ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 5 : The Outsourcer

ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงปีแรกที่ Cook ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple เห็นผลอย่างชัดเจนกับผลิตภัณฑ์เรือธงตัวใหม่อย่าง iMac ซึ่งทำให้ Apple สามารถสร้างกำไรได้ 309 ล้านเหรียญ เมื่อสิ้นปี 1998 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ Apple สามารถสร้างการเติบโตได้เร็วกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม

แม้จะมีกำไร แต่ Cook ก็ยังพยายามหาวิธีที่จะประหยัดในทุกวิถีทาง Cook ได้ตรวจสอบความสามารถของผลิตภัณฑ์แต่ละตัวของ Apple และทำการถ่ายเทงานออกไปให้กับซัพพลายเออร์ภายนอกให้มากที่สุด โดยไม่ให้สูญเสียคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดั่งที่ Jobs ต้องการ

โดยผลิตภัณฑ์ตัวหลักอย่าง iMac นั้นเดิมที ได้ว่าจ้างให้ LG บริษัทจากเกาหลีใต้ที่ตอนแรกทำเพียงแค่หน้าจอและส่วนประกอบอื่น ๆ บางส่วนก่อนที่ LG จะควบคุมการผลิตของ iMac แบบเบ็ดเสร็จในปี 1999

แต่เมื่อคำสั่งซื้อเริ่มมากขึ้น Apple จึงมองหาลู่ทางอื่นโดยการหาผู้ผลิตมือดีในใต้หวันอย่าง Hon Hai Precision Industry Company Ltd. หรือที่รู้จักกันดีในนาม Foxconn และสัญญาของ iMac นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าบริษัททั้งสองไปตลอดกาล ซึ่งมี Cook เป็นหัวหอกในการดูแลเรื่องดังกล่าว

Foxconn นั้นก่อตั้งขึ้นในเวลาเดียวกันกับการถือกำเนิดของ Apple แต่ห่างออกไปอีก 6,000 ไมล์ ที่อีกฟากหนึ่งของโลก Terry Gou ที่ตอนนั้นอายุได้ 24 ปี ได้ยืมเงิน 7,500 เหรียญ ( เทียบได้กับ 37,000 เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน) จากแม่ของเขาเพื่อมาเริ่มต้นธุรกิจ

Terry Gou ผู้ก่อตั้ง Foxconn
Terry Gou ผู้ก่อตั้ง Foxconn

Gou นั้นมีความมุ่งมั่นอย่างสูงในเรื่องการผลิตแบบมีคุณภาพ เขาจึงได้สร้างวัฒนธรรมที่ Foxconn ที่จะไม่อดทนต่อความผิดพลาดใด ๆ หรือความไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน หากมีแรงงานที่ทำงานผิดพลาด จะถูกต่อว่าต่อหน้าคนอื่นทันที และหากผิดพลาดซ้ำสองก็จะถูกไล่ออก และที่ Foxconn มีชื่อเสียงในเรื่องการทำงานหนัก คนงานมักต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ หรือบางครั้งอาจจะต้องทำถึง 7 วันเลยทีเดียวหากเป็นงานเร่งด่วน

ความสำเร็จที่สำคัญของ Foxconn นั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องแรงงานราคาถูกเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ทั่วโลกมอง เพราะพวกเขามีกระบวนการผลิตที่มีความยืดหยุ่น Foxconn มีแรงงานหลายแสนคนอยู่ในที่ทำงาน จึงมีความยืดหยุ่นมากในการรวบรวมกองทัพคนงานได้ในชั่วข้ามคืน หรือ จ้างแรงงานเพิ่มเติมในระดับหมื่น ๆ คนได้ในไม่กี่ชั่วโมง

ตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องความยืดหยุ่นนี้ เกิดขึ้นกับ iMac เมื่อวิศวกรออกแบบของ Apple ได้เพิ่มปุ่มใหม่สำหรับเครื่องในยามดึก และปุ่มนั้นยังไม่ได้ทำการทดสอบดีนัก และวิศวกรก็กังวลว่าอาจจะมีปัญหาได้หากมีการผลิตออกมาจริง ๆ

แต่ที่ Foxconn พวกเขาสามารถเรียกคนงานมาได้ตลอดเวลา และสั่งให้ทดสอบปุ่มดังกล่าวตลอดทั้งคืนได้เพื่อให้ Apple สบายใจ ซึ่งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในยุคของ Jobs ที่มักจะปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาในนาทีสุดท้าย และ Foxconn ก็สามารถทำให้ Apple ได้นั่นเอง

ในปี 2002 เป็นเวลา 4 ปีหลังจากที่ Cook ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนอะไรหลาย ๆ อย่างใน Apple เขาได้รับการมอบหมายจาก Jobs ให้มาดูแลเรื่องการขายและการดำเนินงานควบคู่กันไปด้วย รวมถึงยังให้ไปดูแลงานด้านฮาร์ดแวร์ของ Macintosh เพิ่มอีกหนึ่งงาน

ก่อนที่ในปี 2005 Cook จะได้รับโปรโมตขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดที่เป็นรองเพียงแค่ Jobs คนเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ ตำแหน่ง COO กลายมาเป็นมือขวาของ Jobs อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญมาก ๆ ของ Cook ในอาชีพการทำงาน หลังฝากผลงานไว้มากมายจนเป็นที่ไว้วางใจของ Steve Jobs มากขึ้นเรื่อย ๆ

ต้องบอกว่า Cook นั้นรับผิดชอบมากกว่า COO ขององค์กรทั่วไป เนื่องจากต้องดูแลพนักงานกลุ่มใหญ่ที่สุด ที่มีขอบเขตงานกว้างขวางมาก ๆ แม้ Apple นั้นจะไม่ได้เปิดเผยผังองค์กรที่ชัดเจนออกมา แต่ทุกคนใน Apple รู้กันว่า ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ที่ Cook ดูแลอยู่นั้น มีเหล่าพนักงานในสังกัดกว่า 40,000 คน จากพนักงาน 50,000 คนที่ทำงานอยู่ในฐานบัญชาการหลักของ Apple ที่ คูเปอร์ติโน ซึ่งแน่นอนว่า Cook จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมของบริษัททั้งหมดนั่นเอง

แม้ว่า Jobs และ Cook นั้นจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาหลายปีก็ตาม แต่พวกเขาก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการจัดการอารมณ์ และวิธีในการจัดการและบริหารบริษัท

Jobs เป็นหนึ่งในคนอารมณ์ร้อน และเอาแต่ใจตัวเองมาก ๆ มีความเป็นศิลปินสูง ความคิดของเขาค่อนข้างเด็ดขาด หากมีปัญหากับซัพพลายเออร์ เขาก็จะยกหูโทรศัพท์ เพื่อโทรไปด่าได้ทันที และอาจจะด้วยคำที่หยาบเคยเลยด้วยซ้ำ ซึ่งเขาทำบ่อยมากในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่ง CEO ของ Apple

ส่วน Cook นั้น ต่างกันสุดขั้ว เขาเป็นผู้นำที่เงียบขรึมมาก ๆ เป็นคนที่สงบนิ่ง และ มั่นคง แต่จะพยายามค้นหาคำตอบผ่านคำถาม เพื่อรับรู้ปัญหาได้อย่างแท้จริง Cook มักจะเจาะลึกลงไปในปัญหาและให้แน่ใจว่าเหล่าพนักงานต้องรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ และผิดพลาดตรงไหน

ในฐานะ COO นั้น Cook คาดหวังว่าทีมงานของเขาจะทำงานอย่างหนักเป็นเชิงรุกและใส่ใจในทุกรายละเอียด เหล่าผู้จัดการภายใต้การบริหารของ Cook ก็ใช้เทคนิคหลาย ๆ อย่างในการเป็นผู้นำที่ได้เรียนรู้จาก Cook นั่นเอง

แต่แม้ Cook จะเน้นถึงความสำคัญของการใส่ใจในรายละเอียด และการแก้ปัญหา แต่ Cook ก็ไว้วางใจและมอบอำนาจให้พนักงานของเขาในการตัดสินใจด้วยตัวเอง เขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานของเขา เชื่อว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ และใช้ความพยายามให้มากขึ้น ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อแก้ไขกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

Tim Cook เริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ และดูแลพนักงานส่วนใหญ่ของ Apple
Tim Cook เริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ และดูแลพนักงานส่วนใหญ่ของ Apple

และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของ Cook ก็คือ เขาทำงานกับ Apple ให้เหมือนกับกีฬา งานของ Cook คือ รูปแบบของความอดทดในกีฬา และเห็นได้ชัดเจนว่าทุกสิ่งที่เขาทำแม้กระทั่งวิธีที่เขาตัดผมสั้น ทำให้นึกถึงวีรบุรุษนักกีฬาคนหนึ่งของ Cook อย่าง แลนซ์ อาร์มสตรอง

ในปี 2010 หนึ่งปีก่อนที่เขาจะกลายมาเป็น CEO เต็มตัวของ Apple เขาเคยกล่าวสุนทรพจน์ที่ Auburn Unversity ไว้ว่า “ในโลกของธุรกิจก็เปรียบเหมือนกีฬา ชัยชนะส่วนใหญ่จะถูกกำหนดก่อนเริ่มเกม เราไม่สามารถจะควบคุมจังหวะเวลาของโอกาสได้ แต่เราสามารถควบคุมการเตรียมการของเราได้” ต้องเรียกได้ว่าความหลงใหลในเรื่องกีฬาของ Cook เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของเขาที่ Apple นั่นเอง

สิบปีแรกในอาชีพของ Cook ที่ Apple แม้จะดูเหมือนค่อนข้างเงียบ แทบจะไม่มีคนรู้จัก เพราะทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ชายที่ชื่อ Steve Jobs แต่ Cook นั้นซ่อนตัวอยู่หลังม่านลับของ Apple อยู่ตลอดเวลา

แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่เขาต้องออกมาอยู่ฉากหน้า ก็คือ เมื่อ Jobs ถูกบีบบังคับให้ลาพักรักษาตัวในปี 2009 มันก็ถึงเวลาของ Cook เสียทีที่ต้องออกมาแสดงศักยภาพที่ตัวเขามี ให้โลกได้รู้ แน่นอนว่าถึงตอนนั้น Jobs ก็ไว้วางใจ Cook ถึงระดับสูงสุดแล้ว และพร้อมส่งมอบตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในการนำพา Apple เข้าสู่ยุคต่อไปให้กับเขานั่นเอง

มาถึงตอนนี้ก็ใกล้ที่จะถึงยุคเปลี่ยนผ่านของ Apple กันแล้วนะครับ ตัวของ Jobs เองก็เริ่มมีปัญหาทางด้านสุขภาพ ส่วน Cook นั้นก็ได้เรียนรู้ในแทบทุก ๆ อย่างที่ Apple ทำ ในฐานะ COO มาอย่างยาวนาน แล้วจะเกิดอะไรต่อไป กับเรื่องราวของชายที่ชื่อ Tim Cook กับ Apple ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีของโลก โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 6 : Stepping Forward

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.wired.it/economia/finanza/2016/08/25/apple-tim-cook-grafici/

สงครามการค้า เกาหลี vs ญี่ปุ่น แต่ผู้ชนะคือจีน

“ สงครามการค้า” ที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่าง ประเทศญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ อาจเป็นข่าวดีสำหรับจีนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและประเด็นทางด้านการทูต 

จากข้อจำกัดในเรื่องการส่งออกของญี่ปุ่นที่มีปัญหากับบริษัทยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ โดยมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงในเรื่องสงครามการค้าขึ้น ซึ่งความบาดหมางครั้งนี้น่าจะส่งผลให้ผู้ผลิตจีนจะได้เปรียบในการแข่งขันตามข้อมูลของนักวิเคราะห์ที่กล่าวถึงเรื่องนี้

 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะจำกัดการส่งออกในส่วนที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีเกาหลีใต้ 

ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงสำหรับบริษัทเทคโนโลยีของเกาหลีใต้เช่น Samsung และ LG Display ซึ่งทั้งคู่พึ่งพาผู้ผลิตจากญี่ปุ่นอย่างมาก แต่สำหรับทางฝั่งของ บริษัทญี่ปุ่นซึ่งจะต้องหาลูกค้ารายใหม่ ๆ และอาจทำให้ซัพพลายเชนของพวกเขาหยุดชะงัก ถ้าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังคงอยู่แบบนี้ ไม่มีการแก้ไข

นักวิเคราะห์เชื่อว่าการโต้กลับของเกาหลีน่าจะเป็นส่วนของชิ้นส่วน บล็อกหน้าจอ OLED ที่เกาหลีได้ส่งออกไปญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบความสามารถของบริษัทญี่ปุ่นในการผลิตทีวีคุณภาพสูงเช่นเดียวกัน

ด้วยมาตรการดังกล่าว ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าผู้ผลิตจีน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ของประเทศจีน  จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดในการเติมช่องว่างดังกล่าว

เกิดอะไรขึ้นระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีจาก Asia

ซึ่งสาเหตุหลักจากสงครามการค้าครั้งนี้ เกิดจากข้อพิพาทระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น เกี่ยวกับมรดกของการปกครองอาณานิคมของญี่ปุ่นในคาบสมุทรเกาหลีก่อนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นซึ่งจะต้องชำระค่าชดเชยทั้งหมดภายใต้สนธิสัญญาที่ลงนามเมื่อปี 1965 ซึ่งได้รับการแจ้งเตือนจากคำสั่งของศาลเกาหลีใต้เมื่อเร็ว ๆ นี้  ซึ่งทำให้เหล่าบริษัทญี่ปุ่นต้องช่วยชดเชยค่าใช้จ่ายดังกล่าวในช่วงสงครามให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับใช้แรงงาน.

ในการตอบโต้จากญี่ปุ่น ได้กล่าวว่าจะจำกัด การส่งออกสำหรับวัสดุที่ใช้ในอุปกรณ์เทคโนโลยี 3 ชนิด: โพลีอะมายด์ฟลูออไรด์ที่ใช้ในสมาร์ทโฟน photoresists ที่ใช้ในเซมิคอนดักเตอร์ และไฮโดรเจนฟลูออไรด์ที่ใช้ในเซมิคอนดักเตอร์เช่นเดียวกัน โดยบริษัท เกาหลีใต้พึ่งพาญี่ปุ่นเป็นอย่างมากสำหรับวัสดุทั้งสามรายการนี้ 

สงครามความตึงเครียดทางการค้า

อย่างไรก็ตามการลดความเชื่อมั่นดังกล่าว ไม่ใช่เพียงวิธีเดียว สำหรับสงครามการค้ารอบนี้ระหว่างประเทศทั้งสอง Ryo Hinata-Yamaguchi อาจารย์ประจำวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติปูซานในเกาหลีใต้กล่าวว่า

“ ญี่ปุ่นเป็นแหล่งของสารเคมีและเทคโนโลยีการผลิตที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ในขณะที่ญี่ปุ่นเกาหลีใต้เองนั้นก็เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญเช่นกัน ” Hinata Yamaguchi กล่าว

อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ กับปัญหาสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ
อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ กับปัญหาสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ

ประเด็นดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดย จูน พาร์ค อาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยจอร์จเมสันในเกาหลีใต้ ซึ่งกล่าวว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศ  ตัวอย่างเช่น การที่บริษัทเกาหลีใต้ซื้อวัสดุจากญี่ปุ่นเพื่อผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพื่อส่งกลับไปญี่ปุ่นอีกครั้ง“ แต่การยกเลิกการส่งวัสดุดังกล่าว ไม่ใช่สถานการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาถึงระดับความตึงเครียดในตอนนี้”  ปาร์คกล่าว “ ความตึงเครียดเหล่านี้หากยังคงอยู่ จะสามารถสร้างผลกระทบอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของการผลิตชิปไปทั่วโลกในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทั่วโลกเช่น Apple และหัวเว่ย ด้วยเช่นเดียวกัน.”

ทำไมต้องเป็นจีน

นักวิเคราะห์กล่าวว่าการต่อสู้ทางการค้าที่รุนแรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตจีนในที่สุดเป็นผลมาจาก สงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ซึ่งจีนได้พยายามก้าวไปข้างหน้าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมไมโครชิพของตัวเอง โดยลดการพึ่งพาจากอุตสาหกรรมในต่างประเทศ

ซึ่งหัวใจของแผนดังกล่าวคือ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ภายใต้แผน Made in China 2025 จีนมีเป้าหมายที่จะผลิตเซมิคอนดักเตอร์ประมาณ 40% ให้ได้ภายในปี 2020 และ เพิ่มให้สูงขึ้นถึง 70% ในปี 2025 

จีนกำลังได้ประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างเกาหลี และ ญี่ปุ่น
จีนกำลังได้ประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างเกาหลี และ ญี่ปุ่น

หากจีนสามารถใช้ประโยชน์จากความตึงเครียดในปัจจุบันได้ ก็จะเป็นการสานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสามในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่มีมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ซึ่งในปี 1990 และ 2000 ญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่มีอำนาจเหนือกว่า แต่ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ดูเหมือนเกาหลีใต้จะกลายเป็นผู้กำชัยชนะ

“ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีความซับซ้อนมากและความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนแปลงไปตลอด ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา” ปาร์คกล่าว

นักวิเคราะห์บางคนสงสัยว่าขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จีนต้องเป็นผู้นำ

References : 
https://www.scmp.com/week-asia/geopolitics/article/3017918/how-china-can-win-trade-war-between-japan-and-south-korea

South Korea ตอนที่ 7 : The Glory of Korea

ประเทศเกาหลีใต้ ได้ถือกำเนิดมาในสภาพรัฐที่สิ้นหวัง ทั้งยากจน บอบช้ำจาก การถูกล่าอาณานิคม แถมยังถูกสงครามทำลายอย่างย่อยยับ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีเพียงน้อยนิด ประเทศที่ถูกแบ่งเหลือเพียงครึ่งเดียว แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนเป็นแรงผลักดันให้ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ สามารถที่จะประสบความสำเร็จ ได้อย่างเหลือเชื่อ ในเวลาเพียงแค่ชั่วอายุคนเพียงเท่านั้น ความสามัคคี และรักชาติ นำพาเกาหลีใต้พลิกฟื้นประเทศ จนกลายเป็นประเทศที่ล้ำหน้าที่สุดในโลกประเทศนึงในปัจจุบัน

มันไม่เหมือนประเทศอย่างจีน หรือ สิงคโปร์ ความสำเร็จของเกาหลีใต้นั้น มันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึง ทั้งเรื่องการเมือง และ สังคม รวมถึงความเป็นประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งของเกาหลีด้วย

ผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม ก็ไม่น้อยหน้าประเทศไหนในโลก  สังคมของเกาหลีใต้ กำลังได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น และยังคอยพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบไม่หยุดยั้ง เรายังไม่ได้เห็นจุดสูงสุดของประเทศเกาหลีใต้ในเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน เพราะพวกเขากำลังพัฒนาด้วยอัตราเร่ง แบบไม่ได้ชะลอความรวดเร็วลงไปเลย

ด้วยบุคลิก และ ลักษณะทางสังคมที่มีความยืดหยุ่นนั้น ทำให้คนในสังคมเกาหลีใต้อยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความขัดแย้งและแตกต่าง มันก็เหมือนกับทุกประเทศที่ผู้คนต่างมีอุดมการณ์ไม่ว่างทางการเมือง ศาสนา หรือ จารีต ประเพณีต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน

แต่เกาหลีใช้จุดนี้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่าจะถ่วงความเจริญก้าวหน้า นิสัยหลาย ๆ อย่างของชาวเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นความแน่วแน่ และทุ่มเทอย่างไม่ลดละเพื่อเป้าหมาย ก็สามารถช่วยให้คนเกาหลีสร้างความเจริญก้าวหน้าในหลาย ๆ ด้านได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นที่อิจฉาของทุก ๆ ชาติ

แต่มันก็ต้องแลกด้วยอะไรหลายอย่าง คนเกาหลีใต้ ต้องทำงานหนักกว่าใครเพื่อน เรียนหนักกว่าใครเพื่อน จิตวิญญาณที่รักการแข่งขัน ที่อยู่กับพวกเขาตลอดชีวิต ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยเกษียณ มันแลกด้วย ความสุขที่ลดลงไปของชาวเกาหลี

แม้ตอนนี้พวกเขาจะประสบความสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว กลายเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วเทียบเท่า อเมริกา ญี่ปุ่น หรือ ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปได้สำเร็จแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนพวกเขายังไม่หยุดที่จะก้าวต่อไป

คนเกาหลียังคงมีชั่วโมงการทำงานที่มากที่สุดเหมือนเคย การลงทุนกับเรื่องการศึกษาที่บ้าคลั่ง ดูเหมือนจะเกิดพอดีไปเสียด้วยซ้ำ การแย่งชิงตำแหน่งงานในบริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุด นิสัยชอบการแข่งขัน เหล่านี้นั้น กระตุ้นเร้าให้เกิดการพัฒนาแบบต่อเนื่องอย่างไม่ทีท่าว่าจะลดน้อยลงไปเลย

เกาหลีใต้กับความเจริญที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเลย
เกาหลีใต้กับความเจริญที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเลย

ซึ่งการแข่งขันกันอย่าบ้าคลั่ง มันส่งผลต่อเกาหลีใต้อย่างใหญ่หลวง ตั้งแต่แต่ทศวรรษ 1960-1980 แม้จะทำให้เกิดความเครียดที่สูงกับชาวเกาหลีบ้างก็ตาม แต่มันไม่ได้มีการต่อต้านจากสังคมแต่อย่างใด มันเหมือนทุกคนในประเทศพร้อมยอมรับในจุดนี้

การแข่งขัน มาตั้งแต่เด็ก ค่าเรียนต่าง ๆ ที่สูงขึ้นทุกปี เงินที่จ่ายไปกับเครื่องสำอางค์ แบรนด์หรู ๆ รวมถึงเรื่องการศัลยกรรมพลาสติก สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยยกระดับสถานะทางสัมคมของคนเกาหลีแทบจะทั้งสิ้น ทุกคนต่างทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อนำเสนอตัวตนที่เยี่ยมที่สุดสู่สังคมภายนอก 

แม้คนเกาหลีนั้นจะก้าวผ่านสงครามกลางเมือง และความอดอยาก ยากจน มาแล้ว ก่อนที่จะเปลี่ยนจากดินแดน ผู้ถูกล่า และเป็นเบี้ยล่างมาตลอด ให้กลายมาเป็น ประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตย ที่มีการเมืองที่เสถียรภาพแห่งหนึ่งของโลก และความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี ที่ไปไกลกว่าใครเพื่อน มันถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศแห่งนี้ ควรจะหยุดพักผ่อน แล้วหันมาจิบแชมเปญสักแก้ว แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายประเทศสุดแสนมหัศจรรย์อย่างเกาหลีใต้นั้น ก็ยังมีอีกสิ่งนึงที่ต้องพิชิตให้ได้ ซึ่งก็คือ การบาลานซ์ ความสมดุล ระหว่างความสุขและความพึงพอใจของประชาชนชาวเกาหลี กับการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วดังที่เราได้เห็นจาก Blog Series ชุดนี้ 

แล้วเราได้อะไรจากการเรื่องราวประเทศเกาหลีใต้ จาก Blog Series ชุดนี้

ห้าสิบปีที่แล้ว เกาหลีคือประเทศยากจนที่บอบช้ำจากสงคราม  แทบจะไม่คงเหลือประเทศในฐานะรัฐ ๆ หนึ่ง และเกาหลีใต้ได้ผ่านพ้นวิกฤติมาได้อย่างมั่นคงจนได้กลายเป็นแม่แบบให้กับประเทศกลังพัฒนาทั่วโลก รวมถึงไทยเองด้วยก็ตามที

แม้ตอนนี้พวกเขายังคงไม่พอใจกับการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อย่างที่ได้ตั้งความหวังไว้ ยังมีแรงกดดันอยู่ต่อเนื่อง ในการก้าวขึ้นสู่ขั้นต่อไป เทียบกับมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลก พวกเขาได้สร้างมาตรฐาน ที่ดูเหมือนชาติอื่นจะอิจฉา ทั้ง ด้านการศึกษา ด้านเทคโนโลยี ไม้เว้นแม้แต่เชื่อเสียง และ รูปร่างหน้าตา พวกเขาในตอนนี้ ก้าวขึ้นไปอยู่แถวหน้าของโลกได้สำเร็จ

วัฒนธรรมอย่าง K-Pop ที่ฉีกกฏเกณฑ์ ทุกอย่าง ทำให้โลกตะวันตก สามารถยอมรับนับถือวัฒนธรรมของโลกตะวันออกได้ แบบที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน มันเป็นกำแพงที่สูงชัน แต่เกาหลีสามารถที่จะก้าวผ่านกำแพงนั้นไปได้สำเร็จ ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเลย สำหรับคนเกาหลีใต้

ข้อคิดสำคัญสำหรับเรื่องของประเทศเกาหลีใต้ ก็คือ ไม่ว่าบ้านเมืองจะเละเทะ ถูกย่ำยีเพียงใด เหมือนประเทศไทย ที่อยู่กับทศวรรษ แห่งความหยุดนิ่ง ความแตกแยกที่รุนแรงภายในประเทศ แต่ประเทศเรายังเจออะไรเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่พวกเขาชาวเกาหลีใต้ได้เคยเจอมา

เพราะฉะนั้น ประเทศเราก็ยังมีโอกาสที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ ไม่ต่างจากประเทศอย่างเกาหลี หากทุกคนในชาติ นั้นลืมเรื่องความขัดแย้ง และสร้างมันเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ด้วยความสามัคคีของคนในชาติ มันก็สามารถให้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของชาติให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วแบบที่เกาหลีเคยทำมาแล้วได้อย่างแน่นอน 

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Foundation *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

รวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุดรวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุด

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

อย่าลืมติดตามผลงานเรื่องต่อ ๆ ไปของผมก่อนใครได้ที่ blockdit นะครับ โหลดได้เลย

อย่าลืม ค้นหา “ด.ดล Blog” แล้ว กด follow กันด้วยนะครับผม

South Korea ตอนที่ 3 : Trendy Korea

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของประเทศเกาหลี ที่มีผลต่อการพัฒนาของชาติอย่างรวดเร็ว และไล่แซงประเทศอื่น ๆ จนกลายเป็นมหาอำนาจระดับต้น ๆ ของโลก ก็คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อทุก ๆ เรื่อง มันช่วยทำให้ผู้คนหลุดพ้นจากอดีตอันขมขื่นของชาติเกาหลี แล้วมาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างประเทศที่พวกเขาภาคภูมิใจขึ้นมาแทน

กรุงโซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้ในวันนี้ เมื่อเทียบกับ 50 ปีที่แล้ว มันเป็นอะไรที่ต่างกันแบบสุดขั้วอย่างสิ้นเชิง มันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการที่ประชาชนชาวเกาหลียอมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นกับสังคมเกาหลี

ซึ่งด้วยเหตุที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การพัฒนา โดยนโยบายระดับชาติที่กระตุ้นให้ชาวเกาหลีเร่งรีบพัฒนาให้แซงชาวบ้านนั้น มันเป็นสิ่งบ่มเพาะที่สำคัญที่่ทำให้ชาวเกาหลี กระหายในสิ่งใหม่ๆ  อยู่ตลอดเวลา 

ซึ่งแน่นอนว่ามันมาจากนิสัยที่คนเกาหลี ค่อนข้างใส่ใจกับภาพลักษณ์ของตัวเอง รวมถึง จิตวิญญาณที่รักการแข่งขันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยนั้น มันทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูอย่างสุดขีด บรรดาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไอเดีย หรือ สิ่งต่าง ๆ ที่จะนำ Trend โลก มันน่าดึงดูดใจต่อชาวเกาหลี มากกว่า สิ่งที่มีมาก่อน มันเป็นสังคมที่ถูกปลุกเร้าด้วยผู้คนที่ ไม่อดทนต่อความนิ่งเฉย มันเป็นคุณลักษณะสำคัญอย่างนึง ที่ส่งผลให้คนเกาหลีนั้น ต่างเรียกร้อง ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยที่ไม่มีใครอยากตกยุค หรือ ตามไม่ทันคนอื่นโดยเด็ดขาด

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมใหญ่ในประเทศอย่าง อุตสาหกรรมมือถือ ในเวลาแค่เพียงสองสามปี มือถือที่เคยเป็นรุ่นท็อปจะกลายเป็นโทรศัพท์โบราณทันที ในสายตาของวัยรุ่นชาวเกาหลี มีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างหนึ่งจากยักษ์ใหญ่ทางด้าน Telecom อย่าง SK Telecom ผู้บริโภคชาวเกาหลีซื้อมือถือเครื่องใหม่ ทุก ๆ 26.9 เดือน ในขณะที่คนญี่ปุ่นใช้มือถือนานถึง 46.3 เดือนถึงจะเปลี่ยนเครื่องใหม่

ผู้บริโภคชาวเกาหลี เปลี่ยนมือถือ กัน ถี่มาก ๆ
ผู้บริโภคชาวเกาหลี เปลี่ยนมือถือ กัน ถี่มาก ๆ

ชาวเกาหลีมีลักษณะนิสัยชอบทดลองสิ่งใหม่ๆ  อยู่เสมอ มันส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง LG หรือ Samsung สามารถที่จะใช้ตลาดภายในประเทศในการทดสอบอุปกรณ์ใหม่ ๆ ผู้คนที่นี่เป็นผู้นำ Trend อยู่เสมอ สินค้ารุ่นใหม่ล่าสุดในหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ จะทำการเปิดตลาดที่เกาหลีก่อนใครเพื่อนอยู่เสมอ

ซึ่งมันเป็นประโยชน์กับหลายบริษัท ๆ ตัวอย่างเช่นบริษัท กล้องถ่ายรูปสัญชาติ ญี่ปุ่นอย่าง โอลิมปัส ก็ได้ใช้วิธีนี้เช่นกัน พวกเขาจะคอยศึกษาพฤติกรรมจากผู้ใช้งานชาวเกาหลี และดู Feedback การใช้งานจากพวกเขาเหล่านี้ แล้วนำมาปรับปรุงให้สินค้าสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นเมื่อจะทำการวางขายไปทั่วโลก ซึ่งได้ผลที่ยอดเยี่ยมเป็นอย่างมาก

แม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอุปกรณ์เน็ตเวิร์ก อย่าง Cisco จากประเทศอเมริกา ก็ ได้สร้างเมืองที่ชื่อว่า Songdo ใกล้กับสนามบินอินชอน เพื่อทดสอบเทคโนโลยี internet ไร้สายแบบใหม่ ๆ 

บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Cisco ยังใช้เมือง Songdo ทดสอบเทคโนโลยี internet ไร้สาย
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Cisco ยังใช้เมือง Songdo ทดสอบเทคโนโลยี internet ไร้สาย

การเปิดตัว smartphone ครั้งแรกในปี 2009 นั้น ก็ได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นจากประชาชนชาวเกาหลี มียอดการจองถล่มทลายเพียงแค่เปิดตัว เหล่าผู้นำ Trend ชาวเกาหลี พร้อมจะทิ้งมือถือรุ่นเก่า ที่ทำได้เพียงแค่ โทรเข้า-ออก ส่งข้อความ ได้ทันที เมื่อมีสิ่งใหม่อย่าง iPhone ปรากฏขึ้นมา

และคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของ apple ในช่วงแรกเริ่มของตลาด smartphone ก็คือ บริษัทซัมซุง หนึ่งใน แชโบล ยักษ์ใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้เอง ซึ่งเป็น case study ที่น่าสนใจสำหรับ มือถือ smartphone samsung galaxy s รุ่นแรก ที่กล้าออกมาท้าทาย apple โดยใช้ระบบปฏิบัติการ android ซึ่งออกมาหลัง ระบบปฏิบัติการ IOS ของ apple

การเริ่มทดลอง galaxy s ด้วยตลาด เกาหลีใต้ก่อน มันทำให้ ซัมซุงสามารถที่จะไปปรับปรุงจุดบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดจาก feedback ของชาวเกาหลีเอง รวมถึง การที่ต้องการเป็นผู้นำ trend ตลอดของชาวเกาหลี พวกเขาก็พร้อมที่จะทดลองกับ มือถือรุ่นใหม่ ๆ ระบบปฏิบัติการใหม่ ๆ ของ samsung galaxy s ก่อนที่จะออกขายในตลาดโลก

ซึ่งตอนนั้น galaxy s ของ ซัมซุง เป็นสินค้าผู้ตาม มันเป็นการเลียนแบบการทำงานของ apple เลยก็ว่าได้โดยใช้ระบบปฏิบัติการ android ตามแบบฉบับของธุรกิจเกาหลีที่ทำมา และมันทำให้เกิดกระแสของ galaxy s ให้ติดตลาดได้ โดยการที่ ซัมซุง สามารถที่จะนำสินค้าออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วทันควัน ก่อนที่คนจะแห่แหนไปใช้ apple iPhone กันหมด มันทำให้ยอดขายของ galaxy s นั้นพุ่งสูงถึง 100 ล้านเครื่องทั่วโลก และเพียงเฉพาะตลาดเกาหลี ก็สามารถขายได้ถึง 5 ล้านเครื่อง

ชาวเกาหลีช่วยเปิดโอกาสให้ samsung galaxy s แจ้งเกิดได้อย่างเหลือเชื่อ
ชาวเกาหลีช่วยเปิดโอกาสให้ samsung galaxy s แจ้งเกิดได้อย่างเหลือเชื่อ

ซึ่งมันทำให้ ซัมซุง สามารถเอาชนะ apple ได้ และมียอดขาย smartphone สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ต่อเนื่องมาอีกหลายปี หากนักเฉพาะส่วนแบ่งการตลาดของจำนวนเครื่อง

ที่เกาหลีใต้ นั้น ผู้คนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นคนสูงอายุ 50-60 ปีก็ตาม สามารถที่จะตาม Trend มือถือที่หนุ่มสาวในประเทศอื่นยังตามไม่ทัน คนเกาหลีนั้นติด smartphone กันงอมแงม โดย ผู้บริโภคชาวเกาหลีใช้งาน smartphone เฉลี่ยสูงถึง 1.9 ชั่วโมงต่อวัน

ชาวเกาหลีใช้เวลาเสพมือถือกัน ใช้เวลาสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก
ชาวเกาหลีใช้เวลาเสพมือถือกัน ใช้เวลาสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก

แต่ความเป็นคนนำ Trend ของชาวเกาหลี ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะมือถือ เพียงเท่านั้น ในบรรดาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ หรือ สินค้า Gadget ใหม่ ๆ นั้น ตลาดเกาหลีเป็นตลาดที่หอมหวานเลยทีเดียวแหละสำหรับสินค้าประเภทนำ Trend เช่นนี้

ไม่ว่าจะเป็น ระบบ GPS ในรถยนต์  กล้องทั้ง Mirrorless หรือ DSLR หรือเครื่องเล่น Mp3 ชนิดต่าง ๆ ล้วนมาทำตลาดที่นี่ได้สำเร็จก่อนประเทศในทวีปยุโปรหรืออเมริกาแทบจะทั้งสิ้น

และด้วยการที่ผู้นำด้านการผลิตสินค้าพวกนี้นั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากเกาหลีแทบจะทั้งสิ้น ซึ่งมีโอกาสเจาะตลาดคนเกาหลีที่แสนรักชาติยิ่งชีพ เป็นอย่างดี และด้วยงบการตลาดที่มหาศาลและอิทธิพลของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงมีต่อตลาดภายในประเทศเกาหลีเองนั้น

บริษัทอย่างซัมซุงจึงมีแนวโน้มที่จะชี้นำให้ชาวเกาหลี ได้ใช้อุปกรณ์ Gadget ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ใครไม่ใช้ถือว่าตกเทรนด์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเกาหลีนั้นรับไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ทีวีจอแบนนั้นแทบจะเป็นของใช้พื้นฐานในบ้านชาวเกาหลีมานานก่อนใครเพื่อน ส่วนเทคโนโนโลยีอย่าง ทีวี 3D นั้นก็มีขายในเกาหลีก่อนประเทศใดในโลกเช่นเดียวกัน

ชาวเกาหลีพร้อมจะทดลองใช้ gadget ใหม่ ๆ ก่อนใครเพื่อน
ชาวเกาหลีพร้อมจะทดลองใช้ gadget ใหม่ ๆ ก่อนใครเพื่อน

ความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีเปรียบเสมือนเอกลักษณ์ ที่สำคัญของธุรกิจเกาหลีใต้ในปัจจุบัน มันเป็นกลยุทธ์ การ copy & develop เป็นผู้ตามที่เร็วที่สุด และสามารถวิ่งแซงได้ในที่สุด มันถือเป็นกลยุทธ์ ที่ได้ผลสำหรับธุรกิจหลายอย่างของเกาหลี ที่ตอนแรกมักถูกมองเป็นของ copy แต่ภายหลังมันก็ได้พิสูจน์ว่า พวกเขาได้สร้างนวัตกรรมขึ้นมาจากพื้นฐานของคนอื่นที่มีอยู่แล้ว ทำให้สามารถเร่งสปีดแซงหน้าบริษัทจากต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีที่ตอนนี้ถือว่า เกาหลีใต้ ได้แซงหน้าญี่ปุ่นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่ง การที่จะทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จในเกาหลีใต้ได้นั้น ต้องมีการร่วมมือกับ แชโบล ยักษ์ใหญ่ หรือ อีกทางก็คือ ค้นพบตลาด Blue Ocean ใหม่ที่ยังไม่มีใครเข้าไปพบเข้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวงการเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นพื้นที่เดียวที่คนทำธุรกิจใหม่ ๆ จะสามารถที่จะต่อสู้กับยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่ม แชโบล ได้ เพราะพวกเขายังมองไม่เห็นตลาดใหม่ส่วนนี้

ตัวอย่างเช่น บริษัท NHN ซึ่งเป็นเจ้าของ naver.com ซึ่งเป็นเว๊บท่าเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่อย่าง google ได้สำเร็จ หรือ NCSoft บริษัทผลิตเกมส์ออนไลน์ ซึ่งสองบริษัทดังกล่าว เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ที่ไม่ได้เป็นบริษัทในกลุ่ม แชโบล หรือ รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลที่ผ่านการแปรรูป ที่มีมูลค่าติด 50 อันดับแรกในตลาดหลักทรัพย์เกาหลี

Naver.com สามารถต่อกรกับ google ได้ในบ้านของตัวเอง ซึ่งน้อยบริษัทนักที่จะทำได้
Naver.com สามารถต่อกรกับ google ได้ในบ้านของตัวเอง ซึ่งน้อยบริษัทนักที่จะทำได้

ซึ่งเหมือนกับทุกสิ่งในโลกที่มีทั้งด้านบวก และ ด้านลบ ซึ่งการนำ Trend ของชาวเกาหลี ที่เห่อกับของใหม่อยู่ตลอดเวลา มันก็ทำให้ cycle ของธุรกิจต่าง ๆ นั้นแสนสั้น เพราะมีสิ่งที่ทันสมัยกว่าที่ชาวเกาหลีพร้อมจะแห่กันไปซื้ออยู่ตลอดเวลา มันทำให้เกิดธุรกิจใหม่อยู่ตลอดเวลาก็จริง ๆ แต่ก็พร้อมจะดับไปได้ทุกเมื่อเหมือนกัน

และมันก็ส่งผลต่อเรื่องการเมืองเช่นกัน ที่มาไวไปไว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลกว่าเรื่องอื่น ๆ เหล่านักการเมืองที่สร้างเรื่องอื้อฉาว ก็อยู่ในกระแสได้ไม่นาน สังคมเกาหลีก็ลืมการกระทำอันเลวร้ายของนักการเมืองเหล่านี้ได้ และยอมให้พวกเขากลับมาเริ่มต้นใหม่

ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกอย่างในเรื่องการเมืองก็คือ โรห์ มูฮยอน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2002 ด้วยคะแนนโหวตที่มาอย่างรวดเร็วผ่านพลังของโลกออนไลน์ในโค้งสุดท้าย แต่เมื่อเขามาบริหารจริง ๆ เสียงที่สนับสนุนเขากลับลดลงอย่างรวดเร็ว

ฝ่ายค้านจึงเล่นงานเขาด้วยการพยายามขับเขาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเขาได้เคยกล่าวสนับสนุนพรรคของตัวเองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่ตามมา ซึ่งในรัฐธรรมนูญของเกาหลีนั้นได้ระบุให้ ประธานาธิบดีต้องเป็นกลาง

ซึ่งทำให้จุดชนวนให้ประชาชนกว่าหนึ่งล้านคนออกมาชุมนุมบนท้องถนน เพื่อสนันสนุนประธานาธิบดีของพวกเขา มันทำให้คะแนนนิยมที่มีต่อตัวผู้นำของชาวเกาหลีกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นไม่นานคะแนนนิยมของเขาก็ตกลงมาอีกครั้ง

กระแสที่พลิกไปมาของ ประธานาธิบดี โรห์ มูฮยอน
กระแสที่พลิกไปมาของ ประธานาธิบดี โรห์ มูฮยอน

ซึ่งมันกลายเป็นว่า ความนิยม อยู่ที่กระแสขึ้น ๆ ลง ๆ ของชาวเกาหลี ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากของประชาชนชาวเกาหลี  บางครั้งคนจำนวนมากก็คิดว่าเขาดี หลังจากนั้นก็ไม่ดี แล้วกลับมาดีอีก สุดท้ายก็กลับไปไม่ดีอีกครั้ง ซึ่งจากข้อมูลในปี 2012 นั้น ประธานาธิบดี โรห์ มูฮยอน นับเป็นประธานาธิบดีผู้มีคะแนนนิยมสูงสุดตลอดกาลอันดับสองรองจากท่านประธานาธิบดี ปาร์ค ซุงฮี เพียงเท่านั้น จะเห็นได้ว่าความเห่อกระแสใหม่ ๆ ของชาวเกาหลีนั้น ไม่ได้มีเพียงแต่ข้อดี เพียงอย่างเดียว มันยังมีข้อเสียให้เห็น โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ อย่างความนิยมของประธานาธิบดี ก็ ยังโดนเหมือนกัน

แต่สุดท้าย การเป็นผู้นำ Trend อยู่สม่ำเสมอ ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเกาหลี สร้างสิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมาตอบสนองชาวเกาหลีอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ สุดท้ายแล้วก็สามารถกระจายไปสู่กระแสหลักทั่วโลกได้แทบจะทุกครั้ง มันก็ยิ่งทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่จากเกาหลีเติบโตขึ้น พร้อมกับตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และสุดท้ายมันก็ผลักดันให้ประเทศเกาหลีเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในแบบที่ประเทศอื่น ๆ ไม่สามารถที่จะวิ่งตาม Trend ของพวกเขาทันได้นั่นเองครับ

–> อ่านตอนที่ 4 : Friend , Foe or Foreigner?

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Foundation *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

South Korea ตอนที่ 2 : Fighting DNA

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของประเทศเกาหลี คือ จิตวิญญาณของนักสู้ ว่ากันว่า มีแต่เหล่านักสู้เท่านั้้นที่จะอยู่รอดในสังคมของประเทศเกาหลีใต้ได้ ทุกคนต่างต้องแข่งขันกัน ขับเคี่ยวกันในทุกเรื่องในชีวิต ตั้งแต่ การพยายามอย่างหนักในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การหางาน การเลือกคู่ครอง ต้องเรียกได้ว่าคนเกาหลีนั้นจะต้องแข่งขันตั้งแต่วัยเด็ก และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลยแม้จะเกษียณจากการทำงานไปแล้วก็ตาม

หลังจากสงครามเกาหลีจบสิ้น แม้มันจะไม่ได้เป็นการจบเลยเสียทีเดียว มันเป็นแค่การเจรจาสงบศึกชั่วคราวมาจวบจนถึงปัจจุบันเพียงเท่านั้น ด้วยความยากจนข้นแค้น เป็นชาติที่ถูกรุกราน และถูกโจมตีอยู่เสมอ มันบีบให้เกาหลีใต้ต้องคิดหาทางให้หลุดพ้นจากสถานภาพอันเลวร้ายนี้

ซึ่งทางออกเดียวที่มีคือ การทุ่มเทพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเต็มที่เพื่อ จะได้ไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

แม้ในปี 1945 มีประชากรชาวเกาหลีใต้เพียง 5% เท่านั้นที่ได้รับการศึกษาระดับมัธยม หรือ สูงกว่า แต่หลังจากที่นายพล ปาร์ค ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1961 นั้น ประชาชนได้ถูกกระตุ้น ให้ทำงานอย่างหนัก และร่วมแรงแข็งขันกัน เพื่อพัฒนาชาติ และยกระดับให้เกาหลีใต้เหนือกว่าประเทศอื่นให้จงได้

ท่านประธานาธิบดี ปาร์ค ต้องการให้เกาหลีเติบโตให้เร็วที่สุด
ท่านประธานาธิบดี ปาร์ค ต้องการให้เกาหลีเติบโตให้เร็วที่สุด

ถึงขั้นที่ว่า มีการ รณรงค์ ให้ โค่นญี่ปุ่น โดยผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรม มีการปลุกจิตวิญญาณนักสู้ของชาวเกาหลี มีการตั้งเป้าหมายของประเทศ ให้ทำลายสถิติการส่งออกผลิตภัณฑ์ ให้ได้ทุก ๆ ปี เพื่อให้เกาหลีใต้นั้น ก้าวสู่การพัฒนาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ มันเป็นการร่วมแรงร่วมใจของชาวเกาหลีทุกคน ไม่ว่าอุตสาหกรรม ยักษ์ใหญ่ แรงงาน หรือ เหล่าชนชั้น กลาง ทุกคนต่างร่วมใจกันพัฒนาให้เกาหลีใต้ ก้าวขึ้นไปเทียบเคียงกับยักษ์ใหญ่อย่างญี่ปุ่นให้ได้

เกาหลีต้องการโค่นญี่ปุ่นลงให้จงได้ ทั้งสองมีประวัติที่ไม่ลงรอยกันมานาน
เกาหลีต้องการโค่นญี่ปุ่นลงให้จงได้ ทั้งสองมีประวัติที่ไม่ลงรอยกันมานาน

ถึงขั้นที่ว่า คนเกาหลีนั้นถูกปลุกฝังตั้งแต่เยาว์วัย ว่า เมื่อเติบโตขึ้นนั้น เขาจะต้องเป็นเหมือนดั่งนักรบ นักรบในอุตสาหกรรม เด็ก ๆ ทุกคนมีหน้าที่ในการสร้างประวัติศาสตร์ในการฟื้นฟูชาติขึ้นมาใหม่ เหล่านักเรียนทุกคน ต้องขยันเรียนมากขึ้น มากกว่าชาติอื่น ๆ ที่เขาร่ำเรียนกัน เพราะเมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่แล้วนั้น เหล่าเด็ก ๆ เหล่านี้ จะต้องอุทิศกำลังทั้งชีวิต เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น เป้าหมายใหญ่ของประเทศในตอนนั้นคือ การขยับตัวเลขการส่งออกของเกาหลีใต้ให้ไต่เต้าขึ้นไปอยู่อันดับต้น ๆ ของโลกให้จงได้

มันเป็นเพราะสถานะที่ไม่มั่นคงเลยของเกาหลี พวกเขาได้พลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส พวกเขาต้องรีบสั่งสมอำนาจทางเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้เกิดมาพร้อมกับความยากจน ทรัพยากรก็น้อยนิด แถมยังมาถูกแบ่งแยกจากเขตอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมในแถบทิศเหนือ ที่ตอนนี้กลายเป็นของเกาหลีเหนือเป็นที่เรียบร้อย

เกาหลีใต้ถูกโอบล้อมด้วยรัฐที่มีทั้งอำนาจและแข็งแกร่งกว่าในทุก อย่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย หรือ ญี่ปุ่นก็ตาม เหล่าผู้นำจึงต้องพยายามทำทุกอย่าง ให้เกาหลีใต้มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากที่สุด และเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการค้าขายนั้น ไม่ได้เพียงทำให้เกาหลีใต้มีความมั่งคั่งเพียงเท่านั้น แต่มันยังช่วยให้ประเทศอยู่อย่างปลอดภัยจากชาติมหาอำนาจรอบข้างด้วยอีกอย่างหนึ่ง

เกาหลีใต้ถูกโอบรอบด้วยชาติมหาอำนาจทั้ง จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น รวมถึง เกาหลีเหนือที่มีความไม่แน่อน
เกาหลีใต้ถูกโอบรอบด้วยชาติมหาอำนาจทั้ง จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น รวมถึง เกาหลีเหนือที่มีความไม่แน่อน

มีอุตสาหกรรมอย่างนึงที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ อุตสาหกรรมการต่อเรือ ซึ่ง ในช่วงแรกนั้น เกาหลีใต้แทบจะไม่มีอุตสาหกรรมต่อเรืออยู่เลย แต่ท่านผู้นำอย่างปาร์ค นั้นต้องการให้เกาหลีใต้เป็นประเทศอุตสาหกรรมต่อเรืออันดับหนึ่งของโลก และพยายามหาช่องทางทุกวิถีทางให้ยุทธศาสตร์นี้เป็นจริงขึ้นมาได้ และเรื่องเหลือเชื่อก็คือ เป้าหมายนี้สำเร็จได้ในช่วงปี 1980 แต่เสียดายว่าในตอนนั้น ท่านนายพล ปาร์ค ได้เสียชีวิตไปเสียแล้ว ไม่ได้มาเห็นความฝันของท่าน เป็นจริงได้สำเร็จ

นโยบายที่สำคัญของการศึกษาของเกาหลีใต้ ก็คือ ความเสมอภาค รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม ซึ่งมันทำให้การแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาในปริญญาตรีของเกาหลีใต้เป็นไปอย่างดุเดือด

งานราชการ งานกฏหมาย การแพทย์ และงานในบริษัทชั้นนำอย่างกลุ่ม แชโบล นั้น สามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กคนนึงได้จากความยากจนข้นแค้น ให้กลายเป็นคนที่มีความมั่งคั่งได้ ซึ่งมันทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง ทุกคนต้องเป็นนักสู้ ต้องมีการทำสิ่งต่าง ๆ ให้เหนือกว่าผู้อื่นอยู่เสมอ ตั้งแต่แต่ที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งในที่ทำงานก็ตาม 

และมันได้ส่งผลรุ่นต่อรุ่น มายังลูกหลานของพวกเขาด้วย จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ รวมถึงการเอาชนะนั้น ทุกครอบครัวต้องต่อสู้กัน มันเลยได้นำพาเกาหลีใต้ ก้าวไกลมาได้จนถึงปัจจุบัน มันเหมือน DNA ของชาวเกาหลีใต้ ที่ถูกปลูกฝังมารุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่ยุคหลังสงครามเกาหลีเลยก็ว่าได้

ซึ่งการศึกษาของเกาหลีนั้น มีการแข่งขันที่สูงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ เหล่าผู้ปกครองพร้อมที่จะทุ่มหมดหน้าตักให้ลูกหลานของตัวเองได้เรียนในโรงเรียนกวดวิชา หรือ ครูสอนพิเศษ

การแข่งขันด้านการเรียนในเกาหลีใต้ นั้นสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
การแข่งขันด้านการเรียนในเกาหลีใต้ นั้นสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ซึ่งนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 นั้น เหล่าเด็ก ๆ ในเกาหลีใต้จะใช้ช่วงเวลาในช่วงบ่ายและเย็นเรียนพิเศษในวิชาต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการที่ต้องทำการบ้านทั้งของโรงเรียน และ ที่มาจากการเรียนพิเศษด้วย และ มันเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับบรรดาผู้ปกครองชาวเกาหลีใต้ ซึ่งสิ่งนี้ได้ส่งผลต่ออัตราการเกิดของเกาหลีใต้ที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

และการที่ทุกคนต้องลงทุน และ ลงแรงอย่างหนักเพื่อให้ประสบความสำเร็จทางด้านการศึกษานี่เอง มันจึงส่งผลต่อการเรียนในระดับปริญญาตรี ซึ่งหากมีผลการเรียนที่ดีนั้น ก็จะเปิดโอกาสให้สามารถหางานที่ดีได้ แต่ ด้วยจำนวนงานนั้นมีอยู่อย่างจำกัด

มันทำให้วังวนแห่งการแข่งขันนี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก ต่างคนต่างถูกบีบให้สร้างความโดดเด่นขึ้นมาให้เหนือคนอื่น ซึ่งมันทำให้ในปัจจุบันนั้น ปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยชั้นน้ำของเกาหลีอย่าง มหาวิทยาลัยโซล นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป

มันทำให้ทุกคนต่างไขว่ขว้า โอกาสที่สูงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะมหาลัยชั้นนำระดับท็อป ๆ ของโลก ตัวอย่างเช่นที่ มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด มีจำนวนนักศึกษาเกาหลีใต้สูงเป็นอันดับสามในบรรดานักศึกษาต่างชาติทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เหล่าผู้ปกครองที่มีเงินมากพอ ก็จะพยายามส่งลูกหลานไปในประเทศชั้นนำในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้งหมดก็เพื่อแต้มต่อในการสมัครงานของลูกหลานของพวกเขานั่นเอง

แม้ในระดับประเทศ เกาหลีใต้นั้น จะสั่งสมอำนาจทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด คนเกาหลีใต้ถูกปลูกฝังให้มีความสำเร็จจากการศึกษาเป็นบันได้ขั้นแรก ซึ่ง แม้ในขณะที่ประเทศจะติดอันดับประเทศร่ำรวยแล้วในช่วงปี 1990 นั้น แต่จิตวิญญาณแห่งการแข่งขันมันก็ไม่ได้ลดลงเลย 

ต้องแข่งขันแม้กระทั่งตอนทำงาน ยิ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ยิ่งแข่งขันสูง
ต้องแข่งขันแม้กระทั่งตอนทำงาน ยิ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ยิ่งแข่งขันสูง

บริษัททั้งหลายโดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่าง กลุ่ม แชโบล นั้น ก็ยังคงกระตุ้นให้พนักงานทำงานหามรุ่งหามค่ำต่อไป ทุก ๆ ปี พนักงานชาวเกาหลีนั้นทำงานโดยเฉลี่ย 2,193 ชั่วโมง ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD แุถมบางครั้งยังต้องทำงานนอกเวลาแบบไม่จ่ายค่าแรงอีกด้วย

วงเวียนแห่งการแข่งขันของชาวเกาหลีนั้น ยังคงหมุนอย่างไม่หยุดหย่อน ทุก ๆ ปีจะมีบัณฑิตจบใหม่จำนวน 500,000 คน ในขณะที่บริษัทใหญ่ ๆ หน่วยงานรัฐ มีตำแหน่งรองรับเพียงแค่ 100,000 ตำแหน่งเท่านั้น และมันทำให้ อีก 400,000 คนนั้น ต้องทำงานกับบริษัทขนาดกลางหรือขนาดเล็กที่ไม่มีความมั่นคงแต่อย่างใด บริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะต่อการกับบริษัทยักษ์ใหญ่ใน แชโบล ได้เลย 

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล นั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า Fighting DNA ของชาวเกาหลี ที่มีมาตั้งแต่เยาว์วัย มันทำให้ชาติสามารถเจริญรุดหน้าไปได้ก็จริง แต่ก็มีการถกเถียง เรื่องของคุณภาพชีวิตของชาวเกาหลีที่ดูแย่ลงเรื่อย ๆ 

แม้ประเทศจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่คุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเรื่องการทำงานนั้น ย่ำแย่สำหรับชาวเกาหลี
แม้ประเทศจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่คุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเรื่องการทำงานนั้น ย่ำแย่สำหรับชาวเกาหลี

พวกเขาเริ่มที่จะตระหนักว่าการพักผ่อนไม่เพียงพอ และการทุ่มเทแรงกายอย่างไม่มีสิ้นสุดนั้น อาจจะเริ่มส่งผลให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ มันทำให้เกิดความเครียดสูงในหมู่ชาวเกาหลี  และการแข่งขันนี้เอง ที่เป็นปัจจัยให้ประเทศนี้มีอัตรการฆ่าตัวตายที่สูงมาก

ซึ่ง ความเครียด การไร้ความสุขในการทำงาน คุณภาพชีวิต สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะเป็นปัจจุัยที่คอยขัดขวางการเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีในอนาคต

ซึ่ง Fighting DNA นี่แหละเป็นปัจจัยสำคัญ และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่ทำให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งหมดนี้ ก็ต้องแลกมาด้วยผลเสียทางลบที่ คอยบั่นทอนอารมณ์ และจิตใจของผู้คนชาวเกาหลีเช่นเดียวกัน ซึ่งบางทีนั้น ตอนนี้ในวันที่เกาหลีใต้ได้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วสำเร็จ เป้าหมายหลายอย่างของพวกเขาก็ประสบความสำเร็จแล้วแทบจะทั้งสิ้น มันก็อาจจะถึงเวลาที่พวกเขาอาจจะต้องละทิ้งความทะเยอทะยานที่จะเป็นที่หนึ่งลงเสียบ้าง เพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตของชาวเกาหลีที่ดีขึ้นกว่าเดิม

–> อ่านตอนที่ 3 : Trendy Korea

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Foundation *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ