ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 6 : Direct Sales 1.1

แม้ Dell นั้นจะมีจุดเด่นในเรื่องการขายตรงก็ตาม แต่ต้องบอกว่า ในช่วงปี 1994 นั้น ร้านขายปลีกได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนั้นเหล่าคู่แข่งของ Dell กำลังขยายกิจการอย่างบ้างคลั่งผ่านร้านค้าปลีกอย่าง CompUSA หรือ Circuit City

แม้ Dell นั้นจะมีการขายผ่านร้านค้าปลีกอยู่ด้วยก็ตาม และได้เข้าไปในธุรกิจผ่านค้าปลีกนี้กว่า 4 ปีมาแล้ว Michael กลับคิดต่าง โดยคิดที่จะถอนตัวออกจากธุรกิจค้าปลีกที่กำลังแข่งขันกันอย่างเมามันส์

Mort และ Michael นั้น ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างละเอียด และพบว่าแม้จะประสบความสำเร็จจากการขายผ่านเครือข่ายร้านค้าปลีกเหล่านี้ก็ตามที แต่พบว่ากำไรที่ได้นั้นน้อยมาก ๆ และเชื่อว่าเหล่าคู่แข่งของเขาก็แทบจะกำไรน้อยมากเช่นเดียวกัน

Michael จึงได้ทำการตัดสินใจในสิ่งที่ไม่มีใครกล้าทำมาก่อน นั่นก็คือ ถอนตัวออกจากธุรกิจค้าปลีกทันที ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่ารายได้จากธุรกิจค้าปลีกนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยนิดจากรายได้ทั้งหมดในขณะนั้น จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ Dell มากนักอย่างที่นักวิเคราะห์ได้ออกมาโจมตี Dell ในเรื่องดังกล่าว

Dell เลือกจะถอนตัวออกจากการขายผ่านร้านค้าปลีก
Dell เลือกจะถอนตัวออกจากการขายผ่านร้านค้าปลีก

และประโยชน์ที่สำคัญของการถอนตัวออกจากธุรกิจค้าปลีกนั่นก็คือ มันเป็นการบังคับให้ Dell Computer พุ่งเป้าแบบ 100% ไปที่การขายแบบส่งตรง ทำให้พวกเขาโฟกัสกับตลาดนี้มากขึ้น และเป็นตลาดที่พวกเขานั้นแข็งแกร่งเป็นอย่างมากนั่นเอง

ก้าวสู่การขายแบบส่งตรง Version 1.1

ต้องบอกว่าใน version 1.0 ของการขายแบบส่งตรงนั้น Michael ได้กำจัดคนกลางออกไปเพื่อทำการลดต้นทุน และ การปรับเข้าสู่ version 1.1 จะทำให้สามารถยกระดับ Dell ขึ้นไปอีกขั้นด้วยการลดต้นทุนชิ้นส่วนที่ไม่มีประสิทธิภาพออกไปนั่นเอง

ซึ่งรูปแบบการผลิตการสินค้าแบบเดิมนั้น การผลิตสินค้าโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น CPU , RAM , Harddisk หรือ การ์ดแสดงผล

ซึ่งแน่นอนว่าการผลิตแต่ละรุ่นออกมานั้น ก็มักจะต้องการทำกำไรจากรุ่นนั้น ๆ ให้มากที่สุด เพราะมีการลงทุนมากมายตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด และร้านค้าปลีกก็ต้องพยายามขายรุ่นนั้น ๆ ออกไปให้มากที่สุดแม้จะมีการผลิตรุ่นใหม่มาแล้วก็ตามที

และหากตัวเครื่องรุ่นเก่าเริ่มขายไม่ออก ก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ต้องเก็บสินค้าคงคลังเครื่องรุ่นเหล่านี้ไว้ และต้องนำออกขายแบบลดราคา เพื่อทำการระบายสต๊อกออกไปให้ได้ ซึ่งปรกติในธุรกิจคอมพิวเตอร์นั้น หากร้านค้าปลีกไม่สามารถขายได้ตามราคาที่ตั้งไว้ โรงงานผู้ผลิตก็จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าส่วนต่างเหล่านี้แทน (ชดเชยเงินให้กับร้านค้าปลีก)

แน่นอนว่าบริษัทที่มีการจำหน่ายซับซ้อนและมากมายหลายขั้นตอนนั้น มักจะส่งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล้าสมัยแล้วไปเก็บไว้ที่ร้านค้าปลีก เพื่อทำการโละสต๊อกเครื่องรุ่นเก่าที่ล้าสมัย และเป็นการนำเงินสดเข้าสู่บริษัท ซึ่งระบบดังกล่าวนั้นไม่มีประสิทธิภาพ เป็นการผลักภาระสินค้าให้ผู้จำหน่าย ซึ่งสุดท้ายมันก็จะส่งผลร้ายต่อทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงลูกค้าที่ได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์ตกรุ่นไปใช้นั่นเอง

เนื่องจาก Dell นั้นผลิตตามคำสั่งซื้อจากลูกค้าโดยตรง ทำให้ไม่มีสินค้าที่ประกอบสำเร็จรูปเหลือในแต่ละวัน และเนื่องจากได้มีการปรับระบบให้ผู้ส่งชิ้นส่วนส่งเฉพาะชิ้นส่วนที่ต้องการ จำนวนวัตถุดิบที่ต้องเก็บไว้จึงลดน้อยลงมาก และทำให้ส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้รวดเร็วมากขึ้น

และแน่นอนมันส่งผลต่อลูกค้าทันที ลูกค้ามีความสุขมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของ Dell ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นสินค้าทางด้านเทคโนโลยีที่มีการตกรุ่นอย่างรวดเร็ว การปรับรูปแบบครั้งนี้ ทำให้ Dell สามารถส่งเครื่องที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดให้ลูกค้าได้เร็วกว่าคู่แข่งอีกด้วย

Direct Sales 1.1 ที่ปรับเรื่องการจัดการชิ้นส่วนจากเหล่าผู้ผลิต
Direct Sales 1.1 ที่ปรับเรื่องการจัดการชิ้นส่วนจากเหล่าผู้ผลิต

และมันส่งผลสำคัญถึงสินค้าในคงคลังที่ลดน้อยลง ทำให้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดการสินค้าคงคลังลดลง ซึ่งแน่นอนว่าในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์นั้น ชิ้นส่วนต่าง ๆ มีราคาลดลงอย่างรวดเร็วตามเวลาที่ผ่านไป

และการปรับครั้งนี้จะทำให้ผู้ส่งชิ้นส่วนต่าง ๆ สามาาถนำเสนอชิปที่ทำงานได้รวดเร็วกว่า ฮาร์ดดิสก์ขนาดใหญ่กว่า หรือโมเด็มที่ทำงานได้เร็วกว่าอยู่ตลอดเวลา เมื่อเทียบกับคู่แข่งนั่นเอง

ตัวเลขที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ในปี 1993 Dell มียอดขาย 2.9 พันล้านเหรียญ และมีสินค้าคงคลังเพื่อรอขายจำนวน 220 ล้านเหรียญ และหลังจากนั้น 4 ปีในปี 1997 หลังจากมีการปรับใช้การขายแบบส่งตรง version 1.1 นั้น ทำให้ Dell สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 12.3 พันล้านเหรียญ และมีสินค้าคงคลังเพื่อรอขายจำนวน 223 ล้านเหรียญ และมีของรอในสินค้าคงคลังน้อยกว่า 8 วัน ถือเป็นก้าวครั้งสำคัญมาก ๆ ของบริษัทในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินในการขายแบบส่งตรงครั้งนี้

ต้องเรียกได้ว่าการปฏิวัติการขายตรงใน version 1.1 ของ Dell ในครั้งนี้ ทำให้สามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทได้อย่างชัดเจนมาก ๆ และ จากยอดขายระดับพันล้านเหรียญ ก็สามารถพุ่งขึ้นไปสูงถึงระดับหมื่นล้านเหรียญได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก ๆ ที่ Dell สามารถก้าวมาได้ถึงจุดได้อย่างรวดเร็ว แต่มันก็ยังมีอีกหนึ่งตลาดที่สำคัญ ที่จะทำให้ Dell กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่มาต่อกรกับ ยักษ์ใหญ่ในวงการตัวจริงอย่าง IBM หรือ HP ได้ แล้วตลาดนั้นคืออะไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 7 : Winners Take All

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.emprende.cl/michael-dell-la-mezcla-perfecta-entre-pasion-estrategia-y-juventud/

ประวัติ Jeff Bezos แห่ง Amazon ตอนที่ 7 : Dotcom Bubble

อินเตอร์เน็ต มันเป็นเป็นโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจริง ๆ ในปี 2000 มันเริ่มจากวิกฤติ Y2K ซึ่งคนทั่วโลกต่างกังวลกันขณะนั้น มีการกลัวว่าระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลกจะล่มสลาย ผู้คนคิดแม้กระทั่งมันจะส่งผลให้เครื่องบินที่ถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์นั้นร่วงลงมาจากท้องฟ้าเลยด้วยซ้ำ มันเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนทั่วโลกต่าง Panic กับปรากฏการณ์ Y2K

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ร่วงลงมาอย่างชัดเจนคือ ยอดขายของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรวมถึงสินค้าเทคโนโลยีอื่น ๆ ซึ่งมันเริ่มมีทิศทางดิ่งลงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปี 2000 ทันที และร่วงลงอย่างรวดเร็ว ภายในไม่กี่เดือนหลังจากเข้ายุค 2000 ยอดขายอันย่ำแย่ก็เริ่มปรากฏออกมาในรายงานผลประกอบการของบริษัททางด้านเทคโนโลยี จากนั้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีก็ร่วงตามไปทันที ฟองสบู่ดอทคอม ก็แตกดังโพละ และมันส่งผลกระทบต่อ amazon.com ทันที

แน่นอนว่าการล้มครืนลงครั้งนี้มันส่งผลชัดเจนต่อราคาหุ้นของ amazon ทันที แม้มันจะไม่ได้ทำให้รายได้ของ amazon ลดลงมากนัก เพราะส่วนใหญ่รายได้ของ amazon มาจากสินค้าที่ไม่ได้เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพราะตอนนั้น amazon ได้ขยายหมวดหมู่สินค้าไปครอบคลุมสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น CD เพลง แฟนชั่น เครืองมือช่าง ฯลฯ ซึ่งดูแล้วมันไม่น่าจะส่งผลเสียต่อ amazon มากเท่ากับบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ 

แต่ปัญหาของ amazon มันไม่ใช่เรื่องของรายได้ ในเดือนธันวาคม ปี 1999 นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าตัวเลขขาดทุนของ amazon จะอยู่ที่ 350 ล้านเหรียญ แต่ตัวเลขจริงกลับสูงถึง 720 ล้านเหรียญและปัญหาก็เริ่มเลวร้ายขึ้นไปอีกในปี 2000 amazon ได้เผยตัวเลขขาดทุนซึ่งสูงถึง 1,400 ล้านเหรียญ

เกิดฟองสบู่ดอทคอม หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ดิ่งลงเหว
เกิดฟองสบู่ดอทคอม หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ดิ่งลงเหว

แม้กลยุทธ์การเติบโตอย่างรวดเร็วของเจฟฟ์ เบซอส นั้นมันช่วยให้บริษัทอยู่ในสถานะที่ไม่มีใครสามารถไล่ทันได้ แต่บริษัทมันก็เริ่มเติบโตเร็วเกินไปจนไม่สามารถควบคุมได้อยู่ การบริหารงานเริ่มไร้ประสิทธิภาพ ด้วยความที่จำนวนพนักงานก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การบริหารจัดการสินค้าคงคลังก็ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้สินค้าในคลังเริ่มล้นทะลัก ซึ่งเป็นภาระทางการเงินที่มหาศาลต่อ amazon

และมันก็เริ่มส่งสัญญาณที่ไม่ดีชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ กับ amazon ในเดือนมกราคมปี 2000 amazon ได้มีการ lay-off พนักงานกว่า 150 คน เจฟฟ์ ได้เริ่มว่าจ้างผู้บริหารชุดใหม่ที่รู้วิธีบริหารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

แต่ดูเหมือนสถานการณ์มันยังไม่ดีขึ้น เหมือน ๆ กับบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ในขณะนั้นที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ราคาหุ้นของ amazon นับจากช่วงกลางเดือนธันวาคมปี 1999 ถึงสิ้นปี 2000 หุ้นของ amazon สูญเสียมูลค่าไป 90% จนเหลือราคาแค่ 15 เหรียญต่อหุ้นเพียงเท่านั้น

amazon เป็นบริษัทที่ผลาญเงินมากที่สุดในโลกออนไลน์ ตลอด 5 ปีนับแต่ก่อตั้งในปี 1995 เจฟฟ์ เบซอส กู้ยืมเงินไปกว่า 2,000 ล้านเหรียญ และสูญเสียเงินตรงนี้ไปกับการลงทุนในด้านต่าง ๆ ถึงกว่า 1,740 ล้านเหรียญ โดยที่บริษัทแทบจะไม่สามารถทำกำไรได้เลย สถานะของ เจฟฟ์ เบซอส ในสายตาสื่อ รวมถึงนักวิเคราะห์ เปลี่ยนจาก ดาวรุ่งกลายเป็นดาวร่วงทันที เขาจึงต้องตัดสินใจเปลี่ยนกลยุทธ์การขับเคลื่อนบริษัทจาก เติบโตให้เร็วที่สุด เปลี่ยนเป็นมาเริ่มหาวิธีทำกำไรจาก amazon เสียที

amazon เริ่ม lay-off พนักงานเพื่อลดต้นทุน
amazon เริ่ม lay-off พนักงานเพื่อลดต้นทุน

เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงการบริหารงานทันที ทำสิ่งที่ผู้ถือหุ้นรวมถึงนักลงทุนต้องการอย่าง การลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานและลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เขาเริ่มบริหาร amazon ให้เหมือนกับธุรกิจค้าปลีกมากกว่าบริษัทดอทคอม 

เจฟฟ์ เริ่มพุ่งเป้าไปที่ผลประกอบการเป็นหลัก ไม่ผลาญเงินแบบไม่จำเป็นเหมือนก่อน เขาสั่งปิดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรทันที กำจัดการลงทุนแย่ ๆ ลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด เริ่มจัดการกับงบประมาณให้สอดคล้องกับความเป็นจริงยิ่งขึ้น ปรับทัศนคติของเหล่าผู้บริหาร amazon เสียใหม่ ผู้บริหารแต่ละรายต้องยื่นของงบประมาณพร้อมกับเป้าหมายในการสร้างรายได้ และเวลาที่ใช้ในการบรรลุเป้าหมาย

แต่ไม่ใช่การตัดจะตัดทุกสิ่ง แต่เป็นการทำงานที่โฟกัสมากขึ้นไม่ซื้อกิจการบ้าคลั่งเหมือนเก่า เขาขยายกิจการของ amazon ไปยังสินค้าชนิดใหม่ ๆ ที่น่าจะสร้างกำไรได้ ในปี 2000 ได้เริ่มรุกเข้าสู่ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในสวน ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม รวมถึงสินค้าเครื่องครัว นอกจากนี้ยังลงทุนกับ เว๊บไซต์ living.com  , audible.com และบริษัทขายรถยนต์ออลไน์อย่าง greenlight.com มันแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของ เจฟฟ์ เบซอส ที่ไม่ได้ลดลงไปเลย

และในที่สุด ในเดือนตุลาคมปี 2000 สถานการณ์ของ amazon ก็เริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เริ่มมีตัวเลขต่าง ๆ ดีขึ้น ตัวเลขการขาดทุนจากการดำเนินงานเหลือ 11% ของรายได้ ลดลงครึ่งหนึ่งจากปีก่อนหน้า ขณะที่อัตรกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 26% เทียบกับ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมันทำให้มูลค่าหุ้นของ amazon ดีตตัวกลับมาประมาณ 30% ทันที

แต่ปัญหาของ amazon ยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น บริษัทยังต้องดิ้นรนต่อสู้กับตลาดที่ปั่นป่วนตลอดปี 2001 ส่งผลให้หุ้นของบริษัทร่วงลงอีกครั้ง ในช่วงต้นปี 2001 เจฟฟ์ เบซอส ตัดสินใจปลดพนักงานอีก 1,300 คน หรือ เป็นจำนวนกว่า 15% ของพนักงานทั้งหมดที่เขามี และทำการปิดศูนย์บริการลูกค้าในเมืองซีแอตเทิลและคลังสินค้าในรัฐจอร์เจียด้วย

และในระหว่างนี้ เจฟฟ์ ก็เริ่มหาช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับบริษัท นั่นคือการสร้างและบริหารเว๊บไซต์ให้บริษัทอื่นอย่างเช่น Toy R US , Target หรือ Circuit City หรือแม้แต่อดีตคู่แข่งร้านค้าปลีกหนังสืออย่าง Borders

หาช่องทางทำเงินใหม่เช่นรับบริหารเว๊บไซต์ให้เครือของเล่นยักษ์ใหญ่อย่าง Toy R US
หาช่องทางทำเงินใหม่เช่นรับบริหารเว๊บไซต์ให้เครือของเล่นยักษ์ใหญ่อย่าง Toy R US

เจฟฟ์ ยังใช้นโยบายรัดเข็มขัดอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2001 โดยสามารถที่จะลดต้นทุนการดำเนินงานลงมาได้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ส่งผลให้สามารถที่จะลดราคาสินค้า ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ เพลง และภาพยนต์ ลงไปได้อีก โดยหวังว่าจะทำให้รายได้ของ amazon มากขึ้น เมื่อลูกค้าซื้อสินค้ามากขึ้น

และแล้วในที่สุด ความพยายามของ เจฟฟ์ ทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นผล ในเดือนมกราคม ปี 2002 เขาทำให้บริษัทมีผลกำไรสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายได้ครั้งแรกเป็นประวัติศาสตร์ของบริษัท ในที่สุด amazon ก็สามารถทำกำไรได้เหมือนธุรกิจปรกติเสียที แม้มันจะไม่ใช่ตัวเลขที่สูงนักเพียงแค่ 5 ล้านเหรียญ แต่มันคือจุดพลิกผันที่สำคัญที่ช่วยให้ amazon กลายเป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรได้ในอนาคต ไม่ใช่บริษัทจอมผลาญเงินเหมือนก่อนหน้านี้ และเมื่อเจฟฟ์ บริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มันก็ยิ่งตอกย้ำให้ภาพของ amazon กลายเป็นศูนย์รวมสินค้าออนไลน์ที่ทุกคนนึกถึงได้

จะเห็นได้ว่า สุดท้ายแล้วนั้น เจฟฟ์ เบซอส ก็สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเขาสามารถที่จะบริหารธุรกิจให้ทำกำไรได้ ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการที่เจฟฟ์ ได้นำพา amazon พ้นวิกฤติครั้งสำคัญอย่าง ฟองสบู่ดอทคอมได้สำเร็จ ไม่ล้มหายตายจากเหมือนธุรกิจเทคโนโลยีอื่นๆ  ทีไม่รอดพ้นเงื้อมมือของฟองสบู่ดอทคอม ถึงตอนนี้ amazon ก็พร้อมที่จะเติบโตไปอีกขั้นแล้ว และที่สำคัญสินค้าใหม่ที่สำคัญที่สุดของเจฟฟ์ เบซอส ยังไม่ถือกำเนิดขึ้น มันคือเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อ amazon โดยเฉพาะ ชื่อของมันคือ kindle แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับ เจฟฟ์ และ amazon ต่อไป โปรดติดตามได้ในตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 8 : Kindle

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : My name is Jeff Bezos *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ