iPhone กับการทำลายล้างมาเฟียผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการเครือข่ายมือถือ

ถามว่าก่อนยุคที่ iPhone จะได้ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2007 นั้นสิ่งใดเป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้กับวงการมือถือมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น เหล่า มาเฟีย แห่งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้งหลายที่มีกระจายอยู่ทั่วโลก ที่เป็นตัวคั่นกลางระหว่างเหล่าผู้ผลิตบริษัทมือถือกับผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าโดยตรง

ซึ่งแม้ว่าในช่วงก่อนปี 2007 เทคโนโลยีต่าง ๆ มันจะได้รับการพัฒนาไปไกลมากแล้วก็ตาม แต่เราจะเห็นได้ว่า ธุรกิจมือถือยังเป็นอะไรที่ล้าหลังเป็นอย่างมากในหลาย ๆ เรื่องแม้กระทั่งการเล่นเว๊บไซต์ต่าง ๆ ก็เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานของผู้ใช้งานทั่วโลก ที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทั่วโลกผ่านทางอุปกรณ์ที่พกติดตัวเราอยู่ตลอดเวลาอย่างมือถือนั่นเอง

ในขณะนั้น ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกต่างคุ้นเคยกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ Broadband กันแล้ว แต่ค่าบริการข้อมูลแบบ 3G ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเหมือนได้ย้อนตัวเองกลับไปสู่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยุคโมเด็มผ่านสายโทรศัพท์

แน่นอนว่าเหล่ามาเฟียเครือข่ายเหล่านี้ คอยจ้องแต่จะคิดค่าบริการต่าง ๆ แทบทุกอย่าง มีการคิดค่าบริการการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นนาทีที่ใช้งาน แต่ผู้บริโภคกลับได้รับการบริการจากอินเทอร์เน็ตที่ห่วยแตกกว่าการใช้โทรศัพท์บ้านเสียอีก

เพราะเว๊บต่าง ๆ ที่โหลดมานั้นเป็นเว๊บที่ไร้คุณภาพเนื่องจากปริมาณข้อมูลที่มีจำนวนมากทำให้เหล่าผู้ให้บริการไม่อยากเสีย bandwidth ไปกับบริการเหล่านี้ และทำการชาร์จเงินกับผู้บริโภคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การเล่นเว๊บผ่านมือถือ ที่ไร้ซึ่งคุณภาพ
การเล่นเว๊บผ่านมือถือ ที่ไร้ซึ่งคุณภาพ

แต่ iPhone ของ Apple ได้มาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง Apple ต้องการให้ iPhone นั้นใช้ปริมาณข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด และทำการเจรจากับ Cingular ที่เป็นเครือข่ายโทรศัพท์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นหลายครั้ง

สุดท้ายได้มีการประกาศรูปแบบการจ่ายค่าบริการมือถือแบบให้ปริมาณข้อมูลไม่จำกัด ซึ่งสูงกว่าแบบโทรศัพท์โทรเข้าออกเพียงอย่างเดียวราว ๆ 20 ดอลลาร์ต่อเดือน โดย Cingular (ตอนหลังกลายมาเป็น AT&T) จะได้รับเงินบางส่วนจากการดาวน์โหลดทาง iTunes ขณะที่ทาง Apple นั้นได้ส่วนแบ่งจากค่าบริการรายเดือนของ iPhone แต่ละเครื่องที่เชื่อมต่อกับ Cingular

และนี่เองได้เป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญของเหล่ามาเฟียเครือข่ายมือถือทั้งหลายทั่วโลก โดย Apple ได้เปลี่ยนบทบาทของเหล่าเครือข่ายโทรศัพท์ ให้เป็นเพียงแค่ทางผ่านของโลกโทรศัพท์มือถือยุคใหม่หลังการเกิดขึ้นของ iPhone ให้พวกเขาเป็นเพียงแค่ท่อส่งข้อมูลระหว่างมือถือของลูกค้ากับโลกอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

ทำให้เหล่าเครือข่ายมือถือไม่สามารถที่จะไปชาร์จค่าบริการใด ๆ กับลูกค้าได้อีก เรียกได้ว่า เป็นครั้งแรกที่เหล่ามาเฟียมือถือต้องมาง้อ บริษัทมือถืออย่าง Apple ซึ่งไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนเลยในธุรกิจมือถือ

iPhone ที่มาพร้อมแผนที่ของ Google และ การท่องเว๊บที่แสนง่ายดาย ได้กลายเป็นหายนะของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่ตอนแรกได้วางแผนที่จะคิดค่าบริการการเข้าถึงข้อมูลแผนที่ผ่านเครือข่ายมือถือ

ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อแผนธุรกิจของ Nokia ที่ตอนนั้นเพิ่งซื้อ Navteq บริษัทแผนที่ยักษ์ใหญ่มาในราคาสูงถึง 8.1 พันล้านดอลลาร์  โดยหวังจะได้รายรับกลับคืนมาด้วยการขายบริการแผนที่ให้บรรดาค่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลกนั่นเอง

Navteq ที่ Nokia หวังที่จะมาสร้างรายได้กับกับบริษํท
Navteq ที่ Nokia หวังที่จะมาสร้างรายได้กับกับบริษํท

Apple ได้พยายามอย่างหนักเพื่อเปลี่ยนอุตสาหกรรมมือถือไปแนวทางที่ตัวเองต้องการ เป็นครั้งแรกที่เหล่ามาเฟีย เครือข่ายโทรศัพท์มือถือเริ่มหวาดกลัวกับการเข้ามาของ Apple ซึ่งพวกเขาประเมิน Apple ไว้ต่ำมาก ๆ ในตอนแรก

Apple กลายเป็นราชาแห่งวงการมือถือ ทุกเครือข่ายต้องเข้ามานำเสนอสิ่งที่เย้ายวนใจให้ Apple เพื่อร่วมธุรกิจกัน Apple ทำให้ทุกอย่างนั้นกลับตาลปัตรไปหมด เพราะตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2007 นั้น ไม่มีผู้ผลิตมือถือรายใดกล้ากำหนดเงื่อนไขกับบรรดาค่ายมือถือต่าง ๆ 

Nokia เป็นยักษ์ใหญ่มือถือเจ้าเดียวที่เคยลองทำแบบ Apple มาก่อน แล้วก็ได้บทเรียนครั้งสำคัญจากการนำโทรศัพท์ที่สามารถเล่นเพลงได้เข้าไปสู่ตลาดอเมริกา โดย Nokia ได้เคยพยายามรวมรวมข้อมูลลูกค้าที่เป็นเจ้าของโทรศัพท์เข้ามาในระบบของตัวเอง โดยไม่ผ่านค่ายโทรศัพท์มือถือ

แต่เหล่ามาเฟีย เครือข่ายมือถือ ยื่นคำขาดให้ Nokia หยุดการกระทำนั้นทันที โดย Nokia ต้องยอมทำตามแต่โดยดี เพราะไม่งั้นจะถูกแบนโดยเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของมาเฟียเครือข่ายมือถือเหล่านี้นั่นเอง

จะเห็นได้ว่า หลังการเกิดขึ้นของ iPhone นั้นไม่เพียงแค่ปฏิวัติแค่วงการผู้ผลิตมือถือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่ได้สร้างมือถือที่มีความแตกต่างออกมาเท่านั้น แต่ได้กำจัดเหล่ามาเฟียเครือข่ายมือถือ ที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนานวัตกรรมให้กับวงการมือถือโลกมาอย่างยาวนานได้อย่างราบคาบ

มันได้ทำให้เปลี่ยน ecosystem ใหม่ทั้งหมดของ Supply Chain ของธุรกิจมือถือ ให้ทุกส่วนนั้น ทำงานที่ควรจะทำ ไม่มายุ่งย่ามกับส่วนของธุรกิจอื่น ๆ อย่างที่เหล่าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเคยทำมาในอดีต และที่สำคัญมันได้ทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากปลดแอกจากเหล่ามาเฟียเครือข่ายมือถือเหล่านี้ได้สำเร็จนั่นเองครับ

Smartphone War ตอนที่ 3 : iTunes Phone

แม้จะสร้าง iPod ให้กลายเป็นสินค้ายอดฮิต ยอดขายถล่มทลาย กลายเป็นปรากฏการณ์ไปทั่วโลก แต่ในปี 2004 หากพูดถึง Apple กับมือถือนั้น คงไม่มีใครคาดคิดว่า Apple บริษัทที่เริ่มต้นด้วยการขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้น จะพลิกธุรกิจมาลุยในตลาดมือถือได้อย่างแน่นอน

สิ่งแรกคือเรื่องของ Knowhow ต่าง ๆ ในเรื่องมือถือ นั้น ต้องเรียกได้ว่า Apple แทบจะไม่เคยย่างกายเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้เลยด้วยซ้ำ และการครองตลาดอย่างเบ็ดเสร็จของ Nokia ที่มีทีมงานที่พร้อมทุกอย่างทั้งเรื่อง Hardware , Software รวมถึง Knowledge ด้านโทรคมนาคม คงเป็นเรื่องยากที่ใครจะสามารถล้ม Nokia ลงได้ในขณะนั้น

แนวคิดแรกของ Apple กับมือถือนั้น เป็นเพียงการร่วมเป็น Partner กับ โมโตโรลล่า เพื่อผลิตมือถือ เพื่อนำ iTunes เข้าไปลงเป็นส่วนของ Software จัดการเพลงเพียงเท่านั้น

ตลาดโทรศัพท์มือถือนั้น เป็นตลาดที่ใหญ่โตมหาศาล เมื่อเทียบกับตลาดเครื่องเล่นเพลงแบบดิจิตอลที่ iPod สามารถเอาชนะได้สำเร็จนั้น เรียกได้เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของตลาด Consumer Product เพียงเท่านั้น

ทั้ง Apple และ Motorola จึงได้ร่วมกันพัฒนา ROKR มือถือรุ่นใหม่ของ Motorola และยังได้ร่วมมือกับ  Cingular ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นค่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของอเมริกา และหวังจะลองชิมลาง เขาสู่ตลาดที่ใหญ่โตมหาศาลอย่างตลาดโทรศัพท์มือถือ

Apple ลองชิมลางในตลาดมือถือด้วย ROKR phone
Apple ลองชิมลางในตลาดมือถือด้วย ROKR phone

แต่กระบวนการสร้าง มือถือ ROKR นั้น เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ด้วยการที่ต้องมีการร่วมมือกันของหลาย ๆ บริษัทที่เกี่ยวข้อง ระบบบริหารที่ล้าหลังของ Motorola ก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญในการกีดขวางกระบวนการออกแบบ

ซึ่งแน่นอนว่าวัฒนธรรมองค์กร มันไม่เหมือนกับ Apple ที่เน้นที่ประสบการณ์ของผู้ใช้งานเป็นหลัก สุดท้าย ROKR มันได้กลายเป็นมือถือที่ห่วยแตก เหมือนสินค้าด้อยคุณภาพ ไม่ต่างจาก iPod ห่วย ๆ ที่มีฟังก์ชั่นในการโทรศัพท์ได้นั่นเอง

รวมถึงรูปแบบการโอนเพลงเข้าโทรศัพท์ที่ใช้สาย USB กับคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมต่อกับ iTunes ซึ่งแน่นอนว่าจ๊อบส์ อยากให้ Ecosystem ของ Apple นั้นคงไว้เหมือนกับที่ทำสำเร็จกับ iPod

แต่มันเป็นที่ถูกใจของบริษัทเครือข่ายมือถืออย่าง Cingular ที่ต้องการขายเพลงผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของพวกเขาเท่านั้น และมันได้ทำให้เรื่อง Promotion ที่ปรกติต้องทำกับเครือข่ายนั้นถูกตัดออกทันที ทำให้ผู้ซื้อที่ต้องการใช้ ROKR นั้นต้องจ่ายราคาเต็มของมือถือที่ 250 ดอลลาร์ แถมยังต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนอีกด้วย

ซึ่งแน่นอนว่า ROKR นั้นมันคือหายนะอย่างสิ้นเชิง สำหรับ Apple ในการที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดโทรศัพท์มือถือ ทำให้ จ๊อบส์นั้นหงุดหงิดหัวเสียกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่ ต้องการจะตัดคนกลางทั้งหลายออกจากวงจรนี้

Apple นั้นต้องการควบคุมทุกอย่างแบบเบ็ดเสร็จ แบบที่พวกเขาทำได้กับ iPod ทั้ง Hardware , Software หรือแม้กระทั่งเครือข่ายโทรศัพท์ก็ตาม และสามารถที่จะนำผลิตภัณฑ์ของ Apple ส่งไปถึงมือของลูกค้าได้โดยตรงนั่นเอง

และไม่ใช่ว่าในช่วงนั้นจะไม่มีคู่แข่งเลยเสียทีเดียวสำหรับ บริษัทมือถือที่ต้องการเข้ามาลุยในตลาดเพลง แน่นอนว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Nokia ก็ได้ออก Nokia N91 ที่สามารถเก็บเพลงได้กว่า 1,000 เพลง คล้าย ๆ iPod Mini แต่สุดท้าย Nokia ก็ไม่สามารถที่จะผลักดันตัวเองให้เข้าไปสู่ธุรกิจเพลงอย่างที่คาดหวังได้เช่นกัน เพราะ เหล่าค่ายโทรศัพท์มือถือในสหรัฐอเมริการไม่ยอมนั่นเอง

N91 ที่  Nokia หวังมาเจาะตลาดธุรกิจเพลงเหมือนกัน
N91 ที่ Nokia หวังมาเจาะตลาดธุรกิจเพลงเหมือนกัน

ซึ่งในตอนนี้เราจะเห็นได้ถึีงบทสรุปของการลุยเข้าไปสู่ตลาดมือถือของ Apple ครั้งแรกนั้น ต้องจบลงด้วยความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะ ROKR ไม่ได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีเหมือนที่ลูกค้าคาดหวังจาก Apple และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความตกต่ำของ Motorola ในคราเดียวกัน

แต่อย่างน้อย ROKR ได้กลายเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าของทีมงาน Apple ทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะตัวจ๊อบส์เอง และมันได้ทำให้จ๊อบส์นั้นค้นพบว่า Apple ควรทำอะไรที่แท้จริงในตลาดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งแน่นอนว่าจ๊อบส์ จะไม่ยอมให้ใครมาครอบงำการสร้างผลิตภัณฑ์ของ Apple อีกต่อไปมันได้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ว่าหาก Apple ไม่สามารถ Control ทุกอย่างได้เหมือนที่พวกเขาเคยทำ หายนะก็มาเยือนอย่างที่ประสบพบเจอกับมือถือ ROKR นั่นเอง

–> อ่านตอนที่ 4 : Turning Point

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : Phone & Microsoft *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***