ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 12 : Business Reforms

สำหรับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ดอทคอมแล้วนั้น ช่วงปี 2000 นั้นถือว่าเป็นปีที่สาหัส สำหรับทุก ๆ คน ทุกบริษัทกับเผชิญกับอันตรายกับการล้มพังพินาศได้ หากทำอะไรที่ผิดพลาดไปในช่วงนี้ มันคือหายนะกับบริษัทดี ๆ นี่เอง เพราะตอนนี้ไม่เหลือทุนให้ผลาญเล่นเหมือนในอดีตอีกต่อไป นักลงทุนทั้งหมดกำกระเป๋าตัวเองไว้แน่นไม่ยอมให้ทุนกับบริษัท internet อีกต่อไป

อาลีบาบา แม้จะทำการปลดพนักงานขนานใหญ่ไปแล้ว  แต่ก็ตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงอยู่เหมือนกัน เดิมทีนั้นกำลังมีแผนเพิ่มทุนอีกรอบ แต่ตอนนี้ไม่มีนักลงทุนผู้ใดกล้าเสี่ยงกับธุรกิจ internet ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

ซึ่งไม่ใช่แค่ไม่ลงทุนเพิ่มเพียงเท่านั้น เหล่านักลงทุนนั้นเตรียมจะถอนทุนออกไปด้วยซ้ำเพื่อเปลี่ยนมันเป็นเงินสด คือครองไว้ ดูจะปลอดภัยกว่าในสถานการณ์ขนาดนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่า อาลีบาบา ก็เหมือนบริษัทอื่น ๆ ใน internet เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีผู้สนับสนุนเงินมาตั้งแต่แรก อาลีบาบาคงไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ในช่วงฟองสบู่ ดอทคอม แตกเป็นเสี่ยง ๆ เช่นนี้

ตลาด internet กำลังอยู่ในช่วงขาลงหลังฟองสบู่ดอทคอมแตก
ตลาด internet กำลังอยู่ในช่วงขาลงหลังฟองสบู่ดอทคอมแตก

แจ๊คต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้อาลีบาบา อยู่รอดต่อไปได้ นอกจากการเลิกจ้างงานครั้งใหญ่ รวมถึงปิดศูนย์ R&D ที่ ซิลิกอน วัลเลย์ มันต้องมากกว่านั้น ทำเพียงแค่นี้ ยังไม่สามารถทำให้อาลีบาบารอดได้

Business Reforms

แจ๊คจึงต้องคิดแผนเพื่อให้อาลีบาบารอด โดยกำหนด ยุทธศาสตร์ ไว้ สามอย่างคือ หนึ่ง การปรับปรุงการทำงาน สองการเพิ่มการฝึกอบรมให้กับพนักงาน และสุดท้าย คือ การเพิ่มการหารายได้

การปรับปรุงการทำงาน

การปรับปรุงการทำงาน คือ การปลูกฝังค่านิยมให้กับพนักงาน ซึ่งสถานการณ์ในขณะนั้น ในทีมงานของอาลีบาบามีปัญหาที่สาหัสมาก คือ ความกระตือรือร้นของพนักงานไม่เหมือนแต่ก่อน รวมถึงขวัญกำลังใจของพนักงานไม่เหมือนเดิมแล้ว

อาลีบาบาในตอนนี้ ต้องการขุมกำลังที่บ้าคลั่ง ซึ่งความบ้าคลั่งนี้ต้องบ้าแบบเข้ากระดูกถึงสายเลือด และต้องลงไปสู่การปฏิบัติ ไม่ใช่มีแต่คำพูดที่โก้หรูของค่านิยมที่ติดตามฝาผนังของบริษัทส่วนใหญ่

การปลุกฝังค่านิยมให้กับพนักงานใหม่ในรอบนี้ ได้นำเอาประสบการณ์ของกวานเหมิงเซิง ที่เคยใช้ที่ GE โดยจัดทำค่านิยมเป็นการ์ดใส่ไว้ในกระเป๋าของพนักงาน และเป็นการทำให้ค่านิยมหยั่งรากลึกลงไปในจิตใจ และสายเลือดของพนักงาน และที่สำคัญยังใช้ค่านิยมเหล่านี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือวัด KPI ของพนักงานด้วย

การเพิ่มการฝึกอบรม

การฝึกอบรมนั้นเริ่มเตรียมการเมื่อต้นปี 2001 และเริ่มอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

การฝึกอบรมนั้นเริ่มจากระดับหน้างาน จากนั้นขยับไปสู่ระดับกลางและระดับสูง โดยมีผู้อบรบนั้นเป็นที่ปรึกษาระดับสูงของบริษัท รวมถึงการจ้างวิทยากรจากภายนอกที่มีชื่อเสียงเข้ามาอบรมให้กับพนักงานอาลีบาบา

เพิ่มการอบรมให้กับพนักงานโดยใช้มืออาชีพเข้ามาช่วย
เพิ่มการอบรมให้กับพนักงานโดยใช้มืออาชีพเข้ามาช่วย

และส่วนสำคัญที่สุดของการอบรมครั้งนี้คือ พนักงานขาย เพราะพวกเขาเป็นแนวหน้าในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท แรกเริ่มเดิมทีนั้นพนักงานขายในยุคแรก ๆ ของอาลีบาบานั้น เป็นทีมที่ตั้งขึ้นมาชั่วคราวจากเหล่าบรรดาผู้บุกเบิกยุคแรก ๆ มีไม่กี่คนที่จบด้านการขายมาโดยตรง แต่กลุ่มคนแรก ๆ เหล่านี้จะเข้าใจผลิตภัณฑ์อาลีบาบาอย่างลึกซึ้งที่สุด ขาดเพียงอย่างเดียวคือความรู้ในการขาย ซึ่งการเพิ่มการฝึกอบรมในจุดนี้ ก็จะทำให้ทีมขายของอาลีบาบาแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

การฝึกอบรมเหล่านี้จะทให้พนักงานที่โตมาทางด้านเทคนิค หรือ การขายรู้จักการบริหารงานแบบสมัยใหม่ รู้จักการใช้เครื่องมือใหม่ ๆ มาช่วยเหลือในการทำงาน  และที่สำคัญมันยังสอดแทรกให้พนักงานเห็นพ้องกับค่านิยมของอาลีบาบาด้วย

การเพิ่มการหารายได้

มกราคม ปี 2001 หลังจากได้ขุนทัพอย่าง กวานหมิงเซิงมาคุมตำแหน่ง COO ของบริษัทแล้วนั้น นอกจากการลงมือปลดพนักงานเพื่อหยุดรายจ่ายแล้ว เขายังเสนอการเพิ่มรายได้ และได้รับความเห็นชอบจากแจ๊คตลอดจนบรรดาผู้บริหารระดับสูงทันที

การหยุดรายจ่ายนั้นทำไม่ยาก เพียงแค่ปลดพนักงานออก ลดพนักงาน แค่ไม่กี่เดือนก็สามารถบรรลุภารกิจนี้ได้ แต่การเพิ่มรายได้ เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับวิธีการหากำไรของอาลีบาบา และเริ่มมีการกำหนดโมเดลการทำกำไร และปรับตัวผลิตภัณฑ์หลัก และเริ่มสร้างทีมขายที่เริ่มแข็งแกร่งขึ้นจากการฝึกอบรม และเริ่มเข้าสู่สงครามใหม่ในการเผชิญหน้ากับเว๊บพ่อค้าขายส่งจีน อย่าง 1688.com ซึ่งนี่เป็นหัวใจหลักของยุทธศาสตร์ใหม่อาลีบาบาอย่างรวดเร็ว

1688 เดิมเป็นคู่แข่งสุดท้ายก็ถูก take over มาอยู่ใน อาลีบาบา กรุ๊ป
1688 เดิมเป็นคู่แข่งสุดท้ายก็ถูก take over มาอยู่ใน อาลีบาบา กรุ๊ป

ปรับ Model สู่พ่อค้าขายส่ง

ในเดือนธันวาคมปี 2001 เป็นเดือนแรกที่อาลีบาบาสามารถทำกำไรได้สำเร็จ แม้ตลอดทั้งปี 2001 จะขาดทุนก็ตาม แต่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี สำหรับอนาคตของอาลีบาบา ที่ได้เริ่มเจอทิศทางที่จะทำกำไรได้แล้ว

ปี 2002 นั้นแจ๊คตั้งเป้าหมายให้เป็นปีที่ อาลีบาบา ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็คือการไม่ขาดทุนนั่นเอง ซึ่งตั้งเป้าหมายให้อาลีบาบา กำไรแค่ 1 หยวน แจ๊คได้เริ่มค้นพบแหล่งสร้างได้แห่งใหม่ เขาทำนายไว้ว่า ประเทศจีนในอนาคต จะเป็นโรงงานของโลก

การทำนายของแจ๊ค ไม่ได้มโนคิดขึ้นมาแบบมั่ว ๆ แต่มันมีเหตุผลมาจาก ในวันที่ 11 ธันวาคม 2001 ประเทศจีนได้กลายเป็นสมาชิกของ WTO ได้อย่างเป็นทางการ

จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่คือ จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างเป็นทางการ
จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่คือ จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างเป็นทางการ

และมันเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของพ่อค้าขายส่ง จำนวนมากในเว๊บไซต์ อาลีบาบา ซึ่งเป็นที่ต้องการของเหล่านักธุรกิจ SME ที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของวงจรธุรกิจนี้ และมันทำให้กลายเป็นโมเดลใหม่ของการบริการทางธุรกิจ มันกำลังจะกลายเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่มหาศาล ที่แจ๊คสร้างมาสำหรับให้บริการคนทั่วโลก

ในตอนนั้นทั่วทั้งโลกยังไม่มีบริษัทใด ที่ให้บริการแบบนี้ และที่สำคัญ อาลีบาบายังอยู่ในที่ตั้งของจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโรงงานโลกคือประเทศจีน 

เขาได้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมรายปีจากบรรดาผู้ค้าส่งรายละประมาณ 40,000 – 60,000 หยวนตามประเภทของสมาชิก ซึ่งแลกกับการได้ประกาศข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตลอดจนลงรูปภาพสินค้า และอาลีบาบา จะช่วยเหลือในการนำไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศให้ด้วย และยังมีบริการจับคู่ผู้ซื้อกับผู้ขาย

และมีโมเดลการโฆษณา ในผลการค้นหา หากต้องการอยู่ลำดับบน ๆ เพื่อให้ได้ลูกค้ามากขึ้นก็ต้องเสียเงินมากขึ้น คล้าย ๆ รูปแบบการ Bid โฆษณาของ search engine ชื่อดังอย่าง Google 

เพิ่มช่องทางการหาเงินในทุกส่วนของ เว๊บไซต์
เพิ่มช่องทางการหาเงินในทุกส่วนของ เว๊บไซต์

รวมถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในหน้าเว๊บไซต์ นั้นก็เป็นแหล่งขุมทรัพย์ของอาลีบาบา ทั้งสิ้น เพราะหากเหล่าพ่อค้าขายส่งต้องการให้ร้านของตัวเองแสดงในที่เด่น ๆ ของเว๊บไซต์ ก็ต้องทำการเสียเงินให้อาลีบาบา ซึ่งยิ่งตำแหน่งที่สะดุดตามากเท่าไหร่ ก็ต้องเสียเงินมากขึ้นเท่านั้น กลายเป็นสงครามการแย่งชิง พื้นที่ ของเหล่าพ่อค้าขายส่งเหล่านี้ เพราะพวกเขาพร้อมที่จะทุ่มเพื่อให้หน้าร้านเขาสะดุดตาที่สุด เพราะมันคุ้มค่ากับการขายส่งเมื่อได้รับ order จากลูกค้าใหญ่ ๆ ซึ่งมักจะสั่งในปริมาณมาก ๆ  

หลังจากปรับโมเดลสู่พ่อค้าส่งเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น แจ๊คและทีมก็ได้ปรับบริการเรื่องหลังการขาย โดยจะทำการเก็บสถิติต่าง ๆ และมีการจัดหลักสูตรอบรมให้เหล่าธุรกิจค้าส่งเพื่อใช้เครื่องมือของอาลีบาบาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึัน

แม้ปัญหาจากฟองสบู่ดอทคอมยังไม่เห็นวี่แวว ว่ามันจะสิ้นสุดที่ตรงไหน ตลาดหุ้นแนสแด็กก็ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ในขณะนั้น แต่ตอนนี้ อาลีบาบา พร้อมแล้วสำหรับตลาดใหม่ที่เขากำลังเข้าไปกอบโกย รวมถึง ทีมงานที่ตอนนี้พร้อมที่จะรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับแจ๊ค แล้ว ไม่ว่าจะมีอุปสรรค มากมายเพียงใด ตอนนี้ อาลีบาบา เหมือนได้เกิดใหม่แล้ว และพร้อมทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ในสภาพซากศพของธุรกิจ internet อื่น ๆ ที่ล้มหายตายจากไปในยุคฟองสบู่ มันจะเหลือเพียงแค่ อาลีบาบา ที่พร้อมจะเข้าสู่ยุคใหม่ของบริษัทเต็มตัวได้เสียที

–> อ่านตอนที่ 13 : Taobao

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 11 : Good Boss , Bad Boss

ปัญหาใหญ่ของการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอาลีบาบาในปี 2000 ก็คือ ปัญหาเรื่องรายจ่ายในต่างปรเทศที่สูงลิบลิ่ว ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ใน ฮ่องกง อเมริกา ยุโรป เกาหลีนั้นมีมากมายมหาศาล และส่วนใหญ่หน่วยงานที่อยู่ตามต่างประเทศเหล่านี้นั้น มีแต่รายจ่าย แทบจะไม่มีรายได้เข้าเลย

ปลายปี 2000 ที่ฟองสบู่ internet แตกนั้น อาลีบาบามีเงินสดในบัญชีเพียงแค่ 7 ล้านเหรียญ ซึ่งหากยังเดินหน้าขยายกิจการต่อเนื่องในระดับความเร็วเท่าเดิม เงินทุนก้อนนี้จะเหลืออยู่ให้ใช้ได้เพียงครึ่งปีเท่านั้น

ซึ่งการขยายตลาดต่างประเทศของอาลีบาบานั้นเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2000 และได้หยุดลงเมื่อเดือนมกราคมปี 2001 ในช่วงนั้นแต่ละเดือนอาลีบาบาผลาญเงินไปกว่าล้านเหรียญ ในเวลานั้นแจ๊คเริ่มสังเกตเห็นภัยที่กำลังจะมาเยือน 

แจ๊คเริ่มรู้ตัวเองว่าตัดสินใจผิดพลาดในหลาย ๆ อย่าง เรื่องศูนย์ R&D ที่ซิลิกอน วัลเลย์ ก็เป็นอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องของการหาคนด้านเทคโนโลยี ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดเต็มซิลิกอน วัลเลย์ แต่คนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการค้าที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องการนั้นหาได้ยากมาก ต้องไปตามหาตัวจากเมืองอื่น ๆ เช่น นิวยอร์ก ที่มีคนพวกนี้ที่แจ๊คต้องการมากกว่า ทำให้สูญเสียทั้งเวลา และเงินทุนไปเป็นจำนวนมากในการขยายไปยังอเมริกา กว่าจะคิดได้ก็เกือบสายไปเสียแล้ว

อาลีบาบาใช้เงินเยอะมากกับศูนย์ R&D ที่ซิลิกอน วัลเลย์
อาลีบาบาใช้เงินเยอะมากกับศูนย์ R&D ที่ซิลิกอน วัลเลย์

ปัญหาใหญ่ที่ตามมาอีกอย่างคือ การที่มีคนจากหลายเชื้อชาติเข้ามาทำงานซึ่งไม่เหมือนตอนแรก ๆ ที่เหล่า 18 อรหันต์ของแจ๊ค เป็นผู้ที่แจ๊คไว้ใจ และพร้อมที่จะลุยกับแจ๊คเสมอ แต่เหล่าพนักงานต่างชาติ มักถูกชักจูงมาด้วยเรื่องเงินเป็นหลัก  ความแตกต่างทางวัฒนธรรม นั้น ทำให้เวลามีการประชุมที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ มักจะเห็นพ้องต้องกันเป็นทิศทางเดียวได้ยากนัก ต่างจากช่วงแรก ๆ ของการก่อตั้งบริษัท

ก่อนที่จะล้มละลายตายจากไปจากธุรกิจ internet อีกรายในยุคฟองสบู่ดอทคอมเยี่ยงนี้ แจ๊ค ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญโดยการปรับยุทธศาสตร์หลักลับมาโฟกัสที่ประเทศจีนและลดขนาดองค์กรลง แต่ปัญหาคือ จะปฏิบัติจริงได้อย่างไร

ฟองสบู่ดอทคอมแตกในปี 2000 เป็นที่มีของปัญหาใหญ่
ฟองสบู่ดอทคอมแตกในปี 2000 เป็นที่มีของปัญหาใหญ่

แต่บางทีทุกอย่างอาจะเป็นชะตาฟ้าลิตมาให้แจีค ได้เจอกับ กวานหมิงเซิง ซึ่งเป็นมือดีที่แจ๊คได้มาช่วยในการคลายวิกฤตในขณะนั้น

กวานหมิงเซิง สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และจบปริญญาโทคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์จาก Loughborough Universityof Technology และ London Business School ทำงานด้านการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศอยู่ 25 ปี เริ่มจากที่ GE ของอเมริกา 15 ปีและทำให้แผนกอุปกรณ์การแพทย์ของ GE เติบโตไปจนถึง 70 ล้านเหรียญ จากนั้นจึงได้ดำรงตำแหน่งประธาน บริษัท BTR plc และ Invensys ซึ่งเป็นบริษัทหนึงใน 500 สุดยอดบริษัทของโลก

กวานหมิงเซิงเป็นคนทำงานเฉียบขาด ตัดสินฉับไว เขารับตำแหน่งสำคัญคือ COO (Chief Operating Officer) เขาเป็นคนที่มาช่วยแจ๊คในเรื่องการลดพนักงานลง โดยเฉพาะที่ซิลิกอน วัลเลย์ ที่มีจอห์น วู คุมบังเหียนอยู่

ได้ COO คนใหม่อย่าง กวานหมิงเซิง มาช่วยทำเรื่องยาก ๆ อย่างการ ปลดพนักงานจำนวนมาก
ได้ COO คนใหม่อย่าง กวานหมิงเซิง มาช่วยทำเรื่องยาก ๆ อย่างการ ปลดพนักงานจำนวนมาก

สถานการณ์ในขณะนั้น เหล่าวิศวกรที่ซิลิกอน วัลเลย์ เริ่มรู้ตัวล่วงหน้ากันบ้างแล้ว และได้ทยอยลาออกไปบ้างแล้ว ตอนนั้นเหลือวิศวกรอยู่ 30  คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เงินเดือนระดับหกหลักแทบจะทั้งสิ้น ซึ่งเป็นภาระมหาศาลของอาลีบาบาในขณะนั้น

แม้แจ๊ค นั้นอยากให้คงเหลือวิศวกรไว้บ้าง เพื่อให้เหลือไว้สร้างความได้เปรียบทางเทคโนโลยี และเพื่อให้สามารถที่จะแข่งขันกับ microsoft , YAHOO และ ebayได้ แต่กวานหมิงเซิง ประกาศ layoff พนักงานทั้งหมดเพื่อลดภาระรายจ่ายในส่วนนี้ให้หมดไปจากบัญชีของอาลีบาบา ทำให้จอห์น วู ยังรู้สึกอื้ง ตอนนี้ศูนย์ R&D ที่ซิลิกอน วัลเลย์ ถูกยุบอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว

ถัดจากซิลิกอน วัลเลย์ อีกหนึ่งสำนักงานที่มีรายจ่ายสูงมากคือ ฮ่องกง เนื่องจากเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูง และพนักงานส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานหัวกะทิ ที่จบ MBA จากสถาบันที่มีชื่อเสียงแทบจะทั้งสิ้น ทำให้รายจ่ายที่ฮ่องกง ไม่ได้น้อยไปกว่าที่อเมริกาเลย

พนักงานกว่า 30 คนของสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง ก็ถูก กวาน กับ โจเซฟปลดไปกว่า 20 คน สุดท้ายเหลือไว้เพียงแค่ 7-8 คนเพียงเท่านั้น

สำนักงานที่ฮ่องกงก็เป็นอีกแห่งที่ต้องลดคนไปจำนวนมาก
สำนักงานที่ฮ่องกงก็เป็นอีกแห่งที่ต้องลดคนไปจำนวนมาก

แม้ กวานหมิงเซิง , โจเซฟ ไช่ รวมถึง แจ๊ค นั้นจะสวมบทโหด ปลดพนักงานขนานใหญ่ แม้จะดูเป็นการกระทำที่แข็งกร้าว ที่คนภายนอกเห็น แต่ภายในจิตใจของพวกเขาทั้งสามนั้น เสียใจกับเรื่องเหล่านี้มาก โจเซฟ ถึงกับจิตตก หลังจากภารกิจนี้เสร็จ เขาจึงขอไปพักร้อนที่เซี่ยงไฮ้ตามลำพังเพื่อปรับสภาพจิตใจ

ส่วนแจ๊ค ยิ่งรู้สึกละอายและโทษตัวเอง เขารู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวและหดหู่เป็นที่สุด ซึงในช่วงเวลาหัวเลี้ยงหัวต่อของอาลีบาบาเช่นนี้นั้น เขาก็แทบจะไม่มีทางเลือกอื่นใด เขามักคิดเสมอว่าสาเหตุที่ต้องปลดพนักงานขนานใหญ่ เป็นความบกพร่องของการบริหารงานของเขาเองแทบจะทั้งสิ้น 

มันเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่มาก ๆ ของทั้งแจ๊ค และ อาลีบาบา การปลดพนักงานออกไปเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่แจ๊คไม่อยากทำ แต่มันจำเป็นต้องทำ เพราะสถานการณ์ในขณะนั้น ฟองสบู่ ดอทคอม ทำให้บริษัท internet ทั้งหลายทั่วโลก ต่างล้มหายตายจากไปเป็นโดมิโน ทั้งในอเมริการวมถึงจีนเองก็ตาม มันเป็นบาดแผล ที่ลึกลงไปในใจของแจ๊ค ของการตัดสินใจในเรื่องนี้ เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากเขาเองที่บริหารงานผิดพลาด สถานการณ์ของอาลีบาบาจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังเหตุการณ์ฟองสบู่ดอทคอมแตก จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทแห่งนี้ โปรดติดตามตอนต่อไป

–> อ่านตอนที่ 12 : Business Reforms

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 10 : Let’s Expand

หลังจากได้รับเงินทุนกว่า 25 ล้านเหรียญทั้งจาก โกลด์แมนซาคส์ และ มาซาโยชิ ซัน แจ๊ค ก็ได้เริ่มทำการขยายกิจการอย่างบ้าคลั่ง สิ่งแรกที่เขาต้องทำคือ ย้ายฐานบัญชาการหลักจากบ้านเขาที่ริมทะเลสาบหังโจว ไปยังอาคารซิงหัวเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่กว่า 9 ชั้น ที่จะสามารถรองรับการเจริญเติบโตของอาลีบาบาไปได้อย่างไม่มีปัญหา

ส่วนเรื่องคนนั้น แจ๊ค ก็ได้เริ่มหาพนักงานมืออาชีพในแผนกต่าง ๆ ตอนนี้เงินทุนไม่ใช่ปัญหาของแจ๊คอีกต่อไปแล้ว และมันทำให้เขาได้พนักงานระดับเทพอีกคน ที่ชื่อ จอห์น วู ซึ่งเป็นอดีตพนักงานของ YAHOO ที่ได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งเสิร์ซเอ็นจิน” 

การได้พนักงานระดับเทพอย่าง จอห์น วู มานั้น แจ๊คให้เขาไปดูแลศูนย์ R&D ในประเทศอเมริการในซิลิกอน วัลเลย์ และยังได้ทำการย้าย server ทั้งหมดของอาลีบาบาไปไว้ที่ซิลิกอน วัลเลย์ ที่เรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งโลกเทคโนโลยี

ได้มือระดับพระกาฬอย่างจอห์น วู มาดูเรื่องเทคโนโลยี
ได้มือระดับพระกาฬอย่างจอห์น วู มาดูเรื่องเทคโนโลยี

สาเหตุหลักที่ จอห์น วู ตัดสินใจมาอยู่กับอาลีบาบา นั้น คือการที่อาลีบาบาไม่ได้ลอกเลียนแบบโมเดลธุรกิจจากต่างประเทศแล้วมาสร้างในประเทศจีน เหมือนบริการดัง ๆ อื่น ๆ แต่มันเป็นโมเดลใหม่ที่แจ๊ค คิด และสร้างขึ้นมาเอง  ซึ่งโมเดลนี้เป็นการอ้างอิงสภาพเศรษฐกิจของประเทศจีนเป็นหลัก เป็นการสร้างมาเพื่อ SME ในประเทศได้ลืมตาอ้าปาก ขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศได้ผ่าน อีคอมเมิร์ซ

จากพนักงานเริ่มต้นเพียง 18 คนนั้น ตอนนี้ อาลีบาบาขยาย จนมีพนักงานหลายพันคน ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของอาลีบาบา ที่ตอนนี้เริ่มมีลูกค้าใช้งานเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าจากตอนเริ่มต้นกิจการใหม่ ๆ 

เริ่มขยายพนักงานจาก 18 คนเริ่มต้น จนกลายเป็นพันกว่าคน
เริ่มขยายพนักงานจาก 18 คนเริ่มต้น จนกลายเป็นพันกว่าคน

ปี 2000 เป็นปีที่แจ๊ค ทำการขยายกิจการอาลีบาบาอย่างบ้าคลั่ง เริ่มมีการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ตอนนี้เงินยังเหลือมากพอให้แจ๊คผลาญไปได้อีกนาน  มีการตั้งสำนักงานในฮ่องกง อังกฤษ  มีการตั้งศูนย์ R&D ที่ซิลิกอนวัลเลย์ ในประเทศอเมริกา มีการตั้งบริษัทร่วมทุนที่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และ เกาหลี

ที่ซิลิกอน วัลเลย์ ภายใต้การรับผิดชอบของ CTO (Chief Technology Officer) จอห์น วู ทำให้ที่ซิลิกอน วัลเลย์ กลายเป็นศูนย์รวมของอัจฉริยะทางด้านเทคโนโลยี และ internet ซึ่งการจ้างคนระดับเทพในซิลิกอนวัลเลย์นั้นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล พนักงานเพียง 20 คนในซิลิกอน วัลเลย์นั้น มีค่าจ้างรวมกัน มากกว่า พนักงานกว่า 200 คนในออฟฟิสหลักของอาลีบาบาที่หังโจวเสียอีก

ซึ่งเหล่าบรรดาวิศวกรอัจฉริยะเหล่านี้ ก็ได้สร้างเว๊บไซต์อาลีบาบาในรูปแบบภาษาอังกฤษ เพื่อความอินเตอร์ขึ้น และเริ่มสร้างเว๊บในภาษาต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นภาษาเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือ ออสเตรเลีย มันเป็นการ Go Inter โดยไม่สนในรากเหง้าในความเป็นจีนของแจ๊คโดยแท้

ในเวลานั้นแจ๊ค ค่อนข้างมั่นใจในตัวเองเป็นอย่างมากว่าอาลีบาบานั้นจะกลายเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลก และจะต้องเป็นเว๊บไซต์ที่ติดหนึ่งในสิบอันดับแรกของโลกได้อย่างแน่นอน

แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ได้เกิดขึ้น ในวันที่ 10 มีนาคมปี 2000 ดัชนีแนสแด็กของอเมริกาลงต่ำสุดไปแตะที่ 5,132 จุด จากนันก็ร่วงลงมาอย่างรวดเร็ว ในปลายปี 2000 แนสแด็กร่วงหล่นลงไปถึง 2,600 จุด เป็นการลดลงถึง 50% ภายในระยะเวลาไม่ถึงปี ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดในประวัติกาล

ตอนนี้ แนสแด็ก ซึ่งเคยเป็นที่ฝากความหวังและความฝันของธุรกิจดอทคอม กำลังพังพินาศลงทั้งระบบ

เกิดฟองสบู่ดอทคอมแตกในปี 2000 ตลาดหุ้นแนสแด็กล้มครืน
เกิดฟองสบู่ดอทคอมแตกในปี 2000 ตลาดหุ้นแนสแด็กล้มครืน

สิ่งที่ตามมาหลังจากแนสแด็กล้มทั้งกระดาน คือ บรรดาบริษัทดอทคอมของจีนต่างพากันล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจ internet ของจีนได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า ธุรกิจ internet ขนาดเล็กหรือขนาดกลางของจีน บ้างก็ล้มละลาย บ้างก็ต้องทำการปลดพนักงานจำนวนมหาศาล 

ขณะที่ธุรกิจ internet ต่างกำลังผลาญเงินกันจนใกล้จะหมดสิ้นแล้วนั้น ธุรกิจส่วนใหญ่ก็ยังหาช่องทางการทำกำไรไม่ได้ นักลงทุนต่างกำเงินของตัวเองไว้อย่างแน่น ไม่มีใครที่จะกล้าใส่เงินเข้าไปในระบบอีกแล้วในช่วงเวลานั้น 

และนั่นมันทำให้เป็นเวลาที่อาลีบาบาตกอยู่ในจุดที่อันตรายที่สุด แต่แจ๊ค นั้นยังคงเชื่อมั่นใน internet และไม่เคยสงสัยในธุรกิจของอาลีบาบาเลยแม้แต่น้อย

เขากล่าวกับทีมงานว่า ภายในหกเดือนบริษัท internet ของจีนจะหายไป 80% ซึ่งหากบริษัท internet ต้องตายหมด อาลีบาบา ก็ต้องขอตายเป็นรายสุดท้าย แจ๊คให้คำมั่นกับทีมงานของเขา

ต้องเรียกว่าได้ ฟองสบู่ ดอทคอม ได้แตกเป็นเสียง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้วในปี 2000 เหล่านักลงทุนทั้งหลายแทบจะไม่มีใครกล้าเข้ามายุคกับธุรกิจ internet แล้วเงินทุนของอาลีบาบา ก็ใช้ไปอย่างมากมายในการขยายกิจการอย่างบ้าคลั่งของแจ๊ค แม้เขาจะปลอบใจพนักงานว่ายังไงอาลีบาบาก็ต้องอยู่รอด แล้วอาลีบาบาจะอยู่รอดได้อย่างไร ในเมื่อเพื่อนร่วมธุรกิจ ต่างล้มหายตายจากไปแทบจะหมดสิ้น โปรดติดตามในตอนต่อไป

–> อ่านตอนที่ 11 : Good Boss , Bad Boss

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 9 : The Rising Son

หลังจากได้รับเงินทุนก้อนแรกจาก โกลด์แมนซาคส์ แล้วนั้น แจ๊คก็เริ่มวุ่นวายกับการ หาที่ตั้งบริษัทใหม่ จากออฟฟิส ที่ใช้บ้านของเขาริมทะลาสาบเมืองหังโจว แจ๊คต้องการขยายพื้นที่ให้มากขึ้น รวมถึงการเฟ้นหาพนักงานใหม่ เพื่อมาขยายกิจการของอาลีบาบา

แต่มีการนัดสำคัญครั้งหนึ่งที่เพื่อนของเขาในปักกิ่ง ต้องการให้แจ๊คมาพบบุคคลลึกลับจากญี่ปุ่น ผู้ซึ่งต้องการที่จะพบปะกับแจ๊ค

และในที่สุดตัวละครลับนั้นก็เผยโฉมออกมาได้เสียที เขาคือ มาซาโยชิ ซัน (Masayoshi son) ผู้โด่งดังจากญี่ปุ่นนั่นเอง สิ่งที่ทำให้ มาซาโยชิ ซัน ดังเป็นพลุแตกคือการเข้าไปลงทุนใน YAHOO กว่า 355 ล้านเหรียญ ซึ่งมีผลทำให้ ณ ขณะนั้น YAHOO กลายเป็นบริษัท internet ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก และเขายังเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นอีกด้วย

มาซาโยชิ ซัน ผู้โด่งดังจากซอฟต์แบงค์
มาซาโยชิ ซัน ผู้โด่งดังจากซอฟต์แบงค์

ตอนนั้นเป็นฤดูหนาวในปี 1999 มาซาโยชิ มาประเทศจีนครั้งนี้เพื่อขยายอาณาจักรด้าน internet ของเขา ซึ่งการพบปะกับแจ๊คนั้น เกิดขึ้นในอาคารพาณิชย์ทางตะวันออกของปักกิ่ง ตึกนี้มีชื่อเสียงโด่งดังว่าอาคารฟู่หัว

ตอนนั้น มาซาโยชิ มาพร้อมกับกลุ่มนักลงทุนหลายรายเพื่อมาดูกิจการที่น่าสนใจที่จะลงทุน และแจ๊ค เป็นหนึ่งผู้ที่จะต้อง พรีเซ็นต์กิจการ เพื่อดึงดูดนักลงทุนเหล่านี้ หลังจากฟังหลาย ๆ กิจการอย่างน่าเบื่อ เพราะมาซาโยชิ นั้น ฟังเรื่องราวของกิจการหน้าใหม่มามากมายทั่วโลกแล้ว ซึ่งยังไม่เห็นมีอะไรที่น่าสนใจ จึงชี้ไปยังแจ๊ค ให้ขึ้นไป พรีเซ็นต์บริษัทของเขาให้ฟัง

บริษัทอื่น ๆ นั้นใช้เวลาเป็นชั่วโมง เพื่อร่ายยาว คุณสมบัติของบริษัท เพื่อดึงเงินจากมาซาโยชิให้ได้ แต่ แจ๊คกลับใช้เวลาเพียงแค่ 6 นาทีเท่านั้น ก็สิ้นสุดการพรีเซ็นต์ เพราะตอนนั้นแจ๊คไม่ได้ต้องการเงินเลย เขาเพิ่งได้รับเงินลงทุนก้อนแรกจาก โกลด์แมนซาคส์ ซึ่งยังพอเลี้ยงดูบริษัทไปได้อีกเป็นปี ๆ 

แต่นั่น มันทำให้ มาซาโยชิ สนใจ เว๊บไซต์ อาลีบาบาของแจ๊คเป็นพิเศษ โดยให้แจ๊คทำการเปิดตัวเว๊บไซต์ ให้ดู ซึ่งตัวมาซาโยชิ นั้นแทบจะไม่ได้ตรวจสอบอะไรอาลีบาบาเลยสักนิด มาซาโยชิ ตัดสินใจอย่างรวดเร็วทันที ต้องการลงทุนในอาลีบาบาทันที 49% แต่แจ๊คซึ่งตอนนั้นไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน ก็ยังไม่ได้ตกปากรับคำอะไรทั้งสิ้น แต่ มาซาโยชิ ได้ทิ้งท้ายไว้โดยทำการเชื้อเชิญแจ๊ค มาที่โตเกียว เพราะเขาอยากคุยกับแจ๊ค ตัวต่อตัว ที่โตเกียว

มาซาโยชิ สนใจอาลีบาบาเป็นพิเศษ จึงเชิญแจ๊คมาที่โตเกียว
มาซาโยชิ สนใจอาลีบาบาเป็นพิเศษ จึงเชิญแจ๊คมาที่โตเกียว

ในเดือนมกราคม ปี 2000 แจ๊ค ได้หนีบโจเซฟ ไช่ เดินทางมาโตเกียวด้วย โดยเป้าหมายอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของซอฟต์แบงก์ เพื่อมาเจรจาเรื่องการลงทุนกับ มาซาโยชิ โดยทั้งคู่มีการหารือกันว่าจะจัดการกับมาซาโยชิ อย่างไร ซึ่งสรุปกันว่า คนหนึ่งจะรับบทพระเอก อีกคนเล่นบทผู้ร้าย แน่นอน พระเอกก็คือ โจเซฟ ส่วน ผู้ร้ายคือ แจ๊ค นั้นเอง

นัดเจรจากันที่สำนักงานใหญ่ซอฟต์แบงค์ กลางกรุงโตเกียว
นัดเจรจากันที่สำนักงานใหญ่ซอฟต์แบงค์ กลางกรุงโตเกียว

มันเป็นการเจรจาที่แจ๊ค เป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก ฝ่ายอาลีบาบานั้นมีเพียงแค่แจ๊ค กับ โจเซฟ แต่ฝ่ายซอฟต์แบงค์มีคนเรียงเป็นหน้ากระดาน โดยมีมาซาโยชิ อยู่ตรงกลาง เปรียบเทียบกับแล้วฝ่ายซอฟต์แบงค์ มีคนมากว่าหลายเท่า

แต่ต้องเข้าใจการบริหารสไตล์ ญี่ปุ่น ในสายตาของลูกน้อง มาซาโยชิ นั้นเปรียบเสมือนองค์จักรพรรดิ หลังฟองสบู่แตกในปี 2000 นั้น การลงทุนทั่วโลกของซอฟต์แบงค์ลดลง 90% ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการตัดสินใจตามลำพังของมาซาโยชิ แทบจะทั้งสิ้น

เขาเป็นผู้ก่อตั้งซอฟต์แบงค์ เป็นประธานและ CEO ซึ่งมีอำนาจเต็มที่ในการจัดสรรเงินทุนของบริษัท ต่อให้การลงทุนนั้นจะล้มเหลวยังไงก็ตาม ยังไงสิทธิ์ขาดเด็ดขาดก็อยู่ที่มาซาโยชิ เพียงคนเดียวเท่านั้น

การเจรจาเป็นไปอย่างเคร่งเครียด แจ๊ค นั้นต้องการเงื่อนไขสามข้อ ถึงจะเจรจาต่อ โดย เงื่อนไขข้อแรก คือ อาลีบาบาจะรับการลงทุนจากซอฟต์แบงค์รายเดียว ( ไม่มีการร่วมลงขันกันกับบริษัทอื่น) ส่วนข้อสองนั้น แจ๊คกล่าวถึงเรื่องการถือหุ้น ซอฟต์แบงค์จะต้องไม่มุ่งแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น และต้องถือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ยึดถือรูปแบบการพัฒนาอาลีบาบาในระยะยาวเป็นหลัก  ส่วนข้อสุดท้าย ต้องให้ มาซาโยชิมานั่งเป็นกรรมการของบริษัท

แจ๊คยื่นเงื่อนไขสามข้อให้กับมาซาโยชิ
แจ๊คยื่นเงื่อนไขสามข้อให้กับมาซาโยชิ

ดูเหมือนสองข้อแรก จะไม่มีปัญหาอะไรกับ มาซาโยชิ แต่ปัญหาใหญ่คือข้อสาม ที่ต้องไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทนั้นดูท่าจะไม่เหมาะสม เพราะมาซาโยชิไม่เคยเป็นกรรมการของบริษัทที่ตัวเองลงทุน แม้จะใส่เงินไปจำนวนมหาศาลให้กับหลาย ๆ บริษัท เขาต้องการคงบทบาทสำคัญคือผู้ลงทุนเพียงเท่านั้น

แต่แจ๊ค ก็ยังยืนกรานที่จะให้มาซาโยชิ มาเป็นกรรมการให้ได้ สุดท้ายจึงเจรจากันที่ตรงกลางโดย มาซาโยชิรับเป็นกรรมการ แต่คงไม่ได้เข้าร่วมประชุมบ่อย ๆ เหมือนกรรมการคนอื่น ๆ เพราะเขาเป็นคนที่ยุ่งมาก โดยเสนอตัวเป็นที่ปรึกษา แต่ยังนั่งในตำแหน่งกรรมการของอาลีบาบาให้แจ๊คได้ตามที่เขาต้องการ

สุดท้ายก็เป็นเรื่องเงิน ซึ่ง เป็นหน้าที่ของ โจเซฟ ที่จะทำการเจรจาต่อรอง การเสนอราคาในครั้งแรกจากมาซาโยชิ นั้นถูกปฏิเสธไปแบบไร้เยื่อใย มาซาโยชิ พยายามยื่นข้อเสนออีก 2 ครั้งโดยนั่งเคาะตัวเลขในเครื่องคิดเลขแล้วยื่นไปให้ โจเซฟ ตัดสินใจ และก็เหมือนครั้งแรก มาซาโยชิ ถูกปฏิเสธถึงสามครั้ง เรืองแบบนี้ เขาแทบไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต

สุดท้ายด้วยความโมโห มาซาโยชิ จึงเสนอราคาครั้งสุดท้าย ลงทุน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ แลกกับหุ้นอาลีบาบา 30% ในที่สุดหลังจากหารือกันอย่างถี่ถ้วนแล้วนั้น แจ๊ค และ โจเซฟ ก็ตอบตกลงในข้อเสนอดังกล่าว 

แต่แล้วสุดท้าย deal 30 ล้านเหรียญของมาซาโยชิ แลกกับหุ้น 30% นั้นมันเริ่มทำให้แจ๊ครู้สึกลำบากใจ เพราะมันเป็นเงินจำนวนมากโขเลยทีเดียว และที่สำคัญ เขายังไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปทำอะไรด้วยซ้ำ แถมมันยังทำให้สิทธิการถือครองหุ้นของระดับผู้บริหารในอาลีบาบาหายไปเกือบหมด และมันยังทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นเสียสมดุล และทำให้มาซาโยชิ กลายเป็นผู้ควบคุมหุ้นไปโดยปริยาย

ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า ถ้าตอนนี้ให้มาซาโยชิถือหุ้นมากมายนั้น การดึงดูผู้ลงทุนใหม่เพื่อเพิ่มทุนในอนาคต อาจจะมีปัญหาขึ้นมาก็ได้ ซึ่งเป็นสภาพที่แจ๊ครับไม่ได้ และผู้ถือหุ้นอื่น ๆ เช่นโกลด์แมนซาคส์ ก็รับไม่ได้เช่นเดียวกันแม้จะแจ๊ค จะถืออำนาจตัดสินใจอยู่ก็ตาม

วันรุ่งขึ้นหลังจากการเจรจาครั้งแรก แจ๊ค จึงไปหาผู้ช่วยของมาซาโยชิ แล้วเสนอเงื่อนไขใหม่ โดยขอลดเงินลงทุนเหลือเพียง 20 ล้านเหรียญ ทำให้ผู้ช่วยของมาซาโยชิถึงกับงงงวยกับความคิดของแจ๊ค ที่ต้องการเงินน้อยลง

แต่ผู้ช่วยของมาซาโยชิ นั้นพยายามเจรจาให้รับเงื่อนไขเดิม เพราะมันจะเป็นเรื่องยุ่งยากวุ่นวายเปล่าๆ  กับนายของเขา ซึ่งสุดท้าย โจเซฟ จึงให้แจ๊ค ติดต่อไปหามาซาโยชิโดยตรงจะดีกว่า ผ่าน email ซึ่งสุดท้าย มาซาโยชิ ก็ยอมรับการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงเงินลงทุนของแจ๊ค ซึ่งเขาก็มองเป็นผลดี เพราะจะคงสถานะความเป็นเจ้าของอาลีบาบาให้กับแจ๊คได้มากที่สุด เพื่อให้แจ๊คได้ทุ่มเทกับ อาลีบาบาให้เต็มที่

สุดท้าย deal ก็จบลงด้วยดี
สุดท้าย deal ก็จบลงด้วยดี

หลังจากนั้นไม่นาน อาลีบาบา ก็ลงนามอย่างเป็นทางการกับซอฟต์แบงค์ โดยบริษัทซอฟต์แบงค์ออกทุน 20 ล้านเหรียญ เป็นเงินลงทุนครั้งที่สองของประวัติศาสตร์อาลีบาบา ซึ่งหลังจากนั้น แจ๊ค ก็ได้ใช้เงินที่ได้มารวม 25 ล้านเหรียญในมือ เริ่มขยายกิจการอย่างบ้าคลั่ง มีการตั้งบริษัทร่วมทุนที่ญี่ปุ่น และ เกาหลี ตั้งศูนย์ R&D ที่สหรัฐอเมริกา ตั้งสำนักงานในยุโรป และการสร้างสำนักงานใหญ่ในฮ่องกง

–> อ่านตอนที่ 10 : Let’s Expand

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 8 : Angel Fund

สิ่งที่อาลีบาบาต้องการอย่างสูงในการ พาบริษัทก้าวขึ้นไปอีกระดับคือ พนักงานระดับมืออาชีพ และมีฝีมือ ซึ่งการจะที่จะหาพนักงานระดับ top มาร่วมงานกับ อาลีบาบาได้นั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่งนัก เพราะฐานะการเงินของ อาลีบาบา ในตอนตั้งต้นนั้น เงินทุนแทบร่อยหรอ ต้องอยู่กันอย่างประหยัดมาก ถึงมากที่สุด เพื่อประคองบริษัทให้อยู่ได้ แม้เริ่มจะมีฐานลูกค้าเข้ามาบ้างแล้วก็ตาม

แต่แล้ว วันหนึ่งในเดือน พฤษภาคม 1999 เขาคือ โจเซฟ ไช่ ผู้ที่มีดีกรี เป็นถึงรองประธานและผู้จัดการระดับสูงของบริษัท Investor Asia Limited ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Investor AB อันเป็นบริษัทโฮลดิ้งด้านการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในแถบ สแกนดิเนเวีย

เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากเยล และ MBA จากฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นผู้ที่มากด้วย profile ชนิดบริษัทยักษ์ใหญ่แทบทั่วโลกต่างอยากได้ตัวไปร่วมงาน

โจเซฟ ไช่ ผู้มากด้วย profile
โจเซฟ ไช่ ผู้มากด้วย profile

โจเซฟนั้นกำลังทำงานให้บริษัท Investor AB ของสวีเดน สาขาอยู่ในฮ่องกง ซึ่งเป็นสาขาที่รับผิดชอบกิจการลงทุนความเสี่ยงในเอเชีย รวมถึงประเทศจีน ทำให้เขาสนใจเป็นพิเศษ กับตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศจีน และมักได้ยินคนพูดถึงแจ๊ค และ อาลีบาบา จากสื่อใหญ่ ๆ อยู่บ่อยครั้ง

ดังนั้นเขาจึงหวังอยู่ตลอดเวลาว่าจะได้พบกับ แจ๊ค หม่า สักครั้ง ซึ่งโอกาสนั้นก็มาถึงเขาอย่างรวดเร็ว ในต้นเดือน พฤษภาคม 1999 โจเซฟบินจากฮ่องกงไปหังโจวในฐานะตัวแทนของ Invest AB เพื่อไปหาช่องทางลงทุนในจีน ซึ่ง บริษัทที่โจเซฟ นึกถึงแห่งแรก ก็ต้องเป็น อาลีบาบา ของแจ๊ค หม่า เป็นแน่แท้อยู่แล้ว

แต่ใครจะไปคาดคิดว่า การไปพบแจ๊ค ครั้งนี้นั้น จะเปลี่ยนแปลงอาชีพของเขาไปตลอดกาล คำพูดของแจ๊ค นั้นมีสเน่ห์ดึงดูดใจอย่างบอกไม่ถูก แจ๊ค พร่ำพรรณนา ถึงความฝันใน อาลีบาบาของเขาให้ โจเซฟ ฟัง เขาพูดถึงว่าเขาจะทำ B2B ที่ดีที่สุดในโลก และ อาลีบาบา จะเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขาย online ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

หลังจากนั้นแจ๊ค ก็พา โจเซฟ ไปตระเวนทัวร์บริษัท ทำให้ โจเซฟ ทึ่งกับภาพที่เขาเห็น มีคนนั่งเบียดเสียดกันอยู่ยี่สิบกว่าคน บนพื้นเต็มไปด้วยผ้าปูเตียงเก่า ๆ แต่ โจเซฟ ประทับใจฉากเหล่านี้มาก ๆ โดยเฉพาะบุคลิกและสเน่ห์ของแจ๊ค ที่เปรียบเสมือนพี่ใหญ่ของบริษัท ที่หาใครเทียบได้ยาก

โจเซฟ ประทับใจกับความเป็นพี่ใหญ่ของ แจ๊ค หม่า มาก ๆ
โจเซฟ ประทับใจกับความเป็นพี่ใหญ่ของ แจ๊ค หม่า มาก ๆ

หลังจากผ่านการพบเจอกันครั้งแรก อีกราว ๆ ครึ่งเดือน โจเซฟ ก็ต้องกลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้เขาพาภรรยามาด้วย แจ๊คพาโจเซฟไปพายเรือในทะเลสาบหังโจว ที่ติดกับ ออฟฟิสหลักของอาลีบาบา

ในระหว่างพายเรือกันอย่างสนุกสนาน เมื่อถึงกลางลำน้ำ โจเซฟ หยุดฝีพายลง แล้วหันไปกล่าวกับแจ๊คที่อยู่ข้างหลังว่า “แจ๊ค งานที่ฮ่องกงผมจะไม่ทำแล้ว ผมจะเข้าร่วมกับอาลีบาบา ทำงานกับคุณดีไหม”

โจเซฟ ต้องการร่วมงานกับแจ๊คใน อาลีบาบา
โจเซฟ ต้องการร่วมงานกับแจ๊คใน อาลีบาบา

โจเซฟ และ ภรรยา พยายามขอร้องให้แจ๊ค รับไปทำงานด้วย เพราะนี่เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้โจเซฟ ได้ร่วมงานกับบริษัทที่มีอนาคตที่สดใสอย่าง อาลีบาบา โจเซฟ นั้นเชื่อในวิสัยทัศน์ของแจ๊คอย่างแรงกล้า ยอมทิ้งเงินเดือนหกหลัก ที่บริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่ มารับเงินเพียงไม่กี่ร้อยหยวน เพื่อร่วมงานกับแจ๊ค

และ โจเซฟ นี่เองเป็นคนแรก ในบรรดาอีกหลายคนที่จะตาม ที่ถูกมนสเน่ห์ของแจ๊ค ดึงดูให้สยบ และยอมมาทำงานด้วยในอาลีบาบา โดยโจเซฟ เข้าร่วมงานในตำแหน่ง CFO (Chief Financial Officer) ในเดือน มิถุนายน 1999 ซึ่งเพราะการเข้าร่วมของ โจเซฟนี่เอง ที่เปลี่ยนแปลงอาลีบาบา ให้กลายเป็นบริษัทที่มีระบบ และโกอินเตอร์ได้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งได้ไม่นาน

และบทบาทสำคัญคือ โจเซฟทำหน้าที่ตั้งสำนักงานใหญ่อาลีบาบา ที่ฮ่องกง รับผิดชอบด้านตลาดระหว่างประเทศ การขยายกิจการ และ การเงินของบริษัท ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก ๆ ที่ได้อดีตนักลงทุนมืออาชีพมาในช่วงเวลาเช่นนี้ เพราะตอนนี้แจ๊คกับ อาลีบาบาก็ห่างจากเงินทุนไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

ตอนโจเซฟ เข้าร่วมงานกับอาลีบาบา นั้นต้องบอกว่าตอนนั้นเงินทุนของอาลีบาบา แทบจะไม่เหลือหลอแล้ว อาลีบาบาต้องการเงินหมุนเวียนมาคลี่คลายสถานการณ์เช่นนี้ โจเซฟต้องทำหน้าที่เฟ้นหานักลงทุนความเสี่ยงมาลงทุนกับอาลีบาบา โดยเฉพาะที่ศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศอย่างที่ฮ่องกง

และด้วย connection ของ โจเซฟ นี่เองที่นำพา อาลีบาบา ไปพบกับโกลด์แมนซาคส์ ซึ่งตอนนั้นเป็นหนึ่งในสามยักษ์ใหญ่แห่งวงการลงทุนของโลก ซึ่งทิศทางการลงทุนของโกลแมนซาคส์นั้นมุ่งที่อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมเป็นหลัก แต่เมื่อถึงปี 1999 กระแส ดอทคอม กำลังร้อนแรง บริษัทลงทุนเก่าแก่แห่งนี้ จึงเกิดความอยากเข้ามาเสี่ยงมากขึ้นบ้าง 

ซึ่งเมื่อว่ากันอย่างเป็นธรรมแล้วนั้น เมื่อเทียบกับบริษัทการลงทุนอื่น ๆ ที่แจ๊คกับ โจเซฟ กำลังเจรจาอยู่นั้น เงื่อนไขของโกลด์แมนซาคส์โหดกว่ามาก ๆ แต่ในฐานะภูมิหลังความเป็นอินเตอร์ของโกลด์แมนซาคส์ การที่สามารดึงมาเป็นผู้ถือหุ้นได้นั้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในระยะยาวของอาลีบาบา มากกว่าบริษัทลงทุนอื่น ๆ 

ซึ่งกองทุน Angel Fund ของโกลด์แมนซาคส์ หลักการสำคัญหนึ่งที่บรรดาผู้ลงทุนต้องเคารพคือ การที่จะไม่ก้าวก่ายการบริหารของระดับบริหารของอาลีบาบา นี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่แจ๊คต้องการ ทำให้แจ๊คสามารถนำพาทีมงานของเขาได้อย่างคล่องตัวโดยไม่ถูกแทรกแซงจากนักลงทุน ทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับเงื่อนไขและยินดีร่วมมือกันในที่สุด

เงินทุนก้อนแรกของ อาลีบาบา จาก โกลด์แมนซาคส์ ทำให้บริษัทก้าวต่อไปได้
เงินทุนก้อนแรกของ อาลีบาบา จาก โกลด์แมนซาคส์ ทำให้บริษัทก้าวต่อไปได้

ตุลาคม 1999 กลุ่มทุนซึ่งนำโดยโกลด์แมนซาคส์ และประกอบไปด้วย Fidelity Investment Group , Invest AB ตลอดจนกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีของรัฐบาลสิงค์โปร์ ก็ร่วมกันลงทุนในอาลีบาบาด้วยเงินก้อนแรก เป็นจำนวนห้าล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนี่ถือเป็นกองทุน Angle Fund ก้อนแรกในประวัติศาสตร์ของอาลีบาบา

ถึงตอนนี้ อาลีบาบา ได้ขุนพล ระดับพระกาฬอย่าง โจเซฟ ไช่ ผู้ซึ่งมากดีกรีความสามารถ ที่ยอมสวามิภักดิ์ให้กับแจ๊คแต่โดยดี ด้วยมนสเนห์ทางคำพูดของแจ๊ค แม่ทัพใหญ่เมื่อได้ขุนพลชั้นดี ก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายทางอุโมงค์กับอาลีบาบา โดยเฉพาะเงินทุนก้อนแรกที่สำคัญที่สุด ที่จะพา อาลีบาบา นั้นก้าวข้ามจากบริษัทเล็ก ๆ ในหังโจว ให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีโลก มันจะเกิดอะไรขึ้นต่อหลังจากได้รับเงินทุนก้อนนี้ แจ๊คจะทำอะไรต่อไปกับ อาลีบาบา โปรดอย่างพลาดชมตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 9 : The Rising Son

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ