American Factory กับเหตุผลที่จีนกลายเป็นโรงงานโลก

เนื่องด้วยโอกาสที่ผมได้ดู Documentary ใหม่ของ Netflix ที่มีชื่อว่า American Factory ทำให้การมองประเทศจีนของผมเริ่มเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในเรื่องของการเป็นโรงงานโลกอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนั้น เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ ทั้งจากอเมริกา ยุโรป ญีปุ่น หรือ เกาหลีเองนั้น ได้เข้าไปลงทุนมากมายในประเทศจีน เพื่อให้ช่วยผลิตสินค้าจำนวนมาก  ๆ ในราคาต้นทุนที่ถูกมาก ๆ เช่นกัน 

แม้กระทั่งยักษ์ใหญ่อย่าง Apple เอง สินค้าที่มีคุณภาพหลากหลายจาก Apple นั้นก็ถูกผลิตโดยโรงงานจากจีนแทบจะทั้งสิ้น

ซึ่งในสารคดีชุดนี้นั้น เราได้เห็นมุมมองที่แตกต่างออกไป ในการที่บริษัทจากจีนได้เข้าไปลงทุนเพื่อสร้างโรงการในการผลิตในประเทศอเมริกาแทน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

American Factory เป็นภาพยนตร์สารคดีที่กำกับโดย Steven Bognar และ Julia Reichert ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวของโรงงานของ บริษัท Fuyao ในเมืองเดย์ตัน โอไฮโอซึ่งได้นำพื้นที่ในอดีตอันยิ่งใหญ่ของโรงงานเจเนอรัลมอเตอร์ที่ได้ปิดทำการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น มาสร้างเป็นโรงงานใหม่ของ Fuyao บริษัทผลิตกระจกรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก 

ซึ่งต้องบอกได้ว่าการที่จีนเข้ามาสร้างโรงงานในสหรัฐ และ จ้างแรงงานในสหรัฐอเมริกามาผลิตกระจกรถยนต์นั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะอย่างที่เราทราบ ๆ กัน ว่าจีนแทบจะกลายเป็นโรงงานของโลกไปแล้วในขณะนี้ สามารถผลิตได้ตั้งแต่สากเบือยันเรือรบ

ซึ่งแนวคิดที่ได้จากสารคดีชุดนี้นั้น ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในเรื่องของความพ่ายแพ้ของคนอเมริกา ที่ไม่สามารถที่จะไปผลิตสู้โรงงานจากจีนได้เลย เพราะในสารคดีชุดนี้มันได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างหลาย ๆ อย่างระหว่างแรงงานชาวอเมริกาและจีน

อย่างแรกคงเป็นเรื่องของค่าแรงที่ อเมริกาสูงกว่าจีนมาก ๆ และทำงานน้อยกว่ามาก ๆ เพราะอเมริกา ในรอบ 24 ชม.นั้น ต้องทำถึง 3 กะ กะละประมาณ 8 ชม. แต่ที่จีนสามารถทำได้กะละ 12 ชม.เพียง 2 กะ เท่านั้น

แถมค่าแรงยังถูกกว่ามาก ๆ และไม่ใช่เพียงเรื่องของค่าแรงเท่านั้น การผลิตที่ประสิทธิภาพกว่าอย่างเห็นได้ชัด กำลังการผลิตถ้าเทียบต่อจำนวนแรงงานนั้น โรงงานจากฝั่งจีนก็กินขาด เพราะมีการเปรียบเทียบให้แรงงานของโรงงานในอเมริกาไปเยี่ยมชม ศูนย์การผลิตใหญ่ที่ประเทศจีน

มันเป็นความแตกต่างทุก ๆ อย่าง ทั้งประสิทธิภาพ ความคล่องตัว ระเบียบวินัย แทบจะทุก ๆเรื่องนั้น ความสามารถของแรงงานจีนนั้นกินขาดอย่างเห็นได้ชัด แถมยังไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องสหภาพแรงงาน ที่ทางฝั่งอเมริกานั้นพยายามเรียกร้องอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

แรงงานคุณภาพสูงในราคาที่ต่ำกว่ามาก เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา
แรงงานคุณภาพสูงในราคาที่ต่ำกว่ามาก เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา

ผมเป็นคนหนึ่งที่เคยคิดว่า จีนนั้น มีความได้เปรียบที่ค่าแรงที่ถูกเพียงเท่านั้น เพราะพื้นที่ห่างไกลชนบทของจีนนั้น ถือว่ายังเป็นส่วนที่ยังไม่พัฒนา และ แรงงานก็มีราคาถูกเป็นอย่างมาก แต่ อย่าลืมว่าอย่างในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค่าแรงก็ไม่ได้สูงมากนัก แต่ทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ต้องเลือกจีนเป็นหลัก

มันคือเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานเสียมากกว่า ที่เห็นได้ชัดเจนว่า จีนนั้นสามารถสร้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพ และ มีระเบียบวินัยสูง แถมยังมีความอดทนได้อีกต่างหาก ซึ่งเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ  ทั่วโลกนั้น จุดนี้ทำให้จีนมีความได้เปรียบอย่างมากในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อส่งไปขายยังทั่วโลกได้

ส่วนของแรงงานนั้นก็กินขาด แล้วแรงงานระดับสูงล่ะ?  แน่นอนว่า เหล่าอัจฉริยะ Genius ทั้งหลาย แม้จะอาศัยอยู่ในอเมริกา ทำงานในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก ก็มีจำนวนมากที่เป็นคนจีน ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตนั้น ความสามารถเหล่านี้ไม่ใช่แค่เพียงแค่เรื่องแรงงานราคาถูก แต่แรงงานคุณภาพอย่างพวกอัจฉริยะทางคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย จีนก็ไม่น้อยหน้าใครในโลกนี้ ซึ่งผมมองว่าท้ายที่สุดไม่ไกลเกินรอ จีนนั้นจะกลายเป็นชาติมหาอำนาจยักษ์ใหญ่แทนสหรัฐอเมริกาได้อย่างแน่นอนครับผม

References : Netflix.com