ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 3 : Jobs in Time

ต้องบอกว่าการได้งานที่ IBM ถือเป็นช่วงเวลาที่โชคดีอย่างยิ่งของ Cook เพราะอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์กำลังอยู่ในช่วงเริ่มเฟื่องฟู ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 เหล่าผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลต่างกำลังต่อสู้เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่กำลังคิดจะมีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องแรก

คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM ถือเป็นเครื่องจักรที่ล้ำสมัยในยุคนั้น ที่ราคาขายราว ๆ 1,565 เหรียญ การใช้งานภาษา BASIC ซึ่งเป็นภาษาเขียนโปรแกรมยอดนิยมในยุคนั้น และให้ความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพสูง มีการใช้งานไมโครโพรเซสเซอร์ขนาด 16 บิต , Ram 16 กิโลไบต์ และสามารถเก็บข้อมูลได้ 40 กิโลไบต์ ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มาก ๆ ในยุคสมัยนั้น

โดยแผนกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM ตั้งอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่ที่ Research Triangle Park โดยกลยุทธ์ของ IBM ก็คือการว่าจ้างบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยดัง ๆ จำนวนมาก มาฝึกอบรม และมาทำการโปรโมตเลื่อนตำแหน่งในกลุ่มของตนเอง

และ Cook ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับบัณฑิตจบใหม่เหล่านั้น เขาได้ร่วมงานที่โรงงาน RTP ที่มีขนาดกว่าหกแสนตารางฟุต มีจำนวนการผลิต ถึง 6 สายการผลิตทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ สามารถผลิตคอมพิวเตอร์ได้ราว ๆ นาทีละเครื่อง

โดยประมาณครึ่งหนึ่งของพนักงานในโรงงานทั้งหมด 12,000 คนนั้น เป็นผู้ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ และแทบจะทั้งหมดนั้นทำด้วยมือ โดยสามารถประกอบคอมได้ราว ๆ 6-8 พันเครื่องต่อวัน และอาจเพิ่มขึ้นถึงหมื่นเครื่องต่อวันในช่วงพีค

IBM PC ที่เป็นเจ้าตลาดและทันสมัยมากในยุคนั้น
IBM PC ที่เป็นเจ้าตลาดและทันสมัยมากในยุคนั้น

โดยโรงงานของ IBM ใช้แนวคิดการผลิตแบบลีน โดยใช้ระบบการผลิตแบบทันเวลา (JIT) โดยปรัชญาของ JIT ในสหรัฐอเมริกาได้รับการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในขณะที่หลีกเลี่ยงสินค้าส่วนเกิน ซึ่งมันได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี 1960 และ 1970 ซึ่งนำโดยบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota ที่ใช้ JIT เป็นเสาหลักของระบบการผลิตทั้งหมดเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมาขึ้นและให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงนั่นเอง

และเป็นบทบาทแรกของ Cook ที่ IBM ที่เขาได้เรียนรู้ความซับซ้อนของ JIT (just-in-time) ซึ่งเขาจะใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตทั้งหมดของ Apple ในภายหลัง ซึ่งานแรกที่ IBM นั้นเขาอยู่ในสายการผลิตจากโรงงาน และเขามีหน้าที่ในการจัดการไปป์ไลน์เพื่อให้แน่ใจว่าโรงงานมีชิ้นส่วนเพียงพอที่จะสร้างคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายมาก ๆ งานแรกที่ Cook ได้ทดสอบฝีมือ

และเพียงแค่ 2-3 ปีหลังจากได้เข้าร่วมงานกับ IBM ตัว Cook เองก็ได้รับการประเมินให้เป็นพนักงานที่มีศักยภาพสูงหรือ “HiPo” ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะของ IBM ซึ่งเป็นการวางเส้นทางสำหรับผู้นำในอนาคตของบริษัท ซึ่งในทุก ๆ ปีนั้นผู้บริหารระดับสูงในโรงงานจะเขียนรายชื่อพนักงานที่มีแนวโน้มมากที่สุด 25 คน โดยมีรายเอียดของสิ่งต่าง ๆ เช่น ประสิทธิภาพการทำงาน ความรับผิดชอบ ศักยภาพในการเป็นผู้นำ และแน่นอนว่าที่นั่น Cook คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งอยู่เสมอ

ซึ่งต้องบอกว่าเพื่อนร่วมงานหลายคนก็พูดในทำนองเดียวกันถึงความโดดเด่นของ Cook เพราะเขาฉายแววผู้นำมาตั้งแต่เข้าทำงานใหม่ ๆ เขามีความโดดเด่น แต่มีความสุภาพ ซึ่ง IBM ก็ช่วยส่งเสริมเขาในเรื่องความเป็นผู้นำ และเริ่มสร้างเสริมทักษะเขาด้วยการส่ง Cook ไปศึกษาเพิ่มเติมด้านธุรกิจที่มหาวิทยาลัย Duke

โดยตัว Cook นั้นได้เข้าเรียนตอนเย็นที่ Fuqua School of Business ของ Duke University ซึ่งทำให้เขาได้รับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจในปี 1988 และการได้ดีกรีด้านบริหารธุรกิจนี่เองที่ช่วยพัฒนาอาชีพของเขาที่ IBM ที่ทำให้เขาเรียนรู้เรื่องของธุรกิจมายิ่งขึ้น ไม่ใช่เก่งเพียงแค่ทางด้านวิศวกรรมอย่างเดียวอีกต่อไป

เมื่อ Cook ทำงานกับ IBM เป็นเวลา 12 ปี เขาก็ได้เริ่มหาความท้าทายใหม่โดยมารับบทบาทหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของแผนกผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์ที่บริษัท Intelligent Electrics ในเมืองเดนเวอร์ มันดูเหมือนอาชีพเขาจะ Drop ลงหลังจากย้ายมาอยู่กับบริษัทเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับ IBM ที่เป็นยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีโลก

เขาช่วยให้ Intelligent Electrics เปิดตัวโปรแกรมที่เรียกว่า PowerCorps ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ Apple ผ่านตัวแทนจำหน่ายของ Intelligent Electrics โดยทำให้รายรับของ Intelligent Electrics มีรายรับเพิ่มขึ้น 21% แต่สุดท้าย Intelligent Electrics ก็เจอปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเกี่ยวกับการขยายราคาหุ้นทำให้ตัว Cook เองแนะนำให้ผู้บริหารขายบริษัทให้กับ General Electric ในราคา 136 ล้านเหรียญ

และมันได้ทำให้เขาพบกับจุดเปลี่ยนสำคัญในอาชีพซึ่งก็คือ การได้เข้ามาร่วมงานกับ Compaq ในตำแหน่งรองประธานฝ่ายสื่อสารองค์กร เนื่องจาก Compaq เองเป็นซัพพลายเออร์รายหนึ่งของ Intelligent Electrics หลังจากขายกิจการสำเร็จ Compaq จึงได้ดึงตัว Cook เข้ามาร่วมงานเนื่องจากมองเห็นในศักยภาพของเขา

ในช่วงนั้น Compaq ได้กลายเป็นผู้ผลิต PC รายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้า Apple และ IBM ได้สำเร็จ ทำให้ดูเหมือนชีวิตของ Cook จะเข้าสู่วงโคจรที่รุ่งโรจน์อีกครั้ง

สถานการณ์การแข่งขันในขณะนั้น ได้มีแนวคิดในการสร้างคอมพิวเตอร์ในราคาไม่แพงที่ต่ำกว่า 1,000 เหรียญออกมาแข่งกัน ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น

Compaq ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกในยุคนั้น
Compaq ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกในยุคนั้น

Intel ได้เปิดตัว Celeron ซึ่งเป็น CPU ราคาประหยัดในเดือนเมษายน ปี 1998 รวมถึง AMD ก็ผลิตชิปในราคาถูกเข้ามาแข่งขัน ทำให้ราคาของเครื่องคอมพิวเตอร์ลดลงเป็นอย่างมาก

และแน่นอนว่า ราคา PC ที่ลดลงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อ Apple เป็นอย่างมาก ในขณะที่เครื่อง PC ราคาถูกลง ทำให้ผู้คนเมินที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่มีราคาแพง ทำให้มีสินค้าของ Apple ขายไม่ออกและค้างอยู่ในโกดังเป็นจำนวนมาก

ตัว Cook เองในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งที่ Compaq นั้น ได้ช่วยให้บริษัท เปลี่ยนไปสู่รูปแบบการผลิตตามคำสั่ง ซึ่งเป็นแนวคิดต่อยอดจาก JIT ที่เขาเคยได้เรียนรู้ที่ IBM นั่นเอง โดยใช้ชื่อว่า “Optimized Distribution Model” ซึ่งแทนที่จะลงทุนสร้างเครื่องจักรเพื่อคาดการณ์อุปสงค์ แต่ Compaq จะเริ่มกระบวนการผลิตหลังจากได้รับคำสั่งซื้อแทน

สิ่งนี้นี่เองที่ทำให้การผลิตคอมพิวเตอร์ของ Compaq มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และช่วยลดปริมาณสินค้าคงคลัง แต่ในทางกลับกัน บริษัทต้องจัดการซัพพลายเออร์ของตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็วและคุ้มค่า

Cook เป็นผู้ที่บทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลง Optimized Distribution Model ที่ Compaq และทำให้ชื่อของเขากลายเป็นที่จับตามองในวงการผลิตคอมพิวเตอร์ ซึ่งที่ Compaq นี่เอง ที่ Cook ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเหล่าซัพพลายเออร์ เพื่อให้เปลี่ยนมาใช้รูปแบบ Model ใหม่ดังกล่าว

และสถานการณ์ในขณะนั้นบริษัทอย่าง Apple ที่เริ่มหมดหวังกับการที่จะปรับปรุงกระบวนการผลิตที่สุดยุ่งเหยิงของตัวเอง เพื่อให้สามารถกลับมาแข่งขันกับคู่แข่งในวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่ดูเหมือนจะเริ่มหมดหวังเข้าไปทุกที สถานการณ์ของบริษัทย่ำแย่ถึงภาวะใกล้ล้มละลาย

แต่ก็เป็น Steve Jobs ที่ได้กลับมากุมบังเหียน Apple ในรอบที่สองอีกครั้ง และงานสำคัญของเขาก็คือมองหาวิธีแก้ไขปัญหา ในเรื่องการผลิต และหาคนที่เหมาะสมสำหรับงานดังกล่าว และ Cook เองก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดที่จะช่วยพลิก Apple ให้กลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้ง

ต้องบอกว่า เมื่อทั้งสองได้มาเจอกัน มันคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการคอมพิวเตอร์ ที่ Jobs และ Cook สองผู้นำที่แตกต่างกันจะมาร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบการผลิตแบบ Just-in-Time ให้กับ Apple จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อสองผู้นำที่จะได้มาร่วมมือกันเปลี่ยนโลกอีกครั้งให้กับ Apple ที่ใกล้ล้มละลายเต็มที โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 4 : The Operations Guy

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
Fanpage :facebook.com/tharadhol.blog
Blockdit :blockdit.com/tharadhol.blog
Twitter :twitter.com/tharadhol
Instragram :instragram.com/tharadhol