Blog Series : Tim Cook The Genius Who Took Apple to Next Level

ชายที่มีนามว่า Tim Cook ได้เข้ามาเป็น CEO แบบเต็มตัวของ Apple ในปี 2011 แน่นอนว่าเขาต้องมารับภาระอันยิ่งใหญ่ที่ Steve Jobs ผู้จากลาได้สร้าง Apple ไว้อย่างยิ่งใหญ่ แต่ก็เป็นตัว Jobs เองที่ตัดสินใจมอบภารกิจสานต่อ Apple ให้กับ Tim Cook เพราะเขาเชื่อมั่นในตัว Tim Cook เป็นอย่างมาก

แม้เหล่านักวิจารณ์ รวมถึงสื่อต่าง ๆ จะค่อนขอดกับความสามารถของ Tim Cook ว่าคงไม่สามารถสร้าง Apple ให้ยิ่งใหญ่ได้เหมือนที่ Steve Jobs ทำไว้ เพราะเขาไม่ได้มีจิตวิญญาณที่เป็นนักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และไม่มีวี่แววของความเป็นศิลปิน อย่างที่ Jobs เคยทำกับ Apple ตลอดมา

ซึ่งหลังจากเข้ามากุมบังเหียน Apple ในครั้งที่สองของ Jobs เมื่อปี 1995 ทุกคนต่างมองว่า Cook เป็นเพียงแค่มือ Operation ที่อยู่ภายใต้เงาของ Jobs เพียงเท่านั้น คงไม่สามารถทำให้ Apple กลับมาเฉิดฉายในเวทีโลกได้เหมือนช่วงที่ Steve Jobs อยู่อีกต่อไป

แต่เหล่านักวิจารณ์ก็คิดผิดมหันต์ เพราะถัดจากนั้น 8 ปี หลังจากที่ Cook ได้เข้ามาคุม Apple ในฐานะ CEO เต็มตัว เขาได้หักปักกาเหล่านักวิจารณ์ทั้งหลายจนหมดสิ้น Cook ทำให้ Apple ขึ้นสู่จุดสูงสุด กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก

บริษัทมีเงินสดสำรอง เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่านับตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งสูงถึง 267.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ Cook ทำให้ Apple สร้างรายได้ 88.3 พันล้านเหรียญ และทำกำไรได้ถึง 20 พันล้านเหรียญใน Q1 ของปี 2018

Cook ได้สร้างแนวรบใหม่ของ Apple ด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์อย่าง Apple Watch ในปี 2015 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักชิ้นแรกที่ออกมาจากมันสมองของ Cook ล้วน ๆ โดยไม่มีเงาของ Jobs อีกต่อไป โดยเขาสามารถทำให้ Apple Watch ขายได้กว่า 40 ล้านเครื่อง และยังมียอดขายเพิ่มขึ้น 50% ไตรมาสต่อไตรมาส นับตั้งแต่เปิดตัว และที่สำคัญ Cook กำลังเดินหน้าพา Apple บดขยี้ในทุกสถิติที่บริษัทมหาชนยักษ์ใหญ่ในธุรกิจ จะสามารถทำได้ โดยแทบจะไม่ผ่อนคันเร่งแต่อย่างใด

ต้องบอกว่า ชีวิตของ Tim Cook นั้นถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ คนหนึ่ง โดยใน Blog Series ชุดนี้ ต้อนรับปี 2020 เราจะมาทำความรู้จักกับ Tim Cook กันให้มากขึ้นผ่าน Blog Series ชุด Tim Cook The Genius Who Took Apple to Next Level กันครับ

หนังสือ Tim Cook The Genius Who Took Apple to Next Level

โดยข้อมูลหลักผมจะนำมาจากหนังสือ Time Cook The Genius Who Took Apple to Next Level มาเรียบเรียงใหม่ ในสไตล์ผมเอง และรวบรวมข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ ทั้ง wikipedia หรือ ทางเว๊บไซต์ออนไลน์ มารวมรวมใหม่ ใน Blog Series ชุดนี้กันครับ

–> อ่านตอนที่ 1 : The Death of God

References : https://www.ndtv.com/book-excerpts/an-empty-chair-windows-covered-by-post-its-how-world-mourned-steve-jobs-2024333

Digital Music War ตอนที่ 11 : The End at Last?

ถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี 2011 Apple สามารถที่จะขาย iPod ไปได้กว่า 208 ล้านเครื่อง และยังขายได้ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่่งรวม ๆ แล้วนั้น Apple สามารถจำหน่าย iPod ตั้งแต่มีการผลิตออกมาไปกว่า 307 ล้านเครื่อง แต่ดูเหมือนวัฏจักร ของเครื่องเล่นเพลงจะค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงไปแล้ว เพราะการมาของ iPhone สินค้าเรือธงใหม่ของ Apple นั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม iTunes ก็ยังกลายเป็น แพลตฟอร์มที่ขายเพลง ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ ซีรีส์ รวมถึงเสนอ podcast และสุดท้ายก็เป็นที่ขาย Application ของ iPhone มันเป็นที่มาของรายได้ให้กับ Apple รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ ecosystem นี้อีกมากมายมหาศาล

ผลกระทบที่สำคัญ คือ การปฏิวัติวงการเพลงในรูปแบบดิจิตอลของ iPod แน่นอน มันมีผลกระทบต่อค่ายเพลงต่าง ๆ ทั่วโลก โดยในช่วงทศวรรษ 1990 เหล่าบริษัทค่ายเพลงต่าง ๆ นั้นจะมีรายได้หลักมาจาก การขาย CD และแน่นอนว่า วิธีแบบเก่า  ๆ  เหล่านี้ ใช้ไม่ได้ผลอย่างแน่นอนกับออนไลน์

iTunes จึงเปรียบเสมือนร้านขายแผ่นเสียงสำหรับผู้คนจำนวนมาก และแน่นอนว่า มันได้ทำให้ธุรกิจจำหน่ายแผ่น CD เพลงเหล่านี้ต้องล้มหายตายจากไปจากวงการ ต้องเลิกกิจการไปมากมาย แต่อย่างน้อยมันยังทำให้วงการเพลงยังขับเคลื่อนต่อไปได้ แม้ยอดขายจะตกลงไปก็ตาม แต่ต้นทุนก็ลดลงตามไปด้วย ไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่อง CD ไม่มีค่าใช้จ่าย fix cost อื่น ๆ ที่ต้องลงทุนอย่าง หน้าร้าน หรือ จ้างพนักงาน

เพราะ iTunes Store ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีเวลาหยุดพัก ซึ่งอย่างน้อยบรรดาค่ายเพลงก็ยังสามารถมีตัวตนอยู่บนโลกออนไลน์ได้ ไม่ถูกการโจมตีจากเหล่าบริการเถื่อน ๆ ที่แทบจะไม่แบ่งส่วนรายได้ให้กับศิลปิน หรือ ค่ายเพลงเลยด้วยซ้ำ

ฝั่ง Microsoft เอง เมื่อถึงต้นปี 2011 Zune ก็ยังไม่ได้ออกไปวางขายนอกตลาดอเมริกาเหนือแต่อย่างใด ชื่อของ Zune เริ่มจางหายไปจากผลิตภัณฑ์หลักของ Microsoft ซึ่ง Microsoft เอง ก็ได้เริ่มลดบทบาทของ Zune ลง จนปิดฉากไปในที่สุด

สุดท้าย Zune ก็ต้องปิดฉากลงไปในปี 2011
สุดท้าย Zune ก็ต้องปิดฉากลงไปในปี 2011

Microsoft นั้นดูเหมือน GE (General Electric) ตรงที่มีแนวคิดว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขานั้นต้องเป็นที่ 1 หรือ ที่ 2 ในตลาดเพียงเท่านั้น หากไม่ใช่ ก็เตรียมตัดผลิตภัณฑ์ตัวนั้นออกไปจากตลาดได้เลย

Apple ได้ก้าวล้ำไปไกลในตลาดเครื่องเล่นเพลงแบบดิจิตอล และกำลังก้าวไปอีกขั้นกับ iPhone ในตลาดมือถือ Apple แทบจะไม่มอง Zune เป็นคู่แข่งเลยด้วยซ้ำ 

มันน่าแปลกใจไม่ใช่น้อยเพราะ DRM (Digital Right Management) เทคโนโลยีในการจัดการลิขสิทธิ์ดิจิตอลนั้น Microsoft เป็นคนสร้างมันมากับมือแท้ ๆ แต่ Apple เป็นเจ้าแรกที่ทำให้ผู้ใช้พอใจกับ DRM ด้วย iTunes Store ของพวกเขานั่นเอง

และในที่สุด Microsoft ก็ต้องเผชิญกับความเป็นจริง ๆ ที่ Apple ที่ตอนนั้น มีทีมงานที่เล็กกว่า แถมเงินทุนก็ยังน้อยกว่า Microsoft อย่างมาก แต่ Apple ทำในสิ่งที่เปลี่ยนโลกของการฟังเพลงไปตลอดกาลด้วย iPod และ iTunes และมันได้ทำให้ สตีฟ จ๊อบส์ สามารถที่จะเอาชนะเหนือศัตร์เก่าอย่าง บิลล์ เกตส์ ได้สำเร็จ มันเป็นการล้างแค้นหลังจากที่จ๊อบส์ได้พ่ายแพ้อย่างหมดรูปในธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ทำให้เขาต้องโดนไล่ออกจาก Apple ไป และ iPod ยังนำไปสู่ก้าวใหม่ของบริษัท Apple ในที่สุด ดั่งที่เราได้เห็นในทุกวันนี้นั่นเองครับ

แล้วเราได้อะไรจากการเรื่องราวของ สงคราม Digital Music War จาก Blog Series ชุดนี้

การกลับมาในคำรบที่สองของ จ๊อบส์ ครั้งนี้ มาพร้อมกับพลังที่ล้นเหลือ ด้วยความพร้อมที่จะมาพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งในฐานะ CEO ตัวจริงของ Apple ที่ไม่มีใครในโลกนี้เลียนแบบเขาได้ ผู้นำที่สามารถสร้างสิ่งที่ไม่มีทางเป็นไปได้ให้เป็นไปได้ มานับต่อนับ

เรียกได้ว่า iPod เครื่องเล่นเพลงแบบดิจิตอล ของ Apple นั้นถือเป็นต้นแบบสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมของ Apple เรื่อยมาในยุคหลังไม่ว่าจะเป็น iPhone , iPad หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของ Apple ซึ่งล้วนแล้วมาจากทีมงาน Dream Team ชุดที่สร้าง iPod มาแล้วแทบจะทั้งสิ้น

และสิ่งสำคัญที่จ๊อบส์ทำมาตลอดในช่วงการสร้าง iPod  คือ การโฟกัส ซึ่ง เขาโฟกัส ในสิ่งที่ทำ การสร้าง iPod นั้นเต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งทางด้านวิศวกรรม และ การออกแบบมากมาย แต่จ๊อบส์ เชื่อมั่นว่า ทีมของเขาจะทำได้ เขาทำให้ทีมของเขาทำสิ่งที่ใครในโลก ไม่คิดว่าจะทำได้  iPod มันจึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่วิเศษที่สุด มันเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมดนตรีได้เลยด้วยซ้ำ และมันเป็นการพลิกโฉมของ Apple เข้าสู่ยุคใหม่อย่างที่เห็นในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

ส่วน Microsoft นั้นเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นองค์กรที่ใหญ่ และมีอุปสรรคมากมายต่อการเติบโต ซึ่งแน่นอนว่า องค์กรใหญ่ ๆ หลาย ๆ องค์กรต้องเคยเจอ เมื่อตัวเองเติบโตไม่ใช่บริษัทเล็ก ๆ อีกต่อไป การขับเคลื่อนเพื่อที่จะสู้กับบริษัทเล็ก  ๆ นั้นก็เป็นเรื่องยาก ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดกับสิ่งที่ Microsoft เจอ เพราะเราเห็นบทเรียนเหล่านี้มามากมายกับบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมาก

ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าแม้หลาย ๆ ครั้ง Microsoft จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้ลองแข่งขัน และได้เรียนรู้วิธีที่จะสู้กับบริษัทเล็ก ๆ เหล่านี้  ซึ่งสุดท้ายในปัจจุบัน เราจะเห็น Microsoft สามารถปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันในธุรกิจยุคใหม่ได้ในที่สุด ไม่ได้ล้มหายตายจากเหมือนยักษ์ใหญ่บริษัทอื่น ๆ  และสามารถก้าวอย่างมั่นคงมาจวบจนถึงปัจจุบันนั่นเองครับ

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : Digital Hub *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

รวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุดรวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุด

อย่าลืมติดตามผลงานเรื่องต่อ ๆ ไปของผมก่อนใครได้ที่ blockdit นะครับ โหลดได้เลย

อย่าลืม ค้นหา “ด.ดล Blog” แล้ว กด follow กันด้วยนะครับผม

Digital Music War ตอนที่ 1 : Digital Hub

Apple เริ่มไตรมาสแรก หลังจากการกลับมาของ สตีฟ จ๊อบส์รอบที่สอง ด้วยการขาดทุนอย่างยับเยิน ยอดขายคอมพิวเตอร์ที่ลดลง ถึง 1 ใน 3 ของปีก่อนหน้า ซึ่งปัจจัยหลักของความล้มเหลวที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายมองตรงกันว่าเกิดจากการขาดไดร์ฟ Burn CD ที่กำลังกลายเป็นที่นิยมในขณะนั้น แต่ Apple ไม่ได้ใส่ลงไปในคอมพิวเตอร์ของพวกเขา

ตอนนั้น การปฏิวัติด้านดนตรีดิจิตอล ได้เริ่มขึ้นแล้ว Napster บริการแชร์ไฟล์เพลงแบบผิดกฏหมาย กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง มีการแชร์ไฟล์เพลงกันมากมายทั่วโลก หากต้องการนำมาฟังในรถ หรือ เครื่องเล่น CD ผู้ใช้ก็แค่ Burn เพลงเหล่านี้ลง CD ได้ทันที

จ๊อบส์ เริ่มรู้ตัวว่าเขาเดินเกมส์ผิดพลาด และตกขบวนรถไฟของ ไดร์ฟ Burn CD ไปแล้ว แต่ก็พยายามแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด ซึ่งมันเป็นตัวอย่างชัดเจนของวัฒนธรรมภายในของ Apple ที่กำลังแตกเป็นเสี่ยง ๆ ก่อนที่จ๊อบส์จะเข้ามา เพราะตอนนั้น Apple แทบจะไม่ฟังเสียงของผู้บริโภค 

ซึ่ง พีซี ที่ Burn CD ได้นั้นได้กลายเป็นสินค้า Top Hits ติดตลาดในปีนั้น ซึ่ง จ๊อบส์เอง นั้นก็เป็นหนึ่งในคนที่ตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ที่ไม่ยอมใส่เจ้า ไดรฟ์ Burn CD ไปเพราะมันไม่สวยงาม จ๊อบส์ต้องการใส่ Drive แบบทันสมัยที่มีวิธีการแบบดูดแผ่นเข้าไปเพื่อยกระดับสินค้าของ Apple 

ซึ่งในบรรดาเครื่องคอมพิวเตอร์ของ Apple ทั้งหมดที่ได้วางจำหน่ายในปี 2000 นั้นมีเพียงรุ่นเดียวที่สามารถ Burn CD ได้แต่ก็ขายได้น้อยมาก เพราะคนแห่กันไปใช้ PC ที่มีราคาถูกกว่าและสามารถ Burn CD ได้เช่นเดียวกัน

Burn Drive ที่ Apple มีในบางรุ่นเท่านั้น
Burn Drive ที่ Apple มีในบางรุ่นเท่านั้น

จากความผิดพลาดดังกล่าวทำให้เหล่าผู้บริหาร Apple กลับมาคิดทบทวนใหม่ พวกเขาจึงได้ตัดสินใจที่จะเน้นไปที่ด้านดนตรี เพราะเป็นสิ่งที่คนนิยมมากที่สุดในยุคนั้น ซึ่งนิยมมากกว่ากล้องถ่ายรูป และดูแล้วมีศักยภาพที่จะเติบโตได้สูง ซึ่งขั้นตอนแรก Apple ได้ไปซื้อผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ SoundJam ที่เล่น MP3 และสามารถ Burn CD ได้มาปรับปรุง

และจ๊อบส์ ก็ได้เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ โดย จะแปลงโฉม apple โดยทำการปรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้กลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมดิจิตอล หรือ “ดิจิตอลฮับ” มันจะปรับหน้าที่ของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ให้คอยประสานงานอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็น ดิจิตอล ตั้งแต่เครื่องเล่นเพลง กล้องวิดีโอ ไปจนถึง กล้องถ่ายรูป โดยให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นศูนย์กลาง ให้อุปกรณ์ต่างๆ  เหล่านี้เข้ามาเชื่อมต่อ

คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล จะกลายเป็นอุปกรณ์ ที่คอยจัดการเพลง แสดงภาพ วีดีโอ หรือ ข้อมูลทางดิจิตอลต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่จ๊อบส์ เรียกมันว่า “ไลฟ์สไตล์แบบดิจิตอล” ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญของ apple ในยุคต่อไป

apple นั้นจะไม่เป็นเพียงแค่บริษัทคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป โดยจ๊อบส์ ได้ตัดคำว่า คอมพิวเตอร์ ออกจากชื่อบริษัทด้วย โดยเครื่อง Mac นั้นจะผันตัวเองมาเป็นศูนย์กลางสำหรับอุปกรณ์ใหม่ ๆ อีกหลากหลาย รูปแบบ 

กลยุทธ์ใหม่ที่ จ๊อบส์ ให้ Apple  เป็นคือ Digital Hub
กลยุทธ์ใหม่ที่ จ๊อบส์ ให้ Apple เป็นคือ Digital Hub

มันมีหลายสาเหตุ ที่ทำให้จ๊อบส์ นั้นสามารถมองเห็น และอ้าแขนรับยุคใหม่แห่งการปฏิวัติ ดิจิตัล ได้ดีกว่าคนอื่น ๆ จ๊อบมีทั้งส่วนประกอบของศิลปศาสตร์และเทคโนโลยี เขารักเสียงเพลง รูปภาพ วีดีโอ และยังรักคอมพิวเตอร์อีกด้วย

ซึ่งหัวใจของวิสัยทัศน์ใหม่ของจ๊อบส์ ในเรื่อง ดิจิตอลฮับ คือ การเป็นตัวเชื่อมความนิยมชมชอบที่เขามี กับ ความคิดสร้างสรรค์ทั้งทางศิลปะและงานวิศวกรรม ที่มีการหลอมรวมกันได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

ในตอนท้ายของการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ทุก ๆ ครั้ง จ๊อบส์ จะฉายสไลด์ เป็นรูปจุดที่มีการบรรจบระหว่างความเป็น “ศิลปศาสตร์” กับ “เทคโนโลยี” และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงคิดเรื่องดิจิตอลฮับได้ก่อนใครเพื่อน และเขาจะกำลังจะนำพา apple ก้าวไปยังจุดนั้นให้ได้

และด้วยความที่จ๊อบส์ นั้นเป็นคนที่รักในความสมบูรณ์แบบ เขาจึงรู้ว่า ต้องมีการบูรณาการทุกแง่มุมของผลิตภัณฑ์ เข้าด้วยกัน ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ คอนเทนต์ และ การตลาด ซึ่งจะทำให้ apple เป็นฝ่ายได้เปรียบ ในโลกยุค ดิจิตอลฮับ เพราะ เขาสามารถ control ทุกอย่างได้ใน ecosystem ของเขา ข้อมูล หรือ คอนเทนต์ ในอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ จะถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ของ apple ได้อย่างแนบเนียนแบบไม่สะดุด

ต้องบอกว่า มันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมากจริง ๆ สำหรับ apple ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ กำลังชะลอการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มันเป็นช่องว่างที่สำคัญ ที่จะทำให้ apple กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และ นั่นเป็นที่มาของการสร้างนวัตกรรม ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความยิ่งใหญ่ของ apple ที่จะเกิดขึ้นในยุคหลังจากนั้น เพราะจ๊อบส์กำลังที่จะสร้าง อุปกรณ์เล่นเพลงแบบพกพา ที่ตอนนั้นแทบทุกยี่ห้อล้วนมีปัญหาใช้งานยาก และมี user interface ที่ซับซ้อน  แล้วจ๊อบส์นั้น จะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาได้อย่างไร วิสัยทัศน์ เรื่อง ดิจิตอลฮับนั้น จะเปลี่ยนแปลง apple ไปได้แค่ไหน โปรดติดตามตอนต่อไป

–> อ่านตอนที่ 2 : The Secret Source

Apple and the end of the genius

ในฐานะที่เป็นข่าวเกี่ยวกับ Jony Ive ที่กำลังจะจากลาจากแอปเปิ้ล เราจะเห็นผู้คนจำนวนมากเริ่มแสดงความกังวลในยุคต่อไปที่จะไม่มี Ive  และสิ่งต่อไปที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เพราะ Ive เป็นคนที่มีอิทธิพลอย่างน่าทึ่ง เขาเป็นผู้ผลักดันการออกแบบ ไม่เพียงแต่สำหรับผลิตภัณฑ์ของ Apple เพียงเท่านั้นแต่สำหรับทั้งอุตสาหกรรมโดยรวม บุคคลเดียวที่สามารถอ้างถึงชื่อเสียงและอิทธิพลในระดับเดียวกันได้นี้คือสตีฟ จ็อบส์เพียงเท่านั้น

แม้มันจะน่ารำคาญที่จะใช้คำว่า “ยุค” แต่นั่นคือคำที่ฟังดูไม่เพียงแค่จำเป็นสำหรับการพูดคุยเกี่ยวกับการออกแบบคอมพิวเตอร์ แต่มันก็เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนี้ ดังนั้นด้วยการออกจาก Apple ของ Ive นั้นคงจะไม่เป็นคำพูดเกินเลยที่ว่า : ยุคของ 2 อัจฉริยะแห่ง Apple ได้สิ้นสุดลงแล้ว

แม้ว่า Apple อาจมีเรื่องราวที่ดีเกี่ยวกับการก่อตั้งขึ้นในโรงรถ แต่ตำนานการก่อตั้งที่แท้จริงของ Apple ก็คือตำนานแห่งอัจฉริยะทั้งสองไม่วาจะเป็น Jony Ive และ Steve Jobs   เมื่อตอนที่สตีฟ จ็อบส์ดูแลแอปเปิลเขาได้ทำสิ่งมหัศจรรย์มานับต่อนับทั้ง คอมพิวเตอร์ Apple, Mac , iPod, iPhone หรือแม้กระทั่ง iPad เองก็ตาม

หลังจากยุคสตีฟ จ็อบส์ ผู้ที่ขับเคลื่อน Apple จริง ๆ แทนที่นั้นก็ได้ถูกส่งไปที่ Jony Ive แม้เขาจะเงียบ ๆ แต่มันบ่งบอกได้ถึงสิ่งสำคัญสำหรับแนวคิดเกี่ยวกับ Apple ที่ผู้มีอำนาจเต็มอย่าง Ive ได้ทำการตัดสินใจคนเดียวในหลายเรื่อง ๆ  โดยไม่ยอมแพ้ในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณภาพ รวมถึงรสนิยมของ Apple ที่ยังมีกลิ่นอายของความเป็น จ๊อบส์ อยู่ 

และแล้วได้มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่สองอย่าง อย่างแรกคือมีคนสองคนเข้ามาแทนที่ Ive ไม่ใช่เพียงแค่หนึ่งคนเท่านั้น และเรื่องที่สอง: Ive นั้นได้ถูกปรับให้รายงานไปยัง COO ไม่ใช่โดยตรงต่อ Tim Cook อีกต่อไป นี่คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่ Steve Jobs ตั้ง Jony Ive ขึ้นมาเป็นคู่หูคนสำคัญของ Apple ยุคใหม่ โดย Jobs อธิบายบทบาทของ Ive ไว้ว่า :

“เขาไม่ใช่แค่นักออกแบบ นั่นเป็นเหตุผลที่เขาทำงานโดยตรงสำหรับผม เขามีพลังในการปฏิบัติงานมากกว่าใคร ๆ ใน Apple ยกเว้นผม ไม่มีใครบอกเขาได้ว่าจะต้องทำอะไร นั่นคือวิธีที่ผมมอบหมายให้ Ive ทำ”

ดูเหมือนว่า Apple ได้สูญเสียความเป็นผู้นำด้านการออกแบบ มีหลาย ๆ อย่างที่หลุดไปอย่างง่าย ๆ มันไม่ใช่ DNA แบบเดิมของการออกแบบเมื่อตอนที่ Jobs กับ Ive ทำงานด้วยกัน ตัวอย่างเช่น Apple Pencil  , iPhone และ iPad Smart Keyboard  และยังรวมถึงรีโมท Apple TV ที่ไม่ได้รัประหยัดพลังงานอย่างน่าประหลาด ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ในยุค Jobs คงไม่มีทางปล่อยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาขายอย่างแน่นอน

หลากหลายผลิตภัณฑ์ที่หากอยู่ในยุค Steve Jobs คงไม่มีทางได้ออกมาขายอย่างแน่นอน
หลากหลายผลิตภัณฑ์ที่หากอยู่ในยุค Steve Jobs คงไม่มีทางได้ออกมาขายอย่างแน่นอน

ซึ่งสิ่งที่ผิดพลาดเหล่านี้ Apple ยังไม่รู้สาเหตุของมัน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเกิดจากการขาดการมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์เป็นหลักเหมือนในอดีต – ไม่มีเหล่าอัจฉริยะ ที่จะส่งสิ่งเหล่านี้กลับไปที่กระดานวาดภาพเมื่อพวกเขามองว่ามันยังไม่ดีพอ ตอนนี้ Apple มุ่งเน้นที่รูปแบบการใช้งานมากกว่าการทำสิ่งที่บางและสวยงามเหมือนในยุคก่อน ๆ  

กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ของ Apple ไม่ได้ถูกกำหนดโดยบุคคลเดียวอีกต่อไป  รวมถึงตัว Ive เอก็ไม่ได้มีส่วนร่วมเหมือนที่เขาเคยเป็นในยุคของ Jobs

แม้ว่า Ive จะจากไป แต่เขาก็ยังคงร่วมงานกับ Apple อยู่ ที่สำคัญกว่านั้นทีมที่เขาเป็นผู้นำไม่ได้ย้ายไปไหน และจะไม่เปลี่ยนปรัชญาการออกแบบทั้งหมดในชั่วข้ามคืนอย่างแน่นอน อย่างน้อยที่สุด Apple มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ล่วงหน้าหลายปี ดังนั้นการออกแบบของ Ive จะอยู่กับเราไปอีกนาน

อย่างไรก็ตามการจากไปของเขาจะมีผลกระทบอย่างแท้จริง อย่างแรกไม่ใช่ปัญหาของ Apple แต่เป็นของเหล่าลูกค้าที่จงรักภักดีกับ Apple : เราควรหยุดคิดว่า Apple เป็นบริษัทที่แสดงออกถึงความเป็นอัจฉริยะของคน ๆ หนึ่ง เหมือนในอดีตอีกต่อไป

เมื่อพิจารณาการออกแบบบางอย่างของ Apple ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์คำเดียวที่นึกได้คือ “การไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค” การสร้างผลิตภัณฑ์ในยุคของ Jobs นั้นทำสิ่งที่เป็นไม่ได้ ให้เป็นไปได้มากมาย แม้อุปสรรคจะมากแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคนิค หรือ ด้านดีไซต์ก็ตาม ทั้งคู่ Ive และ Jobs จะไม่ยอมปล่อยผ่าน พวกเขาสามารถผลักดันทีมงานให้รีดเอาศักยภาพที่มากที่สุดของทีมงานมาสร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้นั่นเอง 

ดูเหมือนตอนนี้ จะถึงยุคสิ้นสุดของสองอัจฉริยะแห่ง Apple ผู้ฝากผลงานที่น่าทรงจำไว้มากมาย และเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้นผ่านนวัตกรรมต่าง ๆ ของพวกเขาทั้งสอง เราก็ต้องมาดูกันต่อไปว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับ Apple ในยุคต่อไปที่ไร้สองอัจฉริยะอย่าง Jobs และ Ive?

References : 
https://www.theverge.com/2019/6/28/18870887/apple-jony-ive-design-genius-committee

ประวัติ Elon Musk ตอนที่ 16 : End of the Begining

ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเราที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าเหล่า Inventor หรือนักคิดนักประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ นั้น มักจะถูกมองหาว่าคิดเรื่องที่เพ้อฝันมาก่อนแทบจะทั้งสิ้น ไม่จะเป็น โธมัส เอดิสัน , นิโคลา เทสลา หรือ แม้กระทั่งตัว อีลอน มัสก์ เองก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขายึดไว้เหมือนกันคือ การอดทนต่อคำวิจารณ์เหล่านี้ แล้วแสดงให้โลกเห็นว่าพวกเขาทำได้ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโลกเราให้ดีขึ้นแทบจะทั้งสิ้น

พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้คิดแค่เพียงเรื่องของเงินทองเท่านั้น มันเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่ง เพื่อขับเคลื่อนพวกเขาให้ก้าวนอกกรอบความคิดเดิม ๆ ที่เคยมามีให้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญอย่างนึง ที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่จะเปลี่ยนโลกเราได้

สำหรับคำถามที่ว่า มัสก์กำลังนำพาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไปสู่จุดสูงสุดครั้งใหม่ เหมือนที่เกตส์ กับ จ๊อบส์ เคยทำได้หรือไม่นั้น ตอนนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน แม้ ไอเดียต่าง ๆ ของมัสก์ จะเป็น ไอเดียที่เปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นแทบจะทั้งสิ้น

แต่ก็มีบางฝ่าย ที่มองเห็นว่า ทั้ง Tesla , SpaceX หรือ SolarCity นั้น เป็นเพียงการมอบความหวังลม ๆ แล้ง ๆ แก่อุตสาหกรรม ว่าจะสามารถใช้นวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ได้ ส่วนอีกฝ่ายก็มองว่า มัสก์ นั้นคือตัวจริงเสียงจริง เขากำลังจะกลายเป็นดาวดวงใหม่ที่กำลังเปล่งประกายสว่างสไวที่สุดของสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการปฏิวัติเทคโนโลยีที่กำลังมาถึง

หากจะทำความเข้าใจว่างานของมัสก์ ที่เขากำลังสร้างสรรค์ขึ้นมานั้น  ท้ายที่สุดแล้วจะทรงพลังมากแค่ไหนสำหรับเศรษฐกิจอเมริกัน ก็ต้องลองนึกถึงเครื่องจักรที่ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ ซึ่งนั่นก็คือ สมาร์ทโฟน ในยุคก่อน iPhone นั้น สำหรัฐเป็นพวกที่ล้าหลังในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มือถือและอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งหลายล้วนอยู่ในทวีปยุโรปและเอเชียเพียงเท่านั้น

แต่เมื่อการมาถึงของ iPhone ที่ สตีฟ จ๊อบส์ ได้เปิดตัวขึ้นในปี 2007 มันก็ได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปตลอดกาล อุปกรณ์ของ จ๊อบส์ ชิ้นนี้เลียนแบบฟังก์ชันการทำงานหลายอย่างของคอมพิวเตอร์ และเพิ่มความสามารถใหม่ ๆ เข้ามาด้วย application รวมถึง เซ็นเซอร์ต่าง ๆ

การเปิดตัว iPhone ของสตีฟ จ๊อบส์ในปี 2007 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมมือถือในอเมริกา
การเปิดตัว iPhone ของสตีฟ จ๊อบส์ในปี 2007 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมมือถือในอเมริกา

ซึ่งตามมาด้วยการที่ google บุกด้วยตลาดทางด้านซอฟต์แวร์แอนดรอยด์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี สหรัฐก็กลับมาผงาดขึ้นเป็นอันดับต้น ๆ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอุปกรณ์พกพา และสร้างการบริการเพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้งานที่มีอยู่ทั่วโลกในเวลาเดียวกัน

มันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวมาก ๆ ของซิลิกอน วัลเลย์ ที่ทำให้อเมริกา กลับมาเชิดหน้าชูตาในอุตสาหกรรมนี้ได้อีกครั้ง ซึ่งมันนำไปสู่ความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ ผลักดัน apple ให้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกได้สำเร็จ ซึ่งสามารถส่งขายอุปกรณ์อันชาญฉลาดไปยังทั่วโลก กว่าหลายพันล้านชิ้น

และตอนนี้ งานของอีลอน มัสก์ กำลังอยู่ในจุดที่สูงสุดของกระแสใหม่ ที่เป็นการรวมกันระหว่างซอฟต์แวร์อัจฉริยะ กับ ฮาร์ดแวร์ การที่ทั้ง Tesla และ SpaceX นั้นใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง ซอฟต์แวร์เข้ามาจัดการภายใน นั่นถือว่าเป็นการผนวกศาสตร์ทางด้านอุตสาหกรรมของโลกยุคเก่า เข้ากับ เทคโนโลยีของผู้บริโภคในราคาถูก ของโลกยุคใหม่ มันเป็นการหล่อหลอมรวม แล้วสร้างมันให้กลายเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน มันเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศอเมริกาเลยก็ว่าได้

ในตอนนี้ เท่าที่ ซิลิกอนวัลเลย์ พยายามหาผู้สืบทอดบทบาทของจ๊อบส์เพื่อที่จะเป็นแรงชี้นำอันทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมา ดูเหมือว่า มัสก์ เป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด แน่นอนว่าเขาเป็นชายสายเทคโนโลยีมาตั้งแต่แรกในการสร้าง Zip2

มัสก์ ผู้ที่ใกล้เคียงที่สุดที่จะสืบทอด สตีฟ จ๊อบส์
มัสก์ ผู้ที่ใกล้เคียงที่สุดที่จะสืบทอด สตีฟ จ๊อบส์

มัสก์ ผู้ซึ่งมีประสบการณ์โชกโชน และเหล่าบุคคลผู้เป็นตำนาน ต่างยกให้เขาเป็นคนที่น่าเลื่อมใสที่สุด ยิ่งเมื่อ Tesla กำลังกระโจนเข้าสู่กระแสหลักมากขึ้นเท่าไหร่ ชื่อเสียงของมัสก์ก็ดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นเท่านั้น

การที่รถยนต์ Tesla อย่าง Model 3 นั้นสามารถทำยอดขายได้ถล่มทลาย มันจึงเป็นเป็นการโชว์ผลงานให้ประจักษ์ว่ามัสก์คือบุคคลหายากที่สามารถคิดใหม่ทำใหม่ในอุตสาหกรรม เขามีทักษะที่อ่านผู้บริโภคออก แบบเดียวกับที่จ๊อบส์ทำได้ การบริหารก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม และไอเดียของเขา ก็เริ่มหลั่งไหลพรั่งพรูออกมาเรื่อย ๆที่พร้อมจะเปลี่ยนโลกเราให้ดีขึ้น

ทศวรรษต่อไปของบริษัทในเครือของมัสก์ น่าจะมีอะไรที่พิเศษ และสร้างความตื่นเต้นให้ชาวโลกได้พอสมควร ตัวมัสก์เองก็ได้เปิดทางให้ตัวเองกลายเป็นหนึ่งในนักนวัติกรรมและนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล

มัสก์ พิสูจน์ ให้เห็นถึงความสำเร็จของเขา ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า
มัสก์ พิสูจน์ ให้เห็นถึงความสำเร็จของเขา ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

คาดการณ์กันว่า ภายในปี 2025 นั้น เป็นไปได้ว่า Tesla จะผลิตรถยนต์ให้กลายเป็นกระแสหลักของตลาดได้สำเร็จ และเป็นกำลังหลักในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเฟื่องฟู รวมถึงการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของ SolarCity จึงมีโอกาสที่บริษัทจะผงาดขึ้นเป็นบริษัทสาธารณูปโภคขนาดยักษ์ และเป็นผู้นำในตลาดพลังงานแสงอาทิตย์

แล้ว SpaceX ล่ะ มันเป็นความตื่นเต้นของมนุษยชาติมากที่สุดเลยก็ว่าได้ SpaceX น่าจะจัดเที่ยวบินขนส่งมนุษย์และสัมภาระขึ้นสู่อวกาศได้ทุกสัปดาห์ และการเดินทางไปยังดาวอังคารคงไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากอีกต่อไปในอนาคต

ซึ่งถ้าทุกสิ่งเกิดขึ้นตามนี้ มัสก์ ซึ่งตอนนั้นจะอยู่ในวัยห้าสิบกลางๆ ก็จะกลายเป็นชายผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และอยู่ในหมู่คนที่มีอิทธิพลมากที่สุดทันที เขาจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทมหาชนสามแห่ง

ซึ่งจริงอยู่ที่ว่า อนาคต นั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน บริษัททั้งสามก็กำลังผจญกับปัญหาแตกต่างกันไป แต่มัสก์ ก็ได้เดิมพันครั้งยิ่งใหญ่กับการประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์และความสามารถของพลังงานแสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ รวมถึงเทคโนโลยีการบินและอวกาศ มันเป็นความเสี่ยงที่มัสก์นั้นพร้อมที่จะรับตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะเป้าหมายของเขามันยิ่งใหญ่ เกินกว่าที่ใครจะคาดถึงนั่งเอง

แล้วเราได้อะไรจากการเรื่องราวของ Elon Musk จาก Blog Series ชุดนี้

ก่อนหน้านี้ผมได้เขียน Blog Series มามากมาย ที่เกี่ยวกับเหล่านักธุรกิจ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ต่าง ๆ แต่เมื่อได้เรียนรู้จากทุกคนนั้นจะพบว่า มัสก์ เป็นคนที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง

มัสก์มองปัญหาใหญ่ ๆ ของโลกเราเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานทดแทน หรือ การเดินทางในอวกาศ ซึ่งล้วนแล้วต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการสร้างฝันของเขาให้สำเร็จขึ้นมาได้

ทั้ง SpaceX , Tesla หรือ SolarCity นั้น เป็นบริษัทที่ล้วนอยู่ในอุตสาหกรรมที่มี Impact ต่อโลกเราอย่างมหาศาล ทุกสิ่งที่เขาทำนั้นมีหลายคนเคยปรามาสว่าเป็นเรื่องที่เพ้อฝัน และไม่มีทางเป็นไปได้ แต่มัสก์ ก็ได้พิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าแม้จะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ หรือ ยากเย็นเพียงใด เขาก็สามารถทำมันให้เห็นผลเป็นประจักษ์ได้สำเร็จ

เขาจับอุตสาหกรรมอย่างยานอวกาศ และ รถยนต์ ที่อเมริกาเหมือนจะถอดใจไปแล้ว และพลิกโฉมจนมันกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ได้สำเร็จ ซึ่งหัวใจหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้คือทักษะของมัสก์ในฐานะผู้สร้างซอฟต์แวร์และความสามารถในการประยุกต์มันเข้ากับเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ตอนนี้ มัสก์ ยังไม่มีสินค้ายอดฮิตในหมู่ผู้บริโภคเหมือนอย่าง iPhone หรือเข้าถึงคนมากกว่าพันล้านคนเหมือนอย่าง facebook ทำได้ แต่สิ่งที่เขาทำล้วนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่น้อยคนนักจะกล้าเข้ามาเสี่ยงทำเหมือนที่เขากำลังทำอยู่

อีลอน มัสก์ เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการในซิลิกอน วัลเลย์ ที่ทำให้เห็นถึงอุตสาหกรรมใหม่ของเทคโนโลยี ทั้งของประเทศอเมริกาเอง รวมถึง ของโลกเราในอนาคต เขาไม่ใช่พวกที่แค่มัวไล่ตามหุ้นไอพีโอ เหมือนคนอื่นๆ  เพราะสิ่งเหล่านั้นมันไมใช่เรื่องยากเลยสำหรับเขา เมื่อพิจารณาถึงความอัจฉริยะของเขา แต่เขามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก

การหลอมรวมกันอย่างกลมกลืนของซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุล้ำสมัย และประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ มันคือพรสวรรค์ที่ยิ่งใหญ่ของมัสก์ ที่ยากจะหาใครเทียบได้ในยุคปัจจุบัน 

เขาคือนักประดิษฐ์ นักธุรกิจ และนักอุตสาหกรรมที่มีไอเดียยิ่งใหญ่ และเปลี่ยนมันให้กลายเป็นสินค้าที่ยิ่งใหญ่ได้ เขาเป็นนักคิดที่แหวกแนว  นักอุตสาหกรรมที่ก้าวล้ำที่สุดของอเมริกา หรืออาจจะเป็นก้าวล้ำที่สุดของโลกเราแล้วก็ว่าได้ในตอนนี้

มัสก์ เป็นนักประดิษฐ์ ที่เทียบเคียงได้กับผู้ยิ่งใหญ่อย่าง โทมัส เอดิสัน
มัสก์ เป็นนักประดิษฐ์ ที่เทียบเคียงได้กับผู้ยิ่งใหญ่อย่าง โทมัส เอดิสัน

และโดยส่วนตัวผมก็มั่นใจว่า เขาจะกลายเป็นบุคคลสำคัญที่สุด ที่โลกของเราต้องจารึกไว้ ในฐานะนักนวัตกรรม ไม่ต่างจากที่เราเคยเทิดทูน โทมัส เอดิสัน , นิโคลา เทสลา หรือ เฮนรี่ ฟอร์ด และที่สำคัญ มัสก์ ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าผู้คน หันมาสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ และช่วยกันแก้ปัญหาของโลกเราใน Scale ที่ใหญ่ขึ้นเหมือนสิ่งที่มัสก์กำลังทำ ซึ่งเขาทำสิ่งที่ต้องการ และเขาจะไม่รามือกับมัน เพราะนั่นแหละคือโลกของชายที่ชื่อ อีลอน มัสก์  
และคงจะไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่าเขาคือ The Real Iron Man ผู้ซึ่งเป็น โทนี่ สตาร์กในโลกแห่งความจริงนั่นเอง

–> อ่านตอนพิเศษ : Difficult and Painful

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Sand Hill Road *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

รวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุดรวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุด

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

อย่าลืมติดตามผลงานเรื่องต่อ ๆ ไปของผมก่อนใครได้ที่ blockdit นะครับ โหลดได้เลย

อย่าลืม ค้นหา “ด.ดล Blog” แล้ว กด follow กันด้วยนะครับผม