NetScape Time ตอนที่ 12 : Fighting the Real Enemy

สถานการณ์ของ NetScape ดูเหมือนจะดูดีไปเสียทุกอย่าง บริษัทสามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ สร้างสถิติต่าง ๆ ไว้มากมาย สำหรับบริษัทหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีสื่อมากมายต่างชื่นชมพวกเขา มีการเปรียบเทียบ Marc Andreessen ว่าเป็น Bill Gates คนใหม่แห่งโลก internet

แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างมีให้เห็นในธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่ถึง 20 ปี ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่ารวดเร็ว ผู้ให้กำเนิด Computer ส่วนบุคคลอย่าง Steve Jobs ก็ไม่สามารถพา Apple ไปสู่ฝั่งฝันได้

ในธุรกิจเทคโนโลยี สินค้าใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมนั้นเกิดขึ้นทุก ๆ วัน ไม่มีใครเข้าใจเรื่องดีกว่า Bill Gates แม้เรื่องที่เขาประสบความสำเร็จในการผูกขาดธุรกิจนี้ แต่ไม่มีมีอะไรมาหยุดยั้งความทะเยอทะยานของเขาได้เลย

วิธีการของ Bill Gates นั้น เขาทำราวกับว่า Microsoft นั้นถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลา และต้องต่อสู้เพื่อดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นปรัชญาที่สำคัญที่เราจะได้เห็น Microsoft นั้นลงไปแข่งขันในหลากหลายธุรกิจด้านไฮเทค

ในยุคนั้นต้องบอกว่า Microsoft เป็นบริษัทที่แข็งแกร่งมาก ๆ เครื่อง PC แทบจะทั้งโลกใช้ระบบปฏิบัติการของเขา และ Microsoft ก็ยังเป็นผู้ควบคุมโปรแกรมที่อยู่บนเครื่องเหล่านี้

Bill Gates นั้นมักจะแสดงออกอย่างชัดเจน ว่าไม่ต้องการให้ใครมาเติบโตและเข้มแข็ง และเป็นภัยคุกคามกับธุรกิจของเขา Gates จะมองว่า Microsoft คือตัวแทนของเขา ที่มีความทะเยอทะยาน มีความมุ่งมั่น และชอบเอาชนะ

ในปี 1994 กว่า 80% ของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลใช้ระบบปฏิบัติการของ Microsoft และพวกเขายังมีความทะเยอทะยาน ที่จะเอาชนะ คู่ต่อสู้ทางธุรกิจในทุก ๆ ราย ไม้เว้นแม้กระทั่งธุรกิจ internet

แม้ในตอนแรก Microsoft จะไม่เข้ามาแข่งโดยตรงกับ NetScape โดยมองธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ internet และทำการก่อตั้ง Microsoft Network เพื่อให้บริการด้านออนไลน์ในปี 1994

Jim นั้นรู้ดีว่า อย่างไรเสีย Microsoft ก็จะกลายเป็นคู่แข่งขันที่น่ากลัวที่สุดสำหรับ NetScape จึงต้องเร่งพัฒนาตัวเองเต็มที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อรอการแข่งขันที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า

NetScape ต้องการลงในระบบปฏิบัติการใหม่ของ Microsoft อย่าง Windows 95
NetScape ต้องการลงในระบบปฏิบัติการใหม่ของ Microsoft อย่าง Windows 95

ในเดือนกันยายนปี 1994 ซึ่งเป็นเวลา 1 เดือนก่อนการเปิดตัวโปรแกรม NetScape มีการติดต่อจากผู้บริหารที่ดูแลการพัฒนาระบบปฏิบัติการ Windows 95 จาก Microsoft ได้แจ้งมาทาง NetScape Communication ว่าต้องการที่จะซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรมไปลง โดยเสนอเงินสูงถึง 1 ล้านเหรียญเพื่อเป็นค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าว

แน่นอนว่า Jim นั้นไม่ต้องการดำเนินธุรกิจร่วมกับ Microsoft เพราะประวัติศาสตร์มันบอกว่า บริษัทใดที่มอบลิขสิทธิ์โปรแกรมให้ Microsoft แล้วนั้น มักจะถูกกำจัดออกจากเส้นทางอยู่เสมอ ซึ่ง Jim นั้นรู้ในเรื่องนี้ดี

มี Case ตัวอย่างมากมายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Rob Glaser ผู้ก่อตั้ง RealNetwork ผู้ขายลิขสิทธิ์ให้ Microsoft สุดท้ายลงเอยด้วยการขึ้นศาลฟ้องร้องบริษัท Microsoft ในไม่กี่ปีต่อมา หรือใน case ของ Sun Microsystem ที่ให้ลิขสิทธิ์โปรแกรมกับ Microsoft เช่นเดียวกัน และภายหลังต้องยื่นฟ้อง Microsoft ในกรณีละเมิดข้อตกลง

ซึ่ง Microsoft นั้นมักจะใช้วิธี ในการดูดกลืนบริษัทเล็ก ๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Microsoft มากเสียกว่า และ Spyglass ที่เพิ่งเจรจากับ Microsoft ในเรื่องลิขสิทธิ์ของ Mosaic ก็กำลังจะกลายเป็นเหยื่อรายต่อไป

Rob Glacer จาก Realnetwork ที่จบไม่สวยกับ Microsoft
Rob Glacer จาก Realnetwork ที่จบไม่สวยกับ Microsoft (ภาพจาก : GettyImages)

แต่การที่ James Barksdale เข้ามาบริหาร NetScape นั้น ก็ช่วยให้สามารถเพิ่มยอดขายได้เป็นอย่างมาก มีการเพิ่มพนักงานขายเพิ่มอีกเท่าหนึ่ง และสถานการณ์ในขณะนั้น ธุรกิจของ NetScape ยังอยู่ในจุดที่ดีมาก ๆ ซึ่งระหว่างนั้น Jim เองก็คิดว่า Microsoft ก็กำลังจับจ้องมามองที่พวกเขาอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

หลังจากเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ NetScape Communicator 1.0 ในช่วงกลางเดือนธันวาคม ปี 1994 กระแสตอบรับนั้นออกมาดีมาก ๆ มีลูกค้าหลั่งไหล่เข้ามาเซ็นสัญญาจำนวนมากมาย รวมถึงเกิดช่องทางธุรกิจอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมายด้วยเช่นกัน

จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม ปี 1995 มีการพัฒนา NetScape version 2.0 ออกมา และต้องการมีส่วนร่วมกับการทำงานกับโปรแกรมของ Microsoft ในส่วนของ APIs (Application Programming Interfaces ) เพื่อให้โปรแกรม NetScape สามารถต่อสายโทรศัพท์ผ่านเครื่องที่ใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows 95 ได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องการความร่วมมือกับ Microsoft

และ Microsoft ก็ได้เริ่มแผนการแรกด้วยการ ดึงเวลา ไม่ยอมมอบ APIs ให้กับ NetScape ซึ่ง Jim คิดว่าเป็นแผนการของ Microsoft ที่ต้องการเขี่ย NetScape ออกจากวงจรธุรกิจนี้ โดยไม่ให้ผู้ใช้เครื่อง PC ที่มีถึง 80% ของเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดใช้งานโปรแกรม NetScape Communicator version 2.0 ที่จะลงใน Windows 95

เรียกได้ว่า สถานการณ์ในตอนนั้น เริ่มสร้างความกดดันให้กับ NetScape เป็นครั้งแรกจากคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดอย่าง Microsoft ซึ่งมันดูเหมือนเป็นเกมส์ที่ไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่เลย เพราะ Microsoft มีระบบปฏิบัติการที่ Control ทุกอย่างของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล มันคือแผนการตัดแข้งตัดขา NetScape แบบเห็นได้ชัดเจนครั้งแรก เพราะ APIs เหล่านี้นั้น บริษัทอื่น ๆ ได้รับจาก Microsoft แทบจะทั้งหมด ยกเว้น NetScape เพียงบริษัทเดียวที่ไม่ได้รับความร่วมมือในครั้งนี้

ดูเหมือน Microsoft ยักษ์ใหญ่ สามารถควบคุมเกมส์ ของเขาได้ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากสู้กับ Microsoft แต่ Jim และทีมงานจาก NetScape นั้นมาไกลเกินกว่าที่จะถอยแล้ว แล้วพวกเขาจะจัดการปัญหานี้อย่างไร และ เรื่องราวของ NetScape จะลงเอยที่ไหน โปรดอย่าพลาดติดตามตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 13 : Monopoly Power

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Billion Dollar Company *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.telegraph.co.uk/technology/microsoft/windows/11817065/Twenty-years-ago-Microsoft-launched-Windows-95-changing-the-world.html

ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 10 : Apple’s Best CEO?

ต้องบอกว่า Steve Jobs ถือเป็น CEO ที่ไม่เหมือนใคร ที่เราอาจจะไม่ได้เห็นคนแบบเขาอีกเลยก็ได้ เพราะเขาไม่ได้เป็นแค่เพียง CEO ของ Apple เท่านั้น เขายังเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายดูแลผลิตภัณฑ์ของ Apple เป็นทั้งคนที่ตัดสินใจเรื่องสำคัญทุกอย่างของ Apple แต่ Tim Cook ไม่ใช่คนที่เหมือน Jobs

แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะไม่ทราบ ก็คือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเติบโตของ Apple ในระยะยาวได้อย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่ตัวผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นระบบโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นการบริหารซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพ การกระจายเงินและการตลาด ซึ่งเป็น Cook ที่ได้พิสูจน์ความสามารถของเขาสำหรับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด

แล้วทำไมในสายตานักวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ชื่อดังอย่าง Horace Dediu ถึงมองว่า Cook เป็น CEO ที่ดีที่สุดของ Apple ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา

แม้ความรู้สึกจะดูขัดแย้งกับหลาย ๆ คน ที่เกิดคำถามว่า Cook จะเป็น CEO ที่ดีกว่า Jobs ได้อย่างไร Jobs เป็นผู้สร้างบริษัทตั้งแต่ต้น เขาได้สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ไล่มาตั้งแต่ พีซี เครื่องแรก (Apple II) ไปจนถึง iPod , iPhone , iPad และอีกมากมาย

แต่ Dediu มองว่า Steve Jobs ไม่เคยเป็น CEO จริง ๆ Jobs มักจะพยายามหลีกเลี่ยงงานของ CEO ที่แท้จริง เพราะเขามักจะไปขลุกอยู่ในหน้าที่ของ หัวหน้าฝ่ายดูแลผลิตภัณฑ์เสมอต่างหาก

ในตอนที่ Jobs กลับมาในครั้งที่สองเพื่อมาแก้วิกฤตินั้น เขาได้มือดีอย่าง Cook มาช่วยดูแลงานด้านอื่น ๆ ที่เป็นหน้าที่ของ CEO เพื่อให้เขาสามารถทำสิ่งที่เขารักมากที่สุด นั่นก็คือการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่องจากเขาได้นั่นเอง

ตัว Tim Cook เองนั้นอาจจะได้รับการสนับสนุนจากเหล่าพนักงานของ Apple ที่อยู่เบื้องหลังเขา แต่ยังมีคำถามใหญ่สำคัญที่หลาย ๆ คนสงสัยอยู่ นั่นก็คือ Apple สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เช่นเดียวกับที่ Jobs เคยทำได้หรือไม่

แต่ในความเป็นจริงถ้าพิจารณาตลอดการทำงานของ Jobs กับ Apple นั้น ในหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ อย่าง Apple II ที่เปิดตัวในปี 1977 Mac เครื่องแรกที่ตามมาหลังจากนั้น 7 ปี iMac เครื่องแรกที่เปิดตัวในปี 1998

หลังจากนั้น 14 ปีต่อมาก็เป็น iPod , Mac OSX ส่วน iPhone เปิดตัวในปี 2007 หลังจาก iPod หกปี ส่วนผลิตภัณฑ์ชิ้นสุดท้ายที่ Jobs สรรค์สร้างขึ้นอย่าง iPad นั้นก็ตามมาหลังจาก iPhone 3 ปี ในปี 2010

ซึ่งเมื่อมาพิจารณาผลิตภัณฑ์ชิ้นเอกแต่ละตัวของ Jobs นั้นจะพบได้ว่า พวกมันไม่ได้ประสบความสำเร็จในวันที่เปิดตัวเลยในทันที แต่มันจะใช้เวลาพอสมควรก่อนที่จะประสบความสำเร็จ iPod ไม่ได้ขายอย่างถล่มทลายทันที แต่เป็นหลังจาก 3 ปีที่ Apple ได้เพิ่ม USB port เข้าไปให้สามารถใช้งานได้ง่ายในระบบปฏิบัติการ Windows

iPhone ก็ไม่ได้สร้างยอดขายแบบถล่มทลายทันทีหลังเปิดตัว จะมาบูมจริง ๆ ก็หลังจากนั้น 3 ปี หลังจากการเปิดตัวครั้งแรกในปี 2007 ซึ่งผลิตภัณฑ์ Apple น้อยมากที่ได้รับความนิยมอย่างทันทีทันใดหลังจากการเปิดตัว

แน่นอนว่า Steve Jobs ได้รับเครดิตสำหรับผลิตภัณฑ์ที่น่าทึ่งเหล่านี้ทันที และมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่สิ่งสำคัญก็คือ ต้องจำไว้ว่าทุกอย่างที่ประสบความสำเร็จมันไม่ง่ายสำหรับเขาเสมอไป เช่นเดียวกัน Cook ก็ต้องเผชิญกับการต่อสู้ที่เหมือนกันหลายอย่าง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมบางอย่างที่ต้องใช้เวลาพอสมควรตัวอย่างที่เห็นได้ชัดนั่นก็คือ Apple Watch

ต้องบอกว่า Apple Watch ของ Cook นั้นก็กำลังดำเนินการตามรูปแบบที่คล้ายคลึงกันกับผลิตภัณฑ์ของ Jobs การเปิดตัวของ Apple Watch ในยุค Cook นั้น ได้รับการตอบรับด้วยความสงสัย หรือ แม้กระทั่งดูถูกเลยด้วยซ้ำจากสื่อบางราย

แต่อย่างที่เราทราบว่าเพียงแค่ 3 ปีต่อมา Apple Watch กลายเป็น Smartwatch ที่มีส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาด และมีขนาดใหญ่กว่าอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสทั้งหมด ซึ่ง Apple คาดว่าจะมียอดขาย Apple Watch กว่า 46 ล้านเครื่องจวบจนถึงปัจจุบัน

Tim Cook กับผลงานของเขาอย่าง Apple Watch
Tim Cook กับผลงานของเขาอย่าง Apple Watch

และมันมีแนวโน้มอย่างมีนัยสำคัญในปีที่ผ่านมาว่า Apple Watch ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบสนองความทะเยอทะยานของ Apple ในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยนวัตกรรมทางด้านซอฟต์แวร์เช่น HealthKit และ ResearchKit

ซึ่งทำให้ Apple ได้มีการวางรากฐานที่สำคัญสำหรับ smartwatch ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลด้านสุขภาพและการออกกำลังกายของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากตัว Apple Watch ที่ติดตลาดไปแล้วนั้น Apple ภายใต้การนำของ Tim Cook ยังคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น AirPods ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในตลาดหูฟังไร้สายที่ Apple เข้ามาแย่งชิงตลาดในส่วนนี้ได้อย่างถล่มทลาย

ต้องบอกว่า Cook นั้นเป็นคนที่เห็นคุณค่าของนวัตกรรมในทุกระดับ และเขาก็มีวิสัยทัศน์ที่ดีพอสำหรับการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และมีความสามารถพิเศษในการรับรู้ว่าผลิตภัณฑ์ไหนจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีและสามารถทำเงินให้กับ Apple ได้อย่างมหาศาลอย่างที่เราได้เห็นกันในทุกวันนี้นั่นเองครับ

แล้วเราได้อะไรจากการเรื่องราวของ Tim Cook จาก Blog Series ชุดนี้

ต้องบอกว่าจากเรื่องราวของ Tim Cook ใน Blog Series ชุดนี้ เราจะได้เห็นถึงรากฐานความเป็นผู้นำของ Cook ที่ Apple แม้เขาเองจะไม่ได้เป็นนักคิด ศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ แบบเดียวกับที่ Steve Jobs เป็น

แต่เราจะเห็นได้ว่าการบริหารของเขาในฐานะ CEO ของ Apple ได้พา Apple ก้าวขึ้นมาอีกระดับ แม้ว่าในตอนที่รับงานนี้ ดูเหมือนว่ามันจะเป็นงานที่ยาก และแทบจะกล่าวได้ว่ามันเป็นงาน ๆ หนึ่งที่ยากที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

แต่ผ่านมา 8 ปี Cook ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาทำได้ และทำได้ดีด้วย เขาสามารถลบคำสบประหม่าต่าง ๆ รวมถึงจากนักวิจารณ์จากสื่อชื่อดังต่าง ๆ ที่ต่างคิดว่า Apple จะต้องถึงคราล่มสลาย เมื่อ Jobs ได้ลาจากโลกนี้ไป

เราจะเห็นได้ว่า การเป็นผู้นำในระดับโลกนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางด้านการเมือง หรือ ผู้นำทางด้านธุรกิจ ไม่ว่าคุณจะมีบุคลิก ลักษณะส่วนตัวแบบไหน คุณก็สามารถก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดขององค์กรได้

คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักสร้างสรรค์ นักนวัตกรรม หรือ คุณลักษณะนิสัยแบบก้าวร้าว แข็งกร้าว แบบที่ Jobs เป็น แต่ Cook แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางด้านการบริหารที่แทบจะตรงข้ามกับ Jobs เขาก็สามารถทำได้สำเร็จ

Cook เป็นคนนอบน้อม ถ่อมตัว รับฟังปัญหา ซึ่งแทบจะตรงข้ามกับ Jobs ทุกอย่างเลยก็ว่าได้ แต่เขาก็สามารถประสบความสำเร็จได้ โลกเรามีผู้นำองค์กร หรือ ผู้นำการเมืองในหลากหลายรูปแบบ คุณไม่จำเป็นต้องเหมือนใครแล้วจะประสบความสำเร็จด้วยการกลายเป็นเบอร์หนึ่งขององค์กรของคุณ

เพราะฉะนั้น เรา ทุกคน ไม่ว่าจะมีบุคลิกลัษณะแบบไหน เป็น คนแข็งกร้าว คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คนที่นอบน้อมถ่อมตน หรือ คนที่คิดอะไรแบบละเอียดไตร่ตรองถี่ถ้วนที่ดูเหมือนจะขัดใจหลาย ๆ คน ทุกบุคลิกลักษณะของมนุษย์เรานั้น ไม่ได้เป็นข้อจำกัดแต่อย่างใดในการก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพได้ มันอยู่ที่ความสามารถ มันสมอง และความเป็นผู้นำ อย่างที่ Tim Cook แสดงให้เราได้เห็นจาก Blog Series ชุดนี้นั่นเองครับผม

References Image : https://www.wsj.com/articles/the-job-after-steve-jobs-tim-cook-and-apple-1393637952

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

รวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุดรวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุด

อย่าลืมติดตามผลงานเรื่องต่อ ๆ ไปของผมก่อนใครได้ที่ blockdit นะครับ โหลดได้เลย

อย่าลืม ค้นหา “ด.ดล Blog” แล้ว กด follow กันด้วยนะครับผม

ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 6 : Stepping Forward

วันแรกของ Cook ในฐานะ CEO ของ Apple คือวันพุธที่ 24 สินหาคม ปี 2011 ใน ขณะนั้น ไม่มีใครได้ทันสังเกตว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นกับ Apple ภายในใจของ Cook นั้นต้องการนำพา Apple ออกจากการอยู่ภายใต้ร่มเงาของ Steve Jobs กว่า 2 ทศวรรษเสียที

ถึงแม้ตัว Cook เองนั้นจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบริหาร Apple มาบ้างแล้วในฐานะ CEO ชั่วคราว รวมถึง การรับตำแหน่งเบอร์ 2 ของ Apple ในฐานะ COO มาอย่างยาวนาน แต่ก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่าตัวเขาเองนั้นก็ไม่ได้มีประสบการณ์อะไรมากนัก เมื่อต้องมารับบทหนักที่ต้องแบกรับภาระทุกอย่างที่ Jobs สร้าง Apple ไว้อย่างยิ่งใหญ่

การก้าวข้ามยุคของ Jobs นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เหล่านักวิจารณ์ก็มองเช่นเดียวกันว่า Apple ภายใต้การกุมบังเหียนของ Cook จะตกต่ำลงเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน แทบไม่มีใครเชื่อฝีมือของ Tim Cook ในขณะนั้น

ต้องบอกว่า 2-3 เดือนแรกในฐานะ CEO ของ Cook นั้นเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายตัวเขาเป็นอย่างมาก และที่สำคัญ Jobs ก็ได้เสียชีวิตลงหลังจากที่ Cook เข้ามากุมบังเหียน Apple แบบเต็มตัวเพียงไม่กี่เดือน

สิ่งแรกที่ Cook ต้องจัดการก็คือ การที่ Apple ถูกฟ้องร้องโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ที่กล่าวหา Apple ว่ามีการสมคบคิดกับสำนักพิมพ์หลายแห่งในการกำหนดราคาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคดีดังกล่าวนั้นดำเนินมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ส่งผลให้ Apple ต้องยอมจ่ายค่าปรับและดำเนินการตามกฏหมายป้องกันการผูกขาด

จากนั้น พายุ ก็ถาโถมเข้าสู่ Cook แบบรวดเร็ว และไม่ทันตั้งตัว เพราะ รายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ iPhone ทำยอดขายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ นักวิเคราะห์คาดว่า iPhone จะขายได้ 28.9 ล้านเครื่อง แต่สามารถทำยอดขายได้เพียงแค่ 26 ล้านเครื่อง ทำให้หุ้นของ Apple ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว

ยอดขายของ iPhone ที่น่าผิดหวัง อาจเป็นเพราะการแข่งขันที่ดุเดือนจากฝั่ง Android เมื่อ Samsung เริ่มกลายมาเป็นภัยคุกคามอย่างรวดเร็ว ซึ่ง Samsung สามารถเอาชนะ Apple ได้ในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะบ้านเกิด Samsung อย่างเกาหลีใต้ที่ Apple แพ้อย่างราบคาบ

นั่นเป็นเหตุให้ Cook ต้องใช้ไม้แข็งครั้งแรก โดยการปลดผู้นำในการดูแลตลาดเกาหลีใต้ของ Apple อย่าง Dominique Oh แบบทันที เนื่องจากยอดขายที่ซบเซาเป็นอย่างมากของ Apple หลังจากตัว Oh ได้มารับหน้าที่เพียงแค่ 7 เดือนเท่านั้น

ภายในปี 2012 Cook ยังทำได้การไล่ผู้บริหารระดับสูงอีก 2 ราย หนึ่งในนั้นคือ John Browett ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งรองประธานอาวุโสของ Apple Store ในช่วงต้นปี 2012 ที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งต้องบอกว่า Browett นั้นมาพร้อมกับ Profile ที่สวยหรู เขาย้ายมาจาก Dixons Retail หนึ่งในร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปที่มีพนักงานกว่า 4 หมื่นคน Browett จบปริญญาตรีจากมหาวิทลัยแคมบริดจ์ และ ปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก Wharton School

Apple Store เป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจของ Apple และ Browett นั้นก็เป็นผู้บริหารระดับสูงรายแรก ๆ ที่ Cook เป็นคนรับเข้ามาทำงาน อย่างไรก็ตามในไม่ช้าเขาก็พบกับปัญหา ที่ดูเหมือนตั้งแต่เริ่มต้น Browett นั้นดูจะไม่เหมาะกับวัฒนธรรมของ Apple เลย

ที่ Dixon Retail นั้นมีชื่อเสียงในฐานะผู้จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ราคาถูก พร้อมบริการลูกค้าที่น้อยที่สุดในยุโรป และทันทีที่ Browett เข้ามารับงานที่ Apple เขาก็พยายามที่จะลดค่าใช้จ่าย โดยการลดการจ้างงาน และ ลดจำนวนชั่วโมงการทำงานของพนักงานลง เขาพยายามโฟกัสไปที่เรื่องของการขาย ที่ไม่ใช่หัวใจหลักของ Apple ทำให้มีเหล่าลูกค้าร้องเรียนเข้ามามายกับบริการของ Apple ที่เปลี่ยนไปหลังจากการเข้ามาของ Browett และ Cook ก็ไม่รอช้า ทำการดับไฟแต่ต้นลมด้วยการปลด Browett ออกจากตำแหน่งทันที

คนที่สองที่ Cook ทำการจัดการอย่างเร่งด่วนก็คือ Scott Forstall ผู้บริหารอีกคนที่มีความทะเยอทะยานสูง และมีสายสัมพันธ์ที่ดีมาก ๆ กับ Jobs เขามักได้รับการสนับสนุนจาก Jobs ในการขับเคลื่อนความสามารถของเขาอยู่ตลอด เมื่อสมัยที่ Jobs ยังมีชีวิตอยู่

Scott Forstall ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ Jobs เป็นอีกรายที่ถูก Cook เชือดออกไป
Scott Forstall ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ Jobs เป็นอีกรายที่ถูก Cook เชือดออกไป

แต่เมื่อ Jobs เสียชีวิตลง ก็ไม่มีใครคอยปกป้องเขาอีกต่อไป ผลงานสุดท้ายที่ Forstall ฝากไว้ก็คือ Siri ผู้ช่วย AI ของ Apple ที่ปล่อยออกมาพร้อมกับ iPhone 4S และเขาก็เป็นผู้บริหารระดับสูงรายที่สองที่ถูก Cook จัดการ เนื่องจากปัญหาของ Apple Maps ที่เปิดตัวมาพร้อมกับปัญหาที่มากมาย การนำทางที่ผิดพลาด และแทบจะสู้กับบริการของ Google Maps ไม่ได้เลย

ซึ่งเบื้องเหลังเหตุการณ์นี้มีรายงานข่าวว่า Forstall นั้นปฏิเสธคำสั่งโดยตรงจาก Cook เพื่อให้ขอโทษต่อสาธารณชนเรื่องปัญหาของ Google Maps ซึ่งถือว่าเป็นการท้าทายอำนาจของ Cook โดยตรง ซึ่งทำให้ Cook ต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการไล่ Forstall ออกจาก Apple

Cook ได้ทำการจัดทีมผู้บริหารใหม่ ให้ทำงานร่วมกัน มีความสื่อสัตย์และตรงไปตรงมา และต้องพร้อมยอมรับผิดเมื่อทำอะไรที่ผิดพลาด และกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลง Cook ต้องการให้ Apple ปลอดจากการเมือง เป็นบริษัทที่คล่องตัวและเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างของ Cook ก็คือ การปฏิวัติในเรื่องของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของ Apple เขาต้องการปรับปรุงสภาพการทำงานของเหล่าแรงงานที่ผลิตสินค้าให้กับ Apple โดยเฉพาะที่ Foxconn ที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ของ Apple

Cook ได้ทำการว่าจ้างสมาคมแรงงานยุติธรรม (FLA) เพื่อให้ช่วยตรวจสอบสวัสดิภาพของพนักงานของ Foxconn ในเมือง เซินเจิ้นและเฉิงตู ในประเทศจีน Cook พยายามทำทุกวิถีทางที่จะรับประกันสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย และการจ่ายเงินค่าแรงที่เป็นธรรม ซึ่งเขาเคยแข็งกร้าวขนาดที่เคยบอกไว้ว่า ซัพพลายเออร์รายใด ที่ไม่ได้ดูแลพนักงานของพวกเขาจะถูกยกเลิกสัญญา

ปีแรกของ Cook ในตำแหน่ง CEO อาจจะไม่สวยหรูนัก กับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่น่าผิดหวังและดูเหมือนว่ายอดขายจะต่ำลง แต่ที่หลาย ๆ ฝ่ายต่างชื่นชมน่าจะเป็นเรื่องการตอบสนองของเขาต่อ Foxconn ในเรื่องสวัสดิภาพของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของ Apple รวมถึงสิ่งสำคัญอีกอย่างนั่นก็คือเรื่องเกี่ยวกับเรื่องข้อมูล ที่เป็นปรับนโยบายการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ของเหล่าผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Apple นั่นเอง

แต่เมื่อถึงช่วงปลายปี 2012 ผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง iPhone5 ที่ออกตลาดในเดือนกันยายน ก็ได้ทำให้ความกังวลของเกี่ยวกับเรื่องผลิตภัณฑ์ของ Apple ผ่อนคลายลงไปจากเหล่านักวิจารณ์ เนื่องจาก iPhone รุ่นแรกหลังยุคของ Steve Jobs ได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม

เพียงแค่ 24 ชม.แรก iPhone5 สามารถทำยอดขายได้มากกว่า 2 ล้านเครื่อง และมีจำนวนการ preorders มากกว่า 2 เท่าจากสถิติก่อนหน้าเมื่อเทียบกับ iPhone 4S และเมื่อถึงสุดสัปดาห์แรก ก็สามารถทำยอดขายได้กว่า 5 ล้านเครื่อง ซึ่งเป็นการไต่ระดับสูงขึ้นของยอดขาย iPhone ผลิตภัณฑ์หลักของ Apple เป็นครั้งแรก ในยุคของ Tim Cook

iPhone5 กับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Apple ในยุคของ Tim Cook
iPhone5 กับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Apple ในยุคของ Tim Cook

Cook พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า เขาสามารถนำพา Apple ต่อไปข้างหน้าได้ และทำการรักษามรดกของ Jobs ให้คงอยู่ Apple ไม่ได้ล้มเหลวหลังจากการเสียชีวิตของ Jobs ตามที่หลายคนคาดคิด และที่สำคัญ Cook ได้นำพาบริษัท ไปสู่จุดสูงสุดใหม่ ที่ทำให้โลกต้องจารึกชายที่ชื่อ Tim Cook เป็นครั้งแรก เมื่อเขาได้รับการยกย่องให้ติดหนึ่งในร้อยรายชื่อ ผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกของนิตยสาร Time

และทุกอย่างมันก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง เมื่อหุ้นของ Apple พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 413 เหรียญ ส่งผลให้มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 390,000 ล้านเหรียญ ก่อนที่จะทะยานต่อเนื่องอย่างฉุดไม่อยู่ จนมูลค่าหุ้นของ Apple พุ่งไปแตะที่ 447.61 เหรียญ และมันได้ทำให้ Apple ก้าวแซง Exxon Mobil ขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกได้สำเร็จ มันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ของ Apple อย่างแท้จริงภายใต้การนำของ Cook และที่สำคัญมันยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น Cook จะนำพา Apple บดทำลายทุกสถิติของ Apple ที่เคยมีมาได้อย่างไร โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 7 : The Next Chapter

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.pinterest.com/pin/242490761171533757

ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 5 : The Outsourcer

ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงปีแรกที่ Cook ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple เห็นผลอย่างชัดเจนกับผลิตภัณฑ์เรือธงตัวใหม่อย่าง iMac ซึ่งทำให้ Apple สามารถสร้างกำไรได้ 309 ล้านเหรียญ เมื่อสิ้นปี 1998 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ Apple สามารถสร้างการเติบโตได้เร็วกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม

แม้จะมีกำไร แต่ Cook ก็ยังพยายามหาวิธีที่จะประหยัดในทุกวิถีทาง Cook ได้ตรวจสอบความสามารถของผลิตภัณฑ์แต่ละตัวของ Apple และทำการถ่ายเทงานออกไปให้กับซัพพลายเออร์ภายนอกให้มากที่สุด โดยไม่ให้สูญเสียคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดั่งที่ Jobs ต้องการ

โดยผลิตภัณฑ์ตัวหลักอย่าง iMac นั้นเดิมที ได้ว่าจ้างให้ LG บริษัทจากเกาหลีใต้ที่ตอนแรกทำเพียงแค่หน้าจอและส่วนประกอบอื่น ๆ บางส่วนก่อนที่ LG จะควบคุมการผลิตของ iMac แบบเบ็ดเสร็จในปี 1999

แต่เมื่อคำสั่งซื้อเริ่มมากขึ้น Apple จึงมองหาลู่ทางอื่นโดยการหาผู้ผลิตมือดีในใต้หวันอย่าง Hon Hai Precision Industry Company Ltd. หรือที่รู้จักกันดีในนาม Foxconn และสัญญาของ iMac นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าบริษัททั้งสองไปตลอดกาล ซึ่งมี Cook เป็นหัวหอกในการดูแลเรื่องดังกล่าว

Foxconn นั้นก่อตั้งขึ้นในเวลาเดียวกันกับการถือกำเนิดของ Apple แต่ห่างออกไปอีก 6,000 ไมล์ ที่อีกฟากหนึ่งของโลก Terry Gou ที่ตอนนั้นอายุได้ 24 ปี ได้ยืมเงิน 7,500 เหรียญ ( เทียบได้กับ 37,000 เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน) จากแม่ของเขาเพื่อมาเริ่มต้นธุรกิจ

Terry Gou ผู้ก่อตั้ง Foxconn
Terry Gou ผู้ก่อตั้ง Foxconn

Gou นั้นมีความมุ่งมั่นอย่างสูงในเรื่องการผลิตแบบมีคุณภาพ เขาจึงได้สร้างวัฒนธรรมที่ Foxconn ที่จะไม่อดทนต่อความผิดพลาดใด ๆ หรือความไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน หากมีแรงงานที่ทำงานผิดพลาด จะถูกต่อว่าต่อหน้าคนอื่นทันที และหากผิดพลาดซ้ำสองก็จะถูกไล่ออก และที่ Foxconn มีชื่อเสียงในเรื่องการทำงานหนัก คนงานมักต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ หรือบางครั้งอาจจะต้องทำถึง 7 วันเลยทีเดียวหากเป็นงานเร่งด่วน

ความสำเร็จที่สำคัญของ Foxconn นั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องแรงงานราคาถูกเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ทั่วโลกมอง เพราะพวกเขามีกระบวนการผลิตที่มีความยืดหยุ่น Foxconn มีแรงงานหลายแสนคนอยู่ในที่ทำงาน จึงมีความยืดหยุ่นมากในการรวบรวมกองทัพคนงานได้ในชั่วข้ามคืน หรือ จ้างแรงงานเพิ่มเติมในระดับหมื่น ๆ คนได้ในไม่กี่ชั่วโมง

ตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องความยืดหยุ่นนี้ เกิดขึ้นกับ iMac เมื่อวิศวกรออกแบบของ Apple ได้เพิ่มปุ่มใหม่สำหรับเครื่องในยามดึก และปุ่มนั้นยังไม่ได้ทำการทดสอบดีนัก และวิศวกรก็กังวลว่าอาจจะมีปัญหาได้หากมีการผลิตออกมาจริง ๆ

แต่ที่ Foxconn พวกเขาสามารถเรียกคนงานมาได้ตลอดเวลา และสั่งให้ทดสอบปุ่มดังกล่าวตลอดทั้งคืนได้เพื่อให้ Apple สบายใจ ซึ่งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในยุคของ Jobs ที่มักจะปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาในนาทีสุดท้าย และ Foxconn ก็สามารถทำให้ Apple ได้นั่นเอง

ในปี 2002 เป็นเวลา 4 ปีหลังจากที่ Cook ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนอะไรหลาย ๆ อย่างใน Apple เขาได้รับการมอบหมายจาก Jobs ให้มาดูแลเรื่องการขายและการดำเนินงานควบคู่กันไปด้วย รวมถึงยังให้ไปดูแลงานด้านฮาร์ดแวร์ของ Macintosh เพิ่มอีกหนึ่งงาน

ก่อนที่ในปี 2005 Cook จะได้รับโปรโมตขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดที่เป็นรองเพียงแค่ Jobs คนเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ ตำแหน่ง COO กลายมาเป็นมือขวาของ Jobs อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญมาก ๆ ของ Cook ในอาชีพการทำงาน หลังฝากผลงานไว้มากมายจนเป็นที่ไว้วางใจของ Steve Jobs มากขึ้นเรื่อย ๆ

ต้องบอกว่า Cook นั้นรับผิดชอบมากกว่า COO ขององค์กรทั่วไป เนื่องจากต้องดูแลพนักงานกลุ่มใหญ่ที่สุด ที่มีขอบเขตงานกว้างขวางมาก ๆ แม้ Apple นั้นจะไม่ได้เปิดเผยผังองค์กรที่ชัดเจนออกมา แต่ทุกคนใน Apple รู้กันว่า ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ที่ Cook ดูแลอยู่นั้น มีเหล่าพนักงานในสังกัดกว่า 40,000 คน จากพนักงาน 50,000 คนที่ทำงานอยู่ในฐานบัญชาการหลักของ Apple ที่ คูเปอร์ติโน ซึ่งแน่นอนว่า Cook จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมของบริษัททั้งหมดนั่นเอง

แม้ว่า Jobs และ Cook นั้นจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาหลายปีก็ตาม แต่พวกเขาก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการจัดการอารมณ์ และวิธีในการจัดการและบริหารบริษัท

Jobs เป็นหนึ่งในคนอารมณ์ร้อน และเอาแต่ใจตัวเองมาก ๆ มีความเป็นศิลปินสูง ความคิดของเขาค่อนข้างเด็ดขาด หากมีปัญหากับซัพพลายเออร์ เขาก็จะยกหูโทรศัพท์ เพื่อโทรไปด่าได้ทันที และอาจจะด้วยคำที่หยาบเคยเลยด้วยซ้ำ ซึ่งเขาทำบ่อยมากในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่ง CEO ของ Apple

ส่วน Cook นั้น ต่างกันสุดขั้ว เขาเป็นผู้นำที่เงียบขรึมมาก ๆ เป็นคนที่สงบนิ่ง และ มั่นคง แต่จะพยายามค้นหาคำตอบผ่านคำถาม เพื่อรับรู้ปัญหาได้อย่างแท้จริง Cook มักจะเจาะลึกลงไปในปัญหาและให้แน่ใจว่าเหล่าพนักงานต้องรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ และผิดพลาดตรงไหน

ในฐานะ COO นั้น Cook คาดหวังว่าทีมงานของเขาจะทำงานอย่างหนักเป็นเชิงรุกและใส่ใจในทุกรายละเอียด เหล่าผู้จัดการภายใต้การบริหารของ Cook ก็ใช้เทคนิคหลาย ๆ อย่างในการเป็นผู้นำที่ได้เรียนรู้จาก Cook นั่นเอง

แต่แม้ Cook จะเน้นถึงความสำคัญของการใส่ใจในรายละเอียด และการแก้ปัญหา แต่ Cook ก็ไว้วางใจและมอบอำนาจให้พนักงานของเขาในการตัดสินใจด้วยตัวเอง เขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานของเขา เชื่อว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ และใช้ความพยายามให้มากขึ้น ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อแก้ไขกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

Tim Cook เริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ และดูแลพนักงานส่วนใหญ่ของ Apple
Tim Cook เริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ และดูแลพนักงานส่วนใหญ่ของ Apple

และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของ Cook ก็คือ เขาทำงานกับ Apple ให้เหมือนกับกีฬา งานของ Cook คือ รูปแบบของความอดทดในกีฬา และเห็นได้ชัดเจนว่าทุกสิ่งที่เขาทำแม้กระทั่งวิธีที่เขาตัดผมสั้น ทำให้นึกถึงวีรบุรุษนักกีฬาคนหนึ่งของ Cook อย่าง แลนซ์ อาร์มสตรอง

ในปี 2010 หนึ่งปีก่อนที่เขาจะกลายมาเป็น CEO เต็มตัวของ Apple เขาเคยกล่าวสุนทรพจน์ที่ Auburn Unversity ไว้ว่า “ในโลกของธุรกิจก็เปรียบเหมือนกีฬา ชัยชนะส่วนใหญ่จะถูกกำหนดก่อนเริ่มเกม เราไม่สามารถจะควบคุมจังหวะเวลาของโอกาสได้ แต่เราสามารถควบคุมการเตรียมการของเราได้” ต้องเรียกได้ว่าความหลงใหลในเรื่องกีฬาของ Cook เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของเขาที่ Apple นั่นเอง

สิบปีแรกในอาชีพของ Cook ที่ Apple แม้จะดูเหมือนค่อนข้างเงียบ แทบจะไม่มีคนรู้จัก เพราะทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ชายที่ชื่อ Steve Jobs แต่ Cook นั้นซ่อนตัวอยู่หลังม่านลับของ Apple อยู่ตลอดเวลา

แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่เขาต้องออกมาอยู่ฉากหน้า ก็คือ เมื่อ Jobs ถูกบีบบังคับให้ลาพักรักษาตัวในปี 2009 มันก็ถึงเวลาของ Cook เสียทีที่ต้องออกมาแสดงศักยภาพที่ตัวเขามี ให้โลกได้รู้ แน่นอนว่าถึงตอนนั้น Jobs ก็ไว้วางใจ Cook ถึงระดับสูงสุดแล้ว และพร้อมส่งมอบตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในการนำพา Apple เข้าสู่ยุคต่อไปให้กับเขานั่นเอง

มาถึงตอนนี้ก็ใกล้ที่จะถึงยุคเปลี่ยนผ่านของ Apple กันแล้วนะครับ ตัวของ Jobs เองก็เริ่มมีปัญหาทางด้านสุขภาพ ส่วน Cook นั้นก็ได้เรียนรู้ในแทบทุก ๆ อย่างที่ Apple ทำ ในฐานะ COO มาอย่างยาวนาน แล้วจะเกิดอะไรต่อไป กับเรื่องราวของชายที่ชื่อ Tim Cook กับ Apple ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีของโลก โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 6 : Stepping Forward

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.wired.it/economia/finanza/2016/08/25/apple-tim-cook-grafici/

ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 4 : The Operations Guy

Tim Cook ได้เข้าร่วมงานกับ Apple เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 1998 สถานการณ์ของ Apple ในขณะนั้น ไม่ใช่บริษัทที่น่าไปร่วมงานแต่อย่างใด สถานการณ์ทางการเงินอยู่ใกล้ภาวะล้มละลายเต็มที และขวัญกำลังใจของเหล่าพนักงานก็เริ่มต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ๆ

ตัว Steve Jobs เองเพิ่งกลับมาร่วมงานกับ Apple อีกครั้ง ในฐานะ CEO ชั่วคราว หรือ iCEO เรียกได้ว่าสิ่งเดียวที่ Apple เหลืออยู่ในขณะนั้นก็คือจิตวิญญาณ “Think Different” ที่กำลังมาอีกครั้งจาก Jobs แต่บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงภายในมากมาย และสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสินค้าหลักอย่างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดคอมพิวเตอร์ของ Apple นั้นลดลงจากร้อยละ 10 เหลือมาอยู่เพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น CEO ในขณะนั้นอย่าง Amelio ต้องทำการดึงตัว Steve Jobs กลับมากู้วิกฤติที่แสนสาหัสนี้อีกครั้ง

Jobs ต้องนำพา Apple กลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง และเริ่มแก้ไขสถานการณ์โดยยอมรับความจริงที่ว่า Amelio นั้น ทำสิ่งที่ผิดพลาด โดย Jobs เริ่มจัดการเหล่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำกำไร เช่น นิวตัน คอมพิวเตอร์มือถือรุ่นแรก ของ Apple ผลงานการสร้างสรรค์ของ John Sculley ผู้ซึ่งเป็นคนทำให้ Jobs ต้องออกจาก Apple ไปในครั้งแรก

นิวตัน เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาที่ Jobs เกลียดเข้าไส้
นิวตัน เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาที่ Jobs เกลียดเข้าไส้

Jobs เริ่มตัดสายของผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นออกไปจนเหลือเพียงแค่ 4 รุ่น โดยสองรุ่นแรกคือเครื่องคอมพิวเตอร์ Desktop สำหรับผู้บริโภคทั่วไป และ มืออาชีพ ส่วนอีกสองจะเป็นส่วนของเครื่องแบบพกพา แม้จะดูเสี่ยงมาก ๆ เพราะถ้าตัดเหลือ 4 รุ่นแล้วล้ม ความหมายก็คือ Apple คงเหลือไว้เพียงแค่ชื่อ เข้าสู่ภาวะล้มละลายอย่างแน่นอน

และแน่นอนว่าปัญหาใหญ่ของ Apple ที่เผชิญมาตลอดนั่นก็เรื่องของการวางแผนการผลิต รวมถึงเรื่องการจัดการสินค้าคงคลังต่าง ๆ ส่วนใหญ่นั้น Apple มักจะจ้างซัพพลายเออร์เฉพาะของตัวเองเท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนประกอบที่กำหนดเองและมีประสิทธิภาพสูง ไม่มีการวางจำหน่ายให้คู่แข่ง และ ไม่สามารถคัดลอก หรือ เลียนแบบได้ง่าย

แต่มันเหมือนเป็นดาบสองคม เพราะ การวางแผนการผลิตจะยากมาก ๆ ความยืดหยุ่นในการผลิตน้อย การประเมินคำสั่งซื้อล่วงหน้าเป็นไปได้ยาก และจะเกิดหายนะขึ้นทันทีหากมีการคาดการคำสั่งซื้อที่ผิดพลาด

เกิดเหตุการณ์ที่เหล่านักลงทุนของ Apple เกลียดอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็คือ เมื่อยามที่ Apple มีผลิตภัณฑ์ที่ร้อนแรง แต่มันไม่สามารถส่งไปถึงมือลูกค้าได้เนื่องจากปัญหาเรื่องการผลิตของ Apple นั่นเอง

และเมื่อ Jobs กลับมาอีกครั้งในปี 1997 เขาตั้งใจแน่วแน่ ว่าจะไม่ให้เห็นความผิดพลาดเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก และเริ่มมองหาการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ ด้านในเรื่องการปฏิบัติการของ Apple

แม้ก่อนหน้านั้น Cook จะปฏิเสธนายหน้าของ Apple หลายต่อหลายครั้งแล้วก็ตาม เพราะตัว Cook เองก็มีความสุขดีที่ Compaq แต่อย่างน้อยเขาคิดว่าควรจะเข้าไปเจอ Jobs ซักครั้งเพราะชายผู้นี้ เป็นหนึ่งในตำนานผู้สร้างอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์นี้ขึ้นมานั่นเอง

แต่เมื่อเขาได้เข้าไปนั่งฟังกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ของ Jobs สำหรับ Apple ในการพบกันจริง ๆ ครั้งแรก เขาก็ถูกโน้มน้าวโดย Jobs ให้มามีส่วนร่วมของภารกิจเปลี่ยนโลกครั้งใหม่ของ Jobs ซึ่งจะเปลี่ยนแนวคิดของคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นแนวคิดที่ไม่เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่เคยเห็นมาก่อน

และเมื่อ Jobs ได้เจอกับ Cook นั้น เขาก็เข้าใจทันทีว่าพวกเขาแบ่งปันมุมมองเดียวกันในเรื่องการผลิต ซึ่งสุดท้ายทำให้ให้ Cook คล้อยตามและมาร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับ Jobs ในที่สุด และถือเป็นการจับคู่ที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งนึงในวงการคอมพิวเตอร์โลก

ในขณะนั้น Cook มีอายุ 37 ปี ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple ในตำแหน่ง รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการทั่วโลก ซึ่งเขาได้รับงานใหญ่มาก ๆ ในการรื้อระบบการผลิต และจำหน่ายของ Apple ทั้งหมด และุถือว่าเป็นงานที่ท้าทายเขาที่สุดตั้งแต่เริ่มทำงานมาเลยก็ว่าได้

ซึ่งเพียงแค่ 7 เดือนหลังจากที่ Cook ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple เขาก็สามารถที่จะลดสินค้าคงคลัง จากราวๆ 30 วัน เหลือเพียงแค่ 6 วันเท่านั้น ซึ่งในช่วงเวลาสั้น ๆ เขาได้ทำการปรับปรุงระบบการปฏิบัติการของ Apple โดยให้ความสำคัญกับรายละเอียดแทบจะทุกขั้นตอนการผลิต

Cook นั้นได้เน้นการลดซัพพลายเออร์ลงให้เหลือเพียงไม่กี่ราย เขาไปเยี่ยมซัพพลายเออร์แต่ละราย ตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องนึงเช่น การที่ Cook โน้มน้าวให้ NatSteel ผู้ผลิตแผงวงจรที่เป็น Outsource ของ Apple ย้ายมาตั้งโรงงานใกล้กับโรงงานของ Apple ใน ไอร์แลนด์ แคลิฟอร์เนีย และ สิงคโปร์

ซึ่งการย้ายซัพพลายเออร์เข้ามาใกล้โรงงานนั้นทำให้กระบวนการ JIT (Just-in-time) ทำได้ง่ายขึ้นมาก เนื่องจากส่วนประกอบสามารถส่งมอบได้รวดเร็วขึ้นและมีความถี่ที่มากขึ้นนั่นเอง

และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือการ outsource ออกไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของ Apple นั่นคือ ปัญหาเรื่องสินค้าคงคลัง ซึ่งสร้างภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลให้กับ Apple ซึ่งต้นทุนสินค้าคงคลังเหล่านี้เองที่ทำให้ Apple เกือบเข้าสู่ภาวะล้มละลายมาแล้ว

และเพื่อรองรับการคาดการณ์การผลิต Cook ได้ลงทุนในระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) ที่ทันสมัยที่สุดจาก SAP ที่สามารถเชื่อมโยงโดยตรง เข้าสู่ระบบไอที ที่เหล่าซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนของ Apple ใช้งานอยู่

ไม่ว่าจะเป็นโรงงานประกอบ หรือ ทางฝั่งร้านค้าปลีก ระบบที่ซับซ้อนทำให้ทีมปฏิบัติงานของ Cook ได้เห็นมุมมองที่ชัดเจนของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ตั้งแต่วัตถุดิบ จนถึงคำสั่งซื้อของลูกค้าที่ร้านค้าออนไลน์ใหม่ของ Apple ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเพียงไม่นาน

R/3 ERP เป็นระบบประมวลผลส่วนกลางของการผลิตแบบใหม่ ที่รวดเร็วและทันเวลาของ Apple ชิ้นส่วนถูกสั่งจากซัพพลายเออร์เมื่อจำเป็นเท่านั้น และโรงงานผลิตก็สามารถสร้างกำลังการผลิตที่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ทันที

Tim Cook มีบทบาทสำคัญในการพลิกกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งของ Apple
Tim Cook มีบทบาทสำคัญในการพลิกกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งของ Apple

ภายใต้การนำของ Cook เวลาในสินค้าคงคลังของ Apple ลดลังจากเป็นเดือน ๆ เหลือเพียงไม่กี่วัน เพียงแค่ 7 เดือน ต้นทุนในการจัดการเรื่องสินค้าคงคลังลดลงจาก 400 ล้านเหรียญ เหลือเพียงแค่ 78 ล้านเหรียญ

Cook ได้รับเครดิตเป็นอย่างมาก ในการมีบทบาทสำคัญให้ Apple สามารถกลับมาทำกำไรได้สำเร็จ ซึ่งระบบที่เขาได้วางไว้นั้นเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของ Apple ในอีกหลายปีต่อมา ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า Apple จะไม่มีวันเติบโตอย่างยิ่งใหญ่และมั่นคงมาได้จนถึงทุกวันนี้หากปราศจากความเป็นเลิศของชายที่ชื่อ Tim Cook ที่ช่วยกู้สถานการณ์ด้านการปฏิบัติการในเรื่องการผลิตของ Apple ไว้ได้สำเร็จ

ซึ่งในที่สุดมันก็ได้ทำให้สถานการณ์ของ Appleกลับมาอยู่ในจุดที่ควรจะเป็นอีกครั้ง สามารถผ่านจุดวิกฤติครั้งสำคัญที่เกือบจะล้มละลายมาได้สำเร็จ เริ่มสร้างกำไรได้ และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งเสียที แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับ Cook และ Apple อย่าพลาดติดตามต่อตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 5 : The Outsourcer

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***