ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 9 : Moving Beyond

เมื่อ Dell เข้าสู่ระบบ ecommerce เพื่อเริ่มที่จะใช้อินเทอร์เน็ตมาขยายธุรกิจ Michael นั้นมีเป้าหมายหลัก 3 ประการคือ ทำให้การทำธุรกิจกับ Dell เป็นเรื่องง่าย ลดต้นทุน และขยายความสัมพันธ์ระหว่าง Dell กับลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

และเพียงไม่นาน Dell ก็สามารถที่จะสร้างยอดขายได้กว่า 12 ล้านเหรียญ ต่อวันผ่านอินเทอร์เน็ต และสุดท้ายอินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจของ Dell ในที่สุด

ต้องบอกว่าแม้อุตสาหกรรมไฮเทคที่ Dell กำลังแข่งขันอยู่นั้น ขึ้นชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าไปใช้ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่ Dell ทำผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้น ทำให้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญต่อธุรกิจของพวกเขาไปแล้ว

และหนึ่งในปรากฏการณ์ที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ต คือ อินเทอร์เน็ตได้สร้างตลาดใหม่ ๆ ที่ Dell ไม่เคยพบเจอมาก่อน และมันทำให้พวกเขา มีอัตราการเติบโตมากกว่า 30% ในแทบจะทุก ๆ ปี ซึ่งถือว่ามากกว่าอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

Dell ไม่เคยหยุดที่จะสร้างบริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น บริการให้เช่าซื้อเครื่อง DellPlus และบริการบริหารสินทรัพย์ให้ลูกค้า หรือการขยายตัวไปในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเช่น ประเทศจีน และอเมริกาใต้ ทำให้รักษาการเจริญเติบโตในอัตราระดับที่สูงถึง 50% ในหลาย ๆ ปี

ขยายธุรกิจไปในจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล
ขยายธุรกิจไปในจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล

แน่นอนว่า Michael เอง ก็ต้องสร้างและปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อให้ทันกับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสมดุลไม่ให้โครงสร้าบริษัทใหญ่เกินกว่าที่ต้องการ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายสำหรับบริษัทที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดแบบ Dell มาก

Michael จึงมองว่า ต้องมีการเรียนรู้จากการกระทำเป็นหลัก ความอยู่รอดของบริษัทนั้นขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้ทัน เนื่องจากคนและสิ่งที่มีอยู่ต้องมีการขยายออกไปอย่างรวดเร็ว และต้องมีโครงสร้างเพียงพอที่จะควบคุมการเติบโตได้ แต่ต้องไม่ใหญ่มากเสียจนกลายเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้นั่นเอง

ต้องบอกว่า Dell นั้นเป็นหนึ่งในบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เติบโตได้รวดเร็วที่สุดบริษัทหนึ่ง ในระยะเวลาเพียงแค่ 10 ปี ราคาหุ้นของ Dell นั้นพุ่งขึ้นไปกว่า 36,000% และบริษัทก็ก้าวจากบริษัทที่เริ่มต้นด้วยทุนเพียง 1,000 เหรียญ ไปเป็นบริษัทที่มียอดขายกว่า 18,000 ล้านเหรียญ (ปี 2019 Dell มียอดขายประมาณ 90,000 ล้านเหรียญ)

ต้องบอกว่า Michael นั้นได้สร้าง Dell เดินทางมาไกลมากจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในหอพักของเขา และการตัดสินใจครั้งสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตเขาที่ต้องออกจากการเรียนมามุ่งสู่ธุรกิจแบบเต็มตัว

แน่นอนว่า Dell นั้นก็ยังคงไม่หยุดสร้างบริการหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ขยายตลาดไปในพื้นที่ใหม่ ๆ แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด แบ่งกลุ่มและเพิ่มบริการใหม่ ๆ ซึ่งกุญแจความสำคัญที่สุดที่ทำให้ Dell ประสบความสำเร็จอย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน เกิดมาจากชายที่ชื่อ Michael Dell ที่รู้จักจุดแข็งของตัวเองและพร้อมรับมือกับการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ความคิดที่จะเรียนรู้บทเรียนที่ได้รับจากความผิดพลาดในอดีต และหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความกล้าที่จะไม่ยอมทำตามแนวคิดแบบเดิม ๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุดของเขาก็คือ การทำให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจมากที่สุดนั่นเองครับ

แล้วเราได้อะไรจากการเรื่องราวของ Dell จาก Blog Series ชุดนี้

ต้องบอกว่าเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมากของการสร้างธุรกิจของ Michael Dell ที่ปฏิวัติการขายอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์ให้กับลูกค้าโดยตรง ติดต่อกับผู้ผลิตชิ้นส่วนโดยตรง ซึ่งทั้งหมดนั้นเราจะเห็นได้ว่า เป็นการกำจัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและไม่มีประสิทธิภาพที่อยู่ตรงกลางออกไปทั้งหมด

โมเดยที่ Michael สร้างขึ้นมาอย่าง Direct Model นั้น ทำให้พวกเขาสามารถสร้างบริษัทให้กลายมาเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าของโลกได้อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งมันเริ่มต้นจากคำว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อเริ่มแรกนั้นไม่มีใครเชื่อว่า Dell จะสามารถทำโมเดลของการส่งตรงได้สำเร็จกับธุรกิจคอมพิวเตอร์ ที่แทบจะไม่มีใครเคยทำมาก่อน

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนั้น เราสามารถที่จะเรียนรู้และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ หลายคนอาจจะเคยเจอกับคำพูดที่ว่า สิ่ง ๆ ที่คุณกำลังทำอยู่มันเป็นไปไม่ได้ Michael แสดงให้เห็นว่า คุณไม่จเป็นต้องเป็นอัจฉริยะ หรือ ต้องเรียนจบสูง ๆ จึงจะสามารถคิดในแบบที่ไม่เหมือนใครได้ แต่ขอให้คุณเพียงแค่มีเค้าโครงและความฝัน ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างที่ Michael Dell ทำให้เราเห็นได้นั่นเองครับ

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

รวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุดรวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุด

อย่าลืมติดตามผลงานเรื่องต่อ ๆ ไปของผมก่อนใครได้ที่ blockdit นะครับ โหลดได้เลย

อย่าลืม ค้นหา “ด.ดล Blog” แล้ว กด follow กันด้วยนะครับผม

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 8 : Direct Sales Revolution

Michael นั้นรอคอยอยู่เสมอว่า พัฒนาการใหม่ ๆ แบบไหนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดที่พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ได้อีกครั้งหนึ่ง และตัวเขาเองมองว่า การที่ Dell จะกลายเป็นบริษัทชั้นนำได้นั้น ต้องสามารถที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ได้ เขารู้แน่ ๆ ว่ามันต้องเกิดขึ้น แต่ตอนนั้นเพียงแค่ยังไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

และในที่สุด เทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปตลอดกาล ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งเทคโนโลยีทีว่านั่น ก็คือ อินเทอร์เน็ตนั่นเอง

อินเทอร์เน็ตนั้น ทำให้เหล่าลูกค้าสามารถที่จะค้นหาข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการได้ ผ่านคอมพิวเตอร์ได้แบบตลอด 24 ชม. และแน่นอนว่ามันเข้าถึงได้ทุกคน อินเทอร์เน็ตทำให้เหล่ากลุ่มคนหัวก้าวหน้านั้นหันมาสนใจ และที่สำคัญคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกค้าที่ Dell ขายสินค้าให้อยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่า Michael นั้นรู้ทันทีว่า บรรดาลูกค้าเก่า รวมถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเขานั้น จะตรงเข้าไปที่อินเทอร์เน็ตเป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน

และตัว Michael นั้นก็รู้ดีตั้งแต่แรกแล้วว่า อินเทอร์เน็ตนั้นจะเป็นช่องที่ทำให้พวกเขาเข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพได้อย่างไร้ขีดจำกัด และเป็นการสร้างแบรนด์ให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น เขาต้องเข้าไปสู่ตลาดที่ศักยภาพแห่งนี้ให้สำเร็จเป็นรายแรก ๆ ให้ได้

ในเดือนมิถุนายม ปี 1994 Dell ได้ทำการเปิดตัวเว๊บไซต์ www.dell.com ซึ่งมีการนำข้อมูลต่าง ๆ ของเครื่อง PC และที่อยู่ email ที่เกี่ยวข้องกับการ support ลูกค้าขึ้นไปไว้บนอินเทอร์เน็ต โดยหลังจากนั้นอีก 1 ปีถัดมา ก็ได้เพิ่มบริการให้ลูกค้าสามารถสั่งประกอบคอมพิวเตอร์ได้ตามต้องการ

เว๊บไซต์ของ Dell ในยุคแรก ๆ
เว๊บไซต์ของ Dell ในยุคแรก ๆ

ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาในเว๊บไซต์ สามารถเลือกเพิ่มส่วนประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Ram Disk Display Card, Modem , Network card หรือแม้กระทั่งลำโพง ได้ทุกอย่างตามที่เขาต้องการ และในท้ายที่สุดมันจะคำนวณราคาออกมาให้กับพวกเขาได้แบบทันที

Direct Sales Revolution

ต้องบอกว่าการขายเครื่องผ่านระบบออนไลน์ด้วยเว๊บไซต์ www.dell.com ถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของ Dell ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาเลยก็ว่าได้ Michael นั้นได้รับความช่วยเหลือจาก Scott Eckert ซึ่งเป็นผู้ช่วยกรรมการในขณะนั้น และกลายมาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการพัฒนาระบบออนไลน์ของ Dell ในภายหลัง

และแน่นอนว่า อินเทอร์เน็ต นั้นเกิดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมระบบ Direct Sales ของ Dell ที่เป็นจุดเด่นอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ Dell นั้นใกล้ชิดกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ลูกค้าต้องการนั้นสามารถค้นหาได้อย่างรวดเร็ว ราคาถูก และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมมาก ๆ

Scott Eckert ผู้มีบทบาทสำคัญในระบบออนไลน์ของ Dell
Scott Eckert ผู้มีบทบาทสำคัญในระบบออนไลน์ของ Dell

และมันตรงกับความต้องการของ Michael ที่ต้องการลดขนาดโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทลงพอดิบพอดี วิธีสั่งของแบบตัวต่อตัวที่เกิดจากโลกอินเทอร์เน็ตนั้น ทำให้สามารถเพิ่มยอดขายโดยแทบจะไม่ต้องเพิ่มจำนวนพนักงานแต่อย่างใด

เมื่อ Michael นั้นมองว่าระบบสั่งออนไลน์เริ่มที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอแล้ว เขาจึงได้ตัดสินใจเริ่มทุ่มทุนในการโฆษณาทันที ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ Dell ได้เจอกับกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่พวกเขาแทบไม่เคยเจอมาก่อน โดยเมื่อถึงช่วงสิ้นปี 1996 Dell สามารถทำยอดขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ถึง 1 ล้านเหรียญต่อวัน

ด้วยระบบการส่งตรงที่เป็นทุนเดิมมาอยู่แล้วนั้น ทำให้ Dell ได้เปรียบทันทีเมื่อเข้าสู่โลกของอินเทอร์เน็ต ซึ่งพวกเขาสามารถทำกำไรได้ทันที ต้องเรียกได้ว่าเป็นเว๊บไซต์ ecommerce แรก ๆ ของโลกที่สามารถทำกำไรได้ทันทีเมื่อเข้าสู่ยุคของการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต

ซึ่งแม้ในช่วงนั้นเว๊บไซต์ดัง ๆ อย่าง Amazon กำลังเกิดขึ้น และเริ่มสร้างรายได้มหาศาล แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ธุรกิจที่สามารททำกำไรได้ เหมือนอย่างที่ Dell ทำสำเร็จ เมื่อเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ Dell ก็ได้กลายเป็นผู้นำในตลาดนี้ได้สำเร็จในที่สุด

เป้าหมายอีกอย่างของ Michael ก็คือ เขาต้องการให้ Dell สามารถทำยอดขายจากระบบออนไลน์ให้ได้เกิน 50% และเพื่อทำให้เป้าหมายนั้นเกิดขึ้นจริงได้ Michael จึงสั่งการให้ทุก ๆ ส่วนของบริษัทนั้นให้มาใช้บริการบนระบบอินเทอร์เน็ต

มีการส่งเสริมให้อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในทุก ๆ แผนกของ Dell ซึ่ง Michael ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ในการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ร่วมกับระบบข้อมูลข่าวสารของบริษัททั้งหมด เพื่อทำให้การติดต่อสื่อสารกับลูกค้า และผู้จัดส่งชิ้นส่วนนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

แน่นอนว่าในช่วงแรกนั้นธุรกิจของ Dell บนอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่ลูกค้าขนาดเล็ก และ ขนาดกลางเท่านั้น เนื่องจากลูกค้ากลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่นั้น ยังมีระบบการจัดซื้อแบบโบราณมาก ๆ และเป็นเรื่องยากที่จะมาซื้อขายกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่ต้องตัดสินใจ ณ ขณะนั้นทันที

วิธีการแก้ปัญหาของ Dell คือ การออกแบบเว๊บไซต์แบบพิเศษสำหรับลูกค้ารายใหญ่แต่ละรายบนเว๊บไซต์แทน โดยเรียกมันว่า “Premier Page” ซึ่งจะมีการติดต่อกันด้วยรหัสลับพิเศษ เพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการของ Dell โดยเฉพาะ และสามารถตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น รายการสินค้าคงคลัง ภูมิภาค สถานที่ และการให้บริการ เป็นต้น และทุก ๆ อย่างจะสามารถตรวจสอบได้ทันทีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

แต่ต้องบอกว่าสำหรับ Dell นั้นการค้าในระบบ Ecommerce ผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งการที่ Michael สามารถมองเห็นได้ทันทีว่าอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นส่วนสำคัญต่อกลยุทธ์ของบริษัท ทำให้ Dell เริ่มมองเห็นข้อมูลในลักษณะที่แตกต่างไปจากคู่แข่งอื่น ๆ

ซึ่งจากการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต แทนที่เขาจะพยายามป้องกันฐานข้อมูลที่ Dell เก็บข้อมูลมานานหลายปี แต่พวกเขากลับเลือกที่จะชักจูงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์นั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบนี้แทน ซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อทำให้การส่งผ่านข้อมูลระหว่างบริษัทนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องบอกว่า Dell นั้นถือเป็นต้นแบบสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของการทำธุรกิจในเศรษฐกิจดิจิตอลตั้งแต่ยุคแรก ๆ ก็ว่าได้

ต้องบอกว่าการที่ Dell สามารถก้าวมาได้ถึงจุดนี้นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญแต่อย่างใด Michael ล้วนแล้วแต่สร้างกลยุทธ์ที่สำคัญที่มีผลต่อบริษัทเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งตรง การบริการลูกค้า การสร้างสินค้าที่มีคุณภาพ รวมถึงการกระโจนเข้าสู่ธุรกิจ Ecommerce เป็นรายแรก ๆ แต่พวกเขายังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญ คือ การก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดในการผลิตคอมพิวเตอร์ในระดับโลกให้ได้ แล้วพวกเขาจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 9 : Moving Beyond (ตอนจบ)

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.interesticle.com/entertainment/10-richest-people-who-did-not-finish-college/3

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 7 : Winners Take All

Dell ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทระดับโลกในปี 1995 ยอดขายในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และลาตินอเมริกา เติบโตเร็วกว่าตลาดปรกติสามเท่า บริษัทได้ขยายสำนักงานไปยัง 14 ประเทศในยุโรป และโดยเฉพาะในอังกฤษ Dell ได้กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับสองของประเทศ

มีการขยายกิจการออกไปในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก และ ญี่ปุ่น โดยขายแบบส่งตรงใน 11 ประเทศ และขายผ่านเครือข่ายอีก 37 ประเทศ Dell ได้สร้างระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของบริษัท และพัฒนาบุคลากรที่พร้อมที่จะทำงานในระดับโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้เมื่อสถานการณ์ของบริษัทแข็งแกร่งขนาดนี้ นั่นคือ Dell กำลังเผชิญกับสถานการณ์ครั้งสำคัญที่ถ้าไม่โต ก็ต้องตายอีกครั้งหนึ่ง ตอนนั้นสถานการณ์โลก บริษัทส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะรวมตัวกันมากขึ้น ทำให้ Dell ต้องเผชิญกับการท้าทายครั้งใหม่ ที่ต้องขยายบริการและสินค้าของตัวเองให้มากขึ้น ไม่จำกัดแต่เพียงแค่ เครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ และ Notebook อีกต่อไป

ซึ่งการเข้าไปสู่ตลาด server ไม่เพียงเป็นแค่โอกาสที่ดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันยังมีความจำเป็นมาก ๆ สำหรับการแข่งขันในอนาคตด้วย การเติบโตอย่างรวดเร็วของคอมพิวเตอร์แบบเครือข่ายตามบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ทั่วโลก มันทำให้โอกาสของตลาด Server นั้นเปิดกว้างอยู่เสมอ

ด้วยการเติบโตของระบบปฏิบัติการมาตรฐานอย่าง Windows NT และการประมวลผลแบบ Multi-Core ทำให้ Dell สามารถพัฒนา Server บนพื้นฐานของมาตรฐานเหล่านี้ได้ อย่างไม่ยากเย็นนัก เป็นการเข้าสู่ตลาดด้วยต้นทุนที่ไม่สูงนัก ไม่ต้องซื้อเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาเลยด้วยซ้ำ

และแน่นอนจุดเด่นในเรื่องการขายตรงนั้น Michael ก็ทำในตลาด Server เช่นเดียวกัน โดยมีการเสนอเครื่อง Server ที่มีราคาถูกกว่า ทำให้ลูกค้าสามารถประหยัดเงินได้เป็นอย่างมาก

ต้องบอกว่าการเข้ามาสู่ตลาด Server ของ Dell นั้นเป็นทางเลือกที่บังคับให้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีไปโดยปริยาย ซึ่งหาก Dell ไม่เข้ามาเล่นในตลาดนี้ก็จะถูกผูกขาดด้วยผู้เล่นรายใหญ่เพียงแค่ 3 รายคือ IBM , HP และ Compaq เพียงเท่านั้น

IBM , HP ที่กำลังผูกขาดตลาด Server อยู่ในตอนนั้น
IBM , HP ที่กำลังผูกขาดตลาด Server อยู่ในตอนนั้น

และทั้งสามก็เป็นคู่แข่ง Dell ในตลาดคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ รวมถึง Notebook เช่นเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้เหล่าคู่แข่งจะใช้กลยุทธ์ นำกำไรจากการขาย Server ไปชดเชยการขาดทุนที่เกิดจากการขายเครื่องแบบตั้งโต๊ะและ Notebook และหาก Dell ไม่เข้าไปในตลาด Server สุดท้ายก็จะถูกโจมตีในตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและ Notebook อยู่ดีนั่นเอง

Michael นั้นได้กำหนดกลยุทธ์ในตลาด Server คือ พัฒนาเครื่อง Server สำหรับระดับเริ่มต้น และ ระดับกลางด้วยตัวเอง และในขณะเดียวกัน ก็พัฒนาความสามารถของทีมงานให้สามารถผลิตเครื่องแบบ Hi-End ได้ด้วย

และเน้นรูปแบบการขายตรง ด้วยการผลิตเครื่องตามที่ลูกค้าต้องการจริง ๆ และใส่ Software รวมถึงระบบปฏิบัติการมาจากโรงงาน ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจในบริการ และ การ Support จากทีมงานของ Dell ให้มากที่สุด

Michael นั้นเดินหน้าพูดคุยกับทุกคนที่เป็นพนักงานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน และเริ่มแผนการประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่ ด้วยการนำพนักงานกว่า 7 พันคนมารวมกันในอาคารหนึ่งกลางเมืองออสติน

พนักงานบางคนแต่งตัวเป็น มนุษย์ Server ด้วยชุดเสื้อคลุมและกางเกงรัดรูปพร้อมกับตัวอักษร ‘S’ ขนาดใหญ่ติดที่หน้าอก วิ่งไปมาตามตึกต่าง ๆ เพื่อให้คนมองเห็นและให้ความสนใจกับเทศกาลครั้งนี้ และตัว Michael เองนั้นสร้างความฮือฮาด้วยการวิ่งเข้าไปในหอประชุมพร้อมกับคบเพลิงขนาดเดียวกับที่ใช้ในกีฬาโอลิมปิก

ซึ่งแน่นอนจากความใส่ใจในทุก ๆ เรื่องของ Michael การเข้าสู่ตลาดในครั้งนี้ของ Dell นั้นทำให้ลูกค้าสามารถที่จะประหยัดเงินจากการซื้อ Server ได้มาก Dell บีบให้คู่แข่งต้องลงมาตั้งราคาเดียวกับ Dell และเพียงปีแรกที่ Dell เปิดตัว Server รุ่น PowerEdge ทำให้เหล่าคู่แข่งต้องลดราคาเครื่องลงอย่างน้อย 17% เลยทีเดียว

Dell PowerEdge ในยุคแรก ๆ ที่ออกมาตีตลาด
Dell PowerEdge ในยุคแรก ๆ ที่ออกมาตีตลาด

18 เดือนหลังจากเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนและขยายตลาด Server ในปี 1996 Dell เริ่มแนะนำรุ่น PowerEdge แบบที่มีตัวประมวลผลเดี่ยวและคู่ออกสู่ตลาด ในราคาที่ทำให้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้

เป้าหมายของ Michael ในตลาดอเมริกานั้น ต้องการส่วนแบ่งการตลาดเป็นตัวเลข 2 หลัก ให้ได้ก่อนปี 1998 แต่พวกเขาสามารถทำตามเป้าได้สำเร็จในปี 1997 โดยเมื่อถึงสิ้นปี 1997 นั้น Dell มีส่วนแบ่งในตลาด Server จากเดิมที่อยู่ในอันดับ 10 ขึ้นมาสู่อันดับ 4 ได้สำเร็จ

และเมื่อก้าวเข้าสู่ปี 1998 นั้น Dell ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับสองของอเมริกา โดยสามารถเอาชนะทั้ง IBM และ HP ได้แบบขาดลอย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 19% และกลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่อง Server ที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในตลาด

และต้องบอกว่านี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พวกเขาทำได้สำเร็จในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้อีกครั้ง ไม่มีใครเชื่อว่า Dell จะขาย Server ผ่านระบบขายตรงได้ แต่พวกเขาก็สามารถทำมันได้สำเร็จ ต้องบอกว่าการทุ่มเทความพยายามทั้งหมดมาที่การขายแบบส่งตรงนั้นทำให้ Dell มีความได้เปรียบจากการแข่งขันมากยิ่งขึ้นแม้กระทั่งตลาดที่ไม่มีใครคิดอย่างตลาด Server แต่ต้องบอกว่าความสำเร็จของพวกเขายังไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น ยังมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านี้กำลังรอ Dell อยู่ แล้วสิ่ง ๆ นั้นมันคืออะไร โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 8 : Direct Sales Revolution

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://twitter.com/michaeldell/status/992860025562509312

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 6 : Direct Sales 1.1

แม้ Dell นั้นจะมีจุดเด่นในเรื่องการขายตรงก็ตาม แต่ต้องบอกว่า ในช่วงปี 1994 นั้น ร้านขายปลีกได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนั้นเหล่าคู่แข่งของ Dell กำลังขยายกิจการอย่างบ้างคลั่งผ่านร้านค้าปลีกอย่าง CompUSA หรือ Circuit City

แม้ Dell นั้นจะมีการขายผ่านร้านค้าปลีกอยู่ด้วยก็ตาม และได้เข้าไปในธุรกิจผ่านค้าปลีกนี้กว่า 4 ปีมาแล้ว Michael กลับคิดต่าง โดยคิดที่จะถอนตัวออกจากธุรกิจค้าปลีกที่กำลังแข่งขันกันอย่างเมามันส์

Mort และ Michael นั้น ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างละเอียด และพบว่าแม้จะประสบความสำเร็จจากการขายผ่านเครือข่ายร้านค้าปลีกเหล่านี้ก็ตามที แต่พบว่ากำไรที่ได้นั้นน้อยมาก ๆ และเชื่อว่าเหล่าคู่แข่งของเขาก็แทบจะกำไรน้อยมากเช่นเดียวกัน

Michael จึงได้ทำการตัดสินใจในสิ่งที่ไม่มีใครกล้าทำมาก่อน นั่นก็คือ ถอนตัวออกจากธุรกิจค้าปลีกทันที ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่ารายได้จากธุรกิจค้าปลีกนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยนิดจากรายได้ทั้งหมดในขณะนั้น จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ Dell มากนักอย่างที่นักวิเคราะห์ได้ออกมาโจมตี Dell ในเรื่องดังกล่าว

Dell เลือกจะถอนตัวออกจากการขายผ่านร้านค้าปลีก
Dell เลือกจะถอนตัวออกจากการขายผ่านร้านค้าปลีก

และประโยชน์ที่สำคัญของการถอนตัวออกจากธุรกิจค้าปลีกนั่นก็คือ มันเป็นการบังคับให้ Dell Computer พุ่งเป้าแบบ 100% ไปที่การขายแบบส่งตรง ทำให้พวกเขาโฟกัสกับตลาดนี้มากขึ้น และเป็นตลาดที่พวกเขานั้นแข็งแกร่งเป็นอย่างมากนั่นเอง

ก้าวสู่การขายแบบส่งตรง Version 1.1

ต้องบอกว่าใน version 1.0 ของการขายแบบส่งตรงนั้น Michael ได้กำจัดคนกลางออกไปเพื่อทำการลดต้นทุน และ การปรับเข้าสู่ version 1.1 จะทำให้สามารถยกระดับ Dell ขึ้นไปอีกขั้นด้วยการลดต้นทุนชิ้นส่วนที่ไม่มีประสิทธิภาพออกไปนั่นเอง

ซึ่งรูปแบบการผลิตการสินค้าแบบเดิมนั้น การผลิตสินค้าโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น CPU , RAM , Harddisk หรือ การ์ดแสดงผล

ซึ่งแน่นอนว่าการผลิตแต่ละรุ่นออกมานั้น ก็มักจะต้องการทำกำไรจากรุ่นนั้น ๆ ให้มากที่สุด เพราะมีการลงทุนมากมายตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด และร้านค้าปลีกก็ต้องพยายามขายรุ่นนั้น ๆ ออกไปให้มากที่สุดแม้จะมีการผลิตรุ่นใหม่มาแล้วก็ตามที

และหากตัวเครื่องรุ่นเก่าเริ่มขายไม่ออก ก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ต้องเก็บสินค้าคงคลังเครื่องรุ่นเหล่านี้ไว้ และต้องนำออกขายแบบลดราคา เพื่อทำการระบายสต๊อกออกไปให้ได้ ซึ่งปรกติในธุรกิจคอมพิวเตอร์นั้น หากร้านค้าปลีกไม่สามารถขายได้ตามราคาที่ตั้งไว้ โรงงานผู้ผลิตก็จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าส่วนต่างเหล่านี้แทน (ชดเชยเงินให้กับร้านค้าปลีก)

แน่นอนว่าบริษัทที่มีการจำหน่ายซับซ้อนและมากมายหลายขั้นตอนนั้น มักจะส่งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล้าสมัยแล้วไปเก็บไว้ที่ร้านค้าปลีก เพื่อทำการโละสต๊อกเครื่องรุ่นเก่าที่ล้าสมัย และเป็นการนำเงินสดเข้าสู่บริษัท ซึ่งระบบดังกล่าวนั้นไม่มีประสิทธิภาพ เป็นการผลักภาระสินค้าให้ผู้จำหน่าย ซึ่งสุดท้ายมันก็จะส่งผลร้ายต่อทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงลูกค้าที่ได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์ตกรุ่นไปใช้นั่นเอง

เนื่องจาก Dell นั้นผลิตตามคำสั่งซื้อจากลูกค้าโดยตรง ทำให้ไม่มีสินค้าที่ประกอบสำเร็จรูปเหลือในแต่ละวัน และเนื่องจากได้มีการปรับระบบให้ผู้ส่งชิ้นส่วนส่งเฉพาะชิ้นส่วนที่ต้องการ จำนวนวัตถุดิบที่ต้องเก็บไว้จึงลดน้อยลงมาก และทำให้ส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้รวดเร็วมากขึ้น

และแน่นอนมันส่งผลต่อลูกค้าทันที ลูกค้ามีความสุขมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของ Dell ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นสินค้าทางด้านเทคโนโลยีที่มีการตกรุ่นอย่างรวดเร็ว การปรับรูปแบบครั้งนี้ ทำให้ Dell สามารถส่งเครื่องที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดให้ลูกค้าได้เร็วกว่าคู่แข่งอีกด้วย

Direct Sales 1.1 ที่ปรับเรื่องการจัดการชิ้นส่วนจากเหล่าผู้ผลิต
Direct Sales 1.1 ที่ปรับเรื่องการจัดการชิ้นส่วนจากเหล่าผู้ผลิต

และมันส่งผลสำคัญถึงสินค้าในคงคลังที่ลดน้อยลง ทำให้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดการสินค้าคงคลังลดลง ซึ่งแน่นอนว่าในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์นั้น ชิ้นส่วนต่าง ๆ มีราคาลดลงอย่างรวดเร็วตามเวลาที่ผ่านไป

และการปรับครั้งนี้จะทำให้ผู้ส่งชิ้นส่วนต่าง ๆ สามาาถนำเสนอชิปที่ทำงานได้รวดเร็วกว่า ฮาร์ดดิสก์ขนาดใหญ่กว่า หรือโมเด็มที่ทำงานได้เร็วกว่าอยู่ตลอดเวลา เมื่อเทียบกับคู่แข่งนั่นเอง

ตัวเลขที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ในปี 1993 Dell มียอดขาย 2.9 พันล้านเหรียญ และมีสินค้าคงคลังเพื่อรอขายจำนวน 220 ล้านเหรียญ และหลังจากนั้น 4 ปีในปี 1997 หลังจากมีการปรับใช้การขายแบบส่งตรง version 1.1 นั้น ทำให้ Dell สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 12.3 พันล้านเหรียญ และมีสินค้าคงคลังเพื่อรอขายจำนวน 223 ล้านเหรียญ และมีของรอในสินค้าคงคลังน้อยกว่า 8 วัน ถือเป็นก้าวครั้งสำคัญมาก ๆ ของบริษัทในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินในการขายแบบส่งตรงครั้งนี้

ต้องเรียกได้ว่าการปฏิวัติการขายตรงใน version 1.1 ของ Dell ในครั้งนี้ ทำให้สามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทได้อย่างชัดเจนมาก ๆ และ จากยอดขายระดับพันล้านเหรียญ ก็สามารถพุ่งขึ้นไปสูงถึงระดับหมื่นล้านเหรียญได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก ๆ ที่ Dell สามารถก้าวมาได้ถึงจุดได้อย่างรวดเร็ว แต่มันก็ยังมีอีกหนึ่งตลาดที่สำคัญ ที่จะทำให้ Dell กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่มาต่อกรกับ ยักษ์ใหญ่ในวงการตัวจริงอย่าง IBM หรือ HP ได้ แล้วตลาดนั้นคืออะไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 7 : Winners Take All

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.emprende.cl/michael-dell-la-mezcla-perfecta-entre-pasion-estrategia-y-juventud/

ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 5 : Future Plans

ตั้งแต่ได้มืออาชีพอย่าง Tom Meredith เข้ามาช่วยเรื่องการเงินก็ทำให้ Dell Computer นั้นเริ่มหันมาเน้นการเติบโตให้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการก็คือ มีเงินสดที่ใช้หมุนในกิจการ สร้างกำไร และ การเติบโตอย่างยั่งยืนนั่นเอง

ข้อดีของการได้มืออาชีพที่มีประสบการณ์ มาช่วยเหลือองค์กรของ Dell ก็คือ การมาช่วยปรับโครงสร้าง สร้างระบบและกระบวนการ จ้างพนักงาน รักษา และทำการพัฒนาทักษะของเหล่าพนักงานให้ดียิ่งขึ้นไป พร้อมที่จะสู่กับคู่แข่งไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ขนาดไหน Dell ก็พร้อมที่จะสู้แล้ว

ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 1993 ถือเป็นช่วงที่ท้าทายบริษัทมากที่สุด Michael ได้เริ่มที่จะร่างแบบแผนเพื่อปรับโครงสร้างของบริษัท และหนึ่งในสิ่งที่สำคัญก็คือ เขาเสนอที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก

Michael นั้นรู้ดีว่าในบริษัทของเขานั้น บางแผนกทำเงิน และมีอีกหลายแผนกที่ไม่ทำเงิน แต่เขาก็ไม่รู้ได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นแผนกไหนบ้าง ดังนั้นเขาจึงได้เลือกบริษัท Bain & Company เข้ามาช่วยเหลือ เพื่อทำการตรวจสอบ

Bain & Company ที่เป็นบริษัท Consult มาช่วยเหลือ Dell
Bain & Company ที่เป็นบริษัท Consult มาช่วยเหลือ Dell

ตัว Michael และผู้บริหารระดับสูงได้ทำงานกับ Bain โดยทำการแบ่งบริษัทออกเป็นส่วน ๆ ทำให้สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจนว่า ธุรกิจส่วนไหนที่ประสบความสำเร็จที่แท้จริง และส่วนไหนที่ไม่ประสบความสำเร็จ

และเมื่อเขาได้รู้ว่าส่วนไหนของบริษัทที่ไม่ทำเงินนั้น ก็จะทำการศึกษาและหาทางปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น และหากยังไม่ได้ผลอีก ก็จะปิดส่วนนั้นไปทันที และมาตรการดังกล่าวหลังจากมาทำการวิเคราะห์อย่างแท้จริงนั้นได้ยกระดับบริษัท Dell ให้มีประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างเหลือเชื่อ

ซึ่งเหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ทั่วไป ที่ Dell Computer มีการแยกการทำงานออกเป็นแผนกต่าง ๆ เช่น แผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ แผนกการเงิน แผนกขาย และการตลาด และแผนกการผลิต ซึ่งเมื่อบริษัทเติบโตขึ้น ต่างฝ่ายต่างแข่งขันกัน ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานเป็นทีมขึ้น

และตัวของ Michael เองก็ไม่ต้องการเจอสภาพเดียวกับหลาย ๆ บริษัทที่ต้องพบเจอเมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น มีตัวอย่างหลายบริษัทที่พุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และ ล้มหายตายจากไปเพียงในระยะเวลาไม่นานเช่นเดียวกัน หรือ บริษัทที่เหล่าผู้ก่อตั้งถูกขับจากบริษัทตัวเองที่สร้างมากับมือ Michael ไม่ต้องการที่จะเจอสภาพเดียวกับ สตีฟ จ๊อบส์ ที่ถูกขับออกจาก Apple ในปี 1985 หรือ กรณีของ รอด แคนนอน กับ compaq เคยเจอมานั่นเอง

แน่นอนว่าเขาต้องจ้างเหล่ามืออาชีพมาช่วยเหลือเขาให้มากที่สุด Mort Topfer เป็นอีกหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงที่เข้ามาร่วมกับ Dell ในปี 1994 ตัว Mort เองนั้นเคยเป็นรองประธานบริษัทโมโตโรล่า และเป็นผู้นำของบริษัททางด้านอุปกรณ์สื่อสารและข้อมูลภาคพื้นดิน

เขามีประสบการณ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานแบบแผนกไปสู่การทำงานแบบองค์กรโครงสร้างใหญ่ ๆ นั่นเป็นเหตุให้ Michael ต้องพึ่งพา Mort ในปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรครั้งใหญ่นั่นเอง

โดย Michael นั้นจะมุ่งไปดูเรื่องผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และกลยุทธ์โดยรวมของบริษัท เป็นหลัก โดยให้ Mort มาดูแลเรื่อง Operation การขาย การตลาด เป็นหลักในฐานะรองประธานของบริษัท

Mort Topfer ที่เป็นมือดีมาช่วยงาน Michael Dell
Mort Topfer ที่เป็นมือดีมาช่วยงาน Michael Dell (ภาพจาก GettyImages)

ในปี 1994 นั้นดูเหมือนบริษัท จะอยู่ในเส้นทางที่สดใสมากขึ้น หลังจากได้เหล่ามืออาชีพเข้ามาช่วย Michael ในการกำหนดทิศทางของบริษัท และเป็นครั้งแรกที่มีการวางแผนงานของบริษัทได้เกินกว่า 12 เดือน และมีเวลาในการศึกษาศักยภาพของธุรกิจในระยะยาวได้อย่างจริงจังนั่นเอง

Mort นั้นชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องทำงานอย่างมีระเบียบ และวางแผนมากขึ้น ซึ่งแผนงานนั้นไม่ได้กำหนดเฉพาะรายไตรมาสเท่านั้น แต่ต้องดำเนินเรื่อย ๆ และไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะภายในบริษัทเพียงเท่านั้น แต่ต้องเกี่ยวข้องกับทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ค้าส่ง ลูกค้า ไปจนถึงเหล่าพนักงานในทุกระดับ

ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทสามารถวางแผนสามปีล่วงหน้าได้ ซึ่งรวมถึงประเด็นที่สำคัญ ๆ ไมว่าจะเป็น เกี่ยวกับองค์กร ระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างองค์กร รวมถึงโอกาสในการเติบโต มองปลีกย่อยไปถึง ส่วนแบ่งการตลาดในแต่ละประเทศ แต่ละผลิตภัณฑ์ รวมถึงการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของคู่แข่ง รวมถึงเรื่องสำคัญอย่าง เรื่องต้นทุน ที่สามารถจะแข่งขันได้นั่นเอง

ซึ่งแน่นอนว่า กุญแจความสำเร็จจริง ๆ ของการวางแผนต่าง ๆ เหล่านี้ให้สำเร็จก็คือ แผนที่แม้จะมีความท้าทาย แต่สามารถทำได้จริง และมีข้อมูลที่ดีที่จะนำมาวิเคราะห์ ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญนี้ Dell มุ่งหน้าสู่บริษัทที่บริหารงานโดยใช้ข้อมูลอ้างอิงเป็นหลัก เพราะข้อมูลถือเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดที่ไม่ทำให้บริษัทเดินไปในทางที่ผิดนั่นเอง

และแน่นอนว่า แผนงานต่าง ๆ นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เหล่าพนักงานของ Dell ทำงานโดยมีเป้าหมาย และมีเป้าหมายเดียวกันทั้งทีม ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญที่จะทำให้พวกเขาสามารถทำได้สำเร็จนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทไหนก็ตามที่ต้องการเติบโตต่อไปนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ

มาถึงตอนนี้จะเห็นได้ว่า Michael นั้นต้องการให้ Dell เป็นองค์กรที่มีความยั่งยืน และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่ได้ จึงได้พยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะปรับองค์กร และจ้างมืออาชีพมาช่วยจัดการให้องค์กรของเขา มีประสิทธิภาพพร้อมที่จะแข่งขันในระยะยาวได้นั่นเอง ดูเหมือนทุกอย่างจะเริ่มลงตัว แล้วแผนต่อไปของ Michael คืออะไร จะพา Dell ไปถึงจุดสูงสุดได้แค่ไหน โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 6 : Direct Sales 1.1

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://ries.typepad.com/ries_blog/2009/07/the-demise-of-dell.html