ทุกอย่างเริ่มต้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 หลังจาก Steve Jobs ถูกเนรเทศไป 11 ปี เขาได้กลับมาที่ Apple ในปี 1997 บริษัทกำลังประสบวิกฤตทางการเงิน และ Jobs ถูกเรียกตัวกลับมาด้วยความหวังว่าเขาจะสามารถนำพาบริษัทไปในทิศทางที่ถูกต้อง
ในตอนนั้น Apple ยังต้องการไอเดียใหม่ๆ เพื่อสร้างจุดเด่นในช่วงเปลี่ยนผ่าน ต้องบอกว่าศตวรรษที่ 20 มันเป็นยุคแห่งการเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ต และโลกทั้งใบกำลังเปลี่ยนเป็นดิจิทัล
เมื่อ Jobs กลับมาเพื่อให้ทันกับยุคสมัย เขาได้นำกลยุทธ์ Digital Hub มาใช้ แนวคิดคือการผสมผสานฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการของ Apple เพื่อให้ผู้ใช้มีแพลตฟอร์มที่เป็นหนึ่งเดียวสำหรับไลฟ์สไตล์ดิจิทัล
พูดง่ายๆ คือระบบนิเวศที่ทุกอย่างทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น และอย่างที่ทุกคนรู้กันดี ระบบนิเวศของ Apple กลายเป็นส่วนสำคัญของอนาคตบริษัท แต่ในตอนนั้นแนวคิดนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเพียงเท่านั้น
จุดศูนย์กลางของ Digital Hub คือ iMac แต่ที่น่าสนใจคือ Steve Jobs ได้ตระหนักถึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของพอร์ต FireWire มาตรฐานการเชื่อมต่อข้อมูลดิจิทัลนี้ถูกพัฒนาโดย Apple ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และถูกใช้มาหลายปีโดย Apple เองและบริษัทอื่นๆ เช่น Sony
ซึ่งในระหว่างกระแสดนตรีดิจิทัลที่กำลังเติบโต Apple เห็นช่องว่างใหญ่ในกลยุทธ์ Digital Hub ของตน เพื่อเติมเต็มช่องว่างนี้ Apple ได้ซื้อ SoundJam MP ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นเข้ารหัสและเล่น MP3 ที่ได้รับความนิยม
วิศวกรสามคนที่เสกแอปนี้ขึ้นมาก็ได้ถูกนำตัวมาที่ Apple ด้วย พวกเขาจะเปลี่ยน SoundJam ให้กลายเป็น iTunes Jobs ต้องการให้ iTunes ถ่ายโอนไฟล์เพลงจากคอมพิวเตอร์ไปยังเครื่องเล่น MP3 ได้อย่างราบรื่น
อย่างไรก็ตาม ขณะตรวจสอบ ทีม Apple พบว่าเครื่องเล่นส่วนใหญ่ใช้งานไม่ได้ผล พวกมันหรือแพงเกินไป ใหญ่เกินไป เล็กเกินไป หรือใช้งานยากเกินไป และการถ่ายโอนไฟล์เพลงจากคอมพิวเตอร์ก็ช้ามาก นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ Steve Jobs เห็นโอกาสทอง
ในฐานะแฟนเพลงตัวยง เขาวางแผนที่จะสร้างเครื่องเล่น MP3 พกพาขนาดเล็กที่สามารถเก็บเพลงได้หลายร้อยเพลงและเล่นเพลงคุณภาพเทียบเท่าซีดี เขาต้องการให้เครื่องเล่นทำงานร่วมกับ iTunes ได้ดี เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาใช้แพลตฟอร์ม Mac มากขึ้น
ในช่วงปลายปี 2000 Jobs ได้มอบหมายงานให้ Jon Rubinstein ซึ่งเข้าร่วม Apple ในปี 1997 เขาเป็นหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมฮาร์ดแวร์และที่ปรึกษาด้านฮาร์ดแวร์ที่ Jobs ไว้วางใจที่สุด
วิศวกรของ Apple ติดงานโครงการ Mac อยู่ ดังนั้น Fadell จึงต้องรวบรวมทีม 25 คนจากพนักงานประจำและ outsource จากภายนอก บางคนมาจากบริษัท Fuse ของเขาเอง และวิศวกรอาวุโสบางคนมาจาก General Magic และ Phillips
เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา ทีมของ Fadell ต้องใช้วิธีการทำงานแบบร่วมมือกัน บริษัท Portal Player ใน Silicon Valley จัดหาชิปเซ็ตเฉพาะทางสำหรับเล่น MP3
บริษัท Pixo ในเมือง Cupertino จัดหาระบบปฏิบัติการพื้นฐาน Jeff Robin นักออกแบบอินเตอร์เฟซ และ Tim Wasko แปลงระบบปฏิบัติการให้เป็นส่วนติดต่อผู้ใช้ระดับสูงและซอฟต์แวร์เล่นเพลง ความเชี่ยวชาญภายในองค์กรช่วยเรื่องแหล่งจ่ายไฟและจอแสดงผล และ Apple ก็มีฮาร์ดดิสก์ Toshiba ขนาด 5 กิกะไบต์ แบตเตอรี่จาก Sony และ FireWire อยู่แล้ว
ในขณะเดียวกัน ทีมออกแบบของ Apple นำโดย Jonathan Ive ก็ทำงานในส่วนของกระบวนการออกแบบ Jobs ยืนกรานที่จะไม่ทำอะไรมากเกินไปกับผลิตภัณฑ์ เขาต้องการให้อุปกรณ์ใช้งานได้แต่เรียบง่าย และมีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ทีมของ Johnny Ive ตัดสินใจเลือกกล่องขนาดพอดีเท่าสำรับไพ่ หลังจากสร้างต้นแบบมาแล้วกว่าสิบชิ้น พวกเขาใช้โพลีคาร์บอเนตสีขาวที่ด้านหน้าอุปกรณ์และสแตนเลสสตีลที่ด้านหลัง เป็นรูปแบบที่เรียบง่ายคล้ายกับวิทยุพกพา Braun T3 ผลงานของ Dieter Rams นักออกแบบอุตสาหกรรมชาวเยอรมัน ซึ่ง Johnny Ive ชื่นชมผลงานการออกแบบที่เรียบหรูและเป็นแรงบันดาลใจของเขามาโดยตลอด
ชื่อ iPod ถูกเสนอโดย Vinnie Chieco นักเขียนอิสระจากซานฟรานซิสโก Jobs มักพูดถึงแนวคิด Digital Hub ของ Apple บ่อยๆ ขณะพูดคุยเกี่ยวกับเครื่องเล่น โดย Mac เป็นศูนย์กลางสำหรับอุปกรณ์อื่นๆ และ Chieco เปรียบเทียบศูนย์กลางนี้เหมือนยานอวกาศ ในขณะที่ยานเล็กๆ หรือ “pod” จะเข้าออกมาเชื่อมต่อ
เมื่อเห็นต้นแบบ การออกแบบสีขาวทำให้เขานึกถึงภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey จึงคิดคำว่า “pod” ขึ้นมา และเติมคำนำหน้า “i” เพื่อให้เข้ากับ iMac
Steve Jobs ยืนกรานว่า iPod ควรมีให้ใช้งานเฉพาะกับ Mac เท่านั้น เขาคิดว่าผลิตภัณฑ์นี้น่าดึงดูดมากพอที่จะทำให้ผู้คนเปลี่ยนมาใช้ระบบนิเวศของ Apple
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการตัดตลาดขนาดใหญ่ออกไป ในที่สุดผู้บริหารระดับสูงก็โน้มน้าวให้ Jobs ยอมให้ใช้งานบน Windows ได้ด้วย และนับจากช่วงเวลานั้น iPod ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก
iPod ได้ปูทางสู่การครองตลาดในอุตสาหกรรมดนตรีของ Apple บริษัทเปิดตัว iTunes Store ทำให้ผู้ใช้สามารถซื้อเพลงแต่ละเพลงได้ในราคา 99 เซนต์แทนการซื้อทั้งอัลบั้ม iTunes ครองส่วนแบ่งตลาดดาวน์โหลดเพลงถึง 70% ในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดในปี 2007
แม้ตัวเลขจะน่าประทับใจ แต่กลับไม่สำคัญสำหรับ Apple เพราะ iTunes เป็นเพียงตัวขับเคลื่อนให้กับผลิตภัณฑ์หลักที่ทำเงินคือ iPod
เรื่องราวของการสร้าง iPod นั้นเต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งทางด้านวิศวกรรมและการออกแบบมากมาย แต่ Steve Jobs เชื่อมั่นว่าทีมของเขาจะทำได้ เขาทำให้ทีมของเขาทำสิ่งที่ใครในโลกไม่คิดว่าจะทำได้
iPod มันจึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่วิเศษที่สุด มันเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมดนตรีได้เลยด้วยซ้ำ และมันเป็นการพลิกโฉมของ Apple เข้าสู่ยุคใหม่อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน
Jobs ได้ทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะทำได้ทั้งนั้น เพราะมันแตกต่าง มันไม่เหมือนใคร และมันเป็น DNA ของการ Think Different ที่เป็น DNA หลักของ Apple เลยก็ว่าได้ เมื่อ Jobs พร้อมจะลุย ลูกทีมของเขาก็พร้อมจะสู้กับ Jobs ไม่ว่าอุปสรรคจะยากหรือท้าทายมากเพียงใด พวกเขาก็ไม่เคยกลัว
“พันเพลงในกระเป๋าของคุณ (1000 Songs In Your Pocket)“ – นี่คือคำกล่าวอันโด่งดังของ Steve Jobs ในงานเปิดตัวของ Apple เมื่อปี 2001 เขาได้ชูอุปกรณ์สีขาวขนาดเท่ากับสำรับไพ่ที่สามารถเก็บและเล่นเพลงได้ทั้งคลังเพลงโดยไม่มีสะดุด ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงในยุคนั้น เพราะเครื่องเล่น MP3 แบบ Flash ทั่วไปจะเก็บเพลงได้เพียง 20-30 เพลงเท่านั้น แต่ Apple สัญญาและส่งมอบเครื่องเล่นที่เก็บเพลงได้พันเพลงในรูปแบบของ iPod
ผมคิดว่าหลายคนคงเคยเป็นเจ้าของ iPod รุ่นใดรุ่นหนึ่งและมีความทรงจำที่ดีกับมัน ผลิตภัณฑ์อันเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยพลิกฟื้นบริษัทจากขุมนรกแห่งความล้มเหลว iPod รุ่นแรกนั้นบุกเบิกในแง่ของการออกแบบที่เรียบง่ายและฟังก์ชันการใช้งานที่ง่ายดาย พอดแคสต์ EP นี้จะมาชวนคุยถึงเรื่องราวทั้งหมดและวิธีที่ iPod รุ่นแรกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ Apple และอุตสาหกรรมดนตรี