Zilingo กับแรงบันดาลใจจากตลาดนัดจตุจักรสู่บริษัทพันล้านเหรียญ

Ankiti Bose สาวน้อยอายุ 27 ปี ที่หลงรักเรื่องราวของแฟชั่นชาวอินเดีย ได้กลายเป็นผู้หญิงคนแรกของอินเดียที่ร่วมก่อตั้้งบริษัท Zilingo ที่กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงถึง หนึ่งพันล้านเหรียญ ได้สำเร็จ

ต้องบอกว่าเป็นการเดินทางที่รวดเร็วมาก ๆ ของเธอ เพราะบริษัทของเธอมีอายุได้เพียงแค่ 4 ปีเพียงเท่านั้น ซึ่งเธอได้พัฒนาเว๊บไซต์ทางด้าน Ecommerce ขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นมาในชื่อว่า Zilingo

ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์ม Zilingo นั้นได้กลายเป็นแพลตฟอร์มระดับโลกที่มีผู้ใช้งานกว่า 7 ล้านคน และมีการขยา่ยตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งในรอบการลงทุนครั้งล่าสุดของบริษัทนั้น ทำให้มูลค่าธุรกิจของเธอสูงขึ้นถึง 970 ล้านเหรียญสหรัฐ

และเรื่องราวเริ่มต้นของ Zilingo นั้นเกิดขึ้นที่ตลาดนัดที่ดังที่สุดแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต่างต้องมาสัมผัสกัน เมื่อยามต้องมาเยือนกรุงเทพ นั่นก็คือ ตลาดนัดจตุจักรนั่นเอง

มันเกิดขึ้นในปี 2014 ที่ Ankiti Bose ได้เดินทางมาเที่ยวที่ประเทศไทย และได้เดินทางมาที่ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งเธอมองว่าเป็นตลาดที่โดดเด่นมาก ๆ มีร้านค้ามากกว่า 15,000 ร้าน และ มีพ่อค้ากว่า 11,500 ราย ซึ่งถือเป็นตลาดนัดวันหยุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกตลาดนึงเลยก็ว่าได้

และตัว Bose เองก็ได้เห็นโอกาสจากที่นี่นั่นเอง เธอคิดว่า ควรที่จะนำสินค้าเหล่านี้ ที่แสนพิเศษที่อยู่ในตลาดนัดจตุจักร ขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งแน่นอน ว่าอาจจะมีหลายคนคิดแนวคิดเดียวกันนี้ แต่ที่ต่างกันก็คือ เธอเริ่มลงมือทำมันทันที

กับแรงบันดาลใจจากการเดินตลาดนัดจตุจักรในประเทศไทย
กับแรงบันดาลใจจากการเดินตลาดนัดจตุจักรในประเทศไทย

หลังจากกลับมาจากประเทศไทย เธอก็คิดที่จะก่อตั้งอาณาจักรทางด้านสินค้าแฟนชั่นออนไลน์ขึ้นมาทันที โดยตัว Bose นั้นอาศัยอยู่ในศูนย์กลางของเทคโนโลยีของประเทศอินเดีย นั่นก็คือเมือง บังกาลอร์

เธอได้จับตามองรูปแบบธุรกิจของ Ecommerce ยักษ์ใหญ่อย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็น Amazon ของอเมริกา Alibaba ของจีน หรือ ยักษ์ใหญ่ทางด้าน Ecommerce ของประเทศบ้านเกิดของเธอเองอย่าง Flipkart ซึ่งแน่นอนว่าตอนนั้นเธอยังเห็นโอกาสในตลาดของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังเปิดอยู่เป็นอย่างมาก

ต้องบอกว่าตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เนื่องจากปัญหาเรื่อง Economy of Scale ที่ทำให้เหล่าผู้ผลิตไม่สามารถที่จะขายโดยตรงให้กับผู้บริโภคได้ จึงมักจะมีรูปแบบของพ่อค้าคนกลางซึ่งมักจะส่งผลให้กำไรที่ได้น้อยลง รวมถึง สภาพการทำงานที่ดูเหมือนจะแย่ลงเรื่อย ๆ

เธอจึงได้ตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับมัน และทำการสร้างตลาดออนไลน์เพื่อรวมผู้ค้าปลีกอิสระในภูมิภาคและช่วยพวกเขาให้นำสินค้ามาขายบนออนไลน์

มันเป็นความคิดง่าย ๆ Zilingo นั้นก็ทำงานเหมือนกับตลาด Ecommerce อื่น ๆ โดยอนุญาติให้ร้านค้าลงทะเบียน รวมถึงลงรายการสินค้าด้วยตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามผู้ขายแต่ละรายจะถูกตรวจสอบโดย Zilingo เพื่อความถูกต้องของการกำหนดราคา รวมถึงบริการพิเศษอื่น ๆ ที่ Zilingo จะมีให้ เช่น การสนับสนุนด้านเทคนิครวมถึงการจัดหาเงินทุน

โมเดลธุรกิจ คือ Zilingo จะทำการเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นจากร้าน ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่าง 10-30% สำหรับการขายแต่ละครั้ง

แม้ตัว Bose เองนั้นจะเรียนมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ และตัวเธอนั้นก็ไม่ได้มีพื้นฐานที่ดีนักในเรื่องเทคโนโลยี และเหมือนโชคชะตาฟ้าลิขิตที่ทำให้เธอได้มาเจอกับ Dhruv Kapoor วิศวกรซอฟต์แวร์อายุ 24 ปี ที่อาศัยอยู่ที่เมืองบังกาลอร์เช่นเดียวกัน ซึ่ง Kapoor กลายมาเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญมาก ๆ กับ Zilingo ในเรื่องของเทคโนโลยีเบื้องหลังทั้งหมดของแพลตฟอร์ม

โดยภายใน 6 เดือน ทั้งสองได้รวบรวมเงินออมของพวกเขาได้ราว ๆ คนละ 30,000 ดอลลาร์ และได้ลาออกจากงานประจำของพวกเขา และมาสร้างฝันทางธุรกิจให้กลายเป็นจริงแบบเต็มตัว

แม้เราจะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่ที่เริ่มต้นบริษัทด้วยกันนั้น มักจะมีความรู้จักคุ้นเคยกันมานานหลายปีเป็นส่วนใหญ่ แต่ ทั้ง Bose และ Kapoor นั่นต้องบอกว่าเพิ่งมีโอกาสได้คุยกัน แต่แนวความคิดของพวกเขาทั้งสองคนนั้นเหมือนกัน ทำให้สามารถกลายมาเป็นพาร์ทเนอร์กันได้ในที่สุด

สองผู้ก่อตั้งที่เคมีตรงกัน และเริ่มลุยทันที
สองผู้ก่อตั้งที่เคมีตรงกัน และเริ่มลุยทันที

เริ่มแรกนั้น ทั้งสองได้เริ่มต้นด้วยการรับซื้อสินค้าจากพ่อค้าโดยตรง Bose จึงเดินทางไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อทำการโน้มน้าวเหล่าผู้ค้าปลีกว่า Zilingo สามารถช่วยขยายธุรกิจของพวกเขาได้

และฝั่งเทคโนโลยีนั้น Kapoor ตั้งเป้าที่จะสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี ในบังกาลอร์ ด้วยความตั้งใจที่จะทำมันให้ใช้ง่ายเหมือน Facebook แพลตฟอร์ม Social Network ยักษ์ใหญ่ของโลก

และในปีถัดมาหลังจากก่อตั้ง Zilingo ได้ให้บริการกับพ่อค้าแม่ค้า นับร้อยทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้จัดตั้งสำนักงานขึ้นในประเทศสิงคโปร์ และบังกาลอร์ และได้ระดมทุนจากเหล่านักลงทุนได้หลายล้านดอลลาร์ รวมถึง Sequoia Capital ในประเทศอินเดีย

และ Zilingo ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี มีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 27,000 ร้าน ในทุก ๆ ภูมิภาคทั่วโลก มีพนักงานมากกว่า 500 คน ใน 8 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งสหรัฐอเมริกา , ออสเตรเลีย และ ฮ่องกง จนถึงขณะนี้ได้รับเงินทุน 308 ล้านดอลลาร์ จากนักลงทุน ซึ่งรวมถึง คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงค์โปร์ (EDBI) รวมถึงกองทุนชื่อดังจากสิงค์โปร์อย่างเทมาเส็ก

ซึ่งจากรอบการระดมทุนครั้งล่าสุดของ Zilingo นี่เอง ที่ทำให้บริษัท มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยรายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นถึง 4 เท่า แม้จะไม่ได้เปิดเผยตัวเลขที่แน่ชัด

และนั่นทำให้ Ankiti Bose ได้กลายเป็นผู้หญิงคนแรกในอินเดีย ที่สร้างบริษัท Unicorn ได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนักธุรกิจหญิงยุคใหม่ที่น่าจับตามองที่สุดในขณะนี้เลยก็ว่าได้ของประเทศอินเดีย

แน่นอนว่า ความสำเร็จของ Bose นั้นถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นสตรี โดยเฉพาะในเอเชีย ซึ่งถือว่ามีน้อยมาก ๆ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวทำให้เธอกลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญให้กับผู้หญิงชาวเอเชียคนอื่น ๆ ได้เห็นว่า ผู้หญิงก็สามารถประสบความสำเร็จได้ แม้ในอุตสาหกรรมอย่างเทคโนโลยี ที่เน้นเรื่องนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเราจะเห็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้านนี้เป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่นั่นเอง

References : https://thepeakmagazine.com.sg/interviews/ankiti-bose-zilingo-fashion-company/ https://fortune.com/2019/02/12/zilingo-ankiti-bose/ https://en.wikipedia.org/wiki/Zilingo