Search War ตอนที่ 2 : Google Search

ในปี 1997 เพจและบริน ได้ทำการพยายามที่จะขายแนวความคิดของ PageRank ให้กับบริษัทหลายแห่ง เพราะพวกเขาทั้งสองไม่ได้ต้องการเข้าสู่วงการธุรกิจเลยเสียด้วยซ้ำ โดยทั้งคู่ได้พยายามขายให้กับยักษ์ใหญ่ทางด้านการค้นหาในขณะนั้นอย่าง Excite และ Yahoo

ซึ่งไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ดูเหมือน คู่หู ลาร์รี่ เพจ และ เซอร์เกย์ บริน ในตอนนั้นยังไม่ได้สนใจจะเข้าสู่โลกของธุรกิจนัก พวกเขาต้องการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ก็จริง แต่อยากทำในด้านวิชาการมากกว่า ทั้งสองก็ยังถกเถียงกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คอมพิวเตอร์ ปรัชญา หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เพิ่งคิดได้ พวกเขาจะเถียงกันเอาเป็นเอาตาย แต่ใช้เหตุผลมาสู้กัน เพราะพวกเขานั้นถือเป็นยอดอัจฉริยะทั้งคู่ที่ดูเหมือนจะไม่มีใครยอมใครได้เลย

ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยี PageRank ที่ทั้งสองคิดนั้นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ แต่ด้วยกระแสตอนนั้น ที่ยังไม่มีใครรู้จัก Search Engine มากนัก ซึ่งทั้ง Excite และ Yahoo นั้นก็มองว่ายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องซื้อโปรแกรม Search Engine ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะทั้งสองต่างมีเครื่องมือของตัวเองอยู่แล้ว

Yahoo ของ เจอร์รี่ หยาง นั้น ดูเหมือนจะเป็นผู้ที่เหมาะสมที่น่าจะสนใจ Google เพราะตอนนั้น Yahoo เป็นเพียงเว๊บ ไดเรคทอรี่ ที่จัดโดยบรรณาธิการ ซึ่งเว๊บไซต์กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และในท้ายที่สุด มนุษย์จะไม่สามารถคัดกรองเหล่าเว๊บไซต์หน้าใหม่ที่มีเข้ามาทุกวันได้อีกต่อไป

แต่ดูเหมือนแนวคิดของ Yahoo จะต่าง เพราะพวกเขาอยากให้ผู้ใช้อยู่กับ เว๊บไซต์ Yahoo นาน ๆ แต่การมีส่วนของการค้นหาแบบที่ Google ทำนั้น เป็นการส่งผู้ใช้งานไปยังเว๊บไซต์อื่นๆ  โดยรวดเร็ว ซึ่งดูจะไม่เหมาะกับโมเดลธุรกิจของ Yahoo ในตอนนั้น

Jerry Yang ไม่ได้สนใจ Google เลยด้วยซ้ำ โดยมองว่าไม่ตรงกับ Business Model ของ Yahoo
Jerry Yang ไม่ได้สนใจ Google เลยด้วยซ้ำ โดยมองว่าไม่ตรงกับ Business Model ของ Yahoo

หลังจากถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าอยู่เป็นเวลาหลายเดือน บริน และ เพจ ก็เริ่มท้อแท้ผิดหวัง แต่พวกเขาก็ยังมีความมุ่งมั่น โดยเริ่มมาปรับปรุงหน้าเว๊บ Google ให้ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้งานก่อน และยังไม่ตัดสินใจเรื่องอนาคตว่าจะทำอย่างไรต่อกับ Google ดี

ซึ่งในฤดูร้อนปี 1998 เพจและบรินนั้นแทบจะหมดตัว ทั้งคู่รูดบัตรเครดิตจนแทบจะหมดตัวเพื่อหมุนมาใช้งานเพื่อพยุงโปรแกรมค้นหาของพวกเขาให้เดินต่อไปข้างได้ให้ได้ ถึงขนาดที่ว่าโต๊ะทำงานชิ้นแรกนั้น ได้ใช้ประตูที่พาดบนขาตั้งของโต๊ะเลื่อยไม้เพื่อให้ทำงานได้เท่านั้น

ซึ่งพวกเขาได้เก็บเรื่องราว ๆ ต่างของโปรเจคลับนี้ ไม่ให้แพร่งพรายให้ใครรู้ด้วยซ้ำ 
โดยชื่อแรกของโปรแกรมค้นหาตัวนี้คือ “แบ็ครับ” และเพจ คิดว่ามันต้องมีชื่อใหม่ที่เรียกง่าย ๆ พวกเขาและทีมวิจัย ได้คิดชื่อต่าง ๆ มากมายจนไอเดียสุดท้ายคือ กูเกิลเพล็กส์ ซึ่งคือจำนวนมาก ๆ สุดท้ายได้ตัดมาเหลือแค่ Google

ซึ่งเพจ เห็นว่ามันยอมรับได้และได้รีบไปจดทะเบียนชื่อโดเมน google.com ทันที แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่เขาจดทะเบียนนั้น เป็นสิ่งที่สะกดผิด ที่จริงมันควรจะเป็น G-o-o-g-o-l แต่ทุกอย่างมันเสร็จสิ้นไปแล้ว และต้องเลยตามเลยในชื่อนี้ไปในที่สุด

ทั้งคู่นั้นจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ กับปัจจัยสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ใช้งานในหน้าเว๊บของ google ซึ่งต้องมีความเร็ว โหลดหน้าแรกได้อย่างรวดเร็ว และผลการค้นหาต้องออกมาอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

เพราะตอนนั้นด้วยอินเตอร์เน็ตที่ช้าเหมือนเต่าถ้าเทียบกับปัจจุบัน ทำให้ความเร็วสำคัญแทบจะเท่ากับความถูกต้องของผลการค้นหาเสียด้วยซ้ำ และความแตกต่างที่สำคัญคือหน้าเว๊บที่เรียบง่าย ไม่รบกวนผู้ใช้งาน

ส่วนหน้าตาของเว๊บ Search Engine อื่น ๆ ที่มีอยู่ในตลาดในขณะนั้น ล้วนมีหน้าตาที่แทบจะเหมือนกัน นั่นคือ มีป้ายโฆษณาอยู่ด้านบนสุด มีแท็บ และการแบ่งข้อความในแนวตั้ง คล้าย ๆ ข้อมูลในสมุดโทรศัพท์ หน้าค้นหาของ google จึงได้นำเอาความแปลกใหม่เข้ามาสู่วงการเว๊บอย่างชัดเจน

และด้วยรูปแบบที่ง่ายที่สุด มีแค่ตัวโลโก้กับช่องให้กรอกข้อความค้นหาเพียงเท่านั้น ผู้ใช้จะรู้ทันทีเลยว่านี่คือ Google เพียงแค่เริ่มพิมพ์ในกล่องค้นหา และคลิก และผลการค้นหาจะแสดงให้ผู้ใช้เห็นอย่างรวดเร็ว

และจากความต้องการให้หน้าเว๊บสะอาดและเป็นระเบียบนั้น ทั้งคู่จึงปฏิเสธข้อเสนอกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของ Altavista ที่ต้องการซื้อพื้นที่โฆษณาบนโฮมเพจของ google ในปี 2000

หลังจากได้ทำการเปิดตัวไปได้ไม่นาน ผู้คนบอกปากต่อปากกับอย่างรวดเร็ว google นั้นได้รับการชื่มชมยกย่องเป็นอย่างดีจากผู้ใช้งาน ในเดือน ธันวาคมปี 1998 สก็อตต์ โรเซนเบิร์ก เขียนชมเชยไว้ใน salon.com ว่า “ผมเพิ่งเจอ google เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ผมประทับใจมากกับประโยชน์และความเที่ยงตรง จนกระทั่งเลือกใช้ google เป็นเจ้าแรกทุกครั้งที่ต้องการค้นหา”

แม้โปรแกรมทดสอบรุ่นแรกที่เป็นเบต้า version ของ google นั้นจะมีการทำการ index ข้อมูลจากไซต์ทั่ว www เพียงแค่ 60 ล้านหน้าเว๊บ google ในยุคแรกก็ได้เสนอบริการแบบพิเศษขึ้นมาเช่น Standford Search หรือ Linux Search ที่เจาะกลุ่มลูกค้าในยุคแรก ๆ ของ google เป็นพิเศษ

Standford Search และ Linux Search ที่ Google สร้างมาเพื่อลูกค้ากลุ่มแรก
Standford Search และ Linux Search ที่ Google สร้างมาเพื่อลูกค้ากลุ่มแรก

และ Google ได้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในเดือน กรกฏาคมปี 1999 google ได้บรรลุข้อตกลงในการเป็นโปรแกรมการค้นหาให้กับ NetScape ซึ่งในขณะนั้นกำลังต่อสู้กับ Microsoft ในชั้นศาล 

และเพียงไม่กี่นาทีหลังจากประกาศข้อตกลงดังกล่าวทำให้ มีคนเข้าไปใช้งาน google เพิ่มขึ้นสูงถึง 7 เท่า จนถึงกับว่าต้องปิดการให้บริการกับผู้ใช้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ NetScape ถึง 2 ชม. ซึ่งทำให้ google ได้รับบทเรียนที่สำคัญว่าจะต้องเตรียมความพร้อมให้มากกว่านี้ และนั่นเป็นการล่มครั้งใหญ่ครั้งแรกของ google เลยก็ว่าได้

ในเดือนกันยายายน ปี 1999 google ได้ประกาศว่ามีการค้นหามากถึง 3.5 ล้านครั้งต่อเดือนซึ่งถือเป็นตัวเลขทีสูงมากในขณะนั้น  แม้เชิงสถิตินั้น Yahoo จะเป็นผู้นำในตลาดนี้ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 38 ล้านครั้งต่อเดือน แต่หารู้ไม่ว่าตอนนี้เกมส์ของตลาดการค้นหามันได้ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากกระแสแบบปากต่อปาก และการร่วม Deal ที่ทาง google นั้นวิเคราะห์มาอย่างดีว่าจะทำให้ยอดผู้ใช้งานพุ่งขึ้นแบบฉุดไม่อยู่กับ NetScape แล้ว Microsoft ยักษ์ใหญ่ที่แทบจะครองโลกอยู่ในขณะนั้นกำลังทำอะไรอยู่ ได้ระแคะระคายกับการเกิดขึ้นของ google ครั้งนี้หรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 3 : Search & Microsoft

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Beginning of Search *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Book Review : คิดอย่างผู้นำ ทำอย่าง google

พูดถึง google ในปัจจุบัน คิดว่าคงไม่มีใครในโลกที่ไม่รู้จัก search engine ตัวนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ถือได้ว่าพลิกประวัติศาสตร์ของข้อมูลข่าวสารทั่วโลก ให้ผู้คนทั่วโลกได้เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว และง่ายดายขึ้นมากจากในอดีต

สำหรับหนังสือ คิดอย่างผู้นำ ทำอย่าง google นี้เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องการบริหารภายในบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีของโลกอย่าง Google โดยผ่านคำบอกเล่าของ Jonathan Rosenberg ผู้บริหารระดับสูง และ อดีต CEO บริษัทอย่าง Eric Schmidt ที่บริหาร google มาตั้งแต่ยุคตั้งไข่ในช่วงปี 2002 จนส่งไม้ต่อให้กับผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Larry Page เมื่อไม่นานมานี้

การบริหารหนึ่งในบริษัทที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในโลกเช่น google นั้น คงไม่ง่ายที่จะใช้วิธีการบริหารแบบเดิม ๆ ได้ จะเห็นได้ว่าบริษัท google นั้นค่อนข้างมีแนวคิดบริหารที่ไม่ยึดติดกับตำราเดิม ๆ ของการบริหารบริษัทใหญ่ๆ  ทั่วโลกที่ปฏิบัติตามกันมา google นั้นได้คิดวิธีการบริหารในรูปแบบตัวเองเพื่อบริหารองค์กรที่มีนวัตกรรมเกิดขึ้นตลอดเวลา มีทั้งที่ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่โดยรวมนั้นก็ถือว่า มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมออกมามาย โดย google นั้นเน้นให้พนักงานมีอิสระในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  ได้เสมอ ไม่ยึดติดกรอบเดิม ๆ ทำในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ให้เป็นไปได้อยู่หลาย ๆ ครั้ง

แนวคิดนี้แตกต่างจากบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ที่มีการติดสินใจแบบรวมศูนย์ กว่าจะตัดสินใจกันได้ก็ต้องผ่านการคัดกรองในหลายระดับชั้นมากมาย ทำให้เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการสร้างสิ่งที่เป็นนวัตกรรมออกมา และเนื่องด้วยด้วย แนวคิดที่ยึดผู้บริโภคเป็นอันดับหนึ่ง การสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้ดีที่สุดนั้น ก็จะตามมาด้วยรายได้ที่ตามมาในอนาคตเอง

สำหรับ Eric Schmidt นั้นผ่านการทำงานในระดับสูงทั้ง Sun Microsystems และ บริษัท Novell มาก่อนที่จะเข้ามาทำงานกับ google ซึ่งก็ถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญในการพา google เติบโตอย่างยิ่งใหญ่มาจนถึงปัจจุบันก็ว่า ได้ ซึ่ง Schmidt นั้นได้รับการยอมรับในเรื่องการบริหารทั่วทั้งวงการเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา เขาได้ผ่านการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ มามากมายในการบริหารงาน google ซึ่งหลายครั้งก็มีแนวความคิดที่แตกต่างจากผู้ก่อตั้งคือ Larry Page และ Sergy Brinn ซึ่งมักจะตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ร่วมกัน เช่น นโยบายของการทำตลาดในจีนเป็นต้น ในหนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงหากมีปัญหาในเรื่องการตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ นั้น Schmidt นั้นจะให้ผู้ร่วมก่อตั้งไปตกลงกันเองก่อนเพื่อตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายให้เป็นแนวทางเดียวกัน และไม่ให้มีปัญหาการทะเลาะกันในภายหลัง ซึ่งเป็นปัญหาหลักในหลาย ๆ บริษัททางเทคโนโลยี ที่เมื่อเติบโตสูง ๆ นั้นก็จะมีแนวคิดในการบริหารแตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้ถือว่า Schmidt ทำได้ดีทีเดียวในเรื่องการบริหารภาพรวมไม่ให้มีปัญหา และมุ่งเน้นการพัฒนา google ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วที่สุดเท่านั้น

ส่วนของ Jonathan Rosenberg นั้นก็เป็นผู้ที่บทบาทสำคัญเคียงบ่าเคียงใหล่ กับ Schmidt เสมอมา ตั้งแต่เข้ามาร่วมงานใหม่ ๆ เขามักจะกล่าวถึงรูปแบบของ Smart Creative ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการบริหารบุคคาลากรของ google และเนื่องด้วย แนวคิดแบบ วิศวกรเป็นใหญ่กว่าหน่วยงานอื่นๆ  จึงใช้รูปแบบการบริหารแบบเดิม ๆ ได้ยาก เพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิศวกรระดับหัวกระทิ ในด้าน computer science แทบจะทั้งนั้น เราจะเห็นได้ว่า บริษัทส่วนใหญ่นั้น ไม่ sale ก็ marketing นั้นจะมักขึ้นมาเป็นใหญ่ในบริษัท แตกต่างจาก google หรือบริษัทเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอเมริกา ที่มักจะเป็นพวก computer science ที่เป็นตัวหลักในการบริหารองค์กร และมีอิสระในการคิดนอกกรอบ โดย google นั้นมอบเวลา 20% ให้ทำงานอิสระ ที่เป็นงานสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่งานหลักของตัวเอง ทำให้ในหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ของ google นั้นเกิดจากเวลาส่วนของ 20% นี้นี่เอง

สรุปเนื้อหาหนังสือเล่มนี้นั้นถือว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจสำหรับการบริหารบริษัทที่เป็น startup ด้าน เทคโนโลยี เป็นอย่างยิ่ง บางทีการบริหารแบบเดิม ๆ นั้นก็ไม่สามารถทำให้บริษัทเติบโตรวดเร็วได้อย่าง google ทำ ซึ่งถือว่า แนวคิดในหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ ๆ สามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรของตัวเองได้อย่างดี

เก็บตกจากหนังสือ

  • google นั้นเน้นเรื่อง smart creative เป็นอย่างมากจะเห็นได้จากการกล่าวถึงในหลายๆ บทของหนังสือเล่มนี้
  • การบริหารวิศกรที่อัจฉริยะ จำนวนมากนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยทีเดียว ซึ่งพวกนี้จะมีส่วนผสมของความเป็นศิลปิน และ ความอัจฉริยะ ค่อนข้างสูง
  • 20% ของเวลาในการปฏิบัติงานนั้นได้สร้างสิ่งใหม่ ๆ ออกมาเช่น google earth , adwords algorithm ในบางส่วน