ประวัติ Steve Jobs ผู้สร้าง iPod ตอนที่ 7 : iTunes

เมื่อถึงปี 2000 เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นกับตลาดขายแผ่น ซีดีเปล่าของประเทศอเมริกา เพียงปีนี้ ปีเดียว บริษัทขายซีดี สามารถจำหน่ายซีดีเปล่าออกไปได้ถึง 320 ล้านแผ่น ทั้งที่ประชากรของประเทศสหรัฐอเมริกา มีเพียงแค่ 281 ล้านคน ในขณะนั้น

และอย่างที่เกริ่นไปในตอนที่แล้ว ธุรกิจเพลง กำลังจะกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่มีขนาดใหญ่โตมหึมา การเกิดขึ้นของไดร์ฟที่ใช้ในการ rip และ burn CD เพลงจากคอมพิวเตอร์ลงแผ่นนั้น มันกลายเป็น Trend ใหม่ของเหล่านักฟังเพลงทั่วสหรัฐอเมริกา และมันมีการเกิดขึ้นของ Napster บริการแชร์ไฟล์ ชื่อดัง ที่แม้จะไม่ถูกกฏหมายเสียทีเดียว แต่ตอนนี้ โอกาสในตลาดเพลงของสหรัฐอเมริกา มันเกิดขึ้นแล้ว และ จ๊อบส์ ไม่รอช้าที่จะกระโจนเข้าสู่ธุรกิจนี้

การ Burn CD เพลงกลายเป็น Trend ใหม่ของนักฟังเพลง
การ Burn CD เพลงกลายเป็น Trend ใหม่ของนักฟังเพลง

ซึ่งต้องบอกว่า หลังจากที่จ๊อบส์กลับมาในรอบสองนั้น idea ของจ๊อบส์ที่เด่น ๆ คือ iMac เพียงเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนของปี 2000 ซึ่งเป็นเวลา 2 ปีหลังจากมันถูกนำออกสู่ตลาด บริษัทกลับขาย iMac ได้เพียง 500,000 เครื่องเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่ประมาณการ เครื่อง iMac หลากสีสัน ของ apple นั้นตกรุ่นอย่างรวดเร็ว เพราะตลาดมันเริ่มเข้าสู่จุดอิ่มตัวอย่างเห็นได้ชัด

และมันถึงเวลาที่จ๊อบส์ นั้นต้องเข้าสู่ธุรกิจเพลงแบบจริง ๆ จัง  ๆ โดยเขาได้เริ่มจากการเพิ่มไดร์ฟ ที่ใช้ในการ burn CD เพลงลงไปในเครื่อง iMac แม้จะเป็นเวลาที่ช้าไปหน่อยที่เพิ่งคิดจะมาติดตั้งไดร์ฟดังกล่าว และยังทำการอัพเดทระบบปฏิบัติการ OSX ให้รองรับการทำงานนี้ ซึ่งมันเป็นก้าวที่ทำให้ Mac ตามชาวบ้านเขาทันเสียที

iMac พร้อมไดร์ฟที่ใช้ rip burn เพลงลง CD
iMac พร้อมไดร์ฟที่ใช้ rip burn เพลงลง CD เพื่อเข้าสู่ตลาดเพลงเต็มตัว

แต่แค่นั้นยังไม่พอ เขาคิดว่าตอนนี้การถ่ายเพลงจากซีดี ไปยังคอมพิวเตอร์ นั้นมันยังยุ่งยากมากสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป เขาตั้งเป้าที่จะสร้างซอฟท์แวร์ ที่จะทำให้การบริหารจัดการ และ burn เพลง หรือการสร้าง playlist เพลงนั้น ใช้งานง่ายกว่าที่มีอยู่ในตลาดในขณะนั้น

มันเป็นความสามารถที่แสนพิเศษอย่างหนึ่งของจ๊อบส์เลยก็ว่าได้ ในการเล็งเห็นตลาดที่มีผลิตภัณฑ์รองบ่อนอยู่จำนวนมากในตลาด เขาไล่มองดูซอฟท์แวร์ ที่มีอยู่ในตลาดในขณะนั้น ทั้ง Real Jukebox , Windows Media Player หรือ ซอฟท์แวร์ ที่ HP พ่วงไปกับไดร์ฟเบิร์น CD ของตัวเอง ซึ่ง ทั้งหมดเหล่านี้ มันซับซ้อน และใช้งานยาก เกินกว่าผู้ใช้งานทั่วไปจะใช้ได้

ซอฟท์แวร์ในตลาดอย่าง Windows Media Player ใช้งานยุ่งยากมาก
ซอฟท์แวร์ในตลาดอย่าง Windows Media Player ใช้งานยุ่งยากมาก

และชายคนหนึ่งที่ชื่อ  บิล คินเคด กำลังจะเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ เขาเคยเป็นวิศวกรรมซอฟท์แวร์ ที่ Apple และเป็นคนที่ชอบประลองความเร็วในสนามแข่ง  ในขณะที่เขาขับรถ วันหนึ่งเขาได้เปิดวิทยุสถานี National Public Radio ฟัง และได้ยินข่าวจากวิทยุว่า มีเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา ที่ชื่อว่า Rio ซึ่งเล่นเพลงจากไฟล์ MP3 แต่ ข่าวร้ายก็คือ มันใช้ได้เฉพาะในระบบปฏิบัติการ Windows เท่านั้น ซึ่งคินเคด ก็คิดว่า ถึงเวลาที่เขาต้องแสดงฝีมืออีกครั้ง โดยทำให้มันสามารถเล่นบน Mac ได้

คิดเคด ได้โทรหาเพื่อนคือ เจฟฟ์ ร็อบบิน และ เดฟ เฮลเลอร์ ซึ่งทั้งสองนั้นเคยเป็นอดีตวิศวกรของซอฟท์แวร์ ของ apple เหมือนกัน และขอให้ทั้งสองคนช่วยเขียนโปรแกรมจัดระเบียบเพลงคล้าย ๆ Rio Manager เพื่อใช้งานสำหรับเครื่อง Mac

หลังจากใช้เวลาเพียงไม่นาน ทั้งสามก็ทำเสร็จ โดยผลงานของพวกเค้าที่ทำออกมานั้นมีชื่อว่า SoundJam มันมี User Interface ที่เรียบง่าย และ ทำให้สาวกชาว Mac สามารถใช้งานเจ้าเครื่อง Rio ได้ โดยโปรแกรม SoundJam นั้น จะทำหน้าที่คล้ายตู้เพลงหยอดเหรียญ ที่คอยจัดเก็บ และจัดระเบียบเพลงไว้ในคอมพิวเตอร์ โดยเวลาใช้งานจะมีแสงวูบวาบบนจอ ช่วยสร้างความเพลิดเพลินระหว่างฟังเพลง

โปรแกรม SoundJam บน Mac ที่กลายร่างมาเป็น iTunes
โปรแกรม SoundJam บน Mac ที่กลายร่างมาเป็น iTunes

และเมื่อถึงเดือน กรกฏาคม ปี 2000 ระหว่างที่จ๊อบส์กำลังเคี่ยวเข็ญลูกทีม ให้พัฒนาซอฟท์แวร์สำหรับบริหารจัดการเพลง Apple ก็ได้ทำการเข้าซื้อกิจการของ SoundJam และพาทั้งสามสหายผู้ก่อตั้งมาทำงานที่ Apple เสียเลย เป็นการลดเวลาในการพัฒนาซอฟท์แวร์ตัวใหม่

จ๊อบส์ ได้ลงมาคลุกคลี ทำงานร่วมกับทั้งสามคนด้วยตัวเอง เพื่อเปลี่ยน SoundJam ให้เป็นผลิตภัณฑ์ของ Apple ซอฟท์แวร์ตัวนี้ อัดแน่ไปด้วยโปรแกรมทำงานนานาชนิด จึงมีหลายหน้าต่าง ยุ่งเหยิงไปหมด จ๊อบส์สั่งการให้ทั้งสามออกแบบใหม่หมด ให้ดูใช้งานง่ายขึ้น สนุกขึ้น แทนที่ จะต้องให้ผู้ใช้ระบุว่าต้องการค้นหาชื่อศิลปิน หรือ ชื่อเพลง หรือ ชื่ออัลบั้ม จ๊อบส์ ให้ปรับให้เหลือช่องค้นหาเพียงกล่องเดียวเท่านั้น ให้ใช้งานง่ายที่สุด ผู้ใช้ทั่วไปสามารถใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องพึ่งคู่มือการใช้งาน และตั้งชื่อมันใหม่ว่า iTunes

การเปิดตัว iTunes ครั้งแรกต่อสาธารณะชน นั้นเกิดขึ้นในงาน Macworld เดือนมกราคม ปี 2001 มันเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ ดิจิตัลฮับ ของจ๊อบส์ และ ปล่อยให้ดาวน์โหลด ไปใช้งานได้ฟรี ๆ สำหรับผู้ใช้งาน Mac ทุกคน โดยใช้สโลแกน สั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “Rip. Mix. Burn.”

iTunes 1.0 ออกสู่ตลาด นำ apple เข้าสู่ตลาดเพลงแบบเต็มตัว
iTunes 1.0 ออกสู่ตลาด นำ apple เข้าสู่ตลาดเพลงแบบเต็มตัว

จ๊อบส์ ได้กล่าวในงานกับสาวก “มาร่วมปฏิวัติวงการเพลงกับ iTunes และทำให้อุปกรณ์เล่นเพลงของคุณมีค่ามากขึ้น 10 เท่า”  เขากล่าวบนเวที และ เรียกเสียงปรบมือเกรียวกราว จากเหล่าสาวก Apple ภายในงาน Macworld

และในที่สุด apple ก็มีซอฟท์แวร์ดนตรีกับเขาเสียที แต่สิ่งนี้จะช่วยให้บริษัทดีขึ้นได้จริงหรือไม่? หลังจาก 25 ปีผ่านไปจากการก่อตั้ง apple นั้น ดนตรีจะเป็นคำตอบที่แท้จริงของการเข้าสู่ยุคใหม่ของ apple ได้หรือไม่? โปรดติดตามตอนต่อไป 

–> อ่านตอนที่ 8 : The PodFather

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Second Coming  *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Steve Jobs ผู้สร้าง iPod ตอนที่ 6 : The Magical Port

ไม่ว่าจะเป็นในยุคไหน หรือ สมัยใดก็ตาม เวลาของมนุษย์เรานั้น ก็มีเพียงแค่ 24 ชั่วโมงเท่าเดิม และทุก ๆ คนนั้นมีเวลาเท่าเทียมกัน มันเป็นกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความจริงในข้อนี้ได้

หากเราย้อนเวลากลับไปในช่วงยุคปลายของ ค.ศ. 1990 การถ่ายโอนข้อมูลต่าง ๆ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น โดยเฉพาะข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ อย่าง ข้อมูลเพลง รูปภาพ หรือ วีดีโอ มันต้องใช้เวลานานมาก ๆ กับการที่ผู้คนจะนำเอาข้อมูล ดิจิตอล ไลฟ์สไตล์ เหล่านี้ลงไปยังคอมพิวเตอร์

และแทบไม่ต้องพูดถึงการ upload ขึ้นระบบ internet ซึ่งยุคนั้น ยังเป็นช่วงที่ใหม่มากสำหรับ internet บริษัทอย่าง google ก็เพิ่งเปิดตัวมาได้ไม่นาน ยังไม่ได้ใช้งานแพร่หลายทั่วโลกเหมือนปัจจุบัน  แทบจะยังไม่มีการใช้งาน internet แบบ hi-speed มีคนไม่มากนักที่จะได้เข้าถึง internet การใช้งานส่วนใหญ่เป็นการเชื่อมต่อผ่าน modem ที่มีความเร็วเพียง 56kbps ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบัน ที่มีความเร็วระดับ 100 Mbps ใช้กันทั่วบ้านทั่วเมืองนั้น ต้องบอกว่ามันแตกต่างกันมาก ๆ แบบเทียบกันไม่ติด

ในยุคนั้นยังใช้ internet ผ่าน modem ความเร็ว 56kbps
ในยุคนั้นยังใช้ internet ผ่าน modem ความเร็ว 56kbps

วิสัยทัศน์ของ จ๊อบส์ ที่ว่า คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสามารถที่จะผันตัวไปเป็น ดิจิตอลฮับส่วนตัวได้นั้น มันเริ่มต้นมาจากเทคโนโลยีที่ชื่อ FireWire ที่ apple ได้พัฒนาขึ้นในต้นทศวรรษ 1990 

FireWire เป็นซีเรียลพอร์ต ที่สามารถจะถ่ายโอนข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น ไฟล์ วีดีโอ จากอุปกรณ์หนึ่ง ไปยังอีกอุปกรณ์หนึ่งด้วยความเร็วสูง ซึ่งในตอนนั้น ผู้ผลิตกล้องหลายรายในญี่ปุ่น เลือกจะนำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ และ จ๊อบส์ นั้นก็ได้ตัดสินใจที่จะบรรจุ FireWire Port นี้ไปในเครื่อง iMac เวอร์ชั่น ที่จะออกตลาดในเดือน ตุลาคม ปี 1999

FireWire Port ที่สามารถ transfer ข้อมูลได้เร็วถึง 400 Mbps
FireWire Port ที่สามารถ transfer ข้อมูลได้เร็วถึง 400 Mbps

ในตอนนั้น iMac ยังขาดซอฟต์แวร์ ตัดต่อวีดีโอชั้นเยี่ยม จ๊อบส์ จึงได้โทรติดต่อไปหาเกลอเก่าที่ Adobe บริษัทดิจิตอลกราฟิก ที่เขาช่วยให้สามารถแจ้งเกิดได้ เพื่อขอให้ Adobe ช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์ Adobe Premiere ซึ่งขณะนั้น กำลังเป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้ใช้งาน Windows ของ Microsoft

และเนื่องจาก ผู้ใช้ Mac ในขณะนั้น ยังมีน้อยเกินไป ทางผู้บริหารของ Adobe จึงปฏิเสธจ๊อบส์ อย่างไม่ใยดี ยิ่งกว่านั้น ยังปฏิเสธ ไม่ยินยอมเขียนโปรแกรมยอดฮิต อย่าง Photoshop และ Quark สำหรับระบบปฏิบัติการ Mac OSX แม้ว่าตัวเครื่อง Macintosh นั้นจะเป็นที่นิยมในหมู่นักออกแบบ และคนทำงานด้านครีเอทีฟ ที่ล้วนเป็นผู้ใช้งานหลักของ ซอฟต์แวร์เหล่านี้ก็ตาม มันทำให้จ๊อบส์ โมโหมาก และ รู้สึกเหมือนกำลังถูกหักหลัง เพราะเค้าเป็นคนเปิดโอกาสให้ Adobe ได้แจ้งเกิดในช่วงแรก ๆ ของการก่อตั้งบริษัท

และการถูกปฏิเสธครั้งนี้ ทำให้ จ๊อบส์ ได้รับบทเรียนที่สำคัญ คือ ไม่ควรไปทำธุรกิจใด ๆ โดยไม่สามารถควบคุมทั้งฮาร์ดแวร์ และ ซอฟต์แวร์ ไม่อย่างงั้นจะเจ็บตัวทุกที ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็ยังสืบทอดจนมาถึงปัจจุบัน ที่ apple มักจะ control ecosystem ของตัวเองไว้ทุกอย่าง

ดังนั้น ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา apple จึงได้เริ่มสร้างซอฟต์แวร์สำหรับเครื่อง Mac ด้วยตัวเอง โดยกลุ่มเป้าหมายของ apple คือ กลุ่มคนที่อยู่ ณ จุดบรรจบระหว่างศิลปะ กับ เทคโนโลยี ซึ่ง ซอฟต์แวร์ เหล่านี้ประกอบไปด้วย Final Cut Pro สำหรับตัดต่อวีดีโอสำหรับมืออาชีพ iMovie ซึ่งทำหน้าที่คล้าย ๆ กัน แต่ใช้สำหรับผู้บริโภคทั่วไป iDVD สำหรับบันทึกวีดีโอ หรือ เพลงลงแผ่น CD , iPhoto ซึ่งตั้งใจออกมาแข่งกับ Adobe Photoshop โดยตรง  GarageBand สำหรับทำเพลงและมิกซ์เพลง และสุดท้ายและสำคัญอย่างยิ่งต่ออุปกรณ์เครื่องเล่นเพลงแบบพกพาตัวใหม่ของ apple คือ iTunes ที่ใช้สำหรับจัดระเบียบไฟล์เพลง ซึ่งมี iTunes Store สำหรับใช้ในการซื้อเพลงแบบดิจิตอล

ชุด ซอฟต์แวร์สามัญประจำเครื่อง mac ที่ apple ต้องสร้างขึ้นมาเองทั้งหมด
ชุด ซอฟต์แวร์สามัญประจำเครื่อง mac ที่ apple ต้องสร้างขึ้นมาเองทั้งหมด

ซึ่งเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้นั้น ทำให้คนสามารถสร้างสรรค์งานที่แสดงออกถึงตัวตนได้ และสร้างสิ่งที่มีความหมายทางอารมณ์ และมันกำลังจะทำให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งนึงเลยทีเดียว

และมีเพียง apple บริษัทเดียวเท่านั้น ที่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะที่สุดที่จะทำงานนี้ คู่แข่งอย่าง Microsoft นั้นผลิตเพียง ซอฟต์แวร์เพียงอย่างเดียว ส่วน Dell และ Compaq นั้นผลิตฮาร์ดแวร์ Sony นั้นทำอุปกรณ์ดิจิตอลหลากหลายประเภทไปหมด ส่วน Adobe นั้นทำได้เพียงพัฒนาแอพพลิเคชันมากมายเท่านั้น

แต่มีเพียง apple เท่านั้น ที่ทำทุกอย่างที่กล่าวมาได้ apple เป็นบริษัทเพียงแห่งเดียวที่เป็นเจ้าของหมดทุกอย่าง ทั้ง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และ ระบบปฏิบัติการ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลทำให้ apple นั้นสามารถที่จะ control ประสบการณ์ของผู้ใช้งานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทอื่นทำไม่ได้อย่างที่ apple ทำอย่างแน่นอน

apple สามารถควบคุมได้หมดทั้ง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และระบบปฏิบัติการ
apple สามารถควบคุมได้หมดทั้ง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และระบบปฏิบัติการ

แม้มีสิ่งนึง ที่จ๊อบส์มองพลาดไป คือ ในช่วงนั้น HP และ บริษัทอื่นอีก 2-3 บริษัท กำลังผลิตไดร์ฟ ที่สามารถเบิร์นซีดีเพลงได้ แต่จ๊อบส์นั้นยืนกรานอย่างหนักแน่นให้กำจัดดิสก์ไดร์ฟ แบบถาดที่ดูน่าเกลียดเหล่านี้ออกจากเครื่อง iMac แล้วใส่ไดร์ฟแบบสอดแผ่นซีดีเข้าไปแทน ซึ่งมันทำให้ไม่สามารถใส่ไดร์ฟ ที่สามารถเบิร์นซีดีเพลงลงไปได้ในเครื่อง iMac 

แต่คุณสมบัติของบริษัทที่สร้างนวัตกรรม ไม่ได้อยู่เพียงแค่การสร้างไอเดียใหม่ ๆ เป็นรายแรกเพียงอย่างเดียวเพียงเท่านั้น แต่อยู่ที่การรู้ว่า เมื่อตกเป็นฝ่ายตามหลัง จะต้องทำอย่างไรถึงจะกระโดดข้ามคู่แข่งได้ด้วยต่างหาก

และแน่นอน การที่จะกระโดดข้ามคู่แข่งที่นำหน้าไปได้แล้ว นั้นจ๊อบส์ ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ บริษัทมาอยู่ในลู่วิ่งของการแข่งขันอีกครั้ง ตอนนั้น ถือว่ายังไม่มีใครที่สามารถคลองตลาดแบบเบ็ดเสร็จได้อย่างชัดเจน และเขาก็เริ่มจะตระหนักได้แล้วว่า ในไม่ช้าเพลงจะกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มหึมา เนื่องมาจาก หลังจากปี 2000 คนคัดลอกเพลงจากซีดีใส่คอมพิวเตอร์ หรือ ดาวน์โหลดจากบริการแชร์ไฟล์เพลงอย่าง Napster แล้วบันทึกเพลงที่น่าสนใจลงใน CD แผ่นเปล่าๆ   กันอย่างแพร่หลาย แล้ว จ๊อบส์ จะทำอย่างไรกับ ตลาดใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นตลาดที่คาดว่าจะใหญ่โต และเติบโตอย่ารวดเร็วที่สุดตลาดหนึ่งของโลกเรา  จ๊อบส์จะทำอย่างไรกับธุรกิจเพลงนี้ โปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านตอนที่ 7 : iTunes

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Second Coming  *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Steve Jobs ผู้สร้าง iPod ตอนที่ 5 : Digital Hub

สถานการณ์ของ apple เริ่มกลับมาดูดีขึ้นอีกครั้ง หลังจากทำยอดขายได้ถล่มทลายจากผลิตภัณฑ์ตัวชูโรงตัวใหม่ อย่าง iMac ซึ่งเป็นผลงานการรังสรรค์ ที่ผสมผสานความงดงามด้านศิลปะ จาก ไอฟฟ์ และ โครงสร้างพื้นฐานทางวิศวกรรมที่แข็งแกร่ง ไร้ที่ติ จาก จ๊อบส์

การได้ ทิม คุก เข้ามาจัดการเรื่องซัพพลายเชน ของ apple ทำให้สถานการณ์ทางการเงินดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรียกว่าเพียงไม่กี่ปีที่จ๊อบส์ เข้ามาทำงานอย่างหนักเพื่อปรับเปลี่ยนหลาย ๆ อย่างใน apple ในรอบสองนี้ มันกำลังเริ่มเห็นผลลัพธ์ ทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ดี ซึ่งมันแสดงให้เห็นชัดเจนอย่างยิ่งในเรื่องตัวเลข ของรายได้ และ กำไรของบริษัท apple ที่รายงานต่อสาธารณะชน

ได้ทิม คุก keyman คนสำคัญมาช่วยด้านซัพพลายเชน และการผลิต
ได้ทิม คุก keyman คนสำคัญมาช่วยด้านซัพพลายเชน และการผลิต

และในทุก ๆ ปี จ๊อบส์ จะพาพนักงานที่มีความสำคัญที่สุดไปเข้าค่ายประชุม และพักผ่อนนอกสถานที่ร่วมกัน ซึ่งเขาเรียกงานนี้ว่า “The Top 100”  ซึ่งเหล่า 100 คนที่ได้ถูกคัดเลือกนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริหารหรือวิศวกรหัวกะทิระดับแนวหน้าของ apple แทบจะทั้งสิ้น

ซึ่งการเข้าค่ายในทุก  ๆ ปี ก็จะมีการรวมหัวกันคิดว่า apple ควรจะทำอะไรเป็นลำดับถัดไป โดยให้มีการ ลิสต์ 10 หัวข้อที่ apple ควรจะทำต่อจากนี้คืออะไร?  แล้วให้ผู้บริหารและพนักงานหัวกะทิ เหล่านี้ ถกเถียงกัน โดยจ๊อบส์ จะคอยเป็นกรรมการ และยังคอยช่วยคัดกรองหัวข้อที่เขาคิดว่า “ไม่ได้เรื่อง” ออกไปทีละหัวข้อ และสุดท้าย มันจะเหลือเพียง 3 หัวข้อที่ทั้งหมดสรุปกันว่าน่าจะทำได้เท่านั้น

ก้าวเข้าสู่ปี 2001 Apple ก็สามารถที่จะกอบกู้ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของบริษัทให้กลับมาฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง และตอนนี้มันถึงเวลาที่จะต้องคิดต่าง รายการลำดับต้น ๆ จากการเข้าค่าย “The Top 100” นั้น มันกำลังจะกลายเป็นโครงการลำดับถัดไปของ apple เพราะสถานการณ์ต่าง ๆ ในบริษัท เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปรกติแล้ว

ถึงเวลาที่ apple ต้องคิดต่าง เพื่อเข้าสู่ยุคใหม่
ถึงเวลาที่ apple ต้องคิดต่าง เพื่อเข้าสู่ยุคใหม่

ในขณะนั้น วงการเทคโนโลยี อยู่ในสภาวะ มืดมนเต็มที เกิดฟองสบู่ ดอทคอม ขึ้นในปี 2000 บริษัท it ใน ซิลิกอน วัลเลย์ โดยเฉพาะ startup หน้าใหม่ อยู่ในสภาวะล้มละลาย นักลงทุนเริ่มหนีหาย ตลาดหุ้น NASDAQ หล่นฮวบไปกว่า 50% จากยุคที่เคยเฟื่องฟูแบบสุด ๆ และมันถึงจุดอิ่มตัวของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแล้ว

Digital Hub

และจ๊อบส์ ก็ได้เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ โดย จะแปลงโฉม apple โดยทำการปรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้กลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมดิจิตอล หรือ “ดิจิตอลฮับ” มันจะปรับหน้าที่ของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ให้คอยประสานงานอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็น ดิจิตอล ตั้งแต่เครื่องเล่นเพลง กล้องวิดีโอ ไปจนถึง กล้องถ่ายรูป โดยให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นศูนย์กลาง ให้อุปกรณ์ต่างๆ  เหล่านี้เข้ามาเชื่อมต่อ

จ๊อบส์ เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ หลังจากบริษัทเริ่มกลับมาอยู่ในสภาวะปรกติ
จ๊อบส์ เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ หลังจากบริษัทเริ่มกลับมาอยู่ในสภาวะปรกติ

คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล จะกลายเป็นอุปกรณ์ ที่คอยจัดการเพลง แสดงภาพ วีดีโอ หรือ ข้อมูลทางดิจิตอลต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่จ๊อบส์ เรียกมันว่า “ไลฟ์สไตล์แบบดิจิตอล” ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญของ apple ในยุคต่อไป

apple นั้นจะไม่เป็นเพียงแค่บริษัทคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป โดยจ๊อบส์ ได้ตัดคำว่า คอมพิวเตอร์ ออกจากชื่อบริษัทด้วย โดยเครื่อง Mac นั้นจะผันตัวเองมาเป็นศูนย์กลางสำหรับอุปกรณ์ใหม่ ๆ อีกหลากหลาย รูปแบบ 

ให้ Mac เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อกับ อุปกรณ์ ดิจิตอลทั้งหลาย
ให้ Mac เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อกับ อุปกรณ์ ดิจิตอลทั้งหลาย

มันมีหลายสาเหตุ ที่ทำให้จ๊อบส์ นั้นสามารถมองเห็น และอ้าแขนรับยุคใหม่แห่งการปฏิวัติ ดิจิตัล ได้ดีกว่าคนอื่น ๆ จ๊อบมีทั้งส่วนประกอบของศิลปศาสตร์และเทคโนโลยี เขารักเสียงเพลง รูปภาพ วีดีโอ และยังรักคอมพิวเตอร์อีกด้วย

ซึ่งหัวใจของวิสัยทัศน์ใหม่ของจ๊อบส์ ในเรื่อง ดิจิตอลฮับ คือ การเป็นตัวเชื่อมความนิยมชมชอบที่เขามี กับ ความคิดสร้างสรรค์ทั้งทางศิลปะและงานวิศวกรรม ที่มีการหลอมรวมกันได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

ในตอนท้ายของการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ทุก ๆ ครั้ง จ๊อบส์ จะฉายสไลด์ เป็นรูปจุดที่มีการบรรจบระหว่างความเป็น “ศิลปศาสตร์” กับ “เทคโนโลยี” และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงคิดเรื่องดิจิตอลฮับได้ก่อนใครเพื่อน และเขาจะกำลังจะนำพา apple ก้าวไปยังจุดนั้นให้ได้

และด้วยความที่จ๊อบส์ นั้นเป็นคนที่รักในความสมบูรณ์แบบ เขาจึงรู้ว่า ต้องมีการบูรณาการทุกแง่มุมของผลิตภัณฑ์ เข้าด้วยกัน ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ คอนเทนต์ และ การตลาด ซึ่งจะทำให้ apple เป็นฝ่ายได้เปรียบ ในโลกยุค ดิจิตอลฮับ เพราะ เขาสามารถ control ทุกอย่างได้ใน ecosystem ของเขา ข้อมูล หรือ คอนเทนต์ ในอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ จะถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ของ apple ได้อย่างแนบเนียนแบบไม่สะดุด

ซึ่งตอนนี้ มันถึงเวลาแล้ว ที่เขาจะต้อง ทุ่มเทหมดหน้าตัก กับวิสัยทัศน์ใหม่ดังกล่าว ฟองสบู่ดอตคอมที่แตกไป ทำให้บริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ต้องเริ่มระมัดระวังในเรื่องการลงทุนกับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งนี่เป็นช่องว่างที่สำคัญ ที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสของบริษัทอย่าง apple

เน้นทุ่มเทให้กับงานวิจัยและพัฒนา ในช่วงวิกฤต เพื่อฉีกหนีคู่แข่ง
เน้นทุ่มเทให้กับงานวิจัยและพัฒนา ในช่วงวิกฤต เพื่อฉีกหนีคู่แข่ง

จ๊อบส์ จึงตัดสินใจที่จะใช้วิธีลงทุนตลอดระยะเวลาที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำในขณะนั้น  ในช่วงเวลาที่คู่แข่งต่าง ๆ กำลังเก็บตัวเงียบ เขาได้ทุ่มเงินให้กับงบในการวิจัย และพัฒนา ประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมา apple ก็จะนำหน้าคู่แข่งไปไกลทันที ซึ่งจะเป็นที่มาของทศวรรษอันยิ่งใหญ่แห่งนวัตกรรมที่ยั่งยืนที่สุดของบริษัท apple ในยุคใหม่

ต้องบอกว่า มันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมากจริง ๆ สำหรับ apple ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ กำลังชะลอการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มันเป็นช่องว่างที่สำคัญ ที่จะทำให้ apple กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และ นั่นเป็นที่มาของการสร้างนวัตกรรม ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความยิ่งใหญ่ของ apple ที่จะเกิดขึ้นในยุคหลังจากนั้น เพราะจ๊อบส์กำลังที่จะสร้าง อุปกรณ์เล่นเพลงแบบพกพา ที่ตอนนั้นแทบทุกยี่ห้อล้วนมีปัญหาใช้งานยาก และมี user interface ที่ซับซ้อน  แล้วจ๊อบส์นั้น จะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาได้อย่างไร วิสัยทัศน์ เรื่อง ดิจิตอลฮับนั้น จะเปลี่ยนแปลง apple ไปได้แค่ไหน โปรดติดตามตอนต่อไป

–> อ่านตอนที่ 6 : The Magical Port

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Second Coming  *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Steve Jobs ผู้สร้าง iPod ตอนที่ 4 : Crazy Jobs

ไม่มีใครสงสัยในเรื่องที่จ๊อบส์ เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และ มีวิสัยทัศน์ ซึ่ง จ๊อบส์นั้นได้แสดงคุณสมบัติเหล่านี้ให้เห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่เขาคุม apple ในสมัยแรก แต่ปัญหาหลักของจ๊อบส์ น่าจะอยู่ที่การบริหารงานบริษัทมากกว่า การทะเลาะกับทีมงานไปทั่ว นิสัยเอาแต่ใจตัวเอง รวมถึง การดูถูก เหยีดหยาม แม้กระทั่งทีมงานตัวเอง หากทำอะไรไม่ดั่งใจของเขา นั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ ทำให้เขาถูกบีบออกจาก apple ในปี 1985

การกลับมาครั้งที่สองในรอบนี้ของจ๊อบส์นั้น เขาเติบโตขึ้นมาก ทั้งในเรื่องความคิด และ นิสัยส่วนตัว หลักการบริหารของ apple ในยุคใหม่ของเขามันเป็นคำสั้น ๆ แต่มี impact อย่างมหาศาลต่อ apple คือ คำว่า “โฟกัส”

ในการบริหาร apple รอบสองนี้ ยึกหลักใหญ่ที่สำคัญคือ
ในการบริหาร apple รอบสองนี้ ยึดหลักใหญ่ที่สำคัญคือ “โฟกัส”

เขาได้เริ่มตัดสายผลิตภัณฑ์ ที่ไม่จำเป็นทิ้ง ตัด function หรือ features ที่ไม่จำเป็นสำหรับระบบปฏิบัติการใหม่ของ apple ออกไป  ในเรื่องการผลิตนั้นเขาหันไปจ้างผู้ผลิตจากภายนอกให้ทำแทนทุกอย่าง ตั้งแต่แผงวงจร ไปจนถึง คอมพิวเตอร์ที่ประกอบเสร็จสมบูรณ์แล้ว 

เขาเพิ่มความเฮี้ยบ กับเหล่า ซัพพลายเออร์ทุกราย โดยให้มีวินัยอย่างเคร่งครัด ปรับการจัดการสินค้าคงคลังใหม่ทั้งหมด โดยเมื่อถึงต้นปี 1998 นั้น จ๊อบส์ นั้นสามารถลดปริมาณสินค้าคงคลังให้ลดลงเหลือเพียงครึ่งนึงจากเดิม ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนแฝง ที่สูญเงินเปล่าของ apple แทบจะทั้งสิ้น และเพียงไม่นานก็ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัททันที โดยมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 500 ล้านเหรียญ จากการจัดการเรื่องดังกล่าวทั้งหมด

เรียกได้ว่าการกลับมารอบใหม่ของจ๊อบส์ นั้น เค้าเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง มีเพียงนิสัยเดิม ๆ บางอย่างที่ยังคงเหลืออยู่บ้าง แต่ อยู่ในหลักการหลักที่จ๊อบส์ยึดมั่นไว้เสมอในการบริหารงาน apple รอบนี้ คือ การ โฟกัส กับสิ่งที่ทำ

และด้วยการทำงานอย่างบ้าคลั่งของ จ๊อบส์ นั้นทำให้ผู้บริหารหลาย ๆ รายเริ่มจะทนความกดดันไว้ไม่ไหว หลังจากจ๊อบส์ บริหารงานได้ 3 เดือน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ apple ก็ต้องขอลาออก และเป็นเวลาเกือบปีที่จ๊อบส์ นั้นต้องลงมาดูงานปฏิบัติการทั้งหมดด้วยตัวเอง เพราะผู้สมัครในตำแหน่งนี้ทุกคนที่เขาสัมภาษณ์ นั้น ยังไม่ถูกใจเขา เขาอยากได้คนที่สามารถสร้างระบบโรงงานซัพพลายเชนแบบทันท่วงที หรือ (just-in-time-JIT) อย่างที่ ไมเคิล เดลล์ เคยทำได้มาแล้ว

Tim Cook

และในที่สุดปี 1998 จ๊อบส์ ก็ได้เจอกับ ทิม คุก ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและซัพพลายเชนของ Compaq Computers ซึ่งในขณะนั้น เป็นหนุ่มโสด วัย 37 ปี  คุก นั้นตกหลุมเสน่ห์ของจ๊อบทันทีเมื่อได้สัมภาษณ์งานกับจ๊อบ เขาใช้เวลาเพียง 5 นาที ในการตัดสินใจมาร่วมงานกับจ๊อบส์ ซึ่งการร่วมงานกับ apple นั้นเป็นโอกาสเดียวในชีวิตที่จะได้ทำงานกับ อัจฉริยะด้านความคิดสร้างสรรค์อย่าง จ๊อบส์

บทบาทหลักของ คุก ที่ apple คือการนำสิ่งที่จ๊อบส์คิด มาลงมือปฏิบัติ การที่เขาเป็นหนุ่มโสด ทำให้เขาสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เขาตื่นตีสี่ครึ่งในทุกวัน ออกกำลังกายเสร็จ เขาก็จะเข้ามาที่ office ของ apple ในเวลาหกโมงเศษ

การได้จิ๊กซอว์ ชิ้นสำคัญอย่าง คุก มานั้น ทำให้ apple สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมหาศาล คุกนั้นได้ลดจำนวนซัพพลายเออร์รายสำคัญของ apple จาก 100 รายให้เหลือเพียง 24 ราย เขาได้เกลี้ยกล่อมให้ซัพพลายเออร์หลายราย ย้ายโรงงานมาอยู่ใกล้ ๆ โรงงานของ apple

ทิม คุก คือ keyman คนสำคัญที่ จ๊อบส์ ไว้ใจมากที่สุด
ทิม คุก คือ keyman คนสำคัญที่ จ๊อบส์ ไว้ใจมากที่สุด

สิ่งที่จ๊อบส์ทำได้คือ เคยลดสินค้าคงคลังจากเดิมที่มีปริมาณเท่ากับ 2 เดือน ให้เหลือเพียงเดือนเดียวได้ในปี 1998 แต่ คุก นั้นสามารถทำให้ จ๊อบส์ เซอร์ไพรซ์อย่างมาก ด้วยการทำให้มันลดเหลือเพียงแค่ 2 วัน ซึ่งนับว่าน่าทึ่งมาก และเขายังสามารถที่จะลดระยะเวลาในการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ของ apple แต่ละเครื่องลงจาก 4 เดือน เหลือเพียงแค่ 2 เดือน ซึ่งทั้งหมดนี้นอกจากจะช่วยประหยัดเงินแล้วนั้น ยังทำให้คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องได้ใช้ชิ้นส่วนล่าสุดที่มีอยู่ในท้องตลาดอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างตลาดคอมพิวเตอร์

และที่สำคัญนั้น ทิม คุก นั้นเป็นคนเดียวที่รู้ว่า จ๊อบส์ ต้องการอะไร มีวิสัยทัศน์ ในด้านการผลิตแบบเดียวกับจ๊อบส์ และสามารถคุยสื่อสารเรื่องยุทธศาสตร์ระดังสูงได้ ทำให้ คุก กลายมาเป็นคนที่ จ๊อบส์ ไว้ใจมากที่สุด

Presenter ระดับเซียน

หนึ่งใน skill ที่สำคัญที่สุดอย่างนึงของจ๊อบส์ คือ เขากลายเป็นพรีเซ็นเตอร์ระดับเซียน ซึ่งไม่มีผู้นำคนใด แม้กระทั้งบริษัทใหญ่ ๆ ในอเมริกา เองก็ตามที สามารททำได้อย่างที่เขาทำ

การนำเสนอของจ๊อบส์แต่ละครั้งนั้น มันเหมือนมีมนต์สะกด ให้กับผู้ฟัง คอยจดจ่อกับการบรรยาย สรรพคุณ หรือ ผลิตภัณฑ์ของ จ๊อบส์ และเขาเริ่มจะเก็บทุกอย่างไว้เป็นความลับไม่ให้แพร่งพรายออกไปถึงมือสื่อ ก่อน การพรีเซ็นต์ในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของ apple

skill ที่สำคัญคือ การ present บนเวทีของ จ๊อบส์
การนำเสนอของจ๊อบส์แต่ละครั้งนั้น มันเหมือนมีมนต์สะกดต่อผู้ฟังให้คล้อยตาม

ซึ่งงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่แต่ละครั้งนั้น จ๊อบ และทีมงานต้องเตรียมการอย่างละเอียด จ๊อบส์ นั้นจะเขียนคำบรรยายสไลด์และประเด็นที่จะพูดด้วยตัวเองทั้งหมด และซ้อมการพรีเซ็นต์อย่างหนัก ก่อนที่จะขึ้นเวทีจริง

และการสาธิตผลิตภัณฑ์แต่ละครั้ง นั้น จะใช้เพียงเวทีที่ปล่อยโล่ง มีของประกอบฉาก เพียงไม่กี่ชิ้นเพียงเท่านั้น ซึ่งมันเป็นการสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ apple เป็นอย่างดี เพราะมันเป็นความเรียบง่าย แต่ลึกลงไปนั้น มันคือความเหนือชั้นอย่างแท้จริง

การกลับมาในครั้งนี้ของจ๊อบส์ นั้น มันกำลังเปลี่ยน apple ไปอย่างสิ้นเชิง เขามาพร้อมกับไฟที่เต็มเปี่ยม ทั้งประสบการณ์จากความพลาดพลั้งที่ผ่านมา มันเป็นบทเรียนให้จ๊อบส์ จะไม่ทำพลาดอีกในคำรบที่สอง ครั้งนี้ จ๊อบ ได้รวบรวม ทีมงานที่มีคุณภาพในทุกด้าน

สุดยอดทีมงานคุณภาพของจ๊อบส์
สุดยอดทีมงานคุณภาพของจ๊อบส์

ทุกคนเป็นคนที่จ๊อบส์ คัดเลือกมากับมือ ที่พร้อมจะพา apple ทะยานไปข้างหน้าอย่างไม่กลัวใครอีกต่อไปแล้ว จ๊อบส์ กำลังจะเปลี่ยนโลกอีกครั้ง และครั้งนี้ มันจะยิ่งใหญ่กว่าเดิมอย่างแน่นอน โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปเด็ดขาด 

–> อ่านตอนที่ 5 : Digital Hub

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Second Coming  *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Steve Jobs ผู้สร้าง iPod ตอนที่ 3 : Ive Mac

ในวันที่จ๊อบส์ เรียกเหล่าผู้บริหารระดับสูงมาชุมนุมปลุกใจ หลังเข้ารับตำแหน่ง CEO รักษาการ ในเดือนกันยายน 1997 นั้น หนึ่งในผู้ฟังจำนวนนั้น เป็นชายหนุ่มชาวอังกฤษ วัย 30 ปี ผู้มีอารมณ์ ละเมียดละไม และมีควาทุ่มเทกับงานมาก ถึง มากที่สุด เค้าคือ โจนาธาน ไอฟฟ์ หรือ ที่ทุกคนรู้จักในนาม “จอนนี่”

ในช่วงก่อน จ๊อบ จะเข้ามาในรอบที่สองนั้น สถานการณ์ของบริษัท เรียกได้ว่า ย่ำแย่ ไอฟฟ์ ในขณะนั้น กำลังคิดจะลาออก เพราะเบื่อหน่ายกับบริษัท ที่มุ่งเน้นผลกำไรเพียงอย่างเดียว และไม่มีความสนใจในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์เลย

แต่เป็นคำพูดของ จ๊อบส์ ในวันที่ก้าวเข้ามากู้วิกฤติของ apple รอบที่สอง ที่ทำให้ ไอฟฟ์ เปลี่ยนใจที่จะอยู่ต่อ เพราะ จ๊อบส์ นั้นชัดเจนอยู่แล้วว่า เป้าหมายของ apple ไม่ใช่อยู่ที่เรื่องของการหาเงินเพียงอย่างเดียว แต่ คือ การสร้าง ผลิตภัณฑ์ชั้นเยี่ยม ซึ่งมันเป็นการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ จากการบริหารที่ผ่านมาของผู้บริหาร apple คนก่อน ๆ 

Jony Ive ในสมัยเริ่มงานกับ apple ใหม่ ๆ
Jony Ive ในสมัยเริ่มงานกับ apple ใหม่ ๆ

ชีวิตของ ไอฟฟ์ นั้น เข้ามาโคจร เข้าสู่วงการคอมพิวเตอร์ เนื่องมาจาก บริษัท แทงเจอรีน บริษัทเก่าของเขานั้น ได้ถูกว่าจ้างจากบริษัท apple ให้ทำการออกแบบ เครื่อง Powerbook โดยเขาได้แหกกฏพื้นฐานของการออกแบบหมดสิ้น เนื่องมาจากเขาคิดว่าอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์กำลังประสบปัญหากับเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพราะส่วนใหญ่เป็นการสร้างโดยเหล่า วิศวกร ที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องการดีไซน์เลยด้วยซ้ำ

ก่อนหน้าที่ ไอฟฟ์ จะเข้ามาปฏิวัตินั้น คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องที่ดูน่ากลัวสำหรับผู้ใช้งาน มีขนาดใหญ่เทอะทะ และไม่มีความ friendly กับผู้ใช้งานเลยด้วยซ้ำ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ดูไม่น่าใช้งาน และแทบจะดีไซน์ เหมือน ๆ กันหมดในทุก ๆ บริษัทที่ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลขึ้นมา

หลังจากผลงานการออกแบบ Powerbook จึงทำให้ ไอฟฟ์ ถูกดึงตัวมาทำงานเต็มตัวที่ apple ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ ซึ่ง apple เดิมจะใช้บริษัทจากข้างนอกมาช่วยออกแบบให้ แต่หลังจากนี้ ไอฟฟ์ จะได้สร้างทีมของตัวเองขึ้นมา เพื่อปฏิวัติการออกแบบคอมพิวเตอร์เสียใหม่ทั้งหมด

และนั่นเป็นเหตุทำให้ทั้งคู่ได้เจอกันในที่สุด จ๊อบส์ นั้นตระหนักดีว่าเขาจำเป็นต้องมีคนอย่าง ไอฟฟ์ เพื่อปฏิรูป apple ขึ้นมาใหม่อีกครั้งและจึงเริ่มต้นกับโครงการ iMac รุ่นใหม่

ในงานด้านฮาร์ดแวร์นั้น ถูกรับผิดชอบโดย จอน รูบินสไตน์ ผู้ที่ จ๊อบส์ ได้ดึงตัวมาจาก NeXT บริษัทเก่าของเขา โดย iMac นั้นจะทำการดัดแปลงไมโครโพรเซสเซอร์ และอุปกรณ์ภายในของเครื่อง PowerMac G3 ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ระดับสูงสำหรับผู้ใช้งานมืออาชีพของ apple เพื่อมาใช้เป็นไมโครโพรเซสเซอร์หลักสำหรับเครื่อง iMac ตัวใหม่นี้

สองทีมงานคุณภาพ ไอฟฟ์ และ รูบินสไตน์ ผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญใน apple ยุคใหม่ของจ๊อบส์
สองทีมงานคุณภาพ ไอฟฟ์ และ รูบินสไตน์ ผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญใน apple ยุคใหม่ของจ๊อบส์

ตัวฝาครอบพลาสติกของ iMac ที่ไอฟฟ์ ออกแบบมาเป็นสีฟ้าอมเขียว และมีความโปร่งแสง ซึ่งเป็นตัวเชื่อม ระหว่างการทำงานภายในเครื่องกับงานดีไซน์ภายนอก iMac มีความละเอียดในการดีไซน์ จนถึงระดับชิป จ๊อบส์นั้นยืนกรานเสมอว่าการติดตั้งชิปบนแผงวงจรต้องทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แม้จะไม่มีใครเห็นมันก็ตาม

ตัวฝาครอบโปร่งแสงทำให้เห็นความใส่ใจที่ทีมงานมีต่อการสร้าง การประกอบ และการจัดวางชิ้นส่วนทุกชิ้นที่อยู่ภายใน ดีไซน์ ที่ดูขี้เล่นถ่ายทอดความเรียบง่าย แต่ขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นความลึกล้ำที่มาพร้อมกับความเรียบง่ายอย่างแท้จริง 

iMac ผลงานการ Design ชิ้นโบว์แดงชิ้นแรก ของ ไอฟฟ์ ที่ได้ร่วมงานกับ จ๊อบส์
iMac ผลงานการ Design ชิ้นโบว์แดงชิ้นแรก ของ ไอฟฟ์ ที่ได้ร่วมงานกับ จ๊อบส์

และ iMac นี่เองกลายเป็นชัยชนะด้านการออกแบบยิ่งใหญ่ ครั้งแรกที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง จ๊อบส์ กับ ไอฟฟ์  ที่ออกสู่ตลาดในปี 1998 และใช้เพียงวันหยุดสุดสัปดาห์แรกเท่านั้น สามารถทำยอดจำหน่ายได้สูงเกิน 150,000 เครื่อง ด้วยโครงสร้างตัวเครื่องที่โค้งลงตัว ไม่เพียงแค่ iMac จะตีรูปแบบคอมพิวเตอร์แบบเดิมให้แตกกระเจิงเท่านั้น

มันยังได้สร้าง คาแร็กเตอร์ของตนเองขึ้นมา และเป็น คาแร็กเตอร์ที่คูลที่สุด เพราะ iMac ไม่ใช่เครื่องพีซี ไม่ใช่เครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ถูกผลิตโดย microsoft  คำว่า “Think Different” สำหรับ apple มันกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง

หลังจากวางจำหน่าย iMac ไปจนถึงสิ้นปี 1998 ยอดขายพุ่งขึ้นไปถึง 800,000 เครื่อง ทำสถิติคอมพิวเตอร์ที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของ apple หลังจากนั้นไม่นาน ไอฟฟ์ ก็ได้คิดสีใหม่สำหรับเครื่อง iMac อีก 4 สี ซึ่งแต่ละสีสดใสเตะตาไม่แพ้สีฟ้าบอนได ในรุ่นแรกที่วางจำหน่าย

ขายดีจนต้องออกสีใหม่เพิ่มมาเป็น 5 สีที่สดใส
ขายดีจนต้องออกสีใหม่เพิ่มมาเป็น 5 สีที่สดใส

แต่มันยังเหลือรายละเอียดอีกอย่างหนึ่งที่จ๊อบส์ อยากที่จะปรับปรุงตัว iMac มันคือ ถาดใส่แผ่นซีดี ที่เขาแสนเกลียดรูปร่างมันเป็นอย่างยิ่ง และอยากให้กำจัดทิ้งเสีย เขาอยากเปลี่ยนเป็นไปใช้ไดร์ฟสำหรับโหลดซีดีในชุดสเตอริโอรุ่นแพงของ sony ที่ดูดีกว่า

จ๊อบส์ รู้สึกขัดใจกับช่องใส่ CD ของ iMac
จ๊อบส์ รู้สึกขัดใจกับช่องใส่ CD ของ iMac

แต่ รูบินสไตน์ นั้นได้ทักท้วงไม่ให้เปลี่ยน เพราะในตอนนั้น กำลังจะมีไดร์ฟ แบบใหม่ออกมา ที่สามารถ burn เพลงลงซีดีได้ด้วย ไม่ใช่แค่เล่นเพลงเพียงอย่างเดียวอย่างที่มีในตลาดในขณะนั้น ซึ่งจะทำให้ iMac ตามหลังเทคโนโลยี หากใส่ไดร์ฟ รูปแบบเก่าลงไป

แต่ด้วยความดื้อด้านส่วนตัวของจ๊อบส์ เขาไม่แคร์ และไม่สนใจว่าเทคโนโลยีใหม่จะเป็นอย่างไร จน รูบินสไตน์ต้องยอม และสุดท้ายหลังจากนั้น เป็น รูบินสไตน์ที่คาดการณ์ได้ถูกต้อง เพราะ อีกไม่นาน Panasonic ได้ผลิตไดร์ฟ ตัวใหม่ออกมา ที่สามารถ อ่าน เขียน และบันทึกเพลงได้

ซึ่งจุดสำคัญนี้นี่เอง ไม่รู้ว่าเป็นเพราะพรหมลิขิต หรือ เหตุบังเอิญ หรือโชคชะตาลิขิตมาให้จ๊อบส์ต้องกระโจนเข้าสู่ตลาดเพลง เพราะจากเหตุการณ์นี้ ทำให้ Apple ก้าวช้ากว่าคู่แข่งในตลาดการผลิตคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการคัดลอก (rip) และบันทึก (burn) 
เพลงเอง ซึ่งกำลังเริ่มเป็นที่นิยมในขณะนั้น (iMac นั้นไม่สามารถ rip,burn เพลงได้ เพราะมีไดร์ฟรุ่นเก่า)  สถานการณ์ในตอนนั้น ทำให้ Apple ต้องกระโจนเข้าสู่ตลาดเพลงเพื่อหาทางกระโดดข้ามคู่แข่งให้ได้ โดยเร็วที่สุด

มาถึงตอนนี้ อยู่ดี ๆ apple ต้องตกกระไดพลอยโจร ที่สถานการณ์บังคับให้ apple ต้องเข้าสู่ตลาดเพลงแล้ว มันเพราะความดื้อด้านของจ๊อบส์ หรือ ฟ้าชะตาลิขิต ที่ทำให้ apple ได้ก้าวข้ามจากบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ ไปสู่ สินค้า consumer ที่มีขนาดตลาดใหญ่กว่าอย่างเครื่องเล่น mp3 จะเกิดอะไรขึ้น กับ apple ต่อจากนี้ ตลาดใหม่ที่มีขนาดใหญ่มหาศาลอย่างตลาดเพลงนั้น จะนำพา apple เริ่มพลิกฟื้นกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้อย่างไร  โปรดติดตามตอนต่อไป

–> อ่านตอนที่ 4 : Crazy Jobs

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Second Coming  *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ