NetScape Time ตอนที่ 11 : Going Public

ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมปี 1995 Jim เริ่มคิดถึงการนำ NetScape เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ แม้บริษัทจะตั้งมาได้เพียงแค่ ปีเศษ ๆ เท่านั้นก็ตาม และแม้ถึงไตรมาสล่าสุดผลประกอบการยังไม่เป็นตัวเลขบวกก็ตามที

เหตุผลที่สำคัญที่ Jim คิดถึงเรื่องดังกล่าว ก็คือ ตอนที่เจอปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์กับ ศูนย์ NCSA นั้น ได้มีการว่าจ้างบริษัทด้านการลงทุนชื่อดังอย่าง Morgan Stanley มาช่วยเหลือในด้านการระดมทุน

แน่นอนว่า Morgan Stanley นั้นมีชื่อเสียงอย่างมากในการนำบริษัททั้งหลายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ และ Spyglass คู่แข่งสำคัญก็รู้ถึงเรื่องราวดังกล่าว และคงคิดว่า NetScape นั้นกำลังเตรียมการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ นั่นเองเป็นแรงผลักดันให้ Spyglass ต้องนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกัน

ซึ่ง Spyglass เองนั้นก็มีรายได้เข้ามาในระดับหนึ่งแล้วเช่นกัน รวมถึงข้อตกลงกับ Microsoft และกำลังเริ่มขายโปรแกรม Mosaic ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ รวมถึงกระแสของ internet ที่ค่อนข้างเริ่มมาแรงมาก ๆ ในขณะนั้น

และมีข่าวหลุดออกมาจริง ๆ ว่า Spyglass กำลังจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ Jim รู้สึกโกรธมาก ๆ เพราะ คงเป็นเรื่องบ้าบอมาก ๆ ที่ Spyglass ที่ใช้เทคโนโลยีล้าหลังกว่า NetScape สามารถที่จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ก่อนพวกเขา

Jim ไม่ค่อยพอใจหาก Spyglass จะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ก่อนเขา
Jim ไม่ค่อยพอใจหาก Spyglass จะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ก่อนเขา

แม้จะมีข้อดีในเรื่องการได้ระดมทุนจำนวนเงินที่มหาศาล แต่เมื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นั้นทุกอย่างก็ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งแน่นอนว่า จะนำไปสู่ความสนใจของคู่แข่งอย่าง Microsoft และจะทำให้ Microsoft ต้องมาเข้ามาแข่งในตลาดนี้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

ดูเหมือนคณะกรรมการทุกคน ก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับ Jim ที่จะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ แต่คงมีแต่ James Barksdale CEO ของบริษัทเท่านั้น ที่ดูเหมือนจะยังไม่อยากจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะเขามองว่า NetScape ยังเล็กเกินไป และจะเกิดความเข้มงวดในการบริหารงาน เพราะต้องสร้างผลกระกอบการที่ดีในทุก ๆ ไตรมาส ซึ่งไม่เหมาะกับบริษัทขนาดเล็กที่กำลังเติบโตอย่าง NetScape

Jim จึงใช้ ทีมกฏหมายและที่ปรึกษาจาก Morgan Stanley เพื่อให้คำแนะนำและช่วยโน้มน้าว James ให้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ซึ่งสุดท้าย James ก็โอเคด้วย กับแนวคิดในการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะผลการศึกษาจากเหล่าที่ปรึกษานั้นผลออกมาเป็นเชิงบวกแทบจะทุกราย

หลังจากนั้น ก็เป็นแผนการที่จะนำบริษัทเข้าตลาดให้เร็วที่สุด โดยมีการกำหนดราคาหุ้นของบริษัทที่ 15 เหรียญต่อหุ้น และจำนวนหุ้นที่จะมีการเสนอขายต่อสาธารณะ 3.5 ล้านหุ้น ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เกิดจากการคาดการณ์ ซึ่งเป็นการคำนวณราคาว่า ราคาใด จะไม่สูงจนเกินไปนักจนเหล่านักลงทุนไม่สนใจ และไม่ต่ำจนเกินไปจนทำให้ขาดรายได้ที่ควรจะเป็น

James Barksdale เป็นคนนำทีมเพื่อออก Roadshow เพื่อเดินสายนำเสนอหุ้นของบริษัท เพื่อสร้างความสนใจและดึงดูดเหล่านักลงทุน ซึ่งเหล่านักลงทุนทั้งจากสถานบันการเงินต่าง ๆ จะมีโอกาสได้ฟังและสอบถามเรื่องเกี่ยวกับบริษัทโดยตรงกับเหล่าผู้บริหาร

James Barksdale นำทีมออก Roadshow ( source : gettyimage)
James Barksdale นำทีมออก Roadshow ( source : gettyimage)

ซึ่งผลจากการออก Roadshow ครั้งนี้ ที่ไปตระเวนทั่วโลก ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นไปสูงถึง 28 เหรียญต่อหุ้นเลยทีเดียว และมีการเพิ่มจำนวนหุ้นที่จะจำหน่ายในตลาดเป็น 5 ล้านหุ้น

เรียกได้ว่าหลังจากการออก Roadshow นั้นผลตอบรับที่ได้ยอดเยี่ยมมาก ๆ มีนักลงทุนจำนวนมาก ที่แสดงความสนใจ มีการพูดกันว่า NetScape จะกลายเป็นบริษัทผลิต Software ที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์

และแล้ววันที่สำคัญก็มาถึง ในวันที่ 9 สิงหาคม ปี 1995 เป็นวันที่จารึกประวัติศาสตร์ความสำเร็จของ NetScape และอุตสาหกรรม internet มีการประโคมจากสื่อชื่อดังมากมาย โดยเฉพาะจากหนังสือพิมพ์ชั้นนำอย่าง NewyorkTime

โดยกล่าวชื่นชม NetScape ไว้มากมาย ว่าพวกเขาได้จารึกประวัติศาสตร์ใหม่ บริษัทที่มีอายุเพียงแค่ 15 เดือน และยังแทบจะไม่สร้างผลกำไร แต่กลายเป็นบริษัทที่ร้อนแรงที่สุดในธุรกิจ internet ที่จะนำเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

หุ้น NetScape ถูกกำหนดไว้ที่ 28 เหรียญต่อหุ้น เมื่อมีการเปิดจำหน่ายจริง ราคาพุ่งสูงขึ้นไปถึง 74.75 เหรียญต่อหุ้น และมันได้สร้างประวัติศาสตร์ในการเปิดขายหุ้นที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของ WallStreet ที่ทำให้มูลค่าบริษัททั้งหมดพุ่งสูงขึ้นไปถึง 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

แน่นอนว่า หลังจากการเปิดขายหุ้นออกสู่สาธารณะ มันทำให้เหล่าผู้ก่อตั้งกลายเป็นเศรษฐีเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อสิ้นสุดวันหุ้นของ James Barksdale มีมูลค่าถึง 244.7 ล้านเหรียญ ส่วนของ Marc Andreessen มีมูลค่า 58.3 ล้านเหรียญ และเหล่าพนักงานที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานต่างกลายเป็นเศรษฐีเพียงชั่วข้ามคืนจากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้น

แต่ผลงานในตลาดหลักทรัพย์ มันก็เป็นเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เพราะหลังจากข่าวนี้ได้แพร่กระจายออกไป มันก็ถึงเวลาแล้วที่ Microsoft พี่ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี ที่มีทุนมหาศาล พร้อมทรัพยากรคุณภาพจำนวนมาก พร้อมที่จะมาลุยในตลาดนี้เต็มตัว หลังจากเห็นความสำเร็จของ NetScape แล้วเมื่อยักษ์ใหญ่ตัวจริง มาลุยในตลาด internet อันหอมหวนนี้ มันจะเกิดอะไรขึ้น? NetScape จะพบกับศึกหนักเพียงใด ในการประมือกับ Microsoft ครั้งแรก โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 12 : Fighting the Real Enemy

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Billion Dollar Company *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://prezi.com/ac4nt1sqdfdv/netscape-ipo/

NetScape Time ตอนที่ 10 : Breakout

แม้ปัญหากับมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ได้ข้อยุติไปแล้วก็ตาม แต่ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาก็คือ การก้าวเข้ามาของ Microsoft เมื่อทางมหาวิทยาลัยนั้นได้ให้ลิขสิทธิ์ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft กับโปรแกรม Mosaic แต่ไม่ยอมให้กับ NetScape Communication

แม้ปัญหาแรกจะคลี่คลายในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่บริษัทต้องสูญเสียอะไรหลาย ๆ อย่างมาก ๆ ต้องปลดพนักงานกว่า 20 คนจากจำนวนพนักงานทั้งหมด 120 คน และต้องเสียค่าใช้จ่ายในกระบวนการทางกฏหมายอีกมากมาย กว่าจะได้ข้อยุติ และทำให้บริษัทเหลือทุนเพียงแค่ 1 ล้านเหรียญ เศษ ๆ เท่านั้น

ยังมีข่าวดีอยู่บ้างเมื่อ James Barksdale ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับบริษัทในที่สุด สื่อต่าง ๆ ก็เริ่มให้ความสนใจกับ NetScape อีกครั้ง รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่เริ่มที่จะกลับมาติดต่อของลิขสิทธิ์ในการใช้งานโปรแกรม NetScape Navigator ที่เพิ่งปล่อย version 1.0 ออกไปเพียงไม่นาน

ซึ่งการได้ผู้บริหารระดับสูงอย่าง James Barksdale มาร่วมงานนั้น ยิ่งทำให้ได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าว เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 1995 สถานการณ์ทุกอย่างของบริษัทก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก

เมื่อ James Barksdale เข้ามาสถานการณ์ต่าง ๆ ของบริษัทก็เปลี่ยน
เมื่อ James Barksdale เข้ามาสถานการณ์ต่าง ๆ ของบริษัทก็เปลี่ยน

เมื่อ internet ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ทีมงานของ NetScape ได้เดินทางไปทั่วโลก เพื่ออธิบายถึงเรื่องของเว๊บ ให้กับบริษัทต่าง ๆ ในหลากหลายธุรกิจ ทั้งด้านสื่อสาร ธนาคาร รวมถึงบริษัทจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ มากมายทั่วโลก

บริษัทได้เริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว และได้เริ่มรุกตลาดไปยังต่างประเทศ โดยมีสำนักงาน 28 แห่งในยุโรป และ 13 แห่งในเอเชีย มีการประกาศความร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ 12 แห่งในประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้ลิขสิทธิ์ NetScape Navigator

มีการตั้งคำถามขึ้นมากมาย ว่าโลกจะเปลี่ยนไปเช่นไร เมื่อการก้าวเข้ามาของเว๊บ และ internet เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ต่างเริ่มเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ บนโลก internet เมื่อได้ใช้งาน NetScape Navigator

ต้องบอกว่า ก่อนหน้านี้นั้น internet ได้ถูกใช้ในวงแคบ ๆ ของวงการการศึกษา และ กลุ่มนักวิจัยเพียงเท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นการใช้งานส่งผ่านข้อมูล Text ซึ่ง Mosaic และ NetScape ได้เปลี่ยนให้คนทั่วไปเข้ามาสู่ internet ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างก็คือ internet นั้นยังมีความสามารถในการพัฒนาได้อีกไกล เพราะเหล่าบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ เริ่มปรับตัวเข้ามาให้บริการ Internet Service Provider (ISP) เพราะพวกเขามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วในด้านโทรคมนาคม

ในด้านการเงินนั้น บริษัทก็เริ่มกลับมาอยู่ในเส้นทางที่สดใสอีกครั้ง แม้จะมีผลิตภัณฑ์เพียงแค่โปรแกรม NetScape Navigator v1.0 และ สินค้าอีก 2 ตัวที่เป็น server เพื่องานสื่อสารและการค้า แต่การได้ลูกค้าระดับ Big อย่าง AT&T เข้ามาทำให้มีผู้สนใจผลิตภัณฑ์ของพวกเขามากมาย

ไม่นานหลังจาก James Barksdale เข้ามาร่วมงาน เขาก็สามารถทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ต้องเรียกได้ว่าเขาเข้ามาในสถานการณ์ที่ถูกที่ ถูกเวลาเสียจริง ยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า เพียงแค่เพิ่มคนตอบโทรศัพท์เพิ่มขึ้น ยอดขายก็แทบจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว และมันได้ทำให้บรรยากาศของบริษัทเปลี่ยนจากความเครียดสุด ๆ ในช่วงก่อนหน้า กลายเป็นบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

แต่แม้จะมีกระแสเงินสดไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในต้นปี 1995 บริษัทก็ได้ตัดสินใจระดมทุนรอบที่สาม ซึ่งเป็นการระดมทุนผ่านบริษัทต่าง ๆ โดยให้บริษัทยักษ์ใหญอย่าง Morgan Stanley เข้ามาช่วยจัดการในเรื่องดังกล่าว และช่วยให้บริษัทมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 150 ล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นตัวเลขมหาศาลมาก ๆ เมื่อเทียบกับขนาดบริษัทในขณะนั้น

ซึ่งก่อนหน้านี้ แนวทางในการดำเนินธุรกิจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีกกลุ่มคือ ลูกค้าบุคคลทั่วไปที่ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการสร้างรายได้

ในเดือน กุมภาพันธ์ปี 1995 บริษัทสร้างได้จากกลุ่มลูกค้าองค์กรได้มากจน Marc เองได้ปฏิเสธ ที่จะทดลองจ้าง Jerry Yang และ David Filo สองบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้พัฒนาเว๊บไซต์ Yahoo เพราะต้องบอกว่าตอนนั้น แทบไม่มีใครมองเห็นถึงศักยภาพของเว๊บ portal แบบ Yahoo ทำ รวมถึง Search Engine เองก็ตามที่ยังไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นในโลกของ internet

Jerry Yang และ David Filo เกือบจะมาเป็นพนักงาน NetScape
Jerry Yang และ David Filo เกือบจะมาเป็นพนักงาน NetScape

เมื่อบริษัทได้รับเงินระดมทุนจำนวนมหาศาลในการระดมทุนรอบ 3 ก็ทำให้สามารถจ้างพนักงานที่มีศักยภาพได้มากยิ่งขึ้นในหลาย ๆ ตำแหน่ง ทำให้บริษัทแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น โดยในเดือนพฤษภาคม ปี 1995 นั้น บริษัทได้เพิ่มจำนวนพนักงานเป็นกว่า 2,000 คน

ทั้ง James , Jim และ Marc เองก็ได้เริ่มตระหนักว่าโปรแกรม Browser อย่าง NetScape Navigator นั้น เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของ internet ในตอนนั้นไม่ว่าลูกค้าจะไปที่ใดบนโลก internet จะค้นหาข้อมูล เลือกซื้อสินค้า หรือ กระทำการใด ๆ ก็ต้องทำผ่าน Browser เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แน่นอนว่า มันสร้างอำนาจต่อรองให้กับบริษัทของพวกเขาเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดี มันก็ได้สร้างคู่แข่งให้กับพวกเขาโดยไม่รู้ตัวเช่นเดียวกัน เพราะเว๊บไซต์ต่าง ๆ เริ่มเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด เช่น ตัวอย่างการเกิดขึ้นของ Yahoo แม้ NetScape เองจะเป็นผู้สร้างตลาดนี้ให้เกิดขึ้นก็ตามที

สถานการณ์ในตอนนั้น ต้องเรียกได้ว่า NetScape กลายเป็นราชาแห่งโลก internet เหล่าผู้บริหารเองก็เชื่อว่า อนาคตทั้งหมดของ internet อยู่ที่โปรแกรมของบริษัทนั่นก็คือ Browser NetScape ไม่ใช่ที่ตัวเว๊บไซต์เช่น Yahoo

และเมื่อผ่านไปถึง ฤดูใบไม้ผลิ บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 7 ล้านเหรียญในไตรมาสแรก มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่า ทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่างกำลังเข้าทางพวกเขาทั้งหมด เหมือนจะไม่มีอะไรจะมาหยุดพวกเขาอยู่ได้อีกต่อไป

แต่พวกเขากลับไม่รู้ตัวว่า กำลังมีศัตรูที่แข็งแกร่งได้แอบซุ่มเงียบ ๆ อยู่ และกำลังจะมาโค่นล้มบัลลังก์พวกเขา แล้ว ศัตรูผู้นั้นคือใคร แล้วเขาจะมาล้มเจ้าตลาด ผู้เป็น Gateway ประตูสู่โลก internet อย่าง NetScape Navigator ได้อย่างไร โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 11 : Going Public

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Billion Dollar Company *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
Fanpage :facebook.com/tharadhol.blog
Blockdit :blockdit.com/tharadhol.blog
Twitter :twitter.com/tharadhol
Instragram :instragram.com/tharadhol

NetScape Time ตอนที่ 9 : Move On

แน่นอนว่าเรื่องของ Branding นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ และการที่ Jim และทีมงานของเขาได้สร้างชื่อบริษัทจนเป็นที่รู้จักกันแล้วในนามของ Mosaic Communication ซึ่งถึงแม้ความต้องการของมหาลัยอิลลินอยส์ ต้องการให้พวกเขาเปลี่ยนชื่อ เพราะมันคล้องจองกับโปรแกรม Mosaic ที่ทางมหาลัยมีเครื่องหมายการค้าอยู่

แน่นอนว่าการเปลี่ยนชื่อนั้น สร้างความไม่พอใจให้กับเหล่าทีมงานพัฒนาของ Marc เพราะพวกเขาได้ร่วมกันพัฒนากันมาตั้งแต่ต้น แต่สุดท้าย Jim จึงเลือกการยอมถอยก้าวหนึ่งด้วยการยอมเปลี่ยนชื่อเป็น NetScape ตามชื่อของโปรแกรมที่เขาได้ปล่อยผลิตภัณฑ์ออกไปก่อนหน้านี้

มีการออกแบบโลโก้ใหม่ เป็นตัวอักษรตัว N บนพื้นหลังรูปท้องฟ้า และดวงดาว ซึ่งหลายหลังโลโก้ดังกล่าว ได้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น ด้วยการมีรูปดาวตกพุ่งอยู่ด้านหลัง หลังจากมีการแข่งขันเสนอความคิดกันบนโลกออนไลน์

และปัญหานี้มันยังส่งผลถึง James Barksdale ที่ยังไม่ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่าจะมาเป็นผู้บริหารบริษัท แม้จะเข้ามาเป็นคณะกรรมบริษัทแล้วก็ตาม เนื่องด้วยปัญหาดังกล่าว ซึ่ง James ได้บอกกับ Jim ว่า ภาพพจน์ของบริษัทจะเสียหาย หากเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีตามกฏหมายกับมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาอยากให้หาวิธียุติปัญหานี้เสียก่อน

ปัญหาอีกอย่างที่ตามมาก็เรื่องของเงินทุน ซึ่งสถานการณ์ในขณะนั้น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ้างงานซึ่งเริ่มพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการจ้างงานในแผนกบริการลูกค้าที่มีเพิ่มเข้ามาเยอะมาก ในขณะที่ธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงหยุดชะงัก ทำให้ Jim เองต้องคิดถึงแผนการปลดพนักงานครั้งแรก ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ควรเกิดอย่างยิ่งสำหรับบริษัทเกิดใหม่

มีนักลงทุนหลาย ๆ รายเริ่มถอนตัว จากความคิดที่จะลงทุนในบริษัท เนื่องจากปัญหานี้ ซึ่งสถานการณ์ของบริษัท ในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้น ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดอาจจะทำให้บริษัทเข้าสู่ภาวะล้มละลายได้เลยทีเดียว

Jim นั้นรู้สึกโมโหเป็นอย่างมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาได้ลงทุนด้วยเงินส่วนตัวไปกว่า 9-10 เดือนแล้ว กว่า 5 ล้านเหรียญ และเขามองว่า มหาวิทยาลัยไม่ควรหารายได้จากสิ่งประดิษฐ์ใด ๆ เพราะเนื่องจากองค์กรนี้ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยเฉพาะกับในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา

ดูเหมือนทุกอย่างจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาล โดยทนายฝั่งของ Spyglass ก็ได้พยายามยื้อเวลาออกไปให้นานที่สุด เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของ Jim เกิดปัญหา

ส่วนฝั่งทีมพัฒนานั้น ก็กำลังเร่งดำเนินการในการออกผลิตภัณฑ์ เวอร์ชั่น 1.0 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นจริงตัวแรกที่จะปล่อยออกมาตามแผน ซึ่งเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงเดือนพฤศจิกายน ทางทีมทนายของ Jim ก็พยายามที่จะจบปัญหานี้ให้เร็วที่สุด ไม่ให้มันบานปลายไปมากกว่านี้

NetScape 1.0 ที่จะปล่อยเวอร์ชั่นจริงอย่างเป็นทางการ
NetScape 1.0 ที่จะปล่อยเวอร์ชั่นจริงอย่างเป็นทางการ

Jim ได้ทำการเสนอหุ้น จำนวน 6 หมื่นหุ้นให้กับทางมหาวิทยาลัย แต่พวกเขาก็ตอบปฏิเสธ และเรียกร้องมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีการเสนอเรียกร้อง กันไปมาหลายรอบมาก ๆ เป็นช่วงเดือนที่เสียเวลาไปเปล่า ๆ สำหรับทีมงานของ Jim

สถานการณ์สุดท้ายนั้น ทางมหาวิทยาลัย มีทางเลือกด้วยกัน 3 ทาง คือ ทางที่หนึ่ง คือการปกป้องบริษัทที่ได้รับลิขสิทธิ์อย่าง Spyglass โดยการยื่นฟ้อง ทางที่สองคือการตกลงยอมให้มีการตรวจสอบโปรแกรมและ Sourcecode ดั่งที่ Jim หวังไว้ ส่วนทางสุดท้าย คือ ปล่อยให้ Jim ดำเนินการตามที่มีการยื่นฟ้องไป

Jim ต้องการให้ตรวจสอบถึงระดับ Source Code ของโปรแกรม ว่าเขาได้พัฒนาขึ้นมาใหม่
Jim ต้องการให้ตรวจสอบถึงระดับ Source Code ของโปรแกรม ว่าเขาได้พัฒนาขึ้นมาใหม่

สุดท้าย เมื่อถึงช่วงปลายเดือนธันวาคม ซึ่งใกล้กำหนดโปรแกรมตัวจริงจะเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายก็ได้ข้อสรุปกันเสียที โดยตกลงจะไม่เผยแพร่ข้อตกลงที่เกิดขึ้น

และสิ่งที่น่าเซอร์ไพรซ์ก็คือ ภายใน 2 อาทิตย์หลังจากที่มีข้อตกลง บริษัท Microsoft ได้รับลิขสิทธิ์โปรแกรม Mosaic โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์โปรแกรมเหมือนที่ Jim และบริษัทของเขาเคยถูกเรียกร้องมาก่อน

Marc และเพื่อนทีมงานนักพัฒนาต้องยอมประนีประนอมกับทางมหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ชื่อดังอย่าง Wall Street Journal ลงบทความในวันก่อนคริสต์มาส ว่าบริษัท NetScape Communication (หลังเปลี่ยนชื่อ) และมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ได้ตกลงความขัดแย้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากันได้เสียที เป็นการสิ้นสุดปัญหาเรื่องดังกล่าวในที่สุด

ต้องบอกว่าเป็นของขวัญวันคริสต์มาส ที่เยี่ยมยอดมาก ๆ สำหรับ Jim เพราะเขาจะได้เดินหน้าต่อกับบริษัทเสียทีหลังจากการมีปัญหากันมาหลายเดือน ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อบริษัทในหลาย ๆ ด้าน และภารกิจต่อไปของ Jim ก็คือ การดึงตัว James Barksdale เข้ามาร่วมงานให้เร็วที่สุด หลังจากปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อขับเคลื่อนบริษัทให้เดินหน้าต่อไปให้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้ พี่ใหญ่อย่าง Microsoft เริ่มเข้ามาในธุรกิจนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Jim และทีมงานยอดอัจฉริยะของเขา โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 10 : Breakout

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Billion Dollar Company *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.industryweek.com/leadership/companies-executives/article/21963789/jim-clark-the-shooting-star-netscape

NetScape Time ตอนที่ 8 : Break The Law

ช่วงที่ Mosaic Communication ได้ทำการปล่อยโปรแกรม NetScape เป็นครั้งแรกนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกัน กับที่ Jim กำลังอยู่ในช่วงของการเดินทางพบสื่อมวลชน ที่ประกอบด้วยนิตยสารและหนังสือพิมพ์ที่โด่งดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Rolling Stone , Playboy , The Tribune Company , Time-Mirror และอีกมากมาย

เพียงแค่ 9 วันหลังจากเผยแพร่โปรแกรม มีบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ชื่อดังมากมาย เกี่ยวการปรากฏตัวขึ้นของโปรแกรม NetScape มีการกล่าวขานกันอย่างเป็นวงกว้างว่า NetScape จะกลายเป็นประตูที่สำคัญในการเป็นสื่อกลางของการช็อปปิ้ง ระบบธนาคาร และแหล่งรวมบริการอีกมากมายหลายประเภทที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

แต่ในตอนนั้นต้องบอกว่า Mosaic ดั้งเดิมที่ Spyglass ได้ลิขสิทธิ์ไปครอบครองนั้น สามารถกอบโกยผู้ใช้งานไปแล้วนับแสน ๆ ราย ในขณะที่ NetScape เพิ่งถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรก

แม้ตัวโปรแกรม NetScape ที่ได้เผยแพร่ออกไปนั้น เป็นการพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาใหม่ โดยไม่นำโปรแกรมเดิมมาเป็นต้นแบบแม้แต่น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ Marc และทีมงานต้องการทำมาตั้งแต่ต้น เพื่อพิสูจน์ตัวเองครั้งใหม่

แต่ก็ยังมีรายงานจากหลาย ๆ แห่ง ที่ได้เริ่มกล่าวหาว่า NetScape เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโปรแกรม Mosaic จากศูนย์ NCSA ซึ่งทำให้สถานการณ์ของบริษัท เริ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง หรือ ถูกมองในแง่ลบจากสาธารณชน

Jim จึงได้พยายายามติดต่อ Larry Smarr ที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ NCSA ทันที เพื่อเคลียร์เรื่องดังกล่าวให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะเป็นปัญหา เพราะลูกค้าอาจจะเข้าใจผิดว่า Mosaic Communication ขโมยผลงานของผู้อื่นมาขาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียหายเป็นอย่างยิ่ง

Larry Smarr ผู้อำนวยการศูนย์ NCSA และทีมงาน
Larry Smarr ผู้อำนวยการศูนย์ NCSA และทีมงาน

ซึ่งทาง Jim ทำการยื่นข้อเสนอ เพื่อให้ Larry Smarr มาเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีของบริษัท และทำการมอบหุ้นจำนวนหนึ่งให้กับ Smarr และทางมหาลัย โดย Jim หลีกเลี่ยงในเรื่องการขอใช้ลิขสิทธิ์จาก NCSA เหมือนที่ Spyglass ทำ เพราะเขาคิดว่า NetScape เป็นงานที่รังสรรค์ขึ้นใหม่ทั้งหมดโดย Marc และ ทีมงานนั่นเอง

แต่ดูเหมือน Larry Smarr นั้นจะสงวนท่าที่ กับข้อเสนอดังกล่าวที่ Jim เสนอให้ และสื่อก็เริ่มระแคะระคายกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงได้เริ่มมีการขุดคุ้ยเรื่องราวของ Mosaic และ Marc Andreessen จนทำให้สุดท้าย Jim ต้องจ้างทนายมาจัดการเรื่องดังกล่าว

และวันเวลา มันก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงเดือนกันยายน ปี 1994 ก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจาก Smarr และ NCSA ตอบกลับมา เหล่าลูกค้าของ Jim ก็เริ่มรู้สึกกังวล เพราะลูกค้าเริ่มหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ Jim จึงได้ตัดสินใจ ส่ง Note ไปยังอธิการบดีของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์อีกครั้ง ด้วยข้อเสนอที่เขาคิดว่า คงไม่อาจจะปฏิเสธได้

โดย Jim เสนอให้ทางมหาลัยเข้ามาดู Source Code ของโปรแกรม NetScape และอนุญาติให้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้ามาพิสูจน์ว่ามีส่วนใดที่มีการลอกเลียนแบบ Mosaic ของศูนย์ NCSA หรือไม่ ซึ่งจะเป็นการยุติปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญหาได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แต่เพียงแค่ 1 อาทิตย์หลังจากนั้น ในวันที่ 12 ตุลาคม 1994 Jim ได้รับจดหมายจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ที่แจ้งว่าการกระทำของพวกเขานั้นถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญา และให้ไปขอลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องกับบริษัท Spyglass

Jim จึงได้เดินทางไปคุยกับ Spyglass โดยทางฝั่ง Spyglass นั้นเสนอให้ Mosaic Communication เปลี่ยนชื่อบริษัท และ จ่ายค่าลิขสิทธิ์โดยคิดต่อการดาวน์โหลดแต่ละครั้งที่ราคา 50 เซนต์ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วสำหรับ Jim เพราะเขาตั้งใจที่จะปล่อยให้ NetScape นั้นดาวน์โหลดได้ฟรี เพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาดให้ได้เร็วที่สุด

เมื่อถึงช่วงสิ้นเดือนตุลาคม สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย เมื่อ Larry Smarr ผู้อำนวยการศูนย์ NCSA ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ว่าต้องการฟ้องร้องเพื่อบังคับ Mosaic Communication ในเรื่องลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า เพราะตอนนั้นมีกว่า 20 บริษัทแล้วที่ได้รับลิขสิทธิ์และจ่ายเงินอย่างถูกต้องให้กับมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์

สถานการณ์ก็เริ่มบีบคั้น Jim และทีมงานขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ความเห็นของเหล่านักกฏหมายที่ Jim ทำการจ้างมาก็แบ่งเป็นสองฝ่าย เพราะปัญหาเรื่อง Source Code บางอย่างที่ทีมงานของ Marc ใช้นั้นอาจจะมีปัญหา

Source Code บางอย่างที่ Marc และทีมงานของเขาใช้อาจจะมีปัญหา
Source Code บางอย่างที่ Marc และทีมงานของเขาใช้อาจจะมีปัญหา

ธุรกิจในฝั่งประเทศญี่ปุ่น ก็เริ่มหยุดชะงักลงทันที เนื่องจากเหล่าลูกค้า เกรงจะเกิดปัญหาด้านลิขสิทธิ์ และ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และสถานการณ์ในตอนนั้น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็เริ่มสูงขึ้น มีพนักงานเพิ่มเข้ามาอยู่ตลอดเวลา และหากเรื่องดังกล่าวไม่เคลียร์ มันก็ยิ่งสูญเสียโอกาสมากขึ้นเท่านั้น และกระทบต่อการระดมทุนรอบต่อไปของบริษัทอีกด้วย

มีการนัดเจรจากันเกิดขึ้น ระหว่างทีมกฏหมายของทั้งสอง เพื่อหาทางออก โดย Jim นั้นได้เตรียมแผนสำรองไว้ หากการเจรจาไม่บรรลุผล โดยจะทำการฟ้องร้อง โดยเป็นการร้องขอให้มีการตรวจสอบโปรแกรม เพื่อให้ศาลตัดสินว่าทาง Mosaic Communication นั้นมีการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

ซึ่งในโต๊ะเจรจา ที่มีนักกฏหมายจากทั้งสองฝั่งต่างถกเถียงในเรื่องของประเด็นกฏหมาย ว่าทีมงานของ Marc นั้นละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจริงหรือไม่ มีการกล่าวอ้างถึงการที่ข้อมูลที่ Marc และทีมงานนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่นั้น มันก็มาจากข้อมูลในหัวของเขาที่ได้รับไปจากมหาวิทยาลัย เรียกได้ว่าเป็นการถกเถียงกันเรื่องข้อกฏหมายที่ดุเดือดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว

สุดท้าย ก็เจรจาตกลงหาข้อสรุปกันไม่ได้ระหว่างทีมกฏหมายของทั้งสอง และสุดท้าย Jim ก็ได้สั่งให้ทีมงานจัดการยื่นฟ้องศาลให้ตัดสินเรื่องนี้ให้จบเสียที โดยจะมีระยะเวลา 40 วันที่จะดำเนินการพิจารณาคดี หรือ ถอนฟ้อง เรียกได้ว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายของพวกเขาเพื่อจัดการเรื่องนี้ให้สิ้นสุดเสียที

มาถึงตอนนี้ สิ่งที่ Jim คิดไว้ตั้งแต่แรกนั้น ดูเหมือนจะกลายเป็นจริง ในเรื่องของปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่กำลังมีปัญหาต่อธุรกิจของ Mosaic Communication อย่างชัดเจน แล้วพวกเขา จะผ่านเรื่องราวเหล่านี้ไปได้อย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 9 : Move On

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Billion Dollar Company *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.businessnewsdaily.com/6043-intellectual-property-tips.html

NetScape Time ตอนที่ 4 : The Navigator

หลังจากทีมงานจากอิลลินอยส์เดินทางมาถึง Jim ได้พาทีมงานของเขาไปทำความคุ้นเคย เพื่อซึมซับบรรยากาศของ Silicon Valley โดยได้พาท่องไปยังบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น Intel , Apple , Sun Microsystem , HP , Xerox หรือ Adobe

แต่ Jim เอง ก็ดูเหมือนจะเริ่มกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับ NCSA โดยเฉพาะในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในกระบวนการผลิต Software นั้น การคิด การออกแบบ และการพัฒนาจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน โดยทีมงานชุดเดียวกันกับที่สร้าง Mosaic ให้กับ NCSA

แน่นอนว่า ตอนนี้ทั้งสองได้กลายเป็นคู่แข่งกันแบบเต็มตัว เพราะเป้าหมายคือลูกค้ากลุ่มเดียวกัน Jim จึงสั่งให้ Marc และทีมงานของเขา ห้ามไม่ไห้ดูตัวอย่างโปรแกรมจาก Mosaic เป็นเด็ดอันขาด และต้องการให้เริ่มทำสิ่งใหม่ทั้งหมดโดยเริ่มต้นจากศูนย์แทน

ต้องเรียกได้ว่า เป็นก้าวที่สำคัญมาก ๆ ของพวกเขา เพราะสถานการณ์โลกเทคโนโลยีในตอนนั้นกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะการเกิดขึ้นของ ARPAnet และ internet รวมถึง World Wide Web โดย Berner-Lee ในปี 1994 มีผู้ใช้งาน internet ทั่วโลก อยู่ที่ราว ๆ 3 ล้านคน และกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Tim Berners Lee ผู้สร้าง World Wide Web
Tim Berners Lee ผู้สร้าง World Wide Web

โดยความคิดเริ่มต้นของ Marc ในการสร้าง Browser ตัวใหม่ คือความพยายามในการทำ internet ให้มีความสนุกมากขึ้น และต้องแจกจ่ายโปรแกรมดังกล่าวฟรีให้กับทุกคน Marc และทีมงานก็เริ่มลุยพัฒนาทันที ทำการเขียน Code กันจนแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอน จนห้องทำงานเริ่มรกรุงรัง ข้าวของวางกระจัดกระจาย อาหารและเครื่องดื่มวางอยู่เต็มห้องทำงานของ Marc และ ทีมงานของเขา

Jim นั้นดูแลเรื่อง Business เป็นส่วนใหญ่ และมักจะออกไปคุยธุรกิจข้างนอกอยู่บ่อยครั้ง เขาได้ว่าจ้างผู้จัดการมาเพิ่มเติม ซึ่งก็คือ Tom Paquin อดีตเพื่อนร่วมงาน ที่ SGI เพื่อมาดูแลทีมงาน โดยเน้นให้ทีมงานพัฒนานั้นสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ และไม่เกิดความรู้สึกรำคาญมากจนเกินไปกับระเบียบของบริษัท

รวมถึงงานด้าน PR ที่ Jim นั้นมักจะออกไปสัมภาษณ์กับสื่อ เป็นประจำ หลังจากสื่อเริ่มรับรู้ความเคลื่อนไหวของสิ่งที่พวกเขากำลังจะทำ ซึ่งตอนนั้นทำให้ใช้เวลาเพียงไม่นาน เริ่มมีสื่อต่าง ๆ สนใจนำเรื่องไปลงตีมพิมพ์ ซึ่งมากเกินกว่าบริษัทที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งจะได้รับ

และผลของการที่สื่อต่าง ๆ นำเรื่องไปตีพิมพ์นี่เองที่ทำให้ เริ่มมีผู้สนใจมาเป็นลูกค้าเริ่มติดต่อเข้ามา ทำให้โทรศัพท์ดังเข้ามาแทบไม่หยุดหย่อน Jim ก็แทบจะไม่เชื่อตัวเองว่า จะได้รับกระแสตอบรับรวดเร็วถึงเพียงนี้ จนในที่สุดต้องมีการเริ่มจ้างคนเข้ามาเพื่อจัดการด้าน PR ให้กับบริษัท

ผู้ก่อตั้งทั้งสองเริ่มออกสื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ
ผู้ก่อตั้งทั้งสองเริ่มออกสื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ

ช่วงเวลาระหว่าง เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ปี 1994 นั้นผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว Jim ง่วนอยู่กับการจัดการด้านธุรกิจ ส่วน Marc และ Tom คอยดูแลเรื่องเทคนิค ต้องเรียกได้ว่าทุกคนทำงานหนักกันมาก ๆ เพราะความกลัวในเรื่องการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ทำให้ทีมงานแทบจะไม่ได้มีวันหยุดพักผ่อน เป้าหมายของพวกเขาคือ ต้องการปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดให้ทันก่อนสิ้นปี

โดยเป้าหมายของ Jim และ Marc นั้นมองว่า Browser ตัวใหม่ที่ทีมงานของเขากำลังสร้างสรรค์ขึ้นมานั้น ต้องเร่งสร้างส่วนแบ่งการตลาดให้เร็วที่สุด จะทำให้การปล่อยรุ่นทดลองให้เหล่าผู้ใช้งานทั่วไปใช้งานได้ฟรี ๆ และเชื่อว่าจะมีหนทางในการสร้างรายได้ เพราะลูกค้ากลุ่มบริษัทที่เป็นองค์กร ต่างมีความยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้า

ซึ่งหากทำให้ผู้ใช้งาน internet ในองค์กรใหญ่ ๆ เช่น General Motor หรือ AT&T เลือกที่จะใช้โปรแกรมของเขาในการติดต่อสื่อสารผ่านเว๊บ ก็จะทำให้พนักงานส่วนใหญ่ ในองค์กรเหล่านั้นมีโอกาสที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีของเขาเป็นหลักก่อนคู่แข่งนั่นเอง

ซึ่งเมื่อใดที่องค์กรเหล่านี้ ต้องการเชื่อมต่อกับ internet ก็มีความเป็นไปได้สูง ที่จะเลือกใช้บริการของเขา ตัวอย่างเช่น Software ที่คอยจัดการเรื่องการสื่อสารทั้งภายในและระหว่างองค์กร เป็นต้น

แต่สำหรับลูกค้าทั่วไปนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในตอนนั้น แทบจะไม่มีใครคิดว่าระบบการจองห้องพัก และ ตั๋วเครื่องบิน จะนำมาใช้งานได้ดีกับโปรแกรมนี้ เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันมาก ๆ ในยุคนั้น ไม่มีใครเลยด้วยซ้ำในช่วงปี 1994 ที่เชื่อว่า internet จะมีโอกาสสร้างรายได้ที่เป็นเชิงพาณิชย์ได้

แต่ Jim ก็เชื่อว่า พัฒนาการที่แท้จริงของ internet คือ การนำไปสู่การปฏิวัติการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งข้อได้เปรียบในเรื่องความรวดเร็วในการทำทุกอย่างผ่าน internet จะมีผลทำให้วิธีการดำเนินธุรกิจให้รวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่าสิ่งที่ Jim , Marc และทีมงานกำลังสร้างขึ้นมา จะนำมาซึ่งสื่อรูปแบบใหม่ และธุรกิจใหม่ ๆ โดยผู้คนจะหลั่งไหลกันมาใช้งาน internet กันเพิ่มมากขึ้น งานสำคัญของ Jim ในขณะที่ทีมกำลังพัฒนา ก็คือ การติดต่อบริษัทต่าง ๆ เพื่อบอกพวกเขาว่าบริษัทของเขากำลังสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ และมันจะมีความสำคัญมากเพียงใดกับธุรกิจเหล่านั้น

และในเวลาเพียงไม่กี่เดือน จำนวนพนักงานก็เพิ่มขึ้นไปแตะหลักร้อยคน เริ่มมีการแบ่งกันเป็นแผนกต่าง ๆ โดยแต่ละแผนกก็มีจำนวนพนักงานเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายขาย หรือ ฝ่ายการตลาด ที่ทำให้องค์กรนั้นมีรูปแบบที่ชัดเจนมากขึ้น

ด้วยความที่เป็นที่สนใจของสื่อเป็นจำนวนมาก นั่นทำให้ Microsoft ที่ติดตามข่าวสารผ่านทางสื่อต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้ Microsoft เริ่มเพ่งเล็งมามากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าการเป็นจุดสนใจของสื่อนั้นเป็นข้อดีในเรื่องการตลาด ที่แทบจะเป็นการโฆษณาสินค้าให้แบบฟรี ๆ แต่ปัญหาคือ ตอนนี้ มันเริ่มเข้าไปแตะจมูกยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft เสียแล้ว ซึ่งตอนนั้น Microsoft ก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการที่จะมาลุยกับเทคโนโลยี internet อยู่พอดีเสียด้วย

ดูเหมือนตอนนี้ ทีมงานของ Jim และ Marc ต้องปั่นรีบสร้างผลิตภัณฑ์ให้ออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อเร่งทำโปรแกรมให้สมบูรณ์พร้อมปล่อยออกสู่ตลาด เพราะคู่แข่งเริ่มเข้ามาด้อม ๆ มอง ๆ ว่าพวกเขากำลังทำอะไร และที่สำคัญ มียักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ที่เริ่มก้าวเข้ามาสนใจสิ่งที่พวกเขากำลังทำ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับพวกเขา แผนทุกอย่างที่พวกเขาวางไว้จะทำได้สำเร็จหรือไม่ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 5 : The Investor

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Billion Dollar Company *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***