Squid Game vs 13 เกมสยอง กับความเหมือนที่แตกต่าง สู่ Soft Power อันทรงพลังของประเทศเกาหลีใต้

ต้องบอกว่าเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวที่คล้ายกัน และมีพล็อตที่ดูคล้ายคลึงกันมาก ๆ สำหรับซีรีส์ชื่อดังที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้อย่าง Squid Game กับภาพยนต์ระดับตำนานเรื่องนึงของไทยที่ไปคว้ารางวัลมามากมายอย่าง 13 เกมสยอง ที่นำแสดงโดยกฤษฎา สุโกศล แคลปป์ และกำกับโดยคุณมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

เราได้เห็น message หลักที่ทั้งสองเรื่องต้องการสื่อ ไม่ว่าจะเป็น เกม เงินรางวัล ผู้เข้าร่วมเกมที่เป็นคนที่ต้องการเงินอย่างสิ้นหวัง แม้รายละเอียดปลีกย่อยจะมีความแตกต่างกันมาก แต่ผมมองว่ามันเป็นพล็อตที่คล้ายกันอย่างเหลือเชื่อ

ซึ่งหลังจากดู ซีรีส์ Squid Game จบ ผมเลยต้องกลับไปหาดู 13 เกมสยองอีกครั้ง ที่เป็นภาพยนต์ที่ได้รับรางวัลมากมาย ในปี 2006 และเป็นอีกหนึ่งภาพยนต์ไทยที่ผมชอบลำดับต้น ๆ เลยทีเดียว

ด้วยความเหมือนที่แตกต่าง ต้องบอกว่า รายละเอียดปลีกย่อย รวมถึงคุณภาพด้านโปรดักชั่น ที่เกาหลีสามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม จึงไม่แปลกใจว่าทำไมมันถึงได้ฮิต จนขนาดที่ว่าไปแย่งทราฟฟิกจากบริการอื่น ๆ ของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศเกาหลีใต้เลยทีเดียว

แถมตอนนี้มันกำลังกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก ที่เรียกได้ว่าติดเทรนด์ซีรีส์ยอดฮิตในเกือบทุกประเทศเลยก็ว่าได้ กลายเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งนึงของวงการบันเทิงเกาหลีใต้ หลังจากก่อนหน้านี้ที่ภาพยนต์อย่าง Parasite ที่ได้รับรางวัลออสการ์ในปี 2020 มาแล้ว

ภาพยนตร์ Parasite ที่ประกาศศักดาคว้ารางวัลใหญ่ในเวทีออสการ์มาแล้ว (CR:bloomberg)
ภาพยนตร์ Parasite ที่ประกาศศักดาคว้ารางวัลใหญ่ในเวทีออสการ์มาแล้ว (CR:bloomberg)

Soft Power อันทรงพลังของประเทศเกาหลีใต้

ต้องบอกว่าก่อนหน้าที่วงการภาพยนต์ หรือ ซีรีส์จะโด่งดัง เกาหลีก็ได้ส่งวัฒนธรรม K-pop ที่ปรกติจะบุกไปทั่วเอเชีย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แค่เพียง เอเชีย อีกต่อไป เพราะวัฒนธรรมนี้ มันได้บุกไปถึง อเมริกา และ ยุโรป ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องธรรมดาจริง ๆ สำหรับการดังขึ้นมาเปรี้ยงปร้างอย่างรวดเร็วของวงการบันเทิงเกาหลี ที่กลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มูลค่ามหาศาลครอบคลุมไปทั่วโลก

แรกเริ่มเดิมทีนั้น วัฒนธรรมทางด้านเพลงของเกาหลี ก็ถูกกำหนดโดยรัฐบาล ซึ่งในยุคนั้นรัฐบาลยังควบคุมระบบการออกอากาศแทบจะทั้งหมดของทุกสื่อในประเทศ

มันไม่มีทีท่า ว่าเกาหลีจะพัฒนาวัฒนธรรมด้านบันเทิงหรือ K-Pop มาได้ไกลถึงเพียงนี้ ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงนั้น เป็นเรื่องยากที่จะเกิดวัฒนธรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่การปรากฏตัวของ Seo Taiji &Boys ทางทีวี ในฤดูใบไม้ผลิปี 1992

มันได้กลายเป็นช่วงเวลาสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ความเจริญทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ มันคือสิ่งที่มีโอกาสเป็นไปได้ มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง กับกรอบความคิดเดิม ของวัฒนธรรมดนตรีของเกาหลี และที่สำคัญมันยังเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทั้งหมดของเกาหลีขึ้นมาใหม่ด้วย

รัฐบาลเกาหลีได้เริ่มมองเห็นว่า วัฒนธรรม อาจเป็นสินค้าส่งออกที่ยิ่งใหญ่ลำดับถัดไปของประเทศได้ มีการปรับแก้ไขกฏหมายเพื่อสนับสนุนผลงานด้านดนตรีและศิลปะ โดยจะเป็นการสละเงินงบประมาณ อย่างน้อย 1% ให้กับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมนี้

รัฐบาลเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับพลังของ Soft Power (CR:overseas.mofa.go.kr)
รัฐบาลเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับพลังของ Soft Power (CR:overseas.mofa.go.kr)

และตอนนี้พลังของ Soft Power ของเกาหลีใต้นั้น มันกำลังแพร่กระจายไปยังคอนเท้นต์อื่น ๆ ทั้งภาพยนต์ หรือ ซีรีส์ เรียกได้ว่าครอบคลุมวงการบันเทิงแทบจะทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจ ก็คือ Netflix ได้กล่าวว่า ธุรกิจของพวกเขาได้เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ถึง 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และการจ้างงานจำนวนมหาศาลในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้

ความบันเทิงเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดของเกาหลีควบคู่ไปกับเทคโนโลยี จำนวนคนงานในบริการสร้างสรรค์และศิลปะเพิ่มขึ้น 27% ระหว่างปี 2009 ถึง 2019

ขณะที่ในภาคการผลิต ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนดั้งเดิมสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้น 20% ในช่วงเวลาเดียวกัน ตามข้อมูลจากเว็บไซต์สถิติของเกาหลี ในรายงานเมื่อเดือนที่แล้ว Netflix กล่าวว่าได้ช่วยสร้างงานเต็มเวลา 16,000 ตำแหน่งในเกาหลีตั้งแต่ปี 2016

อุตสาหกรรมด้านคอนเทนต์ของเกาหลีมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับภาคการผลิตที่มีขนาดใหญ่มหึมา แต่ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การส่งออกคอนเทนต์มีมูลค่ารวม 10.8 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว หรือราว 1 ใน 10 ของธุรกิจชิป ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของเกาหลี แต่มีรายได้มากกว่าสินค้าส่งออกที่สำคัญอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องสำอาง

มูลค่าการส่งออกความบันเทิงของเกาหลี ซึ่งรวมถึงสิ่งพิมพ์ เกม เพลง ภาพยนตร์ และรายการทีวี เพิ่มขึ้น 6.3% ในปีที่แล้ว แม้ในขณะที่การจัดส่งสินค้าโดยรวมลดลง 5.4% เนื่องจากการระบาดใหญ่

แม้แต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวข้องกับกระแสเกาหลีที่เรียกว่า เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และอาหาร ก็เพิ่มขึ้น 5.5% ในปีที่แล้ว ตามรายงานของมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศแห่งเกาหลี 

บทสรุป

ส่วนตัวผมก็มองว่าพลัง Soft Power ของประเทศไทยเราเอง ก็มีศักยภาพที่จะเติบโตอีกมาก ผมเคยดูในช่อง youtube ที่นำเสนอดาราของประเทศเรา เมื่อไปออกงานต่าง ๆ ในภูมิภาคของเรา โดยเฉพาะในอาเซียน ก็พบว่า กระแสดความนิยมของดาราไทย หรือ คอนเทนต์จากไทย ก็แรงไม่แพ้กัน

หรือแม้กระทั่งในประเทศจีนเอง ก็มีความสนใจในคอนเทนต์จากประเทศไทยอยู่มาก แม้จะไม่เท่าเกาหลีใต้ก็ตามที แต่ก็เป็นโอกาสใหญ่มาก ๆ ของประเทศเราเหมือนกัน หากมีการผลักดันให้เกิดขึ้นแบบบูรณาการเหมือนที่เกาหลีใต้ทำสำเร็จ

หากภาครัฐมีความจริงจัง และสนับสนุนอย่างเป็นระบบเหมือนที่เกาหลีใต้ทำ และเจียดเม็ดเงินมาสนับสนุน ตามสัดส่วน GDP ที่เหมาะสม ในอนาคตเราอาจจะไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักเหมือนในทุกวันนี้ ซึ่งเมื่อเจอโรคระบาด ก็ได้เกิดเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจในประเทศ

ส่วนตัวผมเองก็มองว่าประเทศเราก็มีดีพอ ไม่แพ้ชาติใดนะครับ สำหรับเรื่องพลังของ Soft Power และยังมีโอกาสและตลาดใหญ่ ๆ อีกมากสำหรับคอนเทนต์จากประเทศไทยที่จะเติบโตได้ แล้วคุณล่ะคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ อย่าลืมมาแสดงความคิดเห็นกันนะครับผม

References : https://www.bloombergquint.com/pursuits/k-pop-to-squid-game-lift-korean-soft-power-and-the-economy

Netflix vs SK Telekom กับบทเรียนการปลดแอกของ Apple จากเครือข่ายมือถือ สู่ข้อพิพาทในธุรกิจบรอดแบนด์

ต้องบอกว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกสำหรับปัญหาเรื่องการใช้งานทราฟฟิก จากเหล่าแอปที่เกิดขึ้นมากมายในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะ บริการวีดีโอสตรีมมิ่ง ที่ค่อนข้างใช้ทราฟฟิกอย่างมหาศาล ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นกับเครือข่ายมือถือ ที่ต้องเรียกได้ว่าทำให้คนที่ควบคุมเครือข่ายมือถือกลายเป็นมาเฟียในโลกของข้อมูลที่ไหลผ่านระบบของพวกเขากันเลยทีเดียว ซึ่งทำให้พวกเขามีอำนาจที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ ก่อนการเกิดขึ้นของ iPhone จาก Apple

ถามว่าก่อนยุคที่ iPhone จะได้ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2007 นั้นสิ่งใดเป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้กับวงการมือถือมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น เหล่า มาเฟีย แห่งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้งหลายที่มีกระจายอยู่ทั่วโลก ที่เป็นตัวคั่นกลางระหว่างเหล่าผู้ผลิตบริษัทมือถือกับผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าโดยตรง

ซึ่งแม้ว่าในช่วงก่อนปี 2007 เทคโนโลยีต่าง ๆ มันจะได้รับการพัฒนาไปไกลมากแล้วก็ตาม แต่เราจะเห็นได้ว่า ธุรกิจมือถือยังเป็นอะไรที่ล้าหลังเป็นอย่างมากในหลาย ๆ เรื่องแม้กระทั่งการเล่นเว๊บไซต์ต่าง ๆ ก็เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานของผู้ใช้งานทั่วโลก ที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทั่วโลกผ่านทางอุปกรณ์ที่พกติดตัวเราอยู่ตลอดเวลาอย่างมือถือนั่นเอง

iPhone จาก Apple ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง (CR:The Blue and White)
iPhone จาก Apple ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง (CR:The Blue and White)

ในขณะนั้น ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกต่างคุ้นเคยกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบบรอดแบนด์ กันแล้ว แต่ค่าบริการข้อมูลแบบ 3G ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเหมือนได้ย้อนตัวเองกลับไปสู่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยุคโมเด็มผ่านสายโทรศัพท์

แน่นอนว่าเหล่ามาเฟียเครือข่ายเหล่านี้ คอยจ้องแต่จะคิดค่าบริการต่าง ๆ แทบทุกอย่าง มีการคิดค่าบริการการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นนาทีที่ใช้งาน แต่ผู้บริโภคกลับได้รับการบริการจากอินเทอร์เน็ตที่ห่วยแตกกว่าการใช้โทรศัพท์บ้านเสียอีก

เพราะเว๊บต่าง ๆ ที่โหลดมานั้นเป็นเว๊บที่ไร้คุณภาพเนื่องจากปริมาณข้อมูลที่มีจำนวนมากทำให้เหล่าผู้ให้บริการไม่อยากเสีย ทราฟฟิกไปกับบริการเหล่านี้ และทำการชาร์จเงินกับผู้บริโภคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อ iPhone ของ Apple ได้มาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

Apple ต้องการให้ iPhone นั้นใช้ปริมาณข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด และทำการเจรจากับ Cingular ที่เป็นเครือข่ายโทรศัพท์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นหลายครั้ง

สุดท้ายได้มีการประกาศรูปแบบการจ่ายค่าบริการมือถือแบบให้ปริมาณข้อมูลไม่จำกัด ซึ่งสูงกว่าแบบโทรศัพท์โทรเข้าออกเพียงอย่างเดียวราว ๆ 20 ดอลลาร์ต่อเดือน โดย Cingular (ตอนหลังกลายมาเป็น AT&T) จะได้รับเงินบางส่วนจากการดาวน์โหลดทาง iTunes ขณะที่ทาง Apple นั้นได้ส่วนแบ่งจากค่าบริการรายเดือนของ iPhone แต่ละเครื่องที่เชื่อมต่อกับ Cingular

และนี่เองได้เป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญของเหล่ามาเฟียเครือข่ายมือถือทั้งหลายทั่วโลก โดย Apple ได้เปลี่ยนบทบาทของเหล่าเครือข่ายโทรศัพท์ ให้เป็นเพียงแค่ทางผ่านของโลกโทรศัพท์มือถือยุคใหม่หลังการเกิดขึ้นของ iPhone ให้พวกเขาเป็นเพียงแค่ท่อส่งข้อมูลระหว่างมือถือของลูกค้ากับโลกอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

ทำให้เหล่าเครือข่ายมือถือไม่สามารถที่จะไปชาร์จค่าบริการใด ๆ กับลูกค้าได้อีก เรียกได้ว่า เป็นครั้งแรกที่เหล่ามาเฟียมือถือต้องมาง้อ บริษัทมือถืออย่าง Apple ซึ่งไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนเลยในธุรกิจมือถือ

ศึกครั้งใหม่ระหว่าง Netflix vs SK Telecom

SK Broadband ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ SK Telecom บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศ ได้ยื่นฟ้อง Netflix เพื่อขอให้ช่วยจ่ายเงิน สำหรับค่าต้นทุนบริการเครือข่าย และค่าบำรุงรักษาที่เกี่ยวข้อง ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น

เนื่องจาก Netflix เป็นต้นเหตุทำให้เกิดปริมาณรับส่งข้อมูลบนเครือข่าย หรือ ทราฟฟิกอินเทอร์เน็ต ที่พุ่งสูงขึ้น จนทราฟฟิกบนเครือข่ายหนาแน่น และส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการรายอื่นหลังจากปล่อยซีรีส์ยอดนิยมอย่าง “Squid Game” และคอนเทนต์ยอดฮิตอื่น ๆ ให้รับชมบนแพลตฟอร์ม

Squid Game ซีรีส์สุดฮิตที่ทำให้เกิดทราฟฟิกมหาศาล (CR: WallpaperAccess)
Squid Game ซีรีส์สุดฮิตที่ทำให้เกิดทราฟฟิกมหาศาล (CR: WallpaperAccess)

โดยหลังจากปล่อยซีรีส์เรื่อง Squid Game และคอนเทนต์ยอดฮิตอื่น ๆ ออกไป ทำให้ทราฟฟิกอินเทอร์เน็ตของ Netflix พุ่งเป็น 1.2 ล้านล้านบิตต่อวินาที หรือเพิ่มขึ้นถึง 24 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2018 และทำให้ปัจจุบัน Netflix กลายเป็นผู้ที่สร้างทราฟฟิกอินเทอร์เน็ต มากเป็นอันดับ 2 ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นรองเพียง YouTube ของ Google

Business Model ที่ต้องคิดใหม่ของทั้งเครือข่ายบรอดแบนด์ และบริการสตรีมมิ่ง

ก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่มองได้สองมุมนะครับ สำหรับเรื่องนี้ เพราะ Netflix เอง ก็ถือว่าใช้ทราฟฟิกที่สูงขึ้นอย่างมหาศาล สอดกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงในยุค COVID-19

ทำให้บริการอย่างวีดีโอสตรีมมิ่ง เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งแน่นอนว่า การคิด Business Model แบบเดิม ๆ ของ เหล่าเครือข่ายบรอดแบนด์นั้น คงไม่สามารถตอบโจทย์เดิม ๆ ได้อีกต่อไป เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

ซึ่งก่อนหน้านี้ผมคิดว่า เหล่าเครือข่ายคงคิดแบบเหมา ๆ คล้าย ๆ กับรูปแบบของธุรกิจประกัน คือ มีคนใช้ทราฟฟิกมากน้อยสลับกันไป แต่ถือว่า ไม่เป็นภาระกับเครือข่ายบรอดแบนด์มากนัก เพราะ ทราฟฟิกใหญ่ ๆ จริงนั้นยังมีไม่มากนัก คนส่วนใหญ่ก็เล่น social หาข้อมูลทาง internet หรือ ฯลฯ ที่ถือว่าไม่ได้ใช้ทราฟฟิกมากนักโดยเฉลี่ย

หรือบริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix เอง ที่กลายมาเป็นประเด็นกับ SK Telekom ผมก็มองว่า ทางบริษัทก็คงไม่ได้คิดถึงต้นทุนในส่วนนี้ที่พวกเขาต้องจ่าย ซึ่งหากมันกลายเป็นมาตรฐานใหม่ว่า บริการของพวกเขาต้องจ่ายให้เครือข่ายบรอดแบนด์ในทุกประเทศ แน่นอนว่ามันก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของพวกเขาเป็นอย่างมากเช่นกัน

ซึ่งก็ต้องบอกว่าเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคหลาย ๆ อย่างก็เปลี่ยนไป ผู้คนมีเวลาเสพคอนเท้นต์เยอะขึ้น ทั้ง youtube หรือ บริการอย่าง Netflix ที่เรียกได้ว่าใช้ปริมาณทราฟฟิกเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล ตัวอย่างที่เห็นของเกาหลี หากมี Series ชุดไหนที่บูมแบบสุดขีดอย่าง Squid Game ก็ทำให้ทราฟฟิกโตขึ้นถึง 24 เท่าได้เลยทีเดียว และมันคงจะเกิดเรื่องแนว ๆ นี้ขึ้นอีกอย่างแน่นอนในอนาคต

เพราะฉะนั้น มันก็เหลือแค่สองทางเลือก ก็คือ ชาร์จเงินเพิ่มกับผู้บริโภค หรือ ชาร์จค่าใช้บริการเครือข่ายสำหรับบริการที่ใช้ทราฟฟิกสูง เพื่อให้ธุรกิจบรอดแบนด์ หรือ เครือข่ายมือถือสามารถอยู่ได้ และไม่กระทบกับการใช้งานกับผู้บริโภคคนอื่น ๆ

ซึ่งก็มีหลายบริการที่ยอมจ่ายนะครับจากข่าวที่เกิดขึ้น โดยมีข้อมูลว่า Amazon , Apple และ Facebook นั้นยินยอมจ่ายให้กับทาง SK เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ถือว่า Win-Win ทั้งสองฝ่าย

แล้วคุณล่ะ คิดว่าธุรกิจบริการทางอินเทอร์เน็ตที่ใช้ทราฟฟิกสูง ๆ อย่าง Netflix ควรที่จะจ่ายเงินให้กับเจ้าของเครือข่ายบรอดแบนด์ หรือ เครือข่ายมือถือหรือไม่? เพราะอะไร?

References :
https://www.facebook.com/MarketThinkTH/posts/4326537110771980
https://www.theverge.com/2021/10/1/22704313/sk-broadband-netflix-suing-for-payment-squid-game