เมื่อบริการออนไลน์จากจีน ไม่สามารถที่จะก้าวผ่านกำแพงเมืองจีนได้เสียที

ยักษ์ใหญ่ทางด้านบริการออนไลน์ของประเทศจีน หรือ BAT ที่ประกอบไปด้วย Baidu , Alibaba และ Tencent นั้น กำลังพยายามที่จะก้าวข้ามผ่านการเป็นเพียงแค่บริการในประเทศจีนเท่านั้น แต่ดูเหมือนมันเป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกินสำหรับพวกเขา

เรียกได้ว่า ตัวเลขรายได้นอกประเทศจีนของทั้งสามบริการนั้นมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย Baidu ที่ 1% , Tencent ที่ 5% ส่วน Alibaba ที่มากหน่อยก็ทำได้เพียงแค่ 11% ซึ่งด้วยความพยายามรุกตลาดสากลของ Alibaba โดยการผลักดันโฆษณา ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 ในประเทศเกาหลีใต้

แน่นอนว่าการเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกานั้น เป็นความท้าทายมาก ๆ ของ BAT เครื่องมือค้นหาของ Baidu นั้นเคยมีความพยายามในการเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น เมื่อปี 2007 ด้วยการสร้างเครื่องมือค้นหาภาษาญี่ปุ่น ซึ่งมีอักขระคล้ายกับภาษาจีน แต่ในที่สุด ก็ถูกตีพ่ายยับ จากคู่แข่งที่แข็งแกร่งกว่าอย่าง Google และ Yahoo ทำให้ Baidu ต้องหนีออกจากตลาดไปในท้ายที่สุด

Jack Ma นั้นเคยกล่าวไว้ว่าเป้าหมายของ Alibaba คือการได้ยอดขายครึ่งหนึ่งจากนอกประเทศจีน แต่ก็ต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อให้สามารถที่จะตั้งหลักได้ในอเมริกา Jack Ma ได้ขึ้นข่าวพาดหัวหลายครั้ง ในการสัญญากับประธานาธิบดี ทรัมป์ ในการสร้างงานในอเมริกาให้มากขึ้น และเพื่อดึงดูดธุรกิจขนาดเล็กในอเมริกาให้มาใช้บริการของ Alibaba

แต่สงครามการค้าที่ยิ่งทวีความรุนแรงระหว่างจีน กับ อเมริกา ก็ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างพังทลายลงไปอย่างรวดเร็ว

ในฟากฝั่ง Tencent นั้น บริการอย่าง Wechat ที่ความนิยมแบบผูกขาดในประเทศจีน ไม่ได้ทำให้พวกเขาเข้มแข็งมากนักนอกประเทศจีน แม้ขนาดประเทศไทย Wechat ยังไม่สามารถที่จะต่อกรกับ Line จากประเทศ ญี่ปุ่น ได้เลย มีผู้ใช้บริการเพียงแค่น้อยนิด ซึ่งไม่ต้องพูดถึงในอเมริกา ที่ส่วนใหญ่ ผู้ใช้งานก็มีแค่ ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ที่ต้องติดต่อทำมาค้าขายกับประเทศบ้านเกิดเพียงเท่านั้น

แม้ว่ามีความพยายาม ที่จะปรับบริการให้เข้ากับวัฒนธรรมของอเมริกา ไม่มีการเก็บข้อมูลประวัติของข้อความ หรือเพิ่มบริการชำระเงินเข้าไป ก็ไม่สามารถที่จะต่อกรกับบริการเจ้าถิ่นอย่าง Paypal หรือ Stripe ได้

ซึ่งส่วนใหญ่แอปสำหรับชำระเงินของ Wechat นั้นก็มีไว้เพื่อบริการ ผู้บริหารชาวจีน นักท่องเที่ยว หรือ นักเรียนที่มีบัญชีธนาคารจีน และบัตรประจำตัวประชาชนจีนเป็นหลักเพียงเท่านั้น

นวัตกรรมทางด้านออนไลน์ของจีนเจ๋งจริงหรือ?

ต้องบอกว่า อย่าคาดหวังกับนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีชั้นนำจากประเทศจีน ที่จะก้าวไปสู่กระแสหลักในประเทศอย่างอเมริกาในเร็ววันนี้

เนื่องด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม แบรนด์ที่ชาวอเมริกาไม่เหลียวแล และกฏระเบียบต่าง ๆ ของรัฐบาล รวมถึงความกลัวว่าบริการออนไลน์จากจีนจะไม่ปลอดภัย เป็นเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลของการก้าวไปสู่ระดับโลกของ แบรนด์ทางด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจากจีน เพราะมันเป็นเรื่องของปัจจัยทางจิตใจและอารมณ์เสียเป็นส่วนใหญ่

แต่ถามว่า เมื่อดูจากการเจาะตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อเมริกานั้น บริการเหล่านี้ ก็ยังถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นเอเชียด้วยกันเอง อย่าง ญี่ปุ่น หรือ ไทย พวกเขาก็ไม่สามารถเจาะเข้ามาได้ มีบริการน้อยมากที่จะฮิตกลายเป็นกระแสหลักนอกประเทศจีน เหมือนบริการจากประเทศอเมริกา

ต้องบอกว่าแม้บริการออนไลน์ของพวกเขาจะเจ๋ง มีนวัตกรรมล้ำเลิศแค่ไหนในประเทศจีน แต่ดูเหมือนว่า นอกกำแพงเมืองจีน นั้น แทบจะไม่มีใครสนใจบริการของพวกเขาแต่อย่างใดนั่นเองครับผม

References : https://chinafund.com/great-firewall-of-china/

Geek Monday EP56 : Facial Recognition กับการ Disrupt วงการประกันภัยสัตว์เลี้ยง

การประกันสัตว์เลี้ยงนั้นบ่อยครั้ง มันเกี่ยวข้องกับการกรอกแบบฟอร์มกระดาษที่น่าเบื่อ และการเดินทางไปหาสัตว์แพทย์เพื่อปลูกฝังชิปในสัตว์เลี้ยงของพวกเขา Alipay ยักษ์ e-payment ของจีนมีความคิดอื่น

แพลตฟอร์มที่ดำเนินการโดย Ant Financial ซึ่งเป็นของ Alibaba ได้เปิดตัวโครงการประกันครั้งแรกสำหรับแมวและสุนัข การลงทะเบียนนั้นง่ายมาก: ด้วยการใช้แอพ Alipay เจ้าของสามารถตั้งค่าโปรไฟล์สัตว์ของพวกเขาโดยใช้เพียงแค่การถ่ายรูป เท่านั้น

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/3f1ew5g

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/2lEqPPg

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://bit.ly/3hAcY3G

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/2D9Or6u

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/waWtOxAEVI4

References : https://www.scmp.com/abacus/tech/article/3094053/alipay-allows-pet-owners-buy-insurance-using-facial-recognition-their
https://www.scmp.com/abacus/tech/article/3029476/move-over-humans-startup-making-facial-recognition-pets
http://www.xinhuanet.com/tech/2019-05/14/c_1124493283.htm
https://www.scmp.com/abacus/tech/article/3029362/how-does-facial-recognition-work-pandas
https://abcnews.go.com/GMA/Living/app-reunites-missing-pets-owners-facial-recognition/story?id=59744299

Geek Monday EP11 : CP+Alipay กับอนาคตอุตสาหกรรมการเงินไทย

เป็นการจับคู่ที่น่ากลัวมาก ๆ เหล่าธนาคารไทยคงจะหนาว ๆ ร้อน ๆ ไม่ใช่น้อย จากการจับมือกันของ Alibaba และ CP ยักษ์ใหญ่จากทั้งสองประเทศ

ด้วยนวัตกรรมทางการเงินของ Alipay ที่ใช้งานในสเกลระดับประเทศจีนมาแล้ว คงได้เรียนรู้อะไรมามากพอสมควรแล้ว

ซึ่งเหล่า mobile banking app ของไทยนั้น เพิ่งตั้งไข่ได้ไม่นาน น่าจะเสียเปรียบอย่างมหาศาล ยิ่งมาจับมือกับ CP มีฐานข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมหาศาลเข้าไป ยิ่งทำให้ยิ่งฉลาดขึ้นไปอีก ถือเป็นก้้าวที่น่ากลัวมาก

แต่น่าจะดีต่อผู้บริโภคชาวไทย ส่วนคนที่ต้องเตรียมรับศึกหนักคงเป็นเหล่าสถาบันการเงินของไทยนั่นเอง

ฟังผ่าน Podbean : 
https://tharadhol.podbean.com/e/geekmonday-ep11-cp-alipay/

ฟังผ่าน Spotify: 
https://open.spotify.com/episode/2g104pt8ImWKitDym9ATiD

ฟังผ่าน Youtube : 
https://youtu.be/f7_6mawNq6o

Image References : http://www.gettyimage.com

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 18 : Ma vs Ma

แจ๊ค กับ อาลีบาบานั้น เรียกได้ว่าผ่านมรสุมด้านธุรกิจมามากมาย และเนื่องจากโลกของ internet นั้นมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรงมาก เกิดบริการต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่ยุคแรกของ เว๊บไดเรคทอรี่ และเปลี่ยนมาเป็น อีคอมเมิร์ซ จากนั้นมาเป็น search engine ที่กำลังมาแรง ทุกคนก็ต่างกระโจนเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ และล่าสุดคือธุรกิจแพลตฟอร์มบน mobile ไม่ว่าจะเป็น Chat หรือ Social Network ใครสามารถครองใจลูกค้าได้มากกว่า ก็มีสิทธิ์ที่จะแย่งลูกค้าออกมาจากบริการเดิม ๆ ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่ได้ง่าย ๆ 

มันเป็นคลื่นลูกใหม่ที่เป็นรูปแบบเดียวกันทั่วโลก ที่ ใครสามารถดึงคนให้อยู่ในบริการตัวเองบนมือถือ ก็ถือว่าเป็นต่อทางด้านธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะสามารถนำเสนอบริการต่าง ๆ เข้าไปยังลูกค้าได้อย่างง่ายดายผ่านมือถือ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ติดตัวกับมนุษย์ทุกคนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

และมันนำพาให้แจ๊ค เข้าสู่สงครามของ แพล็ตฟอร์มมือถือ ซึ่งคู่ต่อสู้นั้นค่อนข้างโลว์โปรไฟล์อย่าง WeChat ของ Tencent แต่ฐานลูกค้ามีจำนวนมหาศาลมาก มันเป็นศึกใหม่ที่แจ๊คต้องมาประสบพบเจออีกครั้ง WeChat ที่กำลังมาแรงมากในขณะนั้น และมันทำให้เป็นการเผชิญกันของสองตระกูล หม่า ระหว่าง แจ๊ค หม่า และ โพนี่ หม่าเจ้าของ Tencent ผู้พัฒนา WeChat

โพนี่ หม่า แสดงให้แจ๊คเห็นโลกใหม่ในแพล็ตฟอร์มมือถือ
โพนี่ หม่า แสดงให้แจ๊คเห็นโลกใหม่ในแพล็ตฟอร์มมือถือ

สำหรับ Tencent เจ้าของ WeChat นั้น ก่อตั้งเมื่อปี 1998 โดยทีมผู้ก่อตั้งเป็นคนจีนล้วน โดยมีฐานที่มั่นอยู่ในเมืองเสิ่นเจิ้น ในช่วงแรกให้บริการเว๊บพอร์ทัลสำหรับคนจีน ก่อนจะมีผลิตภัณฑ์แรกที่สร้างชื่อให้บริษัทคือ QQ ( โดยเป็นการ copy idea มาจาก ICQ โปรแกรม chat ชื่อดังในขณะนั้น) และมีการแปลงมาเป็น WeChat หลังจากเข้าสู่ยุคของมือถือ

WeChat นั้นมีฐานลูกค้ามาจากบริการ QQ ซึ่งเป็นบริการ Instant Messenger ที่สะสมมาหลายปี มันเป็นลูกค้ากลุ่มเดิมที่ทำให้ตัวเลขของผู้ใช้ WeChat ที่ได้รับมาจาก QQ นั้นมีจำนวนมหาศาลกว่า 600 ล้านรายในขณะนั้น

WeChat ที่แปลงร่างมาจาก QQ
WeChat ที่แปลงร่างมาจาก QQ

ซึ่งแจ๊คได้ส่งบริการอย่าง Laiwang.com (ชื่อในขณะนั้น) เข้ามาสู้กับ WeChat สงครามนี้มันเริ่มมาจาก Tmall นั้นได้เริ่มลบบริการของ WeChat ออกไปจำนวนมาก โดยอ้างเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล ทาง WeChat ได้ตอบโต้กลับด้วยการปิดบัญชี taobao ของผู้ค้าบางรายที่มีการเชื่อมต่อกับ WeChat

แม้ในสายตาคนส่วนมาก Laiwang นั้นไม่สามารถเทียบได้กับ WeChat เลย เพราะ WeChat ในขณะนั้นได้ยึดครองส่วนแบ่งโดยเฉพาะในส่วนของบริการ Chat ในจีนแทบจะเบ็ดเสร็จ โดยมีบริการเสริมต่าง ๆ ภายในตัวแอป WeChat เพิ่มเติมอีกมากมาย โดยจะเน้นด้านเกมส์เป็นหลัก ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทในขณะนั้น

แจ๊คนั้นร้อนรน ถึงขนาดที่ว่า ต้องเขียนจดหมายถึงพนักงานบริษัท โดยมีใจความสำคัญในเรื่อง ความสำคัญของสงครามครั้งนี้ โดยให้พนักงานทุกคนนั้นมีส่วนร่วม ถึงขนาดว่าใครไม่เข้าร่วมก็ไม่ควรอยู่ในบริษัทนี้ต่อไปเลยด้วยซ้ำ สิ่งที่แจ๊คกำลังทำมันไม่ใช่ยุทธศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่มันคือความพยายามเพื่อให้ได้สิทธิที่อาลีบาบาจะอยู่รอดในสงครามยุค Mobile และมีการเปรียบเทียบกับสงครามครั้งเก่า ๆ ว่าขนาด ebay ซึ่งเป็นคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งมาก ๆ ในขณะนั้น ที่ไม่มีใครเคยเชื่อว่าจะเอาชนะได้ เขาก็สามารถนำอาลีบาบาเอาชนะได้สำเร็จมาแล้ว

แจ๊คส่ง Laiwang หวังจะมาสู้กับ WeChat
แจ๊คส่ง Laiwang หวังจะมาสู้กับ WeChat

ต้องบอกว่าการมาของ WeChat นั้นทำให้ ทุกอย่างที่อาลีบาบาสร้างมายาวนานนั้น ไม่มีความมั่นคงอีกต่อไป เพราะตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคของ Mobile เต็มตัว หากแพลตฟอร์มใดปรับตัวช้านั้น มีโอกาสที่จะถูกกินรวบได้เลยทีเดียว

WeChat แม้จะไม่ใช่ธุรกิจ อีคอมเมิร์ซก็ตาม แต่มีผู้ใช้กว่า 600 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใคร ๆ ก็อยากได้ จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แจ๊คเห็น ทิศทางที่น่ากลัว คือปี 2013 ในเทศกาลคนโสด นักช็อปออนไลน์ของจีนส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนการสั่งซื้อจากทางคอมพิวเตอร์ ไปเป็นสั่งซื้อผ่านทางมือถือแทนแล้ว และในยอดขายจาก 35,000 ล้านหยวนนั้น มีถึง 5,350 ล้านหยวนที่มาจากคำสั่งซื้อผ่านโทรศัพท์มือถือ และแพลตฟอร์มที่กำลังครองโลก Mobile ของประเทศจีนในขณะนั้น ก็คือ WeChat นั่นเอง

สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากตอนนั้น สมาร์ทโฟน นั้นมีวิวัฒนาการที่สมบูรณ์แล้ว และราคาของมือถือเริ่มถูกลงอย่างมาก ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของจีนนั้นสามารถเข้าถึงมือถือเหล่านี้ได้ มีบริษัทมือถือเกิดขึ้นมากมายในประเทศจีนไม่ว่าจะเป็น Xiami , VIVO , OPPO ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถผลิตมือถือจำนวนมาก ๆ ได้ในราคาย่อมเยาว์แทบจะทั้งสิ้น ทำให้ชาวจีนนั้นเปลี่ยนจากการใช้คอมพิวเตอร์มาใช้งานบนมือถือแทนในแทบทุกบริการออนไลน์ ซึ่งรวมถึงบริการทั้งหมดของอาลีบาบาด้วย

บริษัทผลิตมือถือเกิดขึ้นมากมายในประเทศจีน และแข่งขันกันอย่างดุเดือดโดยเฉพาะเรื่องราคา
บริษัทผลิตมือถือเกิดขึ้นมากมายในประเทศจีน และแข่งขันกันอย่างดุเดือดโดยเฉพาะเรื่องราคา

มันเป็นเรื่องน่ากลัว แม้ตัว WeChat นั้นจะไม่ได้ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยตรงก็ตาม แต่ WeChat กลายเป็นช่องทางหลักของข้อมูลจำนวนมหาศาลจากผู้ใช้ มันจึงเป็นที่ดึงดูดใจ ต่อลูกค้าของ taobao ที่ใช้ WeChat เป็นช่องทางหนึ่งในการสั่งซื้อสินค้า

แม้ท่าทีของ WeChat นั้นไม่ได้คุกคาม อาลีบาบาโดยตรงก็ตาม แต่แจ๊คนั้นคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้วว่า ใครสามารถคอนโทรล ต้นน้ำของข้อมูลได้ก่อน ก็มีโอกาสที่จะชนะได้ในทุกศึก ไม่เว้นแม้กระทั่งศึก อีคอมเมิร์ซเองก็ตาม แต่แม้จะส่ง Laiwang มาสู้ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเท่าที่ควร

แจ๊คนั้นพยายามพัฒนา Features เพื่อลอกเลียนแบบ WeChat แทบจะทุกอย่างให้กับ Laiwang โดยกว่า 80% ของโปรแกรมนั้นแทบจะเลียนแบบมาจาก WeChat เลยก็ว่าได้ มีต่างกันนิดหน่อยในเรื่องของ concept ของการเป็นเพื่อนกัน ที่ดูเหมือน Laiwang นั้นจะมองความสัมพันธ์ของผู้ใช้งานน้อยกว่า WeChat

Laiwang นั้นแทบจะโคลนทุกอย่างของ WeChat มาด้วยซ้ำ
Laiwang นั้นแทบจะโคลนทุกอย่างของ WeChat มาด้วยซ้ำ

Laiwang นั้นไม่มีความคิดที่จะทำให้ลูกค้าของ taobao กลายเป็นลูกค้าของตนเอง หากแต่ต้องการสร้างตัวตนใหม่ให้หลุดจากภาพเดิม ๆ ของอีคอมเมิร์ซ ให้มองมันเป็นแพลตฟอร์มด้าน Social media ล้วน ๆ 

แจ๊คไม่เพียงเป็น พรีเซ็นเตอร์ให้ Laiwang ด้วยตนเองเท่านั้น เขายังเชิญเหล่ามิตรสหายของเขาทั้งหลายมาช่วยโฆษณาให้ Laiwang อีกด้วย เขาแจ้งให้พนักงานในเครือของเขาให้หันมาใช้ Laiwang และเพิ่มภารกิจให้ชวนเพื่อนมาอีก 100 คนมาช่วยใช้งาน Laiwang พนักงานทุกคนต้องลงทะเบียน Laiwang ไม่อย่างงั้นมีโอกาสที่จะอดโบนัสปลายปีได้ ซึ่งแม้จะพยายามทำทุกวิถีทางอย่างไรก็ดี มันก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่ผูกติดกับบริการของ WeChat ได้แล้ว

แต่มันเป็นสิ่งที่แจ๊คต้องทำ เพราะเขาสู้มาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งรูปแบบใด นั้นเขาไม่เคยที่จะยอมแพ้ ซึ่งแม้สุดท้าย Laiwang ของแจ๊ค นั้นจะแพ้อย่างราบคาบให้กับ WeChat แต่มันทำให้เห็นจิตวิญญาณของนักสู้ของแจ๊ค ที่เริ่มมองเห็นภัยคุกคามที่กำลังคืบคลานเข้ามา มันเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ และจิตวิญญาณนักสู้ของแจ๊คที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งอาลีบาบา

ตอนหน้าจะเป็นตอนสุดท้ายของ Series ชุดนี้แล้วนะครับ โปรดติดตามตอนจบของ Series และบทสรุปสุดท้ายของชายที่ชื่อ Jack Ma ครับผม

–> อ่านตอนที่ 19 : Retirement (ตอนจบ)

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 15 : Alipay

Alipay นั้นถือได้ว่าเป็นอีกนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญของ แจ๊ค และ อาลีบาบา ความปลอดภัยของการชำระเงินนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของวงการอีคอมเมิร์ซ ดังนั้นแจ๊คจึงได้สร้าง Alipay  เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่า paypal นั้นไม่เหมาะกับสภาพของประเทศจีนเลย Alipay มันจึงกลายเป็นการชำระเงินที่ตรงกับเอกลักษณ์ของประเทศจีน

ในขณะที่ ebay บุกเข้าจีนนั้น ได้นำพาเอานวัตกรรมการชำระเงินออนไลน์ อย่าง paypal เข้ามาด้วย ซึ่งแจ๊คนั้นมองว่า ไม่เหมาะกับประเทศจีน สำหรับโมเดลของ paypal คือ

ebay ที่ผูกบริการชำระเงิน paypal ในขณะนั้น
ebay ที่ผูกบริการชำระเงิน paypal ในขณะนั้น

ผู้ซื้อจะโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ขายโดยตรง ซึ่งแน่นอนว่า การชำระเงินแบบนี้ย่อมทำให้ผู้ซื้อตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบ ซึ่งถ้าผู้ขายไม่ยอมรับว่าได้รับเงินแล้ว (ปัญหานี้ไม่เกิดในอเมริกาและยุโรป เพราะมีระบบเครดิตที่เข้มแข็งมาก จึงเกิดปัญหานี้น้อยมาก ๆ ) ซึ่งจะทำให้เงินที่ผู้ซื้อจ่ายไปนั้น มีโอกาสสูญหายไปได้ทันตาเห็น

และที่สำคัญ paypal ในสมัยนั้น ยังไม่มีกลไกตรวจสอบสถานะบุคคลอย่างเข้มงวด ลูกค้าลงทะเบียนใน paypal ได้ง่ายมาก แค่กรอกอีเมล์แอดเดรส ก็ใช้งานได้แล้ว ไม่ต้องผ่านการยืนยันชื่อจริงนามสกุลจริง  ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องการฟอกเงินผ่าน paypal ได้ ดังที่เคยมีข่าวมาแล้วในก่อนหน้านั้น

paypal ที่แจ๊คมองว่าไม่เข้ากับวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของการซื้อขายแบบจีน
paypal ที่แจ๊คมองว่าไม่เข้ากับวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของการซื้อขายแบบจีน

ซึ่งแจ๊คมองว่า paypal นั้นมีช่องโหว่อยู่มากมาย ที่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในตอนนั้นอย่างมั่นคง และได้รับการตอบรับอย่างดีในประเทศตะวันตก เพราะมันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของประเทศตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด ในยุโรปและอเมริกานั้นมีระบบเครดิตที่เข้มข้นมาก ๆ ไม่ว่าผู้ซื้อผู้ขาย ถ้าใครถูกจับได้ว่าละเมิดกฏเกณฑ์ก็จะถูกขึ้นบัญชีดำทันที และอาจจะไม่สามารถใช้ paypal ได้อีกตลอดไป ทำให้ผู้คนกล้าแหกกฏน้อยมาก ๆ 

แต่กับประเทศจีนนั้นมันต่างกันสิ้นเชิง วัฒนธรรมการค้าขายของประเทศจีนอยู่บนพื้นฐานสำคัญของกวานซี่ หรือ สายสัมพันธ์ connection เป็นหลัก ถ้าวันไหนผู้ซื้อเกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นมาก็มีโอกาสที่จะวิจารณ์ผู้ขายในทางไม่ดี ซึ่งอาจจะนำไปสู่การขึ้นบัญชีดำได้ ซึ่งผู้ขายเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมากหากใช้รูปแบบของ paypal มาใช้ในประเทศจีน

และที่สำคัญเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคจีน การใช้เครดิตการ์ดในประเทศจีน จึงไม่เป็นที่นิยมเหมือนในยุโรปและอเมริกา ประเทศจีนยังคงเป็นตลาดบริโภคที่ใช้บัตรเดบิตของธนาคารเป็นหลัก

ในเดือน ตุลาคม ปี 2003 หลังจากที่ taobao นั้นเพิ่งก่อตั้งได้ 3 เดือน  แจ๊คจึงได้นำเสนอเครื่องมือการชำระเงินแบบเอกลักษณ์เฉพาะคนจีน ในช่วงเริ่มต้นนั้น เปิดบริการให้ใช้ฟรี 

โมเดลแบบง่าย ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนจีน คือ ผู้ซื้อโอนเงินเข้าบัญชีออนไลน์บัญชีหนึ่ง Alipay จะเป็นคนแจ้งผู้ขายว่าผู้ซื้่อโอนเงินเข้าแล้ว ให้ส่งสินค้าได้ หลังผู้ซื้อได้รับสินค้าและตรวจสอบว่าไม่มีปัญหาเรียบร้อย ก็จะแจ้งต่อ Alipay ยืนยันว่าได้รับสินค้าแล้ว ให้ชำระเงินได้ จากนั้น Alipay จะโอนเงินจากบัญชีออนไลน์กลางที่ว่าไปยังผู้ขาย ซึ่งผู้ขายสามารถที่จะไปเบิกจากธนาคาร ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็น โมเดลง่ายของ Alipay 1.0 ที่แจ๊คสร้างออกมาในเดือนตุลาคมปี 2003

Alipay บริการชำระเงินออนไลน์เพื่อชาวจีนโดยเฉพาะ
Alipay บริการชำระเงินออนไลน์เพื่อชาวจีนโดยเฉพาะ

ซึ่งตัว Alipay นี่เองเป็นไม้ตายอย่างนึงของ taobao ในการที่จะ knock คู่ต่อสู้อย่าง ebay การทำงานแบบคล้ายกับว่าเป็นคนกลางอย่าง Alipay นั้น ทำให้มูลค่าการซื้อขายของออนไลน์ เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก

เนื่องจากก่อนหน้านั้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างระมัดระวังตัวกันเป็นอย่างมาก ไม่กล้าซื้อขายสินค้าราคาสูงกันเท่าไหร่ แม้จำนวน transaction ในตอนนั้นจะมีมากก็ตาม แต่มูลค่าเป็นเงินนั้นยังน้อยอยู่เพราะเป็นการซื้อขายเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงนัก

ในเดือน มีนาคม ปี 2005 Alipay ได้ทำการบรรลุข้อตกลงกับธนาคารพาณิชย์อุตสาหกรรมแห่งประเทศจีน (Industrial and Commercial Bank China Limited, ICBC) ร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินโดยผ่านบุคคลที่ 3 สำหรับ อีคอมเมิร์ซ โดยจะร่วมมือด้านการรับชำระเงินสำหรับอีคอมเมิร์ซ เข้าไปด้วย

ทั้งนี้เพื่อเป็นการคลี่คลายอุปสรรคด้านการชำระเงินซึ่งถือเป็นคอขวด ของอีคอมเมิร์ซมาช้านาน ทำให้ Alipay กลายเป็นผลิตภัณฑ์การชำระเงินสำหรับอีคอมเมิร์ซที่ปลอดภัยที่สุด รวดเร็วที่สุด และ แพร่หลายที่สุดในประเทศจีนทันที

Alipay ที่เหมาะกับวัฒนธรรมจีน ทำให้อีคอมมิร์ซจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด
Alipay ที่เหมาะกับวัฒนธรรมจีน ทำให้อีคอมมิร์ซจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด

หลังจากนั้นก็ ก็ได้ร่วมมือกับธนาคารจีนอีกหลายแห่งตามมา และที่สำคัญ ในวันที่ 20 เมษายน ปีเดียวกันนั้น Alipay ก็ได้บรรลุข้อตกลงกับยักษ์ใหญ่ของวงการบัตรเครดิตอย่าง VISA ซึ่งจะเริ่มมีการใช้บริการตรวจสอบยืนยันของ VISA กับการชำระเงินของ Alipay อย่างเป็นทางการ ทำให้ลูกค้าที่ถือบัตร VISA ทุกคนในโลกล้วนมีสิทธิ์ที่จะใช้ Alipay ได้ทันที ทำให้ Alipay มีลูกค้าหลั่งไหลเข้ามาจากทั่วโลก

ต้องบอกว่า ปรากฏการณ์ของ Alipay นั้น ได้รับความสนใจ และ ความยกย่องจากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และเหล่านักช็อปออนไลน์ของจีนเป็นอย่างมาก ซึ่ง Alipay นั้นถือเป็นนวัตกรรมอย่างนึงที่แจ๊คได้สร้างขึ้นมา และเป็นหลักไมล์ที่สำคัญของการพัฒนาอีคอมเมิร์ซของประเทศจีน การปรากฏตัวขึ้นของ Alipay นั้นมันได้ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจีน พุ่งทะยานเติบโตอย่างรวดเร็ว และรุนแรงที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

ถึงตอนนี้เราจะเห็นได้ว่า แจ๊ค นั้น จากอดีตครูสอนภาษาอังกฤษ ที่แทบจะไม่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์เลยด้วยซ้ำ กำลังจะเปลี่ยนประเทศจีนไปตลอดกาล ด้วยนวัตกรรมที่เขาได้สร้างขึ้น ทั้ง alibaba , taobao รวมถึง Alipay นั้นล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ ที่เข้าใจตลาดคนจีนอย่างลึกซึ้งของแจ๊คแทบจะทั้งสิ้น การเอาชนะ ebay ได้นั้น ทำให้ตอนนี้แจ๊ค แทบจะไม่กลัวใครอีกต่อไปแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ เครือข่าย alibaba ต้องสยายปีก เพื่อกินรวบธุรกิจ อีคอมเมิร์ซจีนให้ได้ แล้วมันทำได้ง่ายขนาดนั้นเลยหรือ? แล้วศัตรูตัวจริงของแจ๊คที่เป็นคู่แข่งจากประเทศจีนล่ะคือใคร ? จะเกิดอะไรขึ้นกับ แจ๊คและ อาลีบาบาต่อ โปรดติดตามในตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 16 : Search Wars

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ