ประวัติ Bill Gates ตอนที่ 11 : Glorious Failure

แม้สถานการณ์ในช่วงที่การแข่งขันด้านมือถือ smartphone กำลังขับเคี่ยวกันอย่างสนุก และ ณ ช่วงเวลาดังกล่าว Steve Ballmer ได้ขึ้นมากุมบังเหียนใหญ่เป็น CEO ของ Microsoft อยู่ในขณะนั้น แต่ต้องบอกว่า Bill Gates ในฐานะประธานบริษัท ก็ยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์แทบจะทั้งหมดของ Microsoft อยู่

ฟากฝั่ง Android จาก Google นั้นเริ่มต้นใหม่ด้วยแนวคิดแบบจอสัมผัส ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่ Apple ประสบความสำเร็จกับ iPhone ซึ่ง Android ได้ทำการเปิดตัวมือถือรุ่นแรกคือ HTC G1 โดยเปิดตัวไปเมื่อเดือนตุลาคมปี 2008 

HTC G1 มือถือ Android รุ่นแรกของ Google ที่ดูไม่มีแววว่าจะรุ่ง
HTC G1 มือถือ Android รุ่นแรกของ Google ที่ดูไม่มีแววว่าจะรุ่ง

มันแทบจะไม่มีอะไรพิเศษในแง่ของ Hardware แุถมยังมีแป้นพิมพ์แบบเลื่อนได้คล้าย ๆ มือถือของ Nokia ด้วยซ้ำ และความสามารถในการใช้จอแบบสัมผัสก็ดูต่างจาก iPhone ราวฟ้ากับเหว มันเหมือนรุ่น เบต้า ของ iPhone เสียมากกว่าที่จะมาเป็นคู่แข่งกับ iPhone

แม้จ๊อบส์ จะโมโหมากที่ Google มาทำ Android ออกมาเพื่อแข่งกับ iPhone เพราะตอนแรกทั้งสองเหมือนจะเป็น พาร์ทเนอร์กันมากกว่า แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองได้ขาดสะบั้นลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว Google ก็ต้องการที่ยืนในตลาด smartphone เช่นเดียวกัน ดีกว่าการไปผูกชะตาชีวิตไว้กับ iPhone ของ Apple ที่จะนำบริการของพวกเขาออกไปเมื่อไหร่ก็ได้

แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Android ที่ทำให้พวกเขาสามารถแจ้งเกิดได้สำเร็จในวงการมือถือโลก น่าจะมาจาก Samsung ที่ได้ลองเปลี่ยนจาก Symbian มาใช้ Android โดยรุ่นแรกที่ได้ใช้ชื่อตระกูล Samsung Galaxy คือรุ่น “Samsung I7500 Galaxy” ที่ได้ถูกเปิดตัวครั้งแรกในปี 2009

โดยกลายเป็น smartphone รุ่นแรกของค่ายที่รันบนระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชั่น 1.5 (Cupcake) ซึ่งต่อมาทาง Samsung ยังคงพัฒนา smartphone ของตัวเองอย่างต่อเนื่องด้วยการเปิดตัวสมาร์ทโฟนในตระกูล Galaxy รุ่นใหม่อย่าง Samsung Galaxy S

และช่วยให้ผู้คนเริ่มหันมามอง Android เพราะเริ่มมี Features ที่ดูคล้าย iPhone เข้าไปทุกที ในสนนราคาที่ต่ำกว่า และ Galaxy S ก็กลายเป็นมือถือที่ทำให้เห็นศักยภาพของ Android อย่างแท้จริงนั่นเอง

และความชัดเจนมันได้เริ่มเกิดขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 2009 Android เริ่มเติบโตขึ้นทั่วโลก มีการขายโทรศัพท์ Android ไปได้กว่า 4 ล้านเครื่อง ซึ่งในขณะนั้นได้ขึ้นมาทาบรัศมีของ Windows Mobile ที่ยอดขายใกล้เคียงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่น่ากลัวมาก ๆ ของ Android ในช่วงนั้น

ในขณะที่ Android กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ฝั่ง Microsoft ก็ได้เริ่มตระหนักแล้วว่าสถานการณ์ของ Windows Mobile เริ่มจะมีปัญหาครั้งใหญ่ เหล่าผู้บริหารของ Microsoft เริ่มรู้ตัวว่า Windows Mobile นั้นไม่สามารถแข่งขันกับ smartphone รุ่นใหม่ ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น iPhone จอสัมผัส หรือ ระบบปฏิบัติการน้องใหม่อย่าง Android

จึงได้เริ่มมีความคิดที่จะสร้าง แพลตฟอร์ม มือถือใหม่ ที่เป็นจอสัมผัสบ้าง โดยจะใช้ code name ว่า “Windows Phone” ซึ่งจะมีการ Design Interface ของหน้าจอรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Metro” และหันมาใช้เทคโนโลยีของตัวเองในการสร้างระบบปฏิบัติการใหม่นี้ขึ้นมาแทน

Metro UI ของ Windows Phone ที่เหล่านักพัฒนาร้องยี้
Metro UI ของ Windows Phone ที่เหล่านักพัฒนาร้องยี้

และสถานการณ์ของ Nokia ที่แม้จะยังคงเป็นผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ แต่กราฟการเติบโตของพวกเขาเริ่มดิ่งลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในตลาด smartphone ที่ Symbian โดนแย่งชิงตลาดจากทั้ง Android และ iOS ของ Apple อย่างหนัก จนต้องมีการปลด CEO คนเก่าออกแล้วตั้ง Stephen Elop ที่เป็นอดีตลูกหม้อของ Microsoft ขึ้นมากุมบังเหียนแทน

ซึ่งสุดท้าย Elop ที่ด้วยความเป็นลูกหม้อเก่าของ Microsoft ก็ได้ตัดสินใจว่าจะร่วมวงกับ Microsoft ในการผลักดัน Windows Phone และรอให้ Windows Phone นั้นสมบูรณ์พร้อมซึ่งคาดว่าน่าจะภายในปี 2012

โดยทั้ง 2 บริษัทจะใช้ระบบปฏิบัติการ Windows Phone เป็นแพลทฟอร์มหลักของ smartphone ของ Nokia โดย Nokia จะอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการปรับแต่งฮาร์ดแวร์ การเลือกสรรซอฟต์แวร์ ภาษาที่รองรับและขีดความสามารถในการผลิตและการเข้าถึงตลาด

นอกจากนี้จะร่วมกันให้บริการเพื่อขับเคลื่อนสินค้าใหม่ ๆ เช่น Nokia Maps ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของบริการเด่นของ Microsoft อย่าง Bing และ AdCenter แอพพลิเคชั่นและคอนเทนท์ของ Nokia จะรวมเข้ากับ Microsoft Marketplace ด้วยเช่นกัน

แต่ดูเหมือนกลยุทธ์ดังกล่าว ก็ไม่ได้ทำให้ Nokia สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด จนสุดท้าย Microsoft ก็ได้เดินเกมเดิมพันครั้งสุดท้ายในตลาดมือถือ smartphone ด้วยการเข้า Take Over เอา Nokia มาครอบครองได้สำเร็จในช่วงปลายปี 2013 

แต่เนื่องด้วยความล่าช้า และการพัฒนาอย่างรวดเร็วของทั้ง android และ iOS ของ iPhone รวมถึงการที่ตัว Windows Phone ไม่ได้รับความสนใจจากเหล่านักพัฒนา App ให้มาสนใจ Windows Phone เลยด้วยซ้ำ และที่สำคัญด้วย UI ใหม่แบบ Metro นั้นทำให้เหล่านักพัฒนาแขยงที่จะร่วมวงด้วยเพราะมันมีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับ iOS และ Android ที่พวกเขาแทบจะต้องพัฒนาแอปต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่หมด

ทำให้ App ดี ๆ ที่คนใช้งานทั่วไปในทั้ง Android และ iOS ไม่มีการมาพัฒนาบนแพลตฟอร์มของ Windows Phone และมันก็ได้ทำให้ผู้ใช้งานแทบจะไม่สนใจ Windows Phone เลย จนท้ายที่สุด Windows Mobile ก็ต้องปิดฉากตัวเองไปจากวงการมือถือโลก อย่างที่เราได้เห็นจวบจนถึงปัจจุบันนั่นเองครับ

–> อ่านตอนที่ 12 : Hit Refresh (ตอนจบ)

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 A Revolution Begins *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Bill Gates ตอนที่ 10 : Glorious Reaction

หลังจากช่วงผ่อนคลายในสถานการณ์ในตลาด Search Engine ที่ Microsoft ได้ส่ง Facebook เข้าไปตัดแข้งตัดขา Google แทน ทำให้ Gates และ Microsoft เหมือนจะได้หายใจหายคอ กลับมาโฟกัสกับผลิตภัณฑ์ตัวเองบ้าง

และในตอนนั้นตลาดมือถือ Smartphone กำลังกลายเป็นตลาดใหม่ที่เริ่มกลายเป็นที่นิยมทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่า Microsoft ในขณะนั้น ก็มีระบบปฏิบัติการมือถือของตัวเองอย่าง Windows Mobile ซึ่งต้องบอกว่าเป็นระบบปฏิบัติการที่ดูดีมีอนาคตอย่างมากสำหรับ Microsoft ในตลาดมือถือโลก

Windows Mobile ที่กำลังเป็นระบบปฏิบัติการมือถือที่มีอนาคต
Windows Mobile ที่กำลังเป็นระบบปฏิบัติการมือถือที่มีอนาคต

ซึ่ง Gates ก็ได้ใช้กลยุทธ์แบบเดียวกันกับระบบปฏิบัติการบน PC ก็คือ เขาจะไม่ยุ่งกับส่วน Hardware แต่จะขายเป็น License ของระบบปฏิบัติการอย่าง Windows Mobile ออกมาแทนนั่นเอง มันน่าจะเป็นเกมที่ Gates และ Microsoft ถนัดเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันคล้ายกับธุรกิจของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แต่เหตุการณ์ที่เหลือเชื่อในวงการมือถือโลกมันก็ได้ถึงจุดเปลี่ยนแปลงขึ้นในปี 2007

การเกิดขึ้นของ iPhone จาก Apple ที่ได้แอบซุ่มทำอยู่หลังจากประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงจาก iPod เครื่องเล่น MP3 ของ Apple ซึ่ง Apple ได้ต่อยอดมาทำมือถือรูปแบบใหม่ ที่ถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการในขณะนั้น

และการเกิดขึ้นของ iPhone นี่เองที่ได้ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งตลาดมือถือโลกเลยก็ว่าได้ เหล่าผู้ผลิตมือถือยักษ์ใหญ่ ที่คาดไม่ถึงว่า Apple จะสามารถสร้างสิ่งที่กำลังจะมาปฏิวัติวงการมือถือโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนได้ มันเป็นการเปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิงระหว่างยุคก่อน iPhone กับ มือถือยุคหลัง iPhone ก่อกำเนิดขึ้นมานั่นเอง

แต่เห็นได้ชัดว่าในศึกของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้น Apple พ่ายแพ้ให้กับ Microsoft อย่างราบคาบ เนื่องจาก Windows ของ Microsoft นั้นสามารถที่จะไปลงกับ Hardware ของผู้ผลิตรายใดก็ได้ ต่างจาก Mac ของ Apple ที่สามารถรันกับเครื่อง Apple ได้เพียงเท่านั้น และสุดท้าย Windows ก็เติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นมาตรฐานของวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั่วโลกในที่สุด

และเช่นเดียวกันกับในเรื่องนักพัฒนา ส่วนใหญ่ Apple จะค่อนข้างปิดไม่ให้นักพัฒนาภายนอกเข้ามายุ่มย่ามกับ Ecosystem ของ Apple มีเปิดบ้าง แต่เพียงน้อยนิดเท่านั้น เช่นใน iPod ที่มีการสร้างเกมส์เข้ามาจากนักพัฒนาภายนอกนั่นเอง

แต่สุดท้ายในเดือนตุลาคม ปี 2007 หลังจากปล่อย iPhone ออกจำหน่ายได้ประมาณ 10 เดือน จ๊อบส์ ก็ได้ประกาศครั้งสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ iPhone อีกครั้ง เมื่อจ๊อบส์ประกาศให้มีการสร้าง  Native App ของนักพัฒนาภายนอก และมีการวางแผนจะเอา SDK (Software Development Kit) ให้เหล่านักพัฒนาได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2008

แต่มันเป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจ๊อบส์ ที่ต้อง balance กันระหว่าง การสร้างแพลตฟอร์มระดับเทพ และเป็นระบบเปิดให้กับเหล่านักพัฒนา ขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองผู้ใช้ iPhone จาก ไวรัส มัลแวร์ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานด้วย

จ๊อบส์ตัดสินใจครั้งสำคัญให้นักพัฒนาภายนอกมาเข้าร่วมกับ iPhone
จ๊อบส์ตัดสินใจครั้งสำคัญให้นักพัฒนาภายนอกมาเข้าร่วมกับ iPhone

ซึ่งทำให้แม้จะไม่เปิดหมดซะทีเดียว แต่จ๊อบส์ เชื่อในแนวทางของตนเพื่อรักษาประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้ใช้ iPhone นั่นเอง ซึ่ง App ภายนอกนั้นจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งผู้ใช้ iPhone จะสบายใจได้ว่ามีความปลอดภัยสูงสุดนั่นเอง 

และทางฝั่ง Google ก็ได้เริ่มแอบทำบางอย่างลับ ๆ โดยหลังจากเปลี่ยนแผนโดยฉับพลันจากมือถือที่ต้องมี keyboard แบบ Blackberry ให้กลายมาเป็นมือถือแบบจอสัมผัสแบบที่ iPhone ทำ ซึ่งการซุ่มพัฒนานี้ทำโดย Apple แทบจะไม่ระแคะระคายเลยด้วยซ้ำ เพราะหนึ่งในบอร์ดของ Apple ในขณะนั้น ก็คือ เอริก ชมิตต์ ที่เป็น CEO ของ Google นั่นเอง

ส่วนทางฝั่ง Microsoft สตีฟ บอลเมอร์ CEO ของ Microsoft ( *** Gates ได้ขึ้นไปเป็นประธานของบริษัทแทน แต่ยังมีบทบาทกับกลยุทธ์ต่าง ๆ ของ Microsoft อยู่*** ) ถึงกับหัวเราะดังลั่น หลังจากสื่อได้เข้าไปถามหลังการเปิดตัว iPhone ซึ่ง บอลเมอร์ นั้นมองว่า iPhone จะไม่สามารถดึงดูดลูกค้าธุรกิจได้ เพราะมันไม่มีแป้นพิมพ์ และ Microsoft นั้นก็มีกลยุทธ์ของตัวเองสำหรับ Windows Mobile แล้วและกำลังไปได้สวยอยู่ในตลาดเสียด้วย

แล้วสถานการณ์จะเกิดอะไรขึ้นอีกครั้งกับ Microsoft ที่ดูเหมือนจะไปได้ดีกับตลาดมือถือโลกด้วย Windows Mobile แต่การเกิดขึ้นของ iPhone รวมถึง Google ศัตรูตัวฉกาจคนเดิมที่แอบไปซุ่มทำระบบปฏิบัติการมือถือบางอย่างอยู่นั้น จะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Microsoft โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 11 : Glorious Failure

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 A Revolution Begins *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

Digital Music War ตอนที่ 8 : Project Argo

ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของ iPod ที่พลิกทำให้ Apple กลับมาสร้างรายได้ รวมถึงกำไรได้สูงที่สุดนับตั้งแต่บริษัทได้เริ่มก่อตั้งมา มันได้กลายเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญกับคู่แข่งทั้งหลายในตลาดธุรกิจเพลงดิจิตอลที่ iPod เป็นผู้นำของตลาดอยู่ในขณะนั้น 

ในฟากฝั่งของ Microsoft เองหลังจากล้มเหลวไม่เป็นท่ากับ PlayForSure ซึ่ง Microsoft ไม่สามารถทำให้ Wall-Mart และ Best Buy รู้สึกสบายใจขึ้นมาได้เลย สตีฟ บอลเมอร์ ซึ่งในขณะนั้นรั้งตำแหน่ง CEO ของ Microsoft เต็มตัวแล้วได้ เรียกประชุมเหล่าหัวหน้าแผนกอุปกรณ์และความบันเทิงเพื่อเตรียมทำศึกนี้อีกครั้ง

ทิศทางที่ผ่านมาของบริษัทนั้นชัดเจนเป็นอย่างมากว่า iPod เป็นคู่แข่งศัตรูคู่อาฆาตเบอร์หนึ่งที่ Microsoft ต้องหาวิธีในการล้มให้จงได้ และ PlayForSure รูปแบบสมัครสมาชิกแบบเก่า ๆ ของ Microsoft นั้นมันไม่ได้ผลอย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่จะสู้ iPod ได้คือ Microsoft ต้องสร้างเครื่องเล่นเพลงออกมาสู้เท่านั้น

Playforsure ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า
Playforsure ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า

วิสัยทัศน์ของ สตีฟ บอลเมอร์นั้น ชัดเจนว่า ในระยะสั้น Microsoft ต้องมีสินค้าเพื่อมาชนกับ iPod โดยตรง เพราะ iPod กำลังระบาดไปทั่วโลก กลายเป็นสินค้าที่ลูกค้าทั่วโลกหลงใหล พร้อมที่จะทุ่มเงินเต็มที่เพื่อได้เป็นเจ้าของเจ้า iPod ซักเครื่องให้ได้

ซึ่งแน่นอน ว่า Brand ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง Microsoft ต้องมีแบรนด์ที่ทรงพลัง ที่จะแข่งกับ iPod ส่วนในแผนระยะยาว Microsoft ต้องมีโทรศัพท์ที่เล่นเพลงได้ และ Microsoft นั้นมีเงินทุน และทรัพยากรบุคคลามากพอที่จะสานต่อทั้งสองภารกิจนี้ให้สำเร็จได้

ในเดือน มีนาคม 2006 Microsoft จึงได้เริ่มโครงการอาร์โก (Project Argo) ขึ้น ซึ่งมีการประเมินว่า Microsoft ต้องลงทุนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างเครื่องเล่นเพลงของตัวเอง และสามารถเอาชนะ iPod ของ Apple ได้ด้วยคุณภาพของ Software ที่ Microsoft สร้างขึ้นมา เพราะเรื่อง Software นั้น Microsoft ไม่เป็นสองรองใครอยู่แล้วในตลาดเทคโนโลยี

มีการถกเถียงกันภายในอย่างมากมายในแผนกอุปกรณ์และความบันเทิง มีเหล่าผู้บริหารหลายคนออกมาเตือนว่า เครื่องเล่นเพลงที่ Microsoft คิดจะสร้างขึ้นมานั้น จะกลายเป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ และ มีราคาแพงอย่างแน่นอน เมื่อเทียบกับ Xbox ที่ Microsoft ลงทุนไปแล้วกว่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ยังไม่สามารถทำกำไรได้เลยด้วยซ้ำ

แต่พวกผู้บริหารระดับสูงที่นำโดย สตีฟ บอลเมอร์ นั้นได้ชั่งน้ำหนักทุกอย่างแล้ว และพร้อมที่จะเสี่ยง จึงสั่งให้เดินหน้าเต็มอัตราศึก และคนในบริษัทก็พร้อมที่จะลุยกับโปรเจคนี้อย่างเต็มที่ และ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ Microsoft กำลังสู้กับ Google อย่างเต็มที่ในศึกตลาดการค้นหา

เรียกได้ว่า Microsoft ได้ลุยศึก สองทางในช่วงระยะเวลาเดียวกันด้วยซ้ำ จะพลาดไม่ได้ซักทางเพราะเป็นอนาคตที่สำคัญของบริษัท ซึ่ง เป็นสิ่งที่ Microsoft มั่นใจมาโดยตลอดจากประวัติที่ผ่านมาของพวกเขา

พวกเขาสามารถเอาชนะโปรแกรม Lotus , WordPerfect , NetScape ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็น case ของ NetScape

การเกิดขึ้นของ NetScape นั้นเหมือนเป็นการปลุกยักษ์ให้ตื่น Microsoft ในสมัยนั้นเป็นบริษัทที่มูลค่าแทบจะสูงที่สุดในโลกของ Technology Company ซึ่ง Bill Gate ก็ไม่รอช้า ในช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ Microsoft ต้องออก OS ใหม่พอดีซึ่งก็คือ Microsoft Windows 95  

โดยทาง Microsoft นั้นใช้แผนที่เหนือเมฆ คือนำ Internet Exproler ออกสู่ตลาดโดยแถมมากับระบบปฏิบัติการ Windows 95 เลยแทบจะทันที โดย microsoft นั้นก็ได้พัฒนาตัว IE โดยใช้พื้นฐานมาจาก Mosaic ที่ Marc เป็นคนพัฒนาขึ้นในตอนอยู่  University of illinois of Urbana Chanpaign นั่นเอง

ซึ่ง Microsoft นั้นเป็นบริษัทที่ทุนหนาอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาเรื่องการเงินแต่อย่างใด ในการแถม Browser ไปกับระบบปฏิบัติการ และเป็นยิ่งส่งเสริมให้คนหันมาใช้ ระบบปฏิบัติการ Windows 95 มากยิ่งขึ้นเสียไปอีก ซึ่งเป็นความโหดมากของ microsoft ในการแทบจะ ฆ่า Netscape ออกไปจากตลาด และ เพิ่มยอดขายของ Windows 95 เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยทีเดียว

Case Study ของ NetScape ที่ Microsoft ใช้ทุกวิถีทางกำจัดออกตลาดไปได้สำเร็จ
Case Study ของ NetScape ที่ Microsoft ใช้ทุกวิถีทางกำจัดออกตลาดไปได้สำเร็จ

สุดท้ายก็มีการฟ้องร้องกันหาว่า Microsoft ผูกขาดการตลาดของระบบปฏิบัติการ ทางฝั่ง microsoft นั้นก็ไม่แยแสในเรื่องที่เกิดขึ้นเดินหน้าแถม Browser ต่อไปจนครองส่วนแบ่งแทบจะทั้งหมดของ Browser ในขณะนั้นได้ในที่สุดเป็นการปิดฉากเหลือแค่ชื่อของ NetScape ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ก็ต้องมาติดตามกันต่อว่า เมื่อ Microsoft เอาจริงและพร้อมทุ่มเททรัพยากรเต็มอัตราศึก เหมือนทุก ๆ ศึกที่ Microsoft เอาชนะมาได้ และยังได้รับการสนับสนุนเต็มที่จาก สตีฟ บอลเมอร์ ที่มีธุรกิจด้านบันเทิงรูปแบบดิจิตอลเป็นเดิมพัน จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับการเผด็จศึก Apple ในครั้งนี้ โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 9 : Zune

Search War ตอนที่ 7 : The Underdog Project

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2003 ผู้บริหารอาวุโสของบริษัท Microsoft รวมทั้งสิ้น 25 คน ซึ่งรวมรวมถึงผู้บริหารระดับสูงอย่าง Bill Gates และ Steve Ballmer ได้มารวมตัวกันที่อาคาร 36 ฝั่งตะวันออกของสำนักงาน Microsoft HQ ที่เรดมอนต์ เพื่อร่วมฟัง คริสโตเฟอร์ เพย์น ซึ่งตอนนั้นอายุเพียง 37 ปี และเป็นรองประธานบริษัท และดูแลรับผิดชอบ MSN โดยตรง เล่าถึงภัยคุกคามครั้งสำคัญต่อ Microsoft ที่เหล่าผู้บริหารต่างมองข้าม

เพย์น นั้นมีประสบการณ์อยู่เบื้องหลัง MSN Search ซึ่งเมื่อ เพย์น ได้มารับผิดชอบในส่วนของ บริการออนไลน์ของ Microsoft ซึ่งในขณะนั้นมีรายได้เพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทอย่าง Windows และชุด Office เมื่อ เพย์น โฟกัสมาที่ธุรกิจค้นหา เขาได้เริ่มตระหนักว่า บริษัทกำลังเผชิญปัญหาใหญ่หลวงที่กำลังรุกคลานเข้ามา

ซึ่งแน่นอนว่า เพย์น ที่ได้รับผิดชอบแผน online ของ Microsoft ทำให้รู้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ traffic ที่เข้ามายัง MSN ที่เป็นเว๊บ portal หลักของ Microsoft และ เพย์น ก็เริ่มพบความผิดปรกติบางอย่างเกิดขึ้น เมื่อพบว่า เหล่าผู้ใช้ MSN นั้นมาที่มาจาก google มากเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

ซึ่งต้องบอกว่าตอนนั้น Inktomi ได้รับผิดชอบผลการค้นหาของ MSN และส่วนของการโฆษณานั้นจะมาจาก Overture ซึ่ง Microsoft นั้นไม่ได้ทำอะไรเลยกับส่วนของการค้นหา เพียงแค่พึ่งบริการของที่อื่นแทบจะทั้งสิ้น

Microsoft ใช้บริการจากบริษัทอื่น ๆ ในโปรแกรมการค้นหา
Microsoft ใช้บริการจากบริษัทอื่น ๆ ในโปรแกรมการค้นหา

ทั้ง ๆ ที่มันกำลังจะกลายเป็นกระแสความนิยมใหม่ในโปรแกรม การค้นหา แต่ Microsoft ยังเริ่มต้นจากศูนย์ ซึ่งเพยน์ต้องการโน้มน้าวให้ผู้บริหารระดับสูงที่มาเข้าร่วมประชุม ให้เริ่มระแวดระวังภัยที่อาจจะมาจาก google และยังโน้มน้าวให้ลงทุนในการค้นหาแบบเต็มตัวเสียทีหลังจากพึ่งบริการอื่น ๆ มานาน

ซึ่งเหล่าผู้เข้าฟัง ก็คล้อยตาม เพย์น โดยที่ทั้ง Gates และ Ballmer นั้นค่อนข้างเห็นด้วย และพร้อมที่จะผลักดันโครงการโปรแกรมค้นหา Microsoft อย่างเต็มที่ และมันเป็นความท้าทายทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งนึงของ Gates ซึ่งตอนนั้นอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกสถาปนิกซอฟต์แวร์เสียด้วย

หลังจากได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหาร เพย์น ก็ได้เลือก เคน มอสส์ โปรแกรมเมอร์มือฉกาจ ที่ได้รับการยอมรับนับถือและมีประสบการณ์สูง โดยทำงานร่วมกับ Microsoft มาถึง 16 ปี และเป็นหนึ่งในทีมงานที่ช่วยกันสร้าง Microsoft Excel ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของ Microsoft นั่นเอง

และมอสส์ ก็ได้รวบรวมทีมงานเล็ก ๆ เพื่อที่จะมาสร้างโปรแกรมค้นหาตัวใหม่นี้ของ Microsoft และตั้งชื่อโครงการนี้ว่า “Underdog” ซึ่งความหมายแบบไทย ๆ ก็คือไก่รองบ่อนนั่นเอง ซึ่งต้องบอกว่า เป็นชื่อโครงการที่ดูไม่เข้ากับ Microsoft ยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีในขณะนั้นเลยก็ว่าได้

เกตส์ นั้น เข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มที่ในโครงการนี้ มันเป็นความท้าทายครั้งสำคัญอีกครั้งของ เกตส์ และรับปากกับทีมงานว่า เขามั่นใจว่าจะตามเจ้าตลาดอย่าง google ให้ทันภายใน 6 เดือน

แต่มันมีปัญาหาอยู่ 3 อย่างที่จะไล่ google ที่ถูกออกแบบโดย บริน และ เพจ ที่ทำงานวิจัยเรื่อง PageRank มาก่อนที่สแตนฟอร์ด ซึ่ง หนึ่ง ทำอย่างไรจะส่งผลที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาให้ถึงผู้ใช้งานให้เร็วที่สุด สอง จะทำรายได้อย่างไรกับโปรแกรมการค้นหา และ สาม ปัญหาทางเทคนิค ในเรื่องการกระจาย Index เนื้อหา ที่มี Server อยู่กระจายทั่วโลกได้

โดยโครงการ Underdog ของ Microsoft ได้คัดเลือกเหล่าวิศวกรหัวกระทิจากแผนก R&D ของ Microsoft เพื่อสร้างระบบในการจัดลำดับผลการค้นหา ที่เกี่ยวข้องมากที่สุด กับคำที่ผู้ใช้งานค้นหา

แต่ทีมงานใน Project Underdog นั้นก็ต้องเจออุปสรรคมากมาย และเริ่มรู้ความจริงที่ว่า การสร้างโปรแกรมการค้นหาที่ดีนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิด  ปัญหาใหญ่ที่สำคัญอย่างนึงคือ โปรแกรม Crawler ที่ใช้ในการคลานเข้าไปตาม www เพื่อ index ข้อมูลนั้น ได้เข้าไปติดกับดักของเหล่าเครือข่าวเว๊บลามก อนาจร ที่มีอยู่ทั่วอินเตอร์เน็ต

และมันจะอยู่เป็นเครือข่าย ที่เหล่า Crawler นั้นหลุดเข้าไปแล้วจะออกไปสู่เว๊บไซต์ปรกติอื่น ๆ ได้ยากมาก ทีมจึงต้องมีการปรับแต่งตัว Web Crawler หลายครั้งเพื่อไม่ให้ไปเก็บข้อมูลขยะที่โปรแกรมการค้นหาไม่ต้องการ

ปัญหาเรื่อง Web Crawler ที่ Google นั้นได้พัฒนาไปไกลมากแล้ว
ปัญหาเรื่อง Web Crawler ที่ Google นั้นได้พัฒนาไปไกลมากแล้ว

ส่วนเรื่องความเร็วในการส่งผลการค้นหาไปยังผู้ใช้งานนั้น เป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะต้องได้ผลการค้นหารที่่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานด้วย ซึ่งการใช้ความเร็วในระดับ Millisecond แถมยังต้องจัดการกับคำร้องขออีกเป็นล้าน ๆ เครื่องจาก User นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ 

และสำหรับเหล่าผู้ใช้งานนั้น ดูเหมือนว่า ผู้คนไม่ได้ตัดสินคุณภาพของ Search Engine จากผลการค้นหาแบบธรรมดา แต่เป็นล้วนตัดสินใจจากการค้นหาแบบไม่ธรรมดาเสียมากกว่า เช่นการหาข้อมูลส่วนตัวของคู่เดทลงไป เพื่อใช้ในการเตรียมตัวออกเดท ซึ่ง หากพวกเขาเหล่านี้ไม่พบผลการค้นหา ก็มักจะย้ายไปยัง Search Engine ตัวอื่นทันที โดยเฉพาะ google 

ซึ่งแน่นอนว่า หาก Microsoft สร้างผลลัพธ์ที่พวกเขาต้องการไม่ได้ พวกเขาจะมุ่งหน้าไปยัง google แทนอย่างแน่นอน เพราะในขณะที่ Microsoft เพิ่งตั้งไข่โปรเจค Underdog ของตัวเองนั้น google ได้กลายเป็นคำติดปากคนทั่วไปที่ใช้ในการค้นหาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เรียกได้ว่า เป็นงานที่หนักหน่วงมาก ๆ สำหรับ ยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ที่ต้องการเข้ามาในตลาดการค้นหา ซึ่ง google ได้นำหน้าไปไกลแล้ว เพราะไม่ใช่แค่เรื่องทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของความเข้าใจต่อผู้ใช้งาน ว่าพวกเขาต้องการอะไร และ Search Engine ต้องให้สิ่งที่ดีที่สุดให้กับพวกเขาได้ ดูแล้วงานนี้น่าจะเป็นการประลองศึกทางด้านเทคโนโลยีที่สนุกที่สุดครั้งนึงเลยก็ว่าได้ระหว่าง Microsoft และ google จะเกิดอะไรขึ้นกับ Project Underdog จะไล่ตาม google ทันภายใน 6 เดือนอย่างที่ bill gates ว่าไว้หรือไม่? โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 8 : Let the war begin!

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Beginning of Search *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของ Bill Gates

Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้งของ Microsoft ได้กล่าวถึงช่วงเวลาของเขากับบริษัท Microsoft เมื่อมีการตัดสินใจครั้งสำคัญในเรื่องระบบปฏิบัติการมือถือ ในระหว่างการสัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ Village Global ซึ่งเป็น บริษัทร่วมทุน โดย Gates เปิดเผยว่า “ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต” ของเขาคือ Microsoft การปล่อยให้ Android นั้นถือกำเนิดขึ้นมา :

“ ในโลกของซอฟต์แวร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแพลตฟอร์มที่ใหญ่อย่างมือถือนั้น เป็นตลาดที่สามารถพลิกเกมธุรกิจได้ ดังนั้นความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการจัดการผิดพลาดที่ผมมีส่วนร่วมซึ่ง Microsoft นั้นมองตลาดพลาดไป และปล่อยให้ Android เติบโตขึ้นมาจากลายเป็นแพลตฟอร์มมาตรฐานของโลกที่นอกเหนือจาก Apple 

ซึ่งส่วนนั้นมันควรเป็นของ Microsoft  ซึ่งมันมีที่ว่างสำหรับระบบปฏิบัติการที่ไม่ใช่ของ Apple และผลตอบแทนที่ Android ได้รับกว่า 400 พันล้านเหรียญที่ผ่านมา ที่จะถูกโอนจาก บริษัท google ไปยัง บริษัท Microsoft แทนนั่นเอง”

อดีต CEO ของ google อย่าง Eric Schmidt ยอมรับว่าจุดเริ่มต้นของ Google คือการพยายามเอาชนะ Windows Mobile ในช่วงต้นของการสร้างระบบปฏิบัติการของ “ ในขณะที่เรากังวลอย่างมากว่ากลยุทธ์มือถือของ Microsoft จะประสบความสำเร็จ” Schmidt กล่าวระหว่างการต่อสู้ทางกฎหมายกับ Oracle เกี่ยวกับ Java ในปี 2012 ในที่สุด Android ก็สามารถเอาชนะได้ทั้ง Windows Mobile และ Windows Phone และกลายเป็น Windows ในโลกมือถือจนถึงปัจจุบัน

Android จากจุดเริ่มต้นเล็กจนกลายเป็นระบบปฏิบัติการที่มีการใช้งานมากที่สุดในโลก
Android จากจุดเริ่มต้นเล็กจนกลายเป็นระบบปฏิบัติการที่มีการใช้งานมากที่สุดในโลก

แม้ว่าคำกล่าวของ Gates นั้นค่อนข้างน่าแปลกใจ ซึ่งหลายคนคิดว่าความผิดพลาดในตลาดมือถือของ Microsoft นั้นเป็นความผิดพลาดในยุคของ Steve Ballmer เราคงยังจำกันได้ในขณะที่ iPhone ได้เปิดตัวต่อสาธารณะชนในปี 2007 Ballmer หัวเราะและกล่าวถึง iPhone ว่า “ เป็นโทรศัพท์ที่แพงที่สุดในโลกและไม่ดึงดูดลูกค้าธุรกิจเพราะมันไม่มีคีย์บอร์ด” 

นี่เป็นส่วนสำคัญของความผิดพลาดในช่วงแรก ๆ ในมือถือของ Microsoft และ Microsoft ใช้เวลาหลายเดือนในการพิจารณาว่า บริษัทควรจะเลิกความพยายามในการพัฒนา Windows Mobile ซึ่งในเวลานั้นไม่ได้เป็นระบบสัมผัสและเกิดจากยุคเก่าของอุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยสไตลัส Microsoft ตัดสินใจในการประชุมฉุกเฉินเดือนธันวาคม 2008 เพื่อยกเลิก Windows Mobile และรีบูตระบบปฏิบัติการมือถือใหม่ให้กลายเป็น Windows Phone อย่างสมบูรณ์

Ballmer ที่ประเมินการเปิดตัวของ iPhone ต่ำเกินไป
Ballmer ที่ประเมินการเปิดตัวของ iPhone ต่ำเกินไป

ในขณะที่อดีตหัวหน้า Windows อย่าง Terry Myerson และ Joe Belfiore ของ Microsoft มีส่วนร่วมในการประชุมฉุกเฉินครั้งนั้นและเป็นไปได้ว่า บริษัทอาจจะมีการขอคำแนะนำจาก Bill Gates ในบางเรื่อง โดยที่ Gates ก้าวลงจากตำแหน่ง CEO ในปี 2000 โดยรับตำแหน่งหัวหน้าสถาปนิกทางด้านซอฟต์แวร์

ในช่วงเวลาที่สำคัญซึ่งนำ Microsoft ไปสู่ ​​Windows Phone และ Windows Vista  แต่ท้ายในที่สุด Gates ก็ก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าสถาปนิกซอฟต์แวร์ในเดือนกรกฎาคม 2008 และดำรงตำแหน่งประธาน บริษัท จนกระทั่ง Satya Nadella เข้ารับตำแหน่ง CEO ในปี 2014

Gates อาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการตัดสินใจในเรื่องกลยุทธ์ทางด้านมือถือของ Microsoft แต่การลงจากตำแหน่งของเขาเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ Microsoft ตัดสินใจไม่ใช้ Android ซึ่งเมื่อเทียบกับอดีตซีอีโอไมโครซอฟท์อย่าง Steve Ballmer ที่กล่าวว่า Windows Vista เป็นความเสียใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาที่ไมโครซอฟท์ก่อนที่เขาจะอำลาไปด้วยคราบน้ำตาก่อนส่งไม้ต่อให้ Satya Nadella

ไมโครซอฟท์ดูเหมือนว่าจะมีความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยทั้งที่ผ่านศึกในธุรกิจมือถือมาอย่างยาวนาน แต่ตอนนี้ธุรกิจ Cloud กำลังพาบริษัทกลับมารุ่งเรือง “ มันน่าอัศจรรย์สำหรับผมที่ทำผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง แต่หลายสิ่งหลายอย่างของบริษัท ทั้งสินทรัพย์อื่น ๆ ของเราเช่น Windows และ Office ยังคงแข็งแกร่งมากดังนั้นเราจึงยังคงเป็นบริษัทชั้นนำ” Gates กล่าว . “ถ้าเรามีโอกาศที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่งเราจะกลายเป็นบริษัทชั้นนำ อันดับ 1 ของโลกได้อีกครั้ง.”

References : 
https://www.theverge.com/2019/6/24/18715202/microsoft-bill-gates-android-biggest-mistake-interview