ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 4 : The Professional

ต้องบอกว่าถ้า Dell ยังเป็นบริษัทขนาดเล็ก ๆ อยู่ และไม่ยอมเติบโต คงจะถูกกำจัดออกจากตลาดไปนานแล้ว และแน่นอนว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น ก็ได้สร้างปัญหาได้เช่นกัน เนื่องจากโครงสร้างบริษัท ที่จะรองรับยอดขายระดับ 2-3 พันล้านเหรียญนั้น มันคงใช้รูปแบบเดิม ๆ เหมือนช่วงแรก ๆ แล้วไม่ได้นั่นเอง

และก็เป็นชายที่มีนามว่า Tom Meredith ที่ได้เข้ามาแก้ปัญหาใหญ่ที่ Dell กำลังพบเจอในครั้งนี้ โดย Michael ได้ทำการดึงตัว Tom มาจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Sun Microsystems โดยให้มารับหน้าที่ CFO ของ Dell Computer ที่กำลังเติบโตแบบฉุดไม่อยู่

ซึ่ง Tom ได้เป็นคนเตือน Michael เองว่า ไม่ช้าก็เร็ว Dell จะต้องพบกับปัญหา และมันก็มาถึงอย่างรวดเร็วในปี 1993 ซึ่งบริษัทกำลังมีแผนนำหุ้นออกขายอีกครั้ง เพื่อหาเงินสดเข้ามาใช้ในบริษัท แต่สถานการณ์ในตอนนั้น ราคาหุ้นลดลงเหลือเพียงแค่ 30.08 เหรียญเท่านั้น

และมันทำให้แผนการหาเงินสดผ่านการระดมทุนในตลาดหุ้นถูกยกเลิก จนทำให้ Dell ไม่มีเงินสดที่จะใช้ในการหมุนเวียน และหลังจากนั้นไม่นาน บริษัทก็ต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานที่ขาดทุนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัท

Tom นั้นได้ทำการเปลี่ยนลำดับความสำคัญในเรื่องการเงินใหม่ โดยทำให้การเติบโตช้าลง แต่สม่ำเสมอ และมีเงินสดเหลือตลอดเวลาแทน และเมื่อแก้ปัญหาเรื่องเงินสดได้ ค่อยไปให้ความสำคัญกับกำไร และสิ่งสุดท้ายคือการเติบโต แทนที่จะตั้งหน้าตั้งโตให้เติบโตอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งแผนที่เขาให้ Michael จัดลำดับความสำคัญก็คือ มีเงิน -> มีกำไร -> และเติบโต นั่นเอง

Tom Meridith ผู้มาแก้ปัญหาใหญ่อย่างเรื่องการเงินให้กับ Dell ในยุคนั้น
Tom Meridith ผู้มาแก้ปัญหาใหญ่อย่างเรื่องการเงินให้กับ Dell ในยุคนั้น

และในขณะที่กำลังเจอพายุมรสุมทางด้านการเงิน สถานการณ์ก็ย่ำแย่ขึ้นอีกเมื่อต้องมาเผชิญกับวิกฤตเรื่องเครื่องคอมพิวเตอร์ Notebook ซ้ำเข้ามาอีก

ถึงแม้ Dell จะเข้าไปในตลาด Notebook ตั้งแต่ปี 1988 ก็ตามที และได้มีการพัฒนาปรับปรุงเครื่องอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อสร้าง Notebook ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ยิ่งจะทำให้นำเครื่องออกสู่ตลาดได้ช้าลง เพราะเสียเวลาในการแก้ไขเรื่องต่าง ๆ นานเกินไป

และต้นตอของปัญหาก็คือ พนักงานในแผนก Notebook ส่วนใหญ่นั้นมาจากแผนก PC แบบตั้งโต๊ะ ซึ่งพยายามยัดเยียดทุกอย่างเข้าไปเหมือนกับ PC ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันดูล่าช้าไปหมดเมื่อต้องมาทำใน Notebook

ในเดือนเมษายน ปี 1993 Michael จึงได้ทำการจ้าง John Medica ซึ่งเคยทำงานในแผนกพัฒนา Notebook ที่ apple มาก่อน ให้มารับผิดชอบแผนก Notebook แทน ซึ่งจากการเข้ามาของ John นั้นพบว่า จากสายการผลิตทั้งหมดของ Notebook พบว่า มีเพียงรุ่น Latitude XP เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ที่สามารถผลิตได้จริง

การได้มืออาชีพอย่าง John เข้ามาทำให้ Michael ตัดสินใจกับสถานการณ์ในตลาด Notebook ได้ดีขึ้น โดยให้ทีมงานโฟกัสแค่เฉพาะในรุ่น Latitude XP เท่านั้น เพื่อให้ออกสู่ตลาดได้ และทำการขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรให้ผลิตเครื่อง notebook รุ่นพื้นฐานอื่น ๆ ออกไปก่อน เพื่อให้ Dell ตั้งหลักได้ก่อนนั่นเอง

ซึ่งสุดท้าย เมื่อทำการพุ่งความสนใจไปที่โครงการเดียวอย่าง Latitude XP นั้น แทนที่จะทำโครงการอื่นวุ่นวายไปเสียหมด และเมื่อเหล่าพนักงานได้ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว พวกเขาก็สามารถผ่านวิกฤตมาได้ และ Lattitude ก็ประสบความสำเร็จในตลาดในที่สุดนั่นเอง

และต้องบอกว่ากุญแจที่สำคัญอีกประการที่ทำให้ Notebook รุ่น Latitude นั้นโดดเด่นเหนือใครในตลาด คงจะอยู่ที่ แบตเตอรี่ ลิเธียมไออน

ในปี 1993 หลังจากที่ Dell ได้ไปเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นเพียงไม่นาน Michael ก็ได้มีโอกาสเจอกับทีมวิศวกรจาก Sony ที่มานำเสนอเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ ที่ทาง Sony วิจัยและพัฒนาขึ้นมา

ซึ่งขณะนั้น ลูกค้าที่ใช้ Notebook ทุกคนนั้นรู้ดีว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดอันดับหนึ่งคือ เรื่องของ แบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้นาน ๆ ซึ่งเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในยุคนั้นสามารถใช้งานได้ไม่เกิน 2 ชม.เสียเป็นส่วนใหญ่

แต่สิ่งที่วิศวกรจาก Sony ได้แสดงให้ Michael ได้เห็นคือ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ ลิเธียมไออนใหม่ ที่สามารถทำงานได้นานกว่าเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ทั่วไปในยุคนั้น ซึ่งตอนนั้น Sony ได้วางแผนที่จะใช้ แบตเตอรี่ใหม่นี้ใน โทรศัพท์มือถือและกล้องวีดีโอของพวกเขา

และแน่นอนว่า แบตเตอรี่ ลิเธียมไอออนนี้เป็นของใหม่ที่ยังไม่มีใครผลิตได้มาก่อนในยุคนั้น และ Michael มองว่าหาก Sony เลือกผลิตให้ Dell ก็คงไม่มีเวลาไปผลิตให้คนอื่นอย่างแน่นอน และใช้เวลาอย่างน้อยเป็นปีกว่าคู่แข่งจะตามเขาได้ทัน ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของ Michael ในการเลือกใช้ แบตเตอรี่ลิเธียมไออนให้กับ Notebook Dell Latitude ที่ทำให้ Notebook ของ Dell นั้นได้เปรียบคู่แข่งทันทีในเรื่องของระยะเวลาการใช้งานและน้ำหนักที่เบากว่านั่นเอง

ซึ่งในที่สุด เครื่อง Notebook Latitude XP ก็ถูกนำออกสู่ตลาดในเดือนสิงหาคมปี 1994 โดยในงานเปิดตัวนั้น Dell ได้เชิญผู้สื่อข่าว เข้ามาทำข่าวมากมาย ประมาณ 50 คนจากสื่อทั่วประเทศ

Dell Latitude XP Notebook รุ่นตำนานที่ทำให้ Dell แจ้งเกิดในตลาด Notebook ได้สำเร็จ
Dell Latitude XP Notebook รุ่นตำนานที่ทำให้ Dell แจ้งเกิดในตลาด Notebook ได้สำเร็จ

โดย Michael เลือกให้เหล่านักข่าวนั้นมารวมตัวกันที่สนามบิน JFK เพื่อทำการมอบเครื่อง Latitude XP ที่บรรจุโปรแกรมพื้นฐานอย่าง Microsoft Word และพาเหล่านักข่าวเหล่านี้บินตรงสู่เมืองลอสแองเจลลิส โดยให้นักข่าวเล่นเจ้าเครื่อง Notebook ตัวใหม่นี้ระหว่างเดินทาง

ซึ่งแน่นอน ระยะทางจากสนามบิน JFK ไปยังเมืองลอสแองเจลลิส นั้นใช้เวลากว่า 5 ชม. ทำให้ Notebook Latitude XP ได้สร้างสถิติการใช้งานนานที่สุด เหล่านักข่าวจากสื่อต่าง ๆ ต่างทึ่งในความสามารถของแบตเตอรี่รุ่นใหม่นี้

หลังจบงาน สื่อได้ประโคมข่าวเรื่องดังกล่าวไปทั่วประเทศ ทำให้เครื่อง Notebook Latitude กลายเป็นสินค้าขายดีแบบฉุดไม่อยู่ จากเดิมที่ Dell มีรายได้จากตลาด Notebook เพียง 2% แต่หลังจากออกวางจำหน่าย Latitude XP ทำให้รายได้จาก Notebook นั้นสูงขึ้นไปถึง 14% เลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นการแจ้งเกิดครั้งสำคัญใน Notebook ของ Dell นับจากนั้นเป็นต้นมานั่นเอง

ต้องบอกว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของ Michael Dell ที่ได้นำเหล่ามืออาชีพมาแก้ไขปัญหาของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงินจาก Tom Meredith หรือ การพลิกตลาด Notebook จาก John Medica ที่ทำให้ Dell สามารถก้าวข้ามความเป็นบริษัทขนาดเล็ก ขึ้นมาเป็นบริษัทมืออาชีพแบบเต็มตัวได้สำเร็จ แล้วสถานการณ์ของ Dell จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรมาฉุดพวกเขาอยู่ได้อีกต่อไป อย่าพลาดติดตามต่อตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 5 : Future Plans

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.worthpoint.com/worthopedia/vintage-dell-latitude-xp-475c-486dx4-1878927317

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 3 : Billion Dollar Company

ตั้งแต่ Dell Computer ได้ก่อตั้งขึ้นมาจนถึงปี 1990 นั้น บริษัทเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยสูงถึง 97% ต่อปี ซึ่งรวมถึงตัวเลขของผลกำไรสุทธิก็เติบโตได้ในลักษณะเดียวกัน มันคือจุดแข็งของ Dell ในยุคแรก ๆ เป็นความสำเร็จที่ฉายภาพซ้ำ ๆ ในตลอดทุก ๆ ปีในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัท

เหมือนดูจะไม่มีปัญหากับการเติบโต แต่ในที่สุด การเติบโตของ Dell นั้นก็กลายเป็นจุดอ่อนที่เริ่มเห็นแผลครั้งแรกในช่วงปี 1989 เมื่อบริษัทกำลังพบกับปัญหากับการ stock ชิ้นส่วนที่เป็นวัตถุดิบในการประกอบคอมพิวเตอร์มากเกินไป

ปัญหาคือชิ้นส่วนที่ตกรุ่นเร็วเช่น Ram ที่ เมื่อออกรุ่นใหม่ก็ต้องซื้อในราคาแพง แต่เพียงไม่นานมันก็ตกรุ่นอย่างรวดเร็ว และปัญหานี้นี่เองที่ทำให้ ชิ้นส่วนเหล่านี้เหลืออยู่ในสินค้าคงคลังเต็มไปหมด ทำให้ Dell เริ่มสูญเสียเงินจากเรื่องเหล่านี้ไปจำนวนมหาศาล

เมื่อเจอแผลแรกแล้วนั้น ก็ได้เกิดวิกฤติอีกครั้งในโครงการที่ถูกเรียกชื่อว่า Olympic ที่สร้างคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะแบบครอบจักรวาล ตั้งแต่ผู้ใช้ทั่วไปจนถึงระดับการใช้งานในเครือข่ายขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นโครงการใหญ่ โครงการแรกของ Dell เลยก็ว่าได้ แต่กลับกลายเป็นว่า คอมพิวเตอร์ครอบจักรวาลเหล่านี้คือสิ่งสุดท้ายที่ลูกค้าต้องการ ทำให้โครงการนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ปัญหาเรื่องสินค้าคงคลังที่ทำให้ Dell เกิดภาวะถดถอย
ปัญหาเรื่องสินค้าคงคลังที่ทำให้ Dell เกิดภาวะถดถอย

และจากความล้มเหลวเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ Michael ตัดสินใจที่จะสร้างแผนก R&D ขึ้นมาเพื่อค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยีของตัวเองขึ้น มุ่งให้ความสนใจกับเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ และที่สำคัญคือเป็นการช่วยพิจารณาว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำนั่นเอง

ตั้งแต่ช่วงปี 1990-1992 เป็นปีที่ให้บทเรียนครั้งสำคัญแก่ Michael Dell ที่เขาต้องมาแก้ปัญหาทั้งเรื่องสินค้าคงคลัง รวมถึงโครงการอย่าง Olympic ที่ฉุด Dell Computer ให้ดูล้าหลังกว่าคู่แข่งอยู่ประมาณ 3 ปี

ซึ่งหลังจากภาวะถดถอย 3 ปี Dell ก็ตั้งหลักใหม่ได้สำเร็จ และกลับมาเดินหน้าสร้างความสำเร็จได้อีกครั้ง โดยบริษัทได้กลับมาเป็นผู้นำในตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ รวมถึงตลาด Notebook ได้อีกครั้ง

และการตัดสินใจครั้งสำคัญของ Michael Dell ที่นำพาบริษัทกระโจนเข้าสู่ตลาด Server ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ครั้งสำคัญของ Dell และการขยายสาขาไปทั้งในยุโรปตะวันตก และ ยุโรปกลาง รวมถึงแผนการที่จะขยายตลาดไปยังทวีปเอเชียอีกด้วย

ตอนนั้น มันเป็นทางแยกครั้งสำคัญของบริษัทหากต้องการเติบโต ก็ต้องลุยแบบเต็มที่ เพราะการไม่สนใจที่จะเข้าสู่ตลาดโลกนั้น สุดท้ายอาจจะทำให้บริษัทถูกกลืนกินจากบริษัทยักษ์ใหญ่ได้นั่นเอง

แม้ในช่วงดังกล่าว Dell Computer จะมียอดขายถึง 1 พันล้านเหรียญต่อปี แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่เล็กน้อย เมื่อเทียบกับคู่แข่งระดับโลก และแนวโน้มในขณะนั้นดูเหมือนว่าการถูกรวมบริษัทนั้นเป็นไปได้สูงเลยทีเดียว

และแน่นอนว่าด้วยพื้นฐานสำคัญของระบบส่งตรงของ Dell ที่คิดค้นไว้นั้น ทำให้ Dell แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ

และในช่วงที่ Microprocessor รุ่นใหม่อย่าง 486 ได้ออกมาทำการตลาดนั้น Michael Dell ได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทไปยังเทคโนโลยีใหม่นี้ก่อนใคร ทำให้ Dell ได้เปรียบคู่แข่งอยู่มาก ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญเพราะ Microsoft ก็ออก Windows รุ่นใหม่ออกมาพอดี ทำให้คนทั่วไปเริ่มต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงมาใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows ของ Microsoft นั่นเอง

Windows ใหม่ของ Microsoft ที่ทำให้ลูกค้าต้องการคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง
Windows ใหม่ของ Microsoft ที่ทำให้ลูกค้าต้องการคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง

ในปี 1992 หลังผ่าน วิกฤติครั้งสำคัญต้องบอกว่า Dell ได้ปรับกลยุทธ์ทางด้านราคาใหม่ เพื่อเร่งการเติบโตให้เร็วขึ้น ซึ่ง Michael ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น สามารถทำยอดขายเพิ่มจาก 880 ล้านเหรียญไปเป็นมากกว่า 2 พันล้านเหรียญ ด้วยอัตราการเติบโตที่สูงถึง 127%

ซึ่งเมื่อสิ้นสุดปี 1992 อัตราการเติบโตของ Dell ก็เรียกได้ว่าแข็งแกร่งสุด ๆ บริษัทมีรายได้กว่า 2 พันล้านเหรียญ และมันโตเกินกว่าขนาดของบริษัทเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบโทรศัพท์ ระบบการเงิน ระบบ support ต่าง ๆ เรียกได้ว่าตอนนี้ได้ใช้งานจนถึงขีดจำกัดของมันแล้ว

และที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องคน เพราะบริษัทได้เติบโตเกินกว่าที่กำลังคนที่มีอยู่จะรับมือต่อไปไหว และที่สำคัญ ตัว Michael เองก็แทบจะไม่มีประสบการณ์ในการบริหารบริษัทขนาด 2 พันล้านเหรียญมาก่อน แทบจะไม่มีพนักงานคนไหนปรับตัวได้ทันกับการเติบโตในระดับนี้ ถึงเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือแล้ว และจะเป็นใครที่จะมาช่วยเหลือ Michael ในการจัดการบริษัทที่เติบโตรวดเร็วเช่นนี้ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 4 : The Professional

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.networkmiddleeast.com/593261-dell-drama-sees-rise-of-new-alliance

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 1 : Life’s Choices

เรื่องราวการกำเนิดขึ้นของ Dell Computer นั้นก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงวัยเด็กของ Michael Dell (Michael) ผู้ซึ่งแทบจะไม่เฉียดเข้าใกล้ความเป็นนักธุรกิจแม้แต่น้อยนิด เพราะครอบครัวของเขานั้นไม่ได้สนใจที่จะผลักดันให้ Michael มาฝักใฝ่ด้านการทำธุรกิจ

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของ Michael นั้นน่าจะเป็นเรื่องของสะสมง่าย ๆที่เด็ก ๆ มักมีในยุคนั้นอย่าง สแตมป์นั่นเอง ด้วยความที่พ่อของ Michael รวมถึงเพื่อนสนิทของเขานั้น ชอบสะสมสแตมป์ และ ทำให้ตัว Michael เองก็นิยมชมชอบในการสะสมแสตป์ไปด้วย

ต้องบอกว่าในช่วงปี 1973 ช่วงที่ Michael ยังเป็นเด็กนั้น ภาวะเศรษฐกิจในเมืองฮูสตัน เมืองที่เขาเกิด กำลังพุ่งถึงขีดสุด และแน่นอนว่าด้วยเศรษฐกิจที่คึกคักของเมืองก็พลอยให้งานอดิเรกอย่างการสะสมสแตมป์นั้น เป็นตลาดที่คึกคักตามไปด้วย และมูลค่าของมันก็สูงขึ้นทุก ๆ วัน

และ Michael เองก็ได้เริ่มเรียนรู้เรื่องธุรกิจจากการสะสมสแตมป์นี่เอง ด้วยวิธีการเปิดประมูล โดยตัวเขาได้รวมรวมบรรดาเพื่อนบ้านที่สะสมสแตมป์ และทำการลงโฆษณาในวารสารเกี่ยวกับการซื้อขายสแตมป์ ซึ่งสามารถทำเงินให้กับเขาได้สูงถึง 2,000 เหรียญเลยทีเดียว

หลังจากทดลองธุรกิจแรกและประสบความสำเร็จได้ด้วยดี เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาก็ได้หาเงินเสริมในช่วงปิดเทอม โดยสมัครเป็นคนส่งหนังสือพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในเมืองฮูสตัน ซึ่งแน่นอนว่า เขาก็พยายามหารายได้ให้มากที่สุดจากงานเสริมนี้

เขาสำรวจพบว่าคนที่จะสมัครรับหนังสือพิมพ์ใหม่นั้น มักจะเป็นคนที่เพิ่งแต่งงานหรือคนที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ เขาจึงได้ไปหาข้อมูลเหล่านี้ที่อำเภอ (ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเปิดในขณะนั้น) เขาสามารถทำรายได้จากการส่งหนังสือพิมพ์ในช่วงปิดเทอมได้สูงถึง 16,000 เหรียญเลยทีเดียว

Michael นั้นเริ่มสนใจในคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็กเลยก็ว่าได้ เพราะ Michael นั้นถนัดในวิชาคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก และชอบในการคำนวณจึงสงสัยว่าเครื่องคิดเลขที่ใช้คำนวณมันทำอย่างได้อย่างไร

เขาได้เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ครั้งแรกเมื่ออายุได้ 15 ปี และเริ่มรื้อเจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่พ่อเขาซื้อให้ทันที เพราะเขาสงสัยมานานแล้วว่าเจ้าคอมพิวเตอร์มันทำงานได้อย่างไร

และเหมือนกับสแตมป์ ที่เขามองว่าคอมพิวเตอร์นั้นสามารถที่จะสร้างเป็นธุรกิจทำเงินให้กับเขาได้เช่นเดียวกัน ในยุคนั้น IBM เพิ่งเปิดตัวคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) และทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย มีโปรแกรมต่าง ๆ มากกว่า เครื่อง apple ที่พ่อเขาซื้อให้เสียอีก

IBM เปิดตัว IBM PC ปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
IBM เปิดตัว IBM PC ปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ทำให้ Michael พยายามซื้อทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับ PC ไม่ว่าจะเป็น RAM DISK Monitor หรือ Modem ที่เพิ่งมีการเริ่มใช้งานในขณะนั้น เพื่อมาศึกษาว่า PC มันทำงานยังไง เรียกได้ว่าเป็นการ Reverse Engineer นั่นเอง

และแล้วเหมือนโชคชะตาจะเข้าข้าง Michael เพราะในปี 1982 นั้น งาน National Computer Conference ซึ่งเป็นงานประชุมคอมพิวเตอร์ระดับประเทศนั้นมาจัดขึ้นที่เมือง ฮูสตัน ที่เป็นบ้านเกิดของเขานั่นเอง

และเขาได้ไปในงานดังกล่าว เพื่อดูคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ที่กำลังจะวางตลาดที่มาโชว์ในงาน Conference ดังกล่าว และนี่เองที่ทำให้เขาได้เริ่มเห็นช่องว่างทางการตลาดครั้งใหญ่ ที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

ปรกตินั้น เครื่องคอมพิวเตอร์โดยทั่วไปอย่าง IBM PC จะขายอยู่ที่ราคา 3,000 เหรียญ แต่ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ Michael นั้นรู้เป็นอย่างดี เพราะได้แกะเครื่องมาศึกษาชิ้นส่วนแทบจะทั้งหมด ทำให้รู้ว่าต้นทุนที่แท้จริง มันเพียงแค่ 600-700 เหรียญเพียงเท่านั้น

และตลาดค้าปลีกคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้น ก็รับสินค้ามาเป็นเครื่องประกอบเสร็จแล้วอาจจะที่ราคา 2,000 เหรียญ ซึ่งแม้จะสามารถทำกำไรได้ถึง 1,000 เหรียญก็ตามที แต่แทบจะไม่มีบริการหลังการขายอะไรเลยด้วยซ้ำ

และร้านค้าปลีกเหล่านี้ก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วอเมริกา เพราะยุคนั้นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลกำลังบูมมาก ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยความรู้เรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้เขาสามารถที่จะทำคอมพิวเตอร์ได้ในราคาที่ถูกกว่า และสามารถสู้ร้านค้าปลีกเหล่านี้ได้แบบสบาย ๆ

และเมื่อเขาได้เข้าเรียนในปี 1 ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ตอนนั้นในหัวเขามีแต่คิดเรื่องดังกล่าววนเวียนอยู่ในหัวว่าจะทำอย่างไรถึงจะออกไปสร้างธุรกิจคอมพิวเตอร์ได้ เพราะตอนนั้น พ่อและแม่ของ Michael มองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน และ อยากให้เขาเรียนให้จบมหาวิทยาลัยก่อนเป็นอันดับแรก

แต่ในหัวของเขาเองนั้น รับรู้ได้อย่างชัดเจนว่าโอกาสที่เขาค้นพบนั้นมันยิ่งใหญ่ขนาดไหน ตอนนั้น Michael อายุได้ 18 ปี และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลกำลังกลายเป็นที่นิยมแบบสุด ๆ และเขามั่นใจมาก ๆ ว่า สามารถที่จะสร้างคอมพิวเตอร์ที่ดีกว่าของ IBM ได้อย่างแน่นอน และสามารถให้บริการที่ดีกว่า และสามารถเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจด้านนี้ได้

ซึ่งเขาก็ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนสอบปลายภาค เขาได้จดทะเบียนบริษัทใหม่ชื่อ Dell Computer เพื่อดำเนินธุรกิจ ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 1,000 เหรียญ และย้ายจากคอนโดมิเนียมไปอยู่ในสำนักงานขนาด 1,000 ตร.ฟุต Michael ได้จ้างพนักงาน 2-3 คนในช่วงแรกของการก่อตั้ง เพื่อรับคำสั่งซื้อผ่านระบบโทรศัพท์ และอีก 2-3 คนที่ช่วยในการประกอบชิ้นส่วนทางคอมพิวเตอร์

Michael ที่ตัดสินใจครั้งสำคัญเมื่อเห็นโอกาสทางธุรกิจ
Michael ที่ตัดสินใจครั้งสำคัญเมื่อเห็นโอกาสทางธุรกิจ

แน่นอนว่าเขายังไม่ได้ออกจากการเรียนที่มหาวิทยาลัย แต่ใจของเขาตอนนี้อยู่ที่ Dell Computer เพียงอย่างเดียวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การลาออกจากการเรียนเป็นสิ่งที่พ่อและแม่เขาคงรับไม่ได้เลย

แต่ในท้ายที่สุด เมื่อเขาเรียนจบชั้นปีที่ 1 Michael ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากการเรียนทันที และมาเริ่มลุยธุรกิจที่ Dell Computer แบบเต็มตัว แต่ตอนนั้นก็ถือว่ายังโชคดีที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส นั้นยอมให้เขาพักการเรียนชั่วคราวโดยไม่ต้องถูกไล่ออก

ซึ่งทำให้เขาไม่ได้เสียอะไร นอกจากเวลา เพราะถ้า Dell Computer ไปไม่รอดจริง ๆ เขาก็สามารถที่จะกลับไปเรียนได้อีกครั้งนั่นเอง และสามารถทำตามความฝันของพ่อแม่เขาได้อีกครั้งหากพลาดพลั้งในธุรกิจในฝันของเขา

ต้องบอกว่าเรื่องราวของ Michael Dell ในการสร้างธุรกิจคอมพิวเตอร์ขึ้นมานั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ ตอนนี้เขาก็พร้อมที่จะมาลุยกับ Dell Computer แบบเต็มตัวแล้ว เพื่อตามความฝันด้านธุรกิจของเขาให้สำเร็จ ด้วยความเชื่อมั่นแบบเต็มร้อย จะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Michael หลังจากตัดสินใจครั้งสำคัญในการเลือกลาออกจากการเรียนมหาลัย เพื่อมาทำธุรกิจในครั้งนี้ โปรดติตตามตอนต่อไปครับผม

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

–> อ่านตอนที่ 2 : Going Public

References : https://www.inc.com/eric-markowitz/michael-dell-isnt-going-anywhere.html