ชิม ช้อป ใช้ กับการใช้นวัตกรรมของรัฐในการออกแบบนโยบาย

ต้องบอกว่าเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่น่าสนใจเลยทีเดียวสำหรับ นโยบาย การอัดฉีดเงินของรัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระบบอย่างนโยบาย ชิม ช้อป ใช้ ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ active มากยิ่งขึ้น

แน่นอน ว่าหลาย ๆ คนอาจจะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับ นโยบาย ดังกล่าว แต่ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบการออกนโยบายทางการเงินของรัฐบาลมาในช่วงหลัง ๆซึ่งต้องบอกว่า สิ่งที่เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนที่สุดเพื่อให้ไทยเข้าสู่ cashless society นั้นก็คือ การเกิดขึ้นของ PromptPay (พร้อมเพย์) นันเอง

ผมว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนที่ส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ เรื่องมากสำหรับนโยบายนี้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจนอกระบบ การบีบให้เหล่าธนาคารสุดท้ายต้องยกเลิกค่าธรรมเนียม รวมถึงเงินหมุนเวียนที่เกิดขึ้นผ่าน cashless society ที่เกิดขึ้นหลังจากนโยบายนี้ มันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าได้อย่างมาก

รวมถึงอีกหลาย ๆ นโยบายที่ผมค่อนข้างเห็นด้วย อย่าง บัตรสวัสดิการประชารัฐ ที่สามารถกรอง กลุ่มบุคคลที่รัฐควรให้การช่วยเหลือได้ดีที่สุด สามารถหว่านเม็ดเงินไปแก้ไขปัญหาแบบถูกจุด แม้โครงการจะมีปัญหาบ้าง ไม่ 100% ก็ตาม แต่อย่างน้อยเป็นการคัดกรอง ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม

ส่วนเรื่องของ ชิม ช้อป ใช้ นั้น แม้ เฟส แรกอาจจะเป็นการแค่การแจกเงินเหมือน นโยบายทั่ว ๆ ไป แต่ที่ผมสนใจมากคือ เฟส 2 ที่รัฐออกนโยบาย การ cashback ซึ่งหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นกันเพราะมันใช้ในบริษัทเอกชนมากมายที่ออกนวัตกรรมทางการเงินนี้ให้กับลูกค้า

ที่น่าสนใจคือ มันเป็นการออกโดยภาครัฐ มันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ผมแทบจะไม่เคยเห็นจากรัฐบาลชุดไหนมาก่อน ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก กับการใช้ แคมเปญ แบบ เอกชน มาใช้กับนโยบายรัฐบาล

ถือเป็นการคิดค้นนวัตกรรมทางด้านนโยบายที่น่าสนใจมาก ๆ ของรัฐบาลชุดนี้ และแน่นอนว่า เบื้องหลังของนโยบายเหล่านี้ นั้น ต้องมาจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น Big Data หรือ แม้กระทั่ง AI ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจระดับมหภาคจริง ๆ

ซึ่งแน่นอนว่า เหล่านักการเงิน รวมถึงวิศวกร ยอดอัจฉริยะ ที่มีอยู่เต็มไปหมดในกระทรวงการคลังนั้น คงทำงานกันอย่างหนัก กว่าจะได้นโยบายอย่างที่เราเห็น ซึ่งน่าจะมีการวิเคราะห์ผลดีผลเสียออกมาดีแล้ว ผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ต้องบอกว่าปัจจุบันคงไม่เป็นเรื่องยาก ที่จะนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปวิเคราะห์เพื่อสร้างนโยบายทางการเงินของประเทศออกมา

หรือแม้กระทั่ง Application อย่าง “เป๋าตัง” นั้นก็เห็นได้ชัดเจนว่า มันเป็นผลพวงจากนโยบายทางการเงินของรัฐบาลแทบจะทั้งสิ้น ในการทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยได้ดียิ่งขึ้น

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้น ผมว่าเป็นก้าวสำคัญของประเทศ ในการออกแบบนวัตกรรมในการสร้างนโยบาย รูปแบบใหม่ ๆ ผ่านการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ซึ่งเราก็ต้องรอดูกันว่ามันจะส่งผลให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งแน่นอนว่าทุก ๆ นโยบายของรัฐ มันมีทั้งข้อดี และข้อเสีย อยู่ที่เราจะมองมันในมุมไหน นั่นเองครับ

–> ลิงค์ลงทะเบียน : https://www.ชิมช้อปใช้.com/