LinkedIn ยังถอดใจ กับท่าทีที่เปลี่ยนไปของรัฐบาลจีน

มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับการประกาศถอนตัวจากตลาดประเทศจีนของบริการจากอเมริกาที่เหลือรอดอยู่เพียงหนึ่งเดียวอย่าง LinkedIn ที่ต้องเผชิญกับปัญหามากมายในข้อกำหนดด้านการปฏิบัติตามกฏระเบียบที่มากขึ้นในประเทศจีน

ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียน blog ที่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ทำไม LinkedIn ถึงสามารถบุกตลาดจีนได้สำเร็จ แต่ตอนนี้ดูเหมือนความพยายามทุกอย่างของ LinkedIn กว่า 7 ปีที่ผ่านมา สุดท้ายก็มีจุดจบไม่ต่างจากสิ่งที่ Facebook , Google , Youtube หรือ แม้กระทั่ง Reddit เจอ

ยุทธศาสตร์ที่ Conflict

ในปี 2014 เมื่อ LinkedIn ได้ทำการเปิดตัวเว็บไซต์ในประเทศจีนเป็นครั้งแรก ทาง CEO อย่าง Jeff Weiner ได้กล่าวว่า “LinkedIn จะมีความโปร่งใสเกี่ยวกับวิธีการดำเนินธุรกิจในประเทศจีน

หลังจากนั้นก็เป็น Weiner เองที่ประกาศออกมาว่า “LinkedIn สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกอย่างยิ่ง และไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจีน”

แต่บริษัทก็ได้ออกมาระบุในภายหลังว่า จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐบาลจีนเพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศพวกเขาได้

 Jeff Weiner ต้องยอมรับความจริงที่ว่าพวกเขาพ่ายแพ้ในตลาดจีน (CR:Vulcan Post)
Jeff Weiner ต้องยอมรับความจริงที่ว่าพวกเขาได้พ่ายแพ้ในตลาดจีน (CR:Vulcan Post)

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ Conflict กันเอง มีการสนับสนุนเสรีภาพ ไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์จากรัฐบาลจีน แต่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดขอบรัฐบาลจีน มันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน และทำให้ LinkedIn ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ยาก ซึ่งสุดท้ายก็โดนรัฐบาลจีน สั่งบล็อก โดยเฉพาะโปรไฟล์ของนักข่าวชาวอเมริกันหลายคน ซึ่งถือเป็นการเซ็นเซอร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าของรัฐบาลจีน จนเกิดคำถามขึ้นของเหล่าผู้ใช้งานมากมายในแพลตฟอร์ม

เมื่อรัฐจีนควบคุมบริษัทเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น

เราจะเห็นได้จากข่าวที่ทยอยปล่อยออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แค่ไหนในธุรกิจเทคโนโลยีของจีน ก็ไม่รอดพ้นเงื้อมมือของรัฐบาล และถูกเล่นงานตามกันไปหมด

ซึ่งนั่นเป็นเคสของบริษัทเทคโนโลยีในประเทศยังโดนหนักขนาดนั้น ไม่ต้องนึกถึงสภาพของ LinkedIn ที่เป็นบริการจากอเมริกาว่าจะโดนหนักขนาดไหน โดยเฉพาะเรื่องการเข้ามาเซ็นเซอร์ข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

แม้ LinkedIn เองจะช่วยให้สมาชิกผู้ใช้งานชาวจีนหางานและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้มากมาย แต่เรื่องของสังคมและการแบ่งปันข้อมูลนั้น เรียกได้ว่า LinkedIn ล้มเหลวเป็นอย่างมาก

พวกเขาต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ท้าทายยิ่งขึ้นมาก และข้อกำหนดด้านการปฏิบัติตามกฏระเบียบที่มากยิ่งขึ้นในประเทศจีน หลังรัฐบาลจีนต้องการมาจัดการบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

บทสรุป

ก่อนหน้านี้ LinkedIn แทบจะเป็นปราการด่านสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ของบริการออนไลน์จากอเมริกา ที่มาบุกตลาดจีน แต่สุดท้ายแม้จะพยายามปรับตัวและลงทุนไปมากแค่ไหน จุดจบก็ไม่ต่างจากบริการอื่น ๆ จากเพื่อนร่วมชาติไม่ว่าจะเป็น Twitter , Facebook หรือ Google ที่ชิงหนีออกไปก่อนนานแล้ว

เพราะฉะนั้น บริการออนไลน์ต่างๆ จากต่างประเทศ ที่คิดจะบุกไปตลาดขนาดใหญ่อย่างประเทศจีน คงเป็นเพียงแค่ฝัน เพราะ LinkedIn ที่แม้พยายามปรับตัวทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมจีน การตั้งผู้บริหารที่เป็นคนจีนเองมาดูแล ก็ยังไม่สามารถฝ่าฟันให้เอาชนะอุปสรรคอันยิ่งใหญ่จากรัฐบาลจีนได้

ซึ่งตอนนี้ ธุรกิจเทคโนโลยีของจีน อยู่ในภาวะที่ไม่มีความแน่นอนเป็นอย่างยิ่ง แม้กระทั่งบริการในประเทศเอง ก็ยังไม่ทราบชะตากรรมอนาคตของตัวเองที่ชัดเจนนัก

ซึ่งแม้จะเหลือพื้นที่ให้ธุรกิจเทคโนโลยีที่ไม่ใช่บริการออนไลน์ อย่างในกรณีของ Apple ที่เน้นขาย Hardware ที่ดูเหมือนจะไปได้ดีในตลาดจีน

แต่ในอนาคตมันก็ไม่มีความแน่นอนอีกต่อไป การอยู่ในอำนาจเป็นเวลานานของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง จนสามารถควบคุมทุกอย่างได้แบบเบ็ดเสร็จแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้สิ่งที่คิดว่ามีความแน่นอน ในอนาคตมันก็อาจจะไม่มีความแน่นอนอีกต่อไปนั่นเองครับผม

References :
https://www.forbes.com/sites/dereksaul/2021/10/14/linkedin-leaves-china-following-charges-of-censorship
https://www.axios.com/linkedin-unanswered-questions-china-censorship-56b75495-230c-4dc2-9a29-6a35e2f8cec0.html
https://www.wsj.com/articles/microsoft-abandons-linkedin-in-china-citing-challenging-operating-environment-11634220026
https://www.ft.com/content/d5cc7987-9d41-44c3-a6bf-7947c03b9cf9