราะตัว Cook เองก็มีความสุขดีที่ Compaq แต่อย่างน้อยเขาคิดว่าควรจะเข้าไปเจอ Jobs ซักครั้งเพราะชายผู้นี้ เป็นหนึ่งในตำนานผู้สร้างอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์นี้ขึ้นมานั่นเอง

แต่เมื่อเขาได้เข้าไปนั่งฟังกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ของ Jobs สำหรับ Apple ในการพบกันจริง ๆ ครั้งแรก เขาก็ถูกโน้มน้าวโดย Jobs ให้มามีส่วนร่วมของภารกิจเปลี่ยนโลกครั้งใหม่ของ Jobs ซึ่งจะเปลี่ยนแนวคิดของคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นแนวคิดที่ไม่เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่เคยเห็นมาก่อน

และเมื่อ Jobs ได้เจอกับ Cook นั้น เขาก็เข้าใจทันทีว่าพวกเขาแบ่งปันมุมมองเดียวกันในเรื่องการผลิต ซึ่งสุดท้ายทำให้ให้ Cook คล้อยตามและมาร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับ Jobs ในที่สุด และถือเป็นการจับคู่ที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งนึงในวงการคอมพิวเตอร์โลก

ในขณะนั้น Cook มีอายุ 37 ปี ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple ในตำแหน่ง รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการทั่วโลก ซึ่งเขาได้รับงานใหญ่มาก ๆ ในการรื้อระบบการผลิต และจำหน่ายของ Apple ทั้งหมด และุถือว่าเป็นงานที่ท้าทายเขาที่สุดตั้งแต่เริ่มทำงานมาเลยก็ว่าได้

ซึ่งเพียงแค่ 7 เดือนหลังจากที่ Cook ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple เขาก็สามารถที่จะลดสินค้าคงคลัง จากราวๆ 30 วัน เหลือเพียงแค่ 6 วันเท่านั้น ซึ่งในช่วงเวลาสั้น ๆ เขาได้ทำการปรับปรุงระบบการปฏิบัติการของ Apple โดยให้ความสำคัญกับรายละเอียดแทบจะทุกขั้นตอนการผลิต

Cook นั้นได้เน้นการลดซัพพลายเออร์ลงให้เหลือเพียงไม่กี่ราย เขาไปเยี่ยมซัพพลายเออร์แต่ละราย ตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องนึงเช่น การที่ Cook โน้มน้าวให้ NatSteel ผู้ผลิตแผงวงจรที่เป็น Outsource ของ Apple ย้ายมาตั้งโรงงานใกล้กับโรงงานของ Apple ใน ไอร์แลนด์ แคลิฟอร์เนีย และ สิงคโปร์

ซึ่งการย้ายซัพพลายเออร์เข้ามาใกล้โรงงานนั้นทำให้กระบวนการ JIT (Just-in-time) ทำได้ง่ายขึ้นมาก เนื่องจากส่วนประกอบสามารถส่งมอบได้รวดเร็วขึ้นและมีความถี่ที่มากขึ้นนั่นเอง

และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือการ outsource ออกไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของ Apple นั่นคือ ปัญหาเรื่องสินค้าคงคลัง ซึ่งสร้างภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลให้กับ Apple ซึ่งต้นทุนสินค้าคงคลังเหล่านี้เองที่ทำให้ Apple เกือบเข้าสู่ภาวะล้มละลายมาแล้ว

และเพื่อรองรับการคาดการณ์การผลิต Cook ได้ลงทุนในระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) ที่ทันสมัยที่สุดจาก SAP ที่สามารถเชื่อมโยงโดยตรง เข้าสู่ระบบไอที ที่เหล่าซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนของ Apple ใช้งานอยู่

Tim Cook ได้ปรับมาใช้ ซอฟต์แวร์อย่าง SAP เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
Tim Cook ได้ปรับมาใช้ ซอฟต์แวร์อย่าง SAP เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

ไม่ว่าจะเป็นโรงงานประกอบ หรือ ทางฝั่งร้านค้าปลีก ระบบที่ซับซ้อนทำให้ทีมปฏิบัติงานของ Cook ได้เห็นมุมมองที่ชัดเจนของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ตั้งแต่วัตถุดิบ จนถึงคำสั่งซื้อของลูกค้าที่ร้านค้าออนไลน์ใหม่ของ Apple ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเพียงไม่นาน

R/3 ERP เป็นระบบประมวลผลส่วนกลางของการผลิตแบบใหม่ ที่รวดเร็วและทันเวลาของ Apple ชิ้นส่วนถูกสั่งจากซัพพลายเออร์เมื่อจำเป็นเท่านั้น และโรงงานผลิตก็สามารถสร้างกำลังการผลิตที่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ทันที

ภายใต้การนำของ Cook เวลาในสินค้าคงคลังของ Apple ลดลังจากเป็นเดือน ๆ เหลือเพียงไม่กี่วัน เพียงแค่ 7 เดือน ต้นทุนในการจัดการเรื่องสินค้าคงคลังลดลงจาก 400 ล้านเหรียญ เหลือเพียงแค่ 78 ล้านเหรียญ

Cook ได้รับเครดิตเป็นอย่างมาก ในการมีบทบาทสำคัญให้ Apple สามารถกลับมาทำกำไรได้สำเร็จ ซึ่งระบบที่เขาได้วางไว้นั้นเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของ Apple ในอีกหลายปีต่อมา ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า Apple จะไม่มีวันเติบโตอย่างยิ่งใหญ่และมั่นคงมาได้จนถึงทุกวันนี้หากปราศจากความเป็นเลิศของชายที่ชื่อ Tim Cook ที่ช่วยกู้สถานการณ์ด้านการปฏิบัติการในเรื่องการผลิตของ Apple ไว้ได้สำเร็จนั่นเองครับ

References : https://appleinsider.com/articles/20/08/10/apple-ceo-tim-cook-is-now-a-billionaire