ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 6 : Direct Sales 1.1

แม้ Dell นั้นจะมีจุดเด่นในเรื่องการขายตรงก็ตาม แต่ต้องบอกว่า ในช่วงปี 1994 นั้น ร้านขายปลีกได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนั้นเหล่าคู่แข่งของ Dell กำลังขยายกิจการอย่างบ้างคลั่งผ่านร้านค้าปลีกอย่าง CompUSA หรือ Circuit City

แม้ Dell นั้นจะมีการขายผ่านร้านค้าปลีกอยู่ด้วยก็ตาม และได้เข้าไปในธุรกิจผ่านค้าปลีกนี้กว่า 4 ปีมาแล้ว Michael กลับคิดต่าง โดยคิดที่จะถอนตัวออกจากธุรกิจค้าปลีกที่กำลังแข่งขันกันอย่างเมามันส์

Mort และ Michael นั้น ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างละเอียด และพบว่าแม้จะประสบความสำเร็จจากการขายผ่านเครือข่ายร้านค้าปลีกเหล่านี้ก็ตามที แต่พบว่ากำไรที่ได้นั้นน้อยมาก ๆ และเชื่อว่าเหล่าคู่แข่งของเขาก็แทบจะกำไรน้อยมากเช่นเดียวกัน

Michael จึงได้ทำการตัดสินใจในสิ่งที่ไม่มีใครกล้าทำมาก่อน นั่นก็คือ ถอนตัวออกจากธุรกิจค้าปลีกทันที ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่ารายได้จากธุรกิจค้าปลีกนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยนิดจากรายได้ทั้งหมดในขณะนั้น จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ Dell มากนักอย่างที่นักวิเคราะห์ได้ออกมาโจมตี Dell ในเรื่องดังกล่าว

Dell เลือกจะถอนตัวออกจากการขายผ่านร้านค้าปลีก
Dell เลือกจะถอนตัวออกจากการขายผ่านร้านค้าปลีก

และประโยชน์ที่สำคัญของการถอนตัวออกจากธุรกิจค้าปลีกนั่นก็คือ มันเป็นการบังคับให้ Dell Computer พุ่งเป้าแบบ 100% ไปที่การขายแบบส่งตรง ทำให้พวกเขาโฟกัสกับตลาดนี้มากขึ้น และเป็นตลาดที่พวกเขานั้นแข็งแกร่งเป็นอย่างมากนั่นเอง

ก้าวสู่การขายแบบส่งตรง Version 1.1

ต้องบอกว่าใน version 1.0 ของการขายแบบส่งตรงนั้น Michael ได้กำจัดคนกลางออกไปเพื่อทำการลดต้นทุน และ การปรับเข้าสู่ version 1.1 จะทำให้สามารถยกระดับ Dell ขึ้นไปอีกขั้นด้วยการลดต้นทุนชิ้นส่วนที่ไม่มีประสิทธิภาพออกไปนั่นเอง

ซึ่งรูปแบบการผลิตการสินค้าแบบเดิมนั้น การผลิตสินค้าโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น CPU , RAM , Harddisk หรือ การ์ดแสดงผล

ซึ่งแน่นอนว่าการผลิตแต่ละรุ่นออกมานั้น ก็มักจะต้องการทำกำไรจากรุ่นนั้น ๆ ให้มากที่สุด เพราะมีการลงทุนมากมายตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด และร้านค้าปลีกก็ต้องพยายามขายรุ่นนั้น ๆ ออกไปให้มากที่สุดแม้จะมีการผลิตรุ่นใหม่มาแล้วก็ตามที

และหากตัวเครื่องรุ่นเก่าเริ่มขายไม่ออก ก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ต้องเก็บสินค้าคงคลังเครื่องรุ่นเหล่านี้ไว้ และต้องนำออกขายแบบลดราคา เพื่อทำการระบายสต๊อกออกไปให้ได้ ซึ่งปรกติในธุรกิจคอมพิวเตอร์นั้น หากร้านค้าปลีกไม่สามารถขายได้ตามราคาที่ตั้งไว้ โรงงานผู้ผลิตก็จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าส่วนต่างเหล่านี้แทน (ชดเชยเงินให้กับร้านค้าปลีก)

แน่นอนว่าบริษัทที่มีการจำหน่ายซับซ้อนและมากมายหลายขั้นตอนนั้น มักจะส่งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล้าสมัยแล้วไปเก็บไว้ที่ร้านค้าปลีก เพื่อทำการโละสต๊อกเครื่องรุ่นเก่าที่ล้าสมัย และเป็นการนำเงินสดเข้าสู่บริษัท ซึ่งระบบดังกล่าวนั้นไม่มีประสิทธิภาพ เป็นการผลักภาระสินค้าให้ผู้จำหน่าย ซึ่งสุดท้ายมันก็จะส่งผลร้ายต่อทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงลูกค้าที่ได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์ตกรุ่นไปใช้นั่นเอง

เนื่องจาก Dell นั้นผลิตตามคำสั่งซื้อจากลูกค้าโดยตรง ทำให้ไม่มีสินค้าที่ประกอบสำเร็จรูปเหลือในแต่ละวัน และเนื่องจากได้มีการปรับระบบให้ผู้ส่งชิ้นส่วนส่งเฉพาะชิ้นส่วนที่ต้องการ จำนวนวัตถุดิบที่ต้องเก็บไว้จึงลดน้อยลงมาก และทำให้ส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้รวดเร็วมากขึ้น

และแน่นอนมันส่งผลต่อลูกค้าทันที ลูกค้ามีความสุขมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของ Dell ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นสินค้าทางด้านเทคโนโลยีที่มีการตกรุ่นอย่างรวดเร็ว การปรับรูปแบบครั้งนี้ ทำให้ Dell สามารถส่งเครื่องที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดให้ลูกค้าได้เร็วกว่าคู่แข่งอีกด้วย

Direct Sales 1.1 ที่ปรับเรื่องการจัดการชิ้นส่วนจากเหล่าผู้ผลิต
Direct Sales 1.1 ที่ปรับเรื่องการจัดการชิ้นส่วนจากเหล่าผู้ผลิต

และมันส่งผลสำคัญถึงสินค้าในคงคลังที่ลดน้อยลง ทำให้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดการสินค้าคงคลังลดลง ซึ่งแน่นอนว่าในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์นั้น ชิ้นส่วนต่าง ๆ มีราคาลดลงอย่างรวดเร็วตามเวลาที่ผ่านไป

และการปรับครั้งนี้จะทำให้ผู้ส่งชิ้นส่วนต่าง ๆ สามาาถนำเสนอชิปที่ทำงานได้รวดเร็วกว่า ฮาร์ดดิสก์ขนาดใหญ่กว่า หรือโมเด็มที่ทำงานได้เร็วกว่าอยู่ตลอดเวลา เมื่อเทียบกับคู่แข่งนั่นเอง

ตัวเลขที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ในปี 1993 Dell มียอดขาย 2.9 พันล้านเหรียญ และมีสินค้าคงคลังเพื่อรอขายจำนวน 220 ล้านเหรียญ และหลังจากนั้น 4 ปีในปี 1997 หลังจากมีการปรับใช้การขายแบบส่งตรง version 1.1 นั้น ทำให้ Dell สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 12.3 พันล้านเหรียญ และมีสินค้าคงคลังเพื่อรอขายจำนวน 223 ล้านเหรียญ และมีของรอในสินค้าคงคลังน้อยกว่า 8 วัน ถือเป็นก้าวครั้งสำคัญมาก ๆ ของบริษัทในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินในการขายแบบส่งตรงครั้งนี้

ต้องเรียกได้ว่าการปฏิวัติการขายตรงใน version 1.1 ของ Dell ในครั้งนี้ ทำให้สามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทได้อย่างชัดเจนมาก ๆ และ จากยอดขายระดับพันล้านเหรียญ ก็สามารถพุ่งขึ้นไปสูงถึงระดับหมื่นล้านเหรียญได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก ๆ ที่ Dell สามารถก้าวมาได้ถึงจุดได้อย่างรวดเร็ว แต่มันก็ยังมีอีกหนึ่งตลาดที่สำคัญ ที่จะทำให้ Dell กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่มาต่อกรกับ ยักษ์ใหญ่ในวงการตัวจริงอย่าง IBM หรือ HP ได้ แล้วตลาดนั้นคืออะไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 7 : Winners Take All

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.emprende.cl/michael-dell-la-mezcla-perfecta-entre-pasion-estrategia-y-juventud/

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 5 : Future Plans

ตั้งแต่ได้มืออาชีพอย่าง Tom Meredith เข้ามาช่วยเรื่องการเงินก็ทำให้ Dell Computer นั้นเริ่มหันมาเน้นการเติบโตให้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการก็คือ มีเงินสดที่ใช้หมุนในกิจการ สร้างกำไร และ การเติบโตอย่างยั่งยืนนั่นเอง

ข้อดีของการได้มืออาชีพที่มีประสบการณ์ มาช่วยเหลือองค์กรของ Dell ก็คือ การมาช่วยปรับโครงสร้าง สร้างระบบและกระบวนการ จ้างพนักงาน รักษา และทำการพัฒนาทักษะของเหล่าพนักงานให้ดียิ่งขึ้นไป พร้อมที่จะสู่กับคู่แข่งไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ขนาดไหน Dell ก็พร้อมที่จะสู้แล้ว

ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 1993 ถือเป็นช่วงที่ท้าทายบริษัทมากที่สุด Michael ได้เริ่มที่จะร่างแบบแผนเพื่อปรับโครงสร้างของบริษัท และหนึ่งในสิ่งที่สำคัญก็คือ เขาเสนอที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก

Michael นั้นรู้ดีว่าในบริษัทของเขานั้น บางแผนกทำเงิน และมีอีกหลายแผนกที่ไม่ทำเงิน แต่เขาก็ไม่รู้ได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นแผนกไหนบ้าง ดังนั้นเขาจึงได้เลือกบริษัท Bain & Company เข้ามาช่วยเหลือ เพื่อทำการตรวจสอบ

Bain & Company ที่เป็นบริษัท Consult มาช่วยเหลือ Dell
Bain & Company ที่เป็นบริษัท Consult มาช่วยเหลือ Dell

ตัว Michael และผู้บริหารระดับสูงได้ทำงานกับ Bain โดยทำการแบ่งบริษัทออกเป็นส่วน ๆ ทำให้สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจนว่า ธุรกิจส่วนไหนที่ประสบความสำเร็จที่แท้จริง และส่วนไหนที่ไม่ประสบความสำเร็จ

และเมื่อเขาได้รู้ว่าส่วนไหนของบริษัทที่ไม่ทำเงินนั้น ก็จะทำการศึกษาและหาทางปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น และหากยังไม่ได้ผลอีก ก็จะปิดส่วนนั้นไปทันที และมาตรการดังกล่าวหลังจากมาทำการวิเคราะห์อย่างแท้จริงนั้นได้ยกระดับบริษัท Dell ให้มีประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างเหลือเชื่อ

ซึ่งเหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ทั่วไป ที่ Dell Computer มีการแยกการทำงานออกเป็นแผนกต่าง ๆ เช่น แผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ แผนกการเงิน แผนกขาย และการตลาด และแผนกการผลิต ซึ่งเมื่อบริษัทเติบโตขึ้น ต่างฝ่ายต่างแข่งขันกัน ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานเป็นทีมขึ้น

และตัวของ Michael เองก็ไม่ต้องการเจอสภาพเดียวกับหลาย ๆ บริษัทที่ต้องพบเจอเมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น มีตัวอย่างหลายบริษัทที่พุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และ ล้มหายตายจากไปเพียงในระยะเวลาไม่นานเช่นเดียวกัน หรือ บริษัทที่เหล่าผู้ก่อตั้งถูกขับจากบริษัทตัวเองที่สร้างมากับมือ Michael ไม่ต้องการที่จะเจอสภาพเดียวกับ สตีฟ จ๊อบส์ ที่ถูกขับออกจาก Apple ในปี 1985 หรือ กรณีของ รอด แคนนอน กับ compaq เคยเจอมานั่นเอง

แน่นอนว่าเขาต้องจ้างเหล่ามืออาชีพมาช่วยเหลือเขาให้มากที่สุด Mort Topfer เป็นอีกหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงที่เข้ามาร่วมกับ Dell ในปี 1994 ตัว Mort เองนั้นเคยเป็นรองประธานบริษัทโมโตโรล่า และเป็นผู้นำของบริษัททางด้านอุปกรณ์สื่อสารและข้อมูลภาคพื้นดิน

เขามีประสบการณ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานแบบแผนกไปสู่การทำงานแบบองค์กรโครงสร้างใหญ่ ๆ นั่นเป็นเหตุให้ Michael ต้องพึ่งพา Mort ในปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรครั้งใหญ่นั่นเอง

โดย Michael นั้นจะมุ่งไปดูเรื่องผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และกลยุทธ์โดยรวมของบริษัท เป็นหลัก โดยให้ Mort มาดูแลเรื่อง Operation การขาย การตลาด เป็นหลักในฐานะรองประธานของบริษัท

Mort Topfer ที่เป็นมือดีมาช่วยงาน Michael Dell
Mort Topfer ที่เป็นมือดีมาช่วยงาน Michael Dell (ภาพจาก GettyImages)

ในปี 1994 นั้นดูเหมือนบริษัท จะอยู่ในเส้นทางที่สดใสมากขึ้น หลังจากได้เหล่ามืออาชีพเข้ามาช่วย Michael ในการกำหนดทิศทางของบริษัท และเป็นครั้งแรกที่มีการวางแผนงานของบริษัทได้เกินกว่า 12 เดือน และมีเวลาในการศึกษาศักยภาพของธุรกิจในระยะยาวได้อย่างจริงจังนั่นเอง

Mort นั้นชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องทำงานอย่างมีระเบียบ และวางแผนมากขึ้น ซึ่งแผนงานนั้นไม่ได้กำหนดเฉพาะรายไตรมาสเท่านั้น แต่ต้องดำเนินเรื่อย ๆ และไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะภายในบริษัทเพียงเท่านั้น แต่ต้องเกี่ยวข้องกับทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ค้าส่ง ลูกค้า ไปจนถึงเหล่าพนักงานในทุกระดับ

ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทสามารถวางแผนสามปีล่วงหน้าได้ ซึ่งรวมถึงประเด็นที่สำคัญ ๆ ไมว่าจะเป็น เกี่ยวกับองค์กร ระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างองค์กร รวมถึงโอกาสในการเติบโต มองปลีกย่อยไปถึง ส่วนแบ่งการตลาดในแต่ละประเทศ แต่ละผลิตภัณฑ์ รวมถึงการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของคู่แข่ง รวมถึงเรื่องสำคัญอย่าง เรื่องต้นทุน ที่สามารถจะแข่งขันได้นั่นเอง

ซึ่งแน่นอนว่า กุญแจความสำเร็จจริง ๆ ของการวางแผนต่าง ๆ เหล่านี้ให้สำเร็จก็คือ แผนที่แม้จะมีความท้าทาย แต่สามารถทำได้จริง และมีข้อมูลที่ดีที่จะนำมาวิเคราะห์ ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญนี้ Dell มุ่งหน้าสู่บริษัทที่บริหารงานโดยใช้ข้อมูลอ้างอิงเป็นหลัก เพราะข้อมูลถือเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดที่ไม่ทำให้บริษัทเดินไปในทางที่ผิดนั่นเอง

และแน่นอนว่า แผนงานต่าง ๆ นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เหล่าพนักงานของ Dell ทำงานโดยมีเป้าหมาย และมีเป้าหมายเดียวกันทั้งทีม ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญที่จะทำให้พวกเขาสามารถทำได้สำเร็จนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทไหนก็ตามที่ต้องการเติบโตต่อไปนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ

มาถึงตอนนี้จะเห็นได้ว่า Michael นั้นต้องการให้ Dell เป็นองค์กรที่มีความยั่งยืน และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่ได้ จึงได้พยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะปรับองค์กร และจ้างมืออาชีพมาช่วยจัดการให้องค์กรของเขา มีประสิทธิภาพพร้อมที่จะแข่งขันในระยะยาวได้นั่นเอง ดูเหมือนทุกอย่างจะเริ่มลงตัว แล้วแผนต่อไปของ Michael คืออะไร จะพา Dell ไปถึงจุดสูงสุดได้แค่ไหน โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 6 : Direct Sales 1.1

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://ries.typepad.com/ries_blog/2009/07/the-demise-of-dell.html

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 4 : The Professional

ต้องบอกว่าถ้า Dell ยังเป็นบริษัทขนาดเล็ก ๆ อยู่ และไม่ยอมเติบโต คงจะถูกกำจัดออกจากตลาดไปนานแล้ว และแน่นอนว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น ก็ได้สร้างปัญหาได้เช่นกัน เนื่องจากโครงสร้างบริษัท ที่จะรองรับยอดขายระดับ 2-3 พันล้านเหรียญนั้น มันคงใช้รูปแบบเดิม ๆ เหมือนช่วงแรก ๆ แล้วไม่ได้นั่นเอง

และก็เป็นชายที่มีนามว่า Tom Meredith ที่ได้เข้ามาแก้ปัญหาใหญ่ที่ Dell กำลังพบเจอในครั้งนี้ โดย Michael ได้ทำการดึงตัว Tom มาจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Sun Microsystems โดยให้มารับหน้าที่ CFO ของ Dell Computer ที่กำลังเติบโตแบบฉุดไม่อยู่

ซึ่ง Tom ได้เป็นคนเตือน Michael เองว่า ไม่ช้าก็เร็ว Dell จะต้องพบกับปัญหา และมันก็มาถึงอย่างรวดเร็วในปี 1993 ซึ่งบริษัทกำลังมีแผนนำหุ้นออกขายอีกครั้ง เพื่อหาเงินสดเข้ามาใช้ในบริษัท แต่สถานการณ์ในตอนนั้น ราคาหุ้นลดลงเหลือเพียงแค่ 30.08 เหรียญเท่านั้น

และมันทำให้แผนการหาเงินสดผ่านการระดมทุนในตลาดหุ้นถูกยกเลิก จนทำให้ Dell ไม่มีเงินสดที่จะใช้ในการหมุนเวียน และหลังจากนั้นไม่นาน บริษัทก็ต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานที่ขาดทุนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัท

Tom นั้นได้ทำการเปลี่ยนลำดับความสำคัญในเรื่องการเงินใหม่ โดยทำให้การเติบโตช้าลง แต่สม่ำเสมอ และมีเงินสดเหลือตลอดเวลาแทน และเมื่อแก้ปัญหาเรื่องเงินสดได้ ค่อยไปให้ความสำคัญกับกำไร และสิ่งสุดท้ายคือการเติบโต แทนที่จะตั้งหน้าตั้งโตให้เติบโตอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งแผนที่เขาให้ Michael จัดลำดับความสำคัญก็คือ มีเงิน -> มีกำไร -> และเติบโต นั่นเอง

Tom Meridith ผู้มาแก้ปัญหาใหญ่อย่างเรื่องการเงินให้กับ Dell ในยุคนั้น
Tom Meridith ผู้มาแก้ปัญหาใหญ่อย่างเรื่องการเงินให้กับ Dell ในยุคนั้น

และในขณะที่กำลังเจอพายุมรสุมทางด้านการเงิน สถานการณ์ก็ย่ำแย่ขึ้นอีกเมื่อต้องมาเผชิญกับวิกฤตเรื่องเครื่องคอมพิวเตอร์ Notebook ซ้ำเข้ามาอีก

ถึงแม้ Dell จะเข้าไปในตลาด Notebook ตั้งแต่ปี 1988 ก็ตามที และได้มีการพัฒนาปรับปรุงเครื่องอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อสร้าง Notebook ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ยิ่งจะทำให้นำเครื่องออกสู่ตลาดได้ช้าลง เพราะเสียเวลาในการแก้ไขเรื่องต่าง ๆ นานเกินไป

และต้นตอของปัญหาก็คือ พนักงานในแผนก Notebook ส่วนใหญ่นั้นมาจากแผนก PC แบบตั้งโต๊ะ ซึ่งพยายามยัดเยียดทุกอย่างเข้าไปเหมือนกับ PC ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันดูล่าช้าไปหมดเมื่อต้องมาทำใน Notebook

ในเดือนเมษายน ปี 1993 Michael จึงได้ทำการจ้าง John Medica ซึ่งเคยทำงานในแผนกพัฒนา Notebook ที่ apple มาก่อน ให้มารับผิดชอบแผนก Notebook แทน ซึ่งจากการเข้ามาของ John นั้นพบว่า จากสายการผลิตทั้งหมดของ Notebook พบว่า มีเพียงรุ่น Latitude XP เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ที่สามารถผลิตได้จริง

การได้มืออาชีพอย่าง John เข้ามาทำให้ Michael ตัดสินใจกับสถานการณ์ในตลาด Notebook ได้ดีขึ้น โดยให้ทีมงานโฟกัสแค่เฉพาะในรุ่น Latitude XP เท่านั้น เพื่อให้ออกสู่ตลาดได้ และทำการขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรให้ผลิตเครื่อง notebook รุ่นพื้นฐานอื่น ๆ ออกไปก่อน เพื่อให้ Dell ตั้งหลักได้ก่อนนั่นเอง

ซึ่งสุดท้าย เมื่อทำการพุ่งความสนใจไปที่โครงการเดียวอย่าง Latitude XP นั้น แทนที่จะทำโครงการอื่นวุ่นวายไปเสียหมด และเมื่อเหล่าพนักงานได้ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว พวกเขาก็สามารถผ่านวิกฤตมาได้ และ Lattitude ก็ประสบความสำเร็จในตลาดในที่สุดนั่นเอง

และต้องบอกว่ากุญแจที่สำคัญอีกประการที่ทำให้ Notebook รุ่น Latitude นั้นโดดเด่นเหนือใครในตลาด คงจะอยู่ที่ แบตเตอรี่ ลิเธียมไออน

ในปี 1993 หลังจากที่ Dell ได้ไปเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นเพียงไม่นาน Michael ก็ได้มีโอกาสเจอกับทีมวิศวกรจาก Sony ที่มานำเสนอเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ ที่ทาง Sony วิจัยและพัฒนาขึ้นมา

ซึ่งขณะนั้น ลูกค้าที่ใช้ Notebook ทุกคนนั้นรู้ดีว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดอันดับหนึ่งคือ เรื่องของ แบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้นาน ๆ ซึ่งเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในยุคนั้นสามารถใช้งานได้ไม่เกิน 2 ชม.เสียเป็นส่วนใหญ่

แต่สิ่งที่วิศวกรจาก Sony ได้แสดงให้ Michael ได้เห็นคือ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ ลิเธียมไออนใหม่ ที่สามารถทำงานได้นานกว่าเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ทั่วไปในยุคนั้น ซึ่งตอนนั้น Sony ได้วางแผนที่จะใช้ แบตเตอรี่ใหม่นี้ใน โทรศัพท์มือถือและกล้องวีดีโอของพวกเขา

และแน่นอนว่า แบตเตอรี่ ลิเธียมไอออนนี้เป็นของใหม่ที่ยังไม่มีใครผลิตได้มาก่อนในยุคนั้น และ Michael มองว่าหาก Sony เลือกผลิตให้ Dell ก็คงไม่มีเวลาไปผลิตให้คนอื่นอย่างแน่นอน และใช้เวลาอย่างน้อยเป็นปีกว่าคู่แข่งจะตามเขาได้ทัน ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของ Michael ในการเลือกใช้ แบตเตอรี่ลิเธียมไออนให้กับ Notebook Dell Latitude ที่ทำให้ Notebook ของ Dell นั้นได้เปรียบคู่แข่งทันทีในเรื่องของระยะเวลาการใช้งานและน้ำหนักที่เบากว่านั่นเอง

ซึ่งในที่สุด เครื่อง Notebook Latitude XP ก็ถูกนำออกสู่ตลาดในเดือนสิงหาคมปี 1994 โดยในงานเปิดตัวนั้น Dell ได้เชิญผู้สื่อข่าว เข้ามาทำข่าวมากมาย ประมาณ 50 คนจากสื่อทั่วประเทศ

Dell Latitude XP Notebook รุ่นตำนานที่ทำให้ Dell แจ้งเกิดในตลาด Notebook ได้สำเร็จ
Dell Latitude XP Notebook รุ่นตำนานที่ทำให้ Dell แจ้งเกิดในตลาด Notebook ได้สำเร็จ

โดย Michael เลือกให้เหล่านักข่าวนั้นมารวมตัวกันที่สนามบิน JFK เพื่อทำการมอบเครื่อง Latitude XP ที่บรรจุโปรแกรมพื้นฐานอย่าง Microsoft Word และพาเหล่านักข่าวเหล่านี้บินตรงสู่เมืองลอสแองเจลลิส โดยให้นักข่าวเล่นเจ้าเครื่อง Notebook ตัวใหม่นี้ระหว่างเดินทาง

ซึ่งแน่นอน ระยะทางจากสนามบิน JFK ไปยังเมืองลอสแองเจลลิส นั้นใช้เวลากว่า 5 ชม. ทำให้ Notebook Latitude XP ได้สร้างสถิติการใช้งานนานที่สุด เหล่านักข่าวจากสื่อต่าง ๆ ต่างทึ่งในความสามารถของแบตเตอรี่รุ่นใหม่นี้

หลังจบงาน สื่อได้ประโคมข่าวเรื่องดังกล่าวไปทั่วประเทศ ทำให้เครื่อง Notebook Latitude กลายเป็นสินค้าขายดีแบบฉุดไม่อยู่ จากเดิมที่ Dell มีรายได้จากตลาด Notebook เพียง 2% แต่หลังจากออกวางจำหน่าย Latitude XP ทำให้รายได้จาก Notebook นั้นสูงขึ้นไปถึง 14% เลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นการแจ้งเกิดครั้งสำคัญใน Notebook ของ Dell นับจากนั้นเป็นต้นมานั่นเอง

ต้องบอกว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของ Michael Dell ที่ได้นำเหล่ามืออาชีพมาแก้ไขปัญหาของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงินจาก Tom Meredith หรือ การพลิกตลาด Notebook จาก John Medica ที่ทำให้ Dell สามารถก้าวข้ามความเป็นบริษัทขนาดเล็ก ขึ้นมาเป็นบริษัทมืออาชีพแบบเต็มตัวได้สำเร็จ แล้วสถานการณ์ของ Dell จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรมาฉุดพวกเขาอยู่ได้อีกต่อไป อย่าพลาดติดตามต่อตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 5 : Future Plans

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.worthpoint.com/worthopedia/vintage-dell-latitude-xp-475c-486dx4-1878927317

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 3 : Billion Dollar Company

ตั้งแต่ Dell Computer ได้ก่อตั้งขึ้นมาจนถึงปี 1990 นั้น บริษัทเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยสูงถึง 97% ต่อปี ซึ่งรวมถึงตัวเลขของผลกำไรสุทธิก็เติบโตได้ในลักษณะเดียวกัน มันคือจุดแข็งของ Dell ในยุคแรก ๆ เป็นความสำเร็จที่ฉายภาพซ้ำ ๆ ในตลอดทุก ๆ ปีในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัท

เหมือนดูจะไม่มีปัญหากับการเติบโต แต่ในที่สุด การเติบโตของ Dell นั้นก็กลายเป็นจุดอ่อนที่เริ่มเห็นแผลครั้งแรกในช่วงปี 1989 เมื่อบริษัทกำลังพบกับปัญหากับการ stock ชิ้นส่วนที่เป็นวัตถุดิบในการประกอบคอมพิวเตอร์มากเกินไป

ปัญหาคือชิ้นส่วนที่ตกรุ่นเร็วเช่น Ram ที่ เมื่อออกรุ่นใหม่ก็ต้องซื้อในราคาแพง แต่เพียงไม่นานมันก็ตกรุ่นอย่างรวดเร็ว และปัญหานี้นี่เองที่ทำให้ ชิ้นส่วนเหล่านี้เหลืออยู่ในสินค้าคงคลังเต็มไปหมด ทำให้ Dell เริ่มสูญเสียเงินจากเรื่องเหล่านี้ไปจำนวนมหาศาล

เมื่อเจอแผลแรกแล้วนั้น ก็ได้เกิดวิกฤติอีกครั้งในโครงการที่ถูกเรียกชื่อว่า Olympic ที่สร้างคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะแบบครอบจักรวาล ตั้งแต่ผู้ใช้ทั่วไปจนถึงระดับการใช้งานในเครือข่ายขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นโครงการใหญ่ โครงการแรกของ Dell เลยก็ว่าได้ แต่กลับกลายเป็นว่า คอมพิวเตอร์ครอบจักรวาลเหล่านี้คือสิ่งสุดท้ายที่ลูกค้าต้องการ ทำให้โครงการนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ปัญหาเรื่องสินค้าคงคลังที่ทำให้ Dell เกิดภาวะถดถอย
ปัญหาเรื่องสินค้าคงคลังที่ทำให้ Dell เกิดภาวะถดถอย

และจากความล้มเหลวเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ Michael ตัดสินใจที่จะสร้างแผนก R&D ขึ้นมาเพื่อค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยีของตัวเองขึ้น มุ่งให้ความสนใจกับเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ และที่สำคัญคือเป็นการช่วยพิจารณาว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำนั่นเอง

ตั้งแต่ช่วงปี 1990-1992 เป็นปีที่ให้บทเรียนครั้งสำคัญแก่ Michael Dell ที่เขาต้องมาแก้ปัญหาทั้งเรื่องสินค้าคงคลัง รวมถึงโครงการอย่าง Olympic ที่ฉุด Dell Computer ให้ดูล้าหลังกว่าคู่แข่งอยู่ประมาณ 3 ปี

ซึ่งหลังจากภาวะถดถอย 3 ปี Dell ก็ตั้งหลักใหม่ได้สำเร็จ และกลับมาเดินหน้าสร้างความสำเร็จได้อีกครั้ง โดยบริษัทได้กลับมาเป็นผู้นำในตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ รวมถึงตลาด Notebook ได้อีกครั้ง

และการตัดสินใจครั้งสำคัญของ Michael Dell ที่นำพาบริษัทกระโจนเข้าสู่ตลาด Server ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ครั้งสำคัญของ Dell และการขยายสาขาไปทั้งในยุโรปตะวันตก และ ยุโรปกลาง รวมถึงแผนการที่จะขยายตลาดไปยังทวีปเอเชียอีกด้วย

ตอนนั้น มันเป็นทางแยกครั้งสำคัญของบริษัทหากต้องการเติบโต ก็ต้องลุยแบบเต็มที่ เพราะการไม่สนใจที่จะเข้าสู่ตลาดโลกนั้น สุดท้ายอาจจะทำให้บริษัทถูกกลืนกินจากบริษัทยักษ์ใหญ่ได้นั่นเอง

แม้ในช่วงดังกล่าว Dell Computer จะมียอดขายถึง 1 พันล้านเหรียญต่อปี แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่เล็กน้อย เมื่อเทียบกับคู่แข่งระดับโลก และแนวโน้มในขณะนั้นดูเหมือนว่าการถูกรวมบริษัทนั้นเป็นไปได้สูงเลยทีเดียว

และแน่นอนว่าด้วยพื้นฐานสำคัญของระบบส่งตรงของ Dell ที่คิดค้นไว้นั้น ทำให้ Dell แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ

และในช่วงที่ Microprocessor รุ่นใหม่อย่าง 486 ได้ออกมาทำการตลาดนั้น Michael Dell ได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทไปยังเทคโนโลยีใหม่นี้ก่อนใคร ทำให้ Dell ได้เปรียบคู่แข่งอยู่มาก ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญเพราะ Microsoft ก็ออก Windows รุ่นใหม่ออกมาพอดี ทำให้คนทั่วไปเริ่มต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงมาใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows ของ Microsoft นั่นเอง

Windows ใหม่ของ Microsoft ที่ทำให้ลูกค้าต้องการคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง
Windows ใหม่ของ Microsoft ที่ทำให้ลูกค้าต้องการคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง

ในปี 1992 หลังผ่าน วิกฤติครั้งสำคัญต้องบอกว่า Dell ได้ปรับกลยุทธ์ทางด้านราคาใหม่ เพื่อเร่งการเติบโตให้เร็วขึ้น ซึ่ง Michael ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น สามารถทำยอดขายเพิ่มจาก 880 ล้านเหรียญไปเป็นมากกว่า 2 พันล้านเหรียญ ด้วยอัตราการเติบโตที่สูงถึง 127%

ซึ่งเมื่อสิ้นสุดปี 1992 อัตราการเติบโตของ Dell ก็เรียกได้ว่าแข็งแกร่งสุด ๆ บริษัทมีรายได้กว่า 2 พันล้านเหรียญ และมันโตเกินกว่าขนาดของบริษัทเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบโทรศัพท์ ระบบการเงิน ระบบ support ต่าง ๆ เรียกได้ว่าตอนนี้ได้ใช้งานจนถึงขีดจำกัดของมันแล้ว

และที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องคน เพราะบริษัทได้เติบโตเกินกว่าที่กำลังคนที่มีอยู่จะรับมือต่อไปไหว และที่สำคัญ ตัว Michael เองก็แทบจะไม่มีประสบการณ์ในการบริหารบริษัทขนาด 2 พันล้านเหรียญมาก่อน แทบจะไม่มีพนักงานคนไหนปรับตัวได้ทันกับการเติบโตในระดับนี้ ถึงเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือแล้ว และจะเป็นใครที่จะมาช่วยเหลือ Michael ในการจัดการบริษัทที่เติบโตรวดเร็วเช่นนี้ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 4 : The Professional

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.networkmiddleeast.com/593261-dell-drama-sees-rise-of-new-alliance

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 2 : Going Public

ธุรกิจคอมพิวเตอร์ของ Michael Dell นั้นเป็นไปตามที่เขาคิดไว้ เพราะกิจการของเขานั้นเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ๆ ในช่วงแรกของการก่อตั้งนั้นแทบจะไม่มีระบบคอมพิวเตอร์มารองรับคำสั่งซื้อจำนวนมาก แต่ด้วยจำนวน order ที่มีเข้ามามากมายทำให้ Michael ต้องเดินไปรับคำสั่งซื้อจากพนักงานขาย เพื่อรวมรวมคำสั่งซื้อเหล่านี้ไว้บนแผ่นดิสก์ แล้วจึงนำไปประมวลในฐานข้อมูลต่อไป

เพียงแค่หนึ่งเดือนหลังจากย้ายจากหอพักมาอยู่ที่สำนักงานขนาด 1,000 ตร.ฟุต บริษัท Dell Computer ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนต้องย้ายไปอยู่สำนักงานแห่งใหม่ขนาด 2,350 ตร.ฟุต และหลังจากนั้นเพียงไม่นานก็ต้องย้ายอีกครั้งไปอยู่สำนักงานขนาด 7,200 ตร.ฟุต

และในที่สุดเมื่อถึงปี 1985 บริเวณพื้นที่เดิมของบริษัท ก็ไม่สามารถรองรับไหว ทั้ง infrastructure พื้นฐานอย่างโทรศัพท์ รวมถึงโครงสร้างองค์กรที่ขณะนั้นเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ Michael ต้องพาทีมงานย้ายไปอยู่สำนักงานที่ใหญ่พอ ๆ กับสนามฟุตบอล เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เข้ามาอย่างมหาศาล

และด้วยการที่กิจการขยายอย่างรวดเร็ว ทำให้ Michael เองก็ต้องรับพนักงานเพิ่มอีกจำนวนมาก ทั้งนักบัญชี นักการตลาด หรือแม้กระทั่งฝ่าย IT เองก็ตาม ซึ่งตอนนั้น ก็จะกวาดต้อนเอาหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสมาแทบจะทั้งหมดในทุกสาขาที่เขาต้องการ

และด้วยความที่ Michael เองนั้นเป็นคนที่ทำงานแบบลงมือปฏิบัติจริง และ เห็นผลจากการปฏิบัตินั้นจริง ๆ ทำให้เขาคิดตลอดเรื่องการที่จะทำให้ Dell Computer ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร

และจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้ Dell Computer มีชื่อเสียงด้านบริการมาจวบจนถึงปัจจุบันนั้นต้องบอกว่ามาจากวัฒนธรรมตั้งต้นของบริษัท ที่ Michael สร้างมานั่นเอง ในบริษัทนั้น ทีมงานด้านการขาย ซึ่งอาจจะต้องมาประกอบเครื่องด้วยตัวเองในบางครั้ง แม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบงานแบบนี้ก็ตามที แต่มันทำให้พวกนักขายเหล่านี้ได้รู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้ดีขึ้นนั่นเอง และที่สำคัญยังทำให้ได้รู้ว่า ลูกค้าใช้ข้อมูลอะไรบ้างในการตัดสินใจซื้อคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง

ในปี 1986 บริษัทก็ได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพเข้าไปอีกขั้นเมื่อได้ทำการจ้าง Lee Walker มาเป็นประธานบริษัท ซึ่ง Lee นั้นเป็นคนที่มีประสบการณ์สูงมาก เคยทำงานกับบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่มาหลายแห่ง

โดย Lee ทั้งทำหน้าที่ในการช่วยจัดหาเงินทุนเพื่อมาลงทุนเพิ่มเติม รวมถึงการกำหนดรูปแบบคณะกรรมการบริษัทขึ้นมา และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทเพิ่มมากขึ้น เพราะ Lee นั้นเป็นมืออาชีพตัวจริงคนแรก ๆ ที่ได้ร่วมงานกับ Dell Computer

หลังจากนั้น Michael ก็ได้เริ่มสร้างต้นแบบของการขายตรงที่มีชื่อว่า “Direct From Dell” ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการขายให้กับลูกค้าโดยตรงแบบไม่ผ่านตัวแทน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ สำหรับธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีกลุ่มลูกค้าตั้งแต่บุคคลทั่วไป จนถึง บริษัทขนาดใหญ่ที่ติดอันดับ Fortune 500

ในขณะที่คู่แข่งนั้นต่างคิดเองว่า คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องนั้นจะต้องมีส่วนประกอบอะไรบ้าง แต่ Michael กลับคิดต่าง เพราะลูกค้าจะบอกเองว่าพวกเขาต้องการอะไร ซึ่งที่ Dell นั้นเสนอแม้กระทั่งการทำคอมพิวเตอร์แบบพิเศษให้เฉพาะลูกค้าแต่ละราย

Direct From Dell ที่เน้นขายตรงให้กับลูกค้า
Direct From Dell ที่เน้นขายตรงให้กับลูกค้า

และเป็นเหตุให้ Dell ไม่จำเป็นต้องมีคลังสินค้าขนาดใหญ่เพื่อเก็บสินค้าเหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งในตลาด และสามารถทำราคาได้ดีกว่ามาก และได้ฐานข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการจากลูกค้าได้โดยตรง

การที่ได้ติดต่อกับลูกค้าโดยตรง ทำให้สามารถรู้ถึงความต้องการในตลาดได้ สามารถคาดเดาว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการคืออะไร เพราะคอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ระบบส่งตรงของ Dell จึงเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญที่ทำให้ Dell Computer นั้น เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

และเมื่อถึงสิ้นปี 1986 Dell Computer มียอดขายรวมประมาณ 60 ล้านเหรียญต่อปี ตอนนั้นสถานการณ์ของ Dell อยู่ในจุดที่ดีมาก ๆ เหล่านักลงทุนเริ่มสนใจจะมาลงทุน ธนาคารก็ต้องการปล่อยกู้กับให้ Dell Computer เรียกได้ว่าตอนนั้น Dell เริ่มเนื้อหอมมาก ๆ ในสายตาเหล่านักลงทุน

ในปี 1987 Dell Computer ได้ขยายกิจการไปยังทวีปยุโรป ได้เปิด Dell UK ขึ้นที่ประเทศอังกฤษ แม้จะโดนสื่อมวลชนจากอังกฤษ สบประมาท ในกลยุทธ์เรื่องการส่งตรงที่ได้ผลดีในอเมริกา แต่เหล่าสื่อกลับมองว่า เป็นแนวคิดที่ใช้ไม่ได้ที่อังกฤษ เพราะในอังกฤษไม่มีใครซื้อคอมพิวเตอร์จากโรงงานโดยตรง

แต่ลูกค้าในอังกฤษกลับไม่คิดอย่างงั้น พวกเขารู้ดีว่าต้องการอะไรที่แท้จริงจากธุรกิจคอมพิวเตอร์ และ Dell ก็สามารถให้พวกเค้าได้ ซึ่งบริษัท Dell UK นั้นสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่เปิดดำเนินการวันแรกมาจวบจนถึงปัจจุบัน ที่สามารถสร้างรายได้ไปกว่าหลายหมื่นล้านเหรียญ

และมันทำให้ Michael Dell นั้นคิดถึงการที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนมาสร้างความเติบโตให้กับบริษัท และเพิ่มเครดิตจากบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเหล่าลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติมแทบจะทั้งสิ้น

และเป็น Lee ที่จัดการเรื่องดังกล่าว และมีการแต่งตั้งบริษัทเงินทุนเข้ามาจัดการเรื่องดังกล่าว และในเดือนมิถุนายนปี 1988 บริษัทสามารถเพิ่มทุนได้อีก 30 ล้านเหรียญ ซึ่งทำให้มูลค่ากิจการของ Dell Computer มีมูลค่าสูงถึง 85 ล้านเหรียญ และก้าวเข้าสู่หลักไมล์ครั้งสำคัญในการเป็นบริษัทมหาชนได้สำเร็จ

ต้องบอกว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก กับการสร้างธุรกิจด้วยเงินทุนเพียง 1,000 เหรียญ ของ Michael Dell ใช้เวลาเพียงแค่ 3 ปี ก็สามารถทำให้ Dell Computer กลายเป็นบริษัทมหาชนได้สำเร็จ ซึ่งสิ่งที่ Dell ทำนั้นกลายเป็นต้นแบบที่ปฏิวัติแนวคิดทางธุรกิจคอมพิวเตอร์ที่ใคร ๆ เคยทำมาก่อนจนหมดสิ้น แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Dell Computer หลังจากได้รับเงินทุนมหาศาลเพื่อมาขยายกิจการ โปรดติดตามในตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 3 : Billion Dollar Company

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.varchev.com/en/strong-earnings-power-global-shares-higher/