ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 8 : One More Thing

แม้ผลงานในเรื่องรายได้และการสร้างเติบโตนั้น Cook จะทำได้อย่างยอดเยี่ยม แต่เขาก็อยู่ภายใต้แรงกดดันที่จะต้องรักษาความก้าวหน้าของบริษัทด้วยผลิตภัณฑ์ , นวัตกรรม และบริการใหม่ ๆ ที่ก้าวล้ำนำหน้าคู่แข่งเหมือนในยุค Jobs ที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลา 

แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในใจ Cook ตั้งแต่เริ่มเข้ามารับตำแหน่ง CEO ในปี 2011 Cook ได้เริ่มการถกเถียงกับเหล่าผู้บริหารในเรื่องผลิตภัณฑ์ในอนาคตของบริษัท ในช่วงต้นปี 2012 ไม่กี่เดือนหลังจากที่ Jobs เสียชีวิต 

Cook และเหล่าผู้บริหารต้องใช้เวลาหยุดคิดว่า Apple จะไปที่จุดไหนในอนาคต รวมถึงสิ่งใดที่จะกระตุ้น Apple ให้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า Apple ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ทำให้เทคโนโลยีที่เข้าใจยากและไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งก็เป็น Jobs ที่ได้สร้างผลิตภัณฑ์ให้เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย ๆ

ต้องบอกว่าเรื่องของสุขภาพเป็นสิ่งที่ Apple ให้ความสนใจเป็นอย่างมากเมื่อเข้าสู่ยุคของ Cook ในปี 2014 บริษัท ได้เปิดตัวแอปสุขภาพรวมถึงแพลตฟอร์มสำหรับนักพัฒนาที่ชื่อว่า HealthKit แนวคิดก็เพื่อให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถสร้างแอปเพื่อสุขภาพที่ทำงานร่วมกับแอปของ Apple ได้

ซึ่งส่วนสำคัญคือความสามารถในการรวบรวมข้อมูลสุขภาพของผู้คน เช่น อัตราการเต้นของหัวใจหรือแม้กระทั่งผลการทดลองเกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อสร้างภาพรวมเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพของผู้ใช้ และ Cook ก็ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเพื่อทดลองเทคโนโลยีด้านสุขภาพของ Apple ซึ่ง Cook มองว่า Apple Watch จะต้องมีความ professional มากขึ้น และ สามารถใช้งานได้จริง มีความแม่นยำสูง

Apple ได้ทำการเปิดตัว ResearchKit ซึ่งเป็นกรอบสำหรับนักพัฒนาในการสร้างแอปที่รวบรวมข้อมูลผู้ใช้ สำหรับการวิจัยโดยสมัครใจ CareKit เป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งของ Apple ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับผู้ป่วยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ResearchKit สำหรับผู้ป่วยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ResearchKit สำหรับผู้ป่วยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

และแน่นอนด้วย Trend ด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น และ Cook มองเห็นอนาคตในอุตสาหกรรมนี้ โดยมีข้อมูลว่า 70% ขององค์กรด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลกต่างตั้งวงเงินในการลงทุนในแอปพลิเคชั่นมือถือ ที่เกี่ยวข้องกับ ผู้บริโภค, เครื่องแต่งตัว, การตรวจสอบสุขภาพระยะไกลและการดูแลเสมือน

บริษัท เทคโนโลยีสำคัญ ๆ จำนวนมากซึ่งรวมถึง Samsung และ Google ได้ให้ความสำคัญกับอุปกรณ์และซอฟต์แวร์สำหรับผู้ใช้ในการติดตามเรื่องสุขภาพของพวกเขา อุปกรณ์สวมใส่ที่ข้อมือ สามารถใช้ในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจในการวัดอื่น ๆ และ Cook ก็หวังว่า Apple Watch จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพได้เช่นเดียวกัน

ซึ่งหลังจากได้ซุ่มพัฒนา Apple Watch มาถึง 2 ปีนับตั้งแต่เริ่มต้นแนวคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Cook ในปี 2012 ก็ถึงเวลาที่จะต้องเปิดเผยให้สาวก Apple ยลโฉม โดย Cook ได้ทำการเปิดตัว Apple Watch รุ่นแรก ในเดือนกันยายนปี 2014 ซึ่ง Cook ได้กล่าวขนานนาม Apple Watch ว่าเป็น ” Apple Watch เป็นอุปกรณ์ส่วนตัวที่สุดที่ Apple เคยสร้างมา ”

การเปิดตัวของนาฬิกาที่เหล่าสาวกเริ่มส่งเสียงเชียร์ดังสนั่นและเสียงโห่ร้องสนั่นลั่นฮอลล์จัดงาน ที่ฟลินท์เซ็นเตอร์ ซึ่งบรรยากาศเก่าๆ ในสมัยที่ Jobs ยังอยู่นั้นได้กลับมาให้เหล่าสาวก Apple ได้ชื่นใจอีกครั้ง กับนวัตกรรมใหม่ตัวแรกที่ผ่านคิดค้นและพัฒนาโดย CEO คนใหม่ของพวกเขาอย่าง Tim Cook

มีการประโคมข่าวและโฆษณาแสดงความยินดีกับ Apple Watch ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะยิ่งใหญ่เกินกว่าผลิตภัณฑ์ที่ตั้งใจจะเป็นหัวใจสำคัญของการประกาศผลิตภัณฑ์ในเดือนกันยายนอย่าง iPhone 6 และ iPhone 6 plus ที่เป็น iPhone ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่รุ่นแรกของ Apple

แต่น่าเสียดายที่แฟน ๆ เหล่าสาวกของ Apple ต้องรอถึงถึงเดือน เมษายนปี 2015 เพื่อจะได้เป็นเจ้าของ Apple Watch เป็นครั้งแรก ซึ่ง Apple ต้องการให้นักพัฒนามีเวลาในการสร้างแอปสำหรับมัน ซึ่งตัว Cook เองต้องการความมั่นใจว่า ลูกค้าจะสามารถดาวน์โหลดแอปที่ชื่นชอบได้ในวันที่รับ Apple Watch นั่นเอง

และในงานเดียวกันนั้น Cook ยังได้แนะนำ Apple Pay บริการชำระเงินมือถือที่ดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งกับ Google Wallet Apple Pay ช่วยให้ผู้คนสามารถชำระเงินซื้อสินค้าได้อย่างรวดเร็วที่เคาน์เตอร์ชำระเงินด้วย iPhone และ Apple Watch โดยไม่ต้องเปิดกระเป๋าเงินหรือใช้บัตรเครดิตอีกต่อไป

ต้องยอมรับว่า Cook ทำการการบ้านในเรื่อง Apple Watch มาอย่างดี เน้นไปในเรื่องของสุขภาพอย่างเห็นได้ชัด โดยอัดเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เข้าไปมากมายให้กับผู้ใช้ ได้วัดค่าต่าง ๆ ของร่างกายได้ง่ายยิ่งขึ้น จึงกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ตลาดใหม่ของ Apple ซึ่งก็ต้องถือว่า Apple watch นั้นเป็นผลงานชิ้นแรก ของ Tim Cook หลังจากการจากไปของ Steve Jobs ที่สามารถประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ โดยไม่อยู่ใต้เงาของผลิตภัณฑ์ที่ Jobs เป็นผู้สร้างมาอีกต่อไป

แม้หลังจากวางออกจำหน่าย Apple นั้นจะไม่เปิดเผยตัวเลขยอดขายที่ชัดเจนนัก แต่จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญนั้นพบว่า หลังจากการออกวางจำหน่ายเพียงแค่ 24 ชม. Apple Watch นั้นสามารถทำยอดขายแซงหน้าคู่แข่งไม่ว่าจะเป็น Samsung , Motorola หรือ LG ที่ใช้ Android Wear รวมกันเสียอีก โดยขายไปได้มากกว่า 720,000 เครื่อง ภายใน 24 ชม.แรกเท่านั้น

Apple Watch เอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่าง Android Wear ได้อย่างขาดลอย
Apple Watch เอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่าง Android Wear ได้อย่างขาดลอย

และเพียงแค่ 4 ปีหลังจากออกรุ่นอัพเดท เพิ่มความสามารถรวมถึง เซ็นเซอร์ใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เซ็นเซอร์ ตัวใหม่ ซึ่งเรียกว่า Electrocardiogram หรือในศัพท์ทางการแพทย์จริง ๆ ก็คือ การวัด ECG ที่เราใช้ตรวจคลื่นหัวใจเพื่อวัดความผิดปรกติของหัวใจ

ทำให้สุดท้าย Apple Watch ได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์เรือธงตัวใหม่ที่ไม่น้อยหน้า iPhone ที่มีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านคนทั่วโลก และมียอดขายเพิ่มขึ้น 50% ในไตรมาสต่อไตรมาส Cook ได้สร้างธุรกิจนาฬิกาเพื่อสุขภาพของ Apple ให้ยิ่งใหญ่แซงหน้ามูลค่าตลาดของบริษัท Rolex บริษัทนาฬิกายักษ์ใหญ่ของโลกที่อยู่ในธุรกิจนี้มาอย่างยาวนานได้อย่างขาดลอย

ต้องบอกว่าเป็นการเดินทางมาไกลมาก ๆ ของชายที่ชื่อ Tim Cook ที่ต้องมารับภารกิจอันหนักอึ้งในการสานต่อบริษัท Apple ที่ Steve Jobs ทำไว้อย่างยิ่งใหญ่ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นตัวจริง ที่สามารถยกระดับ Apple ให้สูงขึ้นไปอีก และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการเติบโตแต่อย่างใด ทั้งเรื่องการบริหาร การปฏิบัติการ การสร้างนวัตกรรม Cook ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขานั้นสามารถทำให้ Apple ประสบความสำเร็จได้ แล้วอนาคตข้างหน้ากับแผนการในอนาคตของเขากับ Apple จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 9 : Into the Future

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.hodinkee.com/magazine/jony-ive-apple https://www.cnbc.com/2016/05/24/tim-cook-why-the-apple-watch-is-key-in-the-enormous-health-care-market.html https://www.forbes.com/sites/chuckjones/2019/10/07/apples-tim-cook-does-not-get-the-credit-he-deserves/#78c2706e7cdb

ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 5 : The Outsourcer

ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงปีแรกที่ Cook ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple เห็นผลอย่างชัดเจนกับผลิตภัณฑ์เรือธงตัวใหม่อย่าง iMac ซึ่งทำให้ Apple สามารถสร้างกำไรได้ 309 ล้านเหรียญ เมื่อสิ้นปี 1998 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ Apple สามารถสร้างการเติบโตได้เร็วกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม

แม้จะมีกำไร แต่ Cook ก็ยังพยายามหาวิธีที่จะประหยัดในทุกวิถีทาง Cook ได้ตรวจสอบความสามารถของผลิตภัณฑ์แต่ละตัวของ Apple และทำการถ่ายเทงานออกไปให้กับซัพพลายเออร์ภายนอกให้มากที่สุด โดยไม่ให้สูญเสียคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดั่งที่ Jobs ต้องการ

โดยผลิตภัณฑ์ตัวหลักอย่าง iMac นั้นเดิมที ได้ว่าจ้างให้ LG บริษัทจากเกาหลีใต้ที่ตอนแรกทำเพียงแค่หน้าจอและส่วนประกอบอื่น ๆ บางส่วนก่อนที่ LG จะควบคุมการผลิตของ iMac แบบเบ็ดเสร็จในปี 1999

แต่เมื่อคำสั่งซื้อเริ่มมากขึ้น Apple จึงมองหาลู่ทางอื่นโดยการหาผู้ผลิตมือดีในใต้หวันอย่าง Hon Hai Precision Industry Company Ltd. หรือที่รู้จักกันดีในนาม Foxconn และสัญญาของ iMac นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าบริษัททั้งสองไปตลอดกาล ซึ่งมี Cook เป็นหัวหอกในการดูแลเรื่องดังกล่าว

Foxconn นั้นก่อตั้งขึ้นในเวลาเดียวกันกับการถือกำเนิดของ Apple แต่ห่างออกไปอีก 6,000 ไมล์ ที่อีกฟากหนึ่งของโลก Terry Gou ที่ตอนนั้นอายุได้ 24 ปี ได้ยืมเงิน 7,500 เหรียญ ( เทียบได้กับ 37,000 เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน) จากแม่ของเขาเพื่อมาเริ่มต้นธุรกิจ

Terry Gou ผู้ก่อตั้ง Foxconn
Terry Gou ผู้ก่อตั้ง Foxconn

Gou นั้นมีความมุ่งมั่นอย่างสูงในเรื่องการผลิตแบบมีคุณภาพ เขาจึงได้สร้างวัฒนธรรมที่ Foxconn ที่จะไม่อดทนต่อความผิดพลาดใด ๆ หรือความไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน หากมีแรงงานที่ทำงานผิดพลาด จะถูกต่อว่าต่อหน้าคนอื่นทันที และหากผิดพลาดซ้ำสองก็จะถูกไล่ออก และที่ Foxconn มีชื่อเสียงในเรื่องการทำงานหนัก คนงานมักต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ หรือบางครั้งอาจจะต้องทำถึง 7 วันเลยทีเดียวหากเป็นงานเร่งด่วน

ความสำเร็จที่สำคัญของ Foxconn นั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องแรงงานราคาถูกเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ทั่วโลกมอง เพราะพวกเขามีกระบวนการผลิตที่มีความยืดหยุ่น Foxconn มีแรงงานหลายแสนคนอยู่ในที่ทำงาน จึงมีความยืดหยุ่นมากในการรวบรวมกองทัพคนงานได้ในชั่วข้ามคืน หรือ จ้างแรงงานเพิ่มเติมในระดับหมื่น ๆ คนได้ในไม่กี่ชั่วโมง

ตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องความยืดหยุ่นนี้ เกิดขึ้นกับ iMac เมื่อวิศวกรออกแบบของ Apple ได้เพิ่มปุ่มใหม่สำหรับเครื่องในยามดึก และปุ่มนั้นยังไม่ได้ทำการทดสอบดีนัก และวิศวกรก็กังวลว่าอาจจะมีปัญหาได้หากมีการผลิตออกมาจริง ๆ

แต่ที่ Foxconn พวกเขาสามารถเรียกคนงานมาได้ตลอดเวลา และสั่งให้ทดสอบปุ่มดังกล่าวตลอดทั้งคืนได้เพื่อให้ Apple สบายใจ ซึ่งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในยุคของ Jobs ที่มักจะปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาในนาทีสุดท้าย และ Foxconn ก็สามารถทำให้ Apple ได้นั่นเอง

ในปี 2002 เป็นเวลา 4 ปีหลังจากที่ Cook ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนอะไรหลาย ๆ อย่างใน Apple เขาได้รับการมอบหมายจาก Jobs ให้มาดูแลเรื่องการขายและการดำเนินงานควบคู่กันไปด้วย รวมถึงยังให้ไปดูแลงานด้านฮาร์ดแวร์ของ Macintosh เพิ่มอีกหนึ่งงาน

ก่อนที่ในปี 2005 Cook จะได้รับโปรโมตขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดที่เป็นรองเพียงแค่ Jobs คนเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ ตำแหน่ง COO กลายมาเป็นมือขวาของ Jobs อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญมาก ๆ ของ Cook ในอาชีพการทำงาน หลังฝากผลงานไว้มากมายจนเป็นที่ไว้วางใจของ Steve Jobs มากขึ้นเรื่อย ๆ

ต้องบอกว่า Cook นั้นรับผิดชอบมากกว่า COO ขององค์กรทั่วไป เนื่องจากต้องดูแลพนักงานกลุ่มใหญ่ที่สุด ที่มีขอบเขตงานกว้างขวางมาก ๆ แม้ Apple นั้นจะไม่ได้เปิดเผยผังองค์กรที่ชัดเจนออกมา แต่ทุกคนใน Apple รู้กันว่า ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ที่ Cook ดูแลอยู่นั้น มีเหล่าพนักงานในสังกัดกว่า 40,000 คน จากพนักงาน 50,000 คนที่ทำงานอยู่ในฐานบัญชาการหลักของ Apple ที่ คูเปอร์ติโน ซึ่งแน่นอนว่า Cook จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมของบริษัททั้งหมดนั่นเอง

แม้ว่า Jobs และ Cook นั้นจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาหลายปีก็ตาม แต่พวกเขาก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการจัดการอารมณ์ และวิธีในการจัดการและบริหารบริษัท

Jobs เป็นหนึ่งในคนอารมณ์ร้อน และเอาแต่ใจตัวเองมาก ๆ มีความเป็นศิลปินสูง ความคิดของเขาค่อนข้างเด็ดขาด หากมีปัญหากับซัพพลายเออร์ เขาก็จะยกหูโทรศัพท์ เพื่อโทรไปด่าได้ทันที และอาจจะด้วยคำที่หยาบเคยเลยด้วยซ้ำ ซึ่งเขาทำบ่อยมากในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่ง CEO ของ Apple

ส่วน Cook นั้น ต่างกันสุดขั้ว เขาเป็นผู้นำที่เงียบขรึมมาก ๆ เป็นคนที่สงบนิ่ง และ มั่นคง แต่จะพยายามค้นหาคำตอบผ่านคำถาม เพื่อรับรู้ปัญหาได้อย่างแท้จริง Cook มักจะเจาะลึกลงไปในปัญหาและให้แน่ใจว่าเหล่าพนักงานต้องรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ และผิดพลาดตรงไหน

ในฐานะ COO นั้น Cook คาดหวังว่าทีมงานของเขาจะทำงานอย่างหนักเป็นเชิงรุกและใส่ใจในทุกรายละเอียด เหล่าผู้จัดการภายใต้การบริหารของ Cook ก็ใช้เทคนิคหลาย ๆ อย่างในการเป็นผู้นำที่ได้เรียนรู้จาก Cook นั่นเอง

แต่แม้ Cook จะเน้นถึงความสำคัญของการใส่ใจในรายละเอียด และการแก้ปัญหา แต่ Cook ก็ไว้วางใจและมอบอำนาจให้พนักงานของเขาในการตัดสินใจด้วยตัวเอง เขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานของเขา เชื่อว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ และใช้ความพยายามให้มากขึ้น ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อแก้ไขกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

Tim Cook เริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ และดูแลพนักงานส่วนใหญ่ของ Apple
Tim Cook เริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ และดูแลพนักงานส่วนใหญ่ของ Apple

และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของ Cook ก็คือ เขาทำงานกับ Apple ให้เหมือนกับกีฬา งานของ Cook คือ รูปแบบของความอดทดในกีฬา และเห็นได้ชัดเจนว่าทุกสิ่งที่เขาทำแม้กระทั่งวิธีที่เขาตัดผมสั้น ทำให้นึกถึงวีรบุรุษนักกีฬาคนหนึ่งของ Cook อย่าง แลนซ์ อาร์มสตรอง

ในปี 2010 หนึ่งปีก่อนที่เขาจะกลายมาเป็น CEO เต็มตัวของ Apple เขาเคยกล่าวสุนทรพจน์ที่ Auburn Unversity ไว้ว่า “ในโลกของธุรกิจก็เปรียบเหมือนกีฬา ชัยชนะส่วนใหญ่จะถูกกำหนดก่อนเริ่มเกม เราไม่สามารถจะควบคุมจังหวะเวลาของโอกาสได้ แต่เราสามารถควบคุมการเตรียมการของเราได้” ต้องเรียกได้ว่าความหลงใหลในเรื่องกีฬาของ Cook เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของเขาที่ Apple นั่นเอง

สิบปีแรกในอาชีพของ Cook ที่ Apple แม้จะดูเหมือนค่อนข้างเงียบ แทบจะไม่มีคนรู้จัก เพราะทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ชายที่ชื่อ Steve Jobs แต่ Cook นั้นซ่อนตัวอยู่หลังม่านลับของ Apple อยู่ตลอดเวลา

แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่เขาต้องออกมาอยู่ฉากหน้า ก็คือ เมื่อ Jobs ถูกบีบบังคับให้ลาพักรักษาตัวในปี 2009 มันก็ถึงเวลาของ Cook เสียทีที่ต้องออกมาแสดงศักยภาพที่ตัวเขามี ให้โลกได้รู้ แน่นอนว่าถึงตอนนั้น Jobs ก็ไว้วางใจ Cook ถึงระดับสูงสุดแล้ว และพร้อมส่งมอบตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในการนำพา Apple เข้าสู่ยุคต่อไปให้กับเขานั่นเอง

มาถึงตอนนี้ก็ใกล้ที่จะถึงยุคเปลี่ยนผ่านของ Apple กันแล้วนะครับ ตัวของ Jobs เองก็เริ่มมีปัญหาทางด้านสุขภาพ ส่วน Cook นั้นก็ได้เรียนรู้ในแทบทุก ๆ อย่างที่ Apple ทำ ในฐานะ COO มาอย่างยาวนาน แล้วจะเกิดอะไรต่อไป กับเรื่องราวของชายที่ชื่อ Tim Cook กับ Apple ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีของโลก โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 6 : Stepping Forward

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.wired.it/economia/finanza/2016/08/25/apple-tim-cook-grafici/

ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 4 : The Operations Guy

Tim Cook ได้เข้าร่วมงานกับ Apple เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 1998 สถานการณ์ของ Apple ในขณะนั้น ไม่ใช่บริษัทที่น่าไปร่วมงานแต่อย่างใด สถานการณ์ทางการเงินอยู่ใกล้ภาวะล้มละลายเต็มที และขวัญกำลังใจของเหล่าพนักงานก็เริ่มต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ๆ

ตัว Steve Jobs เองเพิ่งกลับมาร่วมงานกับ Apple อีกครั้ง ในฐานะ CEO ชั่วคราว หรือ iCEO เรียกได้ว่าสิ่งเดียวที่ Apple เหลืออยู่ในขณะนั้นก็คือจิตวิญญาณ “Think Different” ที่กำลังมาอีกครั้งจาก Jobs แต่บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงภายในมากมาย และสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสินค้าหลักอย่างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดคอมพิวเตอร์ของ Apple นั้นลดลงจากร้อยละ 10 เหลือมาอยู่เพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น CEO ในขณะนั้นอย่าง Amelio ต้องทำการดึงตัว Steve Jobs กลับมากู้วิกฤติที่แสนสาหัสนี้อีกครั้ง

Jobs ต้องนำพา Apple กลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง และเริ่มแก้ไขสถานการณ์โดยยอมรับความจริงที่ว่า Amelio นั้น ทำสิ่งที่ผิดพลาด โดย Jobs เริ่มจัดการเหล่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำกำไร เช่น นิวตัน คอมพิวเตอร์มือถือรุ่นแรก ของ Apple ผลงานการสร้างสรรค์ของ John Sculley ผู้ซึ่งเป็นคนทำให้ Jobs ต้องออกจาก Apple ไปในครั้งแรก

นิวตัน เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาที่ Jobs เกลียดเข้าไส้
นิวตัน เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาที่ Jobs เกลียดเข้าไส้

Jobs เริ่มตัดสายของผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นออกไปจนเหลือเพียงแค่ 4 รุ่น โดยสองรุ่นแรกคือเครื่องคอมพิวเตอร์ Desktop สำหรับผู้บริโภคทั่วไป และ มืออาชีพ ส่วนอีกสองจะเป็นส่วนของเครื่องแบบพกพา แม้จะดูเสี่ยงมาก ๆ เพราะถ้าตัดเหลือ 4 รุ่นแล้วล้ม ความหมายก็คือ Apple คงเหลือไว้เพียงแค่ชื่อ เข้าสู่ภาวะล้มละลายอย่างแน่นอน

และแน่นอนว่าปัญหาใหญ่ของ Apple ที่เผชิญมาตลอดนั่นก็เรื่องของการวางแผนการผลิต รวมถึงเรื่องการจัดการสินค้าคงคลังต่าง ๆ ส่วนใหญ่นั้น Apple มักจะจ้างซัพพลายเออร์เฉพาะของตัวเองเท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนประกอบที่กำหนดเองและมีประสิทธิภาพสูง ไม่มีการวางจำหน่ายให้คู่แข่ง และ ไม่สามารถคัดลอก หรือ เลียนแบบได้ง่าย

แต่มันเหมือนเป็นดาบสองคม เพราะ การวางแผนการผลิตจะยากมาก ๆ ความยืดหยุ่นในการผลิตน้อย การประเมินคำสั่งซื้อล่วงหน้าเป็นไปได้ยาก และจะเกิดหายนะขึ้นทันทีหากมีการคาดการคำสั่งซื้อที่ผิดพลาด

เกิดเหตุการณ์ที่เหล่านักลงทุนของ Apple เกลียดอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็คือ เมื่อยามที่ Apple มีผลิตภัณฑ์ที่ร้อนแรง แต่มันไม่สามารถส่งไปถึงมือลูกค้าได้เนื่องจากปัญหาเรื่องการผลิตของ Apple นั่นเอง

และเมื่อ Jobs กลับมาอีกครั้งในปี 1997 เขาตั้งใจแน่วแน่ ว่าจะไม่ให้เห็นความผิดพลาดเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก และเริ่มมองหาการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ ด้านในเรื่องการปฏิบัติการของ Apple

แม้ก่อนหน้านั้น Cook จะปฏิเสธนายหน้าของ Apple หลายต่อหลายครั้งแล้วก็ตาม เพราะตัว Cook เองก็มีความสุขดีที่ Compaq แต่อย่างน้อยเขาคิดว่าควรจะเข้าไปเจอ Jobs ซักครั้งเพราะชายผู้นี้ เป็นหนึ่งในตำนานผู้สร้างอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์นี้ขึ้นมานั่นเอง

แต่เมื่อเขาได้เข้าไปนั่งฟังกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ของ Jobs สำหรับ Apple ในการพบกันจริง ๆ ครั้งแรก เขาก็ถูกโน้มน้าวโดย Jobs ให้มามีส่วนร่วมของภารกิจเปลี่ยนโลกครั้งใหม่ของ Jobs ซึ่งจะเปลี่ยนแนวคิดของคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นแนวคิดที่ไม่เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่เคยเห็นมาก่อน

และเมื่อ Jobs ได้เจอกับ Cook นั้น เขาก็เข้าใจทันทีว่าพวกเขาแบ่งปันมุมมองเดียวกันในเรื่องการผลิต ซึ่งสุดท้ายทำให้ให้ Cook คล้อยตามและมาร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับ Jobs ในที่สุด และถือเป็นการจับคู่ที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งนึงในวงการคอมพิวเตอร์โลก

ในขณะนั้น Cook มีอายุ 37 ปี ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple ในตำแหน่ง รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการทั่วโลก ซึ่งเขาได้รับงานใหญ่มาก ๆ ในการรื้อระบบการผลิต และจำหน่ายของ Apple ทั้งหมด และุถือว่าเป็นงานที่ท้าทายเขาที่สุดตั้งแต่เริ่มทำงานมาเลยก็ว่าได้

ซึ่งเพียงแค่ 7 เดือนหลังจากที่ Cook ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple เขาก็สามารถที่จะลดสินค้าคงคลัง จากราวๆ 30 วัน เหลือเพียงแค่ 6 วันเท่านั้น ซึ่งในช่วงเวลาสั้น ๆ เขาได้ทำการปรับปรุงระบบการปฏิบัติการของ Apple โดยให้ความสำคัญกับรายละเอียดแทบจะทุกขั้นตอนการผลิต

Cook นั้นได้เน้นการลดซัพพลายเออร์ลงให้เหลือเพียงไม่กี่ราย เขาไปเยี่ยมซัพพลายเออร์แต่ละราย ตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องนึงเช่น การที่ Cook โน้มน้าวให้ NatSteel ผู้ผลิตแผงวงจรที่เป็น Outsource ของ Apple ย้ายมาตั้งโรงงานใกล้กับโรงงานของ Apple ใน ไอร์แลนด์ แคลิฟอร์เนีย และ สิงคโปร์

ซึ่งการย้ายซัพพลายเออร์เข้ามาใกล้โรงงานนั้นทำให้กระบวนการ JIT (Just-in-time) ทำได้ง่ายขึ้นมาก เนื่องจากส่วนประกอบสามารถส่งมอบได้รวดเร็วขึ้นและมีความถี่ที่มากขึ้นนั่นเอง

และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือการ outsource ออกไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของ Apple นั่นคือ ปัญหาเรื่องสินค้าคงคลัง ซึ่งสร้างภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลให้กับ Apple ซึ่งต้นทุนสินค้าคงคลังเหล่านี้เองที่ทำให้ Apple เกือบเข้าสู่ภาวะล้มละลายมาแล้ว

และเพื่อรองรับการคาดการณ์การผลิต Cook ได้ลงทุนในระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) ที่ทันสมัยที่สุดจาก SAP ที่สามารถเชื่อมโยงโดยตรง เข้าสู่ระบบไอที ที่เหล่าซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนของ Apple ใช้งานอยู่

ไม่ว่าจะเป็นโรงงานประกอบ หรือ ทางฝั่งร้านค้าปลีก ระบบที่ซับซ้อนทำให้ทีมปฏิบัติงานของ Cook ได้เห็นมุมมองที่ชัดเจนของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ตั้งแต่วัตถุดิบ จนถึงคำสั่งซื้อของลูกค้าที่ร้านค้าออนไลน์ใหม่ของ Apple ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเพียงไม่นาน

R/3 ERP เป็นระบบประมวลผลส่วนกลางของการผลิตแบบใหม่ ที่รวดเร็วและทันเวลาของ Apple ชิ้นส่วนถูกสั่งจากซัพพลายเออร์เมื่อจำเป็นเท่านั้น และโรงงานผลิตก็สามารถสร้างกำลังการผลิตที่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ทันที

Tim Cook มีบทบาทสำคัญในการพลิกกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งของ Apple
Tim Cook มีบทบาทสำคัญในการพลิกกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งของ Apple

ภายใต้การนำของ Cook เวลาในสินค้าคงคลังของ Apple ลดลังจากเป็นเดือน ๆ เหลือเพียงไม่กี่วัน เพียงแค่ 7 เดือน ต้นทุนในการจัดการเรื่องสินค้าคงคลังลดลงจาก 400 ล้านเหรียญ เหลือเพียงแค่ 78 ล้านเหรียญ

Cook ได้รับเครดิตเป็นอย่างมาก ในการมีบทบาทสำคัญให้ Apple สามารถกลับมาทำกำไรได้สำเร็จ ซึ่งระบบที่เขาได้วางไว้นั้นเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของ Apple ในอีกหลายปีต่อมา ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า Apple จะไม่มีวันเติบโตอย่างยิ่งใหญ่และมั่นคงมาได้จนถึงทุกวันนี้หากปราศจากความเป็นเลิศของชายที่ชื่อ Tim Cook ที่ช่วยกู้สถานการณ์ด้านการปฏิบัติการในเรื่องการผลิตของ Apple ไว้ได้สำเร็จ

ซึ่งในที่สุดมันก็ได้ทำให้สถานการณ์ของ Appleกลับมาอยู่ในจุดที่ควรจะเป็นอีกครั้ง สามารถผ่านจุดวิกฤติครั้งสำคัญที่เกือบจะล้มละลายมาได้สำเร็จ เริ่มสร้างกำไรได้ และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งเสียที แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับ Cook และ Apple อย่าพลาดติดตามต่อตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 5 : The Outsourcer

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 : The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 2 : The Soul of the South

Timothy Donald Cook เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ปี 1960 ที่เมือง Mobile , Alabama เมืองท่าเรือทางชายฝั่ง และเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของรัฐ โดยตัว Cook นั้นเป็นลูกชายคนที่ 2 จาก 3 คนที่เกิดมาจาก Don และ Geraldine Cook พ่อแม่ของเขา โดยทั้งคู่เป็นชาวพื้นเมือง Alabama ในแถบชนบท

Don พ่อของ Cook ทำงานที่อู่ต่อเรือ ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของชาวเมืองในขณะนั้น ส่วน Geraldine ทำงานเป็นเภสัชกร พาร์ทไทม์ และอุทิศเวลาส่วนที่เหลือให้กับงานบ้าน และมีช่วงเวลาหนึ่งที่ครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ที่เมือง Pensacola รัฐ Florida ซึ่ง Don ได้งานทำที่ฐานทัพเรือขนาดใหญ่

แต่เมื่อเข้าสู่ปี 1971 เมื่อ Cook เข้าสู่ช่วงวัยเรียนมัธยม ครอบครัวของเขาก็ได้ตัดสินใจที่จะย้ายกลับมาตั้งรกรากที่ Alabama ใน Robertsdale เมืองเล็ก ๆ ในชนบท ที่ตั้งอยู่กลาง Baldwin County ซึ่งเป็นเขตที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ ซึ่งสาเหตุที่ Gereldine เลือกที่จะพาครอบครัวมาตั้งรกรากที่นี่ ก็เพื่อให้ลูกชายทั้งสามคนของเขา ได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบโรงเรียนของรัฐนั่นเอง

เมือง Robertsdale เป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของอเมริกา มีประชากรไม่ถึง 5 พันคนเท่านั้น ผู้คนในเมืองแทบจะรู้จักกันทั้งหมดเลยก็ว่าได้ ต้องเรียกได้ว่าเป็นเมืองที่เหมาะแก่การพักผ่อน รวมถึงการผ่อนคลาย Robertsdale เป็นเมืองที่มีพื้นที่เพาะปลูกอุดมสมบูรณ์

ครอบครัวของ Cook ได้ปลูกฝังเขาให้มาเป็นคนที่มีความเคร่งในศาสนา เขามักอ้างอิงความเชื่อเรื่องศาสนาตลอดอาชีพการทำงานของเขา ซึ่งต้องบอกว่าพื้นฐานทางด้านศาสนาของ Cook นี่เองที่เป็นสิ่งหนึ่งที่ปลูกฝัง Cook ให้กลายมาเป็นยอด CEO อย่างที่เราได้เห็นในทุกวันนี้

เขาเป็นเด็กที่เจียมเนื้อเจียมตัว แต่มีความแข็งแกร่งด้วยความที่เป็นนักกีฬา ในการเรียนนั้นเขาเก่งในเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พีชคณิต เรขาคณิต หรือ ตรีโกณมิติ ซึ่งทุกอย่างล้วนแล้วอาศัยทักษะในการวิเคราะห์

และไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการเรียนอย่างเดียวเท่านั้น แต่เขายังเก่งในกิจกรรมนอกหลักสูตรและแสดงให้เห็นถึงความเฉียบแหลมทางธุรกิจ ตั้งแต่อายุน้อย ๆ เขาเคยเป็นคนจัดการเรื่องการผลิตหนังสือประจำปีของโรงเรียน ที่เป็นการฝึกให้เขาต้องหาค่าโฆษณาให้เพียงพอเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการผลิตหนังสือประจำปี

Cook (ล่างซ้าย) สมัยเรียนมัธยมในรัฐ Alabama
Cook (ล่างซ้าย) สมัยเรียนมัธยมในรัฐ Alabama

Cook ได้เริ่มคิดวิธีการในการทำการตลาด รวมถึงสร้างโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นยอดขายของหนังสือตั้งแต่เขายังเด็ก ซึ่งในปีนั้น Cook สามารถทำสถิติใหม่ทั้งยอดขายหนังสือ รวมถึงยอดโฆษณา ที่ไม่เคยมีใครสามารถทำได้มาก่อน

แน่นอนว่าประสบการณ์สำคัญทางธุรกิจในวัยเด็กของ Cook นั้นช่วยหล่อหลอมและวางรากฐานทางแนวคิด ในการทำงานเมื่อเขาเติบโตขึ้น เช่นเดียวกับการสร้างสถิติใหม่ในการสร้างรายได้ให้กับหนังสือของเขาที่โรงเรียน และสุดท้ายเขาก็สามารถทำได้แบบเดียวกันที่ Apple ในอีกหลายปีต่อมานั่นเอง

แม้ว่าทุกอย่างในเมือง Robertsdale นั้นจะดู perfect ไปหมดสำหรับ Cook แต่ก็มีเรื่องนึงที่คอยหล่อหลอมเขาในเรื่องของความเท่าเทียม เพราะเมืองที่เงียบสงบแห่งนี้ ยังคงมีกระแสของการเหยียดทางเชื้อชาติพันธุ์อยู่ ซึ่งประสบการณ์ถูกเหยีดในเรื่องเชื้อชาติที่ Robertsdale นี่เองที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อ Cook เกี่ยวกับมุมมองของเขาต่อโลก และการเน้นความเท่าเทียมกันที่เขามักจะโฟกัสอยู่เสมอเมื่อขึ้นมาดำรงตำแหน่ง CEO ของ Apple

ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เมื่อตอนที่ Cook เรียนในชั้นมัธยม ในคืน ๆ หนึ่งที่เขาขับจักรยานคู่ใจไปตามท้องถนนในเมือง เขารู้สึกประหลาดใจเมื่อได้เห็นกลุ่มไฟ อยู่ตรงหัวถนน เขาพยายามที่จะพาจักรยานคู่ใจมาใกล้ ๆ กับกลุ่มไฟดังกล่าว

เขาต้องรู้สึกตกใจเมื่อได้เห็นภาพ ไม้กางเขนกำลังถูกเผา ล้อมรอบด้วยกลุ่มเสื้อคลุมชุดขาว ที่เป็นสมาชิกของคูคลักซ์แคลน ซึ่งในแถบดินแดนใต้ของอเมริกาที่ Cook อาศัยอยู่นั้น ลัทธิของกลุ่มคูคลักซ์แคลนเคยมีจำนวนสูงสุดถึง 4 ล้านคน ก่อนที่จะลดลงเหลือไม่กี่พันคนในช่วงปี 1970 ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าตกใจสำหรับ Cook ในวัยเยาว์ ณ ขณะนั้น

คุณค่าหลาย ๆ อย่างที่ Cook ได้นำมาใช้กับ Apple นั้นดูเหมือนจะเป็นผลโดยตรงจากประสบการณ์ในวัยเด็กของเขา ความเกลียดชัง และการถูกเลือกปฏิบัติที่ Cook ได้เห็นในแถบดินแดนใต้ของอเมริกานั้น เป็นประสบการณ์ที่ติดอยู่กับเขาตลอดชีวิต ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อวิธีที่เขาใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจ

ต้องบอกว่าความมีคุณธรรมของ Cook ที่ทุกคนได้เห็นทั้งการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจ ล้วนมีรากฐานมากจากการเลี้ยงดูแบบคริสเตียน มารยาทแบบคนใต้ และคำสอนของ มาร์ติน ลูเทอร์คิง จูเนียนร์ และ โรเบิร์ต เอฟ เคเนดี ซึ่งเป็นวีรบุรุษของเขา

โดยหลังจากที่ Cook จบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมในปี 1978 เขาก็ได้ออกจากเมือง Robertsdale ไปเข้าเรียนต่อที่ Auburn University ในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ซึ่งตอนนั้นถือเป็นความฝันของเขาเลยทีเดียว

แนวควาวคิดหลาย ๆ อย่างของ Cook ถูกปลูกฝังที่ Auburn University
แนวควาวคิดหลาย ๆ อย่างของ Cook ถูกปลูกฝังที่ Auburn University

เขาเลือกเรียน วิศวกรรมอุตสาหการที่ Auburn อย่างชาญฉลาด อดีต CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่หลาย ๆ คน มีพื้นฐานทางวิศวกรรมอุตสาหการ เช่นเดียวกับ Cook ซึ่ง Cook ก็ต้องการดำเนินรอยตามเหล่าผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น Lee Iacocca ที่เป็นอดีต CEO ของบริษัท ไครสเลอร์

การเรียนในด้านวิศวกรรมอุตสาหการนั้นมุ่งเน้นไปที่วิธีการในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบที่ซับซ้อนที่สุด ในการกำจัดค่าใช้จ่ายที่สูญเปล่า และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งนี่เองเป็นทักษะที่สำคัญที่ Cook พัฒนามาตั้งแต่ต้น

ที่ Auburn นี่เองที่เขาได้เรียนรู้ทักษะมากมายที่จะช่วยเขาตลอดอาชีพการทำงานของเขา เขาเรียนรู้วิธีการเขียนโปรแกรม ในชั้นปีหนึ่ง เขาเคยสร้างระบบเพื่อปรับปรุงเวลาของสัญญาณไฟจราจรใกล้มหาวิทยาลัย

และที่ Auburn ดูเหมือนว่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับวิธีการทำงานของ Cook และมุมมองโลกของเขา Cook นั้นเชื่อในการทำงานหนักตั้งแต่อายุยังน้อยและเห็นได้อย่างชัดเจนจากวิธีที่เขาใช้ในการบริหาร Apple ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และที่สำคัญเขายังได้รับประสบการณ์ครั้งแรกในการจัดการองค์กร เขาเคยใช้เวลาส่วนหนึ่งที่บริษัท Reynolds Aluminium ใน Richmond รัฐเวอร์จิเนีย เขาได้เคยช่วยประธานบริษัทในการจัดการงานที่ซับซ้อนขององค์กร ในการรีดประสิทธิภาพขององค์กร ด้วยการลดจำนวนพนักงานที่มีความซ้ำซ้อนลง ซึ่งถือเป็นบทบาทหนึ่งที่เขาเคยได้ลองงานด้านการบริหารองค์กร ก่อนที่จะก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดที่บริษัท Apple ในภายหลัง

Cook จบการศึกษาจาก Auburn ในปี 1982 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากการทำ IPO ของ Apple เพียงแค่ 18 เดือน แต่ตอนนั้น Apple ยังคงเป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่ Cook นั้นยังไม่แทบชายตามองเลยด้วยซ้ำ

ซึ่งเมื่อเขาจบการศึกษา ก็ได้ข้อเสนอจาก IBM ที่ตอนนั้นเพิ่งเปิดตัว PC เครื่องแรกของ IBM รวมถึงได้ข้อเสนอจากบริษัท Andersen Consulting รวมถึง General Electric (GE) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ในขณนั้น ที่มักจะดึงดูดเหล่าอัจฉริยะที่เพิ่งเรียนจบใหม่จากมหาลัยชื่อดังในสหรัฐ

และสุดท้าย Cook ก็ได้ตัดสินใจเริ่มงานครั้งแรกในชีวิตการทำงานที่ IBM แม้ตอนนั้นโชคชะตาจะพาเขาเข้าสู่วงการคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเขาเองก็ไม่ได้คิดถึงงานด้านคอมพิวเตอร์เลยด้วยซ้ำ แต่เขารับรู้ได้ว่า Personal Computer (PC) ของ IBM มันกำลังจะเปลี่ยนโลกของเราไปตลอดการ มันมีบางสิ่งบางอย่างที่กำหนดให้เขาต้องเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ แล้วเส้นทางเดินของ Tim Cook จะเป็นอย่างไรต่อไป โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

-> อ่านตอนที่ 3 : Jobs in Time

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.flickr.com/photos/iphonedigital/29134927722 https://www.gkac.us/auburn-university/

ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 1 : The Death of God

ในวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม ปี 2011 Tim Cook ได้รับโทรศัพท์ที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล เมื่อ Jobs ที่อยู่ปลายสาย ขอให้เขามาที่บ้าน ซึ่งในขณะนั้น Jobs ได้พักฟื้นจากการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน และเพิ่งได้รับการปลูกถ่ายตับไปก่อนหน้านั้นไม่นาน

เมื่อ Cook มาถึงบ้านของ Jobs ในพาโล อัลโต Jobs ได้บอกกับ Tim Cook ว่า ต้องการให้เขารับตำแหน่ง CEO ของ Apple ซึ่ง jobs มีแผนที่จะก้าวลงจากตำแหน่ง CEO เพื่อขึ้นไปเป็นประธานของบริษัท ซึ่งสถานการณ์ในตอนนั้นแม้ตัว Jobs เองจะยังเชื่อว่าเขาจะอยู่รอดได้อีกนานก็ตาม แต่เขาอยากที่จะเกษียณอายุก่อนกำหนด และหาแนวทางในการทำงานร่วมกับ Cook ในตำแหน่ง ประธานบริษัท

ซึ่ง Jobs ต้องการให้ Tim Cook ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของ Apple ทั้งหมดแทนเขา แม้ว่าโดยทางปฏิบัติ ณ ช่วงเวลานั้น Cook ก็ดูแลงานทุกอย่าง Operation แต่ละวันแทน Jobs แทบจะทั้งหมดแล้วในบทบาท COO ของเขา

แม้ในตอนแรก บอร์ดของ Apple ก็มีความลังเล โดยมีข่าวลือว่าบอร์ดเองก็ต้องการคนนอก มาแทน Jobs ในตำแหน่ง CEO แต่บอร์ดของ Apple ก็คือ บอร์ดของ Jobs ทุกคนต่างเชื่อฟัง Jobs เพราะ Jobs คุมเสียงทั้งหมดไว้ตั้งแต่เขาก้าวเข้ามาสู่ Apple ในคำรบสองในปี 1995

และตัว Jobs เองก็ต้องการคนใน ที่ได้รับวัฒนธรรมของ Apple มาอย่างดีแล้ว และเขาก็ไม่คิดว่าใครจะเหมาะสมกับตำแหน่งนี้มากกว่า Tim Cook นั่นเอง แม้หลาย ๆ คนรวมถึงสื่อต่าง ๆ จะมองไปถึง Jony Ive มากกว่า แต่ด้วยเบื้องลึกของจิตใจ Jobs เองนั้นเขารู้ดีว่า Cook เหมาะสมที่สุดที่จะพา Apple ก้าวต่อไปในอนาคตได้

Tim Cook ชายที่เหมาะสมที่สุดกับอนาคตของ Apple ในสายตา Jobs
Tim Cook ชายที่เหมาะสมที่สุดกับอนาคตของ Apple ในสายตา Jobs

หรือแม้แต่ Scott Forstall ผู้บริหารอีกคนที่มีความทะเยอทะยาน ซึ่งตอนนั้นเขารับตำแหน่งรองประธานอาวุโสของ Software iOS ซึ่งตัว Forstall เองนั้นได้ไต่เต้าขึ้นมาสู่ตำแหน่งระดับสูงจากผลงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Mac OS X รวมถึงประสบความสำเร็จอย่างมากกับ iPhone เนื่องจากเขาเป็นผู้นำในการดูแลการพัฒนา Software ต่าง ๆ ของ iPhone ถึงขนาดที่ว่า สำนักข่าวใหญ่อย่าง Bloomberg เคยเรียก Forstall ว่า “mini-Steve” เลยด้วยซ้ำ

ซึ่งท้ายที่สุด Cook ก็ได้รับเลือกให้มาดำรงตำแหน่ง CEO เนื่องจากตัว Cook เองก็เคยมีประสบการณ์ในการรับตำแหน่งชั่วคราว เมื่อคราวที่ Jobs หยุดงานสองครั้งในปี 2009 และ 2011 แม้ตัว Cook เองจะต่างจาก Jobs มาก แต่เขาก็บริหารบริษัทได้สำเร็จถึงสองครั้ง ทำให้ในท้ายที่สุดคณะกรรมการจึงรู้สึกว่า Cook น่าจะเป็นคนที่สามารถรักษาเสถียรภาพที่ยาวนานของ Apple ต่อไปได้หลังจากยุคของ Jobs

โดยหลังจากได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในฐานะ CEO Cook ก็ยอมรับว่าเขากำลังจะสานงานต่อในระบบที่ Jobs ได้สร้างเอาไว้ และจะนำพา Apple ในเส้นทางที่ Jobs ได้ปูทางไว้อย่างดีแล้วนั่นเอง และที่สำคัญในตอนนั้น Jobs เองก็ได้วางแผนการทางด้านผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดที่จะขยายตลาดไปอีกราว ๆ 4 ปีเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่า Apple ยังคงจะดำเนินรอยตามสิ่งที่ Jobs ได้สร้างไว้

หลังจากนั้นไม่นานสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เป็นเรื่องจริงก็เกิดขึ้น เมื่อ Jobs ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 5 ตุลาคมปี 2011 มันทำให้ทั้งโลกสั่นคลอน ซึ่งเป็นเวลาเพียงหนึ่งเดือนหลังจากที่ Cook ได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง CEO ของ Apple

ข่าวการเสียชีวิตของ Jobs นั้นได้สร้างความสั่นสะเทือนและความโศกเศร้าไปทั่วโลก การเสียชีวิตของตำนานนักธุรกิจ ที่มาพลิกฟื้น Apple จากกิจการที่ใกล้ล้มละลายกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกนั้น ทำให้ทุกฝ่ายต่างอาลัยอาวรณ์กับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีใครอยากให้มันเป็นเรื่องจริง

เมื่อ Jobs เสียชีวิต คู่แข่งสำคัญอย่าง Microsoft ก็ลดธงลงครึ่งเสา เป็นการให้เกียรติ คู่ต่อสู้ที่ขับเคี่ยวกันมานานหลายทศวรรษ

ร้านค้า Apple Store ทั่วโลก กลายร่างเป็นสถานที่บูชาให้ Jobs ด้วยการ์ดที่แฟน ๆ ทำเพื่อระลึกถึง CEO ที่พวกเขาเทิดทูน ดอกไม้ และ เทียน เกลื่อนไปทั่วบริเวณทางเท้าด้านนอกของร้าน Apple Store ในแทบจะทุกสาขา

แฟน ๆ Apple ต่างโศกเศร้ามาไว้อาลัยที่ Apple Store ทั่วโลก
แฟน ๆ Apple ต่างโศกเศร้ามาไว้อาลัยที่ Apple Store ทั่วโลก

แต่แม้จะโศกเศร้าเพียงใด Cook ก็ต้องเดินหน้าพา Apple ก้าวต่อไปให้ได้ ภาระอันหนักอึ้งของเขายังเหลืออีกมากมาย แต่ยังถือว่าโชคดีที่ หลายเดือนหลังการตายของ Jobs ผลิตภัณฑ์ของ Apple นั้นยังเป็นที่นิยมเช่นเคย iPhone 4S มียอดสั่งซื้อถล่มทลาย โดยมียอดขายมากกว่า 4 ล้านเครื่อง ในสุดสัปดาห์แรกเพียงเท่านั้น

แต่เหล่าแฟน ๆ ของ Apple นั้นก็ยังกลัวกับอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับบริษัท ต้องบอกว่า บทบาทของ CEO Apple ที่ Tim Cook ได้รับมานั้น เป็นตำแหน่งที่ในชีวิตคนส่วนใหญ่ไม่กล้าฝันถึง มันเป็นงานที่เสี่ยงที่สุดในโลก การเดินตามรอยเท้าของ Jobs ภายใต้แรงกดดันต่าง ๆ จากโลกภายนอกเป็นสิ่งที่น่ากังวล การทำงานกับ Apple ในฐานะ CEO ของ Cook นั้นจะเป็นงานที่มีคนจับตามองมากที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

แน่นอนว่ามันเป็นเวลาที่น่ากลัวสำหรับ Tim Cook ในขณะที่เขาอยู่ที่ Apple มานานกว่าทศวรรษ และได้กลายมาเป็นรองประธานอาวุโสสูงสุดของ Jobs ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการหรือ COO แต่ตอนนี้เขากำลังเผชิญกับภารกิจที่น่าเกรงขาม ในการกุมบังเหียน บริษัทที่เป็นสัญลักษณ์ที่มีแฟน ๆ ที่บ้าคลั่งที่เปรียบเหมือนเป็นดั่งศูนย์กลางของ Apple

บริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก การเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในการปฏิวัติการใช้ smartphone ที่กำลังขยายตัวทั่วโลกในขณะนั้น ต้องเรียกว่างานนี้ เป็นการเดิมพันครั้งสำคัญในชีวิตของชายที่ชื่อ Tim Cook เลยก็ว่าได้

แล้วเรื่องราวของ Tim Cook กว่าจะก้าวมาถึงจุด ๆ นี้มีความเป็นมาอย่างไร แล้วเขาจะนำพา Apple ไปในทิศทางไหน กับ ภาระอันหนักอึ้งที่เขาได้รับมา งานที่แทบจะพูดได้ว่า เป็นงานที่ยากที่สุดในโลก Tim Cook จะจัดการกับเรื่องทั้งหมดนี้ได้อย่างไร โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 2 : The Soul of the South

References : https://www.snopes.com/fact-check/steve-jobs-deathbed-speech/