ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 18 : Ma vs Ma

แจ๊ค กับ อาลีบาบานั้น เรียกได้ว่าผ่านมรสุมด้านธุรกิจมามากมาย และเนื่องจากโลกของ internet นั้นมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรงมาก เกิดบริการต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่ยุคแรกของ เว๊บไดเรคทอรี่ และเปลี่ยนมาเป็น อีคอมเมิร์ซ จากนั้นมาเป็น search engine ที่กำลังมาแรง ทุกคนก็ต่างกระโจนเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ และล่าสุดคือธุรกิจแพลตฟอร์มบน mobile ไม่ว่าจะเป็น Chat หรือ Social Network ใครสามารถครองใจลูกค้าได้มากกว่า ก็มีสิทธิ์ที่จะแย่งลูกค้าออกมาจากบริการเดิม ๆ ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่ได้ง่าย ๆ 

มันเป็นคลื่นลูกใหม่ที่เป็นรูปแบบเดียวกันทั่วโลก ที่ ใครสามารถดึงคนให้อยู่ในบริการตัวเองบนมือถือ ก็ถือว่าเป็นต่อทางด้านธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะสามารถนำเสนอบริการต่าง ๆ เข้าไปยังลูกค้าได้อย่างง่ายดายผ่านมือถือ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ติดตัวกับมนุษย์ทุกคนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

และมันนำพาให้แจ๊ค เข้าสู่สงครามของ แพล็ตฟอร์มมือถือ ซึ่งคู่ต่อสู้นั้นค่อนข้างโลว์โปรไฟล์อย่าง WeChat ของ Tencent แต่ฐานลูกค้ามีจำนวนมหาศาลมาก มันเป็นศึกใหม่ที่แจ๊คต้องมาประสบพบเจออีกครั้ง WeChat ที่กำลังมาแรงมากในขณะนั้น และมันทำให้เป็นการเผชิญกันของสองตระกูล หม่า ระหว่าง แจ๊ค หม่า และ โพนี่ หม่าเจ้าของ Tencent ผู้พัฒนา WeChat

โพนี่ หม่า แสดงให้แจ๊คเห็นโลกใหม่ในแพล็ตฟอร์มมือถือ
โพนี่ หม่า แสดงให้แจ๊คเห็นโลกใหม่ในแพล็ตฟอร์มมือถือ

สำหรับ Tencent เจ้าของ WeChat นั้น ก่อตั้งเมื่อปี 1998 โดยทีมผู้ก่อตั้งเป็นคนจีนล้วน โดยมีฐานที่มั่นอยู่ในเมืองเสิ่นเจิ้น ในช่วงแรกให้บริการเว๊บพอร์ทัลสำหรับคนจีน ก่อนจะมีผลิตภัณฑ์แรกที่สร้างชื่อให้บริษัทคือ QQ ( โดยเป็นการ copy idea มาจาก ICQ โปรแกรม chat ชื่อดังในขณะนั้น) และมีการแปลงมาเป็น WeChat หลังจากเข้าสู่ยุคของมือถือ

WeChat นั้นมีฐานลูกค้ามาจากบริการ QQ ซึ่งเป็นบริการ Instant Messenger ที่สะสมมาหลายปี มันเป็นลูกค้ากลุ่มเดิมที่ทำให้ตัวเลขของผู้ใช้ WeChat ที่ได้รับมาจาก QQ นั้นมีจำนวนมหาศาลกว่า 600 ล้านรายในขณะนั้น

WeChat ที่แปลงร่างมาจาก QQ
WeChat ที่แปลงร่างมาจาก QQ

ซึ่งแจ๊คได้ส่งบริการอย่าง Laiwang.com (ชื่อในขณะนั้น) เข้ามาสู้กับ WeChat สงครามนี้มันเริ่มมาจาก Tmall นั้นได้เริ่มลบบริการของ WeChat ออกไปจำนวนมาก โดยอ้างเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล ทาง WeChat ได้ตอบโต้กลับด้วยการปิดบัญชี taobao ของผู้ค้าบางรายที่มีการเชื่อมต่อกับ WeChat

แม้ในสายตาคนส่วนมาก Laiwang นั้นไม่สามารถเทียบได้กับ WeChat เลย เพราะ WeChat ในขณะนั้นได้ยึดครองส่วนแบ่งโดยเฉพาะในส่วนของบริการ Chat ในจีนแทบจะเบ็ดเสร็จ โดยมีบริการเสริมต่าง ๆ ภายในตัวแอป WeChat เพิ่มเติมอีกมากมาย โดยจะเน้นด้านเกมส์เป็นหลัก ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทในขณะนั้น

แจ๊คนั้นร้อนรน ถึงขนาดที่ว่า ต้องเขียนจดหมายถึงพนักงานบริษัท โดยมีใจความสำคัญในเรื่อง ความสำคัญของสงครามครั้งนี้ โดยให้พนักงานทุกคนนั้นมีส่วนร่วม ถึงขนาดว่าใครไม่เข้าร่วมก็ไม่ควรอยู่ในบริษัทนี้ต่อไปเลยด้วยซ้ำ สิ่งที่แจ๊คกำลังทำมันไม่ใช่ยุทธศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่มันคือความพยายามเพื่อให้ได้สิทธิที่อาลีบาบาจะอยู่รอดในสงครามยุค Mobile และมีการเปรียบเทียบกับสงครามครั้งเก่า ๆ ว่าขนาด ebay ซึ่งเป็นคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งมาก ๆ ในขณะนั้น ที่ไม่มีใครเคยเชื่อว่าจะเอาชนะได้ เขาก็สามารถนำอาลีบาบาเอาชนะได้สำเร็จมาแล้ว

แจ๊คส่ง Laiwang หวังจะมาสู้กับ WeChat
แจ๊คส่ง Laiwang หวังจะมาสู้กับ WeChat

ต้องบอกว่าการมาของ WeChat นั้นทำให้ ทุกอย่างที่อาลีบาบาสร้างมายาวนานนั้น ไม่มีความมั่นคงอีกต่อไป เพราะตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคของ Mobile เต็มตัว หากแพลตฟอร์มใดปรับตัวช้านั้น มีโอกาสที่จะถูกกินรวบได้เลยทีเดียว

WeChat แม้จะไม่ใช่ธุรกิจ อีคอมเมิร์ซก็ตาม แต่มีผู้ใช้กว่า 600 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใคร ๆ ก็อยากได้ จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แจ๊คเห็น ทิศทางที่น่ากลัว คือปี 2013 ในเทศกาลคนโสด นักช็อปออนไลน์ของจีนส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนการสั่งซื้อจากทางคอมพิวเตอร์ ไปเป็นสั่งซื้อผ่านทางมือถือแทนแล้ว และในยอดขายจาก 35,000 ล้านหยวนนั้น มีถึง 5,350 ล้านหยวนที่มาจากคำสั่งซื้อผ่านโทรศัพท์มือถือ และแพลตฟอร์มที่กำลังครองโลก Mobile ของประเทศจีนในขณะนั้น ก็คือ WeChat นั่นเอง

สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากตอนนั้น สมาร์ทโฟน นั้นมีวิวัฒนาการที่สมบูรณ์แล้ว และราคาของมือถือเริ่มถูกลงอย่างมาก ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของจีนนั้นสามารถเข้าถึงมือถือเหล่านี้ได้ มีบริษัทมือถือเกิดขึ้นมากมายในประเทศจีนไม่ว่าจะเป็น Xiami , VIVO , OPPO ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถผลิตมือถือจำนวนมาก ๆ ได้ในราคาย่อมเยาว์แทบจะทั้งสิ้น ทำให้ชาวจีนนั้นเปลี่ยนจากการใช้คอมพิวเตอร์มาใช้งานบนมือถือแทนในแทบทุกบริการออนไลน์ ซึ่งรวมถึงบริการทั้งหมดของอาลีบาบาด้วย

บริษัทผลิตมือถือเกิดขึ้นมากมายในประเทศจีน และแข่งขันกันอย่างดุเดือดโดยเฉพาะเรื่องราคา
บริษัทผลิตมือถือเกิดขึ้นมากมายในประเทศจีน และแข่งขันกันอย่างดุเดือดโดยเฉพาะเรื่องราคา

มันเป็นเรื่องน่ากลัว แม้ตัว WeChat นั้นจะไม่ได้ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยตรงก็ตาม แต่ WeChat กลายเป็นช่องทางหลักของข้อมูลจำนวนมหาศาลจากผู้ใช้ มันจึงเป็นที่ดึงดูดใจ ต่อลูกค้าของ taobao ที่ใช้ WeChat เป็นช่องทางหนึ่งในการสั่งซื้อสินค้า

แม้ท่าทีของ WeChat นั้นไม่ได้คุกคาม อาลีบาบาโดยตรงก็ตาม แต่แจ๊คนั้นคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้วว่า ใครสามารถคอนโทรล ต้นน้ำของข้อมูลได้ก่อน ก็มีโอกาสที่จะชนะได้ในทุกศึก ไม่เว้นแม้กระทั่งศึก อีคอมเมิร์ซเองก็ตาม แต่แม้จะส่ง Laiwang มาสู้ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเท่าที่ควร

แจ๊คนั้นพยายามพัฒนา Features เพื่อลอกเลียนแบบ WeChat แทบจะทุกอย่างให้กับ Laiwang โดยกว่า 80% ของโปรแกรมนั้นแทบจะเลียนแบบมาจาก WeChat เลยก็ว่าได้ มีต่างกันนิดหน่อยในเรื่องของ concept ของการเป็นเพื่อนกัน ที่ดูเหมือน Laiwang นั้นจะมองความสัมพันธ์ของผู้ใช้งานน้อยกว่า WeChat

Laiwang นั้นแทบจะโคลนทุกอย่างของ WeChat มาด้วยซ้ำ
Laiwang นั้นแทบจะโคลนทุกอย่างของ WeChat มาด้วยซ้ำ

Laiwang นั้นไม่มีความคิดที่จะทำให้ลูกค้าของ taobao กลายเป็นลูกค้าของตนเอง หากแต่ต้องการสร้างตัวตนใหม่ให้หลุดจากภาพเดิม ๆ ของอีคอมเมิร์ซ ให้มองมันเป็นแพลตฟอร์มด้าน Social media ล้วน ๆ 

แจ๊คไม่เพียงเป็น พรีเซ็นเตอร์ให้ Laiwang ด้วยตนเองเท่านั้น เขายังเชิญเหล่ามิตรสหายของเขาทั้งหลายมาช่วยโฆษณาให้ Laiwang อีกด้วย เขาแจ้งให้พนักงานในเครือของเขาให้หันมาใช้ Laiwang และเพิ่มภารกิจให้ชวนเพื่อนมาอีก 100 คนมาช่วยใช้งาน Laiwang พนักงานทุกคนต้องลงทะเบียน Laiwang ไม่อย่างงั้นมีโอกาสที่จะอดโบนัสปลายปีได้ ซึ่งแม้จะพยายามทำทุกวิถีทางอย่างไรก็ดี มันก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่ผูกติดกับบริการของ WeChat ได้แล้ว

แต่มันเป็นสิ่งที่แจ๊คต้องทำ เพราะเขาสู้มาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งรูปแบบใด นั้นเขาไม่เคยที่จะยอมแพ้ ซึ่งแม้สุดท้าย Laiwang ของแจ๊ค นั้นจะแพ้อย่างราบคาบให้กับ WeChat แต่มันทำให้เห็นจิตวิญญาณของนักสู้ของแจ๊ค ที่เริ่มมองเห็นภัยคุกคามที่กำลังคืบคลานเข้ามา มันเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ และจิตวิญญาณนักสู้ของแจ๊คที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งอาลีบาบา

ตอนหน้าจะเป็นตอนสุดท้ายของ Series ชุดนี้แล้วนะครับ โปรดติดตามตอนจบของ Series และบทสรุปสุดท้ายของชายที่ชื่อ Jack Ma ครับผม

–> อ่านตอนที่ 19 : Retirement (ตอนจบ)

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 17 : Singles’Day 11.11

แม้การควบรวมกับ YAHOO นั้นจะดูเหมือนเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด แต่ตลาดการค้นหาในประเทศจีน นั้นดูเหมือนจะไม่เจริญรอยตามประเทศตะวันตก บริการเหล่านี้ แม้จะทำรายได้สูง แต่ถ้าเทียบกับธุรกิจ อีคอมเมิร์ซในประเทศจีนแล้วนั้น ถือว่ายังห่างชั้นอยู่มาก ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็ไม่ทบต่อรายได้ของอาลีบาบามากนัก

แถม google นั้นก็ต้องถอนตัวออกจากตลาดจีน เนื่องจากปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์ข้อมูลผลการค้นหาของรัฐบาลจีน ที่สุดท้ายตกลงกันไม่ได้ ทำให้เว๊บไซต์ของ google จีนนั้นต้องปิดตัวลงไป โดยย้ายมาอยู่ที่ฮ่องกงแทนในที่สุด

และเหมือนคนที่โชคดีกว่าใครเพื่อนน่าจะเป็น Baidu ที่แทบจะครองตลาด 100% ของตลาดการค้นหาในจีน แต่จีนไม่เหมือนโลกตะวันตก โมเดลการทำเงินจากโฆษณาผลการค้นหานั้น ดูจะไม่ค่อยเข้ากับวัฒนธรรมจีน ทำให้ Baidu ไม่ได้เติบโตอย่างที่คิด แม้จะครองส่วนแบ่งการตลาดแบบแทบเบ็ดเสร็จแล้วก็ตาม

ตลาด internet จีนกลายเป็นตลาด อีคอมเมิร์ซ ทั้ง B2B ที่ อาลีบาบาเป็นเจ้าตลาด รวมถึง C2C ที่ taobao สามารถที่จะยึดครองได้แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งหลังจากยุทธศาสตร์ taobao สำเร็จแล้วนั้น การทำ โลจิสติกส์ ขนาดใหญ่ก็อยู่ในความคิดของแจ๊คมาโดยตลอด

แจ๊ค ได้ทำการร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่ 4 แห่งของจีน เพื่อสร้าง China Network Technology (CSN) ขึ้นมาและร่วมกันก่อตั้ง Cainiao Network Technology Co.,Ltd โดยให้แจ๊คเป็นประธานกรรมการ เป้าหมายคือ ลูกค้าทุกหนแห่งใน 2,000 เมืองทั่วประเทศจีน จะสามารถรับสินค้าได้ภายใน 24 ชั่วโมง

สร้าง Cainiao ขึ้นมาเป็นเครือขายโลจิสติกส์ รองรับปริมาณ order จำนวนมหาศาล
สร้าง Cainiao ขึ้นมาเป็นเครือขายโลจิสติกส์ รองรับปริมาณ order จำนวนมหาศาล

ไม่เพียงแค่ โลจิสติกส์ ปัญหาใหญ่อีกอย่างใน taobao คือบรรดาสินค้าปลอมต่าง ๆ ที่ระบาดอย่างหนักในเว๊บ ทำให้แจ๊คต้องสร้าง แพลตฟอร์ม Tmall ขึ้นมาเพื่อทำการซื้อขายสินค้าที่เป็น premium มากขึ้น เหล่าสินค้า Brand Name ต่าง ๆ จากต่างประเทศล้วนมาเป็น official shop ที่ Tmall และได้สร้างยอดขายจำนวนมหาศาลแบบที่ไม่เคยพบเจอที่ไหนมาก่อนผ่าน แพลตฟอร์มใหม่อย่าง Tmall

สร้าง Tmall ใหม่ขึ้นมาให้ดู Premium ขึ้นมี Brand Name ชื่อดังเข้ามาขาย
สร้าง Tmall ใหม่ขึ้นมาให้ดู Premium ขึ้นมี Brand Name ชื่อดังเข้ามาขาย

Singles’Day 11.11

สำหรับแจ๊คนั้น ปาฏิหาริย์ ได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และ หนึ่งในปาฏิหาริย์ที่สำคัญที่ทำให้วงการอีคอมเมิร์ซจีนนั้นได้ทำลายทุกสถิติยอดขายในโลกอีคอมเมิร์ซ คือ วันคนโสดจีน หรือ วันที่ 11 เดือน 11 นั่นเอง

ในวันที่ 11 ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2013 มันเป็นช่วงเวลาแห่งการนับถอยหลังสู่หลักไมล์ที่สำคัญของ อาลีบาบา และ แจ๊ค หม่า ในเวลา 00.01  ยอดซื้อขายของผ่าน Alipay คือ 116,896,436 หยวน ซึ่งสามารถทำยอดซื้อขายทะลุร้อยล้านหยวนภายในนาทีเดียวได้เป็นที่เรียบร้อย จำนวน transaction ที่เกิดขึ้นสูงถึง 339,200 ครั้ง และตั้งแต่นาทีแรกของวันคนโสดนั้นมีคนเข้าไปใช้งาน Tmall สูงถึง 13.7 ล้านคน และเพียง 5 นาที ยอดก็พุ่งทะลักไปถึง 1,000 ล้านหยวน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2012 ในปีก่อนหน้านั้น มันพุ่งเร็วขึ้นถึง 7 เท่าตัว

ในที่สุดพอหมดวันที่ 11/11 ของเทศกาลคนโสด ยอดซื้อขายตลอดทั้งวันก็ประกาศออกมาว่าสามารถทำยอดซื้อขายไปได้ถึง 35,000 ล้านหยวน เพิ่มจาก 19,100 ล้านหยวนในปี 2012  ถึง 83% ซึ่งถ้าเทียบกับทางฝั่งอเมริกา อย่างเทศกาล Cyber Monday นั้น เทศกาลคนโสดจีนมียอดการซื้อขายสูงกว่าถึง 3 เท่า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่ใช่น้อย

ทิ้งห่าง เทศกาล Cyber Monday ของอเมริกาแบบเทียบไม่ติด
ทิ้งห่าง เทศกาล Cyber Monday ของอเมริกาแบบเทียบไม่ติด

วันที่ 11 เดือน 11 หรือที่เรียกกันว่า วันคนโสด นั้น เดิมทีเป็นคำล้อเลียนตนเองของหนุ่มสาวในเมือง วันหนึ่งแจ๊คได้ยินพนักงานอายุน้อยสองคนคุยกัน คนหนึ่งถามว่าวันคนโสดจะทำอะไร อีกคนตอบประชดตัวเองว่า ต้องกินอยู่คนเดียวเพราะเป็นคนโสด แต่ก็อยากให้รางวัลตัวเองบ้าง ด้วยการไปกินไปเที่ยวให้หนำใจ

แจ๊คฟังแล้วเห็นถึงโอกาสที่อยู่เบื้องหน้าจากการฟังคำประชดประชันเหล่านี้ การให้รางวัลกับตัวเองก็หมายถึงการต้องบริโภค การใช้จ่ายของคู่รักนั้นเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองมานานแสนนานแล้ว ไม่งั้นจะมีเทศกาลวันวาเลนไทน์ของฝรั่ง หรือ เทศกาลวันแห่งความรักของจีนไปเพื่ออะไร มันเกิดมาเพื่อให้จับจ่ายซื้อของนั่นเอง 

แต่แจ๊คคิดสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยจะไม่ขายให้เหล่าคู่รักที่มีเทศกาลอยู่มากพอแล้ว แต่จะทำการขายให้กับคนโสด ซึ่งเป็นไอเดียที่แจ๊คคิดว่ามีความเป็นไปได้ และได้เริ่มลองปรึกษากับคณะที่ปรึกษาของเขาในบริษัท

จากไอเดียเล็ก ๆ ของแจ๊ค จนกลายเป็นเทศกาลช็อปปิ้งใหญ่ประจำปีของชาวจีน
จากไอเดียเล็ก ๆ ของแจ๊ค จนกลายเป็นเทศกาลช็อปปิ้งใหญ่ประจำปีของชาวจีน

มีทั้งผู้ที่สนับสนุนไอเดียนี้ของแจ๊ค และมีอีกส่วนหนึ่งที่คัดค้าน สุดท้ายทีมงานของ อาลีบาบา ก็จึงได้จัดการทดลอง โดยเริ่มในวันที่ 11/11 ปี 2009 แม้ตอนนั้นจะมีพ่อค้าแม่ค้าเพียง 27 รายที่ร่วมกิจกรรม แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ มีการซื้อขายสินค้าในวันนั้นไปกว่า 50,000 รายการในวันเดียว ซึ่งทีมงานทุกคนจึงรู้สึกว่าวันนี้มีศักยภาพ ที่จะจัดให้เป็นเทศกาลช็อปปิ้งใหญ่ได้ และในที่สุด เทศกาลช็อปปิ้ง วันคนโสด จึงได้ถูกใช้อย่างเป็นทางการในเว๊บไซต์ taobao เป็นที่แรก

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่แนวคิดเพียงชั่ววูบของแจ๊คเท่านั้นที่มาสนับสนุนเทศกาลใหญ่อย่างเช่นวันคนโสด จากการวิจัยทางด้านจิตวิทยาการบริโภคนั้นพบว่า เมื่อคนเรามีปัญหาทางอารมณ์ระดับหนึ่ง เช่นรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาเป็นต้น มักมีแนวโน้มจะซื้อของที่ตนเองไม่ได้ต้องการเพื่อชดเชย ซึ่งผู้ซื้อที่ตกอยู่ภายใต้จิตวิทยาการบริโภคเช่นนี้นั้นย่อมถูกชักจูงได้ง่าย ซึ่งการจัดเทศกาลช็อปปิ้ง วันคนโสดของ taobao นั้น ได้เสนอเหตุผลที่ดีที่สุดในการซื้อให้แก่ผู้บริโภค และผู้บริโภคเองก็ทำตัวสอดรับกับแนวคิดของแจ๊คพอดี

คนโสดมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าที่ตัวเองไม่ได้ต้องการเพื่อมาชดเชยบางสิ่งบางอย่าง
คนโสดมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าที่ตัวเองไม่ได้ต้องการเพื่อมาชดเชยบางสิ่งบางอย่าง

ซึ่งหลังจากปี 2009 นั้นสำเร็จลงด้วยดี แจ๊คจึงได้จัดเป็นเทศกาลใหญ่ขึ้นในปี 2010 และ 2011 ยอดขายก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 35,000 ล้านหยวน ในปี 2013 มันเป็นความสำเร็จที่สำคัญจาก ไอเดียเล็ก ๆ ของแจ๊คอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งสิ่งที่แจ๊คทำนั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อ อาลีบาบาของเขาเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยรวมต่อ ecosystem ทั้งหมดของอีคอมเมิร์ซในจีน แจ๊คทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น ทำให้ทุกคนได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งของเขาเองก็ตามที

มันคือสัญญาณแห่งการเปลี่ยนโฉมของเศรษฐกิจจีน และจะเป็นศึกใหญ่ระหว่างเศรษฐกิจใหม่ โมเดลการทำธุรกิจแบบใหม่ กับ รูปแบบธุรกิจแบบเดิม ๆ  ซึ่งมันส่งผลให้พ่อค้าแม่ขายที่ใช้ แพลตฟอร์มได้รู้ว่า วันนี้นั้นทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว และรูปแบบของการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซมันจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

ต้องบอกว่าเรื่องของวันคนโสด หรือ 11/11 นั้นหลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นปาฏิหาริย์ แต่ต้องยอมรับว่ามันเป็นการทดลองของแจ๊คและทีมงาน ในการพยายามพิสูจน์ความคิดของเขา กว่าที่จะได้ยอดขายสูงขนาดนี้ในวันเดียว  การที่จะรองรับจำนวน order มหาศาลขนาดนี้ได้ ทุกส่วนต้องทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ระบบบนหน้าเว๊บในการสั่งซื้อที่มีคนเข้ามานับ 10 ล้านคนต่อนาที ไปจนถึง ระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ที่ต้องส่งสินค้าจำนวนมหาศาลไปยังลูกค้าให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันคนโสดจีนนั้น มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่เกิดจากโชคชะตาเพียงอย่างเดียวแน่นอน แต่มันเกิดจากมันสมอง และหยาดเหงื่อแรงกายจากแจ๊ค และทีมงานแทบจะทั้งสิ้น

–> อ่านตอนที่ 18 : Ma vs Ma

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 16 : Search Wars

แจ๊ค หม่า เริ่มต้นธุรกิจออนไลน์แรก คือ ไชน่าเพจเจส ซึ่งเป็นธุรกิจ เว๊บไดเรคทอรี่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจาก YAHOO เมื่อครั้งได้เห็น internet ครั้งแรกที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา ในตอนนั้นความฝันสูงสุดของแจ๊ค ก็คือ การสร้าง ไชน่าเพจเจส ให้กลายเป็น YAHOO ของประเทศจีน แต่แล้วก็ไม่สามารถทำได้อย่างที่เขาหวัง

ทั้งแจ๊ค หม่า , มาซาโยชิ ซัน และ เจอร์รี่ หยางผู้ก่อตั้ง YAHOO นั้นต้องเรียกได้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเป็นอย่างมาก มาซาโยชิ ก็ได้ลงทุนไปเป็นจำนวนมากกับ YAHOO รวมถึงการสร้าง YAHOO Japan ให้กลายเป็นบริการที่นิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เจอร์รี่ หยาง กับ แจ๊ค หม่านั้นก็เป็นไปด้วยดีตั้งแต่ที่แจ๊ค อาศัยเป็นไกด์ให้กับ เจอร์รี่ ในการเยือนจีนครั้งแรก ๆ ซึ่งก็ต้องเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามคน

ความสัมพันธ์กับ เจอร์รี่ หยาง แน่นแฟ้น ตั้งแต่เมื่อครั้งเยือนจีนครั้งแรก
ความสัมพันธ์กับ เจอร์รี่ หยาง แน่นแฟ้น ตั้งแต่เมื่อครั้งเยือนจีนครั้งแรก

หลังจากจบศึก อีคอมเมิร์ซ ระหว่าง taobao กับ ebay นั้น โลก internet ก็กำลังมีบริการใหม่ที่กำลังแจ้งเกิดอย่างรวดเร็วและแพร่หลายไปทั่วโลก นั่นก็คือ search engine ถ้าย้อนไปในขณะนั้นก็ต้องบอกว่า google ก็ถือเป็นอับหนึ่งในเรื่อง search engine แต่ YAHOO ก็มี search engine ที่ไม่เลวเลยทีเดียวในขณะนั้น ถ้าเทียบขุมกำลังกันในตอนนั้น google ยังทิ้งห่าง YAHOO ไม่มากนัก ส่วนในจีนนั้นมี Baidu ที่กำลังครองตลาดอยู่ เพราะเน้นการค้นหาภาษาจีนเป็นหลัก

สำหรับ internet ในประเทศจีนนั้น โมเดลจากการทำรายได้จากการ search และการโฆษณานั้น ดูจะล้าหลังกว่าประเทศตะวันตกอยู่มาก สิ่งที่ทำรายได้สูงสุดของวงการ internet ของโลกตะวันตกนั้นก็คือ โฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้า หรือ โฆษณาแบรนด์ก็ตาม เป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลมาก

เพราะฉะนั้น แจ๊ค จึงต้องเริ่มคิดถึงยุทธศาสตร์ต่อไปของอาลีบาบา โดยมีแนวความคิดที่จะขอซื้อ YAHOO ประเทศจีน มันเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ด้าน internet ล้วน ๆ เพราะถ้าเทียบกับ google หรือ Baidu ที่เป็นจีนแท้ ๆ ก็ตาม แต่ดูเหมือน YAHOO ประเทศจีนนั้นดูจะมีวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงค่านิยมต่าง ๆ ใกล้เคียงกับ อาลีบาบามากกว่าใครเพื่อน

ยักษ์ใหญ่อย่าง google กำลังจะเข้ามาตีตลาดจีนในขณะนั้น
ยักษ์ใหญ่อย่าง google กำลังจะเข้ามาตีตลาดจีนในขณะนั้น

และเช่นเดียวกันฝั่ง YAHOO นั้น เจอร์รี่ หยาง ก็คิดถึงการร่วมมือกันระหว่าง YAHOO ประเทศจีน กับ อาลีบาบาด้วยเหมือนกัน เพราะความเป็นมิตรภาพที่สำคัญระหว่าง เจอร์รี่กับแจ๊ค ด้วยแล้วนั้น ก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะง่าย

แต่ปัญหาใหญ่คือ ตอนนั้น เจอร์รี่ ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง CEO ของ YAHOO แล้วโดยหน้าที่ในขณะนั้นเขาไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารบริษัทอีกแล้ว ตอนนั้น เทอร์รี่ ซีเมล ดำรงตำแหน่ง CEO ของ YAHOO อยู่ ซึ่งทั้ง ซีเมล และ กรรมการนั้น ก็ยังตัดสินใจอยู่ว่าจะทำอย่างไรกับทิศทางของ YAHOO ประเทศจีน เพราะศึก Search Engine กำลังคืบคลานเข้ามาแล้วจาก Google ที่กำลังจะบุกตลาดจีน

แต่ตัวเร่งการตัดสินใจจริง ๆ น่าจะมาจาก ebay เจ้าเก่า ซึ่งอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เนื่องจากความพ่ายแพ้ต่อ taobao ในตลาด C2C ดังนั้นจึงได้ยื่นข้อเสนอที่จะร่วมมือกับอาลีบาบาเลยด้วยซ้ำ โดยราคาที่ ebay เสนอนั้นมีมูลค่าสูงกว่าที่ YAHOO เสนอเสียด้วย

ซึ่งข่าวลือเรื่อง ebay นี่เอง ที่ทำให้ YAHOO เกิดแรงกดดันขึ้น และเรื่องเวลาก็บีบคั้นให้พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนักในการตัดสินใจ ซึ่งหลังจากการหารือสั้น ๆ ในหมู่คณะกรรมการของ YAHOO แล้วนั้น พวกเขาก็เห็นชอบกับการตกลงตามเงื่อนไขใหม่อย่างรวดเร็ว

โดยสรุปก็คือ อาลีบาบานั้นได้ซื้อกิจการของ YAHOO สาขาประเทศจีนรวมทั้งทรัพย์สิน ซึ่งได้แก่ ลูกค้าของ YAHOO , Search Engine ของ YAHOO , เว๊บไซต์น้องใหม่อย่าง IM3721 ตลอดจนทรัพย์สินทุกอย่างของ YAHOO บนเว๊บไซต์การประมูล

และในขณะเดียวกันบริษัท YAHOO สาขาใหญ่ที่อเมริกา ได้ตกลงทุ่มทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้อาลีบาบา และจะเป็นผู้ลงทุนทางด้านยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ อาลีบาบา โดย YAHOO จะได้รับหุ้น 40% จากอาลีบาบา โดยในบอร์ด อาลีบาบา จะมีสองที่นั่ง , YAHOO มีหนึ่งที่นั่ง และ ซอฟต์แบงค์อีกหนึ่งที่นั่ง ซึ่งนี่เป็นการควบรวมกิจการที่ซับซ้อน และ เป็นการรวมกิจการครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ internet ของประเทศจีน

สุดท้ายก็ควบรวมกันได้สำเร็จ
สุดท้ายก็ควบรวมกันได้สำเร็จ

แม้ช่วงแรกของการควบรวมกิจการนั้นจะทำให้พนักงาน YAHOO สาขาประเทศจีนนั้นตื่นตระหนกอยู่บ้าง แต่แจ๊ค ก็ใช้เวลาไม่นานในการซื้อใจพนักงาน YAHOO เหล่านี้ เพื่อรั้งตัวพวกเขาไว้ไม่ให้ย้ายไปอยู่กับคู่แข่งอื่น ๆ 

เรื่อง search engine นั้นเป็นยุทธศาสตร์หลักของแจ๊ค ที่เป็นที่มาของการควบรวมกับ YAHOO สาขาประเทศจีน เพราะทาง อาลีบาบา นั้นแทบจะไม่มี know-how ทางด้าน search engine เลย

ถึงตอนนี้ google ได้บุกทะลวงมาถึงประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว และสามารถยึดครองตลาดไปได้อย่างรวดเร็วถึง 45% ส่วน Baidu เจ้าถิ่นนั้นครองไว้ที่ 47% แต่ YAHOO ที่เป็นผู้คิดค้น search engine ที่เก่าแก่ที่สุดกลับเหลือส่วนแบ่งการตลาดเพียง 8% เท่านั้น

Baidu ยังครองส่วนแบ่งการตลาดไว้อย่างเหนียวแน่น
Baidu ยังครองส่วนแบ่งการตลาดไว้อย่างเหนียวแน่น

แจ๊คได้เริ่มเข้ามาผ่าตัดองค์กร YAHOO มากมาย มีการตัดกิจการทิ้งมากมาย รวมถึงกิจการที่เคยเป็นหัวใจหลักของ YAHOO ในอดีตก็ไม่เว้น

เดิมทีนั้นรายได้จำนวนมากของ YAHOO มาจากการโฆษณาของเหล่าเว๊บโป๊ และผลิตภัณฑ์ที่ผิตกฏหมาย มันเป็นเครื่องปั๊มเงินให้ YAHOO กว่าปีละ 8 ล้านหยวน แต่แจ๊คก็ฟังทุกอย่างทิ้งหมด เปลี่ยนระบบการติดตั้งซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ของ YAHOO ที่เดิมนั้นเป็นแบบบังคับให้ install เป็นแบบให้ลูกค้าสมัครใจเลือกเอง 

รวมถึง ได้เข้ามาเร่งเครื่องปรับปรุง YAHOO ใหม่ โดยแปลงโฉมเว๊บใหม่ที่ทำแต่เรื่อง Search Engine โดยเฉพาะ และมันก็กลายเป็นหน้าเว๊บง่าย ๆ คล้าย  ๆ กับ google และ Baidu ไปในที่สุด

ปรับ yahoo ใหม่เพื่อต่อกร google , Baidu
ปรับ yahoo ใหม่เพื่อต่อกร google , Baidu

จากนั้นแจ๊ค ก็ได้ทุ่มทุนมหาศาลให้กับการโฆษณาการ Search ของ YAHOO ทั้งโฆษณาทาง TV มีการว่าจ้างผู้กำกับชื่อดังมาทำภาพยนต์โฆษณาให้กับ YAHOO แต่หลังจากแจ๊คได้ ผลาญเงินไปมหาศาล เขาก็ได้พบความจริงที่น่าหดหู่ว่า ค่าโฆษณามหาศาลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะดึงดูดลูกค้าได้เลยด้วยซ้ำ เหล่านัก Search ไม่ได้เปลี่ยนจาก Baidu หรือ Google มาใช้ YAHOO แต่อย่างใด

ดูเหมือนว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของแจ๊คนั้น จะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการไปควบรวมกิจการกับ YAHOO ประเทศจีน มันทำให้สถานการณ์ของแจ๊คนั้นแย่ลงไปไม่น้อย เนื่องจากเทคโนโลยีการ search ของ YAHOO นั้นดูจะสู้ผู้นำตลาดอย่าง Google หรือ Baidu ไม่ได้ด้วยซ้ำ จากยุทธศาสตร์ที่จะควบรวมเพื่ออนาคตที่ยิ่งใหญ่ต่ออาลีบาบา นั้น ดูเหมือนตอนนี้ มันจะเริ่มสร้างปัญหาให้กับแจ๊ค และ อาลีบาบาบ้างแล้ว แจ๊ค จะทำอย่างไรต่อไป กับสถานการณ์ของบริษัทที่เกิดขึ้น โปรดติดตามตอนต่อไป

–> อ่านตอนที่ 17 : Singles’Day 11.11

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 12 : Business Reforms

สำหรับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ดอทคอมแล้วนั้น ช่วงปี 2000 นั้นถือว่าเป็นปีที่สาหัส สำหรับทุก ๆ คน ทุกบริษัทกับเผชิญกับอันตรายกับการล้มพังพินาศได้ หากทำอะไรที่ผิดพลาดไปในช่วงนี้ มันคือหายนะกับบริษัทดี ๆ นี่เอง เพราะตอนนี้ไม่เหลือทุนให้ผลาญเล่นเหมือนในอดีตอีกต่อไป นักลงทุนทั้งหมดกำกระเป๋าตัวเองไว้แน่นไม่ยอมให้ทุนกับบริษัท internet อีกต่อไป

อาลีบาบา แม้จะทำการปลดพนักงานขนานใหญ่ไปแล้ว  แต่ก็ตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงอยู่เหมือนกัน เดิมทีนั้นกำลังมีแผนเพิ่มทุนอีกรอบ แต่ตอนนี้ไม่มีนักลงทุนผู้ใดกล้าเสี่ยงกับธุรกิจ internet ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

ซึ่งไม่ใช่แค่ไม่ลงทุนเพิ่มเพียงเท่านั้น เหล่านักลงทุนนั้นเตรียมจะถอนทุนออกไปด้วยซ้ำเพื่อเปลี่ยนมันเป็นเงินสด คือครองไว้ ดูจะปลอดภัยกว่าในสถานการณ์ขนาดนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่า อาลีบาบา ก็เหมือนบริษัทอื่น ๆ ใน internet เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีผู้สนับสนุนเงินมาตั้งแต่แรก อาลีบาบาคงไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ในช่วงฟองสบู่ ดอทคอม แตกเป็นเสี่ยง ๆ เช่นนี้

ตลาด internet กำลังอยู่ในช่วงขาลงหลังฟองสบู่ดอทคอมแตก
ตลาด internet กำลังอยู่ในช่วงขาลงหลังฟองสบู่ดอทคอมแตก

แจ๊คต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้อาลีบาบา อยู่รอดต่อไปได้ นอกจากการเลิกจ้างงานครั้งใหญ่ รวมถึงปิดศูนย์ R&D ที่ ซิลิกอน วัลเลย์ มันต้องมากกว่านั้น ทำเพียงแค่นี้ ยังไม่สามารถทำให้อาลีบาบารอดได้

Business Reforms

แจ๊คจึงต้องคิดแผนเพื่อให้อาลีบาบารอด โดยกำหนด ยุทธศาสตร์ ไว้ สามอย่างคือ หนึ่ง การปรับปรุงการทำงาน สองการเพิ่มการฝึกอบรมให้กับพนักงาน และสุดท้าย คือ การเพิ่มการหารายได้

การปรับปรุงการทำงาน

การปรับปรุงการทำงาน คือ การปลูกฝังค่านิยมให้กับพนักงาน ซึ่งสถานการณ์ในขณะนั้น ในทีมงานของอาลีบาบามีปัญหาที่สาหัสมาก คือ ความกระตือรือร้นของพนักงานไม่เหมือนแต่ก่อน รวมถึงขวัญกำลังใจของพนักงานไม่เหมือนเดิมแล้ว

อาลีบาบาในตอนนี้ ต้องการขุมกำลังที่บ้าคลั่ง ซึ่งความบ้าคลั่งนี้ต้องบ้าแบบเข้ากระดูกถึงสายเลือด และต้องลงไปสู่การปฏิบัติ ไม่ใช่มีแต่คำพูดที่โก้หรูของค่านิยมที่ติดตามฝาผนังของบริษัทส่วนใหญ่

การปลุกฝังค่านิยมให้กับพนักงานใหม่ในรอบนี้ ได้นำเอาประสบการณ์ของกวานเหมิงเซิง ที่เคยใช้ที่ GE โดยจัดทำค่านิยมเป็นการ์ดใส่ไว้ในกระเป๋าของพนักงาน และเป็นการทำให้ค่านิยมหยั่งรากลึกลงไปในจิตใจ และสายเลือดของพนักงาน และที่สำคัญยังใช้ค่านิยมเหล่านี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือวัด KPI ของพนักงานด้วย

การเพิ่มการฝึกอบรม

การฝึกอบรมนั้นเริ่มเตรียมการเมื่อต้นปี 2001 และเริ่มอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

การฝึกอบรมนั้นเริ่มจากระดับหน้างาน จากนั้นขยับไปสู่ระดับกลางและระดับสูง โดยมีผู้อบรบนั้นเป็นที่ปรึกษาระดับสูงของบริษัท รวมถึงการจ้างวิทยากรจากภายนอกที่มีชื่อเสียงเข้ามาอบรมให้กับพนักงานอาลีบาบา

เพิ่มการอบรมให้กับพนักงานโดยใช้มืออาชีพเข้ามาช่วย
เพิ่มการอบรมให้กับพนักงานโดยใช้มืออาชีพเข้ามาช่วย

และส่วนสำคัญที่สุดของการอบรมครั้งนี้คือ พนักงานขาย เพราะพวกเขาเป็นแนวหน้าในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท แรกเริ่มเดิมทีนั้นพนักงานขายในยุคแรก ๆ ของอาลีบาบานั้น เป็นทีมที่ตั้งขึ้นมาชั่วคราวจากเหล่าบรรดาผู้บุกเบิกยุคแรก ๆ มีไม่กี่คนที่จบด้านการขายมาโดยตรง แต่กลุ่มคนแรก ๆ เหล่านี้จะเข้าใจผลิตภัณฑ์อาลีบาบาอย่างลึกซึ้งที่สุด ขาดเพียงอย่างเดียวคือความรู้ในการขาย ซึ่งการเพิ่มการฝึกอบรมในจุดนี้ ก็จะทำให้ทีมขายของอาลีบาบาแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

การฝึกอบรมเหล่านี้จะทให้พนักงานที่โตมาทางด้านเทคนิค หรือ การขายรู้จักการบริหารงานแบบสมัยใหม่ รู้จักการใช้เครื่องมือใหม่ ๆ มาช่วยเหลือในการทำงาน  และที่สำคัญมันยังสอดแทรกให้พนักงานเห็นพ้องกับค่านิยมของอาลีบาบาด้วย

การเพิ่มการหารายได้

มกราคม ปี 2001 หลังจากได้ขุนทัพอย่าง กวานหมิงเซิงมาคุมตำแหน่ง COO ของบริษัทแล้วนั้น นอกจากการลงมือปลดพนักงานเพื่อหยุดรายจ่ายแล้ว เขายังเสนอการเพิ่มรายได้ และได้รับความเห็นชอบจากแจ๊คตลอดจนบรรดาผู้บริหารระดับสูงทันที

การหยุดรายจ่ายนั้นทำไม่ยาก เพียงแค่ปลดพนักงานออก ลดพนักงาน แค่ไม่กี่เดือนก็สามารถบรรลุภารกิจนี้ได้ แต่การเพิ่มรายได้ เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับวิธีการหากำไรของอาลีบาบา และเริ่มมีการกำหนดโมเดลการทำกำไร และปรับตัวผลิตภัณฑ์หลัก และเริ่มสร้างทีมขายที่เริ่มแข็งแกร่งขึ้นจากการฝึกอบรม และเริ่มเข้าสู่สงครามใหม่ในการเผชิญหน้ากับเว๊บพ่อค้าขายส่งจีน อย่าง 1688.com ซึ่งนี่เป็นหัวใจหลักของยุทธศาสตร์ใหม่อาลีบาบาอย่างรวดเร็ว

1688 เดิมเป็นคู่แข่งสุดท้ายก็ถูก take over มาอยู่ใน อาลีบาบา กรุ๊ป
1688 เดิมเป็นคู่แข่งสุดท้ายก็ถูก take over มาอยู่ใน อาลีบาบา กรุ๊ป

ปรับ Model สู่พ่อค้าขายส่ง

ในเดือนธันวาคมปี 2001 เป็นเดือนแรกที่อาลีบาบาสามารถทำกำไรได้สำเร็จ แม้ตลอดทั้งปี 2001 จะขาดทุนก็ตาม แต่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี สำหรับอนาคตของอาลีบาบา ที่ได้เริ่มเจอทิศทางที่จะทำกำไรได้แล้ว

ปี 2002 นั้นแจ๊คตั้งเป้าหมายให้เป็นปีที่ อาลีบาบา ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็คือการไม่ขาดทุนนั่นเอง ซึ่งตั้งเป้าหมายให้อาลีบาบา กำไรแค่ 1 หยวน แจ๊คได้เริ่มค้นพบแหล่งสร้างได้แห่งใหม่ เขาทำนายไว้ว่า ประเทศจีนในอนาคต จะเป็นโรงงานของโลก

การทำนายของแจ๊ค ไม่ได้มโนคิดขึ้นมาแบบมั่ว ๆ แต่มันมีเหตุผลมาจาก ในวันที่ 11 ธันวาคม 2001 ประเทศจีนได้กลายเป็นสมาชิกของ WTO ได้อย่างเป็นทางการ

จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่คือ จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างเป็นทางการ
จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่คือ จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างเป็นทางการ

และมันเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของพ่อค้าขายส่ง จำนวนมากในเว๊บไซต์ อาลีบาบา ซึ่งเป็นที่ต้องการของเหล่านักธุรกิจ SME ที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของวงจรธุรกิจนี้ และมันทำให้กลายเป็นโมเดลใหม่ของการบริการทางธุรกิจ มันกำลังจะกลายเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่มหาศาล ที่แจ๊คสร้างมาสำหรับให้บริการคนทั่วโลก

ในตอนนั้นทั่วทั้งโลกยังไม่มีบริษัทใด ที่ให้บริการแบบนี้ และที่สำคัญ อาลีบาบายังอยู่ในที่ตั้งของจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโรงงานโลกคือประเทศจีน 

เขาได้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมรายปีจากบรรดาผู้ค้าส่งรายละประมาณ 40,000 – 60,000 หยวนตามประเภทของสมาชิก ซึ่งแลกกับการได้ประกาศข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตลอดจนลงรูปภาพสินค้า และอาลีบาบา จะช่วยเหลือในการนำไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศให้ด้วย และยังมีบริการจับคู่ผู้ซื้อกับผู้ขาย

และมีโมเดลการโฆษณา ในผลการค้นหา หากต้องการอยู่ลำดับบน ๆ เพื่อให้ได้ลูกค้ามากขึ้นก็ต้องเสียเงินมากขึ้น คล้าย ๆ รูปแบบการ Bid โฆษณาของ search engine ชื่อดังอย่าง Google 

เพิ่มช่องทางการหาเงินในทุกส่วนของ เว๊บไซต์
เพิ่มช่องทางการหาเงินในทุกส่วนของ เว๊บไซต์

รวมถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในหน้าเว๊บไซต์ นั้นก็เป็นแหล่งขุมทรัพย์ของอาลีบาบา ทั้งสิ้น เพราะหากเหล่าพ่อค้าขายส่งต้องการให้ร้านของตัวเองแสดงในที่เด่น ๆ ของเว๊บไซต์ ก็ต้องทำการเสียเงินให้อาลีบาบา ซึ่งยิ่งตำแหน่งที่สะดุดตามากเท่าไหร่ ก็ต้องเสียเงินมากขึ้นเท่านั้น กลายเป็นสงครามการแย่งชิง พื้นที่ ของเหล่าพ่อค้าขายส่งเหล่านี้ เพราะพวกเขาพร้อมที่จะทุ่มเพื่อให้หน้าร้านเขาสะดุดตาที่สุด เพราะมันคุ้มค่ากับการขายส่งเมื่อได้รับ order จากลูกค้าใหญ่ ๆ ซึ่งมักจะสั่งในปริมาณมาก ๆ  

หลังจากปรับโมเดลสู่พ่อค้าส่งเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น แจ๊คและทีมก็ได้ปรับบริการเรื่องหลังการขาย โดยจะทำการเก็บสถิติต่าง ๆ และมีการจัดหลักสูตรอบรมให้เหล่าธุรกิจค้าส่งเพื่อใช้เครื่องมือของอาลีบาบาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึัน

แม้ปัญหาจากฟองสบู่ดอทคอมยังไม่เห็นวี่แวว ว่ามันจะสิ้นสุดที่ตรงไหน ตลาดหุ้นแนสแด็กก็ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ในขณะนั้น แต่ตอนนี้ อาลีบาบา พร้อมแล้วสำหรับตลาดใหม่ที่เขากำลังเข้าไปกอบโกย รวมถึง ทีมงานที่ตอนนี้พร้อมที่จะรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับแจ๊ค แล้ว ไม่ว่าจะมีอุปสรรค มากมายเพียงใด ตอนนี้ อาลีบาบา เหมือนได้เกิดใหม่แล้ว และพร้อมทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ในสภาพซากศพของธุรกิจ internet อื่น ๆ ที่ล้มหายตายจากไปในยุคฟองสบู่ มันจะเหลือเพียงแค่ อาลีบาบา ที่พร้อมจะเข้าสู่ยุคใหม่ของบริษัทเต็มตัวได้เสียที

–> อ่านตอนที่ 13 : Taobao

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 11 : Good Boss , Bad Boss

ปัญหาใหญ่ของการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอาลีบาบาในปี 2000 ก็คือ ปัญหาเรื่องรายจ่ายในต่างปรเทศที่สูงลิบลิ่ว ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ใน ฮ่องกง อเมริกา ยุโรป เกาหลีนั้นมีมากมายมหาศาล และส่วนใหญ่หน่วยงานที่อยู่ตามต่างประเทศเหล่านี้นั้น มีแต่รายจ่าย แทบจะไม่มีรายได้เข้าเลย

ปลายปี 2000 ที่ฟองสบู่ internet แตกนั้น อาลีบาบามีเงินสดในบัญชีเพียงแค่ 7 ล้านเหรียญ ซึ่งหากยังเดินหน้าขยายกิจการต่อเนื่องในระดับความเร็วเท่าเดิม เงินทุนก้อนนี้จะเหลืออยู่ให้ใช้ได้เพียงครึ่งปีเท่านั้น

ซึ่งการขยายตลาดต่างประเทศของอาลีบาบานั้นเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2000 และได้หยุดลงเมื่อเดือนมกราคมปี 2001 ในช่วงนั้นแต่ละเดือนอาลีบาบาผลาญเงินไปกว่าล้านเหรียญ ในเวลานั้นแจ๊คเริ่มสังเกตเห็นภัยที่กำลังจะมาเยือน 

แจ๊คเริ่มรู้ตัวเองว่าตัดสินใจผิดพลาดในหลาย ๆ อย่าง เรื่องศูนย์ R&D ที่ซิลิกอน วัลเลย์ ก็เป็นอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องของการหาคนด้านเทคโนโลยี ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดเต็มซิลิกอน วัลเลย์ แต่คนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการค้าที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องการนั้นหาได้ยากมาก ต้องไปตามหาตัวจากเมืองอื่น ๆ เช่น นิวยอร์ก ที่มีคนพวกนี้ที่แจ๊คต้องการมากกว่า ทำให้สูญเสียทั้งเวลา และเงินทุนไปเป็นจำนวนมากในการขยายไปยังอเมริกา กว่าจะคิดได้ก็เกือบสายไปเสียแล้ว

อาลีบาบาใช้เงินเยอะมากกับศูนย์ R&D ที่ซิลิกอน วัลเลย์
อาลีบาบาใช้เงินเยอะมากกับศูนย์ R&D ที่ซิลิกอน วัลเลย์

ปัญหาใหญ่ที่ตามมาอีกอย่างคือ การที่มีคนจากหลายเชื้อชาติเข้ามาทำงานซึ่งไม่เหมือนตอนแรก ๆ ที่เหล่า 18 อรหันต์ของแจ๊ค เป็นผู้ที่แจ๊คไว้ใจ และพร้อมที่จะลุยกับแจ๊คเสมอ แต่เหล่าพนักงานต่างชาติ มักถูกชักจูงมาด้วยเรื่องเงินเป็นหลัก  ความแตกต่างทางวัฒนธรรม นั้น ทำให้เวลามีการประชุมที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ มักจะเห็นพ้องต้องกันเป็นทิศทางเดียวได้ยากนัก ต่างจากช่วงแรก ๆ ของการก่อตั้งบริษัท

ก่อนที่จะล้มละลายตายจากไปจากธุรกิจ internet อีกรายในยุคฟองสบู่ดอทคอมเยี่ยงนี้ แจ๊ค ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญโดยการปรับยุทธศาสตร์หลักลับมาโฟกัสที่ประเทศจีนและลดขนาดองค์กรลง แต่ปัญหาคือ จะปฏิบัติจริงได้อย่างไร

ฟองสบู่ดอทคอมแตกในปี 2000 เป็นที่มีของปัญหาใหญ่
ฟองสบู่ดอทคอมแตกในปี 2000 เป็นที่มีของปัญหาใหญ่

แต่บางทีทุกอย่างอาจะเป็นชะตาฟ้าลิตมาให้แจีค ได้เจอกับ กวานหมิงเซิง ซึ่งเป็นมือดีที่แจ๊คได้มาช่วยในการคลายวิกฤตในขณะนั้น

กวานหมิงเซิง สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และจบปริญญาโทคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์จาก Loughborough Universityof Technology และ London Business School ทำงานด้านการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศอยู่ 25 ปี เริ่มจากที่ GE ของอเมริกา 15 ปีและทำให้แผนกอุปกรณ์การแพทย์ของ GE เติบโตไปจนถึง 70 ล้านเหรียญ จากนั้นจึงได้ดำรงตำแหน่งประธาน บริษัท BTR plc และ Invensys ซึ่งเป็นบริษัทหนึงใน 500 สุดยอดบริษัทของโลก

กวานหมิงเซิงเป็นคนทำงานเฉียบขาด ตัดสินฉับไว เขารับตำแหน่งสำคัญคือ COO (Chief Operating Officer) เขาเป็นคนที่มาช่วยแจ๊คในเรื่องการลดพนักงานลง โดยเฉพาะที่ซิลิกอน วัลเลย์ ที่มีจอห์น วู คุมบังเหียนอยู่

ได้ COO คนใหม่อย่าง กวานหมิงเซิง มาช่วยทำเรื่องยาก ๆ อย่างการ ปลดพนักงานจำนวนมาก
ได้ COO คนใหม่อย่าง กวานหมิงเซิง มาช่วยทำเรื่องยาก ๆ อย่างการ ปลดพนักงานจำนวนมาก

สถานการณ์ในขณะนั้น เหล่าวิศวกรที่ซิลิกอน วัลเลย์ เริ่มรู้ตัวล่วงหน้ากันบ้างแล้ว และได้ทยอยลาออกไปบ้างแล้ว ตอนนั้นเหลือวิศวกรอยู่ 30  คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เงินเดือนระดับหกหลักแทบจะทั้งสิ้น ซึ่งเป็นภาระมหาศาลของอาลีบาบาในขณะนั้น

แม้แจ๊ค นั้นอยากให้คงเหลือวิศวกรไว้บ้าง เพื่อให้เหลือไว้สร้างความได้เปรียบทางเทคโนโลยี และเพื่อให้สามารถที่จะแข่งขันกับ microsoft , YAHOO และ ebayได้ แต่กวานหมิงเซิง ประกาศ layoff พนักงานทั้งหมดเพื่อลดภาระรายจ่ายในส่วนนี้ให้หมดไปจากบัญชีของอาลีบาบา ทำให้จอห์น วู ยังรู้สึกอื้ง ตอนนี้ศูนย์ R&D ที่ซิลิกอน วัลเลย์ ถูกยุบอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว

ถัดจากซิลิกอน วัลเลย์ อีกหนึ่งสำนักงานที่มีรายจ่ายสูงมากคือ ฮ่องกง เนื่องจากเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูง และพนักงานส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานหัวกะทิ ที่จบ MBA จากสถาบันที่มีชื่อเสียงแทบจะทั้งสิ้น ทำให้รายจ่ายที่ฮ่องกง ไม่ได้น้อยไปกว่าที่อเมริกาเลย

พนักงานกว่า 30 คนของสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง ก็ถูก กวาน กับ โจเซฟปลดไปกว่า 20 คน สุดท้ายเหลือไว้เพียงแค่ 7-8 คนเพียงเท่านั้น

สำนักงานที่ฮ่องกงก็เป็นอีกแห่งที่ต้องลดคนไปจำนวนมาก
สำนักงานที่ฮ่องกงก็เป็นอีกแห่งที่ต้องลดคนไปจำนวนมาก

แม้ กวานหมิงเซิง , โจเซฟ ไช่ รวมถึง แจ๊ค นั้นจะสวมบทโหด ปลดพนักงานขนานใหญ่ แม้จะดูเป็นการกระทำที่แข็งกร้าว ที่คนภายนอกเห็น แต่ภายในจิตใจของพวกเขาทั้งสามนั้น เสียใจกับเรื่องเหล่านี้มาก โจเซฟ ถึงกับจิตตก หลังจากภารกิจนี้เสร็จ เขาจึงขอไปพักร้อนที่เซี่ยงไฮ้ตามลำพังเพื่อปรับสภาพจิตใจ

ส่วนแจ๊ค ยิ่งรู้สึกละอายและโทษตัวเอง เขารู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวและหดหู่เป็นที่สุด ซึงในช่วงเวลาหัวเลี้ยงหัวต่อของอาลีบาบาเช่นนี้นั้น เขาก็แทบจะไม่มีทางเลือกอื่นใด เขามักคิดเสมอว่าสาเหตุที่ต้องปลดพนักงานขนานใหญ่ เป็นความบกพร่องของการบริหารงานของเขาเองแทบจะทั้งสิ้น 

มันเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่มาก ๆ ของทั้งแจ๊ค และ อาลีบาบา การปลดพนักงานออกไปเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่แจ๊คไม่อยากทำ แต่มันจำเป็นต้องทำ เพราะสถานการณ์ในขณะนั้น ฟองสบู่ ดอทคอม ทำให้บริษัท internet ทั้งหลายทั่วโลก ต่างล้มหายตายจากไปเป็นโดมิโน ทั้งในอเมริการวมถึงจีนเองก็ตาม มันเป็นบาดแผล ที่ลึกลงไปในใจของแจ๊ค ของการตัดสินใจในเรื่องนี้ เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากเขาเองที่บริหารงานผิดพลาด สถานการณ์ของอาลีบาบาจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังเหตุการณ์ฟองสบู่ดอทคอมแตก จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทแห่งนี้ โปรดติดตามตอนต่อไป

–> อ่านตอนที่ 12 : Business Reforms

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ