ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 9 : Moving Beyond

เมื่อ Dell เข้าสู่ระบบ ecommerce เพื่อเริ่มที่จะใช้อินเทอร์เน็ตมาขยายธุรกิจ Michael นั้นมีเป้าหมายหลัก 3 ประการคือ ทำให้การทำธุรกิจกับ Dell เป็นเรื่องง่าย ลดต้นทุน และขยายความสัมพันธ์ระหว่าง Dell กับลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

และเพียงไม่นาน Dell ก็สามารถที่จะสร้างยอดขายได้กว่า 12 ล้านเหรียญ ต่อวันผ่านอินเทอร์เน็ต และสุดท้ายอินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจของ Dell ในที่สุด

ต้องบอกว่าแม้อุตสาหกรรมไฮเทคที่ Dell กำลังแข่งขันอยู่นั้น ขึ้นชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าไปใช้ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่ Dell ทำผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้น ทำให้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญต่อธุรกิจของพวกเขาไปแล้ว

และหนึ่งในปรากฏการณ์ที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ต คือ อินเทอร์เน็ตได้สร้างตลาดใหม่ ๆ ที่ Dell ไม่เคยพบเจอมาก่อน และมันทำให้พวกเขา มีอัตราการเติบโตมากกว่า 30% ในแทบจะทุก ๆ ปี ซึ่งถือว่ามากกว่าอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

Dell ไม่เคยหยุดที่จะสร้างบริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น บริการให้เช่าซื้อเครื่อง DellPlus และบริการบริหารสินทรัพย์ให้ลูกค้า หรือการขยายตัวไปในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเช่น ประเทศจีน และอเมริกาใต้ ทำให้รักษาการเจริญเติบโตในอัตราระดับที่สูงถึง 50% ในหลาย ๆ ปี

ขยายธุรกิจไปในจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล
ขยายธุรกิจไปในจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล

แน่นอนว่า Michael เอง ก็ต้องสร้างและปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อให้ทันกับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสมดุลไม่ให้โครงสร้าบริษัทใหญ่เกินกว่าที่ต้องการ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายสำหรับบริษัทที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดแบบ Dell มาก

Michael จึงมองว่า ต้องมีการเรียนรู้จากการกระทำเป็นหลัก ความอยู่รอดของบริษัทนั้นขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้ทัน เนื่องจากคนและสิ่งที่มีอยู่ต้องมีการขยายออกไปอย่างรวดเร็ว และต้องมีโครงสร้างเพียงพอที่จะควบคุมการเติบโตได้ แต่ต้องไม่ใหญ่มากเสียจนกลายเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้นั่นเอง

ต้องบอกว่า Dell นั้นเป็นหนึ่งในบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เติบโตได้รวดเร็วที่สุดบริษัทหนึ่ง ในระยะเวลาเพียงแค่ 10 ปี ราคาหุ้นของ Dell นั้นพุ่งขึ้นไปกว่า 36,000% และบริษัทก็ก้าวจากบริษัทที่เริ่มต้นด้วยทุนเพียง 1,000 เหรียญ ไปเป็นบริษัทที่มียอดขายกว่า 18,000 ล้านเหรียญ (ปี 2019 Dell มียอดขายประมาณ 90,000 ล้านเหรียญ)

ต้องบอกว่า Michael นั้นได้สร้าง Dell เดินทางมาไกลมากจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในหอพักของเขา และการตัดสินใจครั้งสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตเขาที่ต้องออกจากการเรียนมามุ่งสู่ธุรกิจแบบเต็มตัว

แน่นอนว่า Dell นั้นก็ยังคงไม่หยุดสร้างบริการหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ขยายตลาดไปในพื้นที่ใหม่ ๆ แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด แบ่งกลุ่มและเพิ่มบริการใหม่ ๆ ซึ่งกุญแจความสำคัญที่สุดที่ทำให้ Dell ประสบความสำเร็จอย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน เกิดมาจากชายที่ชื่อ Michael Dell ที่รู้จักจุดแข็งของตัวเองและพร้อมรับมือกับการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ความคิดที่จะเรียนรู้บทเรียนที่ได้รับจากความผิดพลาดในอดีต และหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความกล้าที่จะไม่ยอมทำตามแนวคิดแบบเดิม ๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุดของเขาก็คือ การทำให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจมากที่สุดนั่นเองครับ

แล้วเราได้อะไรจากการเรื่องราวของ Dell จาก Blog Series ชุดนี้

ต้องบอกว่าเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมากของการสร้างธุรกิจของ Michael Dell ที่ปฏิวัติการขายอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์ให้กับลูกค้าโดยตรง ติดต่อกับผู้ผลิตชิ้นส่วนโดยตรง ซึ่งทั้งหมดนั้นเราจะเห็นได้ว่า เป็นการกำจัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและไม่มีประสิทธิภาพที่อยู่ตรงกลางออกไปทั้งหมด

โมเดยที่ Michael สร้างขึ้นมาอย่าง Direct Model นั้น ทำให้พวกเขาสามารถสร้างบริษัทให้กลายมาเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าของโลกได้อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งมันเริ่มต้นจากคำว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อเริ่มแรกนั้นไม่มีใครเชื่อว่า Dell จะสามารถทำโมเดลของการส่งตรงได้สำเร็จกับธุรกิจคอมพิวเตอร์ ที่แทบจะไม่มีใครเคยทำมาก่อน

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนั้น เราสามารถที่จะเรียนรู้และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ หลายคนอาจจะเคยเจอกับคำพูดที่ว่า สิ่ง ๆ ที่คุณกำลังทำอยู่มันเป็นไปไม่ได้ Michael แสดงให้เห็นว่า คุณไม่จเป็นต้องเป็นอัจฉริยะ หรือ ต้องเรียนจบสูง ๆ จึงจะสามารถคิดในแบบที่ไม่เหมือนใครได้ แต่ขอให้คุณเพียงแค่มีเค้าโครงและความฝัน ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างที่ Michael Dell ทำให้เราเห็นได้นั่นเองครับ

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

รวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุดรวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุด

อย่าลืมติดตามผลงานเรื่องต่อ ๆ ไปของผมก่อนใครได้ที่ blockdit นะครับ โหลดได้เลย

อย่าลืม ค้นหา “ด.ดล Blog” แล้ว กด follow กันด้วยนะครับผม

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 8 : Direct Sales Revolution

Michael นั้นรอคอยอยู่เสมอว่า พัฒนาการใหม่ ๆ แบบไหนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดที่พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ได้อีกครั้งหนึ่ง และตัวเขาเองมองว่า การที่ Dell จะกลายเป็นบริษัทชั้นนำได้นั้น ต้องสามารถที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ได้ เขารู้แน่ ๆ ว่ามันต้องเกิดขึ้น แต่ตอนนั้นเพียงแค่ยังไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

และในที่สุด เทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปตลอดกาล ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งเทคโนโลยีทีว่านั่น ก็คือ อินเทอร์เน็ตนั่นเอง

อินเทอร์เน็ตนั้น ทำให้เหล่าลูกค้าสามารถที่จะค้นหาข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการได้ ผ่านคอมพิวเตอร์ได้แบบตลอด 24 ชม. และแน่นอนว่ามันเข้าถึงได้ทุกคน อินเทอร์เน็ตทำให้เหล่ากลุ่มคนหัวก้าวหน้านั้นหันมาสนใจ และที่สำคัญคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกค้าที่ Dell ขายสินค้าให้อยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่า Michael นั้นรู้ทันทีว่า บรรดาลูกค้าเก่า รวมถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเขานั้น จะตรงเข้าไปที่อินเทอร์เน็ตเป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน

และตัว Michael นั้นก็รู้ดีตั้งแต่แรกแล้วว่า อินเทอร์เน็ตนั้นจะเป็นช่องที่ทำให้พวกเขาเข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพได้อย่างไร้ขีดจำกัด และเป็นการสร้างแบรนด์ให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น เขาต้องเข้าไปสู่ตลาดที่ศักยภาพแห่งนี้ให้สำเร็จเป็นรายแรก ๆ ให้ได้

ในเดือนมิถุนายม ปี 1994 Dell ได้ทำการเปิดตัวเว๊บไซต์ www.dell.com ซึ่งมีการนำข้อมูลต่าง ๆ ของเครื่อง PC และที่อยู่ email ที่เกี่ยวข้องกับการ support ลูกค้าขึ้นไปไว้บนอินเทอร์เน็ต โดยหลังจากนั้นอีก 1 ปีถัดมา ก็ได้เพิ่มบริการให้ลูกค้าสามารถสั่งประกอบคอมพิวเตอร์ได้ตามต้องการ

เว๊บไซต์ของ Dell ในยุคแรก ๆ
เว๊บไซต์ของ Dell ในยุคแรก ๆ

ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาในเว๊บไซต์ สามารถเลือกเพิ่มส่วนประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Ram Disk Display Card, Modem , Network card หรือแม้กระทั่งลำโพง ได้ทุกอย่างตามที่เขาต้องการ และในท้ายที่สุดมันจะคำนวณราคาออกมาให้กับพวกเขาได้แบบทันที

Direct Sales Revolution

ต้องบอกว่าการขายเครื่องผ่านระบบออนไลน์ด้วยเว๊บไซต์ www.dell.com ถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของ Dell ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาเลยก็ว่าได้ Michael นั้นได้รับความช่วยเหลือจาก Scott Eckert ซึ่งเป็นผู้ช่วยกรรมการในขณะนั้น และกลายมาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการพัฒนาระบบออนไลน์ของ Dell ในภายหลัง

และแน่นอนว่า อินเทอร์เน็ต นั้นเกิดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมระบบ Direct Sales ของ Dell ที่เป็นจุดเด่นอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ Dell นั้นใกล้ชิดกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ลูกค้าต้องการนั้นสามารถค้นหาได้อย่างรวดเร็ว ราคาถูก และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมมาก ๆ

Scott Eckert ผู้มีบทบาทสำคัญในระบบออนไลน์ของ Dell
Scott Eckert ผู้มีบทบาทสำคัญในระบบออนไลน์ของ Dell

และมันตรงกับความต้องการของ Michael ที่ต้องการลดขนาดโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทลงพอดิบพอดี วิธีสั่งของแบบตัวต่อตัวที่เกิดจากโลกอินเทอร์เน็ตนั้น ทำให้สามารถเพิ่มยอดขายโดยแทบจะไม่ต้องเพิ่มจำนวนพนักงานแต่อย่างใด

เมื่อ Michael นั้นมองว่าระบบสั่งออนไลน์เริ่มที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอแล้ว เขาจึงได้ตัดสินใจเริ่มทุ่มทุนในการโฆษณาทันที ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ Dell ได้เจอกับกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่พวกเขาแทบไม่เคยเจอมาก่อน โดยเมื่อถึงช่วงสิ้นปี 1996 Dell สามารถทำยอดขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ถึง 1 ล้านเหรียญต่อวัน

ด้วยระบบการส่งตรงที่เป็นทุนเดิมมาอยู่แล้วนั้น ทำให้ Dell ได้เปรียบทันทีเมื่อเข้าสู่โลกของอินเทอร์เน็ต ซึ่งพวกเขาสามารถทำกำไรได้ทันที ต้องเรียกได้ว่าเป็นเว๊บไซต์ ecommerce แรก ๆ ของโลกที่สามารถทำกำไรได้ทันทีเมื่อเข้าสู่ยุคของการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต

ซึ่งแม้ในช่วงนั้นเว๊บไซต์ดัง ๆ อย่าง Amazon กำลังเกิดขึ้น และเริ่มสร้างรายได้มหาศาล แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ธุรกิจที่สามารททำกำไรได้ เหมือนอย่างที่ Dell ทำสำเร็จ เมื่อเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ Dell ก็ได้กลายเป็นผู้นำในตลาดนี้ได้สำเร็จในที่สุด

เป้าหมายอีกอย่างของ Michael ก็คือ เขาต้องการให้ Dell สามารถทำยอดขายจากระบบออนไลน์ให้ได้เกิน 50% และเพื่อทำให้เป้าหมายนั้นเกิดขึ้นจริงได้ Michael จึงสั่งการให้ทุก ๆ ส่วนของบริษัทนั้นให้มาใช้บริการบนระบบอินเทอร์เน็ต

มีการส่งเสริมให้อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในทุก ๆ แผนกของ Dell ซึ่ง Michael ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ในการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ร่วมกับระบบข้อมูลข่าวสารของบริษัททั้งหมด เพื่อทำให้การติดต่อสื่อสารกับลูกค้า และผู้จัดส่งชิ้นส่วนนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

แน่นอนว่าในช่วงแรกนั้นธุรกิจของ Dell บนอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่ลูกค้าขนาดเล็ก และ ขนาดกลางเท่านั้น เนื่องจากลูกค้ากลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่นั้น ยังมีระบบการจัดซื้อแบบโบราณมาก ๆ และเป็นเรื่องยากที่จะมาซื้อขายกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่ต้องตัดสินใจ ณ ขณะนั้นทันที

วิธีการแก้ปัญหาของ Dell คือ การออกแบบเว๊บไซต์แบบพิเศษสำหรับลูกค้ารายใหญ่แต่ละรายบนเว๊บไซต์แทน โดยเรียกมันว่า “Premier Page” ซึ่งจะมีการติดต่อกันด้วยรหัสลับพิเศษ เพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการของ Dell โดยเฉพาะ และสามารถตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น รายการสินค้าคงคลัง ภูมิภาค สถานที่ และการให้บริการ เป็นต้น และทุก ๆ อย่างจะสามารถตรวจสอบได้ทันทีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

แต่ต้องบอกว่าสำหรับ Dell นั้นการค้าในระบบ Ecommerce ผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งการที่ Michael สามารถมองเห็นได้ทันทีว่าอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นส่วนสำคัญต่อกลยุทธ์ของบริษัท ทำให้ Dell เริ่มมองเห็นข้อมูลในลักษณะที่แตกต่างไปจากคู่แข่งอื่น ๆ

ซึ่งจากการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต แทนที่เขาจะพยายามป้องกันฐานข้อมูลที่ Dell เก็บข้อมูลมานานหลายปี แต่พวกเขากลับเลือกที่จะชักจูงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์นั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบนี้แทน ซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อทำให้การส่งผ่านข้อมูลระหว่างบริษัทนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องบอกว่า Dell นั้นถือเป็นต้นแบบสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของการทำธุรกิจในเศรษฐกิจดิจิตอลตั้งแต่ยุคแรก ๆ ก็ว่าได้

ต้องบอกว่าการที่ Dell สามารถก้าวมาได้ถึงจุดนี้นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญแต่อย่างใด Michael ล้วนแล้วแต่สร้างกลยุทธ์ที่สำคัญที่มีผลต่อบริษัทเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งตรง การบริการลูกค้า การสร้างสินค้าที่มีคุณภาพ รวมถึงการกระโจนเข้าสู่ธุรกิจ Ecommerce เป็นรายแรก ๆ แต่พวกเขายังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญ คือ การก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดในการผลิตคอมพิวเตอร์ในระดับโลกให้ได้ แล้วพวกเขาจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 9 : Moving Beyond (ตอนจบ)

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.interesticle.com/entertainment/10-richest-people-who-did-not-finish-college/3

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 7 : Winners Take All

Dell ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทระดับโลกในปี 1995 ยอดขายในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และลาตินอเมริกา เติบโตเร็วกว่าตลาดปรกติสามเท่า บริษัทได้ขยายสำนักงานไปยัง 14 ประเทศในยุโรป และโดยเฉพาะในอังกฤษ Dell ได้กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับสองของประเทศ

มีการขยายกิจการออกไปในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก และ ญี่ปุ่น โดยขายแบบส่งตรงใน 11 ประเทศ และขายผ่านเครือข่ายอีก 37 ประเทศ Dell ได้สร้างระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของบริษัท และพัฒนาบุคลากรที่พร้อมที่จะทำงานในระดับโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้เมื่อสถานการณ์ของบริษัทแข็งแกร่งขนาดนี้ นั่นคือ Dell กำลังเผชิญกับสถานการณ์ครั้งสำคัญที่ถ้าไม่โต ก็ต้องตายอีกครั้งหนึ่ง ตอนนั้นสถานการณ์โลก บริษัทส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะรวมตัวกันมากขึ้น ทำให้ Dell ต้องเผชิญกับการท้าทายครั้งใหม่ ที่ต้องขยายบริการและสินค้าของตัวเองให้มากขึ้น ไม่จำกัดแต่เพียงแค่ เครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ และ Notebook อีกต่อไป

ซึ่งการเข้าไปสู่ตลาด server ไม่เพียงเป็นแค่โอกาสที่ดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันยังมีความจำเป็นมาก ๆ สำหรับการแข่งขันในอนาคตด้วย การเติบโตอย่างรวดเร็วของคอมพิวเตอร์แบบเครือข่ายตามบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ทั่วโลก มันทำให้โอกาสของตลาด Server นั้นเปิดกว้างอยู่เสมอ

ด้วยการเติบโตของระบบปฏิบัติการมาตรฐานอย่าง Windows NT และการประมวลผลแบบ Multi-Core ทำให้ Dell สามารถพัฒนา Server บนพื้นฐานของมาตรฐานเหล่านี้ได้ อย่างไม่ยากเย็นนัก เป็นการเข้าสู่ตลาดด้วยต้นทุนที่ไม่สูงนัก ไม่ต้องซื้อเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาเลยด้วยซ้ำ

และแน่นอนจุดเด่นในเรื่องการขายตรงนั้น Michael ก็ทำในตลาด Server เช่นเดียวกัน โดยมีการเสนอเครื่อง Server ที่มีราคาถูกกว่า ทำให้ลูกค้าสามารถประหยัดเงินได้เป็นอย่างมาก

ต้องบอกว่าการเข้ามาสู่ตลาด Server ของ Dell นั้นเป็นทางเลือกที่บังคับให้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีไปโดยปริยาย ซึ่งหาก Dell ไม่เข้ามาเล่นในตลาดนี้ก็จะถูกผูกขาดด้วยผู้เล่นรายใหญ่เพียงแค่ 3 รายคือ IBM , HP และ Compaq เพียงเท่านั้น

IBM , HP ที่กำลังผูกขาดตลาด Server อยู่ในตอนนั้น
IBM , HP ที่กำลังผูกขาดตลาด Server อยู่ในตอนนั้น

และทั้งสามก็เป็นคู่แข่ง Dell ในตลาดคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ รวมถึง Notebook เช่นเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้เหล่าคู่แข่งจะใช้กลยุทธ์ นำกำไรจากการขาย Server ไปชดเชยการขาดทุนที่เกิดจากการขายเครื่องแบบตั้งโต๊ะและ Notebook และหาก Dell ไม่เข้าไปในตลาด Server สุดท้ายก็จะถูกโจมตีในตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและ Notebook อยู่ดีนั่นเอง

Michael นั้นได้กำหนดกลยุทธ์ในตลาด Server คือ พัฒนาเครื่อง Server สำหรับระดับเริ่มต้น และ ระดับกลางด้วยตัวเอง และในขณะเดียวกัน ก็พัฒนาความสามารถของทีมงานให้สามารถผลิตเครื่องแบบ Hi-End ได้ด้วย

และเน้นรูปแบบการขายตรง ด้วยการผลิตเครื่องตามที่ลูกค้าต้องการจริง ๆ และใส่ Software รวมถึงระบบปฏิบัติการมาจากโรงงาน ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจในบริการ และ การ Support จากทีมงานของ Dell ให้มากที่สุด

Michael นั้นเดินหน้าพูดคุยกับทุกคนที่เป็นพนักงานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน และเริ่มแผนการประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่ ด้วยการนำพนักงานกว่า 7 พันคนมารวมกันในอาคารหนึ่งกลางเมืองออสติน

พนักงานบางคนแต่งตัวเป็น มนุษย์ Server ด้วยชุดเสื้อคลุมและกางเกงรัดรูปพร้อมกับตัวอักษร ‘S’ ขนาดใหญ่ติดที่หน้าอก วิ่งไปมาตามตึกต่าง ๆ เพื่อให้คนมองเห็นและให้ความสนใจกับเทศกาลครั้งนี้ และตัว Michael เองนั้นสร้างความฮือฮาด้วยการวิ่งเข้าไปในหอประชุมพร้อมกับคบเพลิงขนาดเดียวกับที่ใช้ในกีฬาโอลิมปิก

ซึ่งแน่นอนจากความใส่ใจในทุก ๆ เรื่องของ Michael การเข้าสู่ตลาดในครั้งนี้ของ Dell นั้นทำให้ลูกค้าสามารถที่จะประหยัดเงินจากการซื้อ Server ได้มาก Dell บีบให้คู่แข่งต้องลงมาตั้งราคาเดียวกับ Dell และเพียงปีแรกที่ Dell เปิดตัว Server รุ่น PowerEdge ทำให้เหล่าคู่แข่งต้องลดราคาเครื่องลงอย่างน้อย 17% เลยทีเดียว

Dell PowerEdge ในยุคแรก ๆ ที่ออกมาตีตลาด
Dell PowerEdge ในยุคแรก ๆ ที่ออกมาตีตลาด

18 เดือนหลังจากเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนและขยายตลาด Server ในปี 1996 Dell เริ่มแนะนำรุ่น PowerEdge แบบที่มีตัวประมวลผลเดี่ยวและคู่ออกสู่ตลาด ในราคาที่ทำให้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้

เป้าหมายของ Michael ในตลาดอเมริกานั้น ต้องการส่วนแบ่งการตลาดเป็นตัวเลข 2 หลัก ให้ได้ก่อนปี 1998 แต่พวกเขาสามารถทำตามเป้าได้สำเร็จในปี 1997 โดยเมื่อถึงสิ้นปี 1997 นั้น Dell มีส่วนแบ่งในตลาด Server จากเดิมที่อยู่ในอันดับ 10 ขึ้นมาสู่อันดับ 4 ได้สำเร็จ

และเมื่อก้าวเข้าสู่ปี 1998 นั้น Dell ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับสองของอเมริกา โดยสามารถเอาชนะทั้ง IBM และ HP ได้แบบขาดลอย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 19% และกลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่อง Server ที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในตลาด

และต้องบอกว่านี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พวกเขาทำได้สำเร็จในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้อีกครั้ง ไม่มีใครเชื่อว่า Dell จะขาย Server ผ่านระบบขายตรงได้ แต่พวกเขาก็สามารถทำมันได้สำเร็จ ต้องบอกว่าการทุ่มเทความพยายามทั้งหมดมาที่การขายแบบส่งตรงนั้นทำให้ Dell มีความได้เปรียบจากการแข่งขันมากยิ่งขึ้นแม้กระทั่งตลาดที่ไม่มีใครคิดอย่างตลาด Server แต่ต้องบอกว่าความสำเร็จของพวกเขายังไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น ยังมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านี้กำลังรอ Dell อยู่ แล้วสิ่ง ๆ นั้นมันคืออะไร โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 8 : Direct Sales Revolution

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://twitter.com/michaeldell/status/992860025562509312

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 4 : The Professional

ต้องบอกว่าถ้า Dell ยังเป็นบริษัทขนาดเล็ก ๆ อยู่ และไม่ยอมเติบโต คงจะถูกกำจัดออกจากตลาดไปนานแล้ว และแน่นอนว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น ก็ได้สร้างปัญหาได้เช่นกัน เนื่องจากโครงสร้างบริษัท ที่จะรองรับยอดขายระดับ 2-3 พันล้านเหรียญนั้น มันคงใช้รูปแบบเดิม ๆ เหมือนช่วงแรก ๆ แล้วไม่ได้นั่นเอง

และก็เป็นชายที่มีนามว่า Tom Meredith ที่ได้เข้ามาแก้ปัญหาใหญ่ที่ Dell กำลังพบเจอในครั้งนี้ โดย Michael ได้ทำการดึงตัว Tom มาจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Sun Microsystems โดยให้มารับหน้าที่ CFO ของ Dell Computer ที่กำลังเติบโตแบบฉุดไม่อยู่

ซึ่ง Tom ได้เป็นคนเตือน Michael เองว่า ไม่ช้าก็เร็ว Dell จะต้องพบกับปัญหา และมันก็มาถึงอย่างรวดเร็วในปี 1993 ซึ่งบริษัทกำลังมีแผนนำหุ้นออกขายอีกครั้ง เพื่อหาเงินสดเข้ามาใช้ในบริษัท แต่สถานการณ์ในตอนนั้น ราคาหุ้นลดลงเหลือเพียงแค่ 30.08 เหรียญเท่านั้น

และมันทำให้แผนการหาเงินสดผ่านการระดมทุนในตลาดหุ้นถูกยกเลิก จนทำให้ Dell ไม่มีเงินสดที่จะใช้ในการหมุนเวียน และหลังจากนั้นไม่นาน บริษัทก็ต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานที่ขาดทุนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัท

Tom นั้นได้ทำการเปลี่ยนลำดับความสำคัญในเรื่องการเงินใหม่ โดยทำให้การเติบโตช้าลง แต่สม่ำเสมอ และมีเงินสดเหลือตลอดเวลาแทน และเมื่อแก้ปัญหาเรื่องเงินสดได้ ค่อยไปให้ความสำคัญกับกำไร และสิ่งสุดท้ายคือการเติบโต แทนที่จะตั้งหน้าตั้งโตให้เติบโตอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งแผนที่เขาให้ Michael จัดลำดับความสำคัญก็คือ มีเงิน -> มีกำไร -> และเติบโต นั่นเอง

Tom Meridith ผู้มาแก้ปัญหาใหญ่อย่างเรื่องการเงินให้กับ Dell ในยุคนั้น
Tom Meridith ผู้มาแก้ปัญหาใหญ่อย่างเรื่องการเงินให้กับ Dell ในยุคนั้น

และในขณะที่กำลังเจอพายุมรสุมทางด้านการเงิน สถานการณ์ก็ย่ำแย่ขึ้นอีกเมื่อต้องมาเผชิญกับวิกฤตเรื่องเครื่องคอมพิวเตอร์ Notebook ซ้ำเข้ามาอีก

ถึงแม้ Dell จะเข้าไปในตลาด Notebook ตั้งแต่ปี 1988 ก็ตามที และได้มีการพัฒนาปรับปรุงเครื่องอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อสร้าง Notebook ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ยิ่งจะทำให้นำเครื่องออกสู่ตลาดได้ช้าลง เพราะเสียเวลาในการแก้ไขเรื่องต่าง ๆ นานเกินไป

และต้นตอของปัญหาก็คือ พนักงานในแผนก Notebook ส่วนใหญ่นั้นมาจากแผนก PC แบบตั้งโต๊ะ ซึ่งพยายามยัดเยียดทุกอย่างเข้าไปเหมือนกับ PC ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันดูล่าช้าไปหมดเมื่อต้องมาทำใน Notebook

ในเดือนเมษายน ปี 1993 Michael จึงได้ทำการจ้าง John Medica ซึ่งเคยทำงานในแผนกพัฒนา Notebook ที่ apple มาก่อน ให้มารับผิดชอบแผนก Notebook แทน ซึ่งจากการเข้ามาของ John นั้นพบว่า จากสายการผลิตทั้งหมดของ Notebook พบว่า มีเพียงรุ่น Latitude XP เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ที่สามารถผลิตได้จริง

การได้มืออาชีพอย่าง John เข้ามาทำให้ Michael ตัดสินใจกับสถานการณ์ในตลาด Notebook ได้ดีขึ้น โดยให้ทีมงานโฟกัสแค่เฉพาะในรุ่น Latitude XP เท่านั้น เพื่อให้ออกสู่ตลาดได้ และทำการขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรให้ผลิตเครื่อง notebook รุ่นพื้นฐานอื่น ๆ ออกไปก่อน เพื่อให้ Dell ตั้งหลักได้ก่อนนั่นเอง

ซึ่งสุดท้าย เมื่อทำการพุ่งความสนใจไปที่โครงการเดียวอย่าง Latitude XP นั้น แทนที่จะทำโครงการอื่นวุ่นวายไปเสียหมด และเมื่อเหล่าพนักงานได้ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว พวกเขาก็สามารถผ่านวิกฤตมาได้ และ Lattitude ก็ประสบความสำเร็จในตลาดในที่สุดนั่นเอง

และต้องบอกว่ากุญแจที่สำคัญอีกประการที่ทำให้ Notebook รุ่น Latitude นั้นโดดเด่นเหนือใครในตลาด คงจะอยู่ที่ แบตเตอรี่ ลิเธียมไออน

ในปี 1993 หลังจากที่ Dell ได้ไปเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นเพียงไม่นาน Michael ก็ได้มีโอกาสเจอกับทีมวิศวกรจาก Sony ที่มานำเสนอเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ ที่ทาง Sony วิจัยและพัฒนาขึ้นมา

ซึ่งขณะนั้น ลูกค้าที่ใช้ Notebook ทุกคนนั้นรู้ดีว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดอันดับหนึ่งคือ เรื่องของ แบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้นาน ๆ ซึ่งเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในยุคนั้นสามารถใช้งานได้ไม่เกิน 2 ชม.เสียเป็นส่วนใหญ่

แต่สิ่งที่วิศวกรจาก Sony ได้แสดงให้ Michael ได้เห็นคือ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ ลิเธียมไออนใหม่ ที่สามารถทำงานได้นานกว่าเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ทั่วไปในยุคนั้น ซึ่งตอนนั้น Sony ได้วางแผนที่จะใช้ แบตเตอรี่ใหม่นี้ใน โทรศัพท์มือถือและกล้องวีดีโอของพวกเขา

และแน่นอนว่า แบตเตอรี่ ลิเธียมไอออนนี้เป็นของใหม่ที่ยังไม่มีใครผลิตได้มาก่อนในยุคนั้น และ Michael มองว่าหาก Sony เลือกผลิตให้ Dell ก็คงไม่มีเวลาไปผลิตให้คนอื่นอย่างแน่นอน และใช้เวลาอย่างน้อยเป็นปีกว่าคู่แข่งจะตามเขาได้ทัน ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของ Michael ในการเลือกใช้ แบตเตอรี่ลิเธียมไออนให้กับ Notebook Dell Latitude ที่ทำให้ Notebook ของ Dell นั้นได้เปรียบคู่แข่งทันทีในเรื่องของระยะเวลาการใช้งานและน้ำหนักที่เบากว่านั่นเอง

ซึ่งในที่สุด เครื่อง Notebook Latitude XP ก็ถูกนำออกสู่ตลาดในเดือนสิงหาคมปี 1994 โดยในงานเปิดตัวนั้น Dell ได้เชิญผู้สื่อข่าว เข้ามาทำข่าวมากมาย ประมาณ 50 คนจากสื่อทั่วประเทศ

Dell Latitude XP Notebook รุ่นตำนานที่ทำให้ Dell แจ้งเกิดในตลาด Notebook ได้สำเร็จ
Dell Latitude XP Notebook รุ่นตำนานที่ทำให้ Dell แจ้งเกิดในตลาด Notebook ได้สำเร็จ

โดย Michael เลือกให้เหล่านักข่าวนั้นมารวมตัวกันที่สนามบิน JFK เพื่อทำการมอบเครื่อง Latitude XP ที่บรรจุโปรแกรมพื้นฐานอย่าง Microsoft Word และพาเหล่านักข่าวเหล่านี้บินตรงสู่เมืองลอสแองเจลลิส โดยให้นักข่าวเล่นเจ้าเครื่อง Notebook ตัวใหม่นี้ระหว่างเดินทาง

ซึ่งแน่นอน ระยะทางจากสนามบิน JFK ไปยังเมืองลอสแองเจลลิส นั้นใช้เวลากว่า 5 ชม. ทำให้ Notebook Latitude XP ได้สร้างสถิติการใช้งานนานที่สุด เหล่านักข่าวจากสื่อต่าง ๆ ต่างทึ่งในความสามารถของแบตเตอรี่รุ่นใหม่นี้

หลังจบงาน สื่อได้ประโคมข่าวเรื่องดังกล่าวไปทั่วประเทศ ทำให้เครื่อง Notebook Latitude กลายเป็นสินค้าขายดีแบบฉุดไม่อยู่ จากเดิมที่ Dell มีรายได้จากตลาด Notebook เพียง 2% แต่หลังจากออกวางจำหน่าย Latitude XP ทำให้รายได้จาก Notebook นั้นสูงขึ้นไปถึง 14% เลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นการแจ้งเกิดครั้งสำคัญใน Notebook ของ Dell นับจากนั้นเป็นต้นมานั่นเอง

ต้องบอกว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของ Michael Dell ที่ได้นำเหล่ามืออาชีพมาแก้ไขปัญหาของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงินจาก Tom Meredith หรือ การพลิกตลาด Notebook จาก John Medica ที่ทำให้ Dell สามารถก้าวข้ามความเป็นบริษัทขนาดเล็ก ขึ้นมาเป็นบริษัทมืออาชีพแบบเต็มตัวได้สำเร็จ แล้วสถานการณ์ของ Dell จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรมาฉุดพวกเขาอยู่ได้อีกต่อไป อย่าพลาดติดตามต่อตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 5 : Future Plans

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.worthpoint.com/worthopedia/vintage-dell-latitude-xp-475c-486dx4-1878927317

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 3 : Billion Dollar Company

ตั้งแต่ Dell Computer ได้ก่อตั้งขึ้นมาจนถึงปี 1990 นั้น บริษัทเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยสูงถึง 97% ต่อปี ซึ่งรวมถึงตัวเลขของผลกำไรสุทธิก็เติบโตได้ในลักษณะเดียวกัน มันคือจุดแข็งของ Dell ในยุคแรก ๆ เป็นความสำเร็จที่ฉายภาพซ้ำ ๆ ในตลอดทุก ๆ ปีในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัท

เหมือนดูจะไม่มีปัญหากับการเติบโต แต่ในที่สุด การเติบโตของ Dell นั้นก็กลายเป็นจุดอ่อนที่เริ่มเห็นแผลครั้งแรกในช่วงปี 1989 เมื่อบริษัทกำลังพบกับปัญหากับการ stock ชิ้นส่วนที่เป็นวัตถุดิบในการประกอบคอมพิวเตอร์มากเกินไป

ปัญหาคือชิ้นส่วนที่ตกรุ่นเร็วเช่น Ram ที่ เมื่อออกรุ่นใหม่ก็ต้องซื้อในราคาแพง แต่เพียงไม่นานมันก็ตกรุ่นอย่างรวดเร็ว และปัญหานี้นี่เองที่ทำให้ ชิ้นส่วนเหล่านี้เหลืออยู่ในสินค้าคงคลังเต็มไปหมด ทำให้ Dell เริ่มสูญเสียเงินจากเรื่องเหล่านี้ไปจำนวนมหาศาล

เมื่อเจอแผลแรกแล้วนั้น ก็ได้เกิดวิกฤติอีกครั้งในโครงการที่ถูกเรียกชื่อว่า Olympic ที่สร้างคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะแบบครอบจักรวาล ตั้งแต่ผู้ใช้ทั่วไปจนถึงระดับการใช้งานในเครือข่ายขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นโครงการใหญ่ โครงการแรกของ Dell เลยก็ว่าได้ แต่กลับกลายเป็นว่า คอมพิวเตอร์ครอบจักรวาลเหล่านี้คือสิ่งสุดท้ายที่ลูกค้าต้องการ ทำให้โครงการนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ปัญหาเรื่องสินค้าคงคลังที่ทำให้ Dell เกิดภาวะถดถอย
ปัญหาเรื่องสินค้าคงคลังที่ทำให้ Dell เกิดภาวะถดถอย

และจากความล้มเหลวเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ Michael ตัดสินใจที่จะสร้างแผนก R&D ขึ้นมาเพื่อค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยีของตัวเองขึ้น มุ่งให้ความสนใจกับเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ และที่สำคัญคือเป็นการช่วยพิจารณาว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำนั่นเอง

ตั้งแต่ช่วงปี 1990-1992 เป็นปีที่ให้บทเรียนครั้งสำคัญแก่ Michael Dell ที่เขาต้องมาแก้ปัญหาทั้งเรื่องสินค้าคงคลัง รวมถึงโครงการอย่าง Olympic ที่ฉุด Dell Computer ให้ดูล้าหลังกว่าคู่แข่งอยู่ประมาณ 3 ปี

ซึ่งหลังจากภาวะถดถอย 3 ปี Dell ก็ตั้งหลักใหม่ได้สำเร็จ และกลับมาเดินหน้าสร้างความสำเร็จได้อีกครั้ง โดยบริษัทได้กลับมาเป็นผู้นำในตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ รวมถึงตลาด Notebook ได้อีกครั้ง

และการตัดสินใจครั้งสำคัญของ Michael Dell ที่นำพาบริษัทกระโจนเข้าสู่ตลาด Server ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ครั้งสำคัญของ Dell และการขยายสาขาไปทั้งในยุโรปตะวันตก และ ยุโรปกลาง รวมถึงแผนการที่จะขยายตลาดไปยังทวีปเอเชียอีกด้วย

ตอนนั้น มันเป็นทางแยกครั้งสำคัญของบริษัทหากต้องการเติบโต ก็ต้องลุยแบบเต็มที่ เพราะการไม่สนใจที่จะเข้าสู่ตลาดโลกนั้น สุดท้ายอาจจะทำให้บริษัทถูกกลืนกินจากบริษัทยักษ์ใหญ่ได้นั่นเอง

แม้ในช่วงดังกล่าว Dell Computer จะมียอดขายถึง 1 พันล้านเหรียญต่อปี แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่เล็กน้อย เมื่อเทียบกับคู่แข่งระดับโลก และแนวโน้มในขณะนั้นดูเหมือนว่าการถูกรวมบริษัทนั้นเป็นไปได้สูงเลยทีเดียว

และแน่นอนว่าด้วยพื้นฐานสำคัญของระบบส่งตรงของ Dell ที่คิดค้นไว้นั้น ทำให้ Dell แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ

และในช่วงที่ Microprocessor รุ่นใหม่อย่าง 486 ได้ออกมาทำการตลาดนั้น Michael Dell ได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทไปยังเทคโนโลยีใหม่นี้ก่อนใคร ทำให้ Dell ได้เปรียบคู่แข่งอยู่มาก ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญเพราะ Microsoft ก็ออก Windows รุ่นใหม่ออกมาพอดี ทำให้คนทั่วไปเริ่มต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงมาใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows ของ Microsoft นั่นเอง

Windows ใหม่ของ Microsoft ที่ทำให้ลูกค้าต้องการคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง
Windows ใหม่ของ Microsoft ที่ทำให้ลูกค้าต้องการคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง

ในปี 1992 หลังผ่าน วิกฤติครั้งสำคัญต้องบอกว่า Dell ได้ปรับกลยุทธ์ทางด้านราคาใหม่ เพื่อเร่งการเติบโตให้เร็วขึ้น ซึ่ง Michael ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น สามารถทำยอดขายเพิ่มจาก 880 ล้านเหรียญไปเป็นมากกว่า 2 พันล้านเหรียญ ด้วยอัตราการเติบโตที่สูงถึง 127%

ซึ่งเมื่อสิ้นสุดปี 1992 อัตราการเติบโตของ Dell ก็เรียกได้ว่าแข็งแกร่งสุด ๆ บริษัทมีรายได้กว่า 2 พันล้านเหรียญ และมันโตเกินกว่าขนาดของบริษัทเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบโทรศัพท์ ระบบการเงิน ระบบ support ต่าง ๆ เรียกได้ว่าตอนนี้ได้ใช้งานจนถึงขีดจำกัดของมันแล้ว

และที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องคน เพราะบริษัทได้เติบโตเกินกว่าที่กำลังคนที่มีอยู่จะรับมือต่อไปไหว และที่สำคัญ ตัว Michael เองก็แทบจะไม่มีประสบการณ์ในการบริหารบริษัทขนาด 2 พันล้านเหรียญมาก่อน แทบจะไม่มีพนักงานคนไหนปรับตัวได้ทันกับการเติบโตในระดับนี้ ถึงเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือแล้ว และจะเป็นใครที่จะมาช่วยเหลือ Michael ในการจัดการบริษัทที่เติบโตรวดเร็วเช่นนี้ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 4 : The Professional

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.networkmiddleeast.com/593261-dell-drama-sees-rise-of-new-alliance