Geek Story EP26 : ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba (ตอนที่ 4)

จากตอนที่แล้วดูเหมือนสถานการณ์ของ อาลีบาบา พร้อมแล้วสำหรับตลาดใหม่ที่เขากำลังเข้าไปกอบโกย รวมถึง ทีมงานที่ตอนนี้พร้อมที่จะรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับแจ๊ค แล้ว ไม่ว่าจะมีอุปสรรค มากมายเพียงใด ตอนนี้ อาลีบาบา เหมือนได้เกิดใหม่แล้ว และพร้อมทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

ในสภาพซากศพของธุรกิจ internet อื่น ๆ ที่ล้มหายตายจากไปในยุคฟองสบู่ มันจะเหลือเพียงแค่ อาลีบาบา ที่พร้อมจะเข้าสู่ยุคใหม่ของบริษัทเต็มตัวได้เสียที รับฟังเรื่องราวกันต่อในตอนที่ 4 ได้เลยครับ

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/2RIKny8

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/2lEqPPg

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
http://bit.ly/2kxHtQ3

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/3cl91yr

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/laUIbZepOiE

References : https://www.tharadhol.com/blog-series-jack-ma-rise-of-the-dragon/
https://www.ohofeed.com/taobaos-success-took-15-years-the-alibaba-groups-ultimate-strategy/

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 19 : Retirement

ภารกิจอย่างนึงที่สำคัญของแจ๊ค ก่อนที่จะเกษียณคือการพา อาลีบาบาเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐอเมริกา  ซึ่งการเสนอขายหุ้นอาลีบาบาต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก(IPO) เปิดตัวในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับการตอบรับจากบรรดานักลงทุนดีเกินคาด ทำให้ราคาเปิดตัวต่อหุ้นของ อาลีบาบา พุ่งถึง 92.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงกว่าราคาที่เสนอขายครั้งแรก ที่ 68 ดอลลาร์ ถึง 38% จนสร้างประวัติศาสตร์หุ้นIPO ของสหรัฐฯเลยทีเดียว

และราคาหุ้นวันแรกพุ่งไปสูงถึง 93.89 ดอลลาร์ต่อหุ้น เมื่อคิดมูลค่าบริษัทตามราคาหุ้น (market cap) อยู่ที่ 228.5 พันล้านดอลลาร์ (7.3 ล้านล้านบาท) แซงหน้ามูลค่าบริษัทของ Facebook ที่ 201.6 พันล้านไปเรียบร้อย และตามหลังเพียงแค่กูเกิล แอปเปิล ไมโครซอฟท์เท่านั้น

แจ๊ค พา อาลีบาบา พิชิตเป้าหมายสุดท้ายคือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่อเมริกาได้สำเร็จ
แจ๊ค พา อาลีบาบา พิชิตเป้าหมายสุดท้ายคือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่อเมริกาได้สำเร็จ

การขายหุ้น IPO ครั้งนี้ทำให้ แจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัทมีทรัพย์สินตามราคาหุ้นเป็น 13 พันล้านดอลลาร์ และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัททั้ง SoftBank และ Yahoo! ต่างก็ร่ำรวยกันถ้วนหน้า

ผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

มันไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะพูดได้ว่า บุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จหลาย ๆ อย่างของแจ๊คนั่นก็คือ จาง หยิง ภรรยาผู้รู้ใจของเขา

จาง หยิงนั้น เป็นหญิงหน้าตาสะสวย เป็นผู้หญิงที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ ทั้งสวย ทั้งเก่ง และเรียบร้อย แจ๊ค และ จาง หยิง นั้นพบกันตั้งแต่สมัยเรียนในมหาวิทยาลัย และแทบจะเป็นคนเดียวที่สยบแจ๊คอยู่ ด้วยการใช้ไม้อ่อนสยบแข็ง ที่เธอใช้มานานตั้งแต่สมัยรักกันตอนเรียน จนกลายมาเป็นเศรษฐีหมื่นล้านในตอนนี้ เป็นความรักที่เข้าใจกัน และเห็นอกเห็นใจกันอย่างลึกซึ้ง

บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังที่สำคัญที่สุดคือภรรยาเขานั่นเอง
บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังที่สำคัญที่สุดคือภรรยาเขา จาง หยิง นั่นเอง

ด้วยความที่แจ๊คนั้นเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานสูงมาก จากการตั้งสำนักงานแปลภาษาเล็ก ๆ ในเมืองหังโจว แล้วมาสร้าง chinapages ก่อนจะมาเริ่มต้นธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบานั้น เรียกได้ว่าทั้งคู่ผ่านมรสุมชีวิตคู่ มานักต่อนัก

แต่จาง หยิง นั้นรู้ดีว่าแจ๊คตัดสินใจอะไรไปแล้วไม่เคยเปลี่ยนแปลง และคอยสนับสนุนแจ๊คเรื่อยมา ไม่ว่าเส้นทางจะเต็มไปด้วยขวากหนามมากเพียงใด จาง หยิงนั้นก็พร้อมที่จะสู้อยู่กับแจ๊คเสมอมา และที่สำคัญ ในยุคแรก ๆ ที่แจ๊คสร้างธุรกิจนั้น จาง หยิง ไม่เพียงเป็นช้างเท้าหลังที่ประเสริฐเท่านั้น แต่ยังเป็นเสาหลักของธุรกิจอีกด้วย ออร์เดอร์ รายใหญ่รายแรกจำนวน 8,000 หยวน ก็ได้มาด้วยฝีมือการเจรจาของ จาง หยิงนี่แหละ

การเติบโตยิ่งใหญ่ขึ้นของอาลีบาบา ทำให้สื่อคอยจับจ้องมองมาที่แจ๊คอยู่เสมอ ทุกครั้งที่แจ๊คลดการถือหุ้นลง จะต้องมีข่าวลือว่าเป็นเพราะเขาถูก ฟ้องหย่า อยู่เสมอ แต่สำหรับบรรดาเพื่อนสนิทของเขาแล้ว ทุกคนต่างรู้ดีว่า การจะให้เขาและภรรยาหย่ากันยังยากกว่าการสร้างอาลีบาบาขึ้นมาใหม่เสียอีก

Retirement

ในที่สุดมันก็ถึงวันที่ต้องลงจากตำแหน่งที่เขาเป็นผู้นำอาลีบาบา มาอย่างยาวนาน แจ๊คได้เขียนจดหมายเปิดผนึก ระบุว่าเขาได้เตรียมลงจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 กันยายน 2019 โดยเขาจะออกไปทำงานด้านการศึกษารวมทั้งตั้งมูลนิธิการกุศลตามรอยผู้ก่อตั้ง Microsoft อย่าง บิลล์ เกตส์

ในมุมมองของแจ๊คนั้น การบริจาคเงินเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด แต่ที่ยากที่สุดคือการใช้พฤติกรรมของตนไปส่งอิทธิพลต่อคนอื่น และสิ่งที่เขาคิดจะทำก็คือ การใช้ปฏิบัติการสาธารณกุศลของตนเองให้ส่งอิทธิพลต่อคนอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

หลังเกษียณ แจ๊ค ตั้งเป้าทำงานด้านการกุศล โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา
หลังเกษียณ แจ๊ค ตั้งเป้าทำงานด้านการกุศล โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา

แจ๊คเคยกล่าวไว้ว่า เขาอยากที่จะเขียนหนังสือสักเล่ม ในเรื่องเกี่ยวกับ ความผิดพลาดของอาลีบาบา แจ๊คนั้นมีสติอยู่เสมอมา เขารู้ถึงข้อผิดพลาดของตัวเอง รู้ว่าตัวเองนั้นเคยทำผิดมาหลายครั้งหลายคราในการบริหารอาลีบาบา ดังนั้นเขาจัดตัดสินใจเกษียณตนเองในขณะที่ยังมีสติอยู่ มันเป็นเรื่องที่ตัดสินใจลำบากอย่างนึงเลยทีเดียว ที่เขาต้องลงจากตำแหน่งผู้นำของอาลีบาบา บริษัทที่เขาสร้างมากับมือ และดูแลมันมากว่า 20 ปี

แจ๊คนั้นยืนกรานมาเสมอ ว่า ในวัฒนธรรมการบริหาร ธุรกิจในแต่ละท้องถิ่นนั้นต้องมีความคิดเป็นของตนเอง ไม่ควรคัดลอกตัวอย่างของประเทศที่เจริญแล้ว ถ้าวันนี้อาลีบาบา ลอกอเมริกา หรือ โลกตะวันตก นั่นจะเป็นการคัดลอกอย่างชุ่ย ๆ ต้องมีการสร้างระบบความคิดที่สมบูรณ์แบบของตนเอง และนี่เป็นสาเหตุสำคัญให้อาลีบาบานั้นเข้มแข็งขึ้นทุกที ไม่ว่าจะผ่านวิกฤติคราใดมาก็ตาม

แล้วเราได้อะไรจากการเรื่องราวของแจ๊ค หม่า จาก Blog Series ชุดนี้

ต้องบอกว่า เรื่องราวของ แจ๊ค หม่า นั้น เป็นเรื่องราวที่มีรายละเอียดเยอะมาก ๆ แจ๊ค นั้นผ่านประสบการณ์ การต่อสู้กับธุรกิจของเขามากมาย ผ่านยุคของเทคโนโลยี มาตั้งแต่เริ่มต้น internet จนมาถึงยุคที่แพลตฟอร์มมือถือครองเมือง

มันเป็นการเดินทางที่ยาวนานอย่างมาก และแจ๊ค นั้นเป็นคนที่สามารถคาดการณ์ถึงอนาคต และทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ เขาสามารถเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามต่าง ๆ ที่จะมาทำลายอาลีบาบา ธุรกิจที่เป็นเหมือนลูกในไส้ของเขาได้ทุกครั้ง แม้มีบางครา ที่ต้องพ่ายแพ้ แต่แจ๊คนั้นไม่เคยย่อท้อแต่อย่างใด

การสร้างธุรกิจด้านเทคโนโลยีนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลยในปัจจุบัน แต่การที่จะสามารถประคองธุรกิจที่แข่งกับเทคโนโลยีที่วิ่งอย่ารวดเร็วนั้น เป็นสิ่งทีท้าทายสำหรับนักธุรกิจทุก ๆ คน แจ๊คเป็นคนหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความใจสู้ แม้คู่แข่งจะใหญ่โตมากจากไหนเขาก็พร้อมที่จะสู้ทุกเมื่อ อย่างที่เราได้เห็นบทเรียนจากที่ ebay เคยโดนมาแล้ว 

และมีสิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทำเหมือนกันคือ การ โฟกัส กับสิ่งที่ทำ และการมีเป้าหมายที่ชัดเจน เหมือนที่แจ๊คทำกับอาลีบาบาตอนสร้างมันขึ้นมาใหม่ ๆ และโฟกัสกับการสร้างมันขึ้นมา เขามีเป้าหมายชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มสร้างอาลีบาบาว่าจะสร้างให้มันกลายเป็นเว๊บไซต์อีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของโลกให้ได้ และวันนี้มันก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเป้าหมายของแจ๊ค ที่ได้ตั้งไว้แต่แรกเริ่มนั้น มันสามารถทำให้เป็นจริงได้อย่างที่เราได้เห็นกันในวันนี้

ผมอยากให้เรื่องราวของแจ๊คใน blog series ชุดนี้เป็นแรงบันดาลใจ และ เป็นกำลังใจให้กับนักธุรกิจ รวมถึงคนที่กำลังท้อทุกคน ได้ลุกขึ้นสู้ แม้ปัญหามันจะยากเย็น หรือใหญ่โตแค่ไหน ขอแค่ให้ได้สู้ต่อไป สักวันนึงก็จะถึงวันของเราเอง เหมือนสิ่งที่แจ๊คได้ทำให้เห็นใน blog series ชุดนี้

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

รวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุดรวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุด

References : ข้อมูลที่มาของ Blog Series ชุดนี้

อย่าลืมติดตามผลงานเรื่องต่อ ๆ ไปของผมก่อนใครได้ที่ blockdit นะครับ โหลดได้เลย

อย่าลืม ค้นหา “ด.ดล Blog” แล้ว กด follow กันด้วยนะครับผม

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 15 : Alipay

Alipay นั้นถือได้ว่าเป็นอีกนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญของ แจ๊ค และ อาลีบาบา ความปลอดภัยของการชำระเงินนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของวงการอีคอมเมิร์ซ ดังนั้นแจ๊คจึงได้สร้าง Alipay  เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่า paypal นั้นไม่เหมาะกับสภาพของประเทศจีนเลย Alipay มันจึงกลายเป็นการชำระเงินที่ตรงกับเอกลักษณ์ของประเทศจีน

ในขณะที่ ebay บุกเข้าจีนนั้น ได้นำพาเอานวัตกรรมการชำระเงินออนไลน์ อย่าง paypal เข้ามาด้วย ซึ่งแจ๊คนั้นมองว่า ไม่เหมาะกับประเทศจีน สำหรับโมเดลของ paypal คือ

ebay ที่ผูกบริการชำระเงิน paypal ในขณะนั้น
ebay ที่ผูกบริการชำระเงิน paypal ในขณะนั้น

ผู้ซื้อจะโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ขายโดยตรง ซึ่งแน่นอนว่า การชำระเงินแบบนี้ย่อมทำให้ผู้ซื้อตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบ ซึ่งถ้าผู้ขายไม่ยอมรับว่าได้รับเงินแล้ว (ปัญหานี้ไม่เกิดในอเมริกาและยุโรป เพราะมีระบบเครดิตที่เข้มแข็งมาก จึงเกิดปัญหานี้น้อยมาก ๆ ) ซึ่งจะทำให้เงินที่ผู้ซื้อจ่ายไปนั้น มีโอกาสสูญหายไปได้ทันตาเห็น

และที่สำคัญ paypal ในสมัยนั้น ยังไม่มีกลไกตรวจสอบสถานะบุคคลอย่างเข้มงวด ลูกค้าลงทะเบียนใน paypal ได้ง่ายมาก แค่กรอกอีเมล์แอดเดรส ก็ใช้งานได้แล้ว ไม่ต้องผ่านการยืนยันชื่อจริงนามสกุลจริง  ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องการฟอกเงินผ่าน paypal ได้ ดังที่เคยมีข่าวมาแล้วในก่อนหน้านั้น

paypal ที่แจ๊คมองว่าไม่เข้ากับวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของการซื้อขายแบบจีน
paypal ที่แจ๊คมองว่าไม่เข้ากับวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของการซื้อขายแบบจีน

ซึ่งแจ๊คมองว่า paypal นั้นมีช่องโหว่อยู่มากมาย ที่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในตอนนั้นอย่างมั่นคง และได้รับการตอบรับอย่างดีในประเทศตะวันตก เพราะมันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของประเทศตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด ในยุโรปและอเมริกานั้นมีระบบเครดิตที่เข้มข้นมาก ๆ ไม่ว่าผู้ซื้อผู้ขาย ถ้าใครถูกจับได้ว่าละเมิดกฏเกณฑ์ก็จะถูกขึ้นบัญชีดำทันที และอาจจะไม่สามารถใช้ paypal ได้อีกตลอดไป ทำให้ผู้คนกล้าแหกกฏน้อยมาก ๆ 

แต่กับประเทศจีนนั้นมันต่างกันสิ้นเชิง วัฒนธรรมการค้าขายของประเทศจีนอยู่บนพื้นฐานสำคัญของกวานซี่ หรือ สายสัมพันธ์ connection เป็นหลัก ถ้าวันไหนผู้ซื้อเกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นมาก็มีโอกาสที่จะวิจารณ์ผู้ขายในทางไม่ดี ซึ่งอาจจะนำไปสู่การขึ้นบัญชีดำได้ ซึ่งผู้ขายเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมากหากใช้รูปแบบของ paypal มาใช้ในประเทศจีน

และที่สำคัญเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคจีน การใช้เครดิตการ์ดในประเทศจีน จึงไม่เป็นที่นิยมเหมือนในยุโรปและอเมริกา ประเทศจีนยังคงเป็นตลาดบริโภคที่ใช้บัตรเดบิตของธนาคารเป็นหลัก

ในเดือน ตุลาคม ปี 2003 หลังจากที่ taobao นั้นเพิ่งก่อตั้งได้ 3 เดือน  แจ๊คจึงได้นำเสนอเครื่องมือการชำระเงินแบบเอกลักษณ์เฉพาะคนจีน ในช่วงเริ่มต้นนั้น เปิดบริการให้ใช้ฟรี 

โมเดลแบบง่าย ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนจีน คือ ผู้ซื้อโอนเงินเข้าบัญชีออนไลน์บัญชีหนึ่ง Alipay จะเป็นคนแจ้งผู้ขายว่าผู้ซื้่อโอนเงินเข้าแล้ว ให้ส่งสินค้าได้ หลังผู้ซื้อได้รับสินค้าและตรวจสอบว่าไม่มีปัญหาเรียบร้อย ก็จะแจ้งต่อ Alipay ยืนยันว่าได้รับสินค้าแล้ว ให้ชำระเงินได้ จากนั้น Alipay จะโอนเงินจากบัญชีออนไลน์กลางที่ว่าไปยังผู้ขาย ซึ่งผู้ขายสามารถที่จะไปเบิกจากธนาคาร ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็น โมเดลง่ายของ Alipay 1.0 ที่แจ๊คสร้างออกมาในเดือนตุลาคมปี 2003

Alipay บริการชำระเงินออนไลน์เพื่อชาวจีนโดยเฉพาะ
Alipay บริการชำระเงินออนไลน์เพื่อชาวจีนโดยเฉพาะ

ซึ่งตัว Alipay นี่เองเป็นไม้ตายอย่างนึงของ taobao ในการที่จะ knock คู่ต่อสู้อย่าง ebay การทำงานแบบคล้ายกับว่าเป็นคนกลางอย่าง Alipay นั้น ทำให้มูลค่าการซื้อขายของออนไลน์ เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก

เนื่องจากก่อนหน้านั้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างระมัดระวังตัวกันเป็นอย่างมาก ไม่กล้าซื้อขายสินค้าราคาสูงกันเท่าไหร่ แม้จำนวน transaction ในตอนนั้นจะมีมากก็ตาม แต่มูลค่าเป็นเงินนั้นยังน้อยอยู่เพราะเป็นการซื้อขายเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงนัก

ในเดือน มีนาคม ปี 2005 Alipay ได้ทำการบรรลุข้อตกลงกับธนาคารพาณิชย์อุตสาหกรรมแห่งประเทศจีน (Industrial and Commercial Bank China Limited, ICBC) ร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินโดยผ่านบุคคลที่ 3 สำหรับ อีคอมเมิร์ซ โดยจะร่วมมือด้านการรับชำระเงินสำหรับอีคอมเมิร์ซ เข้าไปด้วย

ทั้งนี้เพื่อเป็นการคลี่คลายอุปสรรคด้านการชำระเงินซึ่งถือเป็นคอขวด ของอีคอมเมิร์ซมาช้านาน ทำให้ Alipay กลายเป็นผลิตภัณฑ์การชำระเงินสำหรับอีคอมเมิร์ซที่ปลอดภัยที่สุด รวดเร็วที่สุด และ แพร่หลายที่สุดในประเทศจีนทันที

Alipay ที่เหมาะกับวัฒนธรรมจีน ทำให้อีคอมมิร์ซจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด
Alipay ที่เหมาะกับวัฒนธรรมจีน ทำให้อีคอมมิร์ซจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด

หลังจากนั้นก็ ก็ได้ร่วมมือกับธนาคารจีนอีกหลายแห่งตามมา และที่สำคัญ ในวันที่ 20 เมษายน ปีเดียวกันนั้น Alipay ก็ได้บรรลุข้อตกลงกับยักษ์ใหญ่ของวงการบัตรเครดิตอย่าง VISA ซึ่งจะเริ่มมีการใช้บริการตรวจสอบยืนยันของ VISA กับการชำระเงินของ Alipay อย่างเป็นทางการ ทำให้ลูกค้าที่ถือบัตร VISA ทุกคนในโลกล้วนมีสิทธิ์ที่จะใช้ Alipay ได้ทันที ทำให้ Alipay มีลูกค้าหลั่งไหลเข้ามาจากทั่วโลก

ต้องบอกว่า ปรากฏการณ์ของ Alipay นั้น ได้รับความสนใจ และ ความยกย่องจากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และเหล่านักช็อปออนไลน์ของจีนเป็นอย่างมาก ซึ่ง Alipay นั้นถือเป็นนวัตกรรมอย่างนึงที่แจ๊คได้สร้างขึ้นมา และเป็นหลักไมล์ที่สำคัญของการพัฒนาอีคอมเมิร์ซของประเทศจีน การปรากฏตัวขึ้นของ Alipay นั้นมันได้ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจีน พุ่งทะยานเติบโตอย่างรวดเร็ว และรุนแรงที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

ถึงตอนนี้เราจะเห็นได้ว่า แจ๊ค นั้น จากอดีตครูสอนภาษาอังกฤษ ที่แทบจะไม่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์เลยด้วยซ้ำ กำลังจะเปลี่ยนประเทศจีนไปตลอดกาล ด้วยนวัตกรรมที่เขาได้สร้างขึ้น ทั้ง alibaba , taobao รวมถึง Alipay นั้นล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ ที่เข้าใจตลาดคนจีนอย่างลึกซึ้งของแจ๊คแทบจะทั้งสิ้น การเอาชนะ ebay ได้นั้น ทำให้ตอนนี้แจ๊ค แทบจะไม่กลัวใครอีกต่อไปแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ เครือข่าย alibaba ต้องสยายปีก เพื่อกินรวบธุรกิจ อีคอมเมิร์ซจีนให้ได้ แล้วมันทำได้ง่ายขนาดนั้นเลยหรือ? แล้วศัตรูตัวจริงของแจ๊คที่เป็นคู่แข่งจากประเทศจีนล่ะคือใคร ? จะเกิดอะไรขึ้นกับ แจ๊คและ อาลีบาบาต่อ โปรดติดตามในตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 16 : Search Wars

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 14 : World War Web

สภาพแวดล้อมในธุรกิจค้าปลีกของจีนนั้นมีพัฒนาการแตกต่างจากหลาย ๆ ประเทศ วิวัฒนาการปรกติของธุรกิจค้าปลีกมักจะเริ่มต้นขึ้นจากร้านโชว์ห่วย พัฒนามาเป็นห้างสรรพสินค้า เป็นดิสเค้าท์สโตร์ เป็นร้านค้าเฉพาะทาง และจบลงด้วยธุรกิจรูปแบบใหม่คือ อีคอมเมิร์ซ

แต่สำหรับประเทศจีนนั้นมันแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากประเทศจีนนั้นเปิดประเทศมาเพียงแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น และมีการเติบโตของชนชั้นกลางที่รวดเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ย่อมทำให้เกิดการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วของพัฒนาการในธุรกิจค้าปลีกเหล่านี้ และจีนเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่กระโดดจากร้านโชว์ห่วยข้ามมาเป็น อีคอมเมิร์ซ ได้รวดเร็วและรุนแรงที่สุด

และหลังจากที่แจ๊ค หม่า ได้สร้าง taobao ขึ้นมาออนไลน์ได้เรียบร้อยแล้วนั้น มันคือจุดเริ่มต้นของการสู้รบระหว่างธุรกิจ C2C ของ อาลีบาบา และผู้นำในตลาดอีคอมเมิร์ซจากอเมริกาอย่าง ebay ซึ่งในตอนนั้นต้องบอกว่า ebay ที่เป็นยักษ์ใหญ่ที่สุดในวงการอีคอมเมิร์ซโลกเลยก็ว่าได้ 

ebay นั้นบุกไปที่ประเทศไหน ก็สามารถยึดครองตลาดได้แทบเบ็ดเสร็จ มีเพียงแค่ญี่ปุ่นที่เดียวเท่านั้น ที่ ebay ไม่สามารถยึดครองได้ เนื่องจากพ่ายแพ้ต่อ YAHOO Japan แต่อย่างไรก็ดี ebay ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถยึดตลาดจีนได้ เพราะตอนนั้นเอง taobao ก็ยังเล็กเกินกว่าที่จะต่อสู้กับ ebay  

ซึ่งหลังจาก ebay เข้าตลาดจีนได้สำเร็จจากการ take over EachNet โดย Meg Whitman ที่ดำรงตำแหน่ง CEO ของ ebay ในขณะนั้น ได้กล่าวไว้ว่าประเทศจีนคือตลาดที่สำคัญที่สุดอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา และเขาคาดว่าในอีก 10-15 ปี ตลาดจีนจะกลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของ ebay และที่สำคัญยังประกาศท้ารบกับคู่แข่งโดยกล่าวไว้ว่าจะทำการยุติสงครามอีคอมเมิร์ซให้ได้ภายใน 18 เดือน ซึ่งถือเป็นคำขู่จากบริษัทที่ถือเป็นยักษ์ใหญ่วงการอีคอมเมิร์ซโลก

Meg Whitman CEO ebay ประกาศจะยึดจีนภายใน 18 เดือน
Meg Whitman CEO ebay ประกาศจะยึดจีนภายใน 18 เดือน

กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง

ตอนนั้น ebay ทุ่มหมดหน้าตัก ทำการโฆษณาสัมพันธ์ไปทั่วทั้งจีน โดยเว๊บไซต์ใหญ่ ๆ ในประเทศจีนในตอนนั้น ได้ถูก ebay ซื้อพื้นที่โฆษณาไปแทบจะหมดแล้ว แล้วแจ๊คตัวน้อยกับ taobao ของเขาจะทำอย่างไร ด้วยทุนรอนที่น้อยกว่า แถมเครือข่ายเว๊บใหญ่ ๆ นั้นได้ถูก ebay ยึดครองไปหมดแล้ว

แต่เนื่องจากหลังปี 2000 จำนวนผู้ใช้ internet ในจีนเพิ่มมากขึ้นและต้นทุนการทำเว๊บก็ลดลงไปมาก เว๊บไซต์ขนาดเล็กจึงมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก เว๊บเหล่านี้ส่วนมากทำโดยบุคคลทั่วไป และเป็นเว๊บไซต์เจาะจงในความสนใจหรือความต้องการของเจ้าของเว๊บเป็นหลัก

ซึ่งเครือข่ายเว๊บไซต์เหล่านี้ล้วนเสนอราคาค่าโฆษณาที่ต่ำมาก และมีการผูกโยงเป็นเครือข่ายไว้บ้างแล้ว ซึ่งทำให้ taobao นั้นจะไปโฆษณาอยู่ในเครือข่ายเว๊บเหล่านี้แทนเว๊บไซต์ขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อเทียบจากผลลัพธ์แล้วนั้น พบว่าได้ผลดีกว่าเว๊บไซต์ใหญ่ ๆ เสียอีก โดยใช้เงินทุนที่น้อยกว่ามาก

Localization

กลยุทธ์อีกอย่างที่สำคัญของ taobao คือ ความเข้าใจในพื้นที่ ซึ่ง taobao มีสูงกว่า ebay มาก แจ๊คได้ปรับ taobao ให้เป็นเว๊บไซต์ที่มีหน้าตาแบบจีนแท้ ๆ คือมีตัวหนังสือเต็มไปหมดทั้งหน้าจอ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีพื้นที่ว่างเลยด้วยซ้ำ

ในสายตาของ ebay ที่คิดแบบฝรั่งนั้น มันคือความรกชัด ๆ ebay ต้องการหน้าจอที่ใช้งานได้แบบเรียบง่ายตามสไตล์อเมริกา ที่เน้นหน้าจอที่ดูสะอาดใช้งานง่าย ๆ แต่นี่คือประเทศจีน มันคือความเคยชิน ที่เหล่าลูกค้าคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน

การเรียงหมวดหมู่สินค้าก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ  taobao นั้นเรียงหมวดหมู่ของสินค้าตามสไตล์จีนแท้ ๆ คือเรียงหมวดหมู่สินค้าแบบห้างสรรพสินค้าในจีน ในขณะที่ ebay นั้นจัดเรียงแบบบริษัทแม่ที่อยู่ในอเมริกา ทำให้ลูกค้าชาวจีนที่เข้ามาใช้บริการใหม่ ๆ จะรู้สึกคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มของ taobao มากกว่า

หน้าเว๊บไซต์ สไตล์จีนแท้ รวมถึงการเรียงหมวดหมู่สินค้าแบบวัฒนธรรมจีน
หน้าเว๊บไซต์ สไตล์จีนแท้ รวมถึงการเรียงหมวดหมู่สินค้าแบบวัฒนธรรมจีน

ebay นั้นได้ทำสิ่งที่ผิดพลาดอีกอย่างนึงที่ไม่เข้าใจถึงวัฒนธรรมจีนเลย ก็คือ การทำให้ แพลตฟอร์มของ ebay ทั่วโลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ต้องมีการปรับหน้าเว๊บจาก EachNet เดิมที่คนจีนคุ้นเคย เปลี่ยนมาเป็น ebay แบบเดียวกับที่อเมริกา ทำให้ ขั้นตอนการซื้อขาย กลไกการประเมินราคา และอื่น  ๆ อีกมากมาย ซึ่งทำให้ลูกค้าเก่าในประเทศจีนที่ชินกับลักษณะเดิม ๆ ปรับตัวไม่ได้

ebay พยายามมาคั่นกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายด้วยความกลัวว่าจะไม่ได้ค่า ธรรมเนียม ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัท แต่ taobao ปล่อยให้ผู้ซื้อและผู้ขายคุยกันได้อย่างอิสระ แถมยังมีโปรแกรม Messenger ให้คุยกันง่ายขึ้นด้วย เพราะ taobao นั้นไม่มีค่าธรรมเนียมจึงไม่ต้องกลัวว่าผู้ซื้อและผู้ขายจะไปขายกันเองโดยไม่ผ่านแพลตฟอร์ม

taobao สร้างระบบ chat เพื่อให้ผู้ซื้อผู้ขายติดต่อกันได้ง่าย ๆ
taobao สร้างระบบ chat เพื่อให้ผู้ซื้อผู้ขายติดต่อกันได้ง่าย ๆ

สุดท้ายคนก็ใช้ แพลตฟอร์มของ taobao ที่ง่ายกว่า เพราะผ่าน แพลตฟอร์ม หรือไม่ ก็ไม่ได้เสียเงินอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ลูกค้าของ taobao รู้สึกว่า taobao จริงใจในการช่วยเหลือพวกเขาและไม่หน้าเลือด มุ่งแต่จะเก็บแต่ค่าธรรมเนียมเหมือน ebay

และลำพังการให้บริการฟรีเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอที่จะเอาชนะ ebay ได้อย่างแน่นอน แจ๊คจึงต้องสร้างระบบให้บริการบนเว๊บที่ดีด้วย เขาจึงทุ่มเทอย่างหนักเพื่อปรับปรุงการบริการให้ตอบสนองลูกค้าให้ดีที่สุด เขามุ่งมั่นที่จะทำระบบบริการลูกค้าสำหรับเว๊บที่ให้ใช้ฟรีอย่าง taobao ให้ได้ดียิ่งกว่าเว๊บที่คิดค่าธรรมเนียมอย่าง ebay อีกด้วย

นั่นมันทำให้ลูกค้าเริ่มหลั่งไหลมาใช้งาน taobao แทน แต่ทางผู้บริหาร ebay ก็ยังไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดของตน โดย ทำการเผาเงินเพื่อทุ่มโฆษณาขนานใหญ่เพื่อหวังฆ่า taobao ให้ตาย ด้วยเงินทุนที่มากกว่า

แต่หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการโฆษณาที่ไร้ตรรกะสิ้นเชิง ผู้บริหารระดับสูงของ ebay นั้นละเลยความจริงพื้นฐานข้อหนึ่ง ที่ว่า taobao ของ อาลีบาบานั้นกำลังกลายเป็นหนุ่มใหญ่วัยกำลังเจริญเติบโต

ในขณะนั้นการซื้อขายออนไลน์ยังไม่ฝังลึกลงในใจชาวจีน โฆษณาทั้งหมดเกี่ยวกับการซื้อขายออนไลน์จึงล้วนกลายเป็นการทำตลาดให้ธุรกิจ C2C ทั้งหมดของจีนไปด้วย ดังนั้น ebay จึงกลายเป็น ฮีโร่ ในตลาด C2C การโฆษณาแบบเหวี่ยงแหของ ebay กลับกลายเป็นการทำโฆษณาฟรีให้ taobao ไปด้วย

และไม่ว่าจะด้วยตรรกะของแจ๊ค หรือความจริงที่ปรากฏในภายหลังล้วนพิสูจน์ได้ว่า ในการแข่งขันทางธุรกิจนั้น การเผาเงิน อย่างบ้าคลั่งของ ebay ไม่มีคุณค่าเลยแม้แต่น้อย และสำหรับตลาดประมูลของประเทศจีนแล้ว ebay ดูเหมือนจะกลายเป็นผู้เสียสละด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการสละเงินจำนวนมากในการทุ่มโฆษณาครั้งนี้

ในเดือนพฤษภาคม 2005 ส่วนแบ่งการตลาดของ taobao คือ 67.3% แซงหน้า ebay ที่ครอง 29.1% สมาชิกลงทะเบียน taobao 19 ล้านราย ในปี 2006 สามาชิกของ taobao เพิ่มเป็น 22.5 ล้านรายมากกว่า ebay ในที่สุด taobao ก็ครองแชมป์ตลาด C2C ของจีนทั้งด้านจำนวนสมาชิกและยอดเงินจากการซื้อขาย และในที่สุดในช่วงฤดูหนาวปี 2006 ebay ก็ต้องถอนตัวจากประเทศจีน โดยขายกิจการให้กับ กลุ่ม TOM เป็นอันสิ้นสุดสองคราม C2C ของประเทศจีนที่ฝ่าย taobao เอาชนะไปได้อย่างขาดลอย

ebay สูญเสีย market share ไปเรื่อย ๆ จนต้องถอนตัวออกจากจีน
ebay สูญเสีย market share ไปเรื่อย ๆ จนต้องถอนตัวออกจากจีน

ต้องบอกว่า สงครามระหว่าง taobao กับ ebay ใน ประเทศจีนครั้งนี้ ถือเป็น case study ที่สำคัญของวงการธุรกิจโลก ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้นำทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด และกำลังบูมสุดขีดในขณะนั้น แต่ฝ่ายหลัง ที่สร้างเว๊บไซต์ขึ้นมาใหม่ใช้เวลาแค่ 2 ปีก็แย่งส่วนแบ่งการตลาดมาได้ถึง 70%  ถึงตอนนี้มันก็พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้วว่าสงครามในครั้งนี้ taobao เอาชนะไปได้อย่างขาดลอย เส้นทางต่อไปของ แจ๊ค อาลีบาบา และ taobao จะเป็นอย่างไรต่อ โปรดติดตามในตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 15 : Alipay

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 13 : Taobao

มันเป็นช่วงเวลาขาขึ้นจริง ๆ สำหรับอาลีบาบา หลังจากเจอขุมทรัพย์ใหม่คือเหล่าพ่อค้าส่งทั้งหลายที่กำลังแห่แหนกันเข้ามาใช้บริการของอาลีบาบา เพียงไม่นานหนักหลังจากเปลี่ยนกลยุทธ์หลักมา focus ที่เหล่าพ่อค้าคนกลาง อาลีบาบาก็สามารถที่จะกินรวบตลาด B2B ได้แบบเบ็ดเสร็จ 

แต่ปัญหาก็คือ แล้วตลาด C2C ล่ะ ( customer to customer) ในตอนนั้น EachNet เป็นผู้นำในตลาด C2C ของประเทศจีน บริษัทซึ่งก่อตั้งในปี 1999 สามารถกินรวบตลาด C2C ได้กว่า 90% ซึ่งช่วงแรก EachNet นั้นให้บริการทุกอย่างฟรี แต่โมเดลรายได้จากการโฆษณาเพียงเท่านั้น โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ แบบที่ อาลีบาบาทำ

ebay take over EachNet เพื่อเริ่งเข้าสู่ตลาด C2C จีน
ebay take over EachNet เพื่อเริ่งเข้าสู่ตลาด C2C จีน

และมันทำให้ไปแตะจมูกยักษ์ใหญ่ทางด้าน C2C จากอเมริกาอย่าง ebay ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ ebay นั้นขยายอาณาจักรไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยใช้ โมเดล การ takeover กิจการเป็นหลักเพื่อใช้ในการบุกตลาดได้อย่างรวดเร็ว และ เป็นผู้นำในตลาดในทุก ๆ ประเทศที่บุกไปไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมัน หรือ อังกฤษ ebay ขยายอาณาจักรเป็นว่าเล่น จนไปถึงประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น

และญี่ปุ่นนี่เองที่เป็นประเทศแรกที่ ebay พ่ายแพ้ ให้กับ YAHOO ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นทำบริการหลากหลายใน online ไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะ เว๊บไดเร็คทอรี่เพียงเท่านั้น และ พาร์ตเนอร์คนสำคัญของ YAHOO ญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาก็คือ มาซาโยชิ ซัน แห่งซอฟต์แบงค์นั่นเอง

ebay พ่ายแพ้ครั้งแรกในญี่ปุ่นให้กับ Yahoo Japan
ebay พ่ายแพ้ครั้งแรกในญี่ปุ่นให้กับ Yahoo Japan

และการพ่ายแพ้ของ ebay ที่ญี่ปุ่นนี่เอง ที่ทำให้ มาซาโยชิ ซัน ได้เรียกแจ๊คมาคุยที่โตเกียว เพื่ออัพเดทสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งมันคือการแจ้งให้แจ๊ค เตรียมรับมือกับ ebay ที่กำลังจะไปบุกประเทศจีนในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งมาซาโยชิ เองก็คิดว่า ในเมื่อเขาเอาชนะ ebay ที่ญี่ปุ่นได้ ก็ย่อมที่จะสามารถชนะในจีนได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะเขาพบว่าการดำเนินธุรกิจและการตลาดของ ebay ในเอเชียนั้น มีปัญหาคือเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ได้

และแล้ววันหนึ่งในเดือนมีนาคม ปี 2003 มันเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งเหมือนทุก  ๆ วัน ภายในออฟฟิสใหม่ของอาลีบาบา แต่มันมีบางอย่างผิดปรกติ มีพนักงานกว่า 10 คนถูกเรียกตัวไปยังห้องทำงานของแจ๊คที่ชั้นแปดของอาคารหัวซิง ซึ่งต้อนนั้นผู้บริหารระดับสูงรวมถึงแจ๊คต่างนั่งกันอยู่ครบ

แจ๊คให้พนักงานเข้ามาทีละคน เพื่อรับทราบภารกิจลับบางอย่าง และเซ็นสัญญาไม่ให้แพร่งพรายเรื่องนี้ออกสู่ภายนอก แม้กระทั่งครอบครัวของตัวเองก็ห้าม หลังจากเซ็นกันครบทุกคน แจ๊คก็ต้องเปิดเผยภารกิจอันเร้นลับนี้ ซึ่งมันก็คือ อาลีบาบาจะบุกตลาด C2C แล้วสู้กันซึ่ง ๆ หน้ากับ ebay โดยให้พนักงานเหล่านี้ไปทำเว๊บไซต์เลียนแบบ ebay ขึ้นมาเว๊บหนึ่ง และเส้นตายคือ 1 เดือนเท่านั้น เว๊บต้องพร้อมออนไลน์ในเดือนพฤษภาคม เล่นเอาหนุ่มสาวทั้งสิบคนตกใจจนอ้าปากค้างกันเลยทีเดียว

ซึ่งหลังจากนั้นทีมงานลับทั้ง 10 คนก็หายไปจากบริษัททันที เพราะแจ๊ค ใช้ออฟฟิสเก่าคือบ้านริมทะเลสาบหังโจวของเขาเป็นฐานบัญชาการของเว๊บไซต์ C2C ตัวใหม่ที่จะทำมาแข่งกับ ebay 

ใน 10 คนนั้น สามคนเป็นวิศวกรด้านเทคนิคมือดี ที่ได้รับการคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว ส่วนอีกเจ็ดคนนั้นรับผิดชอบส่วนของเว๊บไซต์ และ บริการลูกค้า และโปรเจคลับที่ทั้ง 10 คนต้องร่วมกันพัฒนา นี้ถูกตั้งชื่อว่า taobao นั่นเอง

ผู้ดูแลหลักของโครงการ taobao คือ ซุนถงอวี่ ซึ่งแจ๊ค ส่งให้มาดูแลโปรเจคนี้โดยเฉพาะ และเป็นคนที่ช่วยกำหนดทิศทางของเว๊บ เนื่องจากเหล่าทีมงานทั้ง 10 คนนั้นเคยทำมาแต่เว๊บ B2B อย่างอาลีบาบา ไม่เคยเข้าใจธุรกิจของ C2C สุดท้ายจึงตัดสินใจร่วมกันว่ารูปแบบของ ebay นั้นดีที่สุด พวกเขารู้สึกว่าการประมูลคือรูปแบบหนึ่งเดียวของ C2C

ในที่สุดหลังจากทำงานกันอย่างหนักแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน วันที่ 10 พฤษภาคม 2003 เว๊บ taobao ก็ออนไลน์ได้สำเร็จ แจ๊คกับซุนถงอวี่ และผู้บริหารระดับสูงก็แทบไม่เชื่อสายตาตัวเองด้วยซ้ำว่ามันจะออนไลน์ได้สำเร็จในเพียงแค่เดือนเดียว

และแน่นอนในตอนนั้นพนักงานส่วนใหญ่ใน อาลีบาบา แทบจะไม่มีใครล่วงรู้ถึงการแอบพัฒนา taobao อย่างลับ ๆ แจ๊คปล่อยให้มันเป็นปริศนาในโลกออนไลน์ ในช่วงแรกของการเปิดตัว taobao ซึ่งแม้กระทั่งพนักงานอาลีบาบาเอง ก็คิดว่า taobao จะมาเป็นคู่แข่งกับ alibaba ด้วยซ้ำไป

และในที่สุดหลังจากปล่อยให้เป็นปริศนากว่า 2 เดือน ตอนนั้นเริ่มมีสมาชิกเข้ามาใช้งาน taobao จำนวนหนึ่งแล้ว แจ๊คก็ทำการเฉลยให้เหล่าพนักงานอาลีบาบาได้รับรู้ว่า taobao นั้นเป็นผลงานภารกิจลับของทีมที่หายไปนั่นเอง และ ทารกน้อยตัวใหม่อย่าง taobao ก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยอาลีบาบาประกาศจะทุ่มเงิน 100 ล้านหยวน บุกตลาด C2C ต่อหน้าสื่อที่เข้ามาทำข่าวการเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งนี้

taobao เปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมลุยศึก C2C
taobao เปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมลุยศึก C2C

แจ๊คแอบทำโปรเจค taobao โดยไม่บอกแม้กระทั่ง มาซาโยชิ ซัน ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการอาลีบาบาในขณะนั้น ทำให้ มาซาโยชิ นั้นร้อนใจจนต้องไปลงทุนกว่า 40 ล้านเหรียญในเว๊บ snda.com ซึ่งเป็นเว๊บ C2C ที่กำลังฮิตอยู่ในขณะนั้น โดยเป็นการลงทุนสูงที่สุดของมาซาโยชิในประเทศจีน เพราะเขาไม่รู้ว่าแจ๊คกำลังแอบสร้าง taobao อยู่

หลังจากรู้ข่าวเรื่อง taobao จึงทำให้มาซาโยชิ อยากลงทุนเพิ่มในอาลีบาบาเพื่ออัดฉีดเงินเข้าไปยัง taobao ในการสู้ศึก C2C กับ ebay ที่ขณะนั้นกำลังเข้าสู่ตลาดจีนผ่านการ take over EachNet เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งในที่สุด ซอฟต์แบงค์ของ มาซาโยชิ ได้จับมือกับ ฟิเดลิตี้ อินเวสต์เมนต์ , บริษัทการลงทุนหัวอิ๋ง และ GGV (Granite Global Ventures) ลงทุนในอาลีบาบาอีกครั้งด้วยวงเงินถึง 82 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้อาลีบาบานั้นได้ทำการเพิ่มทุนให้กับ taobao ถึง 390 ล้านหยวน ทำให้ taobao มีกำลังเงินมากพอในการผลาญเงินเพื่อที่จะสู้ศึก C2C กับ ebay และ มาซาโยชิ ยังย้ำอีกว่า หากเงินทุนไม่พอนั้นเขาก็พร้อมที่จะเพิ่มทุนได้ทุกเวลา

มาซาโยชิ เชื่อในตัวแจ๊ค และ taobao พร้อมอันเงินให้แบบไม่อั้นเพื่อสู้ศึก C2C กับ ebay
มาซาโยชิ เชื่อในตัวแจ๊ค และ taobao พร้อมอันเงินให้แบบไม่อั้นเพื่อสู้ศึก C2C กับ ebay

ตอนนี้ทารกน้อยคนใหม่อย่าง taobao ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมแรงสนับสนุนด้านเงินทุนแบบไม่มีอั้นจากป๋าใจใหญ่อย่าง มาซาโยชิ ซัน ทำให้ตอนนี้ ebay ซึ่งในขณะนั้นเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการ C2C ซึ่งแทบจะไม่เคยแพ้ใครที่ไหนนอกจากในญี่ปุ่น ได้เจอกับศัตรูที่สมน้ำสมเนื้อแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะสู้รบกันอย่างไร จะใช้อาวุธแบบไหนในการรบในศึกสงครามครั้งใหม่แห่ง C2C ในดินแดงมังกรครั้งนี้ โปรดอย่าพลาดติดตามในตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 14 : World War Web

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ