Search War ตอนที่ 9 : Bing (But It’s Not Google)

ในปี 2004 เริ่มมีพนักงานเก่าของ Microsoft ย้ายมาทำงานกับ google มากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขนาดที่ว่า google ได้มาเป็นสำนักงานใหม่ในเมือง ซีแอตเทิล ซึ่งเเป็นฐานที่มั่นใหญ่ และเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ HQ ของ Microsoft เลยก็ว่าได้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนของ Microsoft นั้นย้ายมาอยู่กับ google ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ในขณะที่เดือน พฤศจิกายนในปีเดียวกันนั้น Microsoft ได้ทำการเปิดตัว Search Engine อย่างเป็นทางการอีกครั้ง นั่นก็คือ MSN Search ซึ่งทาง Microsoft ได้คุยโวไว้ว่า “จะให้คำตอบที่เป็นประโยชน์มาขึ้นจากคำค้นหาของผู้ใช้งาน และผู้ใช้งานสามารถควบคุมประสบการณ์การค้นหาของตัวเองได้ดีขึ้น”

แต่ข่าวร้ายก็เกิดขึ้นทันที เพราะหลังจากเปิดใช้งานเพียงชั่วครู่ เว๊บไซต์ก็ล่ม ซึ่งใช้เวลาเป็นวัน ๆ กว่าจะแก้ไขให้มันกลับมาใช้งานได้ปรกติอีกครั้ง เหล่าสื่อชื่อดังต่างสับ Microsoft เละเทะ มันทำให้ความน่าเชื่อถือของ Microsoft ในธุรกิจ Search Engine เสียหายมาก ๆ 

และสิ่งที่ช้ำใจที่สุดคือ ตอนนี้ เหล่าวิศวกรหัวกะทิทั้งหลายต่างรู้ดีว่า Microsoft ไม่ใช่สถานที่ทำงานที่สุดยอดเหมือนในอดีตอีกต่อไป และ google กำลังทำสิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ มีการเปิดโลกของ Software ใหม่ เมื่อเข้าสู่ปี 2005 มีพนังงาน Microsoft กว่า ร้อยคนลาออกไปทำงานกับ google 

ถึงช่วงกลางปี 2005 Microsoft ได้ทุ่มเงินไปกับโปรเจค Underdog ไปกว่า 150 ล้านเหรียญ แต่ดูเหมือนว่า Search Engine ของพวกเขานั้นยังตามหลัง google อยู่ไกลแสนไกล

และแน่นอนว่า เกตส์ เริ่มจะหงุดหงิด ที่ไม่ได้เข้ามาในธุรกิจการค้นหาก่อนคนอื่น และยังมอง google เป็นภัยคุกคามครั้งสำคัญของ Microsoft ซึ่ง เกตส์มองว่า google ไม่ใช่เป็นเพียงแค่โปรแกรมการค้นหาเท่านั้น พวกเขาพยายามใช้การค้นหาไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของ Software และดูเหมือนว่า google จะเป็นคู่แค่ที่เหมือน Microsoft มากกว่ารายอื่น ๆ ที่เขาเคยแข่งด้วย

และ Microsoft คงจะใช้แผนเดิมอีกครั้งไม่ได้อีกแล้วในการให้ Search Engine ของพวกเขา กลายเป็นค่าเริ่มต้นในผลิตภัณฑ์ของพวกเขาอย่าง Internet Exproler เพราะมีความเสี่ยงมากต่อการเจอกฏหมายต่อต้านการผูกขาดทางการค้า เหมือนที่ Windows เคยเจอ ซึ่งดูแล้วมันจะไม่คุ้มเสีย

Microsoft ที่เคยโดนคดีต่อต้านการผูกขาด คงไม่คิดจะใช้วิธีเดิม ๆ เพราะส่งผลเสียอย่างมาก
Microsoft ที่เคยโดนคดีต่อต้านการผูกขาด คงไม่คิดจะใช้วิธีเดิม ๆ เพราะส่งผลเสียอย่างมาก

ในปี 2006 Microsoft ได้ขุนพลคนใหม่อย่าง สตีฟ เบอร์โควิตช์ ที่มาจาก Askjeeves บริษัททางด้าน Search Engine ที่เป็นคู่แข่ง และเขาก็มองว่า Microsoft นั้นหลงใหลใน Software มาเกินไป ซึ่งการตัดสินใจมากมายของ Microsoft นั้นถูกกำหนดโดยเทคโนโลยีไม่ใช่เหล่าผู้บริโภค

มีการเปลี่ยน Brand จาก MSN Search เป็น Windows Live Search ในปี 2007 แต่ถึงตอนนี้ ความพยายามของทีม Underdog ก็ยังไม่บรรลุผล Microsoft ยังคงตามหลัง google อย่าง สุดกู่ google ก็ได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ 

พอดึงเดือนพฤษภาคม ปี 2009 เพียงไม่ถึงสามปีหลังจากเปลี่ยนชื่อเป็น Windows Live Search  ก็ยังไม่มีความก้าวหน้าใด ๆ และไม่มีทีท่าที่จะไล่ตาม google ทันแต่อย่างใด ต่อมาจึงได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “Bing” ซึ่งมาที่มาจาก “But It’s Not Google” และเป็นครั้งแรกที่ทีม Underdog รู้สึกว่าผลงานของพวกเขาหลุดพ้นเงาของ Windows เสียที และมาเกิดใหม่ในชื่อที่มีชีวิตชีวา และ เข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

และถึงตอนนี้ ภายใน Microsoft นั้นเป้าหมายหลักของพวกเขาคือ การแข่งขันกับ google เป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งเหนือสิ่งอื่นใด เพราะ google เริ่มเข้ามารุกรานในตลาดโปรแกรม office หลังจากทำการปล่อยบริการออนไลน์อย่าง google docs ออกมาเรียกได้ว่าเป็นการก้าวขึ้นมาท้าทาย Microsoft โดยตรงเป็นครั้งแรก

ตอนนี้ google เริ่มเปิดแนวรบใหม่ รุกมายังผลิตภัณฑ์หลักอย่างชุดโปรแกรม office ของ Microsoft เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทำให้ทางฝั่ง Microsoft โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เรียกไ้ดว่า google นั้นใช้ Search Engine ผลักดันให้ตัวเองมาสร้างผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งอีกไม่นอนก็คงจะเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Microsoft ทั้งหมด แล้ว Microsoft จะทำอย่างไรต่อ กับความพลาดพลั้งในครั้งนี้ Bing จะกลับมาสู้กับ google ได้อีกครั้งหรือไม่ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 10 : Partnership

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Beginning of Search *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Search War ตอนที่ 8 : Let the war begin!

ในขณะที่ทีม Underdog กำลังรุดหน้าเพื่อแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่างทางเทคนิคของ Search Engine ได้สำเร็จ มันถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ แต่กลับกลายเป็นว่าเหล่าผู้บริหารของ Microsoft นั้นก็ไม่ได้ไว้วางใจทีมของพวกเขาที่กำลังสู้ศึกใหญ่อย่างเต็มที่นัก

เมื่อถึงเดือน ตุลาคม ปี 2003 google ได้เริ่มพูดคุยที่เกียวกับประเด็นในการที่นำเสนอหุ้นออกสู่สาธารณะชน หรือ IPO และตอนนี้เหล่าผู้บริหารของ Microsoft ได้เริ่มหาแผนสำรองโดยเป็นการเริ่มติดต่อกับ google เพื่อเสนอให้เป็นหุ้นส่วนแทน หรือแม้กระทั่งการเข้าซื้อกิจการเลยด้วยซ้ำ

เพราะถ้าเทียบกับสถานะของ Microsoft ในขณะนั้น ที่เป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยี มีเงินทุนอยู่มหาศาล ซึ่งเป็นเม็ดเงินเพียงน้อยนิดหากต้องการเข้า ซื้อกิจการของ google จริง และนี่ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และเร็วที่สุดแล้วในการพา Microsoft เข้าสู่ตลาดการค้นหาที่กำลังกลายเป็นขุมทรัพย์ออนไลน์ใหม่ในขณะนั้น

แต่ข้อเสนอของ Microsoft นั้นทั้งเพจและบริน ดูจะไม่สนใจใยดีเลยด้วยซ้ำ เพราะพวกเขารู้ว่าศักยภาพของ google นั้นมีมากมายมหาศาลแค่ไหน พวกเขาจึงโฟกัสไปที่การเสนอขายหุ้นแก่สาธารณะชนเพียงเท่านั้น

ซึ่งจะทำให้ google ได้รับเงินมากมายมหาศาล เพื่อมาพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงจ้างพนักงานหัวกะทิเพิ่มขึ้น เพื่อพา google ก้าวข้ามไปอีกระดับ ผ่านวัฒนธรรม และ รูปแบบการดำเนินการธุรกิจของพวกเขา ซึ่งหากเลือกทางไปอยู่กับ Microsoft นั้นคงจะไม่ดีต่อ google อย่างแน่นอน

แม้จะปฏิเสธข้อเสนอของ Microsoft แบบไม่ใยดีเลยก็ตาม แต่ Microsoft ก็ยังมั่นใจอยู่ว่า ความอหังการจะทำให้ google นั้นเดินซ้ำรอย NetScape ที่ถูก Microsoft ทำลายอย่างย่อยยับได้อย่างแน่นอน

แต่ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่า NetScape กับ Google นั้นเป็นผลิตภัณฑ์และบริษัทที่แตกต่างกันอย่างมาก และที่สำคัญสิ่งที่ชี้ขาดธุรกิจของ NetScape คือการที่ตัว Browser ของ NetScape นั้นไม่มีการติดตั้งมาตั้งแต่โรงงาน ซึ่งเมื่อ Microsoft ได้ทำการออก Internet Exproler ให้ใช้ฟรี ก็ทำให้ NetScape นั้นเข้าสู่ทางตันทันที

NetScape ที่ถูก Microsoft ปล่อย IE มาตัดราคา จนกลายเป็นอดีต
NetScape ที่ถูก Microsoft ปล่อย IE มาตัดราคา จนล่มสลายเลยทีเดียว

Microsoft นั้นชนะ NetScape ทุกทาง เพราะมีการเขียน software มาอย่างดี และติดตั้งเป็นค่าเริ่มต้นมาพร้อมกับ Windows ได้ ส่วน google นั้นให้บริการฟรีอยู่แล้ว จึงไม่มีทางที่ Microsoft จะมาตัดราคาเหมือน NetScape ได้

ซึ่งมันมีเพียงทางเลือกเดียวที่จะสามารถล้ม google ได้คือ การสร้าง Search Engine ที่ดีกว่า ซึ่งมันเป็นวิธีในการยึดช่องทางหลักในการเข้าเว๊บของผู้ใช้งาน Internet ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นความเคยชิน ก็จะทำให้ google กลายเป็นอำนาจที่ทรงพลังที่สุดในอินเตอร์เน็ตได้ทันที

google นั้นพร้อมที่จะรับผู้ใช้งานจาก MSN เว๊บ Portal ของ Microsoft ในขณะนั้น ซึ่ง google นั้นมีเวลาหลายปีในการทำให้บริการมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยจำนวน Server นับหมื่น ๆ เครื่อง

ในปี 2003 นั้น google ได้เริ่มพัฒนา Bigtable ซึ่งเป็นระบบคลังข้อมูลแบบกระจายสำหรับการจัดการข้อมูลที่จัดโครงสร้างแล้ว ซึ่งระบบดังกล่าวนั้นกลายเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญ ที่ทำให้ google สามารถขยายขนาดได้อย่างมหาศาล ซึ่งแม้จะเป็นผู้นำในบริษัทเทคโนโลยีในขณะนั้น แต่ดูเหมือนว่าในสงคราม Search Engine นั้น Microsoft ยังตามหลัง google อยู่ไกลพอสมควรเลยทีเดียว

และในปึเดียวกันนี่เองที่ google กำลังเติบโตกลายเป็น Brand ยอดนิยมของคนทั่วโลก โดยแต่ละวันจะมีค้นหาข้อมูลด้วยภาษาของตนเองนับสิบ ๆ ล้านครั้งต่อวัน โดย Google สามารถรองรับการใช้งานได้กว่า 100 ภาษา เหล่าผู้คนทั่วโลกต่างใช้ Google ในชีวิตประจำวัน ใช้งานค้นหาทุกอย่างใน Google ตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน อย่างการทำอาหาร เรื่องที่อยู่อาศัย ไปจนถึง การค้นหาค้นคว้าเรื่องการศึกษา ความบันเทิง รวมถึงเรื่องเพศ ก็ตาม

นักธุรกิจ นักลงทุนทั่วโลก รวมถึงเหล่าทนายความของพวกเขา ต่างใช้ Google ในการหาข้อมูลของคู่ค้าก่อนเจรจาการค้าครั้งสำคัญอยู่เสมอ เหล่านักเขียนหนังสือ ต่างค้นหาข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงข้อเท็จจริงโดยใช้ Google

แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐบาล ก็ยังใช้ Google ในการค้นหาเอกสารต่าง ๆ ด้วยตัวเองแทนใช้ผู้ช่วยเหมือนในอดีต วัยรุ่นผู้อยากรู้เนื้อเพลงยอดนิยม ก็แค่ค้นหา จากเนื้อเพลงบางส่วนได้จาก Google แม้กระทั่งสายลับ CIA ยังถึงกับใช้ Google ในการแกะรอยผู้ก่อการร้าย

ดังถึงขนาดที่ว่า เหล่าองค์กรอย่าง NSA , CIA ใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามการก่อการร้าย
ดังถึงขนาดที่ว่า เหล่าองค์กรอย่าง NSA , CIA ใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามการก่อการร้าย

การพัฒนาซอฟต์แวร์ก็ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว วิศวกรไม่ต้องไปนั่งหาข้อมูลในห้องสมุดเหมือนในอดีตอีกต่อไป ปัญหาทางคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง Bug ต่าง ๆ สามารถค้นหาต้นตอได้ผ่าน Google 

คนป่วยใช้ Google ค้นหาโรคจากอาการของตน เหล่านักกีฬาค้นหาอุปกรณ์กีฬา หรือแม้กระทั่งตารางการแข่งขันก็สามารถหาได้จาก Google 

การท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เดิมที่ต้องใช้หนังสือท่องเที่ยวเล่มหนาเต๊อะ แต่ตอนนี้สามารถวางแผนการท่องเที่ยวได้ผ่านการค้นหาข้อมูลสถานที่ต่างๆ  ผ่าน Google การท่องไปในโลกกว้างนั้นไม่ได้เป็นเรื่องยากอีกต่อไป แม้จะเข้าถึงยากเพียงใด ก็สามารถค้นหาข้อมูลได้ด้วย Google

เรียกได้ว่าเมื่อถึงตอนนี้นั้น google ได้กลายเป็น Brand หน้าใหม่ที่คนรู้จักกันทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคำว่า google ได้กลายเป็นเป็นคำสามัญในการค้นหาข้อมูลทาง internet เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ฝาก Microsoft ที่ทีมเฉพาะกิจอย่าง Underdog เพิ่งแก้ปัญหาทางเทคนิคต่าง ๆ ได้เสร็จสิ้นเพียงเท่านั้น ดูเหมือนจะตามหลัง google อยู่ค่อนข้างห่าง แล้ว Microsoft จะแก้สถานะการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นกับบริษัทพวกเขามาก่อนในครั้งนี้ได้อย่างไร โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 9 : Bing (But It’s Not Google)

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Beginning of Search *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Search War ตอนที่ 5 : Money Making Machine

แม้ Search Engine ส่วนใหญ่ในขณะนั้นจะเป็นธุรกิจที่ดูไร้อนาคต ที่ยังมองไม่เห็นโมเดลการทำเงินที่ชัดเจน แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญน่าจะเป็นแบบจำลองของ บิล กรอสส์ แห่งบริษัท Idealab ที่ได้สร้างแบบจำลองที่ฉลาดมาก ๆ สำหรับการโฆษณา โดยเชื่อมผู้โฆษณากับผลการค้นหาของการสอบถามที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้โฆษณาประมูลพื้นที่ในรายการของผลการค้นหา

ฟังดูมันคุ้น ๆ แน่นอนเพราะมันคือต้นแบบของโมเดลทำเงินที่สำคัญของ google อย่าง Adwords นั่นเอง มันเป็นรูปแบบจำลองที่ บิล กรอสส์ สร้างขึ้น ที่ทำให้บริษัทได้เงินมากที่สุดของการค้นหาแต่ละครั้ง เพราะชื่อของผู้โฆษณาที่ประมูลด้วยราคาสูงกว่าจะปรากฏที่ด้านบนของผลการค้นหานั่นเอง

ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่า บิล กรอสส์ ก็ได้ให้บริการแบบนี้ให้กับเว๊บไซต์หลายแห่ง รวมทั้ง Yahoo กับ MSN ของ Microsoft ด้วย ซึ่งในขณะเดียวกันนั้น เพจและบริน ก็กำลังดิ้นรนเพื่อหาวิธีในการสร้างเงินจากโปรแกรมค้นหาของพวกเขาอย่าง google เช่นเดียวกัน

และกรอสส์ ก็ได้เข้าไปพบกับ บรินและเพจหลายครั้งเพื่อเสนอโมเดลดังกล่าว แต่ทั้งคู่นั้นยังไม่สนใจในแนวคิดที่จะทำให้ผลการค้นหาที่ให้ผู้ใช้ ใช้กับแบบฟรี ๆ อยู่นั้น แปลกปลอมไปด้วยผลการค้นหาที่ต้องจ่ายค่าบริการ

ในเวลาเดียวกันนั้น Microsoft เปิดแถลงข่าวอย่างยิ่งใหญ่ ว่า MSN กลายเป็นเว๊บท่าที่ยอดนิยมที่สุดในโลก ซึ่งในปี 2000 มีคนเข้ามาใช้งาน MSN กว่า 201 ล้านคน โดยที่ Microsoft แทบจะไม่ได้สนใจโปรแกรมค้นหาใด ๆ ด้วยซ้ำ เพราะพวกเขากำลังก้าวไปสู่จุดสูงสุดของการเป็นเว๊บ portal ที่ทุกคนทั่วโลกต้องเข้าใช้งาน

ส่วน google นั้นเริ่มที่จนหนทางต้องหาทางสร้างรายได้ให้เร็วที่สุด จึงได้เริ่มพัฒนาแบบจำลองการโฆษณาของตัวเองในชื่อ Adwords ซึ่งใกล้เคียงกับแนวความคิดของ บิลล์ กรอสส์ โดยเปิดตัวในเดือนกันยายนปี 2000 

Adwords ของ google ที่คล้ายแบบจำลองของ บิลล์ กรอสส์
Adwords ของ google ที่คล้ายแบบจำลองของ บิลล์ กรอสส์

และนี่คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สุดของ google เลยก็ว่าได้ วิธีการดังกล่าวนั้น ได้กลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้โฆษณา ถึงตอนนี้ โปรแกรมค้นหาของ Google นั้นทำตลาดแทบจะตลอด 24 ชั่วโมงในทุก ๆ วัน มันมีคำหรือ วลีนับล้านคำ ที่ผู้คนกำลังค้นหา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าและบริการแทบจะทั้งสิ้น ตัวอย่างชื่อสินค้าประจำวันเช่น “Pet food” อาจจะมีราคาประมํูลที่ถูก กว่า คำอย่าง “Investment Advice” ซึ่งเป็นกลไกของตลาดในเรื่องราคาที่ผู้ลงโฆษณายินดีที่จะจ่ายเพื่อให้โฆษณาของตนได้ปรากฏเมื่อมีคนค้นหาคำ ๆ นั้นบน Google

มันทำให้ Google ได้เงินทุกครั้งที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์คลิกบนโฆษณา ที่มันแสดงขึ้นบนผลการค้นหา และมันถูกทำงานแบบอัตโนมัติ โดยระบบการประมูลออนไลน์ ซึ่งมันทำให้ Google มั่นใจได้ว่า จะได้รับราคาที่ดีที่สุดอยู่เสมอ และสร้างกระแสเงินสดปริมาณมหาศาลให้ Google มากขึ้นเรื่อย ๆ 

มันได้ทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย ทั้งระบบทำงานแบบอัตโนมัติ หรือ การเกิดขึ้นของเหล่านักการตลาดมืออาชีพ ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญการทำการตลาดผ่าน Google หรือ เหล่านักสร้าง Content ให้ติดอันดับการค้นหาใน Google ในผลการค้นหาแรก ๆ 

บริษัททั้งขนาดใหญ่ และ ขนาดเล็กนั้น ได้เข้ามาร่วมการประมูลคำหลัก ๆ เหล่านี้ และทำการส่งเงินมาให้ Google ทุก ๆ วันกว่าหลายล้านเหรียญ การที่สามารถเข้าไปใช้งานด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาสื่อเก่า ๆ อย่าง ทีวี หรือ วิทยุ ทำให้ เหล่าธุรกิจขนาดย่อมสามารถที่จะร่วมในการแข่งประมูลคำเหล่านี้ได้

ซึ่งมันชัดเจนเมื่อรายงานทางด้านรายรับของ google ออกมาในปี 2000 ซึ่งอยู่ที่ 24.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีรายรับเพียงแค่ 220,000 ดอลลาร์เพียงเท่านั้น มันคือการเติบโตแทบจะ 100 เท่า จากเวทย์มนต์ของ Adwords 

และเมื่อสามารถสร้างเครื่องจักรทำเงินได้สำเร็จแล้ว เหล่าผู้สนับสนุนรวมถึงนักลงทุนได้พยายามชักจูงให้บริน และ เพจ หาคนมาเป็นประธานบริหาร เพื่อให้มานำบริษัท google ให้เติบโตอย่างมั่นคง

และหนึ่งในตัวเลือกคือ สตีฟ จ๊อบส์ แต่น่าเสียดายที่ตอนนั้นเขาไม่ว่าง จึงต้องหาคนใหม่ ในที่สุดทั้งสองจึงตัดสินใจเลือก เอริค ชมิดต์ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2001 ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทโนเวลล์ (Novell) ซึ่งในอดีตเคยรุ่งเรือง แต่ตอนนี้ต้องมาเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Microsoft และดูเหมือนทุกอย่างจะลงตัว เพราะนักลงทุนก็ชื่อชอบในตัว ชมิดต์ รวมถึงเพจและบริน ก็ดูว่าจะมีเคมีที่ตรงกันกับชมิดต์เช่นกัน ที่สำคัญ ทุกคนต่างมองว่า เขาน่าจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็ก ๆ ที่เป็นหนุ่ม ๆ ไฟแรงใน google ได้

เอริค ชมิดต์ ที่จะมาพา google เติบโตอย่างมั่นคงเพื่อสู่กับ Microsoft
เอริค ชมิดต์ ที่จะมาพา google เติบโตอย่างมั่นคงเพื่อสู่กับ Microsoft

ดูเหมือนว่า ตอนนี้ google ได้ค้นพบเครื่องจักรทำเงิน ที่จะพา google ทะยานไปอีกระดับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ปัญหาเรื่องเงิน คงจะไม่ใช่ปัญหาหลักของ google อีกต่อไป แม้จะดูเหมือนรายได้ 20 ล้านเหรียญเศษ ๆ นี้จะเป็นตัวเลขน้อยนิดกับรายได้ของ google ในปี 2000 เมื่อเทียบกับ Microsoft

ส่วน Microsoft นั้น ดูเหมือนจะภูมิใจกับ MSN เว๊บไซต์ portal หลัก ที่เป็นที่นิยมของผู้คนทั่วโลก ซึ่งแทบจะไม่ชายตามาสนใจโปรแกรมค้นหาเลยด้วยซ้ำ ต้องเรียกว่าตอนนี้ google พร้อมจะพลิกบริษัทให้กลายมาเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่แบบที่เหล่ายักษ์ใหญ่ทั้งหลายแทบจะไม่รู้ตัวแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับ google และ Microsoft จะหันมาสนใจ Search Engine เมื่อไหร่ โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 6 : Unstoppable Growth

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Beginning of Search *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Search War ตอนที่ 3 : Search & Microsoft

ในช่วงขณะที่ google กำลังเริ่มทะยานในธุรกิจด้านการค้นหา แต่ในขณะเดียวกันนั้น Microsoft กำลังเจอคดีที่เกี่ยวกับการต่อต้านการผูกขาดจากศาลรัฐบาลกลางสหรัฐ ซึ่งได้ทำลายชื่อเสียงของ Microsoft ในวงการธุรกิจอย่างย่อยยับ

และการที่ google เป็นบริษัทน้องใหม่เต็มไปด้วยเด็กหนุ่มที่มาพร้อมกับความทะเยอทะยาน มันได้กลายเป็นเรื่องดีสำหรับ ผู้ที่ใช้งาน Search Engine ในยุคแรกที่ต้องการลองของใหม่ทางออนไลน์ในขณะที่กำลังเบื่อกับความยิ่งใหญ่ของ Microsoft ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่า Microsoft นั้นอยู่ไกลเกินไปจนไม่ใส่ใจ หรือ สังเกตเห็น google เลยด้วยซ้ำ

บรินและเพจ เริ่มพยายามสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ เพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาวเข้ามาเปลี่ยนโลกกับเขา ด้วยทุนทรัพย์ที่จำกัดทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างแพง ๆ ได้ แต่พวกเขาได้ สร้างวัฒนธรรมอย่าง การให้หุ้น อาหารและเครื่องดื่มที่ฟรี และ เป้าหมายที่ใหญ่มากของพวกเขาที่จะให้คนทั่วโลกนับล้านได้ใช้งาน google มันก็เป็นแรงดึงดูดสำคัญให้เหล่าคนรุ่นใหม่สนใจจะมาทำงานกับ google มากยิ่งขึ้น

ซึ่งเพจและบริน นั้นคิดอยู่เพียงอย่างเดียวที่จะพัฒนาบริการของเขาให้ดีที่สุด เรื่องการหาเงินนั้นพวกเขายังไม่สนใจใด  ๆด้วยซ้ำในช่วงแรกของการก่อตั้ง Google พวกเขาต้องการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุด ซึ่งทำให้มีผู้ใช้งานใหม่ ๆ เข้ามามาก และเพื่อให้มั่นใจในความแม่นยำ ความเร็วในการตอบสนอง ทั้งสองก็ได้ลงทุนสร้างฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์เพิ่มด้วยเงินที่่หามาได้แทบจะทั้งหมด

ฟากฝั่ง Microsoft นั้นไม่เคยคิดว่าการค้นหาเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และไม่เกี่ยวข้องกับศูนย์ของธุรกิจของตัวเอง Microsoft นั้นผลักให้ส่วนของการค้นหาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกลุ่ม MSN (Microsoft Network) และอยู่นอกผลิตภัณฑ์หลักของ Microsoft

Microsoft โฟกัสใน content online อย่าง MSN มากกว่า
Microsoft โฟกัสใน content online อย่าง MSN มากกว่า

และอีกเหตุผลที่สำคัญนั้น ก็ต้องบอกว่า ในตอนนั้นยังไม่มีใครมองเห็นว่า การค้นหานั้นจะทำเงินได้อย่างไร หากเราลองจินตนาการย้อนกลับไปในยุคนั้น ก็ต้องบอกว่า ก็ไม่มีใครคาดคิดเหมือนกันว่าธุรกิจค้นหานั้น จะทำเงินได้มหาศาลเหมือนในยุคปัจจุบันเช่นนี้

Microsoft นั้นมองหน่วยงานการสร้างโปรแกรมการค้นหา เป็นเพียงหน่วยงานที่มีแต่รายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และไม่รู้วิธีการที่จะทำเงินจากโปรแกรมเหล่านี้ได้อย่างไร Microsoft มุ่งเน้นไปทาง content online เพื่อดึงดูดผู้ใช้งานผ่าน MSN มากกว่า

ซึ่งทุกคนต่างรู้ดีในขณะนั้นว่า Search Engine นั้นไม่มีวี่แววว่าจะทำเงิน เพราะโดยตัวมันเองนั้น เมื่อคนคลิกค้นหาคำค้นหาใด ๆ คนก็จะออกจากเว๊บไซต์การค้นหาเพื่อไปยังเว๊บไซต์ปลายทางอยู่ดี และมันไม่สามารถที่จะควบคุมเว๊บไซต์ปลายทางได้ในขณะนั้น มันจึงเป็นเพียงแค่จุดเชื่อมต่อเพื่อไปยังเว๊บไซต์ปลายทางและสุดท้ายก็ไปสร้างรายได้ให้กับเว๊บไซต์ปลายทางเพียงเท่านั้น

ในขณะนั้น มีเว๊บไซต์มากมายในอินเตอร์เน็ตที่ไม่ใช่ Yahoo.com หรือ MSN.com หรือ Askjeeves.com ซึ่งหากมองถึงพื้นฐานจริง ๆ แล้วนั้นหาก Search Engine ยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเสียโอกาสในการได้โฆษณามากขึ้นเท่านั้น และเหล่านักลงทุนก็มองมันเป็นธุรกิจที่ไม่ก่อรายได้ในยุคนั้น มันเป็นเพียงแค่ของเล่นเท่านั้น

 และแน่นอนว่า Search Engine นั้นไม่ใช่วิถีทางธุรกิจในยุคนั้น แม้กระทั่ง เจอร์รี่ หยาง CEO ของ Yahoo ก็ได้ปฏิเสธ google อย่างไม่ใยดี เพราะคิดว่าเหล่านักท่องอินเตอร์เน็ตคงไม่หาวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ผ่านออนไลน์เหมือนในยุคนี้ 

ซึ่งแนวคิดของ Yahoo จะต่าง เพราะพวกเขาอยากให้ผู้ใช้อยู่กับ เว๊บไซต์ Yahoo นาน ๆ แต่การมีส่วนของการค้นหาแบบที่ Google ทำนั้น เป็นการส่งผู้ใช้งานไปยังเว๊บไซต์อื่นๆ  โดยรวดเร็ว ซึ่งดูจะไม่เหมาะกับโมเดลธุรกิจของ Yahoo ในตอนนั้น

เจอร์รี่ หยาง มองว่า google ไม่ตอบโจทย์ธุรกิจของ Yahoo
เจอร์รี่ หยาง มองว่า google ไม่ตอบโจทย์ธุรกิจของ Yahoo

ซึ่งไม่มีใครในขณะนั้นคิดว่า เราสามารถที่จะสร้างความภักดีของลูกค้าได้ โดยมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แบบที่ google ทำ ซึ่งแน่นอนว่า หากลูกค้าใช้ google แล้วได้สิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่ไปใช้ Search Engine ตัวอื่นนั้นทำไม่ได้ ซึ่งนั่นคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่คนแห่มาใช้ google กันอย่างถล่มทลาย โดยที่เหล่าคู่แข่งแทบจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

ในขณะที่ Microsoft ดิ้นรนต่อสู้ในการพิจารณาคดีของกระทรวงยุติธรรม google ซึ่งอาศัยจังหวะที่ยักษ์ใหญ่กำลังหัวปั่นกับคดีต่าง ๆ และมองข้ามขุมทองคำใหม่บนโลกออนไลน์ ซุ่มพัฒนาและบริการอยู่เงียบ ๆ จนพุ่งทะยานจนใครที่คิดจะตามมาทีหลังนั้น ยากที่จะตาม google ได้ทันอีกต่อไป แล้ว Microsoft จะรู้ตัวเมื่อไหร่ว่ากำลังพลาดตกขบวนรถไฟแห่ง Search Engine ที่กำลังกลายเป็นขุมทรัพย์มหาศาลแห่งใหม่ โปรดอย่างพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 4 : An Engineering Culture

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Beginning of Search *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Image References : https://cdn.vox-cdn.com/thumbor/4auA8IwQPpiBi25jCDejhoI_z8g=/0x0:3200×1800/1200×675/filters:focal(1174×423:1686×935)/cdn.vox-cdn.com/uploads/chorus_image/image/59774405/microsoft_antitrust_getty_ringer.0.jpg

Search War ตอนที่ 1 : The Beginning of Search

ไม่ว่ามันเป็นโชคชะตา หรือ เรื่องบังเอิญให้ ลาร์รี่ เพจ ได้มาพบกับ เซอร์เกย์ บริน ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1995 ปีที่ อินเตอร์เน็ตกำลังเติบโตอย่างสุดขีด มันได้กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนทั่วโลกกับกระแสของ อินเตอร์เน็ตที่เกิดขึ้น

เซอร์เกย์ นั้นเป็นยอดอัจฉริยะทางด้านคณิตศาสตร์ ที่หาตัวจับยากคนหนึ่งในสแตนฟอร์ดเลยก็ว่าได้ เขาสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้วยวัยเพียงแค่ 19 ปีเพียงเท่านั้น เป็นคนที่ชื่นชอบการเล่นกีฬา โดยเฉพาะ ว่ายน้ำ และ ยิมนาสติก เขาเป็นคนชอบเข้าสัมคมมากกว่า ลาร์รี่ ที่ดูเหมือนจะรู้สึกอึดอัดกับการเป็นนักเรียนระดับปริญญาเอกของสแตนฟอร์ด

หลังจากการพบกัน ทั้งคู่ก็เริ่มตัวติดกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน และมักจะทำงานด้วยกันอยู่เสมอ ทั้งคู่มีความคิดว่าอินเตอร์เน็ตนั้นจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ในอนาคตอย่างแน่นอน อินเตอร์เน็ตมันมีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงของโลกให้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

การแจ้งเกิดของ NetScape เว๊บ Browser ตัวแรก  ๆที่สามารถสร้างมูลค่าบริษัทได้กว่าพันล้านเหรียญ ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ทั้งที่ยังไม่สร้างกำไรเลยเสียด้วยซ้ำ ตอนนั้นนักลงทุนต่างพร้อมแล้วที่จะเสี่ยงกับเทคโนโลยีใหม่อย่างอินเตอร์เน็ต ที่กำลังจะมาเปลี่ยนโลก

และเรื่องราวของ NetScape ที่เองที่ทำให้เกิดความคึกครื้นขึ้นกับกระแสของเงินทุน และมันได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ภาควิชาคอมพิวเตอร์ของสแตนฟอร์ด ด้วยเช่นกัน ซึ่งได้เริ่มเป็นที่ฟูมฟักให้เหล่านักธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีหน้าใหม่ที่พร้อมจะเปลี่ยนโลก

NetScape ทำให้กระแสดอทคอมเฟื่องฟู
NetScape ทำให้กระแสดอทคอมเฟื่องฟู

และทั้งเพจและบริน ก็ได้เริ่มทำการสร้าง Index หรือ ดัชนีให้กับเหล่าเว๊บไซต์ทั้งหลายทั่วโลก ซึ่งแม้วิธีเริ่มต้นในสิ่งที่ทั้งคู่ทำนั้นจะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในขณะนั้น มีหลายบริษัทก็ทำอยู่เช่นกัน แต่ปัญหาก็คือ ตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดถึง Model ธุรกิจของ Search Engine ว่าจะทำเงินจากมันได้อย่างไร เพราะกระแสในขณะนั้นกำลังแห่ไปทาง Web Directory อย่าง Yahoo ที่กำลังดังอยู่ในขณะนั้น

เนื่องจากเว๊บเพจได้เริ่มเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดจึงทำให้ Yahoo นั้นได้เริ่มสร้าง Directory ให้กับเหล่าเว๊บไซต์หน้าใหม่เหล่านี้ โดยใช้การคัดเลือกจากบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์ และแน่นอนว่า พอจำนวนเว๊บไซต์ยิ่งมากขึ้น มันก็เริ่มที่จะลำบากขึ้นเรื่อย ๆ ในการคัดเลือกเหล่านี้

อีกฝากฝั่งหนึ่งนั้น Microsoft และเหล่าผู้บริหาร แทบจะไม่ยินดียินร้ายกับการเกิดขึ้นของเหล่าบริการค้นหาทางออนไลน์เลยเสียด้วยซ้ำ ต้องเข้าใจว่า Microsoft นั้นชัดเจนว่าเกิดมาจาก Software ด้านองค์กร ไม่ว่าจะเป็น Windows หรือ ชุด Microsoft Office ซึ่งพวกเขาก็ขายกันไม่ทันอยู่แล้วแค่เพียง product สองตัวนี้

มันไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ว่า Microsoft แทบไม่แยแสกับกระแสออนไลน์ บ้าเห่อ ของเหล่าบริษัทหน้าใหม่ในขณะนั้น เพราะมันมีจำนวนผู้ใช้งานเพียงน้อยนิด และยังไม่มีใครคิดว่าจะทำเงินจากมันได้อย่างไร

แต่ด้วยความเป็นยักษ์ใหญ่ จึงได้ทำการกระจายความเสี่ยงไว้ โดยในปี 1997 นั้น Microsoft ได้สร้างเว๊บท่าขนาดใหญ่ แต่จะใช้บริการค้นหาจริง ๆ ของอีกหนึ่งบริษัทคือ Inktomi ซึ่งตอนนั้นเริ่มทำบริการที่เป็นลักษณะเว๊บ Crawler เพื่อไปดึงดูดข้อมูลต่าง ๆ ทั่ว WWW มาทำ Index หรือดัชนี

Microsoft เริ่มต้นโปรแกรมค้นหาด้วยการพึ่งพา Inktomi
Microsoft เริ่มต้นโปรแกรมค้นหาด้วยการพึ่งพา Inktomi

แต่ Microsoft ก็ไม่ได้เพิ่มเทคโนโลยีการค้นหาที่วิเศษอะไรเลยให้กับ  Inktomi และไม่ได้จริงจังกับมันมากนักในขณะนั้น ทำให้หลาย ๆ บริการค้นหาในออนไลน์ในขณะนั้น แทบจะมีความสามารถไม่ต่างกัน

ซึ่งในรายปลายทศวรรษ 1990 แม้จะมี Search Engine มากมาย เช่น Yahoo , Altavista , Lycos , Excite , AOL , Infoseek แต่ดูเหมือนว่าเหล่า Search Engine เหล่านี้นั้น ไม่มีตัวไหนเลย ที่ทำให้เหล่าผู้บริโภคถูกใจและแก้ปัญหาสำคัญของเหล่า User เมื่อมาค้นหาได้

ตอนนี้ยังไม่มีใครที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งจริง ๆ ในเรื่องการค้นหา ทำให้ผลการค้นหาไม่ได้ดั่งใจคนใช้งานเท่าที่ควร คือมีแค่ให้ใช้ แต่ไม่มีตัวไหนที่ประทับใจผู้ใช้งาน แม้กระทั่ง Microsoft เองก็ตามก็ยังไม่เข้าใจจริง ๆ ของความต้องการของ User

ซึ่งในช่วงเวลานั้นนั่นเอง ขณะที่เหล่าผู้ใช้งานกำลังเบื่อกับ โปรแกรมการค้นหาที่มีอยู่เต็มไปหมดในตลาด เพจและบริน ได้สร้างอัลกอริทึมสำหรับจัดลำดับเว๊บเพจที่เรียกว่า “PageRank” ภายใน Lab ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ซึ่งตอนนั้น พวกเขาทั้งสองเองก็ตามก็ยังไม่รู้เลยว่าสิ่งยิ่งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น การทดลองที่บังเอิญของพวกเขา สิ่งที่ทั้งสองต้องการนั่นคือ การนำไปสู่หัวข้อวิทยานิพันธ์ปริญญาเอก โดยใช้เพจแรงค์ กับ อินเตอร์เน็ต ซึ่งตอนแรกนั้น พวกเขาทั้งสองรวมถึง อาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้คิดถึงการสร้างโปรแกรมค้นหาเลยด้วยซ้ำ แต่เมื่อทำไประยะหนึ่ง กับพบกับความเป็นจริงที่ว่า สิ่งที่พวกเขาร่วมกันสร้าง มันได้ยิ่งใหญ่เกินกว่างานวิชาการเสียแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังจากนั้น อย่าพลาดติดตามชมตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 2 : Google Search