ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 18 : Ma vs Ma

แจ๊ค กับ อาลีบาบานั้น เรียกได้ว่าผ่านมรสุมด้านธุรกิจมามากมาย และเนื่องจากโลกของ internet นั้นมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรงมาก เกิดบริการต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่ยุคแรกของ เว๊บไดเรคทอรี่ และเปลี่ยนมาเป็น อีคอมเมิร์ซ จากนั้นมาเป็น search engine ที่กำลังมาแรง ทุกคนก็ต่างกระโจนเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ และล่าสุดคือธุรกิจแพลตฟอร์มบน mobile ไม่ว่าจะเป็น Chat หรือ Social Network ใครสามารถครองใจลูกค้าได้มากกว่า ก็มีสิทธิ์ที่จะแย่งลูกค้าออกมาจากบริการเดิม ๆ ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่ได้ง่าย ๆ 

มันเป็นคลื่นลูกใหม่ที่เป็นรูปแบบเดียวกันทั่วโลก ที่ ใครสามารถดึงคนให้อยู่ในบริการตัวเองบนมือถือ ก็ถือว่าเป็นต่อทางด้านธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะสามารถนำเสนอบริการต่าง ๆ เข้าไปยังลูกค้าได้อย่างง่ายดายผ่านมือถือ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ติดตัวกับมนุษย์ทุกคนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

และมันนำพาให้แจ๊ค เข้าสู่สงครามของ แพล็ตฟอร์มมือถือ ซึ่งคู่ต่อสู้นั้นค่อนข้างโลว์โปรไฟล์อย่าง WeChat ของ Tencent แต่ฐานลูกค้ามีจำนวนมหาศาลมาก มันเป็นศึกใหม่ที่แจ๊คต้องมาประสบพบเจออีกครั้ง WeChat ที่กำลังมาแรงมากในขณะนั้น และมันทำให้เป็นการเผชิญกันของสองตระกูล หม่า ระหว่าง แจ๊ค หม่า และ โพนี่ หม่าเจ้าของ Tencent ผู้พัฒนา WeChat

โพนี่ หม่า แสดงให้แจ๊คเห็นโลกใหม่ในแพล็ตฟอร์มมือถือ
โพนี่ หม่า แสดงให้แจ๊คเห็นโลกใหม่ในแพล็ตฟอร์มมือถือ

สำหรับ Tencent เจ้าของ WeChat นั้น ก่อตั้งเมื่อปี 1998 โดยทีมผู้ก่อตั้งเป็นคนจีนล้วน โดยมีฐานที่มั่นอยู่ในเมืองเสิ่นเจิ้น ในช่วงแรกให้บริการเว๊บพอร์ทัลสำหรับคนจีน ก่อนจะมีผลิตภัณฑ์แรกที่สร้างชื่อให้บริษัทคือ QQ ( โดยเป็นการ copy idea มาจาก ICQ โปรแกรม chat ชื่อดังในขณะนั้น) และมีการแปลงมาเป็น WeChat หลังจากเข้าสู่ยุคของมือถือ

WeChat นั้นมีฐานลูกค้ามาจากบริการ QQ ซึ่งเป็นบริการ Instant Messenger ที่สะสมมาหลายปี มันเป็นลูกค้ากลุ่มเดิมที่ทำให้ตัวเลขของผู้ใช้ WeChat ที่ได้รับมาจาก QQ นั้นมีจำนวนมหาศาลกว่า 600 ล้านรายในขณะนั้น

WeChat ที่แปลงร่างมาจาก QQ
WeChat ที่แปลงร่างมาจาก QQ

ซึ่งแจ๊คได้ส่งบริการอย่าง Laiwang.com (ชื่อในขณะนั้น) เข้ามาสู้กับ WeChat สงครามนี้มันเริ่มมาจาก Tmall นั้นได้เริ่มลบบริการของ WeChat ออกไปจำนวนมาก โดยอ้างเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล ทาง WeChat ได้ตอบโต้กลับด้วยการปิดบัญชี taobao ของผู้ค้าบางรายที่มีการเชื่อมต่อกับ WeChat

แม้ในสายตาคนส่วนมาก Laiwang นั้นไม่สามารถเทียบได้กับ WeChat เลย เพราะ WeChat ในขณะนั้นได้ยึดครองส่วนแบ่งโดยเฉพาะในส่วนของบริการ Chat ในจีนแทบจะเบ็ดเสร็จ โดยมีบริการเสริมต่าง ๆ ภายในตัวแอป WeChat เพิ่มเติมอีกมากมาย โดยจะเน้นด้านเกมส์เป็นหลัก ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทในขณะนั้น

แจ๊คนั้นร้อนรน ถึงขนาดที่ว่า ต้องเขียนจดหมายถึงพนักงานบริษัท โดยมีใจความสำคัญในเรื่อง ความสำคัญของสงครามครั้งนี้ โดยให้พนักงานทุกคนนั้นมีส่วนร่วม ถึงขนาดว่าใครไม่เข้าร่วมก็ไม่ควรอยู่ในบริษัทนี้ต่อไปเลยด้วยซ้ำ สิ่งที่แจ๊คกำลังทำมันไม่ใช่ยุทธศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่มันคือความพยายามเพื่อให้ได้สิทธิที่อาลีบาบาจะอยู่รอดในสงครามยุค Mobile และมีการเปรียบเทียบกับสงครามครั้งเก่า ๆ ว่าขนาด ebay ซึ่งเป็นคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งมาก ๆ ในขณะนั้น ที่ไม่มีใครเคยเชื่อว่าจะเอาชนะได้ เขาก็สามารถนำอาลีบาบาเอาชนะได้สำเร็จมาแล้ว

แจ๊คส่ง Laiwang หวังจะมาสู้กับ WeChat
แจ๊คส่ง Laiwang หวังจะมาสู้กับ WeChat

ต้องบอกว่าการมาของ WeChat นั้นทำให้ ทุกอย่างที่อาลีบาบาสร้างมายาวนานนั้น ไม่มีความมั่นคงอีกต่อไป เพราะตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคของ Mobile เต็มตัว หากแพลตฟอร์มใดปรับตัวช้านั้น มีโอกาสที่จะถูกกินรวบได้เลยทีเดียว

WeChat แม้จะไม่ใช่ธุรกิจ อีคอมเมิร์ซก็ตาม แต่มีผู้ใช้กว่า 600 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใคร ๆ ก็อยากได้ จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แจ๊คเห็น ทิศทางที่น่ากลัว คือปี 2013 ในเทศกาลคนโสด นักช็อปออนไลน์ของจีนส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนการสั่งซื้อจากทางคอมพิวเตอร์ ไปเป็นสั่งซื้อผ่านทางมือถือแทนแล้ว และในยอดขายจาก 35,000 ล้านหยวนนั้น มีถึง 5,350 ล้านหยวนที่มาจากคำสั่งซื้อผ่านโทรศัพท์มือถือ และแพลตฟอร์มที่กำลังครองโลก Mobile ของประเทศจีนในขณะนั้น ก็คือ WeChat นั่นเอง

สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากตอนนั้น สมาร์ทโฟน นั้นมีวิวัฒนาการที่สมบูรณ์แล้ว และราคาของมือถือเริ่มถูกลงอย่างมาก ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของจีนนั้นสามารถเข้าถึงมือถือเหล่านี้ได้ มีบริษัทมือถือเกิดขึ้นมากมายในประเทศจีนไม่ว่าจะเป็น Xiami , VIVO , OPPO ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถผลิตมือถือจำนวนมาก ๆ ได้ในราคาย่อมเยาว์แทบจะทั้งสิ้น ทำให้ชาวจีนนั้นเปลี่ยนจากการใช้คอมพิวเตอร์มาใช้งานบนมือถือแทนในแทบทุกบริการออนไลน์ ซึ่งรวมถึงบริการทั้งหมดของอาลีบาบาด้วย

บริษัทผลิตมือถือเกิดขึ้นมากมายในประเทศจีน และแข่งขันกันอย่างดุเดือดโดยเฉพาะเรื่องราคา
บริษัทผลิตมือถือเกิดขึ้นมากมายในประเทศจีน และแข่งขันกันอย่างดุเดือดโดยเฉพาะเรื่องราคา

มันเป็นเรื่องน่ากลัว แม้ตัว WeChat นั้นจะไม่ได้ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยตรงก็ตาม แต่ WeChat กลายเป็นช่องทางหลักของข้อมูลจำนวนมหาศาลจากผู้ใช้ มันจึงเป็นที่ดึงดูดใจ ต่อลูกค้าของ taobao ที่ใช้ WeChat เป็นช่องทางหนึ่งในการสั่งซื้อสินค้า

แม้ท่าทีของ WeChat นั้นไม่ได้คุกคาม อาลีบาบาโดยตรงก็ตาม แต่แจ๊คนั้นคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้วว่า ใครสามารถคอนโทรล ต้นน้ำของข้อมูลได้ก่อน ก็มีโอกาสที่จะชนะได้ในทุกศึก ไม่เว้นแม้กระทั่งศึก อีคอมเมิร์ซเองก็ตาม แต่แม้จะส่ง Laiwang มาสู้ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเท่าที่ควร

แจ๊คนั้นพยายามพัฒนา Features เพื่อลอกเลียนแบบ WeChat แทบจะทุกอย่างให้กับ Laiwang โดยกว่า 80% ของโปรแกรมนั้นแทบจะเลียนแบบมาจาก WeChat เลยก็ว่าได้ มีต่างกันนิดหน่อยในเรื่องของ concept ของการเป็นเพื่อนกัน ที่ดูเหมือน Laiwang นั้นจะมองความสัมพันธ์ของผู้ใช้งานน้อยกว่า WeChat

Laiwang นั้นแทบจะโคลนทุกอย่างของ WeChat มาด้วยซ้ำ
Laiwang นั้นแทบจะโคลนทุกอย่างของ WeChat มาด้วยซ้ำ

Laiwang นั้นไม่มีความคิดที่จะทำให้ลูกค้าของ taobao กลายเป็นลูกค้าของตนเอง หากแต่ต้องการสร้างตัวตนใหม่ให้หลุดจากภาพเดิม ๆ ของอีคอมเมิร์ซ ให้มองมันเป็นแพลตฟอร์มด้าน Social media ล้วน ๆ 

แจ๊คไม่เพียงเป็น พรีเซ็นเตอร์ให้ Laiwang ด้วยตนเองเท่านั้น เขายังเชิญเหล่ามิตรสหายของเขาทั้งหลายมาช่วยโฆษณาให้ Laiwang อีกด้วย เขาแจ้งให้พนักงานในเครือของเขาให้หันมาใช้ Laiwang และเพิ่มภารกิจให้ชวนเพื่อนมาอีก 100 คนมาช่วยใช้งาน Laiwang พนักงานทุกคนต้องลงทะเบียน Laiwang ไม่อย่างงั้นมีโอกาสที่จะอดโบนัสปลายปีได้ ซึ่งแม้จะพยายามทำทุกวิถีทางอย่างไรก็ดี มันก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่ผูกติดกับบริการของ WeChat ได้แล้ว

แต่มันเป็นสิ่งที่แจ๊คต้องทำ เพราะเขาสู้มาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งรูปแบบใด นั้นเขาไม่เคยที่จะยอมแพ้ ซึ่งแม้สุดท้าย Laiwang ของแจ๊ค นั้นจะแพ้อย่างราบคาบให้กับ WeChat แต่มันทำให้เห็นจิตวิญญาณของนักสู้ของแจ๊ค ที่เริ่มมองเห็นภัยคุกคามที่กำลังคืบคลานเข้ามา มันเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ และจิตวิญญาณนักสู้ของแจ๊คที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งอาลีบาบา

ตอนหน้าจะเป็นตอนสุดท้ายของ Series ชุดนี้แล้วนะครับ โปรดติดตามตอนจบของ Series และบทสรุปสุดท้ายของชายที่ชื่อ Jack Ma ครับผม

–> อ่านตอนที่ 19 : Retirement (ตอนจบ)

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 17 : Singles’Day 11.11

แม้การควบรวมกับ YAHOO นั้นจะดูเหมือนเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด แต่ตลาดการค้นหาในประเทศจีน นั้นดูเหมือนจะไม่เจริญรอยตามประเทศตะวันตก บริการเหล่านี้ แม้จะทำรายได้สูง แต่ถ้าเทียบกับธุรกิจ อีคอมเมิร์ซในประเทศจีนแล้วนั้น ถือว่ายังห่างชั้นอยู่มาก ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็ไม่ทบต่อรายได้ของอาลีบาบามากนัก

แถม google นั้นก็ต้องถอนตัวออกจากตลาดจีน เนื่องจากปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์ข้อมูลผลการค้นหาของรัฐบาลจีน ที่สุดท้ายตกลงกันไม่ได้ ทำให้เว๊บไซต์ของ google จีนนั้นต้องปิดตัวลงไป โดยย้ายมาอยู่ที่ฮ่องกงแทนในที่สุด

และเหมือนคนที่โชคดีกว่าใครเพื่อนน่าจะเป็น Baidu ที่แทบจะครองตลาด 100% ของตลาดการค้นหาในจีน แต่จีนไม่เหมือนโลกตะวันตก โมเดลการทำเงินจากโฆษณาผลการค้นหานั้น ดูจะไม่ค่อยเข้ากับวัฒนธรรมจีน ทำให้ Baidu ไม่ได้เติบโตอย่างที่คิด แม้จะครองส่วนแบ่งการตลาดแบบแทบเบ็ดเสร็จแล้วก็ตาม

ตลาด internet จีนกลายเป็นตลาด อีคอมเมิร์ซ ทั้ง B2B ที่ อาลีบาบาเป็นเจ้าตลาด รวมถึง C2C ที่ taobao สามารถที่จะยึดครองได้แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งหลังจากยุทธศาสตร์ taobao สำเร็จแล้วนั้น การทำ โลจิสติกส์ ขนาดใหญ่ก็อยู่ในความคิดของแจ๊คมาโดยตลอด

แจ๊ค ได้ทำการร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่ 4 แห่งของจีน เพื่อสร้าง China Network Technology (CSN) ขึ้นมาและร่วมกันก่อตั้ง Cainiao Network Technology Co.,Ltd โดยให้แจ๊คเป็นประธานกรรมการ เป้าหมายคือ ลูกค้าทุกหนแห่งใน 2,000 เมืองทั่วประเทศจีน จะสามารถรับสินค้าได้ภายใน 24 ชั่วโมง

สร้าง Cainiao ขึ้นมาเป็นเครือขายโลจิสติกส์ รองรับปริมาณ order จำนวนมหาศาล
สร้าง Cainiao ขึ้นมาเป็นเครือขายโลจิสติกส์ รองรับปริมาณ order จำนวนมหาศาล

ไม่เพียงแค่ โลจิสติกส์ ปัญหาใหญ่อีกอย่างใน taobao คือบรรดาสินค้าปลอมต่าง ๆ ที่ระบาดอย่างหนักในเว๊บ ทำให้แจ๊คต้องสร้าง แพลตฟอร์ม Tmall ขึ้นมาเพื่อทำการซื้อขายสินค้าที่เป็น premium มากขึ้น เหล่าสินค้า Brand Name ต่าง ๆ จากต่างประเทศล้วนมาเป็น official shop ที่ Tmall และได้สร้างยอดขายจำนวนมหาศาลแบบที่ไม่เคยพบเจอที่ไหนมาก่อนผ่าน แพลตฟอร์มใหม่อย่าง Tmall

สร้าง Tmall ใหม่ขึ้นมาให้ดู Premium ขึ้นมี Brand Name ชื่อดังเข้ามาขาย
สร้าง Tmall ใหม่ขึ้นมาให้ดู Premium ขึ้นมี Brand Name ชื่อดังเข้ามาขาย

Singles’Day 11.11

สำหรับแจ๊คนั้น ปาฏิหาริย์ ได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และ หนึ่งในปาฏิหาริย์ที่สำคัญที่ทำให้วงการอีคอมเมิร์ซจีนนั้นได้ทำลายทุกสถิติยอดขายในโลกอีคอมเมิร์ซ คือ วันคนโสดจีน หรือ วันที่ 11 เดือน 11 นั่นเอง

ในวันที่ 11 ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2013 มันเป็นช่วงเวลาแห่งการนับถอยหลังสู่หลักไมล์ที่สำคัญของ อาลีบาบา และ แจ๊ค หม่า ในเวลา 00.01  ยอดซื้อขายของผ่าน Alipay คือ 116,896,436 หยวน ซึ่งสามารถทำยอดซื้อขายทะลุร้อยล้านหยวนภายในนาทีเดียวได้เป็นที่เรียบร้อย จำนวน transaction ที่เกิดขึ้นสูงถึง 339,200 ครั้ง และตั้งแต่นาทีแรกของวันคนโสดนั้นมีคนเข้าไปใช้งาน Tmall สูงถึง 13.7 ล้านคน และเพียง 5 นาที ยอดก็พุ่งทะลักไปถึง 1,000 ล้านหยวน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2012 ในปีก่อนหน้านั้น มันพุ่งเร็วขึ้นถึง 7 เท่าตัว

ในที่สุดพอหมดวันที่ 11/11 ของเทศกาลคนโสด ยอดซื้อขายตลอดทั้งวันก็ประกาศออกมาว่าสามารถทำยอดซื้อขายไปได้ถึง 35,000 ล้านหยวน เพิ่มจาก 19,100 ล้านหยวนในปี 2012  ถึง 83% ซึ่งถ้าเทียบกับทางฝั่งอเมริกา อย่างเทศกาล Cyber Monday นั้น เทศกาลคนโสดจีนมียอดการซื้อขายสูงกว่าถึง 3 เท่า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่ใช่น้อย

ทิ้งห่าง เทศกาล Cyber Monday ของอเมริกาแบบเทียบไม่ติด
ทิ้งห่าง เทศกาล Cyber Monday ของอเมริกาแบบเทียบไม่ติด

วันที่ 11 เดือน 11 หรือที่เรียกกันว่า วันคนโสด นั้น เดิมทีเป็นคำล้อเลียนตนเองของหนุ่มสาวในเมือง วันหนึ่งแจ๊คได้ยินพนักงานอายุน้อยสองคนคุยกัน คนหนึ่งถามว่าวันคนโสดจะทำอะไร อีกคนตอบประชดตัวเองว่า ต้องกินอยู่คนเดียวเพราะเป็นคนโสด แต่ก็อยากให้รางวัลตัวเองบ้าง ด้วยการไปกินไปเที่ยวให้หนำใจ

แจ๊คฟังแล้วเห็นถึงโอกาสที่อยู่เบื้องหน้าจากการฟังคำประชดประชันเหล่านี้ การให้รางวัลกับตัวเองก็หมายถึงการต้องบริโภค การใช้จ่ายของคู่รักนั้นเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองมานานแสนนานแล้ว ไม่งั้นจะมีเทศกาลวันวาเลนไทน์ของฝรั่ง หรือ เทศกาลวันแห่งความรักของจีนไปเพื่ออะไร มันเกิดมาเพื่อให้จับจ่ายซื้อของนั่นเอง 

แต่แจ๊คคิดสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยจะไม่ขายให้เหล่าคู่รักที่มีเทศกาลอยู่มากพอแล้ว แต่จะทำการขายให้กับคนโสด ซึ่งเป็นไอเดียที่แจ๊คคิดว่ามีความเป็นไปได้ และได้เริ่มลองปรึกษากับคณะที่ปรึกษาของเขาในบริษัท

จากไอเดียเล็ก ๆ ของแจ๊ค จนกลายเป็นเทศกาลช็อปปิ้งใหญ่ประจำปีของชาวจีน
จากไอเดียเล็ก ๆ ของแจ๊ค จนกลายเป็นเทศกาลช็อปปิ้งใหญ่ประจำปีของชาวจีน

มีทั้งผู้ที่สนับสนุนไอเดียนี้ของแจ๊ค และมีอีกส่วนหนึ่งที่คัดค้าน สุดท้ายทีมงานของ อาลีบาบา ก็จึงได้จัดการทดลอง โดยเริ่มในวันที่ 11/11 ปี 2009 แม้ตอนนั้นจะมีพ่อค้าแม่ค้าเพียง 27 รายที่ร่วมกิจกรรม แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ มีการซื้อขายสินค้าในวันนั้นไปกว่า 50,000 รายการในวันเดียว ซึ่งทีมงานทุกคนจึงรู้สึกว่าวันนี้มีศักยภาพ ที่จะจัดให้เป็นเทศกาลช็อปปิ้งใหญ่ได้ และในที่สุด เทศกาลช็อปปิ้ง วันคนโสด จึงได้ถูกใช้อย่างเป็นทางการในเว๊บไซต์ taobao เป็นที่แรก

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่แนวคิดเพียงชั่ววูบของแจ๊คเท่านั้นที่มาสนับสนุนเทศกาลใหญ่อย่างเช่นวันคนโสด จากการวิจัยทางด้านจิตวิทยาการบริโภคนั้นพบว่า เมื่อคนเรามีปัญหาทางอารมณ์ระดับหนึ่ง เช่นรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาเป็นต้น มักมีแนวโน้มจะซื้อของที่ตนเองไม่ได้ต้องการเพื่อชดเชย ซึ่งผู้ซื้อที่ตกอยู่ภายใต้จิตวิทยาการบริโภคเช่นนี้นั้นย่อมถูกชักจูงได้ง่าย ซึ่งการจัดเทศกาลช็อปปิ้ง วันคนโสดของ taobao นั้น ได้เสนอเหตุผลที่ดีที่สุดในการซื้อให้แก่ผู้บริโภค และผู้บริโภคเองก็ทำตัวสอดรับกับแนวคิดของแจ๊คพอดี

คนโสดมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าที่ตัวเองไม่ได้ต้องการเพื่อมาชดเชยบางสิ่งบางอย่าง
คนโสดมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าที่ตัวเองไม่ได้ต้องการเพื่อมาชดเชยบางสิ่งบางอย่าง

ซึ่งหลังจากปี 2009 นั้นสำเร็จลงด้วยดี แจ๊คจึงได้จัดเป็นเทศกาลใหญ่ขึ้นในปี 2010 และ 2011 ยอดขายก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 35,000 ล้านหยวน ในปี 2013 มันเป็นความสำเร็จที่สำคัญจาก ไอเดียเล็ก ๆ ของแจ๊คอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งสิ่งที่แจ๊คทำนั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อ อาลีบาบาของเขาเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยรวมต่อ ecosystem ทั้งหมดของอีคอมเมิร์ซในจีน แจ๊คทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น ทำให้ทุกคนได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งของเขาเองก็ตามที

มันคือสัญญาณแห่งการเปลี่ยนโฉมของเศรษฐกิจจีน และจะเป็นศึกใหญ่ระหว่างเศรษฐกิจใหม่ โมเดลการทำธุรกิจแบบใหม่ กับ รูปแบบธุรกิจแบบเดิม ๆ  ซึ่งมันส่งผลให้พ่อค้าแม่ขายที่ใช้ แพลตฟอร์มได้รู้ว่า วันนี้นั้นทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว และรูปแบบของการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซมันจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

ต้องบอกว่าเรื่องของวันคนโสด หรือ 11/11 นั้นหลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นปาฏิหาริย์ แต่ต้องยอมรับว่ามันเป็นการทดลองของแจ๊คและทีมงาน ในการพยายามพิสูจน์ความคิดของเขา กว่าที่จะได้ยอดขายสูงขนาดนี้ในวันเดียว  การที่จะรองรับจำนวน order มหาศาลขนาดนี้ได้ ทุกส่วนต้องทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ระบบบนหน้าเว๊บในการสั่งซื้อที่มีคนเข้ามานับ 10 ล้านคนต่อนาที ไปจนถึง ระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ที่ต้องส่งสินค้าจำนวนมหาศาลไปยังลูกค้าให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันคนโสดจีนนั้น มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่เกิดจากโชคชะตาเพียงอย่างเดียวแน่นอน แต่มันเกิดจากมันสมอง และหยาดเหงื่อแรงกายจากแจ๊ค และทีมงานแทบจะทั้งสิ้น

–> อ่านตอนที่ 18 : Ma vs Ma

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 16 : Search Wars

แจ๊ค หม่า เริ่มต้นธุรกิจออนไลน์แรก คือ ไชน่าเพจเจส ซึ่งเป็นธุรกิจ เว๊บไดเรคทอรี่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจาก YAHOO เมื่อครั้งได้เห็น internet ครั้งแรกที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา ในตอนนั้นความฝันสูงสุดของแจ๊ค ก็คือ การสร้าง ไชน่าเพจเจส ให้กลายเป็น YAHOO ของประเทศจีน แต่แล้วก็ไม่สามารถทำได้อย่างที่เขาหวัง

ทั้งแจ๊ค หม่า , มาซาโยชิ ซัน และ เจอร์รี่ หยางผู้ก่อตั้ง YAHOO นั้นต้องเรียกได้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเป็นอย่างมาก มาซาโยชิ ก็ได้ลงทุนไปเป็นจำนวนมากกับ YAHOO รวมถึงการสร้าง YAHOO Japan ให้กลายเป็นบริการที่นิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เจอร์รี่ หยาง กับ แจ๊ค หม่านั้นก็เป็นไปด้วยดีตั้งแต่ที่แจ๊ค อาศัยเป็นไกด์ให้กับ เจอร์รี่ ในการเยือนจีนครั้งแรก ๆ ซึ่งก็ต้องเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามคน

ความสัมพันธ์กับ เจอร์รี่ หยาง แน่นแฟ้น ตั้งแต่เมื่อครั้งเยือนจีนครั้งแรก
ความสัมพันธ์กับ เจอร์รี่ หยาง แน่นแฟ้น ตั้งแต่เมื่อครั้งเยือนจีนครั้งแรก

หลังจากจบศึก อีคอมเมิร์ซ ระหว่าง taobao กับ ebay นั้น โลก internet ก็กำลังมีบริการใหม่ที่กำลังแจ้งเกิดอย่างรวดเร็วและแพร่หลายไปทั่วโลก นั่นก็คือ search engine ถ้าย้อนไปในขณะนั้นก็ต้องบอกว่า google ก็ถือเป็นอับหนึ่งในเรื่อง search engine แต่ YAHOO ก็มี search engine ที่ไม่เลวเลยทีเดียวในขณะนั้น ถ้าเทียบขุมกำลังกันในตอนนั้น google ยังทิ้งห่าง YAHOO ไม่มากนัก ส่วนในจีนนั้นมี Baidu ที่กำลังครองตลาดอยู่ เพราะเน้นการค้นหาภาษาจีนเป็นหลัก

สำหรับ internet ในประเทศจีนนั้น โมเดลจากการทำรายได้จากการ search และการโฆษณานั้น ดูจะล้าหลังกว่าประเทศตะวันตกอยู่มาก สิ่งที่ทำรายได้สูงสุดของวงการ internet ของโลกตะวันตกนั้นก็คือ โฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้า หรือ โฆษณาแบรนด์ก็ตาม เป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลมาก

เพราะฉะนั้น แจ๊ค จึงต้องเริ่มคิดถึงยุทธศาสตร์ต่อไปของอาลีบาบา โดยมีแนวความคิดที่จะขอซื้อ YAHOO ประเทศจีน มันเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ด้าน internet ล้วน ๆ เพราะถ้าเทียบกับ google หรือ Baidu ที่เป็นจีนแท้ ๆ ก็ตาม แต่ดูเหมือน YAHOO ประเทศจีนนั้นดูจะมีวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงค่านิยมต่าง ๆ ใกล้เคียงกับ อาลีบาบามากกว่าใครเพื่อน

ยักษ์ใหญ่อย่าง google กำลังจะเข้ามาตีตลาดจีนในขณะนั้น
ยักษ์ใหญ่อย่าง google กำลังจะเข้ามาตีตลาดจีนในขณะนั้น

และเช่นเดียวกันฝั่ง YAHOO นั้น เจอร์รี่ หยาง ก็คิดถึงการร่วมมือกันระหว่าง YAHOO ประเทศจีน กับ อาลีบาบาด้วยเหมือนกัน เพราะความเป็นมิตรภาพที่สำคัญระหว่าง เจอร์รี่กับแจ๊ค ด้วยแล้วนั้น ก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะง่าย

แต่ปัญหาใหญ่คือ ตอนนั้น เจอร์รี่ ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง CEO ของ YAHOO แล้วโดยหน้าที่ในขณะนั้นเขาไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารบริษัทอีกแล้ว ตอนนั้น เทอร์รี่ ซีเมล ดำรงตำแหน่ง CEO ของ YAHOO อยู่ ซึ่งทั้ง ซีเมล และ กรรมการนั้น ก็ยังตัดสินใจอยู่ว่าจะทำอย่างไรกับทิศทางของ YAHOO ประเทศจีน เพราะศึก Search Engine กำลังคืบคลานเข้ามาแล้วจาก Google ที่กำลังจะบุกตลาดจีน

แต่ตัวเร่งการตัดสินใจจริง ๆ น่าจะมาจาก ebay เจ้าเก่า ซึ่งอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เนื่องจากความพ่ายแพ้ต่อ taobao ในตลาด C2C ดังนั้นจึงได้ยื่นข้อเสนอที่จะร่วมมือกับอาลีบาบาเลยด้วยซ้ำ โดยราคาที่ ebay เสนอนั้นมีมูลค่าสูงกว่าที่ YAHOO เสนอเสียด้วย

ซึ่งข่าวลือเรื่อง ebay นี่เอง ที่ทำให้ YAHOO เกิดแรงกดดันขึ้น และเรื่องเวลาก็บีบคั้นให้พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนักในการตัดสินใจ ซึ่งหลังจากการหารือสั้น ๆ ในหมู่คณะกรรมการของ YAHOO แล้วนั้น พวกเขาก็เห็นชอบกับการตกลงตามเงื่อนไขใหม่อย่างรวดเร็ว

โดยสรุปก็คือ อาลีบาบานั้นได้ซื้อกิจการของ YAHOO สาขาประเทศจีนรวมทั้งทรัพย์สิน ซึ่งได้แก่ ลูกค้าของ YAHOO , Search Engine ของ YAHOO , เว๊บไซต์น้องใหม่อย่าง IM3721 ตลอดจนทรัพย์สินทุกอย่างของ YAHOO บนเว๊บไซต์การประมูล

และในขณะเดียวกันบริษัท YAHOO สาขาใหญ่ที่อเมริกา ได้ตกลงทุ่มทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้อาลีบาบา และจะเป็นผู้ลงทุนทางด้านยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ อาลีบาบา โดย YAHOO จะได้รับหุ้น 40% จากอาลีบาบา โดยในบอร์ด อาลีบาบา จะมีสองที่นั่ง , YAHOO มีหนึ่งที่นั่ง และ ซอฟต์แบงค์อีกหนึ่งที่นั่ง ซึ่งนี่เป็นการควบรวมกิจการที่ซับซ้อน และ เป็นการรวมกิจการครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ internet ของประเทศจีน

สุดท้ายก็ควบรวมกันได้สำเร็จ
สุดท้ายก็ควบรวมกันได้สำเร็จ

แม้ช่วงแรกของการควบรวมกิจการนั้นจะทำให้พนักงาน YAHOO สาขาประเทศจีนนั้นตื่นตระหนกอยู่บ้าง แต่แจ๊ค ก็ใช้เวลาไม่นานในการซื้อใจพนักงาน YAHOO เหล่านี้ เพื่อรั้งตัวพวกเขาไว้ไม่ให้ย้ายไปอยู่กับคู่แข่งอื่น ๆ 

เรื่อง search engine นั้นเป็นยุทธศาสตร์หลักของแจ๊ค ที่เป็นที่มาของการควบรวมกับ YAHOO สาขาประเทศจีน เพราะทาง อาลีบาบา นั้นแทบจะไม่มี know-how ทางด้าน search engine เลย

ถึงตอนนี้ google ได้บุกทะลวงมาถึงประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว และสามารถยึดครองตลาดไปได้อย่างรวดเร็วถึง 45% ส่วน Baidu เจ้าถิ่นนั้นครองไว้ที่ 47% แต่ YAHOO ที่เป็นผู้คิดค้น search engine ที่เก่าแก่ที่สุดกลับเหลือส่วนแบ่งการตลาดเพียง 8% เท่านั้น

Baidu ยังครองส่วนแบ่งการตลาดไว้อย่างเหนียวแน่น
Baidu ยังครองส่วนแบ่งการตลาดไว้อย่างเหนียวแน่น

แจ๊คได้เริ่มเข้ามาผ่าตัดองค์กร YAHOO มากมาย มีการตัดกิจการทิ้งมากมาย รวมถึงกิจการที่เคยเป็นหัวใจหลักของ YAHOO ในอดีตก็ไม่เว้น

เดิมทีนั้นรายได้จำนวนมากของ YAHOO มาจากการโฆษณาของเหล่าเว๊บโป๊ และผลิตภัณฑ์ที่ผิตกฏหมาย มันเป็นเครื่องปั๊มเงินให้ YAHOO กว่าปีละ 8 ล้านหยวน แต่แจ๊คก็ฟังทุกอย่างทิ้งหมด เปลี่ยนระบบการติดตั้งซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ของ YAHOO ที่เดิมนั้นเป็นแบบบังคับให้ install เป็นแบบให้ลูกค้าสมัครใจเลือกเอง 

รวมถึง ได้เข้ามาเร่งเครื่องปรับปรุง YAHOO ใหม่ โดยแปลงโฉมเว๊บใหม่ที่ทำแต่เรื่อง Search Engine โดยเฉพาะ และมันก็กลายเป็นหน้าเว๊บง่าย ๆ คล้าย  ๆ กับ google และ Baidu ไปในที่สุด

ปรับ yahoo ใหม่เพื่อต่อกร google , Baidu
ปรับ yahoo ใหม่เพื่อต่อกร google , Baidu

จากนั้นแจ๊ค ก็ได้ทุ่มทุนมหาศาลให้กับการโฆษณาการ Search ของ YAHOO ทั้งโฆษณาทาง TV มีการว่าจ้างผู้กำกับชื่อดังมาทำภาพยนต์โฆษณาให้กับ YAHOO แต่หลังจากแจ๊คได้ ผลาญเงินไปมหาศาล เขาก็ได้พบความจริงที่น่าหดหู่ว่า ค่าโฆษณามหาศาลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะดึงดูดลูกค้าได้เลยด้วยซ้ำ เหล่านัก Search ไม่ได้เปลี่ยนจาก Baidu หรือ Google มาใช้ YAHOO แต่อย่างใด

ดูเหมือนว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของแจ๊คนั้น จะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการไปควบรวมกิจการกับ YAHOO ประเทศจีน มันทำให้สถานการณ์ของแจ๊คนั้นแย่ลงไปไม่น้อย เนื่องจากเทคโนโลยีการ search ของ YAHOO นั้นดูจะสู้ผู้นำตลาดอย่าง Google หรือ Baidu ไม่ได้ด้วยซ้ำ จากยุทธศาสตร์ที่จะควบรวมเพื่ออนาคตที่ยิ่งใหญ่ต่ออาลีบาบา นั้น ดูเหมือนตอนนี้ มันจะเริ่มสร้างปัญหาให้กับแจ๊ค และ อาลีบาบาบ้างแล้ว แจ๊ค จะทำอย่างไรต่อไป กับสถานการณ์ของบริษัทที่เกิดขึ้น โปรดติดตามตอนต่อไป

–> อ่านตอนที่ 17 : Singles’Day 11.11

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 15 : Alipay

Alipay นั้นถือได้ว่าเป็นอีกนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญของ แจ๊ค และ อาลีบาบา ความปลอดภัยของการชำระเงินนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของวงการอีคอมเมิร์ซ ดังนั้นแจ๊คจึงได้สร้าง Alipay  เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่า paypal นั้นไม่เหมาะกับสภาพของประเทศจีนเลย Alipay มันจึงกลายเป็นการชำระเงินที่ตรงกับเอกลักษณ์ของประเทศจีน

ในขณะที่ ebay บุกเข้าจีนนั้น ได้นำพาเอานวัตกรรมการชำระเงินออนไลน์ อย่าง paypal เข้ามาด้วย ซึ่งแจ๊คนั้นมองว่า ไม่เหมาะกับประเทศจีน สำหรับโมเดลของ paypal คือ

ebay ที่ผูกบริการชำระเงิน paypal ในขณะนั้น
ebay ที่ผูกบริการชำระเงิน paypal ในขณะนั้น

ผู้ซื้อจะโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ขายโดยตรง ซึ่งแน่นอนว่า การชำระเงินแบบนี้ย่อมทำให้ผู้ซื้อตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบ ซึ่งถ้าผู้ขายไม่ยอมรับว่าได้รับเงินแล้ว (ปัญหานี้ไม่เกิดในอเมริกาและยุโรป เพราะมีระบบเครดิตที่เข้มแข็งมาก จึงเกิดปัญหานี้น้อยมาก ๆ ) ซึ่งจะทำให้เงินที่ผู้ซื้อจ่ายไปนั้น มีโอกาสสูญหายไปได้ทันตาเห็น

และที่สำคัญ paypal ในสมัยนั้น ยังไม่มีกลไกตรวจสอบสถานะบุคคลอย่างเข้มงวด ลูกค้าลงทะเบียนใน paypal ได้ง่ายมาก แค่กรอกอีเมล์แอดเดรส ก็ใช้งานได้แล้ว ไม่ต้องผ่านการยืนยันชื่อจริงนามสกุลจริง  ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องการฟอกเงินผ่าน paypal ได้ ดังที่เคยมีข่าวมาแล้วในก่อนหน้านั้น

paypal ที่แจ๊คมองว่าไม่เข้ากับวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของการซื้อขายแบบจีน
paypal ที่แจ๊คมองว่าไม่เข้ากับวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของการซื้อขายแบบจีน

ซึ่งแจ๊คมองว่า paypal นั้นมีช่องโหว่อยู่มากมาย ที่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในตอนนั้นอย่างมั่นคง และได้รับการตอบรับอย่างดีในประเทศตะวันตก เพราะมันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของประเทศตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด ในยุโรปและอเมริกานั้นมีระบบเครดิตที่เข้มข้นมาก ๆ ไม่ว่าผู้ซื้อผู้ขาย ถ้าใครถูกจับได้ว่าละเมิดกฏเกณฑ์ก็จะถูกขึ้นบัญชีดำทันที และอาจจะไม่สามารถใช้ paypal ได้อีกตลอดไป ทำให้ผู้คนกล้าแหกกฏน้อยมาก ๆ 

แต่กับประเทศจีนนั้นมันต่างกันสิ้นเชิง วัฒนธรรมการค้าขายของประเทศจีนอยู่บนพื้นฐานสำคัญของกวานซี่ หรือ สายสัมพันธ์ connection เป็นหลัก ถ้าวันไหนผู้ซื้อเกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นมาก็มีโอกาสที่จะวิจารณ์ผู้ขายในทางไม่ดี ซึ่งอาจจะนำไปสู่การขึ้นบัญชีดำได้ ซึ่งผู้ขายเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมากหากใช้รูปแบบของ paypal มาใช้ในประเทศจีน

และที่สำคัญเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคจีน การใช้เครดิตการ์ดในประเทศจีน จึงไม่เป็นที่นิยมเหมือนในยุโรปและอเมริกา ประเทศจีนยังคงเป็นตลาดบริโภคที่ใช้บัตรเดบิตของธนาคารเป็นหลัก

ในเดือน ตุลาคม ปี 2003 หลังจากที่ taobao นั้นเพิ่งก่อตั้งได้ 3 เดือน  แจ๊คจึงได้นำเสนอเครื่องมือการชำระเงินแบบเอกลักษณ์เฉพาะคนจีน ในช่วงเริ่มต้นนั้น เปิดบริการให้ใช้ฟรี 

โมเดลแบบง่าย ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนจีน คือ ผู้ซื้อโอนเงินเข้าบัญชีออนไลน์บัญชีหนึ่ง Alipay จะเป็นคนแจ้งผู้ขายว่าผู้ซื้่อโอนเงินเข้าแล้ว ให้ส่งสินค้าได้ หลังผู้ซื้อได้รับสินค้าและตรวจสอบว่าไม่มีปัญหาเรียบร้อย ก็จะแจ้งต่อ Alipay ยืนยันว่าได้รับสินค้าแล้ว ให้ชำระเงินได้ จากนั้น Alipay จะโอนเงินจากบัญชีออนไลน์กลางที่ว่าไปยังผู้ขาย ซึ่งผู้ขายสามารถที่จะไปเบิกจากธนาคาร ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็น โมเดลง่ายของ Alipay 1.0 ที่แจ๊คสร้างออกมาในเดือนตุลาคมปี 2003

Alipay บริการชำระเงินออนไลน์เพื่อชาวจีนโดยเฉพาะ
Alipay บริการชำระเงินออนไลน์เพื่อชาวจีนโดยเฉพาะ

ซึ่งตัว Alipay นี่เองเป็นไม้ตายอย่างนึงของ taobao ในการที่จะ knock คู่ต่อสู้อย่าง ebay การทำงานแบบคล้ายกับว่าเป็นคนกลางอย่าง Alipay นั้น ทำให้มูลค่าการซื้อขายของออนไลน์ เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก

เนื่องจากก่อนหน้านั้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างระมัดระวังตัวกันเป็นอย่างมาก ไม่กล้าซื้อขายสินค้าราคาสูงกันเท่าไหร่ แม้จำนวน transaction ในตอนนั้นจะมีมากก็ตาม แต่มูลค่าเป็นเงินนั้นยังน้อยอยู่เพราะเป็นการซื้อขายเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงนัก

ในเดือน มีนาคม ปี 2005 Alipay ได้ทำการบรรลุข้อตกลงกับธนาคารพาณิชย์อุตสาหกรรมแห่งประเทศจีน (Industrial and Commercial Bank China Limited, ICBC) ร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินโดยผ่านบุคคลที่ 3 สำหรับ อีคอมเมิร์ซ โดยจะร่วมมือด้านการรับชำระเงินสำหรับอีคอมเมิร์ซ เข้าไปด้วย

ทั้งนี้เพื่อเป็นการคลี่คลายอุปสรรคด้านการชำระเงินซึ่งถือเป็นคอขวด ของอีคอมเมิร์ซมาช้านาน ทำให้ Alipay กลายเป็นผลิตภัณฑ์การชำระเงินสำหรับอีคอมเมิร์ซที่ปลอดภัยที่สุด รวดเร็วที่สุด และ แพร่หลายที่สุดในประเทศจีนทันที

Alipay ที่เหมาะกับวัฒนธรรมจีน ทำให้อีคอมมิร์ซจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด
Alipay ที่เหมาะกับวัฒนธรรมจีน ทำให้อีคอมมิร์ซจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด

หลังจากนั้นก็ ก็ได้ร่วมมือกับธนาคารจีนอีกหลายแห่งตามมา และที่สำคัญ ในวันที่ 20 เมษายน ปีเดียวกันนั้น Alipay ก็ได้บรรลุข้อตกลงกับยักษ์ใหญ่ของวงการบัตรเครดิตอย่าง VISA ซึ่งจะเริ่มมีการใช้บริการตรวจสอบยืนยันของ VISA กับการชำระเงินของ Alipay อย่างเป็นทางการ ทำให้ลูกค้าที่ถือบัตร VISA ทุกคนในโลกล้วนมีสิทธิ์ที่จะใช้ Alipay ได้ทันที ทำให้ Alipay มีลูกค้าหลั่งไหลเข้ามาจากทั่วโลก

ต้องบอกว่า ปรากฏการณ์ของ Alipay นั้น ได้รับความสนใจ และ ความยกย่องจากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และเหล่านักช็อปออนไลน์ของจีนเป็นอย่างมาก ซึ่ง Alipay นั้นถือเป็นนวัตกรรมอย่างนึงที่แจ๊คได้สร้างขึ้นมา และเป็นหลักไมล์ที่สำคัญของการพัฒนาอีคอมเมิร์ซของประเทศจีน การปรากฏตัวขึ้นของ Alipay นั้นมันได้ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจีน พุ่งทะยานเติบโตอย่างรวดเร็ว และรุนแรงที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

ถึงตอนนี้เราจะเห็นได้ว่า แจ๊ค นั้น จากอดีตครูสอนภาษาอังกฤษ ที่แทบจะไม่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์เลยด้วยซ้ำ กำลังจะเปลี่ยนประเทศจีนไปตลอดกาล ด้วยนวัตกรรมที่เขาได้สร้างขึ้น ทั้ง alibaba , taobao รวมถึง Alipay นั้นล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ ที่เข้าใจตลาดคนจีนอย่างลึกซึ้งของแจ๊คแทบจะทั้งสิ้น การเอาชนะ ebay ได้นั้น ทำให้ตอนนี้แจ๊ค แทบจะไม่กลัวใครอีกต่อไปแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ เครือข่าย alibaba ต้องสยายปีก เพื่อกินรวบธุรกิจ อีคอมเมิร์ซจีนให้ได้ แล้วมันทำได้ง่ายขนาดนั้นเลยหรือ? แล้วศัตรูตัวจริงของแจ๊คที่เป็นคู่แข่งจากประเทศจีนล่ะคือใคร ? จะเกิดอะไรขึ้นกับ แจ๊คและ อาลีบาบาต่อ โปรดติดตามในตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 16 : Search Wars

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Jack Ma แห่ง Alibaba ตอนที่ 14 : World War Web

สภาพแวดล้อมในธุรกิจค้าปลีกของจีนนั้นมีพัฒนาการแตกต่างจากหลาย ๆ ประเทศ วิวัฒนาการปรกติของธุรกิจค้าปลีกมักจะเริ่มต้นขึ้นจากร้านโชว์ห่วย พัฒนามาเป็นห้างสรรพสินค้า เป็นดิสเค้าท์สโตร์ เป็นร้านค้าเฉพาะทาง และจบลงด้วยธุรกิจรูปแบบใหม่คือ อีคอมเมิร์ซ

แต่สำหรับประเทศจีนนั้นมันแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากประเทศจีนนั้นเปิดประเทศมาเพียงแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น และมีการเติบโตของชนชั้นกลางที่รวดเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ย่อมทำให้เกิดการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วของพัฒนาการในธุรกิจค้าปลีกเหล่านี้ และจีนเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่กระโดดจากร้านโชว์ห่วยข้ามมาเป็น อีคอมเมิร์ซ ได้รวดเร็วและรุนแรงที่สุด

และหลังจากที่แจ๊ค หม่า ได้สร้าง taobao ขึ้นมาออนไลน์ได้เรียบร้อยแล้วนั้น มันคือจุดเริ่มต้นของการสู้รบระหว่างธุรกิจ C2C ของ อาลีบาบา และผู้นำในตลาดอีคอมเมิร์ซจากอเมริกาอย่าง ebay ซึ่งในตอนนั้นต้องบอกว่า ebay ที่เป็นยักษ์ใหญ่ที่สุดในวงการอีคอมเมิร์ซโลกเลยก็ว่าได้ 

ebay นั้นบุกไปที่ประเทศไหน ก็สามารถยึดครองตลาดได้แทบเบ็ดเสร็จ มีเพียงแค่ญี่ปุ่นที่เดียวเท่านั้น ที่ ebay ไม่สามารถยึดครองได้ เนื่องจากพ่ายแพ้ต่อ YAHOO Japan แต่อย่างไรก็ดี ebay ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถยึดตลาดจีนได้ เพราะตอนนั้นเอง taobao ก็ยังเล็กเกินกว่าที่จะต่อสู้กับ ebay  

ซึ่งหลังจาก ebay เข้าตลาดจีนได้สำเร็จจากการ take over EachNet โดย Meg Whitman ที่ดำรงตำแหน่ง CEO ของ ebay ในขณะนั้น ได้กล่าวไว้ว่าประเทศจีนคือตลาดที่สำคัญที่สุดอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา และเขาคาดว่าในอีก 10-15 ปี ตลาดจีนจะกลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของ ebay และที่สำคัญยังประกาศท้ารบกับคู่แข่งโดยกล่าวไว้ว่าจะทำการยุติสงครามอีคอมเมิร์ซให้ได้ภายใน 18 เดือน ซึ่งถือเป็นคำขู่จากบริษัทที่ถือเป็นยักษ์ใหญ่วงการอีคอมเมิร์ซโลก

Meg Whitman CEO ebay ประกาศจะยึดจีนภายใน 18 เดือน
Meg Whitman CEO ebay ประกาศจะยึดจีนภายใน 18 เดือน

กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง

ตอนนั้น ebay ทุ่มหมดหน้าตัก ทำการโฆษณาสัมพันธ์ไปทั่วทั้งจีน โดยเว๊บไซต์ใหญ่ ๆ ในประเทศจีนในตอนนั้น ได้ถูก ebay ซื้อพื้นที่โฆษณาไปแทบจะหมดแล้ว แล้วแจ๊คตัวน้อยกับ taobao ของเขาจะทำอย่างไร ด้วยทุนรอนที่น้อยกว่า แถมเครือข่ายเว๊บใหญ่ ๆ นั้นได้ถูก ebay ยึดครองไปหมดแล้ว

แต่เนื่องจากหลังปี 2000 จำนวนผู้ใช้ internet ในจีนเพิ่มมากขึ้นและต้นทุนการทำเว๊บก็ลดลงไปมาก เว๊บไซต์ขนาดเล็กจึงมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก เว๊บเหล่านี้ส่วนมากทำโดยบุคคลทั่วไป และเป็นเว๊บไซต์เจาะจงในความสนใจหรือความต้องการของเจ้าของเว๊บเป็นหลัก

ซึ่งเครือข่ายเว๊บไซต์เหล่านี้ล้วนเสนอราคาค่าโฆษณาที่ต่ำมาก และมีการผูกโยงเป็นเครือข่ายไว้บ้างแล้ว ซึ่งทำให้ taobao นั้นจะไปโฆษณาอยู่ในเครือข่ายเว๊บเหล่านี้แทนเว๊บไซต์ขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อเทียบจากผลลัพธ์แล้วนั้น พบว่าได้ผลดีกว่าเว๊บไซต์ใหญ่ ๆ เสียอีก โดยใช้เงินทุนที่น้อยกว่ามาก

Localization

กลยุทธ์อีกอย่างที่สำคัญของ taobao คือ ความเข้าใจในพื้นที่ ซึ่ง taobao มีสูงกว่า ebay มาก แจ๊คได้ปรับ taobao ให้เป็นเว๊บไซต์ที่มีหน้าตาแบบจีนแท้ ๆ คือมีตัวหนังสือเต็มไปหมดทั้งหน้าจอ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีพื้นที่ว่างเลยด้วยซ้ำ

ในสายตาของ ebay ที่คิดแบบฝรั่งนั้น มันคือความรกชัด ๆ ebay ต้องการหน้าจอที่ใช้งานได้แบบเรียบง่ายตามสไตล์อเมริกา ที่เน้นหน้าจอที่ดูสะอาดใช้งานง่าย ๆ แต่นี่คือประเทศจีน มันคือความเคยชิน ที่เหล่าลูกค้าคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน

การเรียงหมวดหมู่สินค้าก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ  taobao นั้นเรียงหมวดหมู่ของสินค้าตามสไตล์จีนแท้ ๆ คือเรียงหมวดหมู่สินค้าแบบห้างสรรพสินค้าในจีน ในขณะที่ ebay นั้นจัดเรียงแบบบริษัทแม่ที่อยู่ในอเมริกา ทำให้ลูกค้าชาวจีนที่เข้ามาใช้บริการใหม่ ๆ จะรู้สึกคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มของ taobao มากกว่า

หน้าเว๊บไซต์ สไตล์จีนแท้ รวมถึงการเรียงหมวดหมู่สินค้าแบบวัฒนธรรมจีน
หน้าเว๊บไซต์ สไตล์จีนแท้ รวมถึงการเรียงหมวดหมู่สินค้าแบบวัฒนธรรมจีน

ebay นั้นได้ทำสิ่งที่ผิดพลาดอีกอย่างนึงที่ไม่เข้าใจถึงวัฒนธรรมจีนเลย ก็คือ การทำให้ แพลตฟอร์มของ ebay ทั่วโลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ต้องมีการปรับหน้าเว๊บจาก EachNet เดิมที่คนจีนคุ้นเคย เปลี่ยนมาเป็น ebay แบบเดียวกับที่อเมริกา ทำให้ ขั้นตอนการซื้อขาย กลไกการประเมินราคา และอื่น  ๆ อีกมากมาย ซึ่งทำให้ลูกค้าเก่าในประเทศจีนที่ชินกับลักษณะเดิม ๆ ปรับตัวไม่ได้

ebay พยายามมาคั่นกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายด้วยความกลัวว่าจะไม่ได้ค่า ธรรมเนียม ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัท แต่ taobao ปล่อยให้ผู้ซื้อและผู้ขายคุยกันได้อย่างอิสระ แถมยังมีโปรแกรม Messenger ให้คุยกันง่ายขึ้นด้วย เพราะ taobao นั้นไม่มีค่าธรรมเนียมจึงไม่ต้องกลัวว่าผู้ซื้อและผู้ขายจะไปขายกันเองโดยไม่ผ่านแพลตฟอร์ม

taobao สร้างระบบ chat เพื่อให้ผู้ซื้อผู้ขายติดต่อกันได้ง่าย ๆ
taobao สร้างระบบ chat เพื่อให้ผู้ซื้อผู้ขายติดต่อกันได้ง่าย ๆ

สุดท้ายคนก็ใช้ แพลตฟอร์มของ taobao ที่ง่ายกว่า เพราะผ่าน แพลตฟอร์ม หรือไม่ ก็ไม่ได้เสียเงินอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ลูกค้าของ taobao รู้สึกว่า taobao จริงใจในการช่วยเหลือพวกเขาและไม่หน้าเลือด มุ่งแต่จะเก็บแต่ค่าธรรมเนียมเหมือน ebay

และลำพังการให้บริการฟรีเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอที่จะเอาชนะ ebay ได้อย่างแน่นอน แจ๊คจึงต้องสร้างระบบให้บริการบนเว๊บที่ดีด้วย เขาจึงทุ่มเทอย่างหนักเพื่อปรับปรุงการบริการให้ตอบสนองลูกค้าให้ดีที่สุด เขามุ่งมั่นที่จะทำระบบบริการลูกค้าสำหรับเว๊บที่ให้ใช้ฟรีอย่าง taobao ให้ได้ดียิ่งกว่าเว๊บที่คิดค่าธรรมเนียมอย่าง ebay อีกด้วย

นั่นมันทำให้ลูกค้าเริ่มหลั่งไหลมาใช้งาน taobao แทน แต่ทางผู้บริหาร ebay ก็ยังไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดของตน โดย ทำการเผาเงินเพื่อทุ่มโฆษณาขนานใหญ่เพื่อหวังฆ่า taobao ให้ตาย ด้วยเงินทุนที่มากกว่า

แต่หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการโฆษณาที่ไร้ตรรกะสิ้นเชิง ผู้บริหารระดับสูงของ ebay นั้นละเลยความจริงพื้นฐานข้อหนึ่ง ที่ว่า taobao ของ อาลีบาบานั้นกำลังกลายเป็นหนุ่มใหญ่วัยกำลังเจริญเติบโต

ในขณะนั้นการซื้อขายออนไลน์ยังไม่ฝังลึกลงในใจชาวจีน โฆษณาทั้งหมดเกี่ยวกับการซื้อขายออนไลน์จึงล้วนกลายเป็นการทำตลาดให้ธุรกิจ C2C ทั้งหมดของจีนไปด้วย ดังนั้น ebay จึงกลายเป็น ฮีโร่ ในตลาด C2C การโฆษณาแบบเหวี่ยงแหของ ebay กลับกลายเป็นการทำโฆษณาฟรีให้ taobao ไปด้วย

และไม่ว่าจะด้วยตรรกะของแจ๊ค หรือความจริงที่ปรากฏในภายหลังล้วนพิสูจน์ได้ว่า ในการแข่งขันทางธุรกิจนั้น การเผาเงิน อย่างบ้าคลั่งของ ebay ไม่มีคุณค่าเลยแม้แต่น้อย และสำหรับตลาดประมูลของประเทศจีนแล้ว ebay ดูเหมือนจะกลายเป็นผู้เสียสละด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการสละเงินจำนวนมากในการทุ่มโฆษณาครั้งนี้

ในเดือนพฤษภาคม 2005 ส่วนแบ่งการตลาดของ taobao คือ 67.3% แซงหน้า ebay ที่ครอง 29.1% สมาชิกลงทะเบียน taobao 19 ล้านราย ในปี 2006 สามาชิกของ taobao เพิ่มเป็น 22.5 ล้านรายมากกว่า ebay ในที่สุด taobao ก็ครองแชมป์ตลาด C2C ของจีนทั้งด้านจำนวนสมาชิกและยอดเงินจากการซื้อขาย และในที่สุดในช่วงฤดูหนาวปี 2006 ebay ก็ต้องถอนตัวจากประเทศจีน โดยขายกิจการให้กับ กลุ่ม TOM เป็นอันสิ้นสุดสองคราม C2C ของประเทศจีนที่ฝ่าย taobao เอาชนะไปได้อย่างขาดลอย

ebay สูญเสีย market share ไปเรื่อย ๆ จนต้องถอนตัวออกจากจีน
ebay สูญเสีย market share ไปเรื่อย ๆ จนต้องถอนตัวออกจากจีน

ต้องบอกว่า สงครามระหว่าง taobao กับ ebay ใน ประเทศจีนครั้งนี้ ถือเป็น case study ที่สำคัญของวงการธุรกิจโลก ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้นำทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด และกำลังบูมสุดขีดในขณะนั้น แต่ฝ่ายหลัง ที่สร้างเว๊บไซต์ขึ้นมาใหม่ใช้เวลาแค่ 2 ปีก็แย่งส่วนแบ่งการตลาดมาได้ถึง 70%  ถึงตอนนี้มันก็พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้วว่าสงครามในครั้งนี้ taobao เอาชนะไปได้อย่างขาดลอย เส้นทางต่อไปของ แจ๊ค อาลีบาบา และ taobao จะเป็นอย่างไรต่อ โปรดติดตามในตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 15 : Alipay

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Internet *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ