Smartphone War ตอนที่ 9 : Free for All

หลังจากการเปิดตัวอย่างสวยงามของ iPhone ในต้นปี 2007 Google จึงได้เริ่มเห็นสัญญาณอะไรบางอย่างของวงการโทรศัพท์มือถือโลก ว่าโลกของมือถือในอนาคตนั้นจะขับเคลื่อนไปในรูปแบบมือถือจอสัมผัส อย่างที่ iPhone สร้างขึ้นมาอย่างแน่นอน

มันเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจที่ชาญฉลาดที่สุดครั้งนึงในการเปลี่ยน Android จากเดิมนั้นต้องมีคีย์บอร์ด QWERTY แบบเดียวกับที่ Blackberry ทำ ให้กลายร่างมาเป็นมือถือแบบจอสัมผัสอย่างที่ Apple ทำกับ iPhone

และ Google ก็เริ่มลุยทันที ไม่ปล่อยให้ช้าเกินไป โดยในปี 2007 google ได้เปิดตัว OHA (Open Hanset Alliance) โดย Google จะเสนอตัวในการสร้างระบบปฏิบัติการมือถือให้ฟรี สำหรับผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ ๆ ทุกราย

ซึ่งแน่นอนการได้ของฟรีแบบนี้ ใครจะไม่ชอบล่ะ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านมือถือจากทั่วโลกต่างตบเท้าเข้าร่วมกับ Google ใน OHA ไม่ว่าจะเป็น HTC , Motorola , T-Mobile , หรือ Qualcom 

และที่สำคัญ เครือข่ายโทรศัพท์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง China Mobile นั้นก็ตอบรับในข้อเสนอดังกล่าวของ Google เพราะมองว่า จีนจะกลายเป็นตลาดใหญ่ของ smartphone ในอนาคตได้อย่างแน่นอน ด้วยการที่จีนเติบโตอย่างรวดเร็วและจำนวนชนชั้นกลางเริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะนั้น การใช้ระบบปฏิบัติการที่ฟรีอย่างที่ Google เสนอนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับประเทศจีน

OHA แนวร่วมที่สำคัญจากทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องในตลาดโทรศัพท์มือถือ
OHA แนวร่วมที่สำคัญจากทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องในตลาดโทรศัพท์มือถือ

ซึ่งแนวคิดหลักของ OHA นั้น Google จะเป็นแกนหลักของทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการค้นหา รวมถึงบริการต่าง ๆ ของ Google ที่จะติดมากับระบบปฏิบัติการใหม่ตัวนี้ โดยระบบจะเปิดให้มากที่สุด ซึ่งผู้ผลิตสามารถเข้าถึง Sourcecode ของระบบปฏิบัติการได้ ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ Apple กับ Microsoft ทำ ที่ปกป้อง Sourcecode ดังไข่ในหิน

แน่นอนว่าสิ่งนี้มันไม่ดีต่อทั้ง Apple และ Microsoft อย่างแน่นอน Google ได้พยายามทำสิ่งที่  Microsoft ทำในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แต่ ตอนนี้พวกเขากำลังทำทุกอย่างแบบฟรี ให้เหล่าผู้ผลิตมือถือเอาไปใช้ได้อย่างสบายใจ เพียงแค่ต้องมีบริการของ Google ติดตั้งค่ามาตั้งแต่โรงงานเท่านั้น

และที่สำคัญเหล่าผู้ผลิตมือถือเริ่มที่จะระแวง Microsoft ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะกลัวจะซ้ำรอยเดิมกับตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่สุดท้าย คนที่รวยจริง ๆ ก็คือ Microsoft 

และท่ามกลางความไม่ไว้วางใจนี้เองที่ Android ได้แทรกตัวเข้ามา ทำให้รูปแบบของโมเดลธุกริจของ Google นั้นน่าสนใจขึ้นมาทันทีสำหรับเหล่าบริษัทผู้ผลิตมือถือทั่วโลก เพื่อสร้างความแตกต่างกับตลาด Google ได้แปลงสิ่งที่ Microsoft เก็บค่าบริการ มาเปิดให้บริการฟรี

แม้ในขณะนั้น Microsoft ยังดูมั่นใจในตลาดมือถือของตัวเองเป็นอย่างมาก โดยปี 2008 ในงาน Mobile World Congress ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศ สเปน Microsoft ยังแถลงตัวเลขของ Windows Mobile ที่ดูสวยหรู

โดย สามารถขายสิทธิ์การใช้งาน Windows Mobile ไปได้กว่า 14.3 ล้านชุด ซึ่งในขณะนั้น ทำให้ Microsoft กลายเป็นผู้นำในตลาด Smartphone แซงหน้าทั้ง RIM ที่ผลิต Blackberry และ ไม่ต้องพูดถึง iPhone ที่เพิ่งตั้งไข่ในตลาดโทรศัพท์มือถือ

แต่เหมือน Microsoft นั้นย่ามใจในตลาดโทรศัพท์มือถือ โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารชุดใหม่เกือบทั้งหมด และเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เหล่าผู้ผลิตโทรศัพท์ เริ่มรู้สึกว่า Microsoft นั้นยังขาดทิศทางที่ไม่ชัดเจน

และไม่ใช่การเกิดขึ้นของ iPhone แต่เป็นการมาถึงของ Android ของ Google ต่างหากที่เป็นตัวเร่งในการกำจัด Windows Mobile ออกไปจากตลาด Google ทำให้ Microsoft เหนื่อยอีกครั้ง เพราะจะสู้กับของฟรีของ Google ได้อย่างไร

แม้ปีที่รุ่งของ Windows Mobile ตั้งแต่เดือน กรกฏาคมปี 2007 ถึง มิถุนายน ปี 2008 Apple ขาย iPhone ได้ 5.41 ล้านเครื่อง และในปีต่อมาในช่วงเวลาเดียวกัน Apple สามารถจำหน่าย iPhone ไปได้ถึง 20.25 ล้านเครื่อง ซึ่งมันได้ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญแล้ว ที่สามารถขายได้มากกว่าลิขสิทธิ์ของ Windows Mobile ถึง 2 ล้านหน่วย

สตีฟ บอลเมอร์ ยังดูมั่นใจในตลาด Windows Mobile แทบจะไม่ระแคะระคายสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
สตีฟ บอลเมอร์ ยังดูมั่นใจในตลาด Windows Mobile แทบจะไม่ระแคะระคายสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

บรรดาสื่อ รวมถึง นักวิเคราะห์ตามสำนักข่าวใหญ่ ๆ เริ่มสังเกตเห็นปรากฏการณ์ เพราะพวกเค้าสามารถดูจากสถิติการเข้ามาเยี่ยมชมเว๊บไซต์ของสำนักข่าวใหญ่ ๆ เหล่านี้ได้ว่ามาจากอุปกรณ์ใด 

ซึ่งแน่นอนว่าคนที่เป็นสาวก iPhone นั้นเป็นพวกชอบใช้เว๊บไซต์บนมือถือมาก เพราะมันได้ให้ประสบการณ์ที่แตกต่างจาก Smartphone อื่น ๆ ที่เคยมีมาอย่างชัดเจน และยุคของ อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ มันได้เริ่มต้นแล้วอย่างแท้จริง

และข้อตกลงครั้งสำคัญที่ให้ Google เป็น Search Engine เริ่มต้นใน Browser Safari ของ Apple ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดอีกครั้ง เพราะตอนนั้นโลกของ Mobile กับ อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนไปแล้ว

มันได้ถูกขับเคลื่อนใหม่ด้วย มือถือแบบจอสัมผัส แบบที่ iPhone ทำแล้วนั่นเอง ซึ่งผู้ใช้งานเข้าสู่โปรแกรมการค้นหาผ่าน iPhone โดย Safari มากกกว่าอุปกรณ์ใด ๆ อย่างชัดเจนขึ้นหลังเทศกาลคริสต์มาสปี 2007

ซึ่งข้อมูลส่วนนี้เป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ยืนยันถึงโลกธุรกิจมือถือยุคใหม่ ได้เปลี่ยนไปแล้ว และดูเหมือน Microsoft แทบจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ว่ามันกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล และข้อมูลที่ google ได้เห็นนั้น มันได้ทำให้โครงการ Android ของ Google ที่นำโดย Andy Rubin สำคัญกับ Google มากขึ้นนั่นเองครับ จะเกิดอะไรขึ้นต่อกับยักษ์ใหญ่ทั้งสามในธุรกิจมือถือ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 10 : The Loser

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 Phone & Microsoft *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Smartphone War ตอนที่ 8 : It’s time to open

ถ้าถามว่าแนวคิดหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของผลิตภัณฑ์ Apple ที่มีมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมานั้น ก็คือ การสร้าง ecosystem แบบปิด ที่ Apple นั้นต้องการที่จะควบคุมทุกอย่างของประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า

แน่นอนว่าข้อดี ก็อย่างที่เราทราบกันว่า Apple สามารถ Control ทุกอย่างได้อย่างที่ใจต้องการและมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า และมันเป็นแนวคิดเริ่มต้นมาตั้งแต่สร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในยุคแรก ๆ 

แต่เห็นได้ชัดว่าในศึกของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้น Apple พ่ายแพ้ให้กับ Microsoft อย่างราบคาบ เนื่องจาก Windows ของ Microsoft นั้นสามารถที่จะไปลงกับ Hardware ของผู้ผลิตรายใดก็ได้ ต่างจาก Mac ของ Apple ที่สามารถรันกับเครื่อง Apple ได้เพียงเท่านั้น และสุดท้าย Windows ก็เติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นมาตรฐานของวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั่วโลกในที่สุด

และเช่นเดียวกันกับในเรื่องนักพัฒนา ส่วนใหญ่ Apple จะค่อนข้างปิดไม่ให้นักพัฒนาภายนอกเข้ามายุ่มย่ามกับ Ecosystem ของ Apple มีเปิดบ้าง แต่เพียงน้อยนิดเท่านั้น เช่นใน iPod ที่มีการสร้างเกมส์เข้ามาจากนักพัฒนาภายนอกนั่นเอง

Apple เริ่มเปิดให้นักพัฒนาภายนอกสร้างเกมส์สำหรับ iPod
Apple เริ่มเปิดให้นักพัฒนาภายนอกสร้างเกมส์สำหรับ iPod

แต่เมื่อเหล่านักพัฒนาทั่วโลกต่างได้ยลโฉม iPhone ที่เพิ่งได้มีการเปิดตัวนั้น ต้องบอกว่าเหล่านักพัฒนาทั่วโลกต่างน้ำลายไหล ที่จะได้สร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับ iPhone เพราะดูเหมือนว่า iPhone นั้นสามารถที่จะสร้าง Application อีกหลายอย่างที่จะทำงานร่วมกันมันได้นั่นเอง

และเนื่องจาก Concept หลักของ iPhone นั้นมีระบบปฏิบัติการที่อยู่เบื้องหลังอยู่แล้ว เพราะเป็นการพอร์ตมาจาก OSX ระบบปฏิบัติการบนเครื่อง Mac และตอนเปิดตัว iPhone นั้นก็ชัดเจนว่า มันมี Application ที่รันอยู่บนระบบปฏิบัติการดังกล่าว เช่น  Mail , Safari หรือแม้กระทั่ง Google Maps นั่นเอง

แต่ก่อนการเกิดขึ้นของ iPhone นั้น เหล่านักพัฒนาก็อยู่ใน แพลตฟอร์มอื่นที่มี Application ให้พัฒนาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Symbian ของ Nokia หรือ Windows Mobile ของ Microsoft 

แต่ตัวจ๊อบส์เองนั้นค่อนข้างกังวลเป็นอย่างมากในเรื่องการจะทำให้ iPhone เป็นแพลตฟอร์มแบบเปิด เพราะกังวลในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลรวมถึง จ๊อบส์มองว่าเหล่า App จากภายนอกนั้นเป็นผู้รุกราน เป็นความไม่สมบูรณ์ และจะทำความเสียหายให้กับตัวเครื่อง และที่สำคัญที่สุด Apple จะไม่สามารถ Control ประสบการณ์การใช้งานจาก App จากนักพัฒนาภายนอกได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ จ๊อบส์ต้องชั่งใจเป็นอย่างยิ่ง

และหลังจากต้องตัดสินใจอย่างหนักในเรื่องนี้ ที่จะทำให้ iPhone กลายเป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิดให้นักพัฒนาภายนอกเข้ามาได้นั้น เป็นเรื่องที่จ๊อบส์ต้องคิดหนักเป็นอย่างมาก

แต่สุดท้ายในเดือนตุลาคม ปี 2007 หลังจากปล่อย iPhone ออกจำหน่ายได้ประมาณ 10 เดือน จ๊อบส์ ก็ได้ประกาศครั้งสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ iPhone อีกครั้ง เมื่อจ๊อบส์ประกาศให้มีการสร้าง  Native App ของนักพัฒนาภายนอก และมีการวางแผนจะเอา SDK (Software Development Kit) ให้เหล่านักพัฒนาได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2008

สุดท้ายก็ให้นักพัฒนาภายนอกมาสร้าง App ได้จริงในปี 2008
สุดท้ายก็ให้นักพัฒนาภายนอกมาสร้าง App ได้จริงในปี 2008

แต่มันเป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจ๊อบส์ ที่ต้อง balance กันระหว่าง การสร้างแพลตฟอร์มระดับเทพ และเป็นระบบเปิดให้กับเหล่านักพัฒนา ขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองผู้ใช้ iPhone จาก ไวรัส มัลแวร์ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานด้วย

ซึ่งทำให้แม้จะไม่เปิดหมดซะทีเดียว แต่จ๊อบส์ เชื่อในแนวทางของตนเพื่อรักษาประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้ใช้ iPhone นั่นเอง ซึ่ง App ภายนอกนั้นจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งผู้ใช้ iPhone จะสบายใจได้ว่ามีความปลอดภัยสูงสุดนั่นเอง 

และนี่ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการมือถือโลก กับการพัฒนา App รูปแบบใหม่ให้กับ iPhone ซึ่งมีความสามารถสูงกว่ามือถือที่มีอยู่ในตลาด ด้วย Features ต่างๆ เช่น การใช้งาน Multitouch หรือ เรื่องของเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่ตามมาภายหลัง ทำให้ Ecosystem ของ iPhone นั้นเติบโตจนฉุดไม่อยู่มาจวบจนถึงปัจจุบันนั่นเองครับ

และทางฝั่ง Google ก็ได้เริ่มแอบทำบางอย่างลับ ๆ โดยหลังจากเปลี่ยนแผนโดยฉับพลันจากมือถือที่ต้องมี keyboard แบบ Blackberry ให้กลายมาเป็นมือถือแบบจอสัมผัสแบบที่ iPhone ทำ ซึ่งการซุ่มพัฒนานี้ทำโดย Apple แทบจะไม่ระแคะระคายเลยด้วยซ้ำ เพราะหนึ่งในบอร์ดของ Apple ในขณะนั้น ก็คือ เอริก ชมิตต์ ที่เป็น CEO ของ Google นั่นเอง แต่ดูเหมือนงานนี้จะมีการหักหลังกันเกิดขึ้นแล้วในศึกสงครามมือถือครั้งนี้ จะเกิดอะไรขึ้นต่อโปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 9 : Free for All

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 Phone & Microsoft *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Smartphone War ตอนที่ 7 : The Fall of Mafia Empire

ถามว่าก่อนยุค iPhone นั้นสิ่งใดเป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้กับวงการมือถือมากที่สุดของจะหนีไม่พ้น เหล่า มาเฟีย แห่งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้งหลายทั่วโลก ที่เป็นตัวคั่นกลางระหว่างเหล่าผู้ผลิตบริษัทมือถือกับผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าโดยตรงนั่นเอง

ซึ่งแน่นอนว่า ก่อนปี 2007 เทคโนโลยีต่าง ๆ มันได้พัฒนาไปไกลมากแล้ว แต่เราจะเห็นได้ว่า ธุรกิจมือถือยังเป็นอะไรที่ล้าหลังเป็นอย่างมากในหลาย ๆ เรื่องแม้กระทั่งการเล่นเว๊บไซต์ต่าง ๆ ก็เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานของผู้ใช้งานทั่วโลก ที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทั่วโลกผ่านทางอุปกรณ์ที่พกติดตัวเราอยู่ตลอดเวลาอย่างมือถือนั่นเอง

ในขณะนั้น ผู้คนทั่วโลกต่างคุ้นเคยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ Broadband กันแล้ว แต่ค่าบริการข้อมูลแบบ 3G ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเหมือนย้อนตัวเองกลับไปสู่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยุคโมเด็มผ่านสายโทรศัพท์

แน่นอนว่าเหล่ามาเฟียเครือข่ายเหล่านี้ คอยจ้องแต่จะคิดค่าบริการต่าง ๆ แทบทุกอย่าง มีการคิดค่าบริการการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นนาทีที่ใช้งาน แต่ผู้บริโภคกลับได้รับการบริการจากอินเทอร์เน็ตที่ห่วยแตกกว่าการใช้โทรศัพท์บ้านเสียอีก เพราะเว๊บต่าง ๆ ที่โหลดมานั้นเป็นเว๊บที่ไร้คุณภาพเนื่องจากปริมาณข้อมูลที่มีจำนวนมากทำให้เหล่าผู้ให้บริการไม่อยากเสีย bandwidth ไปกับบริการเหล่านี้ มีการชาร์จกับผู้บริโภคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ถึงเวลาที่เหล่ามาเฟียเครือข่ายมือถือต้องถอยลงมาอยู่ในจุดที่ควรเป็น
ถึงเวลาที่เหล่ามาเฟียเครือข่ายมือถือต้องถอยลงมาอยู่ในจุดที่ควรเป็น

แต่ iPhone ของ Apple ได้มาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง Apple ต้องการให้ iPhone นั้นใช้ปริมาณข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด และทำการเจรจากับ Cingular ที่เป็นเครือข่ายโทรศัพท์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นหลายครั้ง

สุดท้ายได้มีการประกาศรูปแบบการจ่ายค่าบริการมือถือแบบให้ปริมาณข้อมูลไม่จำกัด ซึ่งสูงกว่าแบบโทรศัพท์โทรเข้าออกเพียงอย่างเดียวราว ๆ 20 ดอลลาร์ต่อเดือน โดย Cingular (ตอนหลังกลายมาเป็น AT&T) จะได้รับเงินบางส่วนจากการดาวน์โหลดทาง iTunes ขณะที่ทาง Apple นั้นได้ส่วนแบ่งจากค่าบริการรายเดือนของ iPhone แต่ละเครื่องที่เชื่อมต่อกับ Cingular

และนี่เองได้เป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญของเหล่ามาเฟียเครือข่ายมือถือทั้งหลาย โดย Apple ได้เปลี่ยนบทบาทของเหล่าเครือข่ายโทรศัพท์ ให้เป็นเพียงแค่ทางผ่านของโลกโทรศัพท์มือถือยุคใหม่หลังการเกิดขึ้นของ iPhone เป็นเพียงแค่ท่อส่งข้อมูลระหว่างมือถือของลูกค้ากับโลกอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

ทำให้เหล่าเครือข่ายมือถือไม่สามารถที่จะไปชาร์จค่าบริการใด ๆ กับลูกค้าได้อีก เรียกได้ว่า เป็นครั้งแรกที่เหล่ามาเฟียมือถือต้องมาง้อ บริษัทมือถืออย่าง Apple ซึ่งไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนเลยในธุรกิจมือถือ

iPhone ที่มาพร้อมแผนที่ของ Google และ ข้อมูล ได้กลายเป็นหายนะของเครืองข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่ตอนแรกได้วางแผนที่จะคิดค่าบริการการเข้าถึงข้อมูลแผนที่ผ่านเครือข่ายมือถือ

ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อแผนธุรกิจของ Nokia ที่ตอนนั้นเพิ่งซื้อ Navteq บริษัทแผนที่ยักษ์ใหญ่มาในราคาสูงถึง 8.1 พันล้านดอลลาร์  โดยหวังจะได้รายรับกลับคืนมาด้วยการขายบริการแผนที่ให้บรรดาค่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลก

Nokia ที่เพิ่งทุ่มซื้อ Navteq มาหวังจะชาร์จค่าบริการจากลูกค้า แต่แผนต้องล่มแบบไม่เป็นท่า
Nokia ที่เพิ่งทุ่มซื้อ Navteq มาหวังจะชาร์จค่าบริการจากลูกค้า แต่แผนต้องล่มแบบไม่เป็นท่า

Apple ได้พยายามอย่างหนักเพื่อเปลี่ยนอุตสาหกรรมมือถือไปแนวทางที่ตัวเองต้องการ เป็นครั้งแรกที่เหล่ามาเฟีย เครือข่ายโทรศัพท์มือถือเริ่มหวาดกลัวกับการเข้ามาของ Apple ซึ่งพวกเขาประเมิน Apple ไว้ต่ำมาก ๆ ในตอนแรก

Apple กลายเป็นราชาแห่งวงการมือถือ ทุกเครือข่ายต้องเข้ามานำเสนอสิ่งที่เย้ายวนใจให้ Apple เพื่อร่วมธุรกิจกัน Apple ทำให้ทุกอย่างนั้นกลับตาลปัตรไปหมด เพราะตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2007 นั้น ไม่มีผู้ผลิตมือถือรายใดกล้ากำหนดเงื่อนไขกับบรรดาค่ายมือถือต่าง ๆ 

Nokia เป็นยักษ์ใหญ่มือถือเจ้าเดียวที่เคยลองทำแบบ Apple มาก่อน แล้วก็ได้บทเรียนครั้งสำคัญจากการนำโทรศัพท์ที่สามารถเล่นเพลงได้เข้าไปสู่ตลาดอเมริกา โดย Nokia ได้เคยพยายามรวมรวมข้อมูลลูกค้าที่เป็นเจ้าของโทรศัพท์เข้ามาในระบบของตัวเอง โดยไม่ผ่านค่ายโทรศัพท์มือถือ

แต่เหล่ามาเฟีย เครือข่ายมือถือ ยื่นคำขาดให้ Nokia หยุดการกระทำนั้นทันที โดย Nokia ต้องยอมทำตามแต่โดยดี เพราะไม่งั้นจะถูกแบนโดยเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของมาเฟียเครือข่ายมือถือเหล่านี้นั่นเอง

จะเห็นได้ว่า หลังการเกิดขึ้นของ iPhone นั้นไม่เพียงแค่ปฏิวัติแค่วงการผู้ผลิตมือถือ ที่ได้สร้างมือถือที่แตกต่างออกมาเท่านั้น แต่ได้กำจัดเหล่ามาเฟียเครือข่ายมือถือ ที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนานวัตกรรมให้กับวงการมือถือโลกมานานได้อย่างราบคาบ

มันได้ทำให้เปลี่ยน ecosystem ใหม่ทั้งหมดของ Supply Chain ของธุรกิจมือถือ ให้ทุกส่วนนั้น ทำงานที่ควรจะทำ ไม่มายุ่งย่ามกับส่วนของธุรกิจอื่น ๆ อย่างที่เหล่าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเคยทำมาในอดีต และที่สำคัญมันได้ทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากปลดแอกจากเหล่ามาเฟียเครือข่ายมือถือเหล่านี้ได้สำเร็จนั่นเองครับ

–> อ่านตอนที่ 7 : It’s time to open

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 Phone & Microsoft *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Smartphone War ตอนที่ 6 : Deep Impact

แน่นอนว่าการเกิดขึ้นของ iPhone นั้นได้ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งตลาดมือถือโลกเลยก็ว่าได้ เหล่าผู้ผลิตมือถือยักษ์ใหญ่ ที่คาดไม่ถึงว่า Apple จะสามารถสร้างสิ่งที่กำลังจะมาปฏิวัติวงการมือถือโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนได้ มันเป็นการเปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิงระหว่างยุคก่อน iPhone กับ มือถือยุคหลัง iPhone ก่อกำเนิดขึ้นมานั่นเอง

และมีเสียงวิจารณ์ตามมามากมาย หลังการเปิดตัวของ iPhone โดย สตีฟ จ๊อบส์ ซึ่งแน่นอนว่าเหล่าผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในวงการธุรกิจมือถือนั้น ได้ให้ความเห็นที่แตกต่างกันมากมาย ตัวอย่างเช่น สตีฟ บอลเมอร์ CEO ของ Microsoft นั้น ถึงกับหัวเราะดังลั่น หลังจากสื่อได้เข้าไปถามหลังการเปิดตัว iPhone ซึ่ง บอลเมอร์ นั้นมองว่า iPhone จะไม่สามารถดึงดูดลูกค้าธุรกิจได้ เพราะมันไม่มีแป้นพิมพ์ และ Microsoft นั้นก็มีกลยุทธ์ของตัวเองสำหรับ Windows Mobile แล้วและกำลังไปได้สวยอยู่ในตลาด

สตีฟ บอลเมอร์ CEO Microsoft ไม่เชื่อว่า iPhone จะมาเขย่าตลาดได้
สตีฟ บอลเมอร์ CEO Microsoft ไม่เชื่อว่า iPhone จะมาเขย่าตลาดได้

แม้กระทั่งเหล่าสื่อต่าง ๆ ก็ยังไม่คิดว่า iPhone จะสามารถที่จะแจ้งเกิดในตลาดมือถือได้ และมอง iPhone เป็นแค่ของเล่นฉาบฉวย ของพวกคลั่งสินค้าไฮเทคเท่านั้น และมันคงไม่สามารถเข้าสู่ตลาด mass ให้กับลูกค้าทั่วไปเข้าถึงได้อย่างแน่นอน

แน่นอนว่า Apple นั้นเพิ่งเข้ามาในตลาดนี้ แต่เป็นการแหกกฏเกณฑ์ทุกอย่างที่ เหล่ามาเฟียที่คอยคุมเครือข่ายมือถือทั้งหลายได้ตั้งไว้ Apple ไม่ได้มีความคุ้นเคยเลยกับเหล่าบริษัทที่ดูแลเครือข่ายมือถือ

เพราะบริษัทพวกนี้นั้นจะให้เงินอุดหนุนราคามือถือเป็นหลัก และหวังคืนเงินจากการคิดค่าบริการโทรศัพท์และบริการข้อมูลต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายนั่นเอง และในที่สุดเหล่าคู่แข่งอย่างเช่น Nokia ก็จะถล่ม iPhone ด้วยข้อตกลงที่ทำให้เหล่าค่ายโทรศัพท์มือถือไม่ขาย iPhone นั่นเอง

ซึ่ง Apple นั้นกำลังจะทำกับเหล่าเครือข่ายเหล่านี้ เหมือนที่เขาเคยทำได้กับค่ายเพลง นั่นคือ โน้มน้าว แบบจำลองทางธุรกิจแบบใหม่ ที่ทำให้ข้อมูลนั้นเปรียบเสมือนเป็นสินค้า และทำกำไรจาก Hardware ตั้งแต่ต้น และไม่ให้เหล่าเครือข่ายเหล่านี้มอง Apple เป็นภัยคุกคาม

ส่วน RIM ผู้ผลิต Blackberry ที่กำลังกลายเป็นสินค้ายอดฮิตติดตลาดอยู่ในขณะนั้น ไม่ได้มอง iPhone เป็นภัยคุกคามแต่อย่างใด และไม่ได้มีแผนใด ๆ กับ iPhone ที่กำลังจะกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญ เพราะเหล่าผู้บริหารต่างมองว่ายังไง ๆ เหล่าลูกค้าก็หลงรัก Blackberry อยู่แล้ว

แต่แม้ธุรกิจของ RIM นั้นจะยังเติบโตต่อไปได้ แต่การเข้าสู่ตลาดของ iPhone ได้สร้างผลกระทบใหญ่หลวง เพราะ iPhone ได้นำทางให้คนเข้าสู่เว๊บไซต์บนมือถือ ซึ่่งเมื่อเทียบกับ Browser ของ Blackberry นั้นถือว่าแย่มาก ๆ แต่ iPhone นั้นมีโปรแกรม Safari ที่ใช้ท่องเว๊บที่ใช้งานง่ายมาก ๆ และยังมี Function Touch and Zoom เพื่อขยายหน้าจอได้อีกด้วย

และผลกระทบที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะส่งผลต่อ Google มากกว่าใครเพื่อน เพราะตอนนั้น Rubin ได้วางแผนสร้างมือถือที่มีแป้นพิมพ์ QWERTY เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงต้องมีการยกเลิกการพัฒนามือถือ Android ที่มีแป้นพิมพ์ทันที แม้มันใกล้จะเสร็จเต็มทีแล้วก็ตาม

เดิมที Android ถูก Design มาให้ใช้ QWERTY Keyboard แบบเดียวกับ  Blackberry
เดิมที Android ถูก Design มาให้ใช้ QWERTY Keyboard แบบเดียวกับ Blackberry

Rubin เมื่อได้เห็นการเปิดตัวของ iPhone ก็มองได้อย่างชัดเจนว่า จอสัมผัส จะกลายเป็นอนาคตของวงการมือถือโลกได้อย่างแน่นอน Apple ได้เปลี่ยนวงการมือถือไปทุกอย่างจริง ๆ แต่มีน้อยคนนักที่พอจะสังเกตเรื่องดังกล่าวได้ เพราะทุกคนต่างประมาทการเกิดขึ้นของ iPhone นั่นเอง

และอีกกลุ่มนึงที่ปั่นป่วนที่สุดในการเปิดตัวของ iPhone ก็คือ เหล่าพวกค่ายโทรศัพท์มือถือที่เป็นตัวกลางทั้งหลาย เดิมทีนั้นพวกเขาสามารถที่จะ Control ทุกอย่าง เรียกได้ว่าเป็นมาเฟียในวงการมือถือเลยก็ว่าได้

เพราะข้อมูลต่าง ๆ จาก Hardware ที่เป็นมือถือนั้นต้องวิ่งผ่านเครือข่ายของพวกเขา ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขามีสิทธิ์ที่จะให้อัพเดท Software ต่าง ๆ  ให้กับเหล่าผู้ผลิตมือถือ แม้แต่การสร้างแบรนด์ก็ตามทีพวกเขาล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากในอดีต

ซึ่งแน่นอนว่ายักษ์ใหญ่ยุคเก่าๆ  อย่าง Nokia รวมถึงผู้ผลิตมือถือชื่อดังอื่น ๆ ที่ขายไปทั่วโลกนั้นต่างก็ต้องเกรงใจกับพวกค่ายโทรศัพท์มือถือมากกว่าลูกค้าคนที่ใช้โทรศัพท์เสียด้วยซ้ำ

แต่สำหรับจ๊อบส์ เขาต้องการปฏิวัติเรื่องนี้โดยตรง โดยมีการข่ายไปยังลูกค้าโดยตรงไม่ผ่านคนกลาง ต้องการตัดวงจรมาเฟียเหล่านี้ให้ออกไปจากธุรกิจมือถือเสียที เพราะเป็นพวกที่ทำให้ วงการมือถือโลกแทบจะไม่พัฒนาไปไหน เราใช้ Smartphone ห่วย ๆ มานานแสนนาน ประสบการณ์ใช้งานท่องเว๊บที่ย่ำแย่ เพราะเหล่าพวกเครือข่ายมือถือเหล่านี้นั่นเองคอยบงการอยู่เบื้องหลัง

ซึ่งข้อตกลงกับ Cingular นั้นแทบจะไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การขายมือถือ เพราะ Apple จะกลายเป็นผู้ควบคุมทุกอย่าง ทั้งการสร้างแบรนด์ การตลาด รวมถึงเวลาที่ต้องการอัพเดท Software ของ iPhone ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความต้องการของจ๊อบส์ หลังจากได้เห็นความหายนะที่เกิดขึ้นกับ ROKR จ๊อบส์จึงต้องการควบคุมการนำเสนอสินค้าทุกชิ้นที่ต้องการขายตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงมือลูกค้านั่นเอง

ต้องเรียกได้ว่า การเกิดขึ้นของ iPhone ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับวงการมือถือโลกแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะ Apple นั้นต้องการปฏิวัติวงการย่ำอยู่กับที่มานานแสนนาน ลูกค้าควรจะได้สิ่งที่ดีที่สุด ไม่ใช่การต้องคอยถูกครอบงำจากเหล่าเครือข่ายมือถือที่เป็นมาเฟีย คอยถ่วงความเจริญมานานแสนนาน นั่นเอง

–> อ่านตอนที่ 7 : The Fall of Mafia Empire

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 Phone & Microsoft *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Smartphone War ตอนที่ 5 : That’s iPhone

การพัฒนา iPhone นั้นเริ่มต้นจริง ๆ ในปี 2005 ซึ่ง Apple ใช้พนักงานกว่า 200 คน เพื่อมา Focus งานนี้โดยเฉพาะ และอยู่ภายใต้โครงการลับที่ไม่แพร่งพรายให้ผู้ใดรู้โดยเด็ดขาด ซึ่งจ๊อบส์ นั้นมองว่า iPhone มือถือตัวใหม่ของ Apple นั้นจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Apple ตั้งแต่ก่อตั้งมา

แน่นอนว่า ทีมงานที่เกิดมาจากการสร้างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล นั้นต้องเผชิญปัญหามากมาย เมื่อต้องลงมาทำมือถือตั้งแต่ต้นจริง ๆ โดยจ๊อบส์ ได้สั่งให้แบ่งทีมเป็นสองทีมหลัก ทีมหนึ่งดู Software และ ระบบปฏิบัติการ ส่วนอีกทีมนั้นดูแลด้าน Hardware โดยเฉพาะ

โดยความพยายามแรกของทีม Hardware Apple นั้นแบ่งเป็นสองแนวทาง แนวหนึ่งนั้นหลังจากได้เห็นความสำเร็จครั้งสำคัญกับ ClickWheel ของ iPod ก็มุ่งเดินหน้าที่จะทำในทิศทางเดียวกับ iPod โดยพยายามใช้วงล้อมาหมุนหมายเลขโทรศัพท์ 

ส่วนอีกแนวทางหนึ่งนั้น จะใช้จอสัมผัส ซึ่งทีม Software ก็ได้แบ่งเป็นสองแนวทางดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยเป็นการขยายระบบปฏิบัติการของ iPod มาใช้บนโทรศัพท์นั่นเอง ซึ่งทีมนี้นำโดย Tony Fadell ผู้นำในการสร้าง Hardware ของ iPod

ถ้ากลายเป็น ClickWheel iPhone คงไม่ได้อยู่มาจนถึงปัจจุบันอย่างแน่นอน
ถ้ากลายเป็น ClickWheel iPhone คงไม่ได้อยู่มาจนถึงปัจจุบันอย่างแน่นอน

แม้ในขณะนั้น Blackberry ที่มีคีย์บอร์ดแบบ QWERTY จะเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาด และกำลังเติบโตอย่ารวดเร็ว และมีทีมงานหลาย ๆ คนของ Apple ก็สนับสนุนให้มีคีย์บอร์ดแบบเดียวกับ Blackberry

แต่จ๊อบส์ค้านอย่างหัวชนฝา เพราะ คีย์บอร์ดแบบ Physical จะทำให้เบียดบังพื้นที่หน้าจอ แถมยังไม่ยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนได้ดีเท่าคีย์บอร์ดแบบจอสัมผัส อย่าที่จ๊อบส์ต้องการ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ อุปกรณ์ที่แสดงแป้นตัวเลขเมื่อคุณอยากโทรออก และแสดงแป้นพิมพ์ดีด เมื่อคุณอยากจะเขียน ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานอย่างที่เราได้เห็นในระบบปฏิบัติการมือถือในปัจจุบัน

ส่วนอีกทีมนำโดย scott forstall โดยเขาเคยเป็นผู้นำการสร้างระบบปฏิบัติการ Mac OSX รุ่น Leopard และทีม Software ของ forstall นี่เองที่เป็นฝ่ายชนะ โดย forstall นั้นใช้วิธีการเก็บความลับแบบที่จ๊อบส์ต้องการ ทำให้ผู้บริหารทีมอื่นรู้สึกหงุดหงิดเป็นอย่างมาก ส่วนฝั่ง Hardware นั้นทีมที่ทำจอสัมผัส เป็นผู้ชนะ เพราะการใช้วงล้อหมุนแบบ iPod นั้นไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับ User ผู้ใช้งานอย่างแน่นอนเพราะมันดูใช้ยากมาก ๆ 

แต่ปัญหาใหญ่ของ Apple คือ พวกเขาแทบจะไม่มีความรู้ในการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายมือถือเลยด้วยซ้ำ ซึ่งการผสานระหว่าง Software และ Hardware ต้องทำงานได้อย่างไร้ที่ติด้วย และที่สำคัญเวลาในการสร้างยังมีจำกัดอย่างมาก เป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่สุดของ Apple และทีมงานในการสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเลยก็ว่าได้

เหล่าวิศวกร Software ของ Apple ต้องผลิต Software จอสัมผัสขึ้นมาโดยที่พวกเขาแทบจะไม่เคยทำมาก่อนเลยด้วยซ้ำ และต้องพยายามปรับระบบปฏิบัติการ Mac OSX ให้ใช้ทรัพยากรเครื่องน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้เพราะความต่างอย่างชัดเจนระหว่าง Hardware ของคอมพิวเตอร์ และ Hardware ของมือถือในขณะนั้น

จ๊อบส์นั้นต้องการให้การทำงานหลาย ๆ ของ iPhone นั้นดูเรียบง่าย และจ๊อบส์ก็ไม่ชอบให้มีปุ่ม เปิด-ปิด มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ทางแก้ก็คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “swipe to open” ซึ่งการเลื่อนในหน้าจอนี้จะทำหน้าที่ปลุกเครื่องให้กลับมาทำงานอีกครั้งหลังเข้าสู่ Sleep Mode

และอีกอย่างที่สำคัญก็คือเรื่องของการ Design โดยเครื่อง iPhone นั้นมีด้านนอกที่ผนึกแน่น แกะไม่ออก  จ๊อบส์ไม่ต้องการให้ใครมายุ่งกับส่วนด้านในของ iPhone เช่นเดียวกับที่เขาทำเครื่อง Macintosh รุ่นแรกในปี 2011 และเนื่องจาก iPhone นั้นไม่ได้ใช้แบตเตอรี่แบบถอดเปลี่ยนได้ จึงสามารถทำให้ตัวเครื่องนั้นเบาลงมาก ๆ ได้

การเปิดตัว iPhone ในงาน Macworld ในเมืองซานฟรานซิสโก ในเดือนมกราคม 2007 จ๊อบส์ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เค้าจะเปิดตัวนั้น จะปฏิวัติวงการพลิกโฉมทุกสิ่งทุกอย่างจนไม่เหลือเค้าเดิมอีกต่อไป

ก่อนจะพูดถึง 2 ผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายนี้คือ คอมพิวเตอร์ Macintosh รุ่นแรกซึ่งพลิกโฉมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ทั้งหมด และ iPod รุ่นแรก ซึ่งเปลี่ยนอุตสาหกรรมเพลงไปทั้งหมด ซึ่ง จ๊อบส์ ได้กล่าวในการเปิดตัว iPhone ว่า

จ๊อบส์ขึ้นกล่าวในงานเปิดตัว ว่า iPhone จะปฏิวัติสามสิ่งในผลิตภัณฑ์เดียว
จ๊อบส์ขึ้นกล่าวในงานเปิดตัว ว่า iPhone จะปฏิวัติสามสิ่งในผลิตภัณฑ์เดียว

“วันนี้เราจะแนะนำผลิตภัณฑ์ที่พลิกโฉมสินค้าประเภทเดียวกัน 3  อย่าง อย่างแรกคือ iPod แบบจอกว้างที่ควบคุมด้วยการสัมผัส อย่างที่สองคือ โทรศัพท์มือถือที่ปฏิวัติวงการ และอย่างที่สาม คือ อุปกรณ์สื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตที่ฉีกแนวไปจากเดิม และมันไมใช่อุปกรณ์ 3 ชิ้นแยกกัน แต่เป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียวที่เราเรียกมันว่า iPhone”

และในที่สุด iPhone ผลิตภัณฑ์ที่ปฏิวัติวิถีชีวิตของมนุษย์เราให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ มันเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Apple ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมชั้นยอดที่สุดนับตั้งแต่โลกเราย่างกรายเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เลยก็ว่าได้ และที่สำคัญมันได้เป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้ Apple นั้นพลิกโฉมหน้าบริษัทจากบริษัทเล็ก ๆ ไปสู่บริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเราเคยมีมานั่นเอง

–> อ่านตอนที่ 6 : Deep Impact

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : Phone & Microsoft *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***