Squid Game vs 13 เกมสยอง กับความเหมือนที่แตกต่าง สู่ Soft Power อันทรงพลังของประเทศเกาหลีใต้

ต้องบอกว่าเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวที่คล้ายกัน และมีพล็อตที่ดูคล้ายคลึงกันมาก ๆ สำหรับซีรีส์ชื่อดังที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้อย่าง Squid Game กับภาพยนต์ระดับตำนานเรื่องนึงของไทยที่ไปคว้ารางวัลมามากมายอย่าง 13 เกมสยอง ที่นำแสดงโดยกฤษฎา สุโกศล แคลปป์ และกำกับโดยคุณมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

เราได้เห็น message หลักที่ทั้งสองเรื่องต้องการสื่อ ไม่ว่าจะเป็น เกม เงินรางวัล ผู้เข้าร่วมเกมที่เป็นคนที่ต้องการเงินอย่างสิ้นหวัง แม้รายละเอียดปลีกย่อยจะมีความแตกต่างกันมาก แต่ผมมองว่ามันเป็นพล็อตที่คล้ายกันอย่างเหลือเชื่อ

ซึ่งหลังจากดู ซีรีส์ Squid Game จบ ผมเลยต้องกลับไปหาดู 13 เกมสยองอีกครั้ง ที่เป็นภาพยนต์ที่ได้รับรางวัลมากมาย ในปี 2006 และเป็นอีกหนึ่งภาพยนต์ไทยที่ผมชอบลำดับต้น ๆ เลยทีเดียว

ด้วยความเหมือนที่แตกต่าง ต้องบอกว่า รายละเอียดปลีกย่อย รวมถึงคุณภาพด้านโปรดักชั่น ที่เกาหลีสามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม จึงไม่แปลกใจว่าทำไมมันถึงได้ฮิต จนขนาดที่ว่าไปแย่งทราฟฟิกจากบริการอื่น ๆ ของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศเกาหลีใต้เลยทีเดียว

แถมตอนนี้มันกำลังกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก ที่เรียกได้ว่าติดเทรนด์ซีรีส์ยอดฮิตในเกือบทุกประเทศเลยก็ว่าได้ กลายเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งนึงของวงการบันเทิงเกาหลีใต้ หลังจากก่อนหน้านี้ที่ภาพยนต์อย่าง Parasite ที่ได้รับรางวัลออสการ์ในปี 2020 มาแล้ว

ภาพยนตร์ Parasite ที่ประกาศศักดาคว้ารางวัลใหญ่ในเวทีออสการ์มาแล้ว (CR:bloomberg)
ภาพยนตร์ Parasite ที่ประกาศศักดาคว้ารางวัลใหญ่ในเวทีออสการ์มาแล้ว (CR:bloomberg)

Soft Power อันทรงพลังของประเทศเกาหลีใต้

ต้องบอกว่าก่อนหน้าที่วงการภาพยนต์ หรือ ซีรีส์จะโด่งดัง เกาหลีก็ได้ส่งวัฒนธรรม K-pop ที่ปรกติจะบุกไปทั่วเอเชีย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แค่เพียง เอเชีย อีกต่อไป เพราะวัฒนธรรมนี้ มันได้บุกไปถึง อเมริกา และ ยุโรป ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องธรรมดาจริง ๆ สำหรับการดังขึ้นมาเปรี้ยงปร้างอย่างรวดเร็วของวงการบันเทิงเกาหลี ที่กลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มูลค่ามหาศาลครอบคลุมไปทั่วโลก

แรกเริ่มเดิมทีนั้น วัฒนธรรมทางด้านเพลงของเกาหลี ก็ถูกกำหนดโดยรัฐบาล ซึ่งในยุคนั้นรัฐบาลยังควบคุมระบบการออกอากาศแทบจะทั้งหมดของทุกสื่อในประเทศ

มันไม่มีทีท่า ว่าเกาหลีจะพัฒนาวัฒนธรรมด้านบันเทิงหรือ K-Pop มาได้ไกลถึงเพียงนี้ ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงนั้น เป็นเรื่องยากที่จะเกิดวัฒนธรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่การปรากฏตัวของ Seo Taiji &Boys ทางทีวี ในฤดูใบไม้ผลิปี 1992

มันได้กลายเป็นช่วงเวลาสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ความเจริญทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ มันคือสิ่งที่มีโอกาสเป็นไปได้ มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง กับกรอบความคิดเดิม ของวัฒนธรรมดนตรีของเกาหลี และที่สำคัญมันยังเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทั้งหมดของเกาหลีขึ้นมาใหม่ด้วย

รัฐบาลเกาหลีได้เริ่มมองเห็นว่า วัฒนธรรม อาจเป็นสินค้าส่งออกที่ยิ่งใหญ่ลำดับถัดไปของประเทศได้ มีการปรับแก้ไขกฏหมายเพื่อสนับสนุนผลงานด้านดนตรีและศิลปะ โดยจะเป็นการสละเงินงบประมาณ อย่างน้อย 1% ให้กับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมนี้

รัฐบาลเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับพลังของ Soft Power (CR:overseas.mofa.go.kr)
รัฐบาลเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับพลังของ Soft Power (CR:overseas.mofa.go.kr)

และตอนนี้พลังของ Soft Power ของเกาหลีใต้นั้น มันกำลังแพร่กระจายไปยังคอนเท้นต์อื่น ๆ ทั้งภาพยนต์ หรือ ซีรีส์ เรียกได้ว่าครอบคลุมวงการบันเทิงแทบจะทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจ ก็คือ Netflix ได้กล่าวว่า ธุรกิจของพวกเขาได้เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ถึง 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และการจ้างงานจำนวนมหาศาลในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้

ความบันเทิงเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดของเกาหลีควบคู่ไปกับเทคโนโลยี จำนวนคนงานในบริการสร้างสรรค์และศิลปะเพิ่มขึ้น 27% ระหว่างปี 2009 ถึง 2019

ขณะที่ในภาคการผลิต ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนดั้งเดิมสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้น 20% ในช่วงเวลาเดียวกัน ตามข้อมูลจากเว็บไซต์สถิติของเกาหลี ในรายงานเมื่อเดือนที่แล้ว Netflix กล่าวว่าได้ช่วยสร้างงานเต็มเวลา 16,000 ตำแหน่งในเกาหลีตั้งแต่ปี 2016

อุตสาหกรรมด้านคอนเทนต์ของเกาหลีมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับภาคการผลิตที่มีขนาดใหญ่มหึมา แต่ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การส่งออกคอนเทนต์มีมูลค่ารวม 10.8 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว หรือราว 1 ใน 10 ของธุรกิจชิป ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของเกาหลี แต่มีรายได้มากกว่าสินค้าส่งออกที่สำคัญอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องสำอาง

มูลค่าการส่งออกความบันเทิงของเกาหลี ซึ่งรวมถึงสิ่งพิมพ์ เกม เพลง ภาพยนตร์ และรายการทีวี เพิ่มขึ้น 6.3% ในปีที่แล้ว แม้ในขณะที่การจัดส่งสินค้าโดยรวมลดลง 5.4% เนื่องจากการระบาดใหญ่

แม้แต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวข้องกับกระแสเกาหลีที่เรียกว่า เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และอาหาร ก็เพิ่มขึ้น 5.5% ในปีที่แล้ว ตามรายงานของมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศแห่งเกาหลี 

บทสรุป

ส่วนตัวผมก็มองว่าพลัง Soft Power ของประเทศไทยเราเอง ก็มีศักยภาพที่จะเติบโตอีกมาก ผมเคยดูในช่อง youtube ที่นำเสนอดาราของประเทศเรา เมื่อไปออกงานต่าง ๆ ในภูมิภาคของเรา โดยเฉพาะในอาเซียน ก็พบว่า กระแสดความนิยมของดาราไทย หรือ คอนเทนต์จากไทย ก็แรงไม่แพ้กัน

หรือแม้กระทั่งในประเทศจีนเอง ก็มีความสนใจในคอนเทนต์จากประเทศไทยอยู่มาก แม้จะไม่เท่าเกาหลีใต้ก็ตามที แต่ก็เป็นโอกาสใหญ่มาก ๆ ของประเทศเราเหมือนกัน หากมีการผลักดันให้เกิดขึ้นแบบบูรณาการเหมือนที่เกาหลีใต้ทำสำเร็จ

หากภาครัฐมีความจริงจัง และสนับสนุนอย่างเป็นระบบเหมือนที่เกาหลีใต้ทำ และเจียดเม็ดเงินมาสนับสนุน ตามสัดส่วน GDP ที่เหมาะสม ในอนาคตเราอาจจะไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักเหมือนในทุกวันนี้ ซึ่งเมื่อเจอโรคระบาด ก็ได้เกิดเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจในประเทศ

ส่วนตัวผมเองก็มองว่าประเทศเราก็มีดีพอ ไม่แพ้ชาติใดนะครับ สำหรับเรื่องพลังของ Soft Power และยังมีโอกาสและตลาดใหญ่ ๆ อีกมากสำหรับคอนเทนต์จากประเทศไทยที่จะเติบโตได้ แล้วคุณล่ะคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ อย่าลืมมาแสดงความคิดเห็นกันนะครับผม

References : https://www.bloombergquint.com/pursuits/k-pop-to-squid-game-lift-korean-soft-power-and-the-economy