การปรับตัวที่ช้าไป กับความยิ่งใหญ่ที่กลายเป็นอดีตของ MSN Messenger

เริ่มแรกที่เรารู้จัก MSN Messenger นั้นต้องนับย้อนไปตั้งแต่การถือกำเนิดของแพลตฟอร์มนี้ในปี 1999 และ ในภายหลังได้ถูกแปรเปลี่ยนมาเป็น Windows Live Messenger ซึ่งอดีตยักษ์ใหญ่แห่งบริการส่งข้อความถูกปิดฉากบริการไปในวันที่ 31 ตุลาคม 2014 และคุณอาจสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น?

MSN Messenger ได้แข่งขันกับยักษ์ใหญ่ด้านการส่งข้อความอื่น ๆ ในยุคบุกเบิก ซึ่งได้แก่ ICQ, AOL AIM และ Yahoo!  

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 และในช่วงกลางของการเปิดตัว Windows 95 ที่ทำให้ Microsoft เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ครั้งแรกนั่นคือกระแสความนิยมของอินเทอร์เน็ตในบ้าน 

ยักษ์ใหญ่แห่ง Redmond กำลังจะปล่อยระบบปฏิบัติการใหม่อย่าง Windows 95 และในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น Bill Gates ได้ส่งบันทึกให้ทีมผู้บริหารของเขาซึ่งกลายเป็นเอกสารที่มีความหมายมากสำหรับสถานการณ์ของ Microsoft ในขณะนั้น

เอกสารดังกล่าวมีชื่อว่า“ The Tidal Wave” ที่กล่าวถึง ความสำคัญของการพัฒนาอินเทอร์เน็ตสำหรับบริษัทในยุคต่อไป

ใจความสำคัญของเอกสารก็คือ Bill Gates ให้ความสำคัญสูงสุดกับอินเทอร์เน็ต ในบันทึกนี้ Gates ต้องการทำให้ชัดเจนว่าการให้ความสำคัญกับอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจของ Microsoft ในทุก ๆ ส่วน 

อินเทอร์เน็ตเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ IBM เปิดตัวพีซีเครื่องแรกในปี 1981 มันสำคัญยิ่งกว่าการมาถึงของส่วนต่อประสานกราฟิกผู้ใช้ (GUI) เสียอีก

Gates ตกใจกับภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตที่มีต่อธุรกิจของเขา เขาพิจารณาว่า Microsoft ยังไม่พร้อมสำหรับการมาถึงของอินเทอร์เน็ต และซอฟต์แวร์หลักของ Microsoft ในยุคนั้น ซึ่งก็คือ Internet Explorer และ MSN ยังไม่พร้อมให้บริการ แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็สามารถผลักดันมันออกมาได้พร้อมกับ Windows 95 ในวันเปิดตัวได้แบบฉิวเฉียด

ในเวลานั้นอินเทอร์เน็ตถูกลดขนาดให้เหมาะกับสิ่งที่บริษัทอย่าง AOL หรือ Microsoft ที่มี MSN เสนอบนพอร์ทัลของพวกเขา การรวม MSN เข้ากับ Windows 95 เป็นการกระทำที่นำปัญหาทางกฎหมายมาสู่ Microsoft เนื่องจากคู่แข่งกล่าวหาว่าเขากำลังผูกขาดตลาดในทางที่ผิด

AOL (America OnLine) เป็นรายแรกที่เปิดตัวบริการ AIM (AOL Instant Messenger) ในปี 1997 ซึ่งทันทีที่ผู้ใช้เริ่มเข้ามาใช้บริการนี้มันก็ดังกระฉูดแทบจะทันที แทบจะทุกบ้านของชาวอเมริกันที่ใช้อินเทอร์เน็ตต้องมีบริการของ AIM

เนื่องจากความนิยมของคู่แข่ง Microsoft จึงเปิดตัว Client การส่งข้อความของตัวเองในปี 1999 MSN Messenger ถือกำเนิดขึ้นเป็นบริการแรกที่มีรายชื่อผู้ติดต่อ และบริการส่งข้อความผ่านออนไลน์

ตั้งแต่ต้น MSN Messenger ต้องการเสนอความเป็นไปได้ในการแชทกับผู้ใช้บริการส่งข้อความอื่น ๆ เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีการเปิดตัว พวกเขาก็ได้ทำให้มันสามารถเข้ากันได้กับเครือข่ายของ AIM ซึ่งทำให้ AOL ไม่ชอบใจเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นที่มาของการเริ่มเปิดสงครามระหว่างบริการทั้งสอง

เมื่อใดก็ตามที่ Microsoft เปิดใช้งานการสื่อสารนี้ AIM จะแก้ไขรหัสเพื่อยืนยันว่าลูกค้าสื่อสารกับลูกค้า AIM ได้เพียงเท่านั้น และ block บริการจากทางฝั่งของ MSN Messenger  ซึ่งในที่สุด Microsoft ได้ละทิ้งในความพยายามที่จะเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ของ AIM

ทุกคนที่เป็นวัยรุ่นในช่วงยุคทองของ MSN Messenger จะจดจำความสำคัญของโปรแกรมนี้ ทันทีที่คุณกลับถึงบ้านคุณจะนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์แล้วเปิดโปรแกรมแชทกับเพื่อนที่โรงเรียนด้วย “ Messenger” แทนที่การโทรไปยังโทรศัพท์พื้นฐานซึ่ง MSN Messenger นั้นจะให้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า

MSN Messenger ที่เป็นที่นิยมสำหรับวัยรุ่นมาก ๆ ในยุคนั้น
MSN Messenger ที่เป็นที่นิยมสำหรับวัยรุ่นมาก ๆ ในยุคนั้น (CR:CNBC)

MSN Messenger เริ่มที่จะรวมฟังก์ชั่นการใช้งานซึ่งเป็นพื้นฐานของเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ใช้แต่ละคนมีแถบสถานะที่เขาสามารถแสดงข้อความส่วนตัวได้ มันเป็นต้นแบบสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ Facebook ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้

นอกจากนี้ปุ่มสถานะยังได้รับความนิยมอย่างมากซึ่งคุณสามารถบอกผู้ติดต่อของคุณได้อย่างรวดเร็วว่า คุณว่าง ไม่ว่าง หรือออฟไลน์อยู่ หรือการตั้งค่าให้มองไม่เห็น ดังนั้นไม่มีใครจะรบกวนคุณได้ผ่าน MSN Messenger 

ฟังก์ชั่นนี้ได้รับความนิยมอย่างมากจนมีการสร้างเว็บไซต์ที่อนุญาตให้รู้สถานะของผู้ใช้แต่ละรายหากมีอีเมลของเขาหรือแม้กระทั่งรู้ว่าเพื่อนมีการบล็อกคุณหรือไม่

เมื่อถึงสิ้นปี 2005 MSN Messenger ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Windows Live Messenger การเติบโตอย่างรวดเร็วของบริการรับส่งข้อความโดยเฉพาะตลาดนอกสหรัฐฯที่ AIM ยังคงเป็นผู้นำ และจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขยายบริการนี้อย่างรวดเร็วมาก ๆ จนทำให้บริษัท Tencent ตัดสินใจที่จะสร้างบริการส่งข้อความ QQ ของตัวเองออกมา

บริการส่งข้อความมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด : เพื่อให้บริการของตนเองดียิ่งขึ้นแต่ละแพลตฟอร์มจึงมีค่าใช้จ่ายสูงในการบำรุงรักษา แต่ในตอนนั้นมันยังไม่สามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง และนั่นคือในยุคที่บริการส่งข้อความเป็นเพียงแค่ตัวช่วยให้สมาชิกของบริการอินเทอร์เน็ตภายในพอร์ทัลของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นเพียงเท่านั้น ในยุคนั้นพวกเขาไม่ได้มองถึง Business Model รูปแบบอื่น ๆ เหมือนอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

Business Model ที่เพียงแค่เพิ่มฐานสมาชิกในเว๊บพอร์ทัลหลักเท่านั้น
Business Model ที่เพียงแค่เพิ่มฐานสมาชิกในเว๊บพอร์ทัลหลักเท่านั้น (CR:AOL)

เมื่อก้าวเข้าสู่เดือนมิถุนายน 2009 MSN Messenger ก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดมีผู้ใช้งานถึง 330 ล้านคนต่อเดือน แต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อเรากำลังเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟน

แนวคิดเกี่ยวกับเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นกำลังเข้ามากลืนกินเครือข่ายการส่งข้อความ เช่น Windows Live Messenger แน่นอนว่า Facebook ไม่ได้เป็นเครือข่ายโซเชียลมีเดียแห่งแรกที่ทำการเปิดตัว แต่เป็นบริการแรกที่ทำได้ดี และเข้าใจถึงเรื่องเครือข่ายสังคมอย่างแท้จริง

เมื่อเครือข่ายโซเชียลมีเดียของ Mark Zuckerberg คลายข้อจำกัดลงจากเดิมที่ Focus แค่กลุ่มผู้ใช้งานมหาลัยหลังจากเปิดให้ใช้งานกับกลุ่มผู้ใช้อื่น ๆ แบบอิสระมากขึ้น ก็ทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่เริ่มที่จะหนีออกจาก MSN Messenger มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่แท้จริงอย่าง Facebook 

แต่สิ่งที่ทำให้ Windows Live Messenger ต้องจบชะตากรรมไป คือ การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน แม้ว่า Microsoft จะไม่พลาดในคลื่นลูกใหม่นี้ และพยายามผลักดัน Windows Live Messenger ไปในทุก ๆ แพล็ตฟอร์มในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็น BlackBerry OS, Xbox 360, iOS, Java ME, Symbian หรือแม้แต่เครื่องเล่น mp3 Zune HD ของ Microsoft เอง แต่ดูเหมือนมันไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก

คู่แข่งอย่าง BlackBerry Messenger กลายเป็นผู้บุกเบิกในการส่งข้อความมือถือ แต่มันเป็นเช่นนั้นได้เพียงไม่นาน จนกระทั่งการปรากฏตัวขึ้นของ iPhone ในเดือนมกราคม 2007 การเปิดตัว App Store ในปี 2008 และความนิยมของ Android จากปี 2010 ทำให้ Windows Live Messenger ได้รับผลกระทบอย่างหนักมาก ๆ

Blackberry Messenger ที่กลายเป็นบริการยอดฮิตแรกในยุคของสมา์ทโฟน
Blackberry Messenger ที่กลายเป็นบริการยอดฮิตแรกในยุคของสมา์ทโฟน (CR:TechCrunch)

การล่มสลายของ Messenger สามารถตีความได้ว่าเป็นตัวบ่งชี้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลังในตลาดพีซี 

เมื่อสถานการณ์ตลาดพีซีในขณะนั้นยอดขายกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการล่มสลายของ Windows Live Messenger เป็นเหมือนสัญญาณเตือน ที่กำลังบ่งชี้ว่าสมาร์ทโฟนกำลังจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่สมบูรณ์แบบเพื่อแทนที่การส่งข้อความแบบเดิม ๆ ผ่านพีซี นั่นเอง

สมาร์ทโฟนถือเป็นการปฏิวัติชนิดหนึ่ง มีบริษัทใหม่ ๆ ที่เริ่มสร้างบริการส่งข้อความบนแพล็ตฟอร์ม สมาร์ทโฟน ไม่วาจะเป็น  WhatsApp, Telegram, Facebook Messenger, Line, WeChat และดูเหมือนว่าพวกเขาก็เข้าใจ Ecosystem ใน สมาร์ทโฟนได้ดีกว่าที่ Microsoft สามารถเข้าใจได้ในยุคนั้น

Windows Live Messenger ไม่สามารถกู้คืนสถานการณ์ที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องของยุค Post-PC และในท้ายที่สุด ในช่วงปลายปี 2012 Microsoft ประกาศการรวมบริการ Windows Live Messenger เข้ากับ Skype และในช่วงสิ้นปี 2013 ถือเป็นเป็นการปิดฉากอดีตที่ยิ่งใหญ่ของ Windows Live Messenger ไปในท้ายที่สุด

ต้องบอกว่าถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจของการไม่สามารถปรับตัวได้ เมื่อธุรกิจถูก Disrupt ซึ่งในยุคนั้นก็คือการเปลี่ยนผ่านจากยุค PC ไปยังยุคของสมาร์ทโฟนที่ดูเหมือน Microsoft นั้นจะปรับตัวช้าเกินไป ทั้งที่บริการอย่าง Windows Live Messenger มีผู้ใช้งานสูงสุดถึงกว่า 300 ล้านคนในยุคนั้น

ซึ่งตัวอย่างดังกล่าว มันแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แค่ไหนมีเงินมากมายขนาดไหน แต่ในยุค Disruption นั้น การเคลื่อนตัวที่ช้าอาจจะส่งผลให้ธุรกิจถึงคราวล่มสลายได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเลยทีเดียว เหมือนอย่างที่เราได้เห็นบทเรียนจาก MSN Messenger ในบทความนี้นั่นเองครับผม

References : https://pandorafms.com/blog/what-happened-with-msn-messenger/
https://www.msnmessenger-download.com/rise-and-fall-msn-messenger
https://www.theverge.com/2014/8/29/6082199/msn-messenger-shutting-down-15-years-history
https://community.plus.net/t5/Plusnet-Blogs/The-Rise-and-Demise-of-MSN-Messenger/ba-p/1322022