ROKR phone กับการเข้าสู่ตลาดมือถือครั้งแรกของ Apple

ต้องบอกว่าก่อนการถือกำเนิดขึ้นของ iPhone นั้น Apple เป็นบริษัทที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเข้าสู่ธุรกิจใหม่ อย่างการผลิตโทรศัพท์มือถือ

มีหลากหลายเหตุผลที่ Apple นั้นไม่น่าจะเป็นบริษัทที่สามารถผลิตโทรศัพท์ขึ้นมาได้ สิ่งแรกคือเรื่องของ Knowhow ต่าง ๆ ในเรื่องมือถือ นั้น ต้องเรียกได้ว่า Apple แทบจะไม่เคยย่างกายเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้เลยด้วยซ้ำ

หรือการครองตลาดอย่างเบ็ดเสร็จของ Nokia ที่มีทีมงานที่พร้อมทุกอย่างทั้งเรื่อง Hardware , Software รวมถึง Knowledge ด้านโทรคมนาคม คงเป็นเรื่องยากที่ใครจะสามารถล้ม Nokia ลงได้ในยุคนั้น

แนวคิดแรกของ Apple กับมือถือนั้น เป็นเพียงการร่วมเป็น Partner กับ โมโตโรลล่า เพื่อผลิตมือถือ เพื่อนำ iTunes เข้าไปลงเป็นส่วนของ Software จัดการเพลงเพียงเท่านั้น

ตลาดโทรศัพท์มือถือนั้น เป็นตลาดที่ใหญ่โตมหาศาล เมื่อเทียบกับตลาดเครื่องเล่นเพลงแบบดิจิตอลที่ Apple ประสบความสำเร็จกับเครื่องเล่นเพลงอย่าง iPod แต่เรียกได้เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของตลาด Consumer Product เพียงเท่านั้น

ทั้ง Apple และ Motorola จึงได้ร่วมกันพัฒนา ROKR มือถือรุ่นใหม่ของ Motorola และยังได้ร่วมมือกับ  Cingular ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นค่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของอเมริกา และหวังจะลองชิมลาง เขาสู่ตลาดที่ใหญ่โตมหาศาลอย่างตลาดโทรศัพท์มือถือ

Apple ชิมลางในตลาดมือถือครั้งแรกด้วย ROKR Phone
Apple ชิมลางในตลาดมือถือครั้งแรกด้วย ROKR Phone

แต่กระบวนการสร้าง มือถือ ROKR นั้น เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ด้วยการที่ต้องมีการร่วมมือกันของหลาย ๆ บริษัทที่เกี่ยวข้อง ระบบบริหารที่ล้าหลังของ Motorola ก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญในการกีดขวางกระบวนการออกแบบ

ซึ่งแน่นอนว่าวัฒนธรรมองค์กร มันไม่เหมือนกับ Apple ที่เน้นที่ประสบการณ์ของผู้ใช้งานเป็นหลัก สุดท้าย ROKR มันได้กลายเป็นมือถือที่ห่วยแตก เหมือนสินค้าด้อยคุณภาพ ไม่ต่างจาก iPod ห่วย ๆ ที่มีฟังก์ชั่นในการโทรศัพท์ได้นั่นเอง

รวมถึงรูปแบบการโอนเพลงเข้าโทรศัพท์ที่ใช้สาย USB กับคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมต่อกับ iTunes ซึ่งแน่นอนว่าจ๊อบส์ อยากให้ Ecosystem ของ Apple นั้นคงไว้เหมือนกับที่ทำสำเร็จกับ iPod

แต่มันเป็นที่ถูกใจของบริษัทเครือข่ายมือถืออย่าง Cingular ที่ต้องการขายเพลงผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของพวกเขาเท่านั้น และมันได้ทำให้เรื่อง Promotion ที่ปรกติต้องทำกับเครือข่ายนั้นถูกตัดออกทันที ทำให้ผู้ซื้อที่ต้องการใช้ ROKR นั้นต้องจ่ายราคาเต็มของมือถือที่ 250 ดอลลาร์ แถมยังต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนอีกด้วย

ซึ่งแน่นอนว่า ROKR นั้นมันคือหายนะอย่างสิ้นเชิง สำหรับ Apple ในการที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดโทรศัพท์มือถือ ทำให้ จ๊อบส์นั้นหงุดหงิดหัวเสียกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่ ต้องการจะตัดคนกลางทั้งหลายออกจากวงจรนี้

Apple นั้นต้องการควบคุมทุกอย่างแบบเบ็ดเสร็จ แบบที่พวกเขาทำได้กับ iPod ทั้ง Hardware , Software หรือแม้กระทั่งเครือข่ายโทรศัพท์ก็ตาม และสามารถที่จะนำผลิตภัณฑ์ของ Apple ส่งไปถึงมือของลูกค้าได้โดยตรงนั่นเอง

และไม่ใช่ว่าในช่วงนั้นจะไม่มีคู่แข่งเลยเสียทีเดียวสำหรับ บริษัทมือถือที่ต้องการเข้ามาลุยในตลาดเพลง แน่นอนว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Nokia ก็ได้ออก Nokia N91 ที่สามารถเก็บเพลงได้กว่า 1,000 เพลง คล้าย ๆ iPod Mini แต่สุดท้าย Nokia ก็ไม่สามารถที่จะผลักดันตัวเองให้เข้าไปสู่ธุรกิจเพลงอย่างที่คาดหวังได้เช่นกัน เพราะ เหล่าค่ายโทรศัพท์มือถือในสหรัฐอเมริการไม่ยอมนั่นเอง

Nokia ที่ออก N91 มาท้าชน
Nokia ที่ออก N91 มาท้าชน

ซึ่งในตอนนี้เราจะเห็นได้ถึีงบทสรุปของการลุยเข้าไปสู่ตลาดมือถือของ Apple ครั้งแรกนั้น ต้องจบลงด้วยความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะ ROKR ไม่ได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีเหมือนที่ลูกค้าคาดหวังจาก Apple และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความตกต่ำของ Motorola ในคราเดียวกัน

แต่อย่างน้อย ROKR ได้กลายเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าของทีมงาน Apple ทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะตัวจ๊อบส์เอง และมันได้ทำให้จ๊อบส์นั้นค้นพบว่า Apple ควรทำอะไรที่แท้จริงในตลาดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งแน่นอนว่าจ๊อบส์ จะไม่ยอมให้ใครมาครอบงำการสร้างผลิตภัณฑ์ของ Apple อีกต่อไปมันได้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ว่าหาก Apple ไม่สามารถ Control ทุกอย่างได้เหมือนที่พวกเขาเคยทำ หายนะก็มาเยือนอย่างที่ประสบพบเจอกับมือถือ ROKR นั่นเอง

References : https://www.marketwatch.com/story/facebook-home-is-zuckerbergs-rokr-2013-04-10
https://www.gsmarena.com/flashback_the_motorola_rokr_e1_was_a_dud_but_it_paved_the_way_for_the_iphone-news-38934.php

Geek Story EP15 : Xerox กับบทเรียนครั้งสำคัญในการสร้างนวัตกรรมให้กับผู้อื่น

Xerox เป็นบริษัทแรก ๆ ที่สร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีหน้าจอ คีย์บอร์ด เมาส์ และ GUI ที่เรียกว่า Xerox Alto ซึ่งในปี 1973 ในช่วงเวลาที่ผู้คนยังคงคิดว่าคอมพิวเตอร์เป็นเมนเฟรมขนาดใหญ่ในห้องคอมพิวเตอร์

Xerox ได้สร้างเครื่องจักรที่ปฏิวัติวงการอย่างบ้าคลั่งในยุคนั้น และมันทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ มากมายที่เปลี่ยนแปลงโลกเราอย่างที่ไม่เคยเป็นมากก่อน แล้วมันเกิดอะไรขึ้น? ที่พวกเขาแทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมัน

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/2PDoJdE

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/2lEqPPg

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://bit.ly/31A0OBs

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/2PALwqz

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/T8X5bBTHl0Y

iPhone กับการทำลายล้างมาเฟียผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการเครือข่ายมือถือ

ถามว่าก่อนยุคที่ iPhone จะได้ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2007 นั้นสิ่งใดเป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้กับวงการมือถือมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น เหล่า มาเฟีย แห่งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้งหลายที่มีกระจายอยู่ทั่วโลก ที่เป็นตัวคั่นกลางระหว่างเหล่าผู้ผลิตบริษัทมือถือกับผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าโดยตรง

ซึ่งแม้ว่าในช่วงก่อนปี 2007 เทคโนโลยีต่าง ๆ มันจะได้รับการพัฒนาไปไกลมากแล้วก็ตาม แต่เราจะเห็นได้ว่า ธุรกิจมือถือยังเป็นอะไรที่ล้าหลังเป็นอย่างมากในหลาย ๆ เรื่องแม้กระทั่งการเล่นเว๊บไซต์ต่าง ๆ ก็เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานของผู้ใช้งานทั่วโลก ที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทั่วโลกผ่านทางอุปกรณ์ที่พกติดตัวเราอยู่ตลอดเวลาอย่างมือถือนั่นเอง

ในขณะนั้น ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกต่างคุ้นเคยกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ Broadband กันแล้ว แต่ค่าบริการข้อมูลแบบ 3G ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเหมือนได้ย้อนตัวเองกลับไปสู่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยุคโมเด็มผ่านสายโทรศัพท์

แน่นอนว่าเหล่ามาเฟียเครือข่ายเหล่านี้ คอยจ้องแต่จะคิดค่าบริการต่าง ๆ แทบทุกอย่าง มีการคิดค่าบริการการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นนาทีที่ใช้งาน แต่ผู้บริโภคกลับได้รับการบริการจากอินเทอร์เน็ตที่ห่วยแตกกว่าการใช้โทรศัพท์บ้านเสียอีก

เพราะเว๊บต่าง ๆ ที่โหลดมานั้นเป็นเว๊บที่ไร้คุณภาพเนื่องจากปริมาณข้อมูลที่มีจำนวนมากทำให้เหล่าผู้ให้บริการไม่อยากเสีย bandwidth ไปกับบริการเหล่านี้ และทำการชาร์จเงินกับผู้บริโภคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การเล่นเว๊บผ่านมือถือ ที่ไร้ซึ่งคุณภาพ
การเล่นเว๊บผ่านมือถือ ที่ไร้ซึ่งคุณภาพ

แต่ iPhone ของ Apple ได้มาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง Apple ต้องการให้ iPhone นั้นใช้ปริมาณข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด และทำการเจรจากับ Cingular ที่เป็นเครือข่ายโทรศัพท์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นหลายครั้ง

สุดท้ายได้มีการประกาศรูปแบบการจ่ายค่าบริการมือถือแบบให้ปริมาณข้อมูลไม่จำกัด ซึ่งสูงกว่าแบบโทรศัพท์โทรเข้าออกเพียงอย่างเดียวราว ๆ 20 ดอลลาร์ต่อเดือน โดย Cingular (ตอนหลังกลายมาเป็น AT&T) จะได้รับเงินบางส่วนจากการดาวน์โหลดทาง iTunes ขณะที่ทาง Apple นั้นได้ส่วนแบ่งจากค่าบริการรายเดือนของ iPhone แต่ละเครื่องที่เชื่อมต่อกับ Cingular

และนี่เองได้เป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญของเหล่ามาเฟียเครือข่ายมือถือทั้งหลายทั่วโลก โดย Apple ได้เปลี่ยนบทบาทของเหล่าเครือข่ายโทรศัพท์ ให้เป็นเพียงแค่ทางผ่านของโลกโทรศัพท์มือถือยุคใหม่หลังการเกิดขึ้นของ iPhone ให้พวกเขาเป็นเพียงแค่ท่อส่งข้อมูลระหว่างมือถือของลูกค้ากับโลกอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

ทำให้เหล่าเครือข่ายมือถือไม่สามารถที่จะไปชาร์จค่าบริการใด ๆ กับลูกค้าได้อีก เรียกได้ว่า เป็นครั้งแรกที่เหล่ามาเฟียมือถือต้องมาง้อ บริษัทมือถืออย่าง Apple ซึ่งไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนเลยในธุรกิจมือถือ

iPhone ที่มาพร้อมแผนที่ของ Google และ การท่องเว๊บที่แสนง่ายดาย ได้กลายเป็นหายนะของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่ตอนแรกได้วางแผนที่จะคิดค่าบริการการเข้าถึงข้อมูลแผนที่ผ่านเครือข่ายมือถือ

ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อแผนธุรกิจของ Nokia ที่ตอนนั้นเพิ่งซื้อ Navteq บริษัทแผนที่ยักษ์ใหญ่มาในราคาสูงถึง 8.1 พันล้านดอลลาร์  โดยหวังจะได้รายรับกลับคืนมาด้วยการขายบริการแผนที่ให้บรรดาค่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลกนั่นเอง

Navteq ที่ Nokia หวังที่จะมาสร้างรายได้กับกับบริษํท
Navteq ที่ Nokia หวังที่จะมาสร้างรายได้กับกับบริษํท

Apple ได้พยายามอย่างหนักเพื่อเปลี่ยนอุตสาหกรรมมือถือไปแนวทางที่ตัวเองต้องการ เป็นครั้งแรกที่เหล่ามาเฟีย เครือข่ายโทรศัพท์มือถือเริ่มหวาดกลัวกับการเข้ามาของ Apple ซึ่งพวกเขาประเมิน Apple ไว้ต่ำมาก ๆ ในตอนแรก

Apple กลายเป็นราชาแห่งวงการมือถือ ทุกเครือข่ายต้องเข้ามานำเสนอสิ่งที่เย้ายวนใจให้ Apple เพื่อร่วมธุรกิจกัน Apple ทำให้ทุกอย่างนั้นกลับตาลปัตรไปหมด เพราะตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2007 นั้น ไม่มีผู้ผลิตมือถือรายใดกล้ากำหนดเงื่อนไขกับบรรดาค่ายมือถือต่าง ๆ 

Nokia เป็นยักษ์ใหญ่มือถือเจ้าเดียวที่เคยลองทำแบบ Apple มาก่อน แล้วก็ได้บทเรียนครั้งสำคัญจากการนำโทรศัพท์ที่สามารถเล่นเพลงได้เข้าไปสู่ตลาดอเมริกา โดย Nokia ได้เคยพยายามรวมรวมข้อมูลลูกค้าที่เป็นเจ้าของโทรศัพท์เข้ามาในระบบของตัวเอง โดยไม่ผ่านค่ายโทรศัพท์มือถือ

แต่เหล่ามาเฟีย เครือข่ายมือถือ ยื่นคำขาดให้ Nokia หยุดการกระทำนั้นทันที โดย Nokia ต้องยอมทำตามแต่โดยดี เพราะไม่งั้นจะถูกแบนโดยเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของมาเฟียเครือข่ายมือถือเหล่านี้นั่นเอง

จะเห็นได้ว่า หลังการเกิดขึ้นของ iPhone นั้นไม่เพียงแค่ปฏิวัติแค่วงการผู้ผลิตมือถือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่ได้สร้างมือถือที่มีความแตกต่างออกมาเท่านั้น แต่ได้กำจัดเหล่ามาเฟียเครือข่ายมือถือ ที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนานวัตกรรมให้กับวงการมือถือโลกมาอย่างยาวนานได้อย่างราบคาบ

มันได้ทำให้เปลี่ยน ecosystem ใหม่ทั้งหมดของ Supply Chain ของธุรกิจมือถือ ให้ทุกส่วนนั้น ทำงานที่ควรจะทำ ไม่มายุ่งย่ามกับส่วนของธุรกิจอื่น ๆ อย่างที่เหล่าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเคยทำมาในอดีต และที่สำคัญมันได้ทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากปลดแอกจากเหล่ามาเฟียเครือข่ายมือถือเหล่านี้ได้สำเร็จนั่นเองครับ

Apple ยุคใหม่กับการบริหารซัพพลายเชนระดับเทพของชายที่ชื่อ Tim Cook

ในปี 1998 Steve Jobs กำลังประสบปัญหาร้ายแรงที่สุด บริษัทที่เขาก่อตั้งเมื่อยี่สิบปีก่อนหน้านั้นกำลังจะถึงคราวล่มสลาย ด้วย ผลิตภัณฑ์ที่ล้มเหลว, และการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง จน Apple แทบจะไม่มีเหลือที่ยืนบนตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

แม้ Jobs ได้กลับมาเป็นผู้นำของ บริษัท เขาค่อย ๆ จ้องมองที่เรือที่กำลังจะจมอย่างไม่หยุดยั้งโดยมุ่งเน้นไปที่การออกแบบ และการใช้งาน แต่ระบบการผลิตและซัพพลายเชนของ บริษัท นั้นยุ่งเหยิงเกินกว่าความสามารถของเขา และเขาไม่สามารถเห็นวิธีการที่จะแก้ไขมันได้เลย

ดังนั้นเขาจึงหันไปหา Tim Cook ผู้มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ 16 ปีด้วยความมุ่งมั่นอย่างจริงจังในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน Cook เป็นคนบ้างานที่รักความสงบ และอารมณ์ดี

Cook ได้มาทำหน้าที่ใหม่ด้วยการเจรจาข้อตกลงด้านนวัตกรรมกับผู้ผลิตที่ทำสัญญาในจีนและที่อื่น ๆ ที่จะดึง Apple ออกจากธุรกิจการผลิต 

Tim Cook บุกจีนเจรจาต่อรองที่ส่งผลต่อธุรกิจ Apple เป็นอย่างมาก
Tim Cook บุกจีนเจรจาต่อรองที่ส่งผลต่อธุรกิจ Apple เป็นอย่างมาก

และเมื่อ Cook เข้ามา Apple ก็เริ่มมียอดขายที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีเงินสดสำรองที่หลายบริษัทรู้สึกอิจฉา ซึ่งส่งผลดีต่อเหล่าซัพพลายเออร์ที่ทำสัญญากับ Apple ที่ต้องการกระแสเงินสดที่มั่นคงเหนือสิ่งอื่นใดเพื่อป้องกันความไม่แน่นอน 

เมื่อรู้สิ่งนี้ Cook ได้แลกเปลี่ยนสัญญาระยะยาวที่มีกำไรกับผู้ผลิตที่ทำให้ Apple สามารถควบคุมกระบวนการผลิตได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ แม้แต่ในกรณีที่ Apple ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเลยก็ตาม

Cook ลดจำนวนซัพพลายเออร์หลักลง 75% และเจรจาต่อรองขอให้บางรายย้ายเข้าไปใกล้โรงงานในเครือของ Apple เพื่อลดต้นทุนและจัดลำดับความสำคัญของพวกเขาให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นกับ Apple 

เหล่าผู้บริหารระดับสูงที่เป็นลูกน้องของ Cook หลายคน ตกตะลึงกับความสามารถของ Cook ที่เจรจาความสัมพันธ์ด้านซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อ Apple โดยหนึ่งในรองประธานฝ่ายวิศวกรรม ได้กล่าวว่า “เมื่อผมอยู่ที่นั่น Cook ได้ตัดสินใจในสิ่งที่เราต้องการและมันเป็นหน้าที่ของการจัดการผลิตภัณฑ์และการจัดการอุปทานเพื่อให้ได้มัน มันแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในลำดับความสำคัญทั้งหมดที่มีต่อกระบวนการผลิตของ Apple” การเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการเจรจาอย่างชาญฉลาดของ Tim Cook

ยกตัวอย่างเช่นในปี 2005 เมื่อ Apple เปิดตัว iPod Nano ที่ใช้หน่วยความจำแบบ Flash Cook ได้เตรียมความพร้อมกับแหล่งซัพพลายเออร์ของหน่วยความจำ Flash ของ Apple ไว้ที่ 1.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการซื้อผลิตภัณฑ์จากคู่แข่งอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ Apple มีกำลังการผลิตที่พร้อมยาวนานถึง 5 ปี

Ipod Nano ที่ต้องเปลี่ยนมาใช้หน่วยความจำแบบ Flash
Ipod Nano ที่ต้องเปลี่ยนมาใช้หน่วยความจำแบบ Flash

อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจก็คือ เมื่อนักออกแบบของ Apple ต้องการติดตั้งไฟสีเขียวเพื่อแสดงเมื่อมีเปิดกล้องของ Notebook รุ่นใหม่ ซึ่งพวกเขาต้องการเลเซอร์จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 250,000 ดอลลาร์ในการตัดรูขนาดเล็กในปลอกอลูมิเนียมของคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการผลิต

Cook ได้เจรจาต่อรองข้อตกลงพิเศษกับซัพพลายเออร์และไปซื้อเลเซอร์หลายร้อยชิ้นซึ่งทำให้เหล่าซัพพลายเออร์นั้นมีความพึงพอใจ ในขณะที่ยังคงรักษาการออกแบบที่สำคัญ และจัดการซัพพลายเชนของ Apple ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดอีกครั้ง

จากนั้น Cook ได้เห็นว่าสินค้าคงคลังสูญเสียมูลค่าระหว่าง 1-2% ของมูลค่าในแต่ละสัปดาห์และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัท  Cook แก้ปัญหาโดยใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานของเขาและทำให้การผลิตของ Apple คล่องตัวขึ้น จนถึงจุดที่สินค้าถูกส่งโดยตรงจากโรงงานไปยังผู้บริโภคได้แบบทันทีทันใด

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น Cook เริ่มเรียกร้องให้มีการป้อนข้อมูลในการออกแบบส่วนประกอบ เช่นการ์ดหน่วยความจำแฟลช ชิปเซ็ต และเคสคอมพิวเตอร์ที่โดยทั่วไปแล้วคู่ค้าของ Apple นั้นมักจะได้รับการปฏิบัติเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการเจรจาต่อรองกันอย่างมาก 

ซึ่งผลที่ตามมาคือการเจรจาต่อรองกับซัพพลายเออร์กลายเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ Tim Cook สามารถใช้เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ของ Apple กับคู่แข่ง และสามารถเพิ่มกำไรที่สูงขึ้นให้กับ Apple ได้ในท้ายที่สุดนั่นเอง 

Cook มองเห็นสิ่งต่าง ๆ เร็วกว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Apple แค่เพียงความงามเรื่องการ Design นั้นไม่ได้ตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ทั้งหมด แต่การสามารถส่งมอบได้ตรงเวลาและในราคาที่แข่งขันได้ต่างหาก คือ รากฐานที่สำคัญที่สุดของ Apple ยุคใหม่นั่นเองครับ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลย ที่ว่า ทำไม Steve Jobs ถึงมอบความไว้วางใจสูงสุดให้กับชายคนนี้นั่นเองครับผม

–> อ่าน Blog Series : ประวัติ Tim Cook

References : https://www.everythingsupplychain.com/apple-ceo-tim-cook-supply-chain-guru/
https://www.tradegecko.com/blog/supply-chain-management/apple-the-best-supply-chain-in-the-world
https://www.cips.org/supply-management/analysis/2016/february/tim-cook-the-cool-customer-behind-apples-supply-chain-success/